ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

คดีอาญาถือข้อเท็จจริงตามคดีแพ่งหรือไม่?

๑. คำวินิจฉัยในคดีอาญาคดีหนึ่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ารถแท๊กเตอร์ เป็นกรรมสิทธ์ของจำเลยในคดีนี้ เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่เป็นประเด็นในคดีนี้โดยตรง ถือไม่ได้ว่าเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์รถแท๊กเตอร์ว่าเป็นของจำเลย จึงไม่ผูกพันโจทก์ ศาลต้องพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนเป็นสำคัญ จะถือข้อเท็จจริงที่ยุติในคดีก่อนมาผูกมัดให้ศาลวินิจฉัยตามนั้นหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเพียงพยานหลักฐานหนึ่งที่ศาลอาจใช้ประกอบการพิจารณาคดีนี่เท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยโดยไม่ถือข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวจึงชอบแล้ว คำพิพากษาฏีกา ๒๓๙๖/๒๕๕๔
๒. ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จำเลยสร้างรั่วคอนกรีตรุกล้ำที่ดินโจทก์ พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด คำพิพากษาคดีแพ่งผูกพันโจทก์และจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ แม้เป็นคดีอาญา แต่คดีคงต้องวินิจฉัยว่า รั่วคอนกรีตพิพาทรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์หรือไม่ อันเป็นประเด็นโดยตรงในคดีแพ่งดังกล่าว จึงต้องรับฟังว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ก่อสร้างรั่วคอนกรีตพิพาทรุกล้ำที่โจทก์ การกระทำจำเลยที่ ๑ ไม่มีความผิดฐานบุกรุก และมีผลถึงจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ ๒ ด้วย เมื่อรั่วพิพาทไม่ได้รุกล้ำที่ของโจทก์แล้ว จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองได้ยักย้าย ทำลายเครื่องหมายหลักเขตแห่งที่ดินเพื่อถือเอาที่ดินส่วนหนึ่งส่วนใดมาเป็นของตน คำพิพากษาฏีกา ๒๗๗๔/๒๕๔๖
ข้อสังเกต ๑.ในการพิจารณาคดีแพ่ง ศาลต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญา ป.ว.อ. มาตรา ๔๖ แต่ไม่มีบทกฏหมายบัญญัติว่าคดีอาญาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง และไม่มีบทบัญญัติกฏหมายให้คดีอาญา ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดี “ อาญาอื่น”
๒.ตามข้อ ๑ นั้น แม้เป็นคู่ความเดียวกัน คำพิพากษาคดีอาญาคดีก่อนไม่ใช่ “ประเด็นโดยตรง “ ในการพิจารณาคดีนี้ เพราะ คดีก่อนมีประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ในรถแท๊กเตอร์เป็นของใคร ส่วนคดีนี้มีประเด็นเกี่ยวตำแหน่งหน้าที่ราชการซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า คดีอาญาต้องถือข้อเท็จจริงในคดีอาญาด้วยกัน และจะนำ ป.ว.พ. มาตรา ๑๔๕ วรรคแรก ประกอบ ป.ว.