ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ซื้อโดยสุจริต”

๑.โจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยได้ขายรถให้ผู้ร้องสอด แต่ก็ยังกลับรับรถเอาไว้ ถือไม่ได้ว่ารับไว้โดยสุจริต การที่โจทก์นิ่งเสียไม่แจ้งเรื่องที่โจทก์ได้ซื้อรถจากจำเลยให้ผู้ร้องสอดทราบในขณะที่ผู้ร้องสอดทำสัญญาซื้อขายรถพิพาท ทำให้จำเลยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิ์โอนกรรมสิทธิ์รถให้ผู้ร้องสอดได้ โจทก์จะมาอ้างทีหลังว่ารถเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิ์โอนให้ผู้ร้องสอดอีก เป็นการใช้สิทธิ์ไม่สุจริต คำพิพากษาฏีกา ๓๗๔๘/๒๕๓๓
๒.เจ้าของทรัพย์ขายของให้โจทก์โดยยังไม่ได้ส่งมอบ แล้วได้นำทรัพย์ไปขายให้จำเลย จำเลยซื้อโดยสุจริตและรับมอบทรัพย์นั้นแล้ว โจทก์เรียกทรัพย์จากจำเลยไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๗๒๙/๒๔๘๖
๓.ซื้อรถจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นตัวแทนจำเลยที่ ๓ และได้รับมอบรถตั้งแต่วันทำสัญญา จำเลยที่ ๓ ได้ขายรถให้จำเลยที่ ๔ แม้จำเลยที่ ๔ รับซื้อโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน แต่ไม่ได้รับมอบรถ เมื่อรถอยู่ในความครอบครองของโจทก์ โจทก์ได้รถมาโดยมีค่าตอบแทนและครอบครองโดยสุจริต มีสิทธิ์ดีกว่าจำเลยที่ ๔ คำพิพากษาฏีกา ๓๒๔๗/๒๕๓๓
๔.เช่าทรัพย์เป็นรายเดