ศพผู้ตายเป็นพยานวัตถุสำคัญ ถ้าไม่ได้ศพผู้ตายมาชันสูตร และพยานเป็นที่สงสัยไม่แน่ใจว่า กะโหลกศีรษะและขากรรไกรที่ได้มานั้นเป็นของผู้ตายแล้ว เพียงแต่ผู้ตายหายไปไม่พอฟังลงโทษจำเลยว่าเป็นคนฆ่าผู้ตาย แต่อย่างไรก็ตามหากได้ความว่าผู้ตายได้ตายจริง การที่จะได้ศพมาหรือไม่ไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีนัก ประเด็นอยู่เพียงว่าจำเลยเป็นคนฆ่าผู้ตายหรือไม่เท่านั้น คำพิพากษาฏีกา ๑๕๖/๑๓๑
ข้อสังเกต ๑.การชันสูตรพลิกศพกระทำเมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ เช่นถูกกล่าวอ้างว่าถูกคนอื่นทำให้ถึงแก่ความตาย เพื่อต้องการทราบพฤติการณ์ที่ตายและต้องการทราบว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อไหร่ หากถูกทำร้ายตายใครเป็นคนทำร้าย ปวอ. มาตรา ๑๔๘,๑๕๔
๒. ศพเป็นพยานวัตถุ คำพิพากษาฏีกา ๖๙๖/๒๔๖๗,๑๑๗๔/๒๔๖๗,๕๙๙/๒๔๗๑ ซึ่งใน ปวอ. มาตรา ๒๔๑ สิ่งใดใช้เป็นพยานวัตถุต้องนำมาศาล ในกรณีที่นำมาไม่ได้ ให้ศาลไปตรวจจดรายงานที่ที่พยานวัตถุนั้นอยู่ตามเวลาและวิธีการซึ่งศาลเห็นสมควรตามลักษณะพยานวัตถุนั้น ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วไม่สามารถนำศพมาที่ศาลได้เพราะย่อมเน่าเปื่อยผุพังไปตามกาลเวลา และการที่จะให้ศาลไปจดรายงานที่มีศพที่ถือว่าเป็นพยานวัตถุนั้นอยู่ย่อมไม่อาจเป็นไปได้ จึงต้องอาศัยการชันสูตรพลิกศพของสหวิชาชีพที่มีทั้งอัยการ แพทย์ พนักงานฝ่ายปกครองและพนักงานสอบสวนได้ร่วมกันชันสูตรพลิกศพและทำรายงานขึ้นมา
๓.หรือแม้แต่ใน ปวอ. มาตรา ๒๔๒ ที่บัญญัติว่าสิ่งของที่เป็นพยานวัตถุต้องให้คู่ความหรือพยานตรวจดู ในระหว่างการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง หรือในระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งทางปฏิบัติคงไม่สามารถกระทำได้เช่นกัน คงต้องเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ทำการถ่ายภาพของศพและบริเวณที่เกิดเหตุหรือบริเวณที่พบศพไว้แล้วให้พยานตรวจดู ซึ่งภาพถ่ายดังกล่าวเป็นภาพจำลองวัตถุ ไม่ใช่พยานวัตถุที่ต้องปฏิบัติตาม ปวอ. มาตรา ๒๔๑,๒๔๒ เมื่อเป็นภาพจำลองวัตถุไม่ใช่พยานเอกสาร จึงไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารให้คู่ความอีกฝ่ายก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า ๗ วัน ตาม ปวอ. มาตรา ๑๕ ประกอบ ปวพ. มาตรา ๙๐ เทียบเคียงคำพิพากษาฏีกา ๘๔๐/๒๔๙๙
๔.และการส่งสำเนาภาพถ่ายดังกล่าวย่อมไม่ตกในบังคับ ปวพ. มาตรา ๙๓ ที่ต้องส่งต้นฉบับเท่านั้นจึงจะรับฟังได้ เพราะภาพจำลองวัตถุไม่ใช่เอกสารจึงไม่จำต้องปฏิบัติตามบทมาตราดังกล่าว แม้ไม่ปฏิบัติตาม ปวพ. มาตรา ๙๐,๙๓ ปวอ. มาตรา ๑๕ จะถือว่าเป็นการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นหรือส่งเอกสารในการพิจารณาคดี ในการพิจารณาพยานหลักฐาน อันจะถือเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบผิดจากกฎหมายตาม ปวพ. มาตรา ๒๗ ปวอ. มาตรา ๑๕ ไม่ได้
๕.ศพผู้ตายเป็นพยานวัตถุสำคัญ ถ้าไม่ได้ศพผู้ตายมาชันสูตร และพยานเป็นที่สงสัยไม่แน่ใจว่า กะโหลกศีรษะและขากรรไกรที่ได้มานั้นเป็นของผู้ตายแล้ว เพียงแต่ผู้ตายหายไปไม่พอฟังลงโทษจำเลยว่าเป็นคนฆ่าผู้ตาย เพราะเมื่อไม่พบศพผู้ตายไม่อาจทราบได้แน่นอนว่าผู้ตายถึงแก่ความตายจริงหรือไม่อย่างไร ลำพังคนหายไปไม่อาจรับฟังได้แน่ชัดว่าถึงแก่ความตายหรือหายสาปสูญหรือไม่อยากกลับบ้านหรือหลบหนีคดีหรือหลบเข้าไปในป่าตามอุดมการณ์ของตน แต่อย่างไรก็ตามหากได้ความว่าผู้ตายได้ถึงแก่ความตายจริง เช่น มีคนเห็นจำเลยใช้มีดฟันคอผู้ตายขาดออกจากบ่าแล้วศพผู้ตายตกลงไปในเหวลึกยากแก่การลงไปค้นหาหรือนำศพขึ้นมาได้ หรือมีพยานเห็นจำเลยฆ่าผู้ตายแล้วนำศพไปทิ้งแต่ไม่ทราบว่านำไปทิ้งหรือไปแยกส่วนชิ้นส่วนของศพอย่างไรเอาไปแยกทิ้งไว้ที่ไหนบ้าง หากมีพยานยืนยันแน่ชัดว่าผู้ตายถึงแก่ความตายจริง การที่จะได้ศพผู้ตายมาทำการชันสูตรพลิกศพหรือไม่อย่างไรจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีนัก ประเด็นอยู่เพียงว่าจำเลยเป็นคนฆ่าผู้ตายหรือไม่เท่านั้น พยานที่ยืนยันว่าผู้ตายถูกฆ่าตายนั้นมีน้ำหนักให้รับฟังได้หรือไม่อย่างไร มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย คู่สมรสของจำเลยหรือญาติจำเลยหรือไม่อย่างไร พยานเคยให้การในชั้นสอบสวนยืนยันว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่อย่างไร พยานเคยถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จ เบิกความเท็จหรือนำพยานหลักฐานที่เป็นเท็จมานำสืบในศาลหรือไม่อย่างไร พยานเป็นบุคคลที่วิกลจริต หรือไม่อย่างไร คำพยานน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วและจำเลยเป็นผู้กระทำผิด เพราะศาลจะไม่ลงโทษจำเลยเว้นแต่จะสามารถนำสืบได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงและจำเลยเป็นคนกระทำ ปวอ. มาตรา ๒๒๗ และหากมีความสงสัยว่าผู้ตายถึงแก่ความตายจริงหรือไม่อย่างไร ศาลต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ปวอ. มาตรา ๒๒๗วรรคสอง ลำพังการพบกะโหลกศีรษะและขากรรไกรก็ยังไม่อาจยืนยันได้แน่ชัดว่าจะใช่ผู้ตายหรือไม่อย่างไร บุคคลที่เป็นญาติพี่น้องกันก็อาจมีกะโหลกศีรษะและขากรรไกรที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันได้ ดังนั้น การที่ไม่สามารถพบศพผู้ตายจึงไม่อาจยืนยันได้แน่ชัดว่าผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่อย่างไร เว้นจะพบหลักฐานอย่างอื่นที่เชื่อมโยงและมีน้ำหนักสามารถยืนยันได้ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแน่แล้วแต่ไม่สามารถนำศพมาทำการชันสูตรพลิกศพได้เท่านั้น
๖.ปัญหาที่น่าพิจารณาต่อมาคือ เมื่อไม่มีการชันสูตรพลิกศพเพราะไม่สามารถหาศพผู้ตายพบ พนักงานอัยการจะสามารถฟ้องจำเลยต่อศาลได้หรือไม่ นั้นเห็นว่าตาม ปวอ. มาตรา ๑๒๙ บัญญัติเพียงเมื่อการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามไม่ให้ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล แต่ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามไว้ว่าหากไม่มีการชันสูตรพลิกศพแล้วห้ามพนักงานอัยการฟ้องคดี ดังนั้นแม้ไม่มีการชันสูตรพลิกศพ พนักงานอัยการก็สามารถฟ้องจำเลยได้หากมีหลักฐานแน่ชัดยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น