ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ค่าเลี้ยงชีพ”

๑.แม้ศาลพิพากษาให้หย่ากัน เมื่อจำเลยมีรายได้พอจากทรัพย์สินและการงานที่เคยทำระหว่างสมรส ศาลไม่พิพากษาให้สามีจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ คำพิพากษาฏีกา ๕๓๙/๒๕๑๑
๒. ศาลพิพากษาให้หย่า เมื่อภรรยาไม่มีรายได้ สามีต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพตามฐานะของภริยาและตามความสามารถของสามี คำพิพากษาฏีกา ๑๕๑๐/๒๕๒๒
๓.ภรรยาป่วยเป็นอัมพาตได้ ๓ เดือน สามีออกจากบ้านไม่กลับบ้านเป็นเวลา ๗ ปี ไม่ให้การช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู เป็นการทิ้งร้างเกิน ๑ ปี เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ การที่ภรรยาป่วยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล สามีเป็นข้าราชการไม่มีเวลามาดูแลรักษาพยาบาล ภรรยาจึงนำน้องชายมาอยู่ที่บ้านเพื่อช่วยดูแล ถือเป็นเหตุอันสมควรและจำเป็นอย่างยิ่ง การที่น้องชายภรรยาทะเลาะกับสามีและทำร้ายสามี เมื่อไม่ปรากฏเป็นเรื่องร้ายแรง สามีเองก็มีอำนาจที่จะบอกให้น้องชายภรรยาออกจากบ้าน แต่ก็ไม่ได้กระทำ แต่กลับออกจากบ้านไปเอง ทั้งที่รู้ว่าภรรยาป่วยเป็นอัมพาตช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องการความช่วยเหลือจากสามี สามีถือโอกาสละทิ้งภรรยาโดยไม่ได้อยู่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามความสามารถและฐานะของตน เป็นเหตุฟ้องหย่าเพราะเป้นความผิดของฝ่ายสามีเพียงฝ่ายเดียว ภรรยามีอาชีพค้าขายของชำ แต่หลังจากป่วยเป็นอัมพาตก็ไม่ได้ทำการค้าขาย ทำให้ขาดรายได้ต้องอาศัยญาติพี่น้องออกค่ารักษาพยาบาลและค่าเลี้ยงดูประมาณเดือนละ ๑,๐๐๐บาท จึงมีฐานะยากจนลง สามีจึงต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้หลังการหย่า สามีเป็นข้าราชการมีรายได้เดือนละ ๓,๔๒๕ บาท การที่ศาลล่างทั้งสองให้สามีจ่ายค่าเลี้ยงชีพเดือนละ ๗๐๐ บาท จึงเหมาะสม คำพิพากษาฏีกา ๓๒๓๒/๒๕๓๓
ข้อสังเกต ๑.ถ้าเหตุในการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว เช่น เมื่อหย่าแล้วทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายยากจนลง ไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือการงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส ฝ่ายนั้นจะขอให้คู่สมรสอีกฝ่ายต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ซึ่งค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถผู้ให้ ฐานะผู้รับ
๒.เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงพฤติการณ์ รายได้ ฐานะของคู่สมรสอีกฝ่ายเปลี่ยนแปลงไป ศาลจะแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ โดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒๖,๑๕๙๘/๓๙
๓.ในกรณีที่ศาลไม่จ่ายค่าเลียงชีพให้ เพราะเหตุที่คู่สมรสอีกฝ่ายไม่อยู่ในฐานะที่จะจ่ายค่าเลี้ยงชีพได้ในขณะนั้น หากพฤติการณ์ รายได้ ฐานะของคู่สมรสฝ่ายนั้นเปลี่ยนแปลงไป และพฤติการณ์ รายได้ และฐานะของคู่สมรสอีกฝ่ายที่เรียกร้องค่าเลี้ยงชีพอยู่ในฐานะที่ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู คู่สมรสฝ่ายที่เรียกร้องค่าเลี้ยงชีพอาจขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งในคดีใหม่ได้ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒๖,๑๕๙๘/๓๙ วรรคสอง
๔.ค่าเลี้ยงชีพอาจชำระเป็นเงิน โดยชำระเป็นครั้งคราวตามกำหนด เว้นแต่คู่สมรสจะตกลงกันเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น หากไม่ได้ตกลงกันหรือมีเหตุพิเศษ เมื่อคู่สมรสฝ่ายใดร้องขอและศาลเห็นสมควร จะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น โดยจำชำระเป็นเงินด้วยหรือไม่ก็ได้ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒๖,๑๕๙๘/๔๐
๕.สิทธิ์ในค่าเลี้ยงชีพนั้น จะสละหรือโอนไม่ได้ และไม่ตกในบังคับสิทธิ์ในการบังคับคดี ป.พ.พ. มาตรา๑๕๒๖,๑๕๙๘/๔๑
๖.การหย่าขาดจากกันตามคำพิพากษาของศาล หากปรากฏว่าภรรยามีรายได้เพียงพอจากทรัพย์สินและการงานที่กระทำในขณะสมรส ศาลก็สามารถมีคำพิพากษาโดยไม่ให้สามีต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพได้ ไม่ใช่เป็นบทบังคับเด็ดขาดว่าเมื่อมีการหย่ากันแล้วสามีต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ภรรยาเสมอไป เพราะหากสามีมีรายได้สำหรับตนเองยังไม่ค่อยจะพอแก่การดำรงค์ชีพ ในขณะที่ภรรยามีฐานะ มีรายได้ มีทรัพย์สินเพียงพอแก่การครองชีพแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพิพากษาให้ฝ่ายชายจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ฝ่ายหญิง การที่ทั้งสองฝ่ายฟ้องร้องเพื่อขอขาดจากการสมรสแสดงว่าทั้งสองฝ่ายต้องมีปัญหาต่อกันซึ่งอีกฝ่ายรับไม่ได้อภัยให้กากันไม่ได้ จึงไม่อาจอยู่ร่วมกันในฐานะสามีภรรยาได้ การขอขาดจากการสมรสเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีอิสระในการดำเนินชีวิตต่อไปไม่ต้องขออนุญาตหรือขอความยินยอมจากอีกฝ่ายแต่อย่างใด วัตถุประสงค์การหย่าน่าจะมาจากสาเหตุนี้มากกว่าการหย่าเพื่อต้องการค่าเลี้ยงชีพ ค่าเลี้ยงชีพอาจเป็นเพียงทางเลือกหรือส่วนประกอบส่วนหนึ่งในการหย่าก็ได้เมื่อฝ่ายหญิงไม่มีรายได้ หรือมีไม่เพียงพอแก่การดำรงชีพหรือเพื่อการเลี้ยงดูบุตร หากฝ่ายหญิงมีรายได้เพียงพอแก่การครองชีพในขณะที่ฝ่ายชายมีร่ายได้พอลำพังเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น ก็ไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ฝ่ายหญิงเสมอไป เพราะการหย่าศาลอาจพิพากษาให้ฝ่ายชายต้องรับผิดจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้ฝ่ายหญิงด้วยก็ได้ ซึ่งหากจะให้ฝ่ายชายจ่ายทั้งค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้หญิงอีก ฝ่ายชายอาจไม่มีรายได้เพียงพอแก่การดำรงชีพได้ ซึ่งเมื่อมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การดำรงชีพฝ่ายชายอาจต้องหาเงินด้วยวิธีการอันไม่ชอบด้วยกฏหมายต่อไป
๗.เมื่อศาลพิพากษาให้หย่าขาดกันแล้ว ภรรยาไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ สามีต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพตามควรแก่ฐานะของภริยา แต่ตามควรแก่ความสามารถของฝ่ายชายที่จะสามารถจ่ายได้โดยไม่กระทบถึงความเป็นอยู่ในการดำรงค์ชีพของฝ่ายชายด้วย
๘.การที่ภรรยาลาออกจากงานเพื่อมาแต่งงานทำหน้าที่เป็นแม่บ้านโดยไม่มีรายได้อื่นใดนอกจากสามีให้ การหย่าทำให้ภรรยาไม่มีรายได้ต้องกลับไปอยู่กับบิดามารดาจึงเป็นกรณีหย่าแล้วทำให้คู่สมรสต้องยากจนลง เมื่อตามความเป็นอยู่ฐานะของสามีเพียงพอที่จะดูแลภรรยาในส่วนนี้ได้ ศาลก็จะสั่งให้สามีจ่ายค่าเลี้ยงดูแก่ภรรยาตามสมควรแก่ฐานะของภรรยาได้ นั้นก็คือ มิใช่หย่าแล้วสามีต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ภรรยาทุกคดี เพราะหากภรรยามีฐานะดีอยู่แล้วไม่เดือดร้อนจากการหย่า ทั้งมีอาชีพมั่นคงกว่าสามีมีทรัพย์สินเป็นเงินฝากธนาคารและที่ดินมากกว่าสามี หากเป็นกรณีดังกล่าวแล้ว ศาลอาจไม่สั่งให้สามีจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ภรรยาก็ได้ นั้นคือ ค่าเลี้ยงชีพไม่ใช่สิทธิ์ที่ภรรยาจะได้ตามกฎหมายทุกครั้งไปไม่ แต่ขึ้นกับพฤติการณ์ความเหมาะสมรายได้ความเป็นอยู่ของภรรยา และความสามารถของสามีที่จะทำการจ่ายได้โดยไม่เดือดร้อน มิเช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นว่าภรรยาก็รวยอยู่แล้วยังมาเอาค่าเลี้ยงชีพจากสามีที่จนกว่า ก็จะกลายเป็นกรณีภรรยาทำนาบนหลังสามีที่ยากจนอีกซึ่งดูจะไม่เหมาะสม ทั้งกฎหมายได้ใช้คำว่า ค่าเลี้ยงชีพนี้ ศาลจะให้เพียงใดหรือ “ ไม่ให้” ก็ได้ ดดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับ ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒๖
๙.การที่ภรรยาป่วยเป็นอัมพาตแล้วสามีออกจากบ้านเป็นเวลา ๗ ปี โดยไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามสมควร แม้จะอ้างว่ามีเหตุทะเลาะวิวาทกับน้องภรรยาที่ภรรยานำมาอยู่ในบ้านเพื่อดูแลเพราะสามีเป็นข้าราชการไม่มีเวลาดูแลนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าการทะเลาะและการทำร้ายร่างกายกับน้องภรรยาเป็นเรื่องที่ร้ายแรงแต่อย่างใด ทั้งสามีมีสิทธิ์ที่จะขับไล่น้องภรรยาออกจากบ้านได้แต่ก็ไม่ได้ใช้สิทธิ์ดังกล่าว แต่ได้ออกจากบ้านไปเป็นเวลา ๗ ปี โดยไม่ได้ช่วยเหลือดูแลภรรยาที่ป่วยเป็นอัมพาต ถือว่ามีเจตนาทิ้งร้างภรรยา เมื่อจงใจทิ้งร้างคู่สมรสอีกฝ่ายเกิน ๑ ปี โดยไม่ใช่กรณีที่คู่สมรสอีกฝ่ายต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเกิน ๑ ปี โดยคู่สมรสอีกฝ่ายไม่ได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือรู้เห็นยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ทั้งไม่ใช่การสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยาได้โดยปกติสุขเกิน ๓ ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งศาลเกิน ๓ ปี แต่อย่างใด แต่เป็นการที่สามีจงใจทิ้งร้างภรรยาเกิน ๑ ปี ภรรยาฟ้องหย่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๑๖(๔) เมื่อภรรยาฟ้องหย่าแล้วหลัง ๗ ปีนับแต่เป็นอัมพาต ภรรยาไม่สามารถทำการค้าขายได้ ต้องอาศัยญาติพี่น้องช่วยค่ารักษาพยาบาลและค่าเลี้ยงดูเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท จึงมีฐานะยากจน การที่สามีเป็นข้าราชการมีเงินเดือนเดือนละ ๓,๔๒๕ บาท เพียงพอที่ศาลจะสั่งให้สามีจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่ภรรยาเดือนละ ๗๐๐ บาท
๑๐.การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพต้องเป็นกรณี หย่าเพราะความผิดของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง และเมื่อหย่าแล้วทำให้คู่สมรสที่ฟ้องหย่าต้องยากจนลง หากหย่าแล้วภรรยาไม่ได้ยากจนลงเพราะมีรายได้จากทรัพย์สินและการงานที่ทำระหว่างเป็นคู่สมรสกัน ศาลก็จะไม่ให้ค่าเลี้ยงชีพ
๑๐.การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพต้องฟ้องเรียกมาพร้อมฟ้องหย่าหรือเรียกมาพร้อมฟ้องแย้ง มิเช่นนั้นสิทธิ์ในการฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพหมดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒๖ วรรค สอง

ไม่มีความคิดเห็น: