ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ความยินยอมไม่เป็นละเมิด”

๑.ยอมให้ชายร่วมประเวณีโดยชายหลอกว่าจะรับเลี้ยงดูและจดทะเบียนสมรส ไม่เป็นละเมิด มิใช่การหลอกลวงให้สำคัญผิดในตัวบุคคลเพียงแต่จูงใจให้ยินยอม คำพิพากษาฏีกา ๕๘๖/๒๔๘๘
๒.สมัครใจวิวาทกัน อีกฝ่ายตายไม่เป็นละเมิด ภรรยาและบุตรเรียกค่าเสียหายไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๔๘/๒๕๒๓
๓.ยอมให้ปลูกสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ของตน ไม่เป็นละเมิดแต่ก็ไม่ก่อสิทธิ์ที่จะรุกล้ำได้ตลอดไป เจ้าของมีสิทธิ์ฟ้องให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างนั้นได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๓๑/๒๕๐๔
๔.ท้าให้ฟันเพื่อทดลองคาถาอาคม เป็นการสมัครใจให้เขาทำร้าย จึงต้องยอมรับในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตัวเอง ถือไม่ได้ว่าได้รับความเสียหาย ฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๖๗๓/๒๕๑๐
๕.ยอมด้วยวาจาให้จำเลยฝั่งท่อระบายน้ำในที่ดินโจทก์ มีผลเพียงไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่อาจยกเอาความยินยอมมาผูกพันโจทก์ตลอดไป เป็นการล่วงละเมิดในแดนกรรมสิทธิ์ จึงชอบที่จะฟ้องให้จำเลยรื้อถอนออกไป คำพิพากษาฏีกา ๑๐๘๔/๒๕๐๗
ข้อสังเกต ๑.ความยินยอมไม่ก่อให้เกิดละเมิด แต่ต้องเป็นความยินยอมโดยสมัครใจไม่ใช่ถูกบังคับขู่เข็ญ หรือเป็นความยินยอมที่เป็นจารีตประเพณีหรือมีธรรมเนียมปฏิบัติกันมาเป็นเวลานาน เช่น การชกมวยในสนามมวยภายใต้กติกาที่กำหนดไว้ เป็นการยอมให้ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันโดยมีกฏหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีรองรับให้กระทำได้ แม้จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตายก็ไม่มีความผิดทางอาญาและไม่เป็นความผิดทางแพ่ง เหมือนเช่นในสมัยรัชกาลที่ ๕ นายเจียร แขกเขมร โดยนายแพร เลี้ยงประเสริฐ มวยท่าเสาชกด้วยหมัด “ หนุมานถวายแหวน” ทำให้ถึงแก่ความตาย ก็ไม่ต้องรับโทษตามกฏหมายจนกลายเป็นที่มาที่เปลี่ยนจากการคาดเชือกมาสวมนวมแทน
๒.ความยินยอมที่จะไม่เป็นละเมิดต้องไม่ใช่การยินยอมให้กระทำจนถึงแก่ความตาย การที่ไปสักหรืออาบว่านหรือท่องคาถาแล้วบอกหนังเหนียวปืนยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า แล้วมาทดลองวิชา หากมีความตายเกิดขึ้นจะถือว่า เป็นความยินยอมที่ไม่ก่อให้เกิดละเมิดไม่ได้ เพราะเห็นได้อยู่แล้วว่า กฎหมายยังไม่ยอมรับในเรื่องทางไสยศาสตร์ หรือกรณีมาท้าลองวิชากันใช้ดาบจริงมาต่อสู้กันว่า วิชาใครดีกว่าใคร แม้จะทำเป็นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม่ต้องรับผิดชอบในความตายหรือการได้รับบาดเจ็บก็ตาม แม้ทำเป็นหนังสือสัญญาต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่โดยมีบิดามารดาของคู่กรณีที่จะวิวาทกันมาลงชื่อยินยอมก็ตาม ก็ไม่มีผลทางกฎหมาย หากประลองกันแล้วมีคนถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บ ต้องรับโทษทางอาญา แต่ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมาฟ้องร้องหรือขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้และไม่สามารถฟ้องร้องฐานละเมิดทางแพ่งได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับเป็นพยานเซ็นชื่อรู้เห็นในการประลองดังกล่าว ถือเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ ด้วย เพราะรู้ว่าเขานัดกันไปทำร้ายร่างกายกันแทนที่จะระงับเหตุแต่กลับไปลงชื่อเป็นพยานร่วมรับรู้ในหนังสือให้ความยินยอม ส่วนกองเชียรที่มาดูการประลองถือสนับสนุนในการทะเลาะวิวาทถือเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกให้กำลังใจในการที่ผู้อื่นจะกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ถือเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา ๘๖ จึงต้องร่วมรับโทษด้วย
๓.ความยินยอมในทางการแพทย์หรือในทางการประกอบวิชาชีพบางอย่างไม่เป็นละเมิด เช่น การยอมให้แพทย์หรือพยาบาลฉีดยา ยอมให้แพทย์ฝ่าตัด ยอมให้ช่างตัดผมตัดผมหรือตัดเล็บ เหล่านี้เป็นความยินยอมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการรักษาหรือการเสริมสวยความงามที่อยู่ในกรอบที่สามารถกระทำได้ไม่เกินเลยไป ความยินยอมดังกล่าวไม่เป็นละเมิดและไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานทำร้ายร่างกาย หรือทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย(ฆ่าโดยไม่เจตนา) กรณีแพทย์ผ่าตัดแล้วคนไข้ถึงแก่ความตาย หากแพทย์ทำการตามวิชาชีพของตน ตามหลักวิชาที่เรียนมา และตามกฏที่แพทยสภารับรองแล้วก็ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา
๔.ยอมให้ชายร่วมประเวณี แม้จะถูกหลอกว่าจะรับเลี้ยงดูและจดทะเบียนสมรสก็ตาม ก็ไม่ใช่การขมขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าใช้กำลังประทุษร้าย จนหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ใช่การขมขืนกระทำชำเราทางอาญาและไม่ใช่การกระทำโดยจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฏหมายทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิตร่างกายอนามัยหรือสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงไม่ใช่การทำละเมิดทางแพ่ง เพราะความยินยอมไม่ก่อให้เกิดละเมิด
๕. สมัครใจวิวาท ถือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะแจ้งความร้องทุกขืและดำเนินคดีทางแพ่งฐานละเมิดได้ ดังนั้นเมื่อบุคคลนั้นตาย ทายาทโดยธรรมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องหรือขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในการดำเนินคดีแทนผู้ตายได้ และไม่ก่อสิทธิ์ในการดำเนินคดีทางแพ่ง เพราะความยินยอมไม่ก่อให้เกิดละเมิด ทั้งเป็นคว่ามนินยอมที่ผิดกฎหมายไม่มีกฎหมายรองรับให้นัดมาชกต่อยทะเลาะวิวาทกันได้
๖.ยอมให้ปลูกสิ่งก่อสร้างหรือฝั่งท่อระบายน้ำในที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ของตน ความยินยอมดังกล่าวไม่เป็นละเมิดทางแพ่ง ไม่ใช่การรบกวนการครอบครองในทางอาญา ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก แต่ความยินยอมนั้นก็ไม่ก่อสิทธิ์ที่จะรุกล้ำได้ตลอดไป เจ้าของมีสิทธิ์ฟ้องให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างนั้นได้ตามหลักที่เจ้าของมีสิทธิ์ขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาสอดเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของตนโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖
๗.ความยินยอมบางประเภทก็ไม่เป็นการยกเว้นโทษตามกฎหมายเช่นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปียอมให้ชายร่วมประเวณี ก็เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๗ หรือกระทำอนาจารแก่เด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี แม้เด็กยินยอมก็เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๙
๘.ความยินยอมที่ไม่เป็นละเมิด ไม่มีกฎหมายกำหนดแบบเอาไว้ว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้นการยินยอมด้วยวาจาก็มีผลบังคับได้
๙.ยินยอมอาจมีขอบเขตว่าให้ทำได้แค่ไหน หากเกินขอบเขตที่ยินยอม ส่วนที่เกินขอบเขตเป็นละเมิดและเป็นความผิดทางอาญา เช่น ยอมให้วางท่อได้ทางทิศเหนือ จะไปวางท่อทางทิศใต้ไม่ได้
๑๐.ยินยอมแล้วสามารถถอนความยินยอมเมื่อใดก็ได้ ตราบใดยังไม่มีการถอนความยินยอมถือว่าความยินยอมยังมีอยู่
๑๑.ผู้ยินยอมต้องมีอำนาจยินยอม ดังนั้นความยินยอมจากผู้ที่ไม่มีอำนาจย่อมไม่มีผลเป็นความยินยอม เช่นผู้แทนโดยชอบธรรมสามารถดำเนินการบางอย่างแทนผู้เยาว์ได้ภายใต้ขอบที่กฏหมายให้ไว้ ดังนั้นผู้แทนโดยชอบธรรมไม่อาจให้ความยินยอมที่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๗๔ ได้

ไม่มีความคิดเห็น: