ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน่้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ และต้องกระทำการดังกล่าวด้วยตนเองมาแต่ต้นทุกครั้งเพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกกันต่อๆไปเป็นทอดๆ เมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลย จำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้น และให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้ง อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวก แม้ไม่มีประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม ก็เป็นการฉ้อโกงประชาชน คำพิพากษาฏีกา ๕๒๙๒/๒๕๔๐
ข้อสังเกต ๑. ฉ้อโกงประชาชนไม่ได้ถือเอาจำนวนคนมาเป็นเกณท์พิจารณาว่ามีคนเท่าใดจึงถือเป็นประชาชน แต่ถือเอาลักษณะการกระทำว่ามีการแสดงข้อความเท็จที่ประชาชนโดยทั่วไปอาจทราบและหลงเชื่อและอาจถูกหลอกได้
๒.การหลอกลวงดังกล่าวไม่จำต้องกระทำด้วยตัวเองมาตั้งแต่ต้น อาจมาทำในช่วงหลัง โดยมีการพูดต่อๆกันมาถึงการหลอกลวงดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยมายืนยันข้อความดังกล่าวแม้จะไม่ได้กระทำมาตั้งแต่ต้น ก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนได้
๓.ในสำนักงานของจำเลยแม้ไม่มีการปิดประกาศข้อความอันเป็นการหลอกลวงประชาชนก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่ยืนยันด้วยปากเปล่าถึงข้อความหลอกลวงอันเป็นเท็จที่มุ่งหลอกลวงคนทั่วไป ก็เป็นการฉ้อโกงประชาชนได้
๔.ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว
๕.การหลอกลวงดังกล่าวหากมีการหลอกลวงผ่านทางสื่อสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุหรือโทรทัศน์ แล้วผู้เสียหายหลงเชื่อ และการหลงเชื่อ ได้ไปซึ่งเงินของผู้เสียหาย ทุกท้องที่ซึ่งผ่านทางสื่อเป็นสถานที่ความผิดเกิดได้หมดเหมือนการลงหนังสือพิมพ์ด้วยข้อความหมิ่นประมาททุกท้องที่ซึ่งหนังสือพิมพ์ไปถึงเป็นท้องที่เกิดเหตุได้หมด เป็นกรณีที่ความผิดส่วนหนึ่งเกิดในท้องที่หนึ่งความผิดอีกส่วนหนึ่งเกิดในอีกท้องที่หนึ่งและเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำการต่อเนื่องในท้องที่ต่างๆกันมากกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนทุกท้องที่มีอำนาจในการสอบสวน แต่หากยังจับผู้กระทำผิดไม่ได้ พนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบความผิดก่อน เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน แต่หากยังจับผู้กระทำผิดแล้วได้ พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่จับกุมได้ เป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ ในกรณีนี้พนักงานอัยการจะรวมสำนวนเพื่อพิจารณาสั่งในคราวเดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น