อ. มาตรา ๑๕ มาใช้บังคับไม่ได้ แม้จะเป็นคู่ความเดียวกัน แต่ประเด็นที่ฟ้องทั้งสองคดีเป็นคดี “คนละประเด็น” กัน ทั้งเป็นการวินิจฉัยในชั้น “ ไต่สวนมูลฟ้อง “ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า ในชั้นพิจารณาศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยเหมือนเช่นในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ เพราะในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนำพยานมาสืบให้ศาลเห็นว่า “มีมูล” พอที่ศาลจะรับฟ้องไว้วินิจฉัยได้หรือไม่ แต่ในชั้นพิจารณาสืบพยาน โจทก์ต้องนำสืบให้ศาลเห็นโดยปราศจากข้อสงสัยว่า พยานหลักฐานที่นำสืบนั้นปรากฏว่า มีการกระทำผิดเกิดขึ้นจริง และมีพยานหลักฐานที่นำสืบโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจริงจึงสามารถลงโทษได้ ดังนั้น คำวินิจฉัยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจึงแตกต่างจากการวินิจฉัยในชั้นสืบพยาน ดังนั้นจึงไม่อาจถือได้ว่า คำพิพากษาผูกพันคู่ความจนกว่าคำพิพากษาจะถูกกลับ แก้ หรืองดเสีย ดังนี้ไม่สามารถอ้างได้ ทั้งได้มีคำพิพากษาฏีกาที่ ๑๔๕๓/๒๕๒๕ วินิจฉัยว่า ในการพิจารณาคดีอาญา หาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา “ ในคดีอื่น” ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในคดีแพ่งตาม ป.ว.อ. มาตรา ๔๖ ไม่ เพราะในคดีอาญาศาลต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง จะไม่พิพากษาลงโทษจำเลย จนกว่าจะแน่ใจว่า มีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นคนกระทำผิด
๓.แต่หากปรากฏว่าเป็นคำพิพากษาคดีอาญา ไม่ใช่คำพิพากษาหรือคำสั่งในชั้น “ ไต่สวนมูลฟ้อง “ แล้ว หากคดีอาญาทั้งสองเป็นคดีเดียวกัน ประเด็นเดียวกัน หรือมีความเกี่ยวพันกัน แม้ไม่มีบทบัญญัติให้คดีอาญาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญา “ คดีอื่น” ก็ตาม แต่หากไม่รับฟังคำพิพากษาในคดีอื่นที่มีข้อเท็จจริง มีมูลคดี มีประเด็นเดียวกันแล้วหรือเกี่ยวพันกันแล้ว อาจเป็นกรณีที่ศาลสองศาลรับฟังข้อเท็จจริงแตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อการมีคำพิพากษาที่แตกต่างกันไป และเป็นการป้องกันการฟ้องซ้ำ หรือฟ้องซ้อน ที่จำเลยกระทำการเพียงครั้งเดียวแต่ต้องถูกลงโทษหลายครั้ง ซึ่งย่อมไม่เป็นธรรมกับจำเลย เช่นคดีหมิ่นประมาททางหนังสือพิมพ์ ผู้เสียหายยื่นฟ้องคนที่เขียนคลอรัมที่กรุงเทพ และไปยื่นฟ้องที่เชียงใหม่ และที่ภูเก็ต โดยถือตามท้องที่ที่หนังสือพิมพ์จำหน่าย เพื่อหวังให้จำเลยถูกลงโทษหลายครั้งทั้งที่กระทำผิดครั้งเดียว กรณีเหล่านี้ศาลควรที่จะต้องรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาอื่นด้วย เพื่อป้องกันการฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือมีคำพิพากษาที่แตกต่างกัน
๔.การพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญา ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๔๖ เป็นบทกฎหมาย “ ปิดปาก” หรือ “ ตัดบท” ไม่ให้ศาลในคดีแพ่งฟังข้อเท็จจริงใหม่ ซึ่งอาจแตกต่างไปจากที่ศาลคดีอาญาฟังมา ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยแตกต่างกันไป เช่น คดีแพ่ง ศาลวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ดังนั้นหากถือตามนี้ก็ถือว่าไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เจ้าของก็อาจมีความผิดฐานบุกรุกในบ้านหรือที่ดินของตนเองที่ให้คนอื่นเช่าก็ได้
๕.แต่ไม่มีบทบัญญัติใดให้ ศาลที่พิจารณาคดีอาญาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลที่พิจาณาคดีแพ่งฟังข้อเท็จจริงมา มิเช่นนั้นแล้วจะเป็นกรณีที่ศาลในคดีอาญานำข้อเท็จจริงในคดีแพ่งมา “ตัดบท” หรือ “ ปิดปาก” การรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญา
๖.ทั้งคำพิพากษาในคดีใดก็ผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีนั้นเท่านั้น เว้นแต่กฎหมายจะให้ผูกพันถึงบุคคลอื่นได้ เช่นฟ้องขับไล่ผู้เช่า คำพิพากษาผูกพันผู้เช่า รวมไปถึงบริวารผู้เช่าด้วย
๗.ตามข้อ ๒ ดูเหมือนว่าในคดีอาญา ศาลคดีอาญาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลในคดีแพ่งถือมา แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วปรากฏว่า ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญามีประเด็นเดียวกัน โดยในคดีแพ่งฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย และฟ้องขับไล่ออกจากที่ดินที่บุกรุก ส่วนในคดีอาญาฟ้องว่าจำเลยบุกรุก ขอให้ลงโทษทางอาญา จึงเห็นได้ว่า ทั้งสองคดีมีคู่ความเดียวกัน มีประเด็นเดียวกันคือ มีการบุกรุกทางอาญาหรือไม่ หรือเป็นการละเมิดโดยฟ้องฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายทางแพ่งหรือไม่ เมื่อมีคู่ความเดียวกัน มีประเด็นแห่งคดีเดียวกัน และการวินิจฉัยในทางแพ่ง” เป็นคุณ” แก่จำเลย โดยศาลในคดีอาญาถือว่า คำพิพากษาในส่วนแพ่ง เป็น “ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ “ undisputable facts นั้นก็คือ เมื่อคำวินิจฉัยในคดีแพ่ง “เป็นคุณ” แก่จำเลย คู่ความเดียวกัน ย่อมไม่อาจโต้แย้งให้เป็นอื่นได้ คำพิพากษาผูกพันคู่ความตาม ป.ว.พ. มาตรา ๑๔๕ วรรค ๑ โดยถือว่า เมื่อศาลที่พิจารณาคดีแพ่งได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงถึงที่สุดไปแล้ว ข้อเท็จจริงก็น่าจะยุติไปในครั้งเดียว โดยประเด็นในคดีอาญาก็เป็นประเด็นเดียวกับในคดีแพ่ง ดังนี้หากศาลในคดีอาญาไม่รับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งจะมองเป็นอย่างไง จะต้องมาสืบพยานกันใหม่ ให้พยานมาเบิกความใหม่อย่างนั้นหรือ หากพยานยังเบิกความเหมือนเดิมก็เป็นการเสียเวลาของศาล อัยการ พยาน และหากพยานเบิกความไม่ตรงกับที่เบิกความในคดีแพ่ง ไม่ต้องมาดำเนินคดีกับพยานในข้อหาเบิกความเท็จ หรือ แจ้งความเท็จอย่างนั้นหรือ? ซึ่งก็ไม่รู้ว่าในคดีก่อนหรือในคดีนี้ อันไหนเบิกความเป็นจริง อันไหนเบิกความเป็นเท็จ และที่ให้การในคดีก่อนและในคดีนี้ อันไหนเป็นการแจ้งความเท็จอันไหนเป็นการให้การตามความเป็นจริง ทั้งการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งก็เป็นการสร้างความป็น “เอกภาพ “ ในการรับฟังพยานหลักฐาน เพื่อป้องกันการรับฟังข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกัน ที่ศาลวินิจฉัยดังนี้เพราะจำเลยในคดีอาญาสามารถต่อสู้คดีได้เต็มที่ และหากมีข้อสงสัยใดๆ ศาลต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย และหากมีข้อกฎหมายหรือข้อสันนิษฐานที่เป็นคุณแก่จำเลยศาลสามารถรับฟังข้อเท็จจริงนั้นได้ เพราะการลงโทษใครในคดีอาญา หากไม่ปรากฏชัดว่า บุคคลนั้นได้กระทำความผิดจริง ศาลย่อมไม่สามารถลงโทษได้ หรือมีข้อสงสัยว่าจำเลยทำผิดในคดีอาญาจริงหรือไม่ ศาลต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย โดยนำคำพิพากษาคดีแพ่งมาเป็นข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น: