ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๓๕๗



            หมวด 6                        ความผิดฐานรับของโจร

           มาตรา 357      ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน รับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไร หรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (10) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงสองหมื่นบาท
ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท

-          การช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1000/2492 การรับของโจร ไม่จำต้องรับไว้จากคนร้ายที่ลักมาโดยตรง เพียงแต่รับไว้โดยรู้ว่าทรัพย์นั้นได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมาย ก็มีความผิดตาม ก..ลักษณะอาญา มาตรา 321 ได้.
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 680/2508 (สบฎ เน 569) มีคนเอาปืนมาจำนำ จำเลยไม่มีเงิน จึงพาไปจำนำกับผู้อื่น โดยช่วยพูดให้เขารับจำนำ เป็นการช่วยจำหน่าย ตาม ม 357
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 239/2512 (สบฎ เน 2118) จำเลยนำรถจักรยานที่ถูกลัก "ไปฝากผู้อื่น ให้ช่วยขาย" โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้จากการทำผิด ย่อมมีความผิดตาม ม 357
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 240/2521 รถยนต์ถูกลักที่พระนครระหว่างเวลาเย็น คืนวันนั้นเวลา 2 นาฬิกา จำเลยขับรถคันนั้นที่อำเภอวังน้อย อยุธยา จำเลยทิ้งรถหนีตำรวจ ระยะเวลาและสถานที่ห่างกันหลายชั่วโมงและไกล  มีทางเปลี่ยนมือได้เป็นรับของโจร ไม่ใช่ลักทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 391/2521 มีผู้บอกว่าจำเลยรู้เรื่องกระบือที่ถูกลักผู้เสียหายจึงไปหาจำเลย จำเลยบอกว่าถ้าอยากได้กระบือให้เอาเงินมาไถ่ 2,000 บาท จำเลยให้ผู้เสียหายทำหนังสือว่าไม่เอาเรื่อง แล้วรับค่าไถ่นำไปรับกระบือ และมอบค่าไถ่ให้กับคนร้าย เป็นการรู้เห็นเป็นใจเรียกค่าไถ่ช่วยจำหน่ายทรัพย์เป็นรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 690/2521 ช.คนประจำรถที่บรรทุกถุงพลาสติก ส่งถุงพลาสติก 6 ถุงให้จำเลยรับทางท้ายรถบรรทุก เป็นการที่ ช.ลักทรัพย์สำเร็จแล้วตั้งแต่ยกถุงออกจากที่เก็บ จำเลยมิได้ร่วมลักทรัพย์ด้วย จำเลยมีความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 803/2521 จำเลยที่ 2 จดหมายเลขเครื่องรถจักรยานยนต์ที่ถูกชิงไปให้ผู้เสียหายดู ถ้าใช่ของผู้เสียหาย ก็ให้เอาเงินมาไถ่ และบอกให้ตำรวจผู้จับ ไปเอารถของกลางคืนมาจากจำเลยที่ 1 ได้ เป็นการรู้เห็นเป็นใจกับคนร้ายเรียกเงินค่าไถ่รถ ช่วยจำหน่ายตาม ม.357
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 856/2530 จำเลยรู้อยู่แล้วว่า จ.ไปลักเครื่องยนต์ของผู้เสียหายมา จำเลยช่วยพาเครื่องยนต์นั้นไป เพื่อหวังว่าจะได้ส่วนแบ่งจากการขายเครื่องยนต์ดังกล่าวจึงมีความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1380/2533 จำเลยได้รับซื้อและขายรถของกลาง โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นรถที่ถูกคนร้ายลัก ถึงแม้จำเลยได้ทำในนามของบริษัท จ. จำกัด หรือบริษัท อ.จำกัด ในฐานะที่จำเลยเป็นลูกจ้างก็ตาม ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการรับซื้อไว้ และช่วยจำหน่ายซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2844/2535 (สบฎ เน 17) รถจักรยานยนต์ถูกลักไป ต่อมาตำรวจยึดไว้ เพราะคนร้ายขับไปชนคนบาดเจ็บ การครอบครองของตำรวจ ยังไม่ถือว่ารถจักรยานยนต์นั้น พ้นสภาพจากทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด เพราะตำรวจยึดไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา จำเลย "ติดต่อ ช ผู้รับฝากจักรยานยนต์ให้นำเงินไปไถ่ในวันรุ่งขึ้น" จึงเป็นการช่วยจำหน่ายรถจักรยานยนต์ แต่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะยังอยู่ในความครอบครองของตำรวจซึ่งยึดไว้ในคดีอื่น ผิดตาม ม 357 1 + 81
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6152/2540  ช.ทำสัญญาเช่ารถพิพาทกับผู้เสียหายโดยมีข้อสัญญาว่าผู้เช่าจะต้องใช้รถยนต์ที่เช่าภายในเขตจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น แต่พฤติการณ์ที่ ช. ครอบครองรถที่เช่าแล้วจงใจไม่ส่งคืนเป็นเวลา 10 วัน โดยมิได้แจ้งเหตุที่ไม่ส่งรถคืนให้แก่ผู้เสียหายทราบ ทั้งได้ขับออกนอกเขตจังหวัดภูเก็ตไปไกลถึงอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ใกล้กับประเทศกัมพูชา จึงชี้ให้เห็นว่า ช. มีเจตนายักยอกทรัพย์แล้ว / การที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถไปพบรถยนต์จี๊ปได้ตามที่จำเลยทั้งสองพาไป แสดงว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้รู้ที่ซ่อนเร้นทรัพย์ของผู้เสียหาย แห่งที่เก็บรถอยู่ห่างบ้านจำเลยที่ 1 ประมาณ 3 ถึง 4 กิโลเมตร อีกทั้งได้ถอดแผ่นป้ายทะเบียนด้านหน้าและด้านหลังออกพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งรถยนต์คันดังกล่าวโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์แม้ต่อมาผู้เสียหายจะได้ถอนคำร้องทุกข์ให้ ช. ผู้กระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ทำให้สิทธินำคดีอาญาฐานยักยอกทรัพย์มาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ก็ตาม จำเลยทั้งสองก็ยังคงมีความผิดฐานรับของโจร

-          กรณีไม่เป็นความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 706/2499 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าไก่ของกลางของผู้เสียหายได้หายไป ต่อมาจับได้จากจำเลย จำเลยได้ไก่นี้มาโดยขณะที่กลับจากไร่ส่องไฟ เห็นผู้ร้ายอุ้มไก่คนร้ายตกใจทิ้งไก่ จำเลยเก็บไก่นั้นมาเลี้ยงไว้โดยเพื่อประโยชน์ของเจ้าของเอง ดังนี้จำเลยขาดเถยยจิตเป็นโจร ทั้งไม่ต้องด้วยความหมายของคำว่า "รับไว้ด้วยประการใด ๆ " ตาม ม.321 (2) ยังไม่เป็นผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2359/2525 จำเลยที่ 1 รับกระบือไว้จากคนร้าย โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา แล้วนำไปขาย และรับชำระราคา ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งช่วยจูงกระบือ เดินทางไปกับจำเลยที่ 1 ตามคำขอร้อง ถือไม่ได้ว่าร่วมครอบครอง ช่วยพาเอาไปเสีย ช่วยจำหน่ายกระบือ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4283/2528 จำเลยทั้งสองติดตามไปพบกระบือของผู้เสียหายที่ถูกลักไป แต่ไม่นำมาให้ผู้เสียหาย หรือบอกให้ผู้เสียหายทราบตามที่ขอให้ช่วย เป็นเพียงปกปิดความจริงที่ควรบอกให้ผู้เสียหายทราบ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับกระบือไว้จากคนร้าย หรือเอากระบือที่พบไปไว้ที่อื่นก่อน หรือร่วมรู้กับคนร้ายมาเรียกค่าไถ่กระบือจากผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานรับของโจร (ไม่แจ้งผู้เสียหาย โดยไม่มีหน้าที่เฉพาะ ไม่เป็นงดเว้น และไม่มีการกระทำอันเป็นองค์ประกอบภายนอก)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2652/2543 ความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357วรรคหนึ่ง จะเป็นความผิด ก็ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังที่การกระทำความผิดในการได้ทรัพย์มานั้นสำเร็จไปแล้ว ม. กับพวกมีเจตนาทุจริตมาแต่แรก โดยหลอกลวงว่าจะซื้อที่ดินจากโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมมาที่บ้าน ม. เพื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายและให้วางมัดจำ ม. กลับชักชวนโจทก์ร่วมให้ร่วมกับ ม. เล่นการพนันกับพวกของ ม.โจทก์ร่วมเล่นการพนันเสีย การติดต่อขอซื้อที่ดินและการเล่นการพนัน จึงเป็นเพียงเหตุการณ์ที่ ม. กับพวกสร้างขึ้นเพื่อหลอกลวงเอาเงินของโจทก์ร่วม และโดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ ม. กับพวกได้ไปซึ่งเงินจากโจทก์ร่วม กับเงินที่โจทก์ร่วมให้ จ. โอนมาให้แก่จำเลย แสดงว่าจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของ ม. หาใช่เข้าไปเกี่ยวข้องภายหลัง ม. ได้เงินมาแล้วไม่ จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกง

-          ทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 330/2499 อันจะเป็นความผิดฐานรับของโจรนั้นต้องประกอบด้วยองค์สำคัญว่า ของซึ่งได้รับไว้เป็นของที่ได้มาด้วยการกระทำผิดต่อ ก..เมื่อทางพิจารณาไม่ได้ความว่ากระบือของกลางเป็นของที่ได้มาจากการกระทำผิด ก..คือถูกลักมาดังฟ้องแล้ว ก็ย่อมลงโทษจำเลยฐานรับของโจรหาได้ไม่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 415/2535 ทรัพย์ของโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ลักไป จำเลยทั้งสองได้ขายทรัพย์นั้น และมอบเงินที่ได้ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 แต่คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้รับเงินไว้ โดยรู้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2  ได้มาจากการขายทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกลักไป ทั้งไม่ถือว่าเงินนั้นเป็นของโจทก์ เพราะไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด การกระทำของจำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 3 ที่ 4
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2844/2535 รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายลักไป และได้ถูกเจ้าพนักงานอำเภอยึดไว้เป็นของกลาง ในคืนที่รถจักรยานยนต์หาย เนื่องจากคนร้ายขับรถจักรยานยนต์ไปชนคนได้รับบาดเจ็บแล้วทิ้งไป โดยเจ้าพนักงานตำรวจไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา ดังนี้จึงถือไม่ได้ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางพ้นสภาพจากทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด การที่จำเลยไปติดต่อ ช. ให้นำเงินไปไถ่ในวันรุ่งขึ้นนั้น  เข้าลักษณะเป็นการจำหน่ายรถจักรยานยนต์  ซึ่งยังเป็นทรัพย์ที่อยู่ในสภาพที่ถูกลักมา โดยรู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของร้าย จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร แต่เนื่องจากการช่วยจำหน่ายของจำเลยนั้น ไม่มีทางที่จะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามกระทำความผิดฐานรับของโจรที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2727/2537 รังนกในถ้ำตามเกาะ เป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ บุคคลใดก็อาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยเข้ามายึดถือเอา  แม้ อ. ได้รับอนุญาตผูกขาดจากรัฐให้เก็บรังนกบนเกาะได้ อ. ก็มีสิทธิเพียงว่าถ้าประสงค์จะเก็บรังนกที่ผูกขาด ก็เข้าเก็บเอาได้ ไม่ต้องมีการหวงห้ามเหมือนบุคคลผู้ไม่ได้รับอนุญาต แต่ อ.จะมีกรรมสิทธิได้ในรังนกนั้น จะต้องมีการเข้ายึดถือเอาอีกชั้นหนึ่งก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1318 เมื่อมีบุคคลอื่นเข้าไปเก็บรับนกจำนวน 0.5 กิโลกรัมโดยที่ อ.ยังมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรังนกดังกล่าว การเก็บรังนกนั้น จึงยังไม่เป็นการลักทรัพย์ของ อ.จำเลยเป็นผู้ครอบครองรังนกนั้นก็ไม่มีความผิดฐานรับของโจร เพราะรังนกไม่ใช่ทรัพย์ที่ถูกลักมา จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5599/2541 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เขียนข้อความลงในใบสั่งจ่ายน้ำมัน ทั้งๆ ที่ทราบว่าตนไม่มีอำนาจกระทำได้ จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร การที่จำเลยนำเอกสารปลอมไปยื่นต่อพนักงานของสถานีน้ำมัน เพื่อประโยชน์ในการเติมน้ำมันใส่รถยนต์ของจำเลย จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมด้วย เอกสารใบสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว เป็นเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำหน้าที่พลขับ จะต้องกรอกข้อความให้ชัดเจน ว่าเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในราชการใด จำนวนเท่าใด จึงเป็นการทำขึ้นในหน้าที่ อันเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม ใบสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกลักไป ต่อมาตกอยู่ในความครอบครองของจำเลย เมื่อจำเลยนำไปกรอกข้อความ เพื่อใช้สิทธิเติมน้ำมัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบว่าใบสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2608/2548 แม้ขณะที่ ก. กับ จ. เอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป จะไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เนื่องจากได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย แต่ ก. กับ จ. มีหน้าที่ต้องนำรถจักรยานยนต์มาคืนผู้เสียหาย การที่ ก. กับ จ. ไม่นำมาคืน ผู้เสียหาย กลับนำไปขายให้แก่จำเลยทั้งที่ไม่ใช่ของตน ถือได้ว่า ก. กับ จ. มีเจตนาเบียดบังเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอก เมื่อจำเลยรับซื้อไว้ในราคาเพียง 800 บาท ต่ำกว่าราคาแท้จริง 7,000 บาท มาก โดยไม่ประสงค์ตรวจสอบเสียก่อนว่าคู่มือจดทะเบียนรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมีชื่อ ก. กับ จ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่ ย่อมเป็นการผิดวิสัยของบุคคลโดยทั่วไป เชื่อว่าจำเลยรับซื้อไว้โดยรู้อยู่แล้วว่ารถจักรยานยนต์ที่ ก. กับ จ. นำมาขายได้มาจากการกระทำความผิดอาญาฐานยักยอก ดังนั้น ไม่ว่าการที่ ก. กับ จ. ได้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หรือยักยอก การกระทำของจำเลยถือว่าครบองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก แล้ว

-          การรับของโจร ต่อจากผู้รับของโจร ผิดข้อหารับของโจรเช่นเดียวกัน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 624/2543 (จำเลยที่ 3 รับของโจรมา แล้วขายให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ขายให้แก่จำเลยที่ 1 / คดีมีเฉพาะจำเลยที่ 3 ฎีกา แต่จำเลยที่ 2 ผิดรับของโจรเช่นกัน) เวลาเกิดเหตุมีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่า จำเลยที่ 3 นำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปขายให้จำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่จากพยานแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบ คือสิบตำรวจตรี ว.ผู้สืบสวนจับกุมจำเลยที่ 1 ได้พร้อมรถจักรยานยนต์ของกลางของผู้เสียหายที่ถูกแปลงสภาพให้ผิดไปจากเดิมที่บ้านจำเลยที่ 1 เมื่อทราบจากจำเลยที่ 1 ว่ารับซื้อรถของกลางจากจำเลยที่ 2 สิบตำรวจตรี ว. ก็ติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 ให้การว่ารับซื้อรถของกลางมาจากจำเลยที่ 3 และเมื่อสิบตำรวจตรี ว.ตามไปจับกุมจำเลยที่ 3 ได้จำเลยที่ 3 ก็ยอมรับสารภาพอีกว่ารับซื้อรถของกลางมาจากผู้มีชื่อ จึงเห็นได้ว่าการที่สิบตำรวจตรี ว. สามารถติดตามจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากจะอาศัยข้อมูลการสืบสวนทางหนึ่ง แล้วยังได้อาศัยข้อมูลจากจำเลยแต่ละคนเป็นอย่างมากอีกต่างหาก พยานโจทก์จึงไม่ใช่มีเพียงคำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 เท่านั้นแต่ยังมีคำเบิกความของสิบตำรวจตรี ว.มาประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 3 อีกด้วยจึงเป็นพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3ได้กระทำความผิดฐานรับของโจรรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย / ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาเกิดเหตุมีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ โจทก์มีสิบตำรวจตรีวิโรจน์ มะยมหิน เป็นพยานเบิกความว่า ได้สืบทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์นำรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาดัดแปลง จึงนำหมายค้นไปตรวจค้นที่บ้านของจำเลยที่ 1 พบรถจักรยานยนต์ 1 คัน หมายเลขทะเบียน อ่างทอง ง-6677 และอะไหล่รถจักรยานยนต์คันนี้มีการแก้ไขหมายเลขตัวถัง จึงได้ยึดรถจักรยานยนต์และอะไหล่ดังกล่าวเป็นของกลางพร้อมทั้งแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรปลอมและใช้เอกสารปลอม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าซื้อรถจักรยานยนต์มาจากจำเลยที่ 2 ในราคา 7,000 บาท โดยทราบว่าเป็นรถที่ถูกลักมา แล้วนำชิ้นส่วนมาดัดแปลงแก้ไขหมายเลขตัวถังใหม่เพื่อให้ตรงกับเลขตัวถังของรถตนสิบตำรวจตรีวิโรจน์กับพวกติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ แจ้งข้อหาว่าลักทรัพย์หรือรับของโจร จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจรว่าซื้อรถจักรยานยนต์มาจากจำเลยที่ 3 และได้ขายต่อให้จำเลยที่ 1 สิบตำรวจตรีวิโรจน์กับพวกจึงไปติดตามจับกุมจำเลยที่ 3 ได้ และแจ้งข้อหาว่าลักทรัพย์หรือรับของโจร จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจรว่าได้ซื้อรถจักรยานยนต์มาจากนายน้อยในราคา 3,000 บาท โดยทราบว่ารถดังกล่าวถูกลักมาจากศรีอรุณแมนชั่น ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เจ้าพนักงานตำรวจจึงติดตามไปพบผู้เสียหายซึ่งพักอยู่ที่ศรีอรุณแมนชั่น ทราบว่าเมื่อรถจักรยานยนต์หายไป ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลพบุรี เห็นว่า สิบตำรวจตรีวิโรจน์เป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะเกิดเหตุได้รับราชการอยู่ที่ศูนย์ป้องกันการโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ตำรวจภาค 1 กรุงเทพมหานคร ไม่เคยรู้จักกับผู้เสียหายซึ่งพักอยู่ที่ศรีอรุณแมนชั่น อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี คนละจังหวัดกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่สิบตำรวจตรีวิโรจน์จะได้ข้อมูลจากผู้เสียหาย ก่อนที่จะไปสืบจับคนร้าย ประกอบกับผู้เสียหายเบิกความสอดคล้องกับพยานปากนี้ว่า หลังจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และยึดรถจักรยานยนต์กับอะไหล่รถจักรยานยนต์ของกลางได้แล้ว ผู้เสียหายไปดูของกลางที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ผู้เสียหายจำได้ว่ารถคันของกลางมีรอยตำหนิ และมีการขูดลบหมายเลขตัวถังเดิม ซึ่งตรงกับหมายเลขตัวถังรถของผู้เสียหาย แล้วตอกหมายเลขตัวถังใหม่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ตรงกับข้อมูลที่สิบตำรวจตรีวิโรจน์ยืนยันว่าได้จากจำเลยที่ 1 จึงน่าเชื่อว่าสิบตำรวจตรีวิโรจน์ได้ข้อมูลจากจำเลยที่ 1 ว่าได้ซื้อรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจากจำเลยที่ 2 แล้วนำสืบเชื่อมโยงไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ซื้อรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจากนายน้อย แล้วได้นำรถมาขายให้จำเลยที่ 2 ในราคาที่ถูกกว่าปกติ โดยทราบว่าเป็นรถที่ถูกลักมาจากจังหวัดลพบุรี แสดงให้เห็นว่าหากจำเลยทั้งสามไม่รับสารภาพตามความเป็นจริง สิบตำรวจตรีวิโรจน์ไม่มีทางที่จะสืบต่อไป จนพบผู้เสียหายซึ่งอยู่คนละจังหวัด ทั้งคำรับสารภาพชั้นจับกุม ก็เชื่อมโยงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นขั้นเป็นตอน เริ่มตั้งแต่คนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปจากศรีอรุณแมนชั่น จนไปขายให้จำเลยที่ 1 แล้วนำไปดัดแปลงเป็นรถของจำเลยที่ 1 สิบตำรวจตรีวิโรจน์ไม่รู้จักจำเลยที่ 3 มาก่อน ไม่มีสาเหตุที่จะปรักปรำจำเลยที่ 3 ให้ต้องรับโทษเชื่อว่าสิบตำรวจตรีวิโรจน์เบิกความไปตามความเป็นจริง และหากจำเลยที่ 2 ไม่รับสารภาพชั้นจับกุม ก็คงไม่สามารถนำไปสู่การจับกุมจำเลยที่ 3 ได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม ก็สามารถเชื่อมโยงไปสู่แหล่งที่มาของสถานที่ลักทรัพย์ คือศรีอรุณแมนชั่น และได้พบตัวผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายตามไปตรวจสอบรถจักรยานยนต์ของกลาง และยืนยันว่าเป็นของตนจริงดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมด้วยความสมัครใจเช่นกัน ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า สิบตำรวจตรีวิโรจน์เบิกความในชั้นศาลว่า ชั้นจับกุมจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ แต่ในบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ป.จ.2 (ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร จึงเป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญนั้น เห็นว่าข้อแตกต่างดังกล่าวหาใช่ข้อสาระสำคัญแห่งคดีไม่ ดังนั้น แม้คดีนี้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยที่ 3 นำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปขายให้จำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่จากพยานแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบ คือสิบตำรวจตรีวิโรจน์ผู้สืบสวนจับกุมจำเลยที่ 1 ได้พร้อมรถจักรยานยนต์ของกลางของผู้เสียหายที่ถูกแปลงสภาพให้ผิดไปจากเดิม ที่บ้านจำเลยที่ 1 เมื่อทราบจากจำเลยที่ 1ว่ารับซื้อรถของกลางจากจำเลยที่ 2 สิบตำรวจตรีวิโรจน์ก็ติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 ได้จำเลยที่ 2 ก็ให้การว่ารับซื้อรถของกลางมาจากจำเลยที่ 3 และเมื่อสิบตำรวจตรีวิโรจน์ตามไปจับกุมจำเลยที่ 3 ได้ จำเลยที่ 3 ก็ยอมรับสารภาพอีกว่ารับซื้อรถของกลางมาจากนายน้อย จึงเห็นได้ว่าการที่สิบตำรวจตรีวิโรจน์สามารถติดตามจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากจะอาศัยข้อมูลจากการสืบสวนทางหนึ่งแล้วยังได้อาศัยข้อมูลจากจำเลยแต่ละคนเป็นอย่างมากอีกต่างหาก พยานโจทก์จึงไม่ใช่มีเพียงคำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 เท่านั้นแต่ยังมีคำเบิกความของสิบตำรวจตรีวิโรจน์มาประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 3 อีกด้วย จึงเป็นพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดฐานรับของโจรรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย

-          ความรับผิดในความผิดหลัก และความผิดฐานรับของโจร
-          & ผู้ร่วมกระทำผิดในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์อันเป็นการได้ทรัพย์นั้น ไม่ต้องรับผิดฐานรับของโจรอีก
-          & บางกรณี อาจเข้าลักษณะเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 2 ข้อหาได้ เช่น Ø ผู้ต้องหา K เอาทรัพย์ที่รับฝากไว้จากบุคคลหนึ่ง  ไปหลอกขายให้แก่อีกบุคคลหนึ่ง = ผู้ต้องหา K ยักยอกทรัพย์  และฉ้อโกง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1264/2513 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับข้าวเปลือกไว้จากผู้อื่นโดยรู้ว่าเป็นของร้ายอันได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือฉ้อโกงนั้น ถือว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องครบองค์ความผิดฐานรับของโจรชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว จึงไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม / ข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยใช้ผู้อื่นไปลักทรัพย์หรือฉ้อโกงนั้น ถือว่าจำเลยเป็นตัวการด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ดังนั้น เมื่อจำเลยรับทรัพย์นั้นจากผู้ที่จำเลยใช้ ถือว่าเป็นการรับทรัพย์ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรรมอันเดียวกับความผิดฐานลักทรัพย์หรือฉ้อโกง ที่จำเลยเป็นผู้ใช้นั้นเอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1881/2517 ความผิดฐานฉ้อโกง เป็นเรื่องที่ผู้กระทำผิดได้ทรัพย์ด้วยการหลอกลวง แต่ความผิดฐานรับของโจรทรัพย์ที่ได้มาด้วยการฉ้อโกงนั้น ผู้รับของโจรไม่ได้ไปหลอกลวงด้วย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 325/2520 จำเลยร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ รุ่งขึ้นจำเลยจูงกระบือที่ปล้นไปนั้น การจูงกระบือในวันรุ่งขึ้น ไม่เป็นความผิดฐานรับของโจรขึ้นใหม่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 690/2521 ช.คนประจำรถที่บรรทุกถุงพลาสติก ส่งถุงพลาสติก 6 ถุงให้จำเลยรับทางท้ายรถบรรทุก เป็นการที่ ช.ลักทรัพย์สำเร็จแล้วตั้งแต่ยกถุงออกจากที่เก็บ จำเลยมิได้ร่วมลักทรัพย์ด้วย จำเลยมีความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2652/2543 ความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357วรรคหนึ่ง จะเป็นความผิด ก็ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังที่การกระทำความผิดในการได้ทรัพย์มานั้นสำเร็จไปแล้ว ม. กับพวกมีเจตนาทุจริตมาแต่แรก โดยหลอกลวงว่าจะซื้อที่ดินจากโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมมาที่บ้าน ม. เพื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายและให้วางมัดจำ ม. กลับชักชวนโจทก์ร่วมให้ร่วมกับ ม. เล่นการพนันกับพวกของ ม.โจทก์ร่วมเล่นการพนันเสีย การติดต่อขอซื้อที่ดินและการเล่นการพนัน จึงเป็นเพียงเหตุการณ์ที่ ม. กับพวกสร้างขึ้นเพื่อหลอกลวงเอาเงินของโจทก์ร่วม และโดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ ม. กับพวกได้ไปซึ่งเงินจากโจทก์ร่วม กับเงินที่โจทก์ร่วมให้ จ. โอนมาให้แก่จำเลย แสดงว่าจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของ ม. หาใช่เข้าไปเกี่ยวข้องภายหลัง ม. ได้เงินมาแล้วไม่ จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกง

-          เจตนา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1010/2506 จำเลยที่ 2 รับของโจรกระบือจากบุคคลที่ลักมาแล้วขายให้จำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 รับซื้อไว้โดยรู้อยู่ก่อนแล้วว่าเป็นกระบือของคนร้าย ก็มีความผิดฐานรับของโจรได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 265/2507 ในความผิดฐานรับของโจรนั้น จะเกิดเป็นความผิดขึ้นในขณะที่จำเลยได้รับทรัพย์นั้นไว้ โดยรู้อยู่ว่าเป็นของได้มาจากการกระทำผิด ไม่ใช่เป็นความผิดขณะที่ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 657/2519 การที่ผู้เสียหายให้จำเลยไปช่วยสืบหา และไถ่ทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักเอาไป จำเลยจึงไปไถ่ทรัพย์ดังกล่าวคืนมาให้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิด จำเลยไม่มีความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1276/2530 การซื้อขายวิทยุติดรถยนต์ของกลาง ได้กระทำกันโดยเปิดเผย และจำเลยรับซื้อของกลางไว้ โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยจึงไม่มีความผิด เพราะขาดองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดฐานรับของโจร

-          ภาระการพิสูจน์ การรับฟังพยานหลักฐานในคดีรับของโจร และพฤติการณ์ที่แสดงเจตนา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1214/2519 การที่จะค้นหาเจตนาของจำเลยว่ารับทรัพย์ของกลางไว้ โดยรู้หรือไม่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดนั้น เป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบด้วยประจักษ์พยานได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลกรณีแวดล้อม และพิรุธแห่งการกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลย เมื่อจำเลยให้การในชั้นจับกุม ในชั้นสอบสวน และนำสืบในชั้นศาลแตกต่างกัน ไม่อยู่กับร่องกับรอย จำเลยรู้ว่าถูกเปลี่ยนยี่ห้อ แสดงให้เห็นว่าจำเลยรับทรัพย์ของกลางไว้ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่คนร้ายได้มาจากการกระทำผิด ผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1723/2526 คนร้ายลักพระแสงกระบี่ของพระบรมรูปทรงม้า ไปขายจำเลยที่ร้านซึ่งได้รับอนุญาตให้ค้าของเก่า โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุในเวลาค้าขายตามปกติ เป็นการกระทำตามปกติในธุรกิจการค้า แม้รับซื้อไว้ในราคาถูก และไม่ลงรายการการซื้อในบัญชีแสดงรายการโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ แต่จำเลยมิได้เก็บพระแสงกระบี่ไว้ในลักษณะปิดบังซ่อนเร้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยรับซื้อไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยไม่มีความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3079/2529 จำเลยสวมเสื้อของผู้เสียหาย ในเวลาใกล้ชิดกับที่เสื้อถูกคนร้ายลักไป บ้านจำเลยอยู่ใกล้สถานที่ที่ทรัพย์ถูกลัก ดังนี้ การแสดงว่าจำเลยได้รับเสื้อของผู้เสียหายซึ่งเป็นทรัพย์อันได้มา โดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยมีความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2093/2529 จำเลยมีอาชีพซ่อมรถจักรยานยนต์ ได้นำรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายซึ่งถูกชิงทรัพย์ไปจำนำ โดยมิได้นำทะเบียนรถไปแสดง เมื่อถูกกล่าวหา ก็อ้างแต่เพียงว่าเป็นรถของ ส.โดยมิได้นำตัว ส.มาสืบ ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยได้ช่วยจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำผิดอันเป็นความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ.ม.339 ก็ลงโทษฐานรับของโจรตาม ม.357 ได้ตาม ป.ว.อ. ม.192
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5701/2531 มีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป วันเกิดเหตุจำเลยเข้ามานั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ดังกล่าวซึ่งจอดอยู่แล้วไขกุญแจรถ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจแสดงตัวจำเลยทิ้งรถวิ่งหนี แสดงว่าจำเลยรู้ว่ารถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ การที่จำเลยนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์แล้วไขกุญแจรถ เป็นการเข้ายึดถือครอบครองรถจักรยานยนต์ เมื่อจำเลยได้รับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยย่อมมีความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1203/2533 เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ของกลางที่ถูกปล้นไปได้จาก ส.ต่อมา ส.เป็นพยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์ของกลางมาบอกขายให้โดยมอบให้ไปทดลองขับ  และมอบสัญญาเช่าซื้อให้ไว้ด้วย ในเมื่อ ส.รู้จักกับจำเลยมาก่อนเกิดเหตุและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงเชื่อว่า ส.เบิกความไปตามความจริงโดยมิได้ปรักปรำจำเลย แม้ความจริงจะปรากฏว่า ส.ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีในข้อหากระทำผิดร่วมกับจำเลย คำเบิกความของ  ส.จะเข้าลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ที่ถูกล่าวหาของผู้ต้องหาว่ากระทำผิดด้วยกัน การที่จะเชื่อคำพยานได้หรือไม่นั้นย่อมแล้วแต่เหตุผลที่พยานเบิกความ  เมื่อรถยนต์ของกลางที่จำเลยบอกขายให้ ส.มีป้ายทะเบียนปลอม สีรถถูกเปลี่ยนจากสีครีมมาเป็นสีแดง หมายเลขประจำตัวถังและหมายเลขประจำเครื่องยนต์ถูกขูดลบออกและตอกหมายเลขใหม่ให้ตรงกับสีรถหมายเลขประจำตัวถังและหมายเลขประจำเครื่องยนต์ของจำเลยที่เช่าซื้อมา พยานแวดล้อมจึงฟังได้ว่า  จำเลยได้รับรถยนต์ของกลางไว้แล้วช่วยจำหน่าย หรือช่วยพาไปเสีย โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานรับของโจ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1928/2534 จำเลยรับซื้อสินค้าไว้ โดยไม่มีพฤติการณ์ใด ส่อให้เห็นว่าเป็นการรับซื้อไว้โดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่ ร.ฉ้อโกงมาจากโจทก์ร่วม เป็นการซื้อไว้โดยสุจริต ย่อมไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5621/2534 คดีเกี่ยวกับรับของโจรนั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยรับทรัพย์ไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิด มิใช่เพียงแต่คิดหรือเห็นว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์แล้ว ต้องให้จำเลยนำสืบแก้ตัวว่าไม่รู้ว่าเป็นของร้าย การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้ขณะเอาลูกกุญแจไปไขจะติดเครื่องขับรถจักรยานยนต์ของ ม.ซึ่งมีหน้าปัดวัดความเร็วอันเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปติดอยู่ เพียงเท่านี้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองจักรยานยนต์ของกลางโดยรู้แล้วว่ามีของผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดหาได้ไม่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 57/2535 การที่จำเลยที่ 4 อ้างว่าเช่าซื้อรถยนต์ต่อจากผู้เช่าซื้อเดิมโดยชำระเงินดาวน์ให้ จ. ทันที  เป็นเงินถึง 20,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนเช่าซื้อและใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง ทั้งยังไม่ทราบว่าคู่สัญญาเดิมจะยอมให้จำเลยที่ 4 เข้าเป็นผู้เช่าซื้อแทนหรือไม่ เป็นการผิดปกติวิสัยที่คนทั่วไปจะทำกัน ไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ นอกจากนั้นในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 4ก็ให้การว่า เป็นการซื้อขายไม่ใช่เช่าซื้อ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 4ซื้อรถยนต์ของผู้เสียหายจากจำเลยที่ 1 ในราคาเพียง 20,000 บาท / จำเลยที่ 4 รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์คันที่ถูกปล้นราคาที่แท้จริง เป็นจำนวนเท่าใด และรับซื้อไว้ในราคาที่ถูกกว่ากันมาก เป็นการชี้ให้เห็นว่าน่าจะซื้อไว้โดยสุจริต
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 400/2535 จำเลยที่ 1 เป็นผู้บอกให้จำเลยที่ 2 ไปซื้อของกลางที่ถูกยึดในครั้งแรก แล้วนำไปขายนำเงินมาแบ่ง และจำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้เดินนำจำเลยที่ 2 เข้าไปในป่าละเมาะบริเวณที่ของกลางซุกซ่อนอยู่ และก้มลงหยิบเฟืองเกียร์ของกลางจึงถูกจับกุม พฤติการณ์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ย่อมทราบมาก่อนว่า ของกลางเป็นของร้ายที่ซุกซ่อนไว้ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 429/2535 จำเลยรับซื้อกระบือไว้ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมาสอบถามจำเลยไม่บอกเจ้าพนักงานตำรวจว่าตนเองเป็นผู้ซื้อกระบือไว้และปิดบังผู้ขายแต่กลับนำเจ้าพนักงานตำรวจติดตามหากระบิดไปในที่ต่าง ๆ เป็นการกระทำที่ส่อถึงเจตนาที่ไม่สุจริตของจำเลย ประกอบการซื้อขาย ไม่มีการพูดถึงตั๋วพิมพ์รูปพรรณว่ามีถูกต้องตรงกันหรือไม่ และใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง ซึ่งเป็นการผิดวิสัยของจำเลยซึ่งมีอาชีพรับซื้อขายกระบือเป็นประจำ แม้ต่อมาภายหลังจำเลยจะนำกระบือที่ซื้อไปเลี้ยงในที่เปิดเผย และเวลากลางคืนก็นำมาผูกไว้ที่บ้านซึ่งอยู่ติดถนน เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ของจำเลยก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยนำไปเลี้ยง และเก็บไว้รวมกับกระบือตัวอื่น ๆ ของจำเลยอีกถึง 4 ตัว ย่อมทำให้ผู้พบเหตุเข้าใจได้ว่ากระบือทั้งหมดเป็นของจำเลย ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยรับซื้อกระบือไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 193/2538 คำเบิกความของพยานโจทก์ไม่สามารถยืนยันว่า จำเลยได้รับไว้ซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักมาอย่างไร  และจำเลยทราบหรือไม่ ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการลักทรัพย์ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่สามารถฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 21/2539 จำเลยที่ 2 ครอบครองรถยนต์กระบะของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป แล้วนำไปขายให้จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 กลับปฏิเสธว่าไม่ได้ขาย โดยไม่ยอมเปิดเผยความจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้รถยนต์คันดังกล่าวมาด้วยวิธีใด เป็นการผิดปกติวิสัย ทั้งไม่มีหลักฐานเอกสารใด ๆ ในการได้รถยนต์นั้นมา เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้รถยนต์มาโดยรู้ว่าถูกคนร้ายลักมา จึงมีความผิดฐานรับของโจร ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ตามราคาท้องตลาดและได้แสดงความบริสุทธิ์ตั้งแต่แรก โดยแจ้งความจริงแก่จ่าสิบตำรวจ จ. ในทันทีที่เข้าสอบถาม อีกทั้งยังใช้รถอย่างเปิดเผย โดยไม่ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพรถ เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่รู้ว่าเป็นรถที่ถูกคนร้ายลักมา ส่วนที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเรียกเอาเอกสารหลักฐานใด ๆ จากจำเลยที่ 2 จนกระทั่งถูกจับ คงเป็นเพราะเชื่อถือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่เขยว่าเมื่อผ่อนชำระราคาครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 2 ก็จะโอนทะเบียนรถให้ รวมทั้งจำเลยที่ 2 จะต่อทะเบียนรถประจำปีให้ด้วย ไม่พอถือเป็นข้อพิรุธ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานรับของโจร แม้จำเลยที่ 1  มิได้ฎีกา แต่เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1  กระทำความผิดและเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกับจำเลยที่ 2 ซึ่งฎีกา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกฟ้องจำเลยที่ 1
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 590/2539 ความผิดฐานรับของโจรนั้น เป็นการยากที่จะนำสืบด้วยประจักษ์พยาน จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากกรณีแวดล้อม และพิรุธแห่งการกระทำ จำเลยที่ 1 ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ด่านทหารไทยและทหารกัมพูชา แล้วพาคนร้ายนำรถยนต์บรรทุกสิบล้อข้ามแดนไปขายในประเทศกัมพูชา โดยไม่มีการจดทะเบียน และต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ด่าน ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ช่วยพาไปจำหน่ายนั้น เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 673/2540 เจ้าพนักงานตำรวจพบชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ของกลางวางอย่างเปิดเผย ในร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ของจำเลย โดยมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพของกลางดังกล่าวเลย ทั้งจำเลยยังมีบิลเงินสดที่แสดงว่าจำเลยรับของกลางไว้เพื่อทำการซ่อม ซึ่งเป็นฉบับซึ่งแทรกอยู่กับใบเสร็จฉบับอื่นจึงยากที่จำเลยจะทำเพิ่มเติมได้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยรับของกลางไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5439/2540 จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการหล่อโลหะและหล่อพระพุทธรูปมานานถึง 20 ปี น่าจะรู้ว่าพระของกลางเป็นรูปหล่อโลหะเก่า ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื้อโลหะเก่า มีลักษณะแตกต่างจากโลหะที่หล่อใหม่อย่างเห็นได้ชัด ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่านำไปทาน้ำยาฝังดิน เพื่อให้เกิดสนิม ทำให้ดูเป็นของเก่า จึงฟังไม่ขึ้น ทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงพระของกลางมีราคาถึง 300,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 รับซื้อไว้ในราคาเพียง 15,000 บาท และจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำตัวผู้ขายมาเบิกความต่อศาล สนับสนุนข้อต่อสู้ของตนได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับซื้อพระของกลางไว้ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 7206/2540  เด็กหญิง อ. มีนิสัยชอบลักขโมยซึ่งจำเลยก็ทราบดี บ้านผู้เสียหายก็อยู่ใกล้บ้านจำเลยเด็กหญิง อ. ไปมาหาสู่บ้านจำเลยบ่อย ๆ จำเลยจึงน่าจะทราบความเป็นไปในบ้านผู้เสียหายจากเด็กหญิง อ. เมื่อเด็กหญิง อ. ลักสุราต่างประเทศจากบ้านผู้เสียหายได้ก็น่าจะนำไปขายให้คนบ้านใกล้เรือนเคียงซึ่งล้วนแต่เป็นญาติกันจำเลยควรจะทราบดีว่าสุราต่างประเทศ ไม่ใช่ของเด็กหญิง อ. แน่นอน  การที่เด็กหญิง อ. เบิกความว่าได้ลักสุราต่างประเทศของผู้เสียหายไปขายแก่จำเลย 5 ขวด แม้จะเป็นการซัดทอด แต่ก็มีพยานอื่นและเหตุผลประกอบ จึงรับฟังได้เชื่อได้ว่าจำเลยได้รับซื้อสุราต่างประเทศที่เด็กหญิง อ. ลักมาจากบ้านผู้เสียหายโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าที่เด็กหญิง อ.เบิกความว่าได้ลักสุราต่างประเทศของผู้เสียหายมาขายแก่จำเลยตามที่จำเลยบอก จำเลย จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับเด็กหญิง อ. ต้องถือว่าจำเลยรับสุราต่างประเทศจากเด็กหญิง อ. เป็นผลสืบเนื่องมาจากการลักทรัพย์ที่จำเลยเป็นผู้ใช้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานรับของโจรนั้นได้ความว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจร เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบรับฟังลงโทษในความผิดตามที่โจทก์ฟ้องได้แล้ว ศาลก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานอื่นซึ่งโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษอีกหรือไม่ คดีไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้ร่วมกระทำความผิดฐานเป็นผู้ใช้หรือเป็นตัวการร่วมกันลักทรัพย์กับเด็กหญิง อ. หรือไม่ จำเลยเป็นหญิงแม่บ้าน ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จำเลยรับซื้อสุราต่างประเทศเพื่อต้องการจะมีไว้บริโภคในราคาถูกเท่านั้น อีกทั้งเป็นการกระทำผิดในระหว่างวงศ์ญาติ ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่สู้ร้ายแรงนัก จึงสมควรรอการลงโทษให้จำเลย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 187/2541 รถยนต์กระบะของกลางมีสภาพเป็นรถใหม่ผู้เสียหายซื้อมาก่อนเกิดเหตุ 5 เดือน ราคา 335,000 บาท แต่ขณะที่จำเลยรับซื้อรถยนต์กระบะของกลาง ปรากฏว่าไม่มีกุญแจ และบริวารกุญแจไขประตู และกุญแจสตาร์ทชำรุด ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ป้ายวงกลม และหลักฐานการทำประกันภัยก็ไม่มีที่รถ ในชั้นจับกุมและสอบสวน จำเลยให้การรับสารภาพว่า ได้รับซื้อรถยนต์กระบะของกลางไว้ในราคา 80,000 บาท ดังนี้ ตามพฤติการณ์พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยรับซื้อรถยนต์กระบะของกลาง โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 427/2541 จำเลยที่ 2 มีบ้านอยู่ใกล้กับบ่อเลี้ยงปลาของผู้เสียหายและทราบดีว่า ป. เป็นคนเฝ้าบ่อปลาให้กับผู้เสียหาย ดังนั้นการที่ ป. นำปลาดุกเลี้ยงจำนวนมากถึง 42 กิโลกรัมมาขายให้แก่จำเลยที่ 2 ในเวลาวิกาลประมาณ 4 นาฬิกา และขายในราคาต่ำเพียงกิโลกรัมละ 8 บาท ในขณะที่จำเลยที่ 2 สามารถนำไปขายต่อได้ถึงกิโลกรัมละ 22 บาท เช่นนี้ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 ทราบว่า ป. ลักปลาดุกเลี้ยงของผู้เสียหายมา การที่จำเลยที่ 2 รับซื้อไว้ ผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6771/2542 อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนมีทะเบียน ผู้ที่จะครอบครองได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น แม้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มี และใช้อาวุธปืนดังกล่าว จะนำอาวุธปืนนั้นไปจำนำไว้กับจำเลยเองก็ไม่สามารถกระทำได้เพราะจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าว หากจำเลยยอมรับจำนำไว้ แม้โดยสุจริต ก็เป็นการไม่บังควร เพราะเป็นการเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี การที่จำเลยอ้างว่ารับจำนำอาวุธปืนของกลาง ซึ่งถูกคนร้ายลักไปไว้จาก ต. ซึ่งมีอายุเพียง 16 ปี และไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน โดยมิได้ขอดูหลักฐานใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของบิดา ต. และรับจำนำไว้ในราคาเพียง 3,500 บาท ทั้งที่จำเลยนำไปขายต่อยังได้ราคาถึง 10,000 บาท แสดงว่าจำเลยรับจำนำไว้ในราคาที่ต่ำผิดปกติและมีพิรุธ ทั้งอาวุธปืนดังกล่าวมีร่องรอยการขูดลบหมายเลขทะเบียน ไม่สามารถอ่านได้ แสดงว่าอาวุธปืนดังกล่าวถูกเปลี่ยนมือไป ในลักษณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีการขูดลบหมายเลขทะเบียน เพื่อทำลายหลักฐาน ส่อให้เห็นว่าจำเลยรับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไว้ โดยหารู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 426/2543 จำเลยกับ ช. รู้จักมักคุ้นกันดี ถึงขั้นไปเที่ยวและดื่มสุราด้วยกัน ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าต้องรู้การเป็นอยู่ของกันและกันได้ดีว่ามีฐานะอย่างไร กับบ้านที่ ช. พาจำเลยไปซ่อมรถจักรยานยนต์ ก็เป็นบ้านร้างกลางทุ่งห่างชุมชน ทั้งรถจักรยานยนต์ที่จำเลยซ่อมก็มีสภาพใหม่ ไม่ปรากฏร่องรอยบุบสลายให้เห็นว่าต้องมีการซ่อมแซมตัวถัง อะไหล่ที่วางบนพื้นห้องในบ้านร้าง ล้วนเป็นอะไหล่ประกอบตัวถังมีสภาพเป็นของใช้แล้วทั้งสิ้น ปุถุชนทั่วไปเมื่อเห็นก็จะรู้ทันทีว่า ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องซ่อมแซมอุปกรณ์ตัวถังรถ  เชื่อว่าจำเลยรู้ว่ามีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นเกี่ยวกับอะไหล่ที่กำลังเปลี่ยนอยู่นั้น การที่จำเลยเข้ายึดถืออะไหล่รถจักรยานยนต์ดังกล่าว เพื่อนำมาเปลี่ยนใส่รถจักรยานยนต์ตามความประสงค์ของ ช. ถือได้ว่าจำเลยได้รับไว้ซึ่งอะไหล่รถจักรยานยนต์ อันได้มาโดยการกระทำความผิดลักษณะลักทรัพย์ เป็นความผิดฐานรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 8481/2544 แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.. มาตรา 145, 146 ดังนั้นจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147 ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีกเว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ / คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง เป็นการอนุมานย่อมรับฟังได้ ถ้ามีเหตุผลอื่นประกอบ ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 มาประกอบการพิจารณาของศาล จึงสามารถนำมาประกอบในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของพยานโจทก์ได้ / ทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะพิเศษ เช่น นาฬิกามีรูปเป็นหัวงู บางชิ้นมีรูปชาวอิสลามอยู่ที่หน้าปัดเป็นของที่มีราคาแพง และไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด จำเลยที่ 4 มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับประเภทเพชร พลอยเงิน ทอง นาก และนาฬิกา ได้รับใบอนุญาตให้ค้าของเก่า จำเลยที่ 4 ซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ มาจากจำเลยที่ 3 เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท แสดงว่าจำเลยที่ 4 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ เป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูง และหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไป และในฐานะดังกล่าวจำเลยที่ 4 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ทราบว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ ที่จำเลยที่ 4 รับซื้อไว้จากจำเลยที่ 3 เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

-          การขอคืนทรัพย์ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1151/2512 (สบฎ เน 2119) จำเลยรับของโจรเป็นอาวุธปืน ถูกจับได้พร้อมเงิน 17,000 บาท จำเลยให้การว่าเป็นเงินที่ได้จากการขายปืนเพียง 5,800 บาท ที่เหลือเป็นเงินส่วนตัว ส่วนเงินขายปืน ไม่ติดใจโต้แย้ง แม้เป็นเงินที่ได้จากการขายปืน ก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ถูกคนร้ายลักไป แต่เป็นเงินที่ผู้ซื้อปืนชำระราคาปืน ฉะนั้นต้องคืนผู้เสียหาย เท่าจำนวนที่จำเลยพอใจคืน จากนั้นโจทก์ต้องบังคับคดีตามคำพิพากษาเอาส่วนที่เหลือต่อไป

-          ประเด็นตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 209/2515 ความผิดฐานรับของโจรจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ฯลฯ เกิดขึ้นแล้ว / โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายเมื่อ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2511 และร่วมกันรับเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไประหว่างวันที่ 23 - 29 มิถุนายน 2511 เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยร่วมกันกระทำผิดฐานรับของโจร ในขณะที่การกระทำผิดฐานลักทรัพย์ยังไม่เกิดขึ้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ลงโทษไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4102/35 คดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย เมื่อนำสืบมารับฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับจำนำอาวุธปืนของผู้เสียหายไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา คดีก็รับฟังลงโทษจำเลยฐานรับของโจรไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 287/2540 คดีเกี่ยวกับความผิดฐานรับของโจรนั้น ข้อสำคัญโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่า จำเลยรับทรัพย์ไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์สินอันได้มาโดยการกระทำความผิด กรณีของจำเลย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันให้เห็นว่าจำเลยได้รับรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักเอาไปไว้ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด จะอาศัยพฤติการณ์ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจากบ้านของ ส. โดยคิดหรือคาดคะเนเอาว่าจำเลยได้ครอบครอง หรือช่วยจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย แล้วฟังประกอบบันทึกการตรวจยึดว่าจำเลยมีรถจักรยานยนต์ อันเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดนั้นหาได้ไม่

-          ขั้นตระเตรียมการ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5058/2533 หลังจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 รับซื้อกระบือของกลางจากคนร้ายที่ลักมาแล้ว จำเลยที่ 3 ได้ร่วมปรึกษากับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่าจะหาเงินให้ผู้ขายอย่างไร เอากระบือไปขายที่ไหน เมื่อขายได้แล้วจะนำกำไรมาแบ่งกันวันต่อมา จำเลยที่ 1 ที่ 2 พาจำเลยที่ 3 ไปดูกระบือที่ผูกซ่อนไว้จึงถูกจับกุม ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 ลงมือกระทำผิด เป็นเพียงการตระเตรียมที่จะร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 เท่านั้นการกระทำของจำเลยที่ 3 จึงยังไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร

-          ประเด็นความผิดสำเร็จ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 265/2507 ในความผิดฐานรับของโจรนั้น จะเกิดเป็นความผิดขึ้นในขณะที่จำเลยได้รับทรัพย์นั้นไว้ โดยรู้อยู่ว่าเป็นของได้มาจากการกระทำผิด ไม่ใช่เป็นความผิดขณะที่ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2177/2520 รับเช็คซึ่งถูกลักไปไว้แล้วนำไปเบิกเงินที่ธนาคาร แต่เบิกไม่ได้ เพราะถูกอายัดไว้ เป็นรับของโจรสำเร็จ ไม่ใช่พยายามรับของโจร
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1609/2522 จำเลยอยู่ที่ปากถ้ำที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานพบคนร้ายมีกระบือผูกอยู่ในถ้ำ จำเลยเพียงแต่ดูกระบือตั้งใจจะซื้อ ยังไม่ตกลงซื้อก็ถูกจับ ยังไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร (ยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทำผิด)

-          ประเด็นเรื่องกรรมเดียว หลายกรรม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2006/2511 คนร้ายลักทรัพย์ 2 คราว แต่จำเลยรับของโจรทรัพย์ที่ถูกลักทั้งสองคราวนั้น ในคราวเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยฐานรับของโจร ทรัพย์ที่ถูกลักคราวหนึ่ง จนศาลพิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จะมาฟ้องจำเลยฐานรับของโจรทรัพย์ที่ถูกลักอีกคราวหนึ่งมิได้ เป็นฟ้องซ้ำ

-          ประเด็นเรื่องรอการลงโทษ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6510/2541 ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดที่มีส่วนสนับสนุนก่อให้เกิดอาชญากรรมอื่น ๆ ติดตามมาอีกมากมาย จึงเป็นเรื่องร้ายแรง สมควรที่จะปราบปรามอย่างเด็ดขาด อีกทั้งทรัพย์ที่จำเลยรับของโจรเป็นรถจักรยานยนต์ซึ่งมีราคาสูง การไม่รอการลงโทษแก่จำเลยจึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 7242/2541 การที่เจ้าพนักงานตำรวจติดตามค้นหารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่หายไปทั้งคัน แต่ไปพบชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของรถจักรยานยนต์ดังกล่าวได้ที่บ้านจำเลยที่ 2 ในลักษณะถอดเป็นชิ้นส่วน โดยจำเลยทั้งสองรับว่าซื้อไว้เพราะราคาถูก พฤติการณ์ดังกล่าว จึงเป็นการส่งเสริมให้มีการลักรถจักรยานยนต์มากยิ่งขึ้น และเป็นการช่วยปิดบังการกระทำผิด เพราะเมื่อรถจักรยานยนต์ของกลางถูกถอดแยกออกเป็นชิ้นส่วนแล้วนำไปขายเช่นนี้ เจ้าพนักงานตำรวจย่อมยากที่จะติดตามจับกุมผู้กระทำผิดได้ จึงสมควรลงโทษสถานหนัก เพื่อปรามมิให้การกระทำผิดเช่นนี้แพร่หลายต่อไป และไม่ควรรอการลงโทษให้จำเลยทั้งสอง

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 357
-          (ขส เน 2510/ 1) สามีลักทรัพย์ของภรรยา ม 334 + ไม่ต้องรับโทษ ตาม ม 71 / คนรับซื้อทรัพย์ไว้ ผิดฐานรับของโจรตาม ม 357
-          (ขส เน 2511/ 2) นายชวน ลักสร้อยของนายจอน ไปจำนำไว้กับนายแดง แดงไม่รับไว้ เพราะรู้ว่าลักของนายจอนมา จึงแนะนำและพานายชวนให้ไปจำนำไว้กับนายนิ่ม โดยช่วยพูดให้นายนิ่มรับจำนำ นายแดงผิดฐานใด / แดงไม่รับจำนำ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ลักมา แต่พาไปจำนำกับคนอื่น / แดงผิด ม 357 เพราะเป็นการช่วยจำหน่ายสายสร้อยที่นายชวนลักมา ฎ 680/2508
-          (ขส เน 2512/ 3) สามีแกะ สร้อยของมารดาภรรยาไปจากคอของภรรยา ผิดลักทรัพย์ ม 334 ไม่ได้รับยกเว้นโทษตาม ม 71 เพราะเป็นทรัพย์ของ มารดาภรรยา” / นายแกะเห็นเหตุการณ์ตลอด ขับรถพาสามีหนี นายแกะไม่ผิดฐานสนับสนุนให้ลักทรัพย์ ม 334+86 เพราะเป็นช่วยเหลือหลังจากความผิดลักทรัพย์สำเร็จแล้ว ไม่ใช่ช่วยเหลือก่อนหรือขณะทำผิด จึงไม่เป็นการสนับสนุน แต่นายแกะผิด ม 189 ฐานช่วยผู้กระทำผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ โดยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม และ ฐานรับของโจร ตาม ม 357 โดยการที่ได้ช่วยพาเอาทรัพย์ที่ลักนั้นไปเสีย
-          (ขส เน 2512/ 7) สามีหยิบแหวนของภรรยา ไปให้สาวใช้ / สามีผิด ม 334 แต่ไม่ต้องรับโทษ ตาม ม 71 / สาวใช้ผิด ม 357
-          (ขส เน 2512/ 8) นายดำลักไก่มาแกงกิน นายดีกินแกงด้วย ทั้งที่รู้ว่าลักมา / นายดี ไม่ผิดฐานรับของโจรตาม ม 357 เพราะทรัพย์ที่ลักคือไก่ เปลี่ยนสภาพเป็นแกงไก่แล้ว แกงไก่จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิด
-          (ขส เน 2512/ 10) นายเหลืองลักโค จากใต้ถุนเรือนนายแดง นายแดงตามไปทัน จับโคได้ นำไปฝากนายเขียว แล้วติดตามคนร้ายต่อไป นายเขียวเป็นพวกนายเหลือง จึงบอกนายเหลือว่ารับฝากโคไว้ และให้โคแก่นายเหลือง นายเหลืองเอาโคนั้นไปขายเสีย นายเหลืองและเขียวผิดฐานใด / นายเหลืองลักโคจากใต้ถุนเรือน ซึ่งเป็นบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย ตาม ม 1 (4) ผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน ตาม ม 335 (8) / นายเขียวแอบนำไปให้นายเหลือง นายเขียว ผิดฐานยักยอก ม 352 1 / นายแดงได้โคคืนมาแล้ว นายเหลืองรับโคจากนายเขียวซึ่งยักยอกไว้ เป็นความผิดฐานรับของโจร ตาม ม 357 อีกระทงหนึ่ง

-          (ขส พ 2531/ 8) ผู้ใช้ให้คนร้ายไปลักทรัพย์ ผิด ม 335 (1) (8) + 84 การรับทรัพย์ ไม่ผิด ม 357 อีก ฎ 1264/2513 และการรับคนร้ายกลับหลังลักทรัพย์ ไม่ผิด ม 86 เพราะการลักทรัพย์สำเร็จไปแล้ว / ภรรยาผู้ใช้ ไม่รู้ว่าทรัพย์ถูกลักมา ถือว่าสำคัญผิดว่าเป็นทรัพย์สินหาย การเก็บเอาไว้ ผิด ม 352 2 + 62 34/2503 ไม่ผิด ม 357 เพราะไม่รู้ว่าทรัพย์ถูกลักมา / คนช่วยเอาทรัพย์ไปซ่อน หลบตำรวจ ผิด ม 357 + 184 แต่เป็นการช่วยมารดา เข้า ม 193 ศาลจะไม่ลงโทษตาม ม 184 ก็ได้ (แต่ต้องลงโทษ ม 357)

-          (ขส อ 2542/ 6) สินสมรส ชื่อของสามี คดีฟ้องหย่า ศาลพิพากษาให้แบ่งที่ดิน สามีขายไป ผิด ม 352 + 187 + 90 / คนแนะนำให้ขายและซื้อเอาไว้ ผิด ม 352 + 187 + 86 (น่าจะ ม 84 เพราะแนะนำแล้ว สามีขาย โดยไม่ปรากฏว่าสามีมีเจตนาตั้งแต่ต้น และเกลื่อนกลืนเป็นตัวการ ม 83 เพราะได้ร่วมมือในการที่สามีขายทรัพย์ ด้วยการรับซื้อเอาไว้เอง) + 357 + 90 / เมียน้อยรับเงินจากสามีโดยรู้ข้อเท็จจริงเรื่องการยักย้ายถ่ายโอนทรัพย์ ไม่ผิด ม 357วรรค 1 เพราะเงินที่ได้ ไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาโดยตรง


ไม่มีความคิดเห็น: