ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“หยิบพยานหลักฐานอื่นที่ไม่เกี่ยวการอุทธรณ์มาวินิจฉัย”

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ จำเลยอุทธรณ์ ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ข้อ ๒.๑ ที่ต่อสู้คดี คงไว้เฉพาะข้อ ๒.๒ที่อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษพร้อมยื่นคำให้การใหม่มารับสารภาพ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต ส่วนคำให้การรับสารภาพนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว จำเลยไม่อาจถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธมารับสารภาพได้ จึงไม่รับคำให้การรับสารภาพของจำเลย และศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฏีกาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์ข้อ ๒.๑ ที่ต่อสู้คดีแล้ว อุทธรณ์จำเลยในส่วนนี้จึงไม่มี การที่ศาลอุทธรณ์วินินิจฉัยข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์แล้วพิพากษายกฟ้องย่อมไม่ชอบ ศาลฏีกาเห็นว่า ในการพิจารณาคดีอาญาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในปัญหาที่คู่ความอุทธรณ์เท่านั้น ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกพยานหลักฐานข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ปรากฏในสำนวนขึ้นวินิจฉัยได้ทั้งสิ้น แม้จำเลยติดใจอุทธรณ์เฉพาะเรื่องที่ขอให้รอการลงโทษ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีเหตุยกฟ้องได้ ไม่ว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด คดีขาดอายุความ มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษ ศาลอุทธรณ์ย่อมหยิบยกเหตุนั้นขึ้นพิจารณาและพิพากษายกฟ้องได้ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนโดยชอบแล้วพิพากษายกฟ้องได้ เมื่อเห็นว่าพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำผิดตามฟ้อง แม้จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ขึ้นมาก็ตาม ส่วนปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่นั้น ศาลฏีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนรถผู้เสียหายจนผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส พยานหลักฐานจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฏีกา ฏีกาโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามในระหว่างอุทธรณ์จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจแก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายยื่นคำแถลงไม่ติดใจเอาความ เป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งการกระทำผิด จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน นิสัยและความประพฤติไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการลงโทษ เพื่อให้หลาบจำจึงให้ลงโทษปรับและคุมความประพฤติจำเลยไว้ คำพิพากษาฏีกา๗๐๗๑/๒๕๕๓
ข้อสังเกต ๑. จำเลยอุทธรณ์แล้วถอนอุทธรณ์ที่ต่อสู้คดี ตามข้อ ๒.๑ เสีย คงไว้ซึ่งอุทธรณ์ตามข้อ ๒.๒ ที่ขอศาลรอการลงโทษ และขอถอนคำให้การที่ปฏิเสธมารับสารภาพ ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ในข้อ ๒.๑ ได้ ไม่อนุญาตให้ถอนคำให้การเพราะคำให้การที่ปฏิเสธในศาลชั้นต้นนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้วจำเลยจึงหาอาจถอนคำให้การในศาลชั้นต้นได้ นั้นเห็นว่า การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์เพียงฝ่ายเดียวโดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ด้วยนั้น การที่จำเลยถอนอุทธรณ์ จึงเป็นกรณีที่มีการถอนอุทธรณ์โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษย่อมเด็ดขาดเฉพาะจำเลยผู้ถอนอุทธรณ์ นั้นก็คือถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยทำผิดตามฟ้องโดยผลของ ป.ว.อ. มาตรา ๒๐๒ วรรค สอง เมื่อคำพิพากษาเด็ดขาดไปแล้วศาลอุทธรณ์ย่อมไม่น่ามีอำนาจที่จะหยิบยกคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ ด้วยความเคารพในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลฏีกา เห็นว่าอุทธรณ์เป็นฟ้องชนิดหนึ่ง การที่จำเลยถอนอุทธรณ์ก็คือการถอนฟ้องตาม ป.ว.พ. มาตรา ๑(๓) ป.ว.อ. มาตรา ๑๕,๓๕,๒๑๕นั้นเอง เมื่อถอนอุทธรณ์หรือถอนฟ้องอุทธรณ์ไปแล้วย่อมไม่มีฟ้องอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์จะมาวินิจฉัยได้ แม้แต่ใน ป.ว.อ. มาตรา ๑๙๒ ยังห้ามพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง เมื่อมีการถอนอุทธรณ์หรือฟ้องอุทธรณ์แล้วย่อมไม่มีอุทธรณ์หรือฟ้องอุทธรณ์หรือคำขอใดๆให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้ ทั้งเมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ การที่จำเลยถอนอุทธรณ์ คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยย่อมเด็ดขาดไปตามผลของ ป.ว.อ. มาตรา ๒๐๒ วรรค สอง คงมีประเด็นเพียงประเด็นตามอุทธรณ์ข้อ ๒.๒ ว่าสมควรรอการลงโทษหรือไม่เท่านั้น การที่ศาลฏีกาวินินิจฉัยทำนองว่า ในการพิจารณาคดีอาญาศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกพยานหลักฐานข้อเท็จจริงข้อกฏหมายไม่จำกัดอยู่ในเฉพาะที่คู่ความอุทธรณ์เท่านั้น แต่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกพยานหลักฐานข้อเท็จจริงข้อกฎหมายที่ปรากฏในสำนวนวินิจฉัยได้ทั้งสิ้นนั้น น่าจะไม่สอดคล้องกับใน ป.ว.อ. มาตรา ๒๐๒ ที่มีการถอนอุทธรณ์โดยอีกฝ่ายไม่อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดไปแล้วเมื่อเด็ดขาดหรือถึงที่สุดไปแล้วก็ไม่น่าที่จะหยิบยกมาวินิจฉัยได้อีก การที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีเหตุยกฟ้อง ไม่ว่าปรากฏว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด คดีขาดอายุความหรือมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรรับโทษ น่าจะเป็นเรื่องที่อาศัยความเป็นธรรมโดยถือเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีงามของประชาชนมากกว่าหากว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จำเลยไม่ได้กระทำผิด คดีขาดอายุความหรือมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ต้องรับโทษ จึงพิพากษายกฟ้องโดยนำ ป.ว.อ. มาตรา ๑๘๕และ ๒๑๕ มาปรับใช้ ซึ่งการนำมาปรับใช้ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับใน ป.ว.อ. มาตรา ๒๐๒วรรคสอง ที่ถือว่าเมื่อถอนอุทธรณ์โดยอีกฝ่ายไม่อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดไปแล้วจึงไม่น่าจะหยิบยกเหตุใดๆมายกฟ้องได้ ส่วนที่ศาลฏีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าตามพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมา โดยพยานหลักฐานจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์เป็นลงโทษโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ตามก็ไม่สอดคล้องกับ ป.ว.อ. มาตรา ๒๐๒ วรรค สองแต่อย่างใด เพราะคดีถึงที่สุดไปแล้วตั้งแต่เมื่อศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ จึงไม่น่าที่จะมีเหตุให้ศาลอุทธรณ์ ศาลฏีกาหยิบยกเรื่องที่ถึงที่สุดไปแล้วมาวินิจฉัยได้

“สอบสวนเด็กไม่ได้กระทำเป็นสัดส่วนในที่เหมาะสม”

จำเลยฏีกาว่า ในการสอบปากคำเด็กชาย ศ.และชี้ภาพถ่ายคนร้ายในวันที่ ๑๔ ก.ค.๒๕๔๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้แยกกระทำเป็นสัดส่วนในที่เหมาะสม ไม่มีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการ การสอบสวนจึงไม่ชอบและรับฟังเป็นพยานลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น แม้จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฏีกา แต่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยมีสิทธิ์ยกขึ้นอ้างในชั้นฏีกาได้ เห็นว่าขณะพนักงานสอบสวนสอบปากคำเด็กชาย ศ. อายุ ๑๒ ปี และให้ชี้ถ่ายภาพซึ่ง ป.ว.อ. มาตรา ๑๓๓ทวิ ที่แก้ไขแล้วยังไม่ได้ใช้บังคับ การถามปากคำเด็กชาย ศ. และชี้ภาพถ่ายคนร้ายโดยไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมสอบปากคำจึงเป็นไปโดยชอบ ส่วนการชี้ภาพถ่ายเมื่อวันที่ ๒๐ ธ.ค.๒๕๔๒ เป็นเพียงการชี้ภาพถ่ายในลักษณะการสอบสวนเพิ่มเติม มิใช่การชี้ตัวผู้ต้องหาแต่อย่างใด แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำ ทั้งไม่เข้าเหตุจำเป็นเร่งด่วน คงมีผลเพียงการชี้ภาพถ่ายในชั้นสอบสวนของ เด็กชาย ศ. เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๒ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น หาเป็นเหตุให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดไม่ ถือได้ว่ามีการสอบสวนโดยชอบ ทั้งในชั้นพิจารณาเด็กชาย ศ. เบิกความต่อหน้าศาลโดยผ่านนักจิตวิทยา ซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลรับฟังคำเบิกความของเด็กชาย ศ. เป็นพยานในดคดีนี้ได้ ทั้งการที่นาง ผ. มาชี้ภาพถ่ายคนร้าย ณ. ที่ว่าการอำเภอโดยมีนายอำเภอเบิกความสนับสนุนว่า พนักงานสอบสวนนำนาง ผ. มาชี้ภาพถ่ายคนร้ายในห้องทำงานของพยาน เพราะในห้องของพยานมีข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมกับส่วนกลาง นาง ผ. ยืนยันว่าตามภาพถ่ายจำเลยเป็นคนร้าย และเมื่อขยายภาพถ่ายให้ชัดเจนขึ้น นาง ผ. ก็ยังยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายเป็นการกระทำเปิดเผยต่อหน้าพนักงานสอบสวน พนักงานฝ่ายปกครองก่อนที่จะมีการจับกุมจำเลย มิใช่เพราะพยานเห็นภาพจำเลยจากภาพข่าวในสิ่งพิมพ์หรือในโทรทัศน์มาก่อน ส่วนเด็กชาย ศ. ให้การในวันที่ ๑๔ ก.ค. ๒๕๔๒ หลังเกิดเหตุ ๔ วัน ยืนยันว่าเห็นเหตุการณ์และคนร้าย และชี้ภาพถ่ายจำเลยเป็นคนร้าย ครั้นจับกุมจำเลยได้ นาง ผ. ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย ในชั้นพิจารณาพยานทั้งสองเบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้าย คำพิพากษาฏีกา ๙๐๗๑/๒๕๕๓
ข้อสังเกต ๑.การยื่นฏีกาต้องเป็นข้อที่ว่ามาแล้วในศาลชั้นต้นคือมีการสืบพยาน ถามค้าน หรือส่งเอกสารเป็นพยานหรือส่งเอกสารเพื่อซักค้านทำลายน้ำหนักพยานหรือแถลงการณ์ปิดคดี และต้องเป็นข้อที่ว่ามาแล้วในชั้นอุทธรณ์ คือได้มีการกล่าวอ้างในอุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ หากไม่ได้กระทำเช่นนี้แล้วหากยกขึ้นมาในศาลฏีกาถือว่าเป็นฏีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในส่วนของจำเลยแล้วจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้เต็มที่ จำเลยไม่ให้การก็ถือปฏิเสธไม่เหมือนคดีแพ่งที่ถือว่า การนิ่งคือการยอมรับ ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นมากล่าวในศาลชั้นต้น ในศาลอุทธรณ์โดยไม่เคยกล่าวต่อสู้ไว้ในคำให้การ ไม่เคยถามค้านในประเด็นนี้ไว้ ไม่เคยนำสืบคัดค้านในประเด็นนี้ไว้ ไม่เคยยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเอาไว้ หรือไม่เคยอุทธรณ์ในกรณีนี้ไว้ แล้วก็ยกขึ้นมาในชั้นฏีกาเลยก็ตาม ก็เป็นปัญหาเกี่ยวความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงมีสิทธิ์ยกขึ้นในชั้นฏีกาได้ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง, ๒๒๕ได้ ส่วนที่ว่าจำเลยยกขึ้นมาแล้วจะรับฟังได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง
๒.การสอบสวนเด็กที่ต้องมีนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยา บุคคลที่เด็กร้องขอ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ เข้าร่วมในการสอบสวนนั้น เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนไม่อาจรอนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ หรือพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำ “พร้อมกัน “ ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดดังที่กล่าวมาแล้วอยู่ร่วมสอบสวน โดยต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวได้ ซึ่งไม่ถือว่าการสอบปากคำพยานดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฏหมาย
๓.ในคดีดังกล่าวมีการสอบปากคำเด็กชาย ศ. ที่ทำต่อสหวิชาชีพ(นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน) ต้อมีการแยกเด็กออกเป็นสัดส่วนกับพนักงานอัยการพนักงานสอบสวน คือ ให้เด็กอยู่กับนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ในห้องหนึ่ง ส่วนพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนอยู่อีกห้องหนึ่ง การสอบปากคำโดยสอบถามผ่านไมโครโฟน โดยสอบถามไปยังนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ก่อน แล้วบุคคลดังกล่าวจะเปลี่ยนคำถามที่เหมาะสมแก่เด็กเพื่อถามเด็ก เมื่อเด็กตอบแล้วก็จะมีการบันทึกลงในกระดาษพร้อมมีการถ่ายวีดีโอขณะเด็กให้การไว้ด้วย ส่วนการชี้ตัวก็จะให้เด็กอยู่ห้องหนึ่งผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นคนร้ายอยู่อีกห้องหนึ่งปะปนกับคนอื่นหลายคน ให้เด็กดูว่า หมายเลขใดคือคนร้าย การสอบสวนที่ไม่ได้กระทำดังกล่าวโดยโดยไม่ได้แยกเป็นสัดส่วนให้เด็กอยู่ห้องหนึ่ง พนักงานสอบสวนอยู่อีกห้องหนึ่ง โดยสอบปากคำในห้องเดียวกันย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
๔.แต่ปรากฏว่าแม้ในคดีนี้การสอบปากคำเด็กชาย ศ. ในวันที่ ๑๔ ก.ค.๒๕๔๒ แม้ไม่ได้กระทำดังกล่าวตามข้อ๒และ ๓ ก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำก่อนที่กฎหมายในเรื่องดังกล่าวตามข้อ ๒และ ๓ จะใช้บังคับ การสอบปากคำเด็กชาย ศ. และการชี้ภาพถ่ายคนร้ายในวันดังกล่าวจึงเป็นไปโดยชอบ เมื่อนำมาประกอบการชี้ภาพถ่ายของนาง ผ. ที่มาชี้ภาพ ถ่าย ณ. ที่ว่าการอำเภอต่อหน้านายอำเภอในห้องนายอำเภอซึ่งมีระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมส่วนกลางและเมื่อขยายภาพถ่ายดังกล่าวออกมา นาง ผ. ก็ยังยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย โดยการชี้ภาพถ่ายดังกล่าวได้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้านายอำเภอและพนักงานสอบสวน และได้กระทำก่อนจับกุมจำเลย มิใช่เพราะนาง ผ. เห็นหน้าจำเลยจากภาพสิ่งพิมพ์หรือในโทรทัศน์ และเมื่อมาเบิกความในศาลนาง ผ. และเด็กชาย ศ. ก็ยังยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายจึงมีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง
๕. ส่วนการชี้ภาพในวันที่ ๒๐ ธ.ค.๒๕๔๒ อันเป็นการชี้ภาพถ่ายจำเลยโดยไม่ได้กระทำต่อหน้านักสังคมวิทยาหรือ นักสังคมสงเคราะห์ พนักงานอัยการ หรือบุคคลที่เด็กร้องร้องเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในกฏหมายตามที่อธิบายมาในข้อ ๒,๓ แล้ว การชี้ภาพถ่ายดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะในขณะที่มีการชี้ภาพถ่ายนั้นมีการแก้ไข ป.ว.อ. โดยให้เพิ่มมาตรา ๑๓๓ ทวิ,๑๓๓ตรี ซึ่งมีหลักการต้องกระทำการตามข้อ ๒และ ๓ เมื่อไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฏหมายกำหนดไว้ทำให้การชี้ภาพถ่ายดังกล่าวแม้จะเป็นการชี้ภาพถ่ายในลักษณะของการสอบสวนเพิ่มเติม มิใช่การชี้ตัวผู้ต้องหาก็ตาม เมื่อไม่มีกรณีเร่งด่วนที่จะมีบุคคลครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมทำให้คำให้การเพิ่มเติมและบันทึกการชี้ภาพถ่ายเพิ่มเติม ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น หาเป็นเหตุให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด จึงถือได้ว่ามีการสอบสวนโดยชอบ พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง ทั้งในชั้นพิจารณาเด็กชาย ศ. ได้เบิกความต่อศาลโดยผ่านนักจิตวิทยา ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของเด็กชาย ศ. มารับฟังลงโทษจำเลยได้
๖.ปัญหาในทางปฏิบัติเมื่อมีการการแก้ไขโดยเพิ่ม ป.ว.อ. มาตรา ๑๓๓ ทวิ ,๑๓๓ตรี คือ ทางราชการไม่มีงบประมาณในการจัดหาห้องเป็นสัดส่วนให้แยกเด็กอยู่คนละห้องกับพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือจัดให้การชี้ตัวต้องมีห้องแยกต่างหาก เมื่อมีปัญหาเรื่องงบประมาณในการจัดหาสถานีที่จึงมานั่งสอบในห้องเดียวกันไม่ได้กระทำการแยกเป็นสัดส่วน จึงก่อปัญหาว่าการสอบสวนชอบหรือไม่ การสอบสวนดังกล่าวจะเสียไปทั้งหมดหรือเสียไปเฉพาะส่วน

“ยังมีข้อโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์”

โจทก์จำเลยโต้เถียงกันเรื่องการครอบครองที่พิพาท การที่จำเลยเข้าไปปักเสาสร้างรั้วในที่พิพาท เป็นการเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย การกระทำจำเลยไม่มีความผิดฐานบุกรุก ต้นไผ่ที่จำเลยตัดฟัน แม้โจทก์เป็นคนปลูก แต่ไผ่เป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบที่ดินพิพาท และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ประธาน เมื่อโจทก์จำเลยยังโต้เถียงสิทธิ์ครอบครองกันในที่พิพาท เท่ากับยังโต้เถียงกรรมสิทธิ์ของต้นไผ่ที่ปลูกในที่พิพาท การที่จำเลยเข้าไปตัดฟันต้นไผ่จึงมีเหตุอันควรเข้าใจโดยสุจริตว่าต้นไผ่เป็นของจำเลย ไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ คำพิพากษาฏีกา ๖๓๐๓/๒๕๓๙
ข้อสังเกต ๑.ยังมีปัญหาโต้เถียงกันว่าที่พิพาทเป็นของใคร ตราบใดยังไม่มีคำพิพากษาชี้ว่าที่พิพาทเป็นของใคร จึงเป็นเรื่องต่างโต้เถียงกันในกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท โดยต่างฝ่ายต่างเข้าใจและอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตน การที่จำเลยเข้าไปปักเสารั่วในที่ดังกล่าวโดยเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของตน จึงเป็นกรณีที่จำเลยเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ที่จำเลยเข้าใจและเชื่อว่าเป็นของจำเลย โดยจำเลยเข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่า การเข้าไปในที่ดังกล่าวไม่ใช่การเข้าไปเพื่อรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติ จึงเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิดทางอาญา คือไม่มีเจตนาที่จะบุกรุกเข้าไปรบกวนการครอบครองเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ได้ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลว่าการเข้าไปในที่ดินดังกล่าวเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ถือว่าขาดเจตนาในการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก
๒.ต้นไผ่เป็นไม้ยืนต้นซึ่งโดยสภาพแห่งต้นไผ่หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นอันเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่แห่งทรัพย์นั้น ไม่อาจแยกออกจากพื้นดินที่ต้นไผ่ขึ้นอยู่นอกจากทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ต้นไผ่เปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไปให้ขาดจากพื้นดินด้วยการตัดฟัน เมื่อต้นไผ่มีอายุเกิน ๓ ปีจึงเป็นไม้ยืนต้น ต้นไผ่จึงเป็นส่วนควบของที่ดินที่ต้นไผ่ตั้งอยู่ เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานย่อมมีกรรมสิทธิ์ในต้นไผ่ซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดิน
๓.การปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินของผู้อื่นหากปลูกโดยสุจริต เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของไม้ยืนต้น แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะมีการปลูกไม้ยืนต้นนั้นให้แก่คนปลูก หากเจ้าของที่ดินแสดงได้ว่าตนไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เจ้าของที่ดินจะบอกปัดไม่รับไม้ยืนต้นและเรียกให้ผู้ปลูกรื้อถอนและทำที่ดินให้กลับเป็นไปตามเดิมก็ได้ แต่หากการนี้จะกระทำไม่ได้โดยใช้เงินอันสมควรแล้ว เจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้ปลูกซื้อที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วนตามราคาท้องตลาดก็ได้
๔. หากการปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินผู้อื่นโดยไม่สุจริต ผู้ปลูกต้องทำที่ดินให้กลับเป็นไปตามเดิมแล้วส่งคืนแก่เจ้าของเว้นแต่เจ้าของที่ดินจะเลือกให้ส่งมอบตามที่เป็นอยู่ แล้วเจ้าของที่ดินต้องใช้ราคาไม้ยืนต้นที่ปลูกหรือใช้ราคาค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะมีการปลูกไม้ยืนต้น
๕.เมื่อโจทก์จำเลยยังโต้เถียงกันในกรรมสิทธิ์ในที่ดินก็เท่ากับโต้เถียงด้วยว่าใครมีกรรมสิทธิ์ในต้นไผ่ เพราะหากใครเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานย่อมมีกรรมสิทธิ์ในต้นไผ่ซึ่งเป็นส่วนควบด้วย โดยกฎหมายไม่คำนึงว่าใครจะมาปลูก การปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินของบุคคลอื่น เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของไม้ยืนต้นโดยหากการปลูกไม้นั้นกระทำโดยสุจริตก็เป็นไปตามข้อ ๓ หากไม่สุจริตก็เป็นไปตามข้อ ๔. เมื่อยังไม่เป็นที่ยุติว่าที่พิพาทเป็นของใคร จึงไม่เป็นที่ยุติว่าต้นไผ่เป็นของใคร แม้โจทก์จะเป็นคนปลูกก็ตาม หากที่พิพาทเป็นของจำเลย แล้วโจทก์มาปลูกต้นไผ่ ต้นไผ่ซึ่งเป็นส่วนควบย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงแต่จะมีการชดใช้ราคากันอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง เมื่อไม่ปรากฏชัดว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท การที่จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของตนเท่ากับเข้าใจว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานย่อมเป็นเจ้าของต้นไผ่ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นและเป็นส่วนควบที่ดินด้วย ตนตัดฟันต้นไผ่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตน ตนจึงมีอำนาจตัดฟันได้ การกระทำของจำเลยเข้าใจว่าตนมีสิทธิ์ที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลในการตัดฟันต้นไผ่ว่าจะทำให้เจ้าของต้นไผ่ได้รับความเสียหาย ถูกทำลาย ถูกทำให้เสื่อมค่า ถูกทำให้ไร้ประโยชน์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

“ข้อเหมือนข้อต่าง”

๑.เข้าครอบครองที่พิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขาย โดยจำเลยยอมมอบการครอบครองบ้านและที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองนับแต่วันทำสัญญา โจทก์ย่อมมิสิทธิ์อยู่ในที่พิพาทโดยชอบ หากจำเลยเห็นว่าโจทก์ผิดสัญญาและไม่มิสิทธิ์อยู่ในบ้านและที่ดินต่อไป ก็เป็นเรื่องโต้แย้งในทางแพ่ง จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิ์ของตนตามกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจโดยพละการที่จะตัดโซ่คล้องกุญแจที่โจทก์ใช้ปิดประตูแล้วใช้กุญแจจำเลยคล้องแทน ทำให้โจทก์เข้าบ้านไม่ได้ การกระทำดังกล่าวเป็นการรบกวนการครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทของโจทก์โดยปกติสุข ทั้งกุญแจและโซ่ที่จำเลยตัดออกเป็นของโจทก์ การที่ทำให้กุญแจพร้อมโซ่ของโจทก์เสียหาย ไร้ประโยชน์เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วย คำพิพากษาฏีกา ๖๘๙๔/๒๕๔๐
๒.ในสัญญาเช่ามีข้อความว่า “หากไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนด ผู้ให้เช่าสามารถเข้าครอบครองถสถานที่ ย้ายบุคคลออกเด้ “ ข้อสัญญานี้ไม่ขัดความสงบเรียบร้อยยหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ผู้เช่าค้างชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าใช้ลวดไขกุญแจห้องเช่าออกแล้วใช้กุญแจของตนใส่แทน ทำให้ผู้เช่าเข้าห้องไม่ได้ เป็นการใช้สิทธิ์ตามสัญญาเช่า ไม่มีความผิดทางอาญา คำพิพากษาฏีกา ๗๘๘/๒๕๑๙
๓..เอาโซ่ปิดทางเข้าออกในตึกแถวพิพาทโดยอาศัยข้อตกลงตามสัญญา เป็นกรณีที่จำเลยกระทำไปโดยสุจริตว่ามีสิทธิ์ที่จะทำได้ตามสัญญา ขาดเจตนาในการกระทำความผิด ไม่มีความผิดฐานบุกรุก คำพิพากษาฏีกา ๒๖๐๙/๒๕๒๒
ข้อสังเกต๑. ตามคำพิพากษาฏีกาตามข้อ ๒และ ๓ มีข้อสัญญาในกรณีผิดสัญญาเช่าว่าผู้ให้เช่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น ให้ผู้ให้เช่าเข้าครอบครองที่ให้เช่าได้หากผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ดังนี้ เมื่อไม่มีการชำระค่าเช่าผู้ให้เช่าใช้ลวดไขกุญแจออกแล้วเอากุญแจของตนใส่แทน หรือเอาโซ่ล่ามห้ามเข้าออก เป็นการกระทำตามสัญญาซึ่งศาลฏีกาเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ข้อตกลงนี้ไม่ตกเป็นโมฆะ การที่ผู้ให้เช่าเข้าไขกุญแจห้องแล้วเอากุญแจของตนใส่แทนหรือเอาโซ่คล้องไม่ให้ผู้เช่าเข้าในที่เช่าได้ ถือว่าผู้ให้เช่าใช้สิทธิ์ตามข้อตกลงในสัญญาเช่า หาได้มีเจตนาที่จะทำให้เสียหายทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ แต่อย่างใดไม่ และไม่ถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ไม่มีความผิดฐานบุกรุก
๒. ส่วนตามคำพิพากษาศาลฏีกาตามข้อ ๑. นั้นไม่มีข้อตกลงเหมือนอย่างในคำพิพากษาศาลฏีกาในข้อ๒และข้อ ๓ แต่อย่างใด การที่โจทก์ผิดสัญญาจะซื้อจะขายอย่างไรก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะใช้สิทธิ์ทางศาล จำเลยไม่มีอำนาจโดยพละการที่จะไปตัดโซ่คล้องกุญแจ การที่จำเลยไปตัดโซ่ที่คล้องกุญแจและตัดกุญแจซึ่งเป็นของโจทก์ย่อมเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโซ่และกุญแจดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยเอากุญแจของตนคล้องแทนจนเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเข้าไปในบ้านได้ย่อมเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุขแล้ว เป็นความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ เป็นกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท ลงโทษตามบทหนักคือทำให้เสียทรัพย์
๓.ช่างกุญแจที่มาทำการไขกุญแจหรือมาตัดกุญแจ ไม่มีเจตนาในการกระทำความผิดทางอาญา โดยไม่มีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลในการกระทำจะถือว่้าช่างกุญแจประสงค์ต่อผลในการกระทำไม่ได้ ช่างกุญแจเป็นเพียงเสมือนเครื่องมือที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดเท่านั้น เป็นการใช้บุคคลที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงในการกระทำความผิดให้กระทำความผิดแทนตัวเองคนใช้จึงต้องรับผิดตามลำพัง

“เช่าช่วงเนื้อกระทะ”

ผู้เสียหายและสามีเช่าที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างทำร้านอาหารเนื้อกระทะ ต่อมาผู้เสียหายและสามีแยกทางกันโดยยังค้างชำระค่าเช่าต่อเจ้าของที่ดิน ผู้เสียหายให้ผู้ต้องหาเช่าช่วงเพื่อประกอบกิจการร้านค้าต่อไป เจ้าของที่พิพาทได้ยื่นฟ้องผู้เสียหายและสามี เนื่องจากไม่ชำระค่าเช่าและนำที่พิพาทไปให้คนอื่นเช่าช่วงโดยไม่ชอบ สามีผู้เสียหายมีหนังสือส่งมอบที่ดินคืนแก่เจ้าของที่ดิน ผู้ต้องหาทราบเรื่องไปแจ้งความเป็นหลักฐานที่ถสถานีตำรวจว่าจะขนย้ายของออกจากที่พิพาทให้เสร็จภายในวันที่ ๒๔ พ.ย.๒๕๔๗ ครั้นวันที่ ๒๓ พ.ยง๒๕๔๗ ผู้ต้องหาได้ขนย้ายสิ่งของต่างๆของผู้ต้องหาและของผู้เสียหายออกไปจากที่พิพาท ผู้เสียหายทราบเรื่องมีหนังสือให้ผู้ต้องหานำสิ่งของผู้เสียหายมาคืน แต่ผู้ต้องหาไม่ยอมคืน การที่ผู้ต้องหาและบริวารขนย้ายทรัพย์สินของผู้เสียหายไปโดยไม่มีสิทธิ์ เมื่อผู้เสียหายมีหนังสือทวงถาม ผู้ต้องหาก็ไม่ยอมเอามาคืนโดยไม่มีเหตุและข้ออ้างที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นได้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า ผู้ต้องหามีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปมีความผิดฐานยักยอก สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้นเนื่องจากกำแพงคอนกรีตเป็นส่วนควบของที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินมีอำนาจในการแจ้งความร้องทุกข์ได้ ส่วนความเสียหายของต้นไม้นั้นเนื่องมาจากการขาดน้ำขาดการบำรุงรักษาหลายเดือนไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำของผู้ต้องหา ส่วนความเสียหายทรัพย์สินอื่นไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหากระทำการอย่างใดให้ทรัพย์ดังกล่าวเสื่อมค่า ไร้ประโยชน์ ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๑๑๘/๒๕๕๐
ข้อสังเกต ๑. ทรัพยิ์สินที่ให้เช่า ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิ์ของตนในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก หาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะปรากฏเป็นอย่างอื่นในสัญญา หากผู้เช่าประพฤติฝ่าฝืนผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าได้ ดังนั้นการที่ผู้เสียหายและสามีซึ่งเป็นผู้เช่านำทรัพย์สินที่เช่าให้ผู้ต้องหาเช่าช่วงอีกทอดหนึ่ง โดยในสัญญาเช่าไม่ให้อำนาจกระทำการได้ ผู้ให้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญากับผู้เสียหายและสามีซึ่งเป็นผู้เช่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๔๔ เมื่อเป็นการให้เช่าช่วงโดยไม่ชอบเป็นบุคคลสิทธิ์ระหว่างผู้เช่ากับผู้เช่าช่วงต้องไปว่ากันเองกรณีหากผู้เช่าช่วงไม่สามารถใช้สรอยทรัพย์สินที่ให้เช่าได้ แต่ผู้เช่าช่วงหาอาจยกสัญญาเช่าช่วงที่ไม่ชอบเป็นข้ออ้างใช้ยันกับผู้เช่าซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้ไม่
๒.ทรัพย์สินที่ผู้ต้องหาครอบครองและใช้สรอยในการเปิดร้านอาหารเป็นของผู้เสียหายและสามีซึ่งจำเลยครอบครองทรัพย์ดังกล่าวอยู่ แม้ผู้ต้องหาจะไปแจ้งความเป็นหลักฐานในการขนย้ายทรัพย์สินที่อยู่ในร้านดังกล่าว แต่ผู้ต้องหาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะขนย้ายทรัพย์สินของผู้เสียหายไป การแจ้งความเป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจไม่ก่อให้เกิดสิทธิ์ในการนำทรัพย์สินของผู้เสียหายไป เมื่อผู้ต้องหานำทรัพย์สินของผู้เสียหายไป ผู้เสียหายแจ้งให้ผู้ต้องหาคืนทรัพย์ของผู้เสียหาย ผู้ต้องหาก็ไม่ยอมคืนแสดงให้เห็นเจตนาที่จะเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้ต้องหาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์
๓. ความเสียหายที่เกิดกับกำแพงคอนกรีตตอนขนย้ายทรัพย์สินนั้น เนื่องจากกำแพงคอนกรีตโดยสภาพแห่งกำแพงคอนกรีตนั้นเองหรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นย่อมเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของที่ดินเอง ไม่อาจแยกออกจากตัวที่ดินที่ตั้งกำแพงคอนกรีตนั้นได้ นอกจากทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้กำแพงนั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพแห่งกำแพงคอนกรีตนั้นไป กำแพงคอนกรีตจึงเป็นส่วนควบที่ดิน เจ้าของที่ดินที่ให้เช่าย่อมมีกรรมสิทธิ์ในกำแพงคอนกรีตซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินนั้น ผู้เสียหายและสามีซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดิน ไม่ใช่เจ้าของที่ดินจึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์(กำแพงที่ดิน)ได้เพราะเป็นความผิดต่อส่วนตัว
๓.ต้นไม้ที่อ้างว่าได้รับความเสียหายจากการขนย้ายนั้นก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขาดน้ำขาดการบำรุงหลายเดือน ไม่เกี่ยวกับการกระทำผู้ต้องหา ส่วนทรัพย์สินอื่นก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์อย่างใด การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

“กรรมเดียวหรือหลายกรรม”

การพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน มิใช่เพียงว่า หากเป็นการกระทำครั้งเดียวแล้วจะต้องเป็นกรรมเดียวเสมอไป อาจเป็นหลายกรรมต่างกันได้ หากผู้กระทำมีเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกันหรือประสงค์ให้เกิดเป็นความผิดหลายฐานต่างกัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเรียกรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายแล้วไม่ออกใบรับเงิน ร่วมกันรับสมัครคนหางานโดยไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตต่อนายทะเบียน และร่วมกันรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายแล้วไม่จัดส่งคนงานเพื่อไปทำงานโดยไม่มีเหตุอันควร เป็นการบรรยายถึงการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองแต่ละข้อหาแยกกระทงเรียงกันไปตามลำดับต่างหากจากกัน แม้จำเลยทั้งสองกระทำเพียงครั้งเดียวก็ตาม ลักษณะของความผิดเป็นการกระทำที่มีเจตนาต่างขั้นตอนและแตกต่างกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละข้อหาต่างหากจากกันได้อย่างชัดแจ้ง และเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกรรมกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน คำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๑๒๓๑๐/๒๕๕๔
ข้อสังเกต ๑. แม้กระทำเพียงครั้งเดียวแต่การกระทำดังกล่าวไปเข้ากฎหมายหลายมาตรา การกระทำดังกล่าวอาจเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท หรือเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันก็ได้ ให้ดูที่เจตนาของผู้กระทำผิดว่ามีเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกันหรือประสงค์ให้เกิดเป็นความผิดหลายฐานต่างกันหรือไม่ หากใช่ก็เป็นความผิดหลายกรรมแม้ได้กระทำเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๒.ความผิดฐานเรียกรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายแล้วไม่ออกใบเสร็จให้แก่คนหางาน ความผิดฐานรับสมัครคนหางานโดยไม่ขออนุญาต และความผิดฐานร่วมกันรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายแล้วไม่ส่งคนหางานเพื่อไปทำงานโดยไม่มีเหตุอันควร ในความผิดทั้งสาม มีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน เจตนาจำเลยที่จะทำให้เกิดผลต่างกรรมกัน การเป็นความผิดสำเร็จของความผิดแต่ละฐานก็ต่างกัน และประสงค์ให้เกิดความผิดความผิดหลายฐานต่างกัน โดยความผิดฐานรับสมัครคนงานโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดทันทีที่เปิดรับสมัครคนงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อมีการเปิดรับสมัครคนงานแล้วอาจมีคนมาสมัครหรือไม่มีคนมาสมัครก็เป็นความผิดแล้ว และเมื่อมีคนมาสมัครแล้วเรียกรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายแล้วไม่ออกใบเสร็จให้แก่คนหางาน ก็เป็นความผิดสำเร็จทันทีที่มีคนมาสมัครแล้วเรียกค่าบริการหรือเรียกค่าใช้จ่ายแล้วไม่ออกใบเสร็จ ซึ่งระยะเวลานับแต่จัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตกับวันที่มีคนมาหางานแล้วไม่ออกใบเสร็จให้อาจเป็นวันเดียวกันหรือคนละวัน ห่างกันมากน้อยก็ได้ และความผิดฐานรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายแล้วไม่จัดส่งคนหางานไปทำงานโดยไม่มีเหตุอันควร ก็เป็นความผิดอีกฐานหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากาการเรียกรับเงินหรือค่าบริการแล้ว ซึ่งแม้จัดหางานโดยไม่รับอนุญาตและ เรียกค่าใช้จ่ายค่าบริการแล้วแล้วไม่ออกใบเสร็จให้นั้น ความผิดฐานรับเงินหรือค่าบริการแล้วไม่จัดส่งคนหางานในเวลาอันควรอาจเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ เพราะอาจมีการจัดส่งคนไปทำงานก็ได้ แม้ตนจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ออกใบเสร็จให้ ซึ่งจะพบเป็นประจำที่ส่งไปหางานต่างประเทศ แต่ปรากฏว่าไม่ได้งานตามที่ตกลง กัน หรือไปแล้วไม่ได้งานทำดังนั้นความผิดฐานนี้อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ทั้งเป็นความผิดที่จะเกิดหลังจากการรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายแล้วไม่ออกใบเสร็จ การกระทำจึงสามารถแยกออกจากกันได้ จึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมหาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบทไม่

“ใครคือผู้เสียหาย”

ในความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ บุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการประทุษร้ายจากทรัพย์ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ บุคคลที่ดูแลครอบครองทรัพย์และได้รับความเสียหายจากการถูกประทุษร้ายต่อทรัพย์ถือเป็นผู้เสียหายตามกฏหมาย ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๔๕/๒๕๔๘
ข้อสังเกต ๑.ปกติบุคคลที่สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้คือผู้เสียหาย ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมถึงผู้มีอำนาจในการจัดการแทนด้วย ซึ่งตามปกติแล้วมักเป็นเจ้าของ ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย แต่ในความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ บุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ แม้ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกกระทำความผิดดังกล่าว หากเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ดังกล่าว และได้รับความเสียหายจากการที่มากระทำความผิดดังกล่าวก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้โดยถือว่าเป็นผู้เสียหาย แล้ว พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการสอบสวน พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้อง ศาลมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษา
๒.ดังนั้น เจ้าของบ้านและที่ดิน และผู้เช่าย่อมมีอำนาจในการแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานบุกรุกได้ หรือยืมรถพี่ชายมาขับมีคนมาทุบรถในขณะอยู่ในความครอบครองของเรา นอกจากเจ้าของรถแล้วแม้เราไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์แต่หากเราสามารถพิสูจน์ได้ว่าเราได้รับความเสียหายจากการที่รถถูกทุบ เราเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ได้แม้ไม่ใช่เจ้าของก็ตาม และในความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์แม้ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ก็ตามแต่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์นั้น เช่นฝากเครื่องประดับไว้ที่ธนาคาร มีคนมาลักหรือยักยอกไป นอกจากเจ้าของเป็นผู้เสียหายแล้ว ธนาคารแม้ไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวก็ตาม แต่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์อยู่ในขณะที่มีการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์(โดยเจ้าหน้าที่ธนาคาร) จึงเป็นผู้เสียหายที่จะแจ้งความร้องทุกข์ได้ เพราะธนาคารอาจต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของเครื่องประดับ และอาจไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนทั่วไปที่จะนำทรัพย์สินมาฝากที่ธนาคาร

“ขัดขวางการจับกุม”

๑.”ยิงปืนขึ้นฟ้า” เพื่อขู่ไม่ให้ตำรวจเข้าจับกุม คำพิพากษาฏีกา ๒๔๓/๒๕๐๙
๒.” แม้กระสุนปืนด้าน” ก็ตาม คำพิพากษาฏีกา ๑๕๐๑/๒๕๑๔
๓.จ้องปืนไปที่ตำรวจแต่ไม่ยิงทั้งที่มีโอกาสยิงได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๓๒/๒๕๑๕
๔.พูดว่า “ ถ้าจับมีเรื่องแน่” พร้อมชี้มือในลักษณะข่มขู่ พวกจำเลย ๓๐ ถึง ๔๐ คน เดินเข้าไปหาตำรวจ ทำให้ตำรวจกลัวถูกทำร้าย จึงถอยออกไป คำพิพากษาฏีกา ๑๒๖๖/๒๕๓๐
ข้อสังเกต ๑. ตามพฤติการณ์เหล่านี้ถือเป็นการขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานหรือผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หากมีผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ ๓ คนขึ้นไปก็ระวางโทษสูงขึ้น หากการกระทำดังกล่าวมีหรือใช้อาวุธปืน ต้องระวางโทษหนึกขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง
๒. ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อไม่ให้จับกุม ไม่ว่าปืนจะลั่นหรือไม่หรือกระสุนด้านก็ตาม หรือแม้แต่จ้องปืนไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน แม้จะไม่ยิงก็ตามก็เป็นการขัดขวางไม่ให้เจ้าพนักงานหรือผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเข้าทำการจับกุมโดยมีและใช้อาวุธปืนแล้ว หากปืนดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้ว ก็มีความผิดฐานมีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยไม่มีเหตุอันควร
๓.การที่พวกจำเลย ๓๐ ถึง ๔๐ คนเดินเข้าหาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเข้าจับกุมจำเลยจนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเดินถอยเพราะกลัวถูกทำร้าย เป็นการร่วมกันตั้งแต่ ๓ คนขึ้นไปขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่แล้ว
๔.การกระทำดังกล่าวข้างต้นหากเป็นความผิดซึ่งหน้าซึ่งราษฏร์เข้าจับกุมราษฏร์ด้วยกัน เมื่อราษฏร์ไม่ใช่เจ้าพนักงานหรือผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน การต่อสู้ขัดขวางก็ไม่อาจเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตามกฏหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ได้

“คิดดอกเบี้ยเมื่อใด”

๑.นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค มิใช่วันลงในเช็ค คำพิพากษาฏีกา๙๐๑/๒๕๐๕, ๔๖๘๖/๒๕๓๖
๒.กรณีวันถึงกำหนดหรือวันผิดนัดไม่ปรากฏ คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๑๗๒/๒๕๐๑,๒๒๕/๒๕๐๔,๑๓๐๔/๒๕๑๔,๘๐๒/๒๕๑๙,๑๙๓๓-๑๙๓๔/๒๕๒๘ และ ๕๑๓๒/๒๕๓๒
๓.กรณีสิทิธ์ของโจทก์เกิดนับแต่มีคำพิพากษา ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันมีคำพิพากษา คำพิพากษาฏีกา ๓๙๗๘/๒๕๓๓, ๔๖๑๓/๒๕๓๓
๔.คิดดอกเบี้ยนับแต่วันศาลสั่งให้เพิกถอนการโอน ไม่ใช่นับแต่คำขอให้เพิกถอน คำพิพากษาฏีกา ๓๕/๒๕๓๕,๕๓/๒๕๓๕,๓๕๖๙/๒๕๓๕
๕.ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น พรบ.ศุลกากร ให้ผู้มีสิทธิ์รับเงินอากรที่ชำระเกินคืน ได้ดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ นับแต่วันที่ได้รับชำระอากร ก็เป็นไปตามนั้น คำพิพากษาฏีกา ๑๓๘/๒๕๓๐
๖.กรณีที่ลูกหนี้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อราคาวัตถุได้เสื่อมเสียไปในระหว่างผิดนัด หรือวัตถุไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนที่เป็นค่าสินไหมทดแทนคิดตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคาก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๕ ซึ่งคำพิพากษาฏีกาที่ ๑๔๓๐/๒๔๙๒,๑๔๓๑/๒๔๙๒ ล๒๒๓๔/๒๕๓๖ ตีความคำว่า “เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคา”คือ วันฟ้อง จึงต้องคิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
๗.กรณีลูกหนี้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ราคาวัตถุตกต่ำลงเพราะวัตถุนั้นเสื่อมเวลาผิดนัด ก็ให้คิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคาเช่นกัน ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๕
๘.มีคำพิพากษาศาลฏีกาที่ ๒๖๒๕/๒๕๕๑ วินิจฉัยว่า เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคา คือเวลาที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยที่จะกระทำได้ หากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเมื่อใด จึงให้จำเลยเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่ฟ้องให้ชำระหนี้
ข้อสังเกต ๑. ตามข้อ ๑. นั้น แม้เช็คถึงกำหนดชำระ แต่หากเจ้าหนี้ยังไม่ได้เรียกเก็บเงินตามเช็คและธนาคารยังไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดยังไม่ได้ เพราะหากนำมาเรียกเก็บเงินตามเช็คอาจขึ้นเงินได้ก็ได้ ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่นำเช็คมาเรียกเก็บเงินตามเช็ค จะถือลูกหนี้ผิดนัดไม่ได้ แต่เมื่อใดที่นำเช็คเรียกเก็บแล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จึงถือว่าลูกหนี้ผิดนัดแล้ว จึงเรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค
๒.ตามข้อ ๒. นั้น เป็นกรณีที่วันถึงกำหนดชำระหรือวันผิดนัดไม่ปรากฏ ว่าจะชำระหนี้เมื่อใด หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ เจ้าหนี้เรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๐๓ เช่นกู้ยืมเงิน ไม่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ไม่ทราบว่ากู้เอาไปทำอะไร ตามพฤติการณ์ไม่อาจจะอนุมานได้ว่าเอาไปทำอะไร ไม่เหมือนการยืมรถไปไถนา แม้ไม่บอกจะคืนเมื่อใด แต่ก็อนุมานได้ว่าไถนาเสร็จเมื่อใดจะคืน ดังนั้นหนี้กู้ยืมที่ไม่กำหนดวันชำระหนี้ไว้ย่อมไม่อาจทราบวันถึงกำหนดชำระหรือวันผิดนัด แม้จะถือว่าถึงกำหนดชำระโดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๐๓ ก็ตาม แต่จะถือว่าผิดนัดทันทีในวันที่กู้ยิมเงินกันคงไม่ได้ เพราะไม่ใช่การกำหนดวันชำระหนี้ตามปฏิทินที่จะถือว่าผิดนัดนับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระตามปฏิทินโดยไม่ต้องทวงถามก่อน ตามป.พ.พ. มาตรา ๒๐๔ วรรคสอง ดังนั้นการเรียกดอกเบี้ยกรณีนี้จึงต้องเรียกนับแต่วันฟ้อง
๓.ตามข้อ ๓. สิทธิ์ของโจทก์เกิดเมื่อศาลมีคำพิพากษา โดยหนี้บางอย่างอาจต้องมีการทวงถามหรือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ก่อน หรือยังมีการต่อสู้โต้แย้งสิทธิ์กันอยู่ไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก เช่นโต้แย้งกันในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนทรัพย์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแต่จำเลยต่อสู้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตน เมื่อมีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ว่าทรัพย์เป็นของใคร ดังนั้นสิทธิ์ในการเรียกดอกเบี้ยในกรณีไม่สามารถคืนทรัพย์แต่ต้องใช้ราคาจึงเกิดเมื่อศาลมีคำพิพากษาว่าทรัพย์เป็นของโจทก์
๔.ตามข้อ ๔.นั้น กรณีที่ศาลให้เพิกถอนการโอนทรัพย์ของลูกหนี้ผู้ล้มละลาย หากโอนไม่ได้ให้ผู้รับโอนชดใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ย ผู้รับโอนต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลให้เพิกถอนการโอน มิใช่วันที่มีคำขอให้เพิกถอน ตามพรบ.ล้มละลายฯ มาตรา ๑๑๔,๑๑๕
๕.ส่วนตามข้อ ๕. เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในกรณีที่พรบ.ศุลกากรฯ กำหนดไว้ให้ผู้มีสิทธิ์รับเงินอากรที่ชำระเกินคืน ได้ดอกเบี้ย นับแต่วันที่ได้ชำระอากร ก็เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
๖.ตามข้อ ๖.เช่นกำหนดส่งมอบทรัพย์ในวันที่ ๑ ม.ค.๒๕๕๗ แต่ไม่ได้ส่งมอบทรัพย์ตามกำหนดต่อมาปรากฏว่าทรัพย์นั้นเกิดสูญหาย ถูกลักไป หรือแตกสลาย ซึ่งเป็นความเสียหาย สูญหายภายหลังลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เมื่อไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ตามสัญญาได้ จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นเพราะเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดในระหว่างผิดนัด เจ้าหนี้สามารถเรียกดอกเบี้ยในจำนวนที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคาคือคิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
๗.ตามข้อ ๗.นั้นเป็นกรณีที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะการที่ราคาวัตถุตกต่ำลง เช่น กำหนดให้ส่งมอบลำไยซึ่งออกผลก่อนคนอื่นทำให้สามารถขายได้ราคาดี แต่ไม่ส่งมอบตามกำหนดเวลา ต่อมาลำไยในสวนอื่นออกทำให้ราคาลำไยถูกลง เป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ราคาวัตถุตกต่ำลงในระหว่างผิดนัด เจ้าหนี้สามารถเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้นับแต่วันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคา คือวันฟ้อง
๘.ตามข้อ ๘. ศาลวินิจฉัยว่า วันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคา คือวันที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย หากไม่ทราบว่าเป็นวันใดให้ถือเอาวันฟ้องเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคาในการที่จะเรียกดอกเบี้ย

“ตายแล้วแบ่ง”

เมื่อถึงแก่ความตาย การสมรสสิ้นสุด การคิดส่วนทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยามีผลตั้งแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดเพราะการตาย และการแบ่งทรัพย์สินของสามีภรรยาให้อยู่ในบังคับว่าด้วยการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย สินสมรสของคู่สมรสจึงแยกออกจากกันทันทีที่คู่สมรสถึงแก่ความตาย สิ้นสมรสครึ่งหนึ่งเป็นมรดก อีกกึ่งหนึ่งตกแก่คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ คำพิพากษาฏีกา ๗๕๓๖/๒๕๓๗
ข้อสังเกต ๑. เมื่อคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถึงแก่ความตาย ให้แบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา(สินสมรส) เช่นเดียวกับการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย นั้นก็คือหากยังมีชีวิตอยู่การแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาที่ทำการหย่าเป็นอย่างไร การแบ่งทรัพย์สินในระหว่างที่คู่สมรสถึงแก่ความตายก็เป็นแบบนั้น นั้นก็คือ การแบ่งทรัพย์สินของคู่สมรสที่ทำการหย่าโดยความยินยอม ป.พ.พ. มาตรา๑๕๓๓ ให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่าๆกัน ดังนั้น กรณีที่คู่สมรสตายก็ต้องแบ่งทรัพย์สินให้คู่สมรสทั้งสองฝ่ายได้ส่วนเท่าๆกันด้วยนั้นเอง คือแบ่งทรัพย์สินออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่หนึ่งส่วน และของคู่สมรสที่ถึงแก่กรรมอีกส่วนหนึ่ง แต่ทรัพย์สินของคู่สมรสที่ถึงแก่กรรมย่อมตกเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทซึ่งรวมทั้งคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นทายาทที่มีส่วนรับมรดกในส่วนนี้ด้วย
๒.ในการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตามที่มีอยู่ในเวลาที่จดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๓๒(ก) นั้นการคิดส่วนแบ่งมีผลตั้งแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดด้วยการตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๒๕(๑)ตอนท้าย นั้นก็คือหากคู่สมรสยังมีชีวิตอยู่แล้วมาจดทะเบียนหย่าต้องแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในวันจดทะเบียนหย่า แต่ในกรณีที่คู่สมรสถึงแก่ความตายกฎหมายบอกให้แบ่งทรัพย์มรดกเสมือนหนึ่งว่าจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอมนั้นก็คือเมื่อคู่สมรสฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตายต้องแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย โดยต้องแบ่งออกเป็นสองส่วน ตามเรื่องบทบัญญัติในการหย่าด้วยความยินยอมคือ แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งตกแก่คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ อีกกึ่งหนึ่งตกแก่ผู้ตาย แต่เนื่องจากผู้ตายถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินในส่วนนี้จึงตกเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ซึ่งก็คือคู่สมรสอีกฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่รวมทั้งทายาทคนอื่นด้วย ซึ่งทายาทของคู่สมรสที่ถึงแก่ความตายอาจเป็นทายาทโดยธรรมหรือทายาทตามพินัยกรรมก็ได้ ซึ่งในส่วนทายาทโดยธรรมนั้นคู่สมรสอีกฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นทายาทโดยธรรมด้วย
๓.แม้คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสจะแยกกันอยู่ ตราบใดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่าแม้จะแยกกันอยู่นานเท่าใดก็ยังเป็นคู่สมรสอยู่ หากต่อมาต่อมาคู่สมรสฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตายกรณีก็เข้าตามข้อสังเกตข้อ ๑ และข้อ ๒.
๔.ในกรณีที่คู่สมรสที่ถึงแก่ความตายทำสัญญาประกันชีวิตเพื่อให้คู่สมรสอีกฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต ซึ่งเงินตามสัญญาประกันชีวิตที่ผู้รับประกันจ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์ ไม่ใช่ทรัพย์มรดก เพราะสิทธิ์เรียกร้องนี้เกิดขึ้นภายหลังการตายของเจ้ามรดก จึงไม่ใช่มรดกเมื่อคู่สมรสฝ่ายนั้นถึงแก่ความตายกรณีไม่ต้องตามข้อสังเกต ข้อ ๑ และ ๒จึงไม่จำต้องแยกเงินในส่วนนี้ออกเป็นสองส่วนในการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตามข้อสังเกตข้อ๑ละ ๒ แต่อย่างใด ซึ่งพิจารณาได้ดังนี้คือ
๔.๑ หากในสัญญาประกันชีวิตระบุให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ได้รับประโยชน์จากสัญญาประกันชีวิตทั้งหมด คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่มีสิทธิ์รับเงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมด โดยไม่ถือเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาท และไม่ต้องแบ่งทรัพย์ดังกล่าวออกเป็นสองส่วนตามข้อสังเกต ข้อ ๑ และ ข้อ ๒ แต่อย่างใด
๔.๒แต่หากพิสูจน์ได้ว่าผู้ตายส่งเงินเบี้ยประกันสูงเกินกว่ารายได้หรือฐานะของตน ตามปกติ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องนำเงินที่สูงกว่าดังกล่าว(ส่วนที่สูงเกินรายได้หรือฐานะของผู้เอาประกันซึ่งเป็นคู่สมรสที่ถึงแก่ความตาย)ไปชดใช้ให้แก่สินส่วนตัวของคู่สมรสอีกฝ่ายหรือให้ใช้แก่สินสมรสของคู่สมรสที่ถึงแก่ความตาย นั้นก็คือ คู่สมรสฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์จากการประกันชีวิตของคู่สมรสที่ถึงแก่ความตายต้องหักเงินที่ตนจะได้รับชดใช้เป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสของผู้ตายเพียงเท่าที่จำนวนเบี้ยประกันภัยที่สูงกว่าเงินที่ผู้ตายพึงส่งเงินเบี้ยประกันตามรายได้หรือฐานะของผู้ตาย (ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๗) ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้คู่สมรสเอาสินส่วนตัวของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นเบี้ยประกันสูงเกินเหตุโดยตนเองเป็นผู้รับประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ทายาทรายอื่นไม่มีทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสที่ถึงแก่ความตายมาแบ่งเป็นมรดกได้ เพราะเงินที่ไม่ใช่สินส่วนตัวแล้วได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรส การที่เอาสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งมาจ่ายเป็นเบี้ยประกันโดยระบุให้ตนเป็นผู้รับประโยชน์ย่อมเป็นการเอาสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งมาชำระเบี้ยประกันทั้งที่หากไม่นำสินส่วนตัวดังกล่าวมาจ่ายเบี้ยประกันแล้วก็ไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้เพราะเกินฐานะความเป็นอยุ่ของคู่สมรสฝ่ายที่เอาประกันได้ แทนที่เงินจำนวนดังกล่าวจะตกเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทแต่ก็ถูกนำมาจ่ายเป็นเบี้ยประกัน
๔.๓ เงินเบี้ยประกันที่ต้องส่งคืนตามข้อ ๔.๒ ต้องไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้รับประกันชำระให้ คือคู่สมรสที่มีชีวิตอยู่ที่เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตต้องหักเงินออกชดใช้ให้แก่สินส่วนตัวของอีกฝ่าย หรือชดใช้แก่สินสมรส ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่ผู้รับประกันได้ชำระ คือชดใช้เพียงเท่าที่พิสูจน์ได้ว่าสูงกว่าจำนวนที่พึงส่งได้เท่านั้น หาใช่เบี้ยประกันทั้งหมดที่ได้ส่งไปแล้วไม่ ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๗ วรรคท้าย
๕.ส่วนการรับประโยชน์จากเงินปี(เงินที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้จ่าย” ได้รับเงินจากคู่สัญญาอีกฝ่ายเรียกว่า “ผู้รับ” โดยมีข้อตกลงกันว่าให้ “ ผู้จ่าย” จ่ายเงินเมื่อครบกำหนดจำนวนปีตามที่ตกลงไว้จนกว่าผู้รับจะตาย) ดังนั้น บริษัทจะจ่ายเงิน(เงินปีหรือเบี้ยเลี้ยงชีพ)ให้ผู้รับซึ่งเป็นคู่สมรสร่วมกันเป็นรายปีตลอดไปจนกว่าคู่สมรสฝ่ายใดจะถึงแก่ความตาย ผู้จ่ายจึงหยุดจ่ายเงิน หรือกรณีมีข้อตกลงว่าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอายุครบตามจำนวนปีที่กำหนด ผู้จ่ายจะจ่ายเงินให้คู่สมรสรวมกันเป็นรายปี แต่หากคู่สมรสฝ่ายใดถึงแก่ความตาย ผู้จ่ายคงจ่ายเงินให้แก่คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปจนตลอดอายุของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๘ หาก” ผู้จ่าย” เรียกเงินเพิ่มจากกการที่คู่สมรสนำเงินมาลงทุน เป็นเงินเพิ่มจำนวนเท่าใดก็ตามเพื่อจ่ายให้แก่คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ คู่สมรสฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องชดใช้สินส่วนตัวหรือสินสมรสแล้วแต่กรณี เพื่อชดใช้ในส่วนที่ “ผู้จ่าย” เรียกเก็บแล้ว ในส่วนของผู้ตายย่อมตกเป็นทรัพย์มรดกของคู่สมรสที่เสียชีวิตต่อไป ทั้งนี้โดยอาศัยหลักการที่ว่า เมื่อส่งเงินครบตามสัญญาแล้ว ย่อมได้รับเงินตอบแทนแต่ละปีจนกว่าจะถึงแก่ความตาย เมื่อถึงแก่ความตายแล้วก็ยังจ่ายให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งในการทำสัญญาเช่นนี้ทำให้ “ สินเดิม” หรือ “ สินสมรส”ของเจ้ามรดกน้อยเกินไปกว่าที่ควร จึงสมควรให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ชดใช้เพื่อจะเป็นทรัพย์มรดกแบ่งให้แก่ทายาทตามส่วน ซึ่งก็คือชดใช้เข้า “ กองมรดก” ของผู้ตายต่อไป โดยชดใช้เท่ากับจำนวนซึ่ง “ ผู้จ่าย” เรียกให้ใช้เพิ่มขึ้น นั้นก็คือ ชดใช้ให้ “ สินเดิม” หรือ “ สินสมรส” ของคู่สมรสที่ถึงแก่ความตายเพื่อเข้ากองมรดกของคู่สมรสเพื่อตกทอดแก่ทายาทของคู่สมรสที่ถึงแก่ความตายต่อไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๘
๖.พรบ.ให้ใช้บรรพ ๕แห่ง ป.พ.พ. ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ ให้ถือว่า “ สินเดิม” ของฝ่ายใดเป็น “ สินส่วนตัว” ของฝ่ายนั้น แต่หาได้มีความหมายว่า “ สินเดิม” คือ “ สินส่วนตัว” ไม่

“ไม่มีมรดก ไม่มีเหตุตั้งผู้จัดการมรดก”

๑. ผู้ตายไม่มีมรดก ไม่มีเหตุตั้งผู้จัดการมรดก คำพิพากษาฏีกา ๒๒/๒๕๒๒
๒. เมื่อปรากฏว่าบ้านและที่ดินไม่ใช่มรดกของผู้ตาย และตามคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกก็ไม่ปรากฏทรัพย์สินอื่นของผู้ตาย จึงไม่มีเหตุจัดตั้งผู้จัดการมรดก คำพิพากษาฏีกา ๔๐๘๔/๒๕๔๕
๓. เงินฝากในบัญชีธนาคารของผู้ตายได้ปิดบัญชีไปก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดก จึงไม่มีเหตุขัดข้องในการจัดการหรือแบ่งปันทรัพย์มรดก ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจตั้งผู้จัดการมรดก คำพิพากษาฏีกา ๕๙๖/๒๕๔๖
ข้อสังเกต ๑. เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์สินที่จะตกเป็นมรดก ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องตั้งผู้จัดการมรดก เพราะการตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อความสะดวกในการแบ่งทรัพย์สินให้แก่ทายาท เมื่อไม่มีมรดกก็ไม่มีเหตุที่ต้องรวบรวมทรัพย์เพื่อมอบแก่ทายาท ทั้งผู้ที่เป็นผู้จัดการมรดกก็มีหน้าที่ต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายใน ๑๕ วันนับแต่วันเริ่มรับหน้าที่ผู้จัดการมรดกและต้องทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่ผู้จัดการมรเดกเข้ารับหน้าที่ผู้จัดการมรดก เมื่อไม่มีทรัพย์มรดกก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำบัญชีรวบรวมทรัพย์มรดกและการแบ่งปันทรัพย์มรดกแต่อย่างใด
๒.กฏหมายไม่ได้กำหนดให้ตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อสืบหาทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อนำมาจัดการแต่อย่างใด คำพิพากษาฏีกา ๕๙๖/๒๕๔๖ มีเพียงกำหนดให้ผู้จัดการมรดกสืบหาผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อแจ้งให้ทราบถึงข้อกำหนดในพินัยกรรมเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๒๕
๓. ทายาทผู้มีสิทธิ์รับมรดก อาจแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายมาเป็นผู้จัดการมรดก โดยไม่ต้องร้องขอให้ศาลแต่งตั้ง คำพิพากษาฏีกา ๔๗๒๐/๒๕๔๑ นั้นคือทายาทไม่จำต้องร้องขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และทายาทก็ไม่จำเป็นต้องจ้างทนายเพื่อร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเช่นกัน เพียงทายาทผู้มีสิทธิ์รับมรดกอาจแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายคือต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ ไม่ว่าจะบรรลุนิติภาวะโดยอายุครบ ๒๐ ปีบริบรูณ์หรือบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสก็ตาม และบุคคลที่ทายาทแต่งตั้งต้องไม่ใช่บุคคลวิกลจริต บุคคลที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือบุคคลที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งไม่มีอำนาจในการดำเนินการทำนิติกรรม หากไม่มีข้อห้ามดังนี้แล้ว ทายาทที่มีสิทธิ์รับมรดกสามารถตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพื่อรวบรวมทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาทได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องมาร้องต่อศาลเพื่อตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดก
๔.กรณีตามข้อ ๓. จะเกิดปัญหาคือ เจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงชื่อจากชื่อผู้ตายมาเป็นชื่อผู้จัดการมรดกเพื่อทำการโอนทรัพย์ให้ทายาท หรือแม้แต่มีพินัยกรรมตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว เจ้าหน้าที่ธนาคารและเจ้าพนักงานที่ดินมักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงชื่อจากชื่อผู้ตายมาเป็นชื่อผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม โดยจะให้ไปร้องต่อศาลเพื่อตั้งผู้จัดการมรดกอยู่ดี ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า กลัวเกินเหตุ เป็นการเอาตัวรอดของเจ้าหน้าที่โดยกลัวว่าอาจเป็นพินัยกรรมปลอม แต่ไปผลักภาระให้แก่ทายาทที่ต้องไปเสียเวลาขึ้นศาลเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เคยเจอที่จังหวัดหนึ่งทนายขอค่าว่าความ ๑ เปอร์เซ็นของทุนทรัพย์ ดูผิวเผินว่าถูกมาก แต่มรดกมีเป็นพันล้าน หนึ่งเปอร์เซ็นของเงินพันล้านเท่าไหร่ ซึ่งการร้องเป็นผู้จัดการมรดก เป็นคดีง่ายๆเป็นคดีที่หลายสำนักงานให้เป็นคดีฝึกว่าความทนายใหม่ๆโดยเสียเวลาไปศาลไม่กี่ครั้ง โดยเสียเวลาตอนไปยื่นคำร้องหนึ่งครั้ง เสียเวลาติดตามผลการส่งหมาย การประกาศหนังสือพิมพ์และเสียเวลาในการมาว่าความอีกหนึ่งครั้งไม่เกิน ๒ๆ นาที ดังนั้น ๑ เปอร์เซ็นต์ของเงินพันล้านบาทนับว่าแพงเกินส่วน ซึ่งส่วนใหญ่ทนายบางรายก็เรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการว่าความในเรื่องจัดการมรดก ๕ ถึง ๖ พันบาท หรืออาจเป็น๑๐,๐๐๐ ถึง ๒๐,๐๐๐บาท ตามแต่ทนายแต่ละคนจะเรียก ซึ่งในส่วนนี้ไม่รวมถึง ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเป็นค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่หากมาร้องขอให้พนักงานอัยการดำเนินการให้จะเสียค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในการขึ้นศาลตามที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน ๑,๕๐๐บาทเท่านั้นในส่วนการว่าความอัยการดำเนินการให้ฟรี จะเสียเท่าไหร่ก็ตามแต่เป็นการผลักภาระให้ประชาชนต้องมาเสียเงินเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เสียเวลา เพียงเพื่อตนเองจะไม่ต้องรับผิด โดยอ้างทำตามคำสั่งศาล ในส่วนนี้ผมว่ากรมที่ดินและธนาคารควรมีระเบียบที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในส่วนนี้ เพราะหากพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดกปลอมก็สามารถดำเนินคดีกับบุคคลที่มาแอบอ้างเป็นผู้จัดการมรดกได้และสามารถเพิกถอนการโอนที่ดินได้อยู่แล้ว เพียงแต่ออกระเบียบให้รัดกุมในการตรวจสอบการทำพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดก หรือหากไม่เชื่อว่าทายาทผู้มีสิทธิ์รับมรดกตั้งผู้จัดการมรดกก็เรียกทายาททุกคนมาสอบถาม
๕.ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องร้องต่อศาลเพื่อตั้งผู้จัดการมรดก ทายาทผู้มีสิทธิ์รับมรดกทุกคนรวมกันตั้งใครเป็นตัวแทนไปดำเนินการแทน หรือไปพร้อมกันหมด แต่ธนาคารและเจ้าพนักงานที่ดินก็ไม่ทำให้มักอ้างว่าไม่ทราบเป็นทายาทจริงหรือไม่ ทายาทมาครบหรือไม่ ผมว่ากรณีแบบนี้ตามข้อ ๔ ข้อ ๕ ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินและธนาคารต่อศาลปกครองและในความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่เป็นตัวอย่างสักสองสามคดีเผื่อว่ากรมที่ดินและธนาคารจะได้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนแทนที่จะผลักภาระให้ประชาชนต้องไปร้องต่อศาล ทำให้คดีรกโรงรกศาลเปล่าๆ
๖. ทายาทที่มีสิทธิ์รับมรดกสามารถตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกได้โดยไม่จำต้องร้องต่อศาลขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งการตั้งนั้นอาจตั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเป็นผู้จัดการมรดกได้หากไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นๆ

“ชายหาบ หญิงคอน” “ทรัพย์สินวันมีแขก เป็นสินเดิม เมื่ออยู่กินเป็นผัวเมียเป็นสินสมรส”

๑.เป็นสามีภรรยาก่อนใช้บรรพ ๕ แต่ตายเมื่อใช้บรรพ ๕ แล้ว แบ่งสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย แบ่งมรดกตามบรรพ ๖ คำพิพากษาฏีกา ๔๘๙/๒๔๘๖ ,๘๒๑/๒๔๙๑
๒.การแบ่งมรดกมีขึ้นได้เมื่อบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย เมื่อถึงแก่ความตายขณะใช้กฏหมายใด ก็ตกอยู่ในบทบัญญัติกฎหมายนั้น เป็นสามีภรรยาก่อนใช้บรรพ ๕ บรรพ ๖ ถึงแก่ความตายหลังใช้บรรพ ๕ บรรพ ๖ แล้ว แบ่งมรดกตามบรรพ ๖ คำพิพากษาฏีกา ๔๑๓/๒๕๐๖
ข้อสังเกต ๑. ทรัพย์ที่บิดามารดาหรือญาติฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายให้ในวันมีแขก(วันแต่งงาน) ให้เป็นสินเดิม ถ้าให้เมื่ออยู่กินเป็นผัวเมียแล้วให้เป็นสินสมรส ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ ๖๘ คือ ชายหาบ หญิงคอน นั้นก็คือหากทั้งสองฝ่ายไม่มี “สินเดิม “. การแบ่งสินสมรสระหว่างสามีภรรยาที่อยู่กินก่อนใช้ ป.พ.พ. บรรพ ๕ ต้องแบ่งตามกฏหมายลักษณะผัวเมีย คือ ฝ่ายชายได้ ๒ ส่วน ฝ่ายหญิงได้ ๑ ส่วน แต่ในปัจจุบันการแบ่งทรัพย์สินในระหว่างเป็นสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสแล้วหย่าขาดจากกัน ชายหญิงมีส่วนในสินสมรสเท่าๆกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๓๒,๑๕๓๓ หากการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการตายก็แบ่งสินสมรสออกเป็นสองส่วน ชายและหญิงได้ส่วนละเท่าๆกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๓๒(ก),๑๕๓๓,๑๖๒๕(๑) แต่ในส่วนของชายนั้นเมื่อฝ่ายชายถึงแก่ความตายทรัพย์ในส่วนนี้จึงตกเป็นมรดก ซึ่งฝ่ายหญิงที่เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฏหมายก็เป็นทายาทที่มีสิทธิ์รับมรดกในส่วนนี้ด้วย
๒.เมื่อมีการชำระบรรพ ๕ ใหม่ บัญญัติให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา คือสินส่วนตัว และสินสมรส ไม่มีการพูดถึงเรื่อง “ สินเดิม” แต่อย่างใด แต่พรบ.ให้ใช้บรรพ ๕แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ “ ให้ถือว่า “ สินเดิม” ของฝ่ายใดเป็น “ สินส่วนตัว” ของฝ่ายนั้น
๓.เป็นสามีภรรยาก่อนใช้ ป.พ.พ. บรรพ ๕ ใหม่ เมื่อถึงแก่ความตายเมื่อใช้ ป.พ.พ. บรรพ ๕ใหม่แล้ว การแบ่งสินสมรสแบ่งตามกฏหมายลักษณะผัวเมีย แต่มรดกแบ่งตามบรรพ ๖ ใหม่เพราะการแบ่งมรดกหรือมรดกจะมีขึ้นจะมีขึ้นได้เมื่อบุคคลถึงแก่ความตาย เมื่อถึงแก่ความตายขณะใช้กฎหมายใด ก็ตกอยู่ในบังคับแห่งกฏหมายนั้น ดังนั้นหากเป็นสามีภรรยาก่อนใช้บรรพ ๕ และบรรพ ๖ แต่ถึงแก่ความตายหลังใช้บรรพ ๕, บรรพ ๖ แล้ว การแบ่งมรดกแบ่งตามบรรพ ๖ ซึ่งในกรณีนี้ไม่เหมือนเรื่องความรับผิดในทางอาญาที่บุคคลจะรับโทษทางอาญาเมื่อได้กระทำการอันกฏหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดบัญญัติเป็นความผิดและบัญญัติโทษเอาไว้ ทำผิดตามกฎหมายเก่า หากมีกฎหมายใหม่ออกมา หากกฎหมายใหม่เป็นโทษก็ไม่ใช้กฎหมายใหม่บังคับ หากกฎหมายใหม่เป็นคุณแก่จำเลยก็ใช้กฎหมายใหม่ในส่วนที่เป็นคุณได้ตาม ป.อ. มาตรา ๒,๓
๔.แบ่งสินสมรสตามกฎหมายเก่า ฝ่ายชายได้ ๒ ส่วน ฝ่ายหญิงได้ ๑ ส่วน แบ่งสินสมรสตามกฎหมายใหม่ ชายหญิงได้คนละเท่าๆกัน
๔.การแบ่งมรดกตามกฎหมายใหม่แบ่งได้ดังนี้คือ
๔.๑ ภรรยาได้รับส่วนแบ่งจากกองมรดกเสมือนหนึ่งตนเป็นทายาทชั้นบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๕(๑)คือผู้ตายมีผู้สืบสันดานหรือมีผู้รับมรดกแทนที่ ภรรยารับมรดกเสมือนหนึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร เมื่อเป็นผู้สืบสันดานในชั้นเดียวกันก็ได้รับส่วนแบ่งเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๔(๒) ผู้ตายมีบุตร ๒ คน มีภรรยา ๑ คน มีมรดก ๑๒๐ล้านบาท มรดกตกแก่ภรรยา ๔๐ ล้านบาท อีก ๘๐ ล้านบาทตกแก่บุตรทั้งสองคน ซึ่งบุตรทั้งสองคนได้คนละ ๔๐ ล้านบาท
๔.๒ภรรยาได้รับมรดกจากส่วนแบ่งกองมรดกกึ่งหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๕(๒) คือเมื่อถึงแก่ความตาย ผู้ตายมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือผู้ตายไม่มีผู้สืบสันดานแต่บิดามารดาผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ดังนี้ภรรยาได้มรดกกึ่งหนึ่ง คือผู้ตายมีมรดก ๑๒๐ ล้านบาท ภรรยาได้มรดก ๖๐ ล้านบาท ส่วนบิดามารดาได้ ๖๐ ล้านบาทในระหว่างบิดามารดาได้คนละ ๓๐ ล้านบาท
๔.๓ภรรยาได้รับส่วนแบ่งจากกองมรดก ๒ ใน ๓ ส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๕(๓) คือในกรณีที่ผู้ตายมีพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกันหรือมีลุงป้าน้าอา โดยบุคคลดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ ภรรยาได้รับมรดก ๒ ใน ๓ ส่วนนั้น คือ ผู้ตายมีมรดก ๑๒๐ ล้านบาท มีพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ๔ คน ดังนี้ ภรรยาได้มรดก ๒ ใน ๓ ส่วนคือ ๘๐ ล้านบาท ส่วนพี่น้องร่วมบิดามารดาได้มรดก ๔๐ ล้านบาทในระหว่างพี่น้องด้วยกันได้คนละ ๑๐ ล้านบาท
๔.๔ ภรรยาได้มรดกทั้งหมด ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๕(๔) คือกรณีผู้ตายไม่มีทายาท ภรรยาได้มรดกทั้งหมด

“ไม่ใช่เศษเหล็กที่ต้องส่งมอบ”

สัญญาซื้อขายรถยนต์มีว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ซึ่งมีเครื่องยนต์อยู่ในสภาพใช้เดินได้ เห็นว่า เป็นสัญญาส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่เป็นรถยนต์ ไม่ใช่เศษเหล็ก และต้องส่งมอบรถให้อยู่ในสภาพให้ใช้งานได้ ซึ่งหมายความว่า จำเลยต้องทำการตามที่จำเป็นเพื่อให้โจทก์ได้จดทะเบียนรถนั้น เพราะถ้าไม่ได้จดทะเบียน รถนั้นก็ใช้การไม่ได้ แม้การจดทะเบียนไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ แต่การจดทะเบียนก็เป็นการจำเป็นแก่การใช้รถนั้น เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานไม่ยอมจดทะเบียนรถพิพาทให้โจทก์ โดยจำเลยไม่ไปรับรองต่อนายทะเบียน จึงเป็นหน้าที่จำเลยต้องไปรับรองการจดทะเบียนนั้นด้วย คำพิพากษาฏีกา ๗๖/๒๔๙๖
ข้อสังเกต ๑.การทำนิติกรรมสัญญา หากไม่ได้มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแล้วสามารถตกลงทำนิติกรรมสัญญากันได้ ดังนั้นข้อสัญญาที่ว่า “ จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ที่อยู่ในสภาพใช้เดินได้” นั้นเป็นข้อสัญญาที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัยที่จะกระทำได้ และไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชน จึงเป็นข้อสัญญาที่สามารถตกลงกันได้ โดยมีความหมายว่า การซื้อรถเก่าหรือซากรถหรือหรือรถโบราณซื้อในสภาพที่รถนั้นสามารถวิ่งได้ ไม่ได้หมายความว่า ซื้อเศษเหล็กโครงรถโบราณ โครงรถเก่า หรือซากรถ มาตั้งโชว์ที่บ้านแต่อย่างใด จึงเป็นหน้าที่ของผู้ขายต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้รถวิ่งได้ตามที่ปรากฏในสัญญา ทั้งยังหมายความด้วยว่า เมื่อรถสามารถขับเคลื่อนได้แล้วก็ต้องสามารถนำไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจากเจ้าของเดิมมาเป็นชื่อผู้ซื้อได้ด้วยหรือหากรถดังกล่าวไม่มีการจดทะเบียนเพราะมีการซื้อซากรถเก่าหลายคันมาประกอบเป็นรถคันใหม่ ต้องสามารถนำไปจดทะเบียนได้โดยไม่มีข้อห้ามทางกฎหมายที่ห้ามไม่ให้จดทะเบียน เพราะเมื่อรถสามารถขับเคลื่อนได้แล้วหากรถคันดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนการใช้รถ ก็เป็นการนำรถที่ไม่จดทะเบียนมาใช้ในทางเดินรถซึ่งเป็นความผิดตามกฏหมาย หากรถจดทะเบียนไม่ได้ รถนั้นก็ไม่สามารถนำมาวิ่งบนทางเดินรถได้ แม้การจดทะเบียนไม่ใช่หลักฐานแห่งการแสดงกรรมสิทธิ์ก็ตาม แต่การจดทะเบียนก็จำเป็นแก่การเดินรถเพราะ
๑.๑ การขายซากรถ(เศษเหล็ก)กับการขายรถที่สามารถวิ่งได้ราคาแตกต่างกัน
๑.๒. หากมีการจดทะเบียนก็คงต้องมีการตรวจสอบว่า เป็นการนำชิ้นส่วนรถยนต์จากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากรแล้วนำมาประกอบเป็นรถหรือไม่
๑.๓. ทั้งจะได้ตรวจสอบว่ารถคันดังกล่าวเคยมีการจดทะเบียนมาก่อนหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงสีไปจากเดิมที่จดทะเบียนหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งส่วนใดของรถให้ผิดไปจากที่เคยจดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่
๑.๔. และจะได้รู้ว่าเป็นรถเก่าที่เจ้าของแจ้งการไม่ใช้รถ เพื่อยกเว้นการเสียภาษีประจำปีหรือไม่
๑.๕. ทั้งเมื่อจดทะเบียนแล้วก็จะได้รับแผ่นป้ายทะเบียนรถ หากไม่มีแผ่นป้ายทะเบียนแล้วนำรถมาใช้ในทางเดินรถย่อมเป็นความผิดตามกฏหมาย
๑.๖. หากรถยังไม่สามารถจดทะเบียนก็ไม่สามารถเสียภาษีประจำปีสำหรับรถนั้นได้
๑.๗. จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายที่มีหน้าที่ไปรับรองต่อนายทะเบียนว่ารถคันดังกล่าวเป็นของตนที่ขายให้แก่ผู้ซื้อจริง ไม่ได้ขโมยซากรถใครเขามาแล้วนำมาซ่อมแซมหรือลักลอบนำชิ้นส่วนรถจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร เพื่อมาขอจดทะเบียนการใช้รถ ทั้งยังเป็นหน้าที่ผู้ขายซึ่งต้องมีผู้ชำนาญหรือวิศวกรหรือผ่านการตรวจสภาพจากสถานตรวจสภาพที่ได้รับอนุญาตตามกฏหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ที่จะรับรองว่ารถเก่าหรือการนำซากรถหรือนำชิ้นส่วนประกอบของรถมาตกแต่งประกอบขึ้นมาใหม่มีสภาพปลอดภัยแก่การใช้งานได้สามารถที่จะทำการตรวจสภาพจากกรมการขนส่งทางบกก่อนมีการจดทะเบียนการใช้รถด้วย และเมื่อนำไปจดทะเบียนแล้วก็คงต้องถูกกรมการขนส่งทางบกทำการตรวจสภาพรถอีกทีว่ารถคันดังกล่าวมีความปลอดภัยเพียงพอที่จะนำมาใช้บนทางเดินรถได้หรือไม่ ดังนั้น แม้การจดทะเบียนไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ แต่ก็เป็นความจำเป็นแก่การใช้รถ เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานไม่ยอมจดทะเบียนรถคันดังกล่าวให้ จึงเป็นหน้าที่ผู้ขายต้องไปรับรองการจดทะเบียนด้วย

“ยุติการดำเนินคดีแล้ว ผบตร.ไม่มีอำนาจ”

อัยการผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ผู้เสียหายร้องทุกข์เกินกว่า ๓ เดือน นับจากวันที่ผู้เสียหายรู้ คดีขาดอายุความร้องทุกข์ ให้ยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในข้อหายักยอกทรัพย์ แล้วเสนออัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง ๒ ทราบ จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามพรบ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๒ ตามระเบียยบสนง.อัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๕๔ วรรคสาม และข้อ ๑๖๖ ความเห็นแย้งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ว่า ผู้เสียหายร้องทุกข์ในอายุความแล้วจึงไม่ใช่ความเห็นแย้งที่อัยการสูงสุดจะต้องชี้ขาด แต่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าเหตุในการออกคำสั่งของอัยการว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่อย่างไร โดยอัยการสูงสุดเคยให้สอบสวนในประเด็นเรื่องการร้องทุกข์ของผู้เสียหายจนได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติมและข้อเท็จจริงจนเป็นที่ยุติแล้ว จึงใช้อำนาจอัยการสูงสุดตาม พรบ.อัยการฯ มาตรา ๑๒ พิจารณาคำสั่งยุติการดำเนินคดีของอัยการผู้เชี่ยวชาญว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไรต่อไป ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๒๑/๒๕๕๒
ข้อสังเกต ๑.ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวผู้เสียหายต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิเช่นนั้นขาดอายุความร้องทุกข์
๒. หากผู้เสียหายร้องทุกข์เกิน กำหนดนี้คดีขาดอายุความร้องทุกข์ พนักงานอัยการมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดีเนื่องจากสิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญาระงับไปเพราะคดีขาดอายุความร้องทุกข์ แล้วเสนอผู้บังคับบัญชาที่สูงขึ้นกว่าตนอีกหนึ่งชั้นเพื่อทราบโดยเร็ว หากผู้บังคับบัญชาดังกล่าวเห็นด้วยคดีก็เป็นอันยุติไปตามความเห็นของอัยการเจ้าของสำนวน แล้วต้องแจ้งคำสั่งยุติการดำเนินคดีให้ผู้ต้องหาและผู้เสียหายทราบโดยเร็ว การที่ต้องเสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาอีกหนึ่งชึ้นทราบเพื่อเป็นการตรวจสอบและคานอำนาจของอัยการเจ้าของสำนวน
๓.หากผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่าตนหนึ่งชั้นเห็นว่าไม่ถูกต้องให้ทำความเห็นแล้วส่งสำนวนให้อธิบดีสั่งเพิกถอนคำสั่งนั้น หากอธิบดีเป็นคนออกคำสั่ง ให้ทำความเห็นเสนอสำนวนตามลำดับชั้นเพื่อให้อัยการสูงสุดหรือรองอัยการสูงสุดผู้รับมอบหมายเป็นคนสั่งเพิกถอน
๓.เมื่อเป็นคำสั่ง “ยุติการดำเนินคดี” หาใช่เป็น “ คำสั่งไม่ฟ้อง” เพราะคดีขาดอายุความ จึงไม่ต้องปฏิบัติตาม พรบ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาคดีอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา ๑๒ โดยผลของระเบียบสนง.อัยการสูงสุดฯ ข้อ ๕๔วรรคสามและ ๑๖๖ โดยไม่ต้องส่งสำนวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด(กรณีในต่างจังหวัด)หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(กรณีในกรุงเทพ)พิจารณาเพราะ เมื่อคำสั่งยุติดำเนินคดีเด็ดขาดไปแล้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่มีอำนาจมาทำความเห็นแย้งในกรณีนี้ได้ เพราะไม่ใช่การเสนอสำนวนตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๔๕ แต่อย่างใด จึงไม่ใช่ความเห็นแย้งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๔๕ ที่อัยการสูงสุดต้องชี้ขาดว่าได้ร้องทุกข์ภายในอายุความร้องทุกข์หรือไม่ เป็นเพียงต้องพิจารณาเหตุในการออกคำสั่งของอัยการว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่อย่างไร โดยอัยการสูงสุดเคยให้สอบสวนในประเด็นเรื่องการร้องทุกข์ของผู้เสียหายจนได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติมและข้อเท็จจริงจนเป็นที่ยุติแล้ว จึงใช้อำนาจอัยการสูงสุดตาม พรบ.อัยการฯ มาตรา ๑๒ พิจารณาคำสั่งยุติการดำเนินคดีของอัยการผู้เชี่ยวชาญว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร โดยไม่ต้องไปพิจารณาตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีความเห็นมา

“พลาดโดยสำคัญผิด”

ผู้ต้องหาที่ ๒ พกอาวุธปืนมาที่เกิดเหตุใช้มือจับปืนพกที่เอวมีลักษณะในการชักออกมาต่อสู้ ส่วนจะเป็นตามที่ผู้ต้องหาที่ ๒ อ้างว่า ใช้มือจับอาวุธปืนเพราะปืนจะหล่น หรือเป็นเพราะผู้ต้องหาที่ ๒ มีเจตนาใช้ปืนยิงผู้ต้องหาที่ ๑ ก็ตาม แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนเวลาประมาณ ๐๒.๐๐ นาฬิกา เป็นยามวิกาล สภาพการณ์ย่อมไม่ชัดแจ้งในพฤติการณ์เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายอาจเกิดกความเข้าใจผิดได้ ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นผู้ต้องหาที่ ๑ย่อมเข้าใจว่า ผู้ต้องหาที่ ๒ ชักอาวุธปืนเพื่อยิงผู้ต้องหาที่ ๑ จึงเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาที่ ๑ตกอยู่ในภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงจึงใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้ต้องหาที่ ๒ กับพวก เพื่อป้องกันตัวเอง ในขณะเดียวกันผู้ต้องหาที่ ๒ ก็ยิงสวนมา ๕ นัด กระสุนถูกขอบกระจกหน้ารถ ขอบบนประตูรถด้านคนขับที่ผู้ต้องหาที่ ๑ นั่งอยู่ การที่ผู้ต้องหาที่ ๑ ยิงผู้ต้องหาที่ ๒ได้รับบาดเจ็บจึงเป็นการป้องกันโดยสำคัญผิดพอสมควรแก่เหตุ เพราะความร้ายแรงของอาวุธใช้ปืนกับปืน เป็นการป้องกันชีวิตต่อชีวิตในสัดส่วนที่เท่ากัน แม้กระสุนพลาดไปถูกนาย ส.ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาก็เป็นผลสืบเนื่องจากการป้องกันพอสมควรแก่เหตุของผู้ต้องหาที่ ๑ ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๑๕๒/๒๕๕๐
ข้อสังเกต ๑.การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายต้องมีภยันตรายอันประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฏหมาย ผู้กระทำการป้องกันต้องไม่มีส่วนร่วมหรือเป็นผู้ก่อเหตุในการกระทำนั้นด้วย ทั้งการกระทำต้องเป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันภยันตรายนั้นๆ และต้องได้สัดส่วนกันระหว่างภยันตรายที่ละเมิดกฎหมายกับการกระทำเพื่อป้องกัน ชีวิต ต่อ ชีวิต ปืนต่อ ปืน ถือได้สัดส่วนกัน
๒. การที่ผู้ต้องหาที่ ๑ มีปากเสียงกับผู้ต้องหาที่ ๒ หากผู้ต้องหาที่ ๒ ใช้อาวุธปืนเพื่อจะยิงผู้ต้องหาที่ ๑ จะถือว่าผู้ต้องหาที่ ๑มีส่วนร่วมในการกระทำด้วยซึ่งไม่สามารถอ้างเรื่องป้องกัน หรือบันดาลโทสะได้ นั้น ดูจะไม่ถูกต้องเพราะการทะเลาะกันด้วยปาก ไม่อาจคาดหมายว่าจะใช้อาวุธยิงประทุษร้ายให้ถึงกับเสียชีวิตไม่ ทั้งผู้ต้องหาที่ ๒ ก็ยังมีพวกอีกหลายคน ทั้งเมื่อผู้ต้องหาที่ ๑ ยิงผู้ต้องหาที่ ๒ ผู้ต้องหาที่ ๒ ก็ยิงตอบถึง ๕ นัด ดังนั้น หากผู้ต้องหาที่ ๒ จะใช้ปืนยิงผู้ต้องหาที่ ๑ ผู้ต้องหาที่ ๑ ย่อมมีสิทธิ์ป้องกันตัวได้ตามกฎหมาย จะถือว่าผู้ต้องหาที่ ๑ มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดโดยทะเลาะกับผู้ต้องหาที่ ๒ อันจะทำให้อ้างเรื่องป้องกันไม่ได้ หาได้ไม่
๓..การที่ผู้ต้องหาที่ ๒ พกอาวุธปืนที่เอวแล้วใช้มือจับที่อาวุธปืนดังกล่าว ในเวลากลางคืนขณะที่กำลังทะเลาะวิวาทกับผู้ต้องหาที่ ๑ ซึ่งการที่ผู้ต้องหาที่ ๒ จับปืนจะเป็นไปตามที่ผู้ต้องหาที่ ๒ อ้างในคำให้การชั้นสอบสวนว่า ปืนกำลังตกจึงจับปืน หรือการที่ผู้ต้องหาที่ ๒ จับปืนนั้นเพราะมีเจตนาจะยิงผู้ต้องหาที่ ๑ หรือไม่ก็ตาม แต่การที่ผู้ต้องหาที่ ๑ ที่ ๒ ทะเลาะกัน ในเวลากลางคืนซึ่งย่อมมองไม่เห็นชัดเจนเหมือนในเวลากลางวัน โดยขณะเกิดเหตุเป็นเวลา ๐๒.๐๐นาฬิกา และผู้ต้องหาที่ ๒ ก็มีพวกอีกหลายคน ในสภาวะบุคคลที่ทะเลาะกันในเวลากลางคืน ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจได้ว่า การที่ใช้มือจับอาวุธปืนไม่ว่าจะจับในลักษณะเพื่อเตรียมป้องกันตัว หรือเพื่อใช้ในการยิงอีกฝ่ายหรือปืนจะตกจากเอวจึงต้องจับไว้ก็ตาม ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจในวิสัยคนทั่วไปว่า อีกฝ่ายจับปืนเพื่อจะยิงตน ซึ่งพิจารณาได้ดังนี้คือ
๓.๑หากผู้ต้องหาที่ ๒ จับปืนโดยมีเจตนาจะยิงผู้ต้องหาที่ ๑ ย่อมเป็นภยันตรายอันละเมิดกฎหมาย ผู้ต้องหาที่ ๑ ย่อมมีสิทธิ์ที่จะป้องกันสิทธิ์ของตนให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง และการกระทำได้สัดส่วนกัน คือปืนต่อปืน ชีวิตต่อชีวิตและเป็นวิธีทางสุดท้ายที่จำต้องป้องกันแล้ว การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
๓.๒ หากผู้ต้องหาที่ ๒ ไม่ได้มีเจตนายิงผู้ต้องหาที่ ๑ แต่ใช้มือจับปืนเพราะปืนจะหล่นจากเอว ย่อมไม่มีภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ผู้ต้องหาที่ ๑ จะเกิดสิทธิ์ในการป้องกันได้ แต่เนื่องจากมีการทะเลาะมีปากเสียงกัน การใช้มือจับอาวุธปืนในเวลากลางคืน ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่า ตนกำลังจะถูกยิง หากข้อเท็จจริงมีอยู่จริงว่า ผู้ต้องหาที่ ๒ ใช้มือจับปืนเพื่อจะยิงผู้ต้องหาที่ ๑ ย่อมเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เป็นภยันตรายใกล้จะถึง ผู้ต้องหาที่ ๑ ย่อมมีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติการเพื่อป้องกันสิทธิ์ของตนให้พ้นจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ เมื่อใช้อาวุธปืนต่ออาวุธปืนเพื่อป้องกันชีวิตต่อชีวิต และเป็นวิถีทางน้อยที่สุดที่จะกระทำเพื่อป้องกันตัวเองแล้ว การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฏหมายเพราะเป็นการแลกกันระหว่างชีวิตกับชีวิต ปืนกับปืน แม้ข้อเท็จจริงไม่มีอยู่จริงว่าผู้ต้องหาที่ ๒ ใช้มือจับปืนโดยมีเจตนายิงผู้ต้องหาที่ ๑ ก็ตาม แต่ผู้ต้องหาที่ ๑ สำคัญผิดว่ามีอยู่จริง คือสำคัญผิดว่าผู้ต้องหาที่ ๒ เจตนาจะใช้ปืนยิงตน ผู้ต้องหาที่ ๑ย่อมได้รับผลแห่งการสำคัญผิดนั้น หากข้อเท็จจริงมีอยู่จริงว่าผู้ต้องหาที่ ๒ มีเจตนาจะยิงผู้ต้องหาที่ ๑ ซึ่งผู้ต้องหาที่ ๑ มีสิทธิ์ที่จะป้องกันตัวเองได้ แม้ข้อเท็จจริงไม่มีอยู่จริงแต่ผู้ต้องหาที่ ๑ สำคัญผิดว่ามีอยู่จริง และการสำคัญผิดดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความประมาทของผู้ต้องหาที่ ๑ แล้ว ผู้ต้องหาที่ ๑ ย่อมได้รับผลแห่งการสำคัญผิดนั้นด้วยโดยถือว่า เป็นเจตนาป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายพอสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด การกระทำของผู้ต้องหาที่ ๑ ไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้ต้องหาที่ ๒
๓.๓ทั้งยังได้ความว่าเมื่อผู้ต้องหาที่ ๑ ยิงผู้ต้องหาที่ ๒ แล้ว ผู้ต้องหาที่ ๒ ได้ยิงโต้ตอบอีก ๕ นัด จึงน่าเชื่อว่าการที่ผู้ต้องหาที่ ๒ ถืออาวุธปืนน่าถือในลักษณะพร้อมยิงผู้ต้องหาที่ ๑ มากกว่าที่จะจับอาวุธปืนเพราะอาวุธปืนจะตกจากเอวตามที่ผู้ต้องหาที่ ๒ ให้การแต่อย่างใดไม่
๔.เมื่อการกระทำของผู้ต้องหาที่ ๑ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฏหมายโดยสำคัญผิด แม้กระทำต่อผู้ต้องหาที่ ๒ แล้วผลยังไปเกิดแก่ นาย ส.ด้วย ก็ต้องถือเป็นกรณีป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงโดยพลาด จึงจะถือว่าผู้ต้องหาที่ ๑ มีเจตนาพยายามฆ่าหรือฆ่านาย ส. หาได้ไม่
๕. เมื่อการกระทำของผู้ต้องหาที่ ๑ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิด แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายทำให้ผู้ต้องหาที่ ๒ ได้รับบาดเจ็บก็ตาม ผู้ต้องหาที่ ๑ ก็หาจำต้องชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแก่ผู้ต้องหาที่ ๒ แต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้ตามผลของ ป.อ. มาตรา ๖๒,๖๘ ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๙ เพราะผู้ต้องหาที่ ๒ เป็นผู้ก่อให้เกิดเหตุในการสำคัญผิดในการป้องกัน
๖.เมื่อการกระทำของผู้ต้องหาที่ ๑ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฏหมายโดยสำคัญผิดโดยพลาดตาม ป.อ. มาตรา ๖๐,๖๒,๖๘ ผู้ต้องหาที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่นาย ส.หรือทายาทของนาย ส.(ในกรณีที่นาย ส.ถึงแก่ความตาย) ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๙ แต่อย่างใดไม่ แต่ทายาทนาย ส.สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ต้องหาที่ ๒ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ผู้ต้องหาที่ ๑ ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๙วรรคท้าย และตามทฤษฏีผลโดยตรง หากผู้ต้องหาที่ ๒ ไม่จับอาวุธปืน ผู้ต้องหาที่ ๑ คงไม่สำคัญผิดว่าตนจะถูกผู้ต้องหาที่ ๑ ยิงอันก่อให้เกิดเหตุในการป้องกัน หากผู้ต้องหาที่ ๒ ไม่กระทำการดังกล่าว ผลในการป้องกันโดยชอบด้วยกฏหมายโดยสำคัญผิดคงไม่เกิด เมื่อผลเกิดถือเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของผู้ต้องหาที่ ๒ ผู้ต้องหาที่ ๒ จึงต้องรับผิด

“กองทุนหมู่บ้าน”

กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ มีนาย บ. และพวกรวม ๔๔ คน ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านห้วยกรวด ยืนยันว่าส่งเงินกู้ให้ผู้ต้องหา สอดคล้องกับนาง น. เลขานุการกองทุน เป็นผู้ออกใบเสร็จให้กับสมาชิกที่นำเงินกู้มาคืนผู้ต้องหา โดยผู้ต้องหาจะนำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีกองทุนหมู่บ้านห้วยกรวดที่ธนาคารออมสิน สาขาสวี พยานหลักฐานจึงรับฟังว่า ผู้ต้องหาได้รับเงินจากสมาชิกกองทุนหมู่บ้านห้วยกรวดไว้แทนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เมื่อผู้ต้องหาได้เบียดบังเอาเงินที่สมาชิกกองทุนหมู่บ้านห้วยกรวดส่งคืนเงินกู้ไปเป็นของตนโดยทุจริต ทั้งผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติเกี่ยวกับการชำระคืนเงินกู้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกำหนดไว้ การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานยักยอก โดยกระทำต่างกรรมต่างวาระรวมกัน ๓ๆ กรรม กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นเจ้าของเงินกองทุนหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จึงเป็นผู้เสียบหายมีอำนาจร้องทุกข์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดเมื่อวันที่ ๑๘ ก.ย.๒๕๔๙ ร้องทุกข์วันที่ ๖ ธ.ค.๒๕๔๙ภายในอายุความ คดีมีหลักฐานพอฟ้องสั่งฟ้องผู้ต้องหาฐานยักยอกทรัพย์ ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๑๓๓/๒๕๕๑
ข้อสังเกต ๑.กองทุนหมู่บ้านหากมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๕ แห่งพรบ. กองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติฯโดย เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อ
๑.๑เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย
๑.๒หรือสำหรับการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพ สวัสดิการหรือประโยชน์ส่วนรวมอื่นใดให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน
๑.๓เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วนสำหรับประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
๑.๔ รับฝากเงินจากสมาชิกและจัดหาทุนจากแหล่งเงินทุนอื่น เพื่อดำเนินการ ตามวัตถุประสงค์
๑.๕ให้กู้ยืมเงินแก่กองทุนหมู่บ้านอื่นเพื่อประโยชน์ในความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจของหมู่บ้านหรือชุมชน
๒.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๑๑ แห่งพรบ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติฯและมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
๒.๑ เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อจัดสรรให้กองทุนหมู่บ้านสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย หรือสำหรับการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่จัดระบบและบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านของตนการสร้างสวัสดิภาพ สวัสดิการ หรือประโยชน์ส่วนรวมอื่นใดให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนหมู่บ้าน
๒.๒ เป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุนและประสานงานในการกู้ยืมเงินระหว่างกองทุนหมู่บ้าน
๒.๓ ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถในการจัดระบบและบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านของตนเอง
๒.๔ สนับสนุนการเสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองทั้งในด้านการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่มเพื่อการแก้ไขปัญหา และเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
๒.๕ สนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง
๓. กองทุนหมู่บ้านห้วยกรวดเมื่อยังไม่จดทะเบียนจึงไม่ใช่นิติบุคคลที่จะสามารถทำการร้องทุกข์ได้ แต่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นนิติบุคคลที่สามารถทำการร้องทุกข์หรือฟ้องคดีได้ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติเป็นเจ้าของเงินกองทุนหมู่บ้านห้วยกรวด จึงเป็นผู้เสียหายในกรณีที่เงินที่มอบให้กองทุนหมู่บ้านห้วยกรวดนำไปให้สมาชิกกู้แล้วเมื่อสมาชิกนำเงินกู้มาชำระแล้วถูกยักยอกเงินนั้นไปโดยไม่นำส่งมอบให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติ และสมาชิกกองทุนหมู่บ้านแต่ละคนที่นำเงินกู้มาชำระแล้วผู้ต้องหาไม่นำเข้าบัญชีกองทุนหมู่บ้านห้วยกรวด ย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ด้วย
๔.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติรู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ ๑๘ ก.ย.๒๕๔๙ จึงต้องร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่รู้ถึงการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คือต้องร้องทุกข์นับแต่ในวันที่ ๑๘ ก.ย.๒๕๔๙เป็นต้นไป เมื่อมาร้องทุกข์ในวันที่ ๖ ธ.ค.๒๕๔๙ ภายในกำหนดอายุความ ๓ เดือนนับแต่รู้ถึงการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด การร้องทุกข์จึงชอบด้วยกฎหมาย
๕.ผู้ต้องหาเมื่อได้รับเงินจากสมาชิกกองทุนบ้านห้วยกรวดซึ่งถือว่ารับชำระหนี้เงินกู้ไว้แทนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ซึ่งตามระเบียบกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ผู้ต้องหามีหน้าที่ต้องนำเข้าบัญชีกองทุนหมู่บ้านห้วยกรวดที่ธนาคารออมสิน สาขาสวี การที่ผู้ต้องหาไม่ได้นำเงินเข้าที่บัญชีดังกล่าวแต่กลับเบียดบังเอาเงินดังกล่าวเป็นประโยชน์ของตนโดยทุจริตด้วยการแสวงหาประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตัวเอง การกระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒ หาใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ เพราะผู้ต้องหามีหน้าที่รับเงินไว้แทนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ แล้วต้องนำเงินฝากเข้าบัญชีของกองทุนหมู่บ้านกรวด เงินที่สมาชิกนำมาชำระหนี้ค่ากู้ยืมเงินไปจากกองทุนฯนั้น ถือว่าผู้ต้องหารับมอบการครอบครองเงินนั้นแทนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติ หาใช่ให้เพียงมีอำนาจในการยึดถือเงินเท่านั้น แต่ต้องถือว่ากองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติได้มอบการครอบครองเงินที่สมาชิกนำมาชำระหนี้เงินกู้ไว้กับผู้ต้องหา เพียงแต่ผู้ต้องหามีหน้าที่ต้องนำเงินดังกล่าวฝากเข้าบัญชีของกองทุนหมู่บ้านห้วยกรวดที่ธนาคารออมสิน สาขาสวี เมื่อผู้ต้องหาเบียดบังเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยแย่งการยึดทรัพย์เงินจากกองทุนฯผู้เสียหายแต่อย่างใดไม่
๖..ผู้ต้องหาไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน ดังนั้น การเบียดบังยักยอกเงินดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต ตาม ป.อ. มาตรา ๑๔๗ได้
๗..การยักยอกเงินของผู้ต้องหากระทำต่อสมาชิกรวม ๔๔ คน แต่ละวันแตกต่างกันไป เมื่อผู้เสียหายเป็นคนละคนกัน การรับเงินชำระหนี้เงินกู้ก็เป็นคนละวัน การเบียดบังยักยอกทรัพย์ก็เป็นคนละวันกัน การกระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นความผิดหลายหรรมต่างกัน หาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวไม่

“เปลือยกายยืนกลางถนน"

ผู้ต้องหาขับรถโดยสารประจำทางเพื่อไปส่งผู้โดยสารที่จังหวัดอุบล เห็นผู้ตายยืนเปลือยกายกลางถนนในช่องทางเดินรถของผู้ต้องหา โดยผู้ต้องหาและนาย อ. พนักงานบริการประจำรถอ้างว่า ที่เกิดเหตุไม่มีไฟฟ้าสาธารณะ และผู้ต้องหาพบผู้ตายเมื่อรถยนต์ผู้ต้องหาขับห่างผู้ตาย ๕ ถึง ๑๐ เมตร จึงได้หักรถไปทางซ้ายเล็กน้อยแต่ไม่พ้น เนื่องจากผู้ตายอยู่ระยะกระชั้นชิดและหากหักรถมากไปกว่านี้หรือเบรครถกระทันหันรถอาจเสียหลักตกไหล่ทางและพลิกคว่ำได้ จึงเป็นเหตุให้รถที่ผู้ต้องหาขับชนผู้ตายถึงแก่ความตาย พิจารณาสภาพรถคันเกิดเหตุ เห็นว่าเป็นรถยนต์ขนาดใหญ่สำหรับใช้รับส่งคนโดยสารในช่วงเวลากลางคืนและเป็นระยะทางไกล ฉะนั้นระบบไฟส่องสว่างของรถยนต์ย่อมมีประสิทธิภาพในการส่องสว่างได้ดีในระยะไกลไม่น่าจะต่ำกว่า ๕๐ เมตร ทั้งสภาพทั่วไปของถนนที่เกิดเหตุเป็นทางโล่งแจ้งไม่มีสิ่งบดบังสายตา ผู้ต้องหาย่อมมองเห็นผู้ตายยืนอยู่บนถนนกีดขวางทางเดินรถ ผู้ตายอยู่ในสภาพที่เปลือยกาย ผู้ต้องหาย่อมรู้ได้ว่า ผู้ตายไม่สมประกอบ ผู้ต้องหายิ่งต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น หากผู้ต้องหาขับรถด้วยความระมัดระวังและด้วยความเร็วสูงพอสมควร ผู้ต้องหาย่อมต้องลดความเร็วโดยห้ามล้อรถและหยุดรถได้ทัน แต่ปรากฏว่าผู้ต้องหาไม่ได้ลดความเร็วและห้ามล้อรถยนต์ในขณะเกิดเหตุแต่อย่างใด เพียงแต่หลบไปทางซ้ายเล็กน้อย พิจารณาจากสภาพศพประกอบความเสียหายของรถยนต์ แสดงว่าผู้ตายถูกชนโดยแรง รับฟังได้ว่าผู้ต้องหาขับรถในขณะเกิดเหตุด้วยความเร็วสูงปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้ตายถึงแก่ความตาย ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๑๙๒/๒๕๕๑
ข้อสังเกต ๑. ข้ออ้างผู้ต้องหาอ้างว่าที่เกิดเหตุไม่มีแสงไฟและเห็นผู้ตายในระยะกระชั้นชิดได้หักหลบแล้วแต่ไม่พ้นจึงได้ชนผู้ตายโดยไม่สามารถเบรคหรือหักหลบได้เพราะรถอาจพลิกคว่ำตกถนนนั้นรับฟังได้หรือไม่อย่างไรนั้น เห็นว่า ข้ออ้างที่ว่าที่เกิดเหตุไม่มีแสงไฟที่เกิดเหตุมืดนั้น เห็นว่า รถโดยสารที่ผู้ต้องหาขับเป็นรถขนาดใหญ่ใช้เดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปส่งผู้โดยสารที่จังหวัดอุบลราชธานีย่อมต้องมีระบบไฟที่มีความส่องสว่างและสามารถมองเห็นทางข้างหน้าไม่น่าจะน้อยกว่า ๕๐ เมตร เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่และความปลอดภัยของผู้โดยสารที่โดยสารมาในรถคันดังกล่าว ทั้งที่เกิดเหตุเป็นที่โล้งแจ้งไม่มีสิ่งบดบังสายตา เป็นทางตรงไม่ใช่ทางโค้ง ผู้ต้องหาย่อมเห็นผู้ตายยืนอยู่กลางถนนแล้ว และการที่ผู้ตายยืนเปลือยกายกลางถนนในเวลากลางคืนก็ถือเป็นสิ่งผิดปกติที่คนทั่วไปจะกระทำ ผู้ต้องหาย่อมทราบได้ว่า ผู้ตายน่าจะมีสภาพจิตผิดปกติกว่าคนทั่วไปจึงยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ การที่สภาพศพผู้ตายและความเสียหายที่เกิดกับตัวรถโดยสารที่เป็นรถขนาดใหญ่มีสภาพความเสียหายมากแสดงให้เห็นว่า เป็นการชนโดยแรงทั้งผู้ต้องหาก็อ้างว่าไม่สามารถหักหลบมากหรือเบรครถเพราะจะทำให้รถตกถนน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ต้องหาน่าที่จะขับรถด้วยอัตราความเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วเฉียวชนผู้ตาย
๒.การที่หักรถไปทางซ้ายแล้วไม่พ้นก็น่าเชื่อว่าเพราะขับรถมาด้วยความเร็วสูงจึงไม่อาจเบรคหรือหักพวงมาลัยรถให้มากไปกว่านี้ได้เพราะจะทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำหรือตกถนนได้ ผู้ต้องหาซึ่งขับรถโดยสารประจำทางซึ่งเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่มีผู้โดยสารหลายคนโดยสารมาในรถและวิ่งทางไกลออกต่างจังหวัด จึงย่อมต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้โดยสารและบุคคลอื่น การที่ผู้ต้องหาขับรถในเวลากลางคืนด้วยความเร็วสูง ในเวลากลางคืนสองข้างทางไม่มีไฟทาง สภาพการมองเห็นย่อมต่ำกว่าการขับรถในเวลากลางวัน ทัศนะวิสัยต่ำกว่าในเวลากลางวัน จึงจำต้องใช้ความระมัดระวังสูงด้วยการขับรถด้วยความเร็วในอัตราที่กฎหมายกำหนด การที่ผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วสูงเห็นผู้ตายยืนเปลือยกายกลางถนนซึ่งผิดปกติที่คนทั่วไปจะมายืนเปลือยกายยืนกลางถนนในเวลากลางคืน คนทั่วไปที่เห็นย่อมสันนิษฐานได้ว่าคนดังกล่าวน่าจะมีสภาพจิตที่ผิดปกติ จึงยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษด้วยการลดความเร็วของรถลงเพื่อป้องกันการเฉี่ยวชน ลำพังเพียงแค่การหักหลบไปทางซ้ายเพียงเล็กน้อยในขณะที่ขับรถด้วยความเร็วสูงย่อมไม่เพียงพอแก่การป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ หากผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็วต่ำก็น่าที่จะห้ามล้อรถได้ทัน แต่การที่ผู้ต้องหาไม่ได้ห้ามล้อรถเพียงหักเลี้ยวไปเล็กน้อยย่อมไม่เพียงพอแก่การกระทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเฉี่ยวชนผู้ตาย ดังนั้นการที่รถเฉี่ยวชนผู้ตายถือว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในสภาวะผู้ขับขี่รถสาธารณะเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ด้วยการขับรถโดยสารขนาดใหญ่ด้วยความเร็วต่ำในเวลากลางคืนซึ่งมีทัศนะวิสัยต่ำในการมอง เพื่อป้องกันการเฉี่ยวชน และผู้ต้องหาอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การกระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นการขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฏหมายกำหนด และเป็นการขับรถโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นและประชาชน และเป็นการขับรถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายข้ออ้างของผู้ต้องหาไม่สามารถรับฟังได้จะนำมารับฟังว่าเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่ผลเกิดจากการกระทำโดยประมาทของผู้ต้องหาหาได้ไม่ ตามพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๔๓(๔)(๘),๖๗,๑๕๒,๑๕๗ ,๑๖๐ ป.อ. มาตรา ๒๙๑
๓.เมื่อข้อต่อสู้ของผู้ต้องหาไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำโดยเหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของผู้ตายเอง ผู้ต้องหาซึ่งขับรถโดยสารขนาดใหญ่ย่อมเป็นผู้ครอบครองควบคุมยานพาหนะซึ่งเดินด้วยเครื่องจักรกลจึงต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันเกิดจากยานพาหนะนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๗ โดยต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนอันได้แก่ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่นๆด้วย และอาจต้องรับผิดชอบต่อค่าขาดไร้อุปการะ หากการตายของผู้ตายทำให้บุคคลใดขาดไร้อุปการะ และอาจต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกในกรณีที่เขาต้องขาดแรงงานในกรณีที่ผู้ตายมีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรือในอุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๓, ๔๔๕

“รับเงินไม่ตรงตามสัญญากู้”

ผู้ต้องหาที่ ๑ เบิกความต่อศาลว่า ผู้เสียหายทำสัญญากู้ยืมเงิน ๑๖๐,๐๐๐บาท รับเงินดังกล่าวไปครบถ้วนแล้ว ผู้เสียหายเบิกความว่าเป็นความเท็จเพราะผู้เสียหายกู้เงินเพียง ๒๐,๐๐๐ บาท เหตุที่ยอมทำสัญญาระบุเป็นเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท เพราะต้องจำยอมต่อเงื่อนไขที่ผู้ต้องหาที่ ๒ซึ่งเป็นบุตรชายผู้ต้องหาที่ ๑ กำหนด และในวันที่ไปกู้เงินได้ไปกับนาง น. ที่ได้ไปกู้เงินผู้ต้องหาที่ ๒ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท แต่ต้องทำสัญญากู้ไว้ ๑๖๐,๐๐๐ บาท โดยเงื่อนไขเดียวกัน ทั้งผู้เสียหายและ น. ก็ได้ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันให้กันและกัน โดยในคดีที่ผู้ต้องหาที่ ๑ ฟ้องเรียกเงินกู้ตามสัญญากู้กับ นาง น. ศาลไม่เชื่อพยานของผู้ต้องหาที่ ๑ ว่ามีการส่งมอบเงินกู้ ๑๖๐,๐๐๐ บาท ให้แก่นาง น. จึงน่าเชื่อว่าข้อความที่ผู้ต้องหาที่ ๑ เบิกความเป็นความเท็จ ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๘๐/๒๕๕๐
ข้อสังเกต ๑.กู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมชนิดหนึ่งคือเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง จึงสมบรูณ์เมื่อมีการส่งมอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๐ วรรค สอง
๒.กู้ยืมเงินเกิน ๒,๐๐๐บาท ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ ดังนั้นการกู้ยืมจึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดงตาม ป.ว.พ. มาตรา ๙๔ จึงต้องห้ามที่จะนำพยานบุคคลมานำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้ เว้นแต่จะนำสืบว่าสัญญากู้นั้นปลอม ไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วนหรือหนี้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาไม่สมบรูณ์
๓.ดังนั้นการนำสืบว่าความจริงแล้วกู้ยืมกันเพียง ๒๐,๐๐๐บาทและได้รับเงินกู้ไปเพียง ๒๐,๐๐๐ บาท หาได้กู้ยืมเงิน ๑๖๐,๐๐๐บาท จึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้ เนื่องจากอ้างว่าหนี้ตามสัญญากู้ยืมไม่สมบรูณ์ เพราะการกู้ยืมเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองอย่างหนึ่งย่อมสมบรูณ์ เมื่อมีการส่งมอบ เมื่อได้รับมอบเงินกู้ยืมเพียง ๒๐,๐๐๐บาท สัญญากู้ยืมที่ระบุว่ากู้ยืมเงินและรับมอบเงินกู้ไป ๑๖๐,๐๐๐ บาท จึงไม่ถูกต้อง เป็นหนี้ที่ไม่สมบรูณ์ ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ทั้งการที่จำยอมต้องระบุเงินในสัญญากู้เป็น ๑๖๐,๐๐๐บาททั้งที่มีการกู้ยืมเงินกันเพียง ๒๐,๐๐๐บาท เพราะจำยอมต้องทำตามเงื่อนไขที่ผู้ต้องหาที่ ๒ ซึ่งเป็นบุตรชายของผู้ต้องหาที่ ๑ กำหนด จึงเป็นกรณีที่ผู้กู้แสดงเจตนาโดยในใจจริงไม่ได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงเจตนาออกมา โดยผู้ให้กู้ซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนเร็นอยู่ภายในใจของผู้กู้ การแสดงเจตนากู้ยืมเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาทย่อมทตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๔ เมื่อส่วนนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมตกเป็นโมฆะ นิติกรรมย่อมตกเป็นโมฆะเสียทั้งสิ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๓ จะถือว่าคู่กรณีเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะหาได้ไม่ เพราะกู้ยืมเงินกันเพียง ๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่ทำสัญญากู้ไว้ ๑๖๐,๐๐๐ บาทก็รวมประโยชน์ตอบแทนการกู้ยืมเงินหรือดอกเบี้ยกันไว้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวย่อมสูงเกินกว่าร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าน่าที่จะตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมดเพื่อเป็นบทลงโทษผู้ต้องหาที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ ไม่น่าจะถือว่าหนี้เงินกู้ ๒๐,๐๐๐ บาทสามารถแยกส่วนออกจากหนี้ ๑๖๐,๐๐๐บาทได้
๔.การนำสัญญากู้ดังกล่าวมาฟ้องเรียกเงินในทางแพ่ง ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการฟ้องคดีแพ่งอันเป็นเท็จมีความผิดทางอาญา มีแต่กฎหมายบัญญัติว่าการนำความทางอาญาที่เป็นเท็จมาฟ้องว่าผู้อื่นกระทำผิดทางอาญาหรือกระทำผิดทางอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง เป็นความผิดทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๕ แม้การฟ้องแพ่งเป็นเท็จจะไม่มีบทลงโทษทางอาญาก็ตาม แต่ก็โดนบทลงโทษทางแพ่งที่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในทางแพ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และเมื่อมาเบิกความย่อมเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จและนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จได้ตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๗,๑๘๐ได้ เพราะต้องนำสืบหรือเบิกความในข้อสาระสำคัญอันเป็นความเท็จ
๕.กรณีที่มีการค้ำประกันในหนี้ดังกล่าวนั้นเห็นได้ว่า ค้ำประกันจะมีได้เฉพาะหนี้อันสมบรูณร์เท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๘๑ เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ไม่ได้มีการส่งมอบเงินจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นหนี้ที่ไม่สมบรูณ์ การค้ำประกันในหนี้ดังกล่าวจึงไม่อาจทำได้ เพราะไม่สามารถค้ำประกันในหนี้ที่ไม่สมบรูณ์ได้
๖.การค้ำประกันต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานหลักฐานมาแสดง จึงไม่อาจนำพยานบุคคลมานำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารได้ตาม ป.ว.พ. มาตรา ๙๔ เว้นแต่เป็นกรณีที่นำสืบว่าหนี้ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้หรือสัญญาค้ำประกันไม่สมบรูณ์ แต่ในคดีนี้การกู้ยืมเงินมีการส่งมอบเงินเพียง ๒๐,๐๐๐ บาท ไม่ได้ส่งมอบเงินทั้ง๑๖๐,๐๐๐ บาทจึงเป็นหนี้ที่ไม่สมบรูณ์ตามที่ระบุและอธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น หนี้ตามสัญญากู้จึงไม่สมบรณ์ การค้ำประกันเงินกู้ในจำนวนดังกล่าวจึงไม่สามารถกระทำการได้เพราะเป็นหนี้ที่ไม่สมบรูณ์จึงไม่สามารถค้ำประกันได้ เมื่อเป็นหนี้ที่ไม่สมบรูณ์ จึงสามารถนำพยานบุคคลมานำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขและนำสืบความเป็นมาที่ถูกต้องแท้จริงของการกู้ยืมและการค้ำประกันได้
๗. เมื่อในคดีแพ่งศาลไม่เชื่อตามที่ผู้ต้องหาที่ ๑ นำสืบว่ามีการกู้เงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท ซึ่งประเด็นว่า มีการกู้ยืมเงินเท่าใดถือเป็นสาระสำคัญในการฟ้องเรียกร้องในสัญญากู้ ข้อความที่นำสืบและคำเบิกความที่เบิกความมา จึงเป็นการนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ และเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

“ต่างคนต่างด่า”

ผู้เสียหายและผู้ต้องหาทะเลาะวิวาทกันต่างคนต่างด่ากันด้วยถ้อยคำดูหมิ่นซึ่งหน้ากันและกัน ผู้เสียหายและผู้ต้องหาจึงไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ความผิดฐานนี้มุ่งคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายเป็นการเฉพาะตัวเมื่อถูกผู้อื่นดูหมิ่นฝ่ายเดียว ผู้ถูกดูหมิ่นจึงจะเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ กรณีที่ต่างฝ่ายสมัครใจทะเลาะวิวาท ใช้ถ้อยคำดูหมิ่นซึ่งกันและกันจึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๗๖/๒๕๕๐
ข้อสังเกต ๑.ผู้เสียหายที่จะสามารถแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้นั้นต้องมิได้มีส่วนร่วมหรือลงมือกระทำความผิดด้วย มิเช่นนั้นแล้วจะเป็นเพียงผู้เสียหายโดยพฤตินัย(ผู้เสียหายตามความเป็นจริง)เท่านั้น แต่ไม่ใช่ผู้เสียหายตามนิตินัย(ผู้เสียหายตามกฎหมาย)
๒.การที่ผู้เสียหายและผู้ต้องหาสมัครใจวิวาทด่าท้อกันด้วยถ้อยคำดูหมิ่น ย่อมถือว่าทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดจึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ ตามนัยคำพิพากษาฏีกาที่ ๑๔๒๐/๒๕๓๔
๓.ทางปฏิบัติหากผู้เสียหายและผู้ต้องหาต่างแจ้งความดำเนินคดีซึ่งกันและกัน เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนจะสั่งให้พนักงานสอบสวนพยายามเปรียบเทียบปรับคดีนั้นแทนการที่จะส่งสำนวนมาเพื่อให้พนักงานอัยการตาม ป.ว.อ. มาตรา ๑๔๔(๑) โดยจะส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนกลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อทำการเปรียบเทียบปรับ หรืออาจให้พนักงานสอบสวนคนอื่นทำการเปรียบเทียบปรับแทนก็ได้ตาม ป.วงอ. มาตรา ๑๔๔(๒) ซึ่งการที่จะเปรียบเทียบปรับได้นั้นคู่กรณีต้องยินยอมให้ทำการเปรียบเทียบปรับได้ ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๓๘(๑) หากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่ยอมให้เปรียบเทียบปรับ หรือยอมให้เปรียบเทียบปรับแต่ไม่ยอมชำระค่าปรับ จึงให้ดำเนินคดีต่อไปตาม ป.ว.อ. มาตรา ๓๘(๑)วรรคสอง
๔. เมื่อส่งสำนวนมาให้พนักงานอัยการ พนักงานอัยการจะสั่งให้รวมสำนวนทั้งสองคดีที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวหาว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ต้องหาเข้าด้วยกันแล้วเรียกผู้ต้องหาและผู้เสียหาย(ตามพฤตินัย)ทั้งสองคดีว่าผู้ต้องหาที่ ๑ ผู้ต้องหาที่ ๒ แล้วสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองโดยพนักงานอัยการจะเป็นโจทก์ ส่วนคู่กรณีที่ทะเลาะด่ากันไปมาก็จะถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ต่อไป
๕.กรณีต่างฝ่ายต่างทะเลาะวิวาทและชกต่อยทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันไม่ว่าฝ่ายใดได้รับบาดเจ็บมากกว่ากัน ฝ่ายใดบาดเจ็บเล็กน้อย ฝ่ายใดได้รับบาดเจ็บไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กาย หรือได้รับอันตรายแก่กาย หรือได้รับอันตรายสาหัส ก็จะรวมสำนวนทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันและฟ้องทั้งคู่รวมกันไปเป็นจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เมื่อผู้เสียหาย(โดยพฤตินัย)ในคดีที่ ๑ กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีที่ ๒ ผู้เสียหาย(โดยพฤตินัย)ในคดีที่ ๒ กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีที่ ๑ ดังนั้นผู้เสียหาย(โดยพฤตินัย)และผู้ต้องหาต่างอยู่ในฐานะผู้เสียหาย(โดยพฤตินัย)และผู้ต้องหาด้วยกันในขณะเดียวกัน ทางปฏิบัติอัยการจึงจะไม่สืบบุคคลดังกล่าวเพราะนอกจากมีฐานะเป็นผู้เสียหายโดยพฤตินัยแล้วยังเป็นผู้ต้องหาในอีกคดีด้วย ทั้งกฎหมายห้ามโจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานตาม ป.ว.อ. มาตรา ๒๓๒ ทางปฏิบัติจึงนำเพียงผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนเข้าเบิกความเท่านั้นพร้อมส่งเอกสารต่างๆรวมทั้งคำให้การในฐานะผู้เสียหาย(โดยพฤตินัย)และคำให้การในฐานะผู้ต้องหาในอีกคดีของทั้งสองฝ่ายเพื่อให้พนักงานสอบสวนรับรองว่าได้ทำการสอบปากคำเอาไว้ เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะนำสืบเพื่อแก้ข้อกล่าวหาของตนต่อไป
๖.ทางปฏิบัติเมื่อมีการยื่นฟ้องในคดีที่ต่างทะเลาะด่ากันศาลมักไกล่เกลี่ยแทนการสืบพยานเพราะเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นโทษคดีเล็กน้อย รับสารภาพศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่งเสียค่าปรับแล้วกลับบ้านไปไม่ต้องเสียเวลามาศาลหลายนัด ไม่ต้องเสียเงินไปจ้างทนายความ และคดีจบลงด้วยดีแทนการสืบพยาน

“คำพิพากษาและการลงโทษทางวินัย”

การที่ จ.ส.ต. น ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ฝ่ายปฏิบัติการส่วนที่ ๒ ส่วนปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ถูกจับกุมในข้อหากรรโชกทรัพย์ หน่วงเหนียวกักขัง ทำให้เสื่อมเสียหรือปราศจากเสรีภาพ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก ๙ ปี ศาลฏีกายกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ยกฟ้อง คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงเห็นว่า เมื่อศาลฏีกายกฟ้อง คดีไม่มีน้ำหนักพอจะรับฟังว่าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา เห็นควรยุติเรื่องแต่ผู้บัญชาการ กองบังคับการตำรวจสอบสวนกลางเห็นว่า แม้ศาลฏีกายกฟ้อง แต่ยกฟ้องเพราะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย จึงมีคำสั่งให้ไล่ จ.ส.ต. น ออกจากราชการ จ.ส.ต. น อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเห็นว่าอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงรายงานไปยังนายกรัฐมนตรีโดยรองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนพิจารณาแล้วให้ยกอุทธรณ์ ซึ่ง จ.ส.ต. น ได้ทราบคำสั่งแล้วไม่เห็นด้วยได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ออกจากราชการ ศาลปกครองชั้นต้นยกฟ้อง ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าการที่ศาลฏีกา(ในคดีอาญา)ยกฟ้องเพราะมีผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่ยืนยันการกระทำความผิด โดยไม่มีหลักฐานอื่นที่จะพิสูจน์ว่าได้กระทำความผิด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แม้จะไม่มีผลการลงโทษทางอาญา แต่ผลการลงโทษทางวินัยก็หาจำต้องมีผลไปทางเดียวกันไม่ เพราะกระบวนการพิจารณาทางวินัยและทางอาญามีความแตกต่างกัน ทั้งการมีอยู่ของพยานหลักฐานและการให้ถ้อยคำ หรือการเบิกความอาจแตกต่างกันได้ โดยในคดีอาญาศาลลงโทษจำเลยได้เมื่อมีพยานหลักฐานปรากฏแจ้งชัดปราศจากข้อสงสัย ส่วนการลงโทษทางวินัย ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลพินิจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาโดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ปรากฏในสำนวนของคณะกรรมการสอบสวนเป็นสำคัญ โดยไม่จำต้องปรากฏพยานหลักฐานชัดแจ้ง ปราศจากข้อสงสัยอย่างในคดีอาญาและไม่ต้องรอฟังผลคดีอาญาให้ถึงที่สุดแต่อย่างใดด้วย เมื่อพฤติการณ์และการกระทำที่ศาลจังหวัดนครปฐม ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก ทำให้มีพยานหลักฐานชี้ชัดและเชื่อได้ว่าได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง อันเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น
การที่มีคำสั่งไล่ออกจากราชการฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฏหมายเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ (นายกรัฐมนตรี) วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย การลงโทษไล่ออกจากราชการเป็นโทษที่เหมาะสมกับความผิดที่ได้กระทำแล้ว พิพากษายืน คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.๓๕๐/๒๕๕๔
ข้อสังเกต ๑. ด้วยความเครารพในคำพิพากษาในคดีอาญา การที่ศาลฏีกาพิพากษายกฟ้องเนื่องจากมีพยานปากเดียวโดยไม่มีพยานอื่นที่จะพิสูจน์การกระทำผิดของจำเลยแล้วยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยนั้น เห็นว่า ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานปากเดียวที่จะลงโทษจำเลยได้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการลงโทษทางอาญาต้องเป็นพยานคู่เท่านั้นจึงจะรับฟังลงโทษจำเลย ทั้งการพิจารณาก็ผ่านการสั่งฟ้องของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาลจังหวัดนครปฐมและศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาลงโทษผ่านการกลั่นกรองมาจากหลายหน่วยงาน คำเบิกความของพยานที่ให้การ พร้อมชี้ภาพถ่าย และชี้ตัวจ.ส.ต. น ว่าเป็นผู้เข้าทำการตรวจค้นก็น่าที่จะเพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยได้ ทั้งพยานก็ไม่เคยรู้จักไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังลงโทษได้ แต่เมื่อศาลฏีกาวินิจฉัยมาแบบนี้ก็เคารพในการตัดสินของศาลฏีกา
๒.แม้คดีอาญาศาลพิพากษายกฟ้อง แต่การสอบสวนทางวินัยหาจำต้องมีผลสอดคล้องไปทางเดียวกันไม่ คืออาจจะรับฟังผลทางอาญาหรือไม่รับฟังผลทางอาญามาประกอบก็ได้ ทั้งคดีนี้ศาลยกฟ้องเพราะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ไม่ได้ยกฟ้องเพราะจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย ดังนั้น การสอบสวนทางวินัยจึงไม่จำต้องถือตามและดำเนินการไปในทางเดียวกับคำพิพากษาศาลฏีกาแต่อย่างใด
๓.การลงโทษทางอาญาต้องปรากฏข้อเท็จจริงโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดจึงสามารถลงโทษได้แต่การสอบสวนทางวินัยหาจำต้องถึงขนาดนั้น โดยแม้จะไม่มีผลการลงโทษทางอาญา แต่ผลการลงโทษทางวินัยก็หาจำต้องมีผลไปทางเดียวกันไม่ เพราะกระบวนการพิจารณาทางวินัยและทางอาญามีความแตกต่างกัน ทั้งการมีอยู่ของพยานหลักฐานและการให้ถ้อยคำ หรือการเบิกความอาจแตกต่างกันได้ โดยในคดีอาญาศาลลงโทษจำเลยได้เมื่อมีพยานหลักฐานปรากฏแจ้งชัดปราศจากข้อสงสัย ส่วนการลงโทษทางวินัย ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลพินิจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาโดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ปรากฏในสำนวนของคณะกรรมการสอบสวนเป็นสำคัญ โดยไม่จำต้องปรากฏพยานหลักฐานชัดแจ้ง ปราศจากข้อสงสัยอย่างในคดีอาญาและไม่ต้องรอฟังผลคดีอาญาให้ถึงที่สุดแต่อย่างใดด้วย
๔. คดีนี้ผ่านการมีความเห็นสั่งฟ้องของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ศาลจังหวัดนครปฐมและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกถือมีพยานแน่หนาพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดทางวินัยร้ายแรง แม้ศาลฏีกายกฟ้องก็ยกฟ้องโดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ไม่ได้ยกฟ้องเพราะการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายหรือจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามกฏหมายแต่อย่างใด เพียงแต่การยกประโยชน์แห่งความสงสัยเพราะศาลฏีกาอาจเห็นว่ายังไม่มีหลักฐานมั่นคงแน่หนาถึง๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่าจำเลยกระทำผิด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่ก็เป็นเรื่องทางคดีอาญา ซึ่งการสอบสวนทางวินัยหาจำต้องรับฟังพยานหลักฐานให้แน่นหนาถึงขนาดนั้นไม่ เมื่อมีมูลว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดทางวินัย คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยก็สามารถมีคำสั่งไปได้โดยไม่จำต้องถือตามคำพิพากษาคดีอาญาแต่อย่างใด
๕.ไม่มีบทบัญญัติในกฏหมายใดระบุให้การสอบสวนทางวินัยต้องถือตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอาจนำคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญามาประกอบการพิจารณาหรือไม่ก็ได้

“หลอกแล้วไม่จ่าย”

หลอกผู้เสียหายว่ามีรถขนส่งนักร้องนักดนตรีแต่รถเสียจึงมาว่าจ้างรถผู้เสียหายในราคา ๑,๐๐๐ บาท แล้วไม่ยอมชำระค่าจ้าง ตามที่ตกลงไว้ จำเลยได้รับประโยชน์จากการขนส่ง ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหาย ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ส่วนค่าขนส่งที่ค้างเป็นกรณีผิดสัญญาทางแพ่ง คำพิพากษาฏีกา ๑๗๓๓/๒๕๑๖
ข้อสังเกต ๑.แม้จำเลยจะหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าตนมีรถที่จะขนนักร้องนักดนตรีแต่รถเสียซึ่งเป็นความเท็จและเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงให้ทราบว่าความจริงแล้วตนไม่มีรถที่จะใช้ขนนักดนตรีและนักร้องก็ตาม แม้การหลอกลวงและปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวจะกระทำโดยมีเจตนาทุจริตด้วยการแสวงหาผลประโยชน์มันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฏหมายสำหรับตนเองก็ตาม แต่การหลอกลวงดังกล่าวก็ไม่ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย เป็นเพียงการได้รับประโยชน์จากการบริการขนส่งเท่านั้นการกระทำดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
๒.เมื่อไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง เงินค่าบริการขนส่งที่ผู้เสียหายควรได้รับ ก็เป็นเรื่องความรับผิดในทางแพ่งที่ต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกส่วนหนึ่ง
๓.หากเป็นกรณีขึ้นรถโดยสาร การที่ไม่ชำระค่าขนส่งหรือชำระไม่ครบถ้วนเป็นความผิดตามพรบ.ขนส่งฯ มาตรา ๑๑๒ ,๑๕๓ได้ หากเป็นกรณีขึ้นรถแท็กซี่แล้วไม่ชำระราคาตามอัตราที่ปรากฏจากมาตรแท็กซี่ เป็นความผิดตามพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๙๗,๑๔๘

“ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นเวลาที่กำหนด”

คำสั่งยึดทรัพย์ชั่วคราวตามความในมาตรา ๒๒ วรรคสอง ,๑๙ วรรค สอง พรบ.มาตราการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายเฉพาะที่มีผลกระทบต่อสถานภาพผู้ที่จะถูกยึดทรัพย์ อันเป็นคำสั่งทางปกครอง การที่จะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวต้องมีการอุทธรณ์ตามมาตรา ๔๐,๔๔วรรค ๑ พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เสียก่อน จึงจะมีสิทธิ์นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากพรบ. มาตรการในการปราบปรามยาเสพติดฯ ไม่ได้กำหนดขั้นตอนในการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้นเมื่อผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งยึดทรัพย์สินเมื่อพ้นระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ ตามมาตรา ๔๐ พรบ.วิธีปฏิบัติหน้าที่ราชการทางปกครอง จึงไม่มีสิทธิ์นำคดีมาฟ้องศาลปกครอง คำสั่งศาลปกครอง ๗๘๓/๒๕๔๗
ข้อสังเกต ๑. กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินของผู้ต้องหารายใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวเนื่องยาเสพติดให้โทษ ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้นั้นได้ ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษอาจสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหาไปพลางก่อนแล้วรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทราบ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทรัพย์สิน หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าทรัพย์สินรายใดอาจมีการ โอน ยักย้าย ซุกซ่อนหรือเป็นกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างอื่นให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีอำนาจสั่งยึดอายัดทรัพย์สินรายนั้นไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีการวินิจฉัย ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิ์ผู้ถูกตรวจสอบทรัพย์สินหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จะยื่นคำร้องขอผ่อนผันเพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์โดยไม่มีประกันหรือมีประกัน หรือมีประกันและมีหลักประกันก็ได้
๒.กรณีคำสั่งทางปกครองไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรีและไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้อุทธรณ์คำสั่งต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่ง โดยต้องทำเป็นหนังสือ ระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิง การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง เว้นแต่จะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับโดยเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งหรือผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์หรือผู้มีอำนาจวินิจฉัยความถูกต้องของคำสั่งทางปกครอง
๓.คำสั่งทางปกครองต้องระบุระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งไว้ คือต้องระบุในคำสั่งว่าให้อุทธรณ์ภายในกี่วัน หากไม่ได้ระบุเอาไว้ ให้นับระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งนั้นเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ได้แจ้งคำสั่งใหม่ ถ้าไม่ได้มีการแจ้งคำสั่งใหม่ และระยะเวลาดังกล่าวสั้นกว่า ๑ ปี ให้ขยายออกไปเป็น ๑ ปีนับแต่วันได้รับคำสั่งทางปกครอง คือเมื่อมีคำสั่งทางปกครองต้องระบุว่าให้อุทธรณ์ภายในกี่วัน หากไม่ได้กำหนดไว้ให้ระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งใหม่ว่าให้อุทธรณ์ภายในกี่วัน หากไม่มีการแจ้งคำสั่งใหม่และระยะเวลานั้นสั้นกว่า ๑ ปี ก็ให้ขยายเวลาอุทธรณ์ไป ๑ ปีนับแต่ได้รับคำสั่งทางปกครอง
๔.คำสั่งยึดทรัพย์สินชั่วคราว เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฏหมายกำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ ปกติต้องอุทธรณ์คำสั่งภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง หากไม่ได้ระบุระยะเวลาในการอุทธรณ์คำสั่งเอาไว้เอาไว้ ให้นับระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งนั้นเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ได้แจ้งคำสั่งใหม่ ถ้าไม่ได้มีการแจ้งคำสั่งใหม่ และระยะเวลาดังกล่าวสั้นกว่า ๑ ปี ให้ขยายออกไปเป็น ๑ ปีรับแต่วันได้รับคำสั่งทางปกครอง เมื่อไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ก็ไม่มีสิทธิ์นำคดีมาฟ้องที่ศาลปกครองได้ เพราะการฟ้องคดีในศาลปกครองได้นั้น ก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด หากไม่ได้ ดำเนินการตามที่กฎหมายนั้นกำหนด หรือมิได้ดำเนินการภายในเวลาอันควร หรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่น ต้องดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายก่อนฟ้อง โดยอาจต้องยื่นอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ก่อนเมื่อพ้นระยะเวลาแล้วจึงสามารถยื่นฟ้องได้ การยื่นฟ้องโดยไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายก่อนฟ้อง ย่อมทำให้ไม่มีสิทธิ์นำคดีมาสู่ศาลปกครองได้

“ซื้อในราคาถูก”

ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันผู้ต้องหาเป็นคนร้ายลักทรัพย์ทั้งลายนิ้วมือคนร้ายที่ติดที่บานเกร็ดในบ้านผู้เสียหายไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา พยานหลักฐานไม่พอฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาลักทรัพย์ แต่การที่ผู้ต้องหารับซื้อโทรศัพท์ของกลางซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายจากคนที่ผู้ต้องหาไม่รู้จักมาก่อนในราคา ๒๐๐ บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาตามสภาพของโทรศัพท์ในขณะนั้นมาก และรีบจำหน่ายในวันรุ่งขึ้นน่าเชื่อว่ารับซื้อของกลางโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้จากาการลักทรัพย์และขายไปเพื่อค้ากำไร หลักฐานพอฟ้องในข้อหารับของโจรเพื่อหากำไร ชี้ขาดความเห็นแย้ง ๓๓๓/๒๕๕๑
ข้อสังเกต ๑. เพียงแต่มีผู้พบเห็นผู้ต้องหาครอบครองโทรศัพท์อันเป็นทรัพย์บางส่วนของผู้เสียหายที่ถูกลักไป โดยไม่มีประจักษ์พยานยืนยันการกระทำผิดของผู้ต้องหา ผู้ต้องหาอาจเป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ไปหรืออาจช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย พาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับจำนำ หรือรับไว้โดยประการอื่นใดซึ่งทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์อันจะเป็นความผิดฐานรับของโจร
๒.ในความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าใครเป็นคนร้าย ทั้งลายพิมพ์นิ้วมือแฝงที่พบเมื่อตรวจสอบกับลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาแล้วปรากฏว่ามีลายเส้นไม่ตรงกัน ไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา เมื่อไม่มีทั้งประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมกรณีอื่นๆที่จะนำมาให้เห็นว่าผู้ต้องหาเป็นคนร้ายรายนี้ จึงไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในข้อหาลักทรัย์ฯได้
๓.เพียงแต่มีผู้พบเห็นผู้ต้องหาครอบครองโทรศัพท์อันเป็นทรัพย์บางส่วนของผู้เสียหายที่ถูกลักไป โดยผู้ต้องหามีพฤติการณ์ที่รับซื้อโทรศัพท์ดังกล่าวในราคาถูกกว่าในท้องตลาดที่ขายโทรศัพท์อยู่ในขณะนั้น โดยรับซื้อในราคาเพียง ๒๐๐ บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาซื้อขายโดยทั่วไป ทั้งเป็นการซื้อจากบุคคลที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ผู้ต้องหาไม่ได้มีอาชีพในการรับซื้อหรือขายโทรศัพท์ ไม่มีการขอหลักฐานของผู้ขายว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน ทั้งเมื่อซื้อแล้วต่อมาในวันรุ่งขึ้นก็รีบนำโทรศัพท์ดังกล่าวไปขายต่อเพื่อเอากำไร พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้ต้องหาน่าจะรู้หรือควรรู้ว่าทรัพย์ดังกล่าวได้มาจากการกระทำความผิดตามกฏหมาย การที่ผู้ต้องหารับซื้อไว้จึงเป็นการซื้อทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เพื่อขายต่อ การกระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไร
๔.ในทางปฏิบัติอาจทำได้สองกรณีคือ ฟ้องฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไรเพียงบทเดียว หรืออาจฟ้องทั้งลักทรัพย์และรับของโจรเข้าไปเพื่อให้ผู้ต้องหาเลือกที่จะรับสารภาพว่าจะรับสารภาพฐานใด เพราะในความเป็นจริงผู้ต้องหาอาจเป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ก็ได้ เพียงแต่ที่ไม่พบลายมือแฝงเพราะผู้ต้องหาสวมถุงมือ หรือการเข้าตรวจที่เกิดเหตุโดยเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายอาจทำให้ลายมือแฝงสูญหายหรือถูกทำลายไปก็ได้ ส่วนที่ผู้ต้องหาอ้างว่ารับซื้อโทรศัพท์เพื่อขายต่ออาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ จึงไม่แปลกที่จะฟ้องทั้งในความผิดฐานลักทรัพย์ฯหรือรับของโจรฯ
๕.ในการบรรยายฟ้องในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรหากบรรยายฟ้องไม่ดี ฟ้องจะขัดแย้งกันเพราะเมื่อเป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ฯแล้วย่อมไม่อาจเป็นความผิดฐานรับของโจรได้ หรือเมื่อเป็นคนรับของโจรแล้วก็ไม่อาจกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ได้ จึงมักบรรยายฟ้องในตอนแรกไม่ยืนยันว่าใครเป็นคนร้ายที่เข้าไปลักทรัพย์ แล้วต่อมาพบทรัพย์อยู่ในความครอบครองของผู้ต้องหาซึ่งผู้ต้องหาอาจเป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์หรือมิเช่นนั้นก็เป็นความผิดฐานรับของโจร
๖.มักบรรยายฟ้องดังนี้
๖.๑เมื่อระหว่างวันที่.......(วันที่ทรัพย์ถูกลักไป) ถึงวันที่........(วันที่พบทรัพย์ของกลางที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย) วันเวลาใดไม่ปรากฏแน่ชัด ได้มี “ คนร้าย” หลายคนได้บังอาจร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนาย...........ผู้เสียหาย โดยร่วมกันใช้วัสดุแข็งไม่ทราบว่าเป็นอะไรงัดประตูบ้านอันเป็นสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์จนเปิดออกแล้วผ่านสิ่งกีดกั้นดังกล่าวเข้าไปลักเอา โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ..... ราคา......บาท ของนาย........ผู้เสียหายที่เก็บรักษาไว้ในเคหสถานที่อยู่อาศัยดังกล่าวไปโดยเจตนาทุจริต
๖.๒ต่อมาในวันที่.........(วันที่พบทรัพย์ในความครอบครองของจำเลย) มีผู้พบเห็นจำเลยครอบครองโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ......... ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปดังกล่าวข้างต้นในฟ้องข้อ ๖.๑ทั้งนี้ ตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวในฟ้องข้อ ๖.๑ จำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันเป็นคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ในเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายตามวิธีการดังกล่าวในฟ้องข้อ๖.๑โดยเจตนาทุจริต หรือมิเช่นนั้นระหว่างวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ ๖.๑ ถึงวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ ๖.๒ วันเวลาใดไม่ปรากฏแน่ชัด จำเลยได้บังอาจรับของโจร โดยช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ.......ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปดังกล่าวในฟ้องข้อ ๖.๑ โดยจำเลยกระทำไปเพื่อค้ากำไร
เหตุดังกล่าวในฟ้องข้อ ๖.๑ และ ๖.๒ เกิดที่ตำบล...... อำเภอ....... จังหวัด........และตำบล.......อำเภอ...... จังหวัด.......เกี่ยวพันกัน

“ชำเรากับนายอำเภอดีกว่าชำเรากับชาวบ้าน”

โจทก์จำเลยทะเลาะกันด่ากันด้วยคำหยาบ ตอนหนึ่งจำเลยกล่าวว่า “ โจทก์เอาหนังสือไปให้นายอำเภอ โจทก์ชำเรากับนายอำเภอ” โจทก์ย้อนด่าว่า ชำเรากับนายอำเภอดีกว่าชำเรากับชาวบ้าน “ โจทก์จำเลยด่าวว่ากัน โดยโจทก์ตั้งเรื่องมาก่อน และไม่ได้ถือเอาคำด่าจำเลยเป็นเรื่องสำคัญ กลับยอมรับตามที่จำเลยกล่าวอ้างแล้วย้อนตอบจำเลย ไม่เป็นหมิ่นประมาท คำพิพากษาฏีกา ๒๒๓/๒๔๗๓
ข้อสังเกต ๑. การทำให้ผู้อื่นถูกดูแคลน เหยียดหยาม ทำให้อาย ด่าหรือสบประมาทเป็นการ ดูหมิ่น การด่าไม่ทำให้ผู้ถูกดูหมิ่น ถูกด่า เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ตรงกันข้ามกับทำให้คนด่า เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังเสียเองที่ใช้คำพูดไม่สุภาพ หยาบคาย ไม่เป็นผู้ดี เป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนของคนที่ได้ยิน การดูหมิ่นจึงอาจไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทไปได้ แต่ในทางกลับกัน การดูหมิ่นดูแคลนบุคคลอื่นต่อบุคคลที่สามด้วยถ้อยคำหยาบคาย ย่อมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้
๒. ถ้อยคำที่ว่า “ กระทำชำเรากับนายอำเภอ” หากไปพูดกับบุคคลอื่นว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงสาวไปกระทำชำเรากับนายอำเภอ ซึ่งเป็นชายอื่นที่ไม่ได้ทำการสมรสให้ถูกต้องตามประเพณีกับนายอำเภอ ย่อมทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังจากคนที่ได้ยินข้อความได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนายอำเภอมีภรรยาอยู่แล้ว เท่ากับไปต่อว่าผู้เสียหายเป็นชู้กับนายอำเภอซึ่งสังคมไทยไม่ยอมรับในเรื่องนี้ หรือหากผู้เสียหายมีสามีอยู่แล้วยังไปร่วมประเวณีกับนายอำเภอ หรือทั้งนายอำเภอและผู้เสียหายก็มีคู่ครองอยู่แล้วได้มาร่วมประเวณีกันย่อมเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนแก่คนที่ได้ยินข้อความดังกล่าวนี้เป็นถ้อยคำหมิ่นประมาท
๓. แต่จากการที่จำเลยด่า ผู้เสียหายว่า “ไปกระทำชำเรากับนายอำเภอ” แต่ผู้เสียหายกลับโต้ตอบว่า “กระทำชำเรากับนายอำเภอดีกว่าไปกระทำชำเรากับชาวบ้าน” เท่ากับผู้เสียหายยอมรับว่าไปชำเราจริง และยังโต้ตอบว่าดีกว่าไปชำเรากับชาวบ้าน ถือว่าทั้งโจทก์และจำเลย ไม่ได้ถือเอาคำด่าเป็นข้อสำคัญเพราะต่างฝ่ายต่างด่ากัน ถ้อยคำดังกล่าวจึงไม่ใช่การหมิ่นประมาท
๔.การที่โจทก์จำเลยต่างด่ากันด้วยคำหยาบถือว่าทั้งสองฝ่ายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยกันทั้งคู่จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมาแจ้งความร้องทุกข์หรือดำเนินคดีฟ้องร้องกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้

“ใช้ให้ทำแท้ง”

จำเลยแนะนำและสอนวิธีการต่างๆที่จะทำให้แท้งลูก หญิงทำตามก็ไม่แท้ง จำเลยช่วยฉีดยาให้แท้งก็ไม่แทง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามทำแท้ง ซึ่งไม่ต้องรับโทษ จริงอยู่หากว่าเพียงแต่ใช้ ความผิดก็เกิดขึ้นแล้ว แต่คดีนี้ เลยขั้น “ เพียงแต่ใช้” แล้ว เพราะผู้รับใช้ได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว จึงต้องนำลักษณะตัวการมาใช้บังคับ เมื่อหญิงผู้ถูกใช้เป็นตัวการ จำเลยผู้ถูกใช้ก็รับโทษเสมือนตัวการ แต่เมื่อหญิงได้กระทำไปถึงขั้นพยายามกระทำความผิดแล้วได้รับยกเว้นโทษตัวหญิงผู้กระทำเองยังได้รับการยกเว้นโทษ จำเลยผู้ใช้ก็ควรได้รับการยกเว้นโทษด้วย พิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๗๒๒/๒๔๙๗
ข้อสังเกต ๑. คำว่า “ แท้ง” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถาน ให้หมายความว่า สิ้นสุดการตั้งครรถ์ก่อนกำหนดคลอด โดยลูกในท้องไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งหมายความว่า การทำให้ทารกหรือลูกในครรถ์คลอดออกมาก่อนกำหนดตามปกติธรรมดาในลักษณะที่ไม่มีชีวิต ซึ่งมีคำพิพากษาฏีกา ๖๗๗/๒๕๑๐ การแท้งลูกไม่คลุมถึงกรณีเด็กตายในครรถ์หรือกรณีที่ฆ่าเด็กที่กำลังคลอด นั้นก็คือตามคำพิพากษาฏีกานี้ให้ดูว่า ทารกนั้นมีสภาพบุคคลคือคลอดออกมาแม้ยังไม่ตัดสายสะดือก็ตาม และรอดอยู่เป็นทารก โดยมีพฤติการณ์หรืออาการของการเป็นทารก เช่น มีการเคลื่อนไหว มีการเต้นของหัวใจ ดังนั้นหากทารกมีสภาพบุคคลแล้ว การทำให้ทารกเสียชีวิตมีความผิดฐานฆ่าคนตาย แต่หากทารกยังไม่มีสภาพบุคคล การทำลายทารกเป็นความผิดฐานทำให้แท้งลูก
๒.การทำให้ทารกตายในครรถ์มารดาไม่ว่าจะมีการคลอดหรือไม่ หรือขณะคลอด หรือคลอดออกมาแล้วยังไม่มีการแสดงอาการของการมีชีวิต คือ การรอดอยู่ ย่อมเป็นการ “ ทำให้แท้งลูก” ไม่ใช่ “ การฆ่าคนตาย”
๓.คำว่า “ แท้ง” ไม่รวมถึงการกระทำก่อนที่จะมีการปฏิสนธิ์ในครรถ์มารดา เช่น การคุมกำเนิดโดยวิธีต่างๆ และไม่รวมกรณีทารกตายหลังจากมีสภาพบุคคลแล้ว เช่น คลอดก่อนกำหนด อยู่มาระยะหนึ่งก็ตาย เพราะมีการคลอดและรอดอยู่แล้วต่อมาจึงตาย
๔..หญิงที่ยอมให้คนอื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ถือมีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วย ไม่ใช่ผู้เสียหาย แม้หญิงตายลงไป บิดาหญิงก็ไม่มีสิทธิ์ฟ้องผู้ที่ทำให้หญิงแท้งลูกได้ คำพิพากษาฏีกา ๙๕๔/๒๕๐๒
๕.การที่จำเลยแนะวิธีและสอนวิธีในการทำให้แท้งลูกแล้วหญิงไปทำตามเป็นการ “ก่อ”ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานแท้งลูกด้วยการยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใดให้หญิงทำให้ตนเองแท้งลูก การแนะและสอนวิธีในการทำให้แท้งลุกดังกล่าวจึงเป็นการ “ใช้” ให้ผู้อื่นทำให้ตัวเองแท้งลูกแล้ว ซึ่งผู้ใช้รับโทษเสมือน “ตัวการ “ ตาม ป.อ. มาตรา ๘๔ วรรคสอง คือเสมือนเป็นตัวการทำให้หญิงแท้งลูก แต่การกระทำของจำเลยนั้นมิใช่เพียงแค่เป็นการก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดเท่านั้น แต่ได้ล่วงเลยการกระทำในการใช้แล้วโดย จำเลยได้ลงมือกระทำในการแท้งลูกด้วยการฉีดยาให้หญิงแท้งลูกด้วย การกระทำของจำเลยจึงเปลี่ยนจากการเป็นผู้ใช้มาเป็นตัวการในการกระทำความผิดแล้ว แต่หญิงไม่แท้งลูกจึงเป็นการพยายามทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงยินยอมตาม ป.อ. มาตรา ๘๐,๓๐๒ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา ๓๐๔
๖..การที่หญิงพยายามทำให้ตนเองแท้งลูกหรือพยายามให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูกตาม ป.อ. มาตรา ๓๐๑ เมื่อไม่มีการแท้งลูกเกิดขึ้น หญิงจึงไม่ต้องรับโทษ ตาม ป.อ. มาตรา ๓๐๔ เมื่อการกระทำของหญิงไม่ต้องรับโทษ การกระทำของจำเลยในฐานผู้ใช้ และในฐานที่เป็นตัวการร่วมกับหญิงจึงไม่ต้องรับโทษไปด้วยเช่นกัน

“บัตรประชาชน ใบขับขี่ กุญแจรถ”

เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถยึดอะไรได้บ้างกรณีกระทำความผิดตามพรบ.จราจรทางบก แยกพิจารณาดังนี้
๑. กรณี “ใบขับขี่รถยนต์” นั้น พรบ.จราจรทางบก ฯ นั้นให้อำนาจ “ เจ้าพนักงานจราจร”ซึ่งก็คือ ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร(ซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป) ซึ่งรัฐมนตรีผู้รักษาการณ์ตามพรบ.จราจรทาบบก แต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานจราจร และ “ พนักงานเจ้าหน้าที่ “ ซึ่งก็คือตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจร ซึ่งบุคคลทั้งสองประเภทพบว่าผู้ขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พรบ.จราจรทางบกฯ หรือกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถ เช่น พรบ.รถยนต์ฯ หรือ พรบ. ขนส่งทางบกฯ สามารถ ว่ากล่าวตักเตือน ออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบได้ ในการออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบปรับ “ เจ้าพนักงานจราจร” หรือ “ พนักงานเจ้าหน้าที่ “ จะเรียกเก็บใบขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้ แต่ต้องออกใบแทนใบอนุญาตขับขี่ให้แก่ผู้ขับขี่ และ “ เจ้าพนักงานจราจร” และ “ เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ “ ต้องรีบนำใบอนุญาตขับขี่ที่เรียกเก็บไว้ส่งมอบให้พนักงานสอบสวนภายในแปดชั่วโมง นับแต่วันที่ออกใบสั่ง ใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ ใช้แทนใบอนุญาตขับขี่ได้เป็นการชั่วคราวไม่เกิน ๗ วัน เมื่อ” เจ้าพนักงานจราจร” หรือ “ พนักงานเจ้าหน้าที่ “ หรือ “ พนักงานสอบสวน” ได้ว่ากล่าวตักเตือน หรือเปรียบเทียบปรับ และผู้ขับขี่ได้ชำระค่าปรับแล้ว ให้คืนใบอนุญาตขับขี่ทันที ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถที่ได้รับใบสั่งตามข้อ ๑. สามารถปฏิบัติได้ดังนี้คือ
- ชำระค่าปรับตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบสั่ง หรือตามจำนวนที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบ ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่ง หรือสถานที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่ง
- ชำระค่าปรับตามจำนวนที่กำหนดโดยการส่งธนานัติ หรือการส่งตั๋วแลกเงินของธนาคารโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน สั่งจ่ายแก่อธิบดีกรมตำรวจพร้อมด้วยสำเนาใบสั่งไปยังสถานที่ และภายในเวลาที่ระบุไว้ในใบสั่ง เมื่อผู้ได้รับใบสั่งได้ชำระค่าปรับครบถ้วน ให้คดีเป็นอันเลิกกัน และในกรณีที่ “ เจ้าพนักงานจราจร” หรือ “ พนักงานเจ้าหน้าที่ “ ได้เรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้ ให้ “ เจ้าพนักงานจราจร” หรือ “ พนักงานสอบสวน” รีบจัดส่งใบอณุญาตขับขี่ที่เรียกเก็บคืนแก่ผู้ได้รับใบสั่งโดยเร็ว และให้ถือว่า ใบรับการส่งธนาณัติ หรือใบรับการส่งตั๋วแลกเงินประกอบใบสั่งเป็นใบแทนใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา ๑๐ วัน นับแต่วันที่ส่งธนาณัติ หรือตั๋วแลกเงิน
๒.กรณี เจ้าพนักงานจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบผู้กระทำความผิดตามพรบ.จราจรทางบก หรือพรบ.รถยนต์ฯ หรือพรบ.ขนส่งทางบกฯ แล้วยึด “ บัตรประชาชน”ของผู้ขับขี่หรือผู้ควบคุมรถ เนื่องจากบัตรประชาชนเป็นกระดาษหรือวัตถุอื่นใดที่ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข และมีการถ่ายภาพบุคคลลงในบัตรประชาชนเพื่อเป็นหลักฐานในการแสดงตัวว่าบุคคลที่ถือบัตรดังกล่าวเป็นคนเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยในบัตรประชาชนจะบอกให้รู้ว่าผู้ถือบัตร มีชื่อและที่อยู่ ณ. ที่ใด มีวันเดือนปีเกิดบอกให้ทราบว่าบุคคลผู้ถือบัตรมีสถานะภาพอย่างไร เช่น เป็นผู้หญิงหากมีคำนำหน้าว่า “นาง” แสดงว่าผ่านการสมรสมาแล้ว และบอกให้ทราบว่าผู้ถือบัตรประชาชนดังกล่าวมีอายุเท่าใด บรรลุนิติภาวะหรือยัง ซึ่งจะบอกให้รู้ว่าสามารถทำนิติกรรมได้เพียงไหนอย่างไร และบัตรประชาชน ยังบ่งบอกว่าเป็นคนไทยซึ่งสามารถถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ และมีสิทธิ์ต่างๆตามที่กฎหมายรับรอง และเลข ๑๓ หลักในบัตรประชาชนก็แสดงข้อมูลหลายๆอย่างในตัวเลขทั้ง๑๓ หลัก ดังนั้น บัตรประชาชนจึงเป็น “เอกสาร” ตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถยึดบัตรประชาชนได้ การยึดบัตรประชาชนไปเป็น การเอาไปซึ่งบัตรประชาชนจึงเป็นความผิดฐาน เอาไปเสีย ซึ่งเอกสาร โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชนตาม ป.อ. มาตรา ๑๘๘และฐานเอาไปเสียซึ่งบัตรประชาชนของผู้อื่นเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองโดยมิชอบตามพรบ.บัตรประชาชนฯ มาตรา ๑๕ทวิ เพราะการยึดบัตรประชาชนเพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้ผู้ขับขี่หลบหนีซึ่งไม่มีกฎหมายให้อำนาจทำได้ จึงเป็นการเอาไปซึ่งบัตรประชาชนเพื่อประโยชน์ของผู้จับกุมในการจับกุม เพราะการจับกุมตาม พรบ.จราจรฯมาตรา ๑๔๖ เงินค่าปรับหากเป็นการจับในกรุงเทพจะมีการแบ่งเงินค่าปรับให้กรุงเทพมหานคร หรือหากเป็นต่างจังหวัดก็ให้แบ่งแก่เทศบาลในจังหวัดนั้นๆในอัตราร้อยละ ๕๐ของเงินค่าปรับหรือตกเป็นของท้องถิ่นตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด อีกทั้งการที่ไม่มีบัตรประชาชนติดตัวอาจถูกเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมในข้อหาไม่สามารถแสดงบัตรประชาชนเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจค้นซึ่งเป็นความผิดตาม พรบ.บัตรประชาชนฯ มาตรา ๑๗ได้ ดังนั้นเมื่อยึดบัตรประชาชนผู้ขับขี่ไป ผู้ขับขี่อาจถูกจับกุมได้เพราะไม่สามารถแสดงบัตรประชาชนเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจค้น เมื่อการยึดบัตรประชาชนไม่มีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้ การยึดบัตรประชาชนไปจึงเป็นความผิดตามกฏหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
๓.กรณียึดกุญแจรถ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะสามารถทำการยึดกุญแจรถนั้นได้ ทั้งการที่กระทำความผิดตามพรบ.จราจรทางบกฯ พรบ.รถยนต์ฯ พรบ.การขนส่งฯ ก็ไม่ก่อให้เกิดหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครอง อันจะก่อให้เกิดสิทธิ์ยึดหน่วงในตัวรถหรือกุญแจรถตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๔๑ ได้ การเอากุญแจรถไปจึงเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ แล้ว เพราะการทำผิดตามพรบ.จราจรทางบกฯ หรือพรบ.รถยนต์ หรือพรบ.ขนส่งฯ ไม่ให้อำนาจในการยึดรถหรือรถจักรยานยนต์ได้ทั้งไม่สามารถยึดกุญแจรถได้ด้วย เมื่อถูกยึดกุญแจรถไป รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์อาจสูญหาย หรืออาจถูกใครทุบรถเพื่อเอาทรัพยิ์สินภายในรถหรือที่ติดกับตัวรถไปเช่น วิทยุติดรถยนต์ ล้ออะไหล่ เป็นต้น ทรัพย์สินเหล่านี้อาจสูญหายได้เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจคงไม่มาเฝ้ารถให้ และเมื่อไม่มีอำนาจในการยึดรถ เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจในการนำรถไปเก็บรักษาที่สถานีตำรวจได้ เมื่อไม่มีกุญแจรถ รถไม่สามารถขับได้ การจอดรถทิ้งไว้รถอาจหาย หรือถูกลักทรัพย์ภายในรถได้ การเอากุญแจรถไปโดยไม่มีสิทธิ์ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฏหมายโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชนชนตาม ป.อ. มาตรา ๑๕๗ แล้ว
การเอากุญแจรถไปไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แม้จะมีการเอาไปแต่ก็ไม่ได้มีเจตนาทุจริตที่จะแสวงหาประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฏหมายในตัวกุญแจรถสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อไม่ผิดฐานลักทรัพย์ก็ไม่อาจมีความผิดฐานชิงทรัพย์ได้ แม้การยึดกุญแจอาจมีการยื้อยุดฉุดกระชากอาจมีการใช้กำลังในการได้มาซึ่งกุญแจรถก็ตาม
ดังนั้นหากจะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องดูให้ถูกฐานความผิดด้วยไม่งั้นศาลยกฟ้องเพราะการกระทำไม่เป็นความผิด