ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“อุทิศให้เป็นทางสาธารณะ”

อุทิศถนนให้เป็นทางสาธารณะประโยชน์ทั้งหมด ถนนทั้งสายจึงตกเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินโดยสมบรูณ์ตามกฎหมายทันที การแสดงเจตนาอุทิศให้เป็นทางสาธารณะประโยชน์ไม่จำต้องจดทะเบียนโอนสิทธิการให้ทางโฉนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้ข้อความในตอนท้ายหนังสืออุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณะประโยชน์ได้ระบุว่าจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ณ สำนักงานที่ดินต่อไป หามีผลทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่อุทิศยังไม่ยังไม่โอนไปไม่ เมื่อที่พิพาทเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน การออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาทหลังจากที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณะประโยชน์เป็นการอันไม่ชอบ ผู้ซื้อที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ออกโดยมิชอบ แม้ซื้อจาการทอดตลาดของศาล ก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท และไม่มีอำนาจโอนที่ดินต่อไปให้คนอื่น ผู้รับโอนย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ คำพิพากษาฏีกา ๖๒๒/๒๕๑๐, ๒๖๒๒/๒๕๒๒,๒๗๗๕/๒๕๔๑,๑๑๒/๒๕๓๙
ข้อสังเกต ๑.ที่ดินและถนนเป็นทรัพย์ซึ่งหากจะมีการซื้อขายต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้นการยกที่ดินและถนนให้ใครต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนด้วย มิเช่นนั้นการให้ไม่สมบรูณ์ตามกฎหมาย การให้ดังกล่าวนี้ย่อมสมบรูณ์โดยไม่ต้องส่งมอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๒๕ ,๔๕๖ แต่การยกให้หรืออุทิศที่ดินหรือถนนให้เป็นทางสาธารณะประโยชน์ เพียงแค่มีเจตนาอุทิศให้เป็นทางสาธารณะประโยชน์ ที่ดินและถนนดังกล่าวก็ตกเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินแล้ว ไม่จำต้องไปจดทะเบียนโอนสิทธิ์การให้ทางโฉนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด แม้ว่าในหนังสือยกให้จะมีข้อความว่า จะไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมิสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ณ. สำนักงานที่ดินต่อไป ก็หามีผลทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังไม่โอนเป็นสาธารณะสมบัติแต่อย่างใด
๒.ถนนเป็นทรัพย์อันติดกับที่ดินซึ่งโดยสภาพแห่งตัวทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นย่อมเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น ไม่อาจแยกออกจากกันได้ นอกจากทำลายทำให้บุบสลายหรือทำให้ทรัพย์เปลี่ยนแปลงรูปทรง จึงเป็นส่วนควบที่ดิน ใครเป็นเจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในถนนซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดิน
๓.แม้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๐ บัญญัติให้ผู้ซื้อทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต ในการขายทอดตลาด ตามคำสั่งศาล ไม่เสียไป แม้จะพิสูจน์ภายหลังว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม หรือใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๒ ให้สิทธิ์แก่ผู้ซื้อทรัพย์โดยสุจริตในการขายทอดตลาด ไม่จำต้องคืนของให้แก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมาก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวหาอาจนำมาใช้ยันต่อทรัพย์สินที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินได้ไม่ แม้ว่าการอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินจะได้ดำเนินการทางทะเบียนหรือไม่อย่างไรก็ตาม เพราะการโอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินจะกระทำกันไม่ได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งกฏหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฏีกาเท่านั้น ดังนั้น เมื่อถนนถูกยกให้เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินแล้ว ที่ดินและถนนดังกล่าวย่อมตกเป็นทางสาธารณะสมบัติของแผ่นดินโดยไม่จำต้องโอนสิทธิ์ทางทะเบียนต่อพนักงานเจ่าหน้าที่แต่อย่างใด ดังนั้นแม้ที่ดินและถนนดังกล่าวจะถูกยึดออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม ผู้ซื้อแม้จะซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว เพราะที่ดินและถนนที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินจะโอนให้แก่กันได้ก็โดยอาศัยอำนาจตามกฏหมายเฉพาะหรือออกเป็นพระราชกฤษฏีกาเท่านั้น เมื่อไม่ได้ออกเป็นกฎหมายเฉพาะหรือออกเป็นพระราชกฤษฏีกาแล้วย่อมไม่สามารถโอนสาธารณะสมบัติของแผ่นดินได้ คนที่ซื้อจากการขายทอดตลาดย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแม้จะซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลก็ตาม กรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา ๕๐๙,๑๓๓๐ แม้จะซื้อโดยสุจริตก็ตาม ก็ไม่ได้รับผลตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๐ และผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดโดยสุจริตจะไม่ยอมคืนที่ดินและถนนโดยจะขอชดใช้ราคาที่ซื้อมาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๒ นั้น บทกฏหมายดังกล่าวไม่อาจใช้ยันต่อการซื้อขายทอดตลาดซึ่งทรัพย์อันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินได้
๓.บุคคลที่สามที่ซื้อที่ดินดังกล่าวจากผู้ซื้อทอดตลาดคำสั่งศาลก็ย่อมไม่ได้สิทธิ์ในที่ดินและถนนดังกล่าว แม้จะซื้อโดยมีค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริตก็ตาม เพราะการโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณะสมบัติแผ่นดินจะกระทำได้โดยอาศัยอำนาจกฏหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฏีกาเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๕ ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้โอน เมื่อผู้โอนคือผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดไม่มีสิทธิ์ในที่ดินที่จะขาย ผู้รับโอนหรือซื้อที่ดินต่อจากผู้ซื้อทอดตลาดย่อมไม่มีสิทธิ์เช่นกัน จะอ้าง ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๙๙วรรคแรกมาใช้ยันว่า เป็นการได้มาซึ่งที่ดินและถนนโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ย่อมบริบรูณ์เพราะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เพราะในมาตราดังกล่าวใช้คำว่า “ ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลนี้(ประมวลกฎหมายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)หรือกฏหมายอื่น” การได้มาซึ่งนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิ์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ย่อมไม่บริบรูณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ซึ่งใน “ประมวลกฎหมายนี้ “ มี ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๕ ระบุไว้ชัดว่าการได้มาซึ่งที่ดินซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฏีกาเท่านั้น เมื่อไม่มีกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฏีกาให้สามารถโอนที่ดินและถนนที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินได้แล้ว จึงไม่สามารถโอนที่ดินและถนนที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินได้ ผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวต่อจากผู้ซื้อทอดตลาดย่อมไม่ได้สิทธิ์ดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: