ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“รับก็ลงโทษไม่ได้”

๑.ฟ้องว่าร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายหลังวันที่จำเลยร่วมกันรับเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป เป็นการกล่าวหาว่าทำผิดฐานรับของโจร ขณะที่ความผิดฐานลักทรัพย์ยังไม่เกิด แม้รับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๐๙/๒๕๑๕
๒.รับสารภาพหลังจากที่สืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว คดีนี้จำเลยรับสารภาพศาลพิพากษาลงโทษได้โดยไม่ต้องสืบพยาน แต่เมื่อพยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด ศาลย่อมยกฟ้องได้ คำพิพากษาฏีกา ๓๗๖/๒๕๓๓
๓.ศาลมีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ แม้ในคดีที่จำเลยรับสารภาพ ศาลมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยาน แต่หากไม่แน่ใจว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่แล้ว ศาลจะสืบพยานต่อไปก็ได้ ไม่ใช่ต้องฟังคำรับสารภาพของจำเลยเสียทีเดียว และศาลยังมีอำนาจโดยพละการที่จะสืบพยานได้ด้วย เมื่อปรากฏรายงานจากพนักงานคุมประพฤติว่า การกระทำของจำเลยขัดแย้งฟ้องโจทก์และคำรับสารภาพของจำเลย จึงควรสืบพยานเพิ่มเติมต่อไป คำพิพากษาฏีกา ๒๙๔๔/๒๕๔๔
๔.คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำ ๕ ปีขึ้นไป แม้จำเลยรับสารภาพก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ และศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง เมื่อโจทก์แถลงไม่สืบพยาน โจทก์จึงไม่มีหลักฐานให้ศาลฟังลงโทษจำเลยได้ คำพิพากษาฏีกา ๕๙๑/๒๕๓๖

ข้อสังเกต๑.ความผิดฐานรับของโจรต้องเป็นการช่วยซ่อนเร็น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการอื่นใดซึ่งทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ นั้นก็คือ ต้องมีความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนแล้วจึงจะเกิดความผิดฐานรับของโจรได้ ดังนั้นการที่ฟ้องว่าร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายหลังวันที่จำเลยร่วมกันรับเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป เท่ากับฟ้องว่า ร่วมกันรับทรัพย์ที่ถูกคนร้ายลักไป(ความผิดฐานรับของโจร)ก่อนการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ คือ กระทำความผิดฐานรับของโจรก่อนวันที่กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงเป็นการกล่าวหาว่าทำผิดฐานรับของโจร ขณะที่ความผิดฐานลักทรัพย์ยังไม่เกิด การกระทำความผิดฐานรับของโจรจึงยังไม่อาจเกิดขึ้นได้ แม้รับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้ เพราะเป็นการรับสารภาพในการกระทำที่ไม่เป็นความผิด
๒. คดีอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกต่ำกว่า ๕ ปีลงมา จำเลยรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษได้โดยไม่ต้องสืบพยาน ป.ว.อ. มาตรา ๑๗๖ ส่วนคดีที่มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป หรือโทษสถานหนักกว่านั้น แม้จำเลยรับสารภาพ ศาลก็ต้องฟังพยานหลักฐานจนกว่าจะแน่ใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ในคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำน้อยกว่า ๕ ปีลงมา จำเลยรับสารภาพศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน แต่จำเลยรับสารภาพหลังจากที่สืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกศาลพิพากษาลงโทษได้โดยไม่ต้องสืบพยาน แต่เมื่อพยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด ศาลย่อมยกฟ้องได้ จะถือว่าจำเลยรับสารภาพในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำไม่ถึง ๕ ปี เมื่อจำเลยรับสารภาพแล้วไม่ต้องสืบพยาน ศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยไปได้เลยไม่ได้ เพราะเมื่อรับสารภาพหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่สามารถทำให้ศาลแน่ใจว่า มีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ป.ว.อ. มาตรา ๒๒๗ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด แม้จำเลยรับสารภาพ ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้ ป.ว.อ. มาตรา ๑๘๕
๓.แม้จำเลยรับสารภาพในคดีที่ไม่ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย แต่หากศาลไม่แน่ใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่หรือการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ ป.ว.อ. มาตรา ๑๘๕ ให้ศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวจำเลย โดยศาลมีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ แม้ในคดีที่จำเลยรับสารภาพ ศาลมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยาน แต่หากไม่แน่ใจว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่แล้ว ศาลจะสืบพยานต่อไปก็ได้ ไม่ใช่ต้องฟังคำรับสารภาพของจำเลยเสียทีเดียว เพราะใน ป.ว.อ. มาตรา ๒๒๘ ในระหว่างการพิจารณาของศาล โดยพละการ ศาลมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติมได้ โดยจะสืบเองหรือส่งประเด็นก็ได้ ดังนั้นศาลมีอำนาจโดยพละการที่จะสืบพยานได้ด้วย เมื่อปรากฏรายงานจากพนักงานคุมประพฤติว่า การกระทำของจำเลยขัดแย้งฟ้องโจทก์และคำรับสารภาพของจำเลย จึงควรสืบพยานเพิ่มเติมต่อไปเพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าเป็นไปตามฟ้องและคำให้การของจำเลยหรือเป็นไปตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติ
๔.คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำ ๕ ปีขึ้นไป แม้จำเลยรับสารภาพก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ ป.ว.อ.มาตรา ๑๗๖ และศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ป.ว.อ. มาตรา ๑๘๕ เมื่อโจทก์แถลงไม่สืบพยาน โจทก์จึงไม่มีหลักฐานให้ศาลฟังลงโทษจำเลยได้ นั้นก็คือ ศาลไม่ได้คำนึงและยึดถือตามการรับสารภาพของจำเลย เพราะเมื่อเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงศาลต้องฟังข้อเท็จจริงจนแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำผิด ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยได้ แม้จำเลยรับสารภาพ แต่โจทก์ไม่สืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำ ๕ ปี จนให้ศาลแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำผิดแล้ว ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้
๕ในคดีที่มีอัตราโทษ อย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ ๕ ปี ขึ้นไป หรือโทษสถานหนักกว่านั้น แม้จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง ศาลก็ยังต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์ให้เป็นที่พอใจว่าได้กระทำความผิดจริงตามที่ให้การรับสารภาพจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ เพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพของจำเลยในคดีที่มีอัตราโทษสูงมิให้ต้องรับโทษหนักหรือเกินกว่าความผิดที่ตนกระทำ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไม่จำต้องได้ความชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยดังเช่นในคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ เพียงแต่ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยให้เป็นที่พอใจศาลว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงก็เป็นการเพียงพอแล้วที่ศาลจะลงโทษจำเลยโดยอาศัยพยานหลักฐานนั้น เพราะเป็นกรณีที่โจทก์เพียงนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นเป็นเค้ามูลเพื่อประกอบคำรับสารภาพของจำเลยเท่านั้น คำพิพากษาฏีกา ๗๓๙๙/๒๕๔๔ นั้นก็คือการนำสืบพยานประกอบคำรับสารภาพนำสืบเพียงเป็นเค้ามูลให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดก็พอ ไม่ต้องถึงขนาดต้องนำสืบจนศาลปราศจากข้อสงสัยเหมือนเช่นในคดีที่จำเลยปฏิเสธ

ไม่มีความคิดเห็น: