ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ฝังศพใกล้บ้าน”

ตามสภาพหลุมฝังศพที่มีศพฝังอยู่ย่อมก่อให้เกิดความหวาดกลัวในเรื่องภูตผีวิญญาณ เป็นที่รังเกียจแก่ผู้ที่ไม่ใช่ญาติผู้ตายซึ่งบ้านอยู่ใกล้หลุมฝังศพ การที่จำเลยก่อสร้างหลุมฝังศพในที่ดินของตนและนำศพห่างบ้านโจทก์ ๑๐ เมตร มากพอที่จะทำให้โจทก์ทั้งสองรับรู้ว่าตนอยู่ใกล้หลุมฝังศพ ได้รับความกดดันจากจิตใจจากการมีพิธีการเกี่ยวกับศพ การที่จำเลยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ท้องถิ่นภายหลังจากฝังศพแล้ว มีผลเพียงว่า จำเลยไม่ได้ตกเป็นผู้กระทำผิดตามพรบ.สุสานและปานสถานฯ เท่านั้น หามีผลทำให้จำเลยมีอำนาจกระทำการใดๆให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ คำพิพากษาฏีกา ๑๕๘๑/๒๕๓๘
ข้อสังเกต ๑. การที่จำเลยสร้างหลุมฝังศพในที่ดินของตนและนำศพมาฝั่งห่างบ้านโจทก์ ๑๐ เมตร ซึ่งมีระยะไม่ไกลจากบ้านโจทก์ ถือว่าเป็นการใช้สิทธิ์ของตนเป็นเหตุให้เจ้าของที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ข้างเคียงได้รับความเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร เมื่อเอาสภาพตำแหน่งที่ตั้งแห่งสุสานซึ่งภายในมีศพฝังอยู่มีระยะห่างบ้านโจทก์พียง ๑๐ เมตร มาประกอบกับความเชื่อตามวิถีไทยย่อมทำให้ ก่อให้เกิดความหวาดกลัวในเรื่องภูตผีวิญญาณ เป็นที่รังเกียจแก่ผู้ที่ไม่ใช่ญาติผู้ตายซึ่งบ้านอยู่ใกล้หลุมฝังศพ ทั้งอาจมีกลิ่นที่เกิดจากศพหากไม่ได้ใช้น้ำยาดับกลิ่น อาจเป็นบ่อเกิดแห่งเชื้อโรคหรือโรคติดต่อได้ หรือหากฝังไม่ดีอาจมีสุนัขหรือสัตว์อื่นขุดคุ้ยศพขึ้นมาได้ หรือหากเกิดน้ำท่วมหากการก่อสร้างไม่ดีน้ำซึมเข้าไปได้อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคได้ และหากผู้ตายเสียชีวิตด้วยโรคติดต่อ การนำมาฝังไว้ใกล้บ้านคนอาจมีการแพร่เชื้อโรคมายังบ้านใกล้เคียงได้ ทั้งสุสานมักเป็นสถานที่ เก็บ ฝัง หรือเผาศพ แล้วอาจมีการนำศพอื่นมาฝังอยู่ในบริเวณเดียวกันอีกได้ ซึ่งย่อมทำให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงเกิดความกลัวได้ เจ้าของที่ดินข้างเคียงมีสิทธ์ที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเดือดร้อนให้สิ้นไป ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๗
๒.การตั้งสุสานและฌาปนสถานต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ไม่งั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่การได้รับอนุญาตให้จัดตั้งได้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะจัดตั้งอย่างไรก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นได้ ลำพังการได้รับอนุญาตมีผลเพียงไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเท่านั้น ทั้งเทศบัญญัติเรื่องสุสานและฌาปนสถานในบางท้องที่มักจะห้ามตั้งสุสานเอกชนในเขตเมือง เว้นแต่จะมีอยู่ก่อนที่เทศบัญญัติเรื่องสุสานและฌาปน ประกาศใช้ และต้องห่างจากอาคารที่คนอยู่อาศัยไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เมตร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าของอาคารซึ่งอยู่ในแนวเขตนั้น
๓.เจ้าพนักงานที่อนุญาตให้ตั้งสุสานและฌาปนสถาน เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของรัฐซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ พรบ.สุสานและปานสถานฯ ให้อำนาจไว้ คำสั่งอนุญาตนี้จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อคำสั่งดังกล่าวออกมาแล้วก่อให้เกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองกระทำละเมิดเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฏหมาย ตามกฎคำสั่งและข้อเทศบัญญัติ จึงเป็นคดีปกครองตามพรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา ๙(๓) เจ้าของบ้านข้างเคียงสามารถฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ตั้งสุสานและฌาปนกิจได้ เมื่อเพิกถอนแล้วการตั้งสุสานฯก็เป็นการตั้งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งความจริงแล้วในการฟ้องแพ่งควรมีคำขอเพื่อให้คู่กรณีปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนที่เกิดจากสุสานดังกล่าวด้วย
๔.การที่เจ้าพนักงานอนุญาตให้ฝังศพไว้ในที่ดินซึ่งใกล้บ้านคนอื่นน่าจะคาดเห็นหรือพึงคาดเห็นได้ว่า การกระทำดังกล่าวทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนรำคาญ อันเป็นการก่อให้ผู้ได้รับอนุญาตกระทำการละเมิดต่อบุคคลอื่นโดยอ้างคำพิพากษาดังกล่าวเป็นมูลเหตุตั้งต้นในการดำเนินคดี โดยถือเป็นผู้ยุยงส่งเสริมช่วยเหลือในการจัดตั้งสุสาน เพราะหากไม่อนุญาตแล้ว เจ้าของที่ดินก็คงไม่กล้าตั้งสุสานไว้ในที่ของตน ดังนั้นเมื่อใช้คำพิพากษาคดีนี้เป็นเกณท์ถือว่าเจ้าพนักงานผู้ส่งเสริมสนับสนุน เป็นผู้ทำละเมิดร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๒

ไม่มีความคิดเห็น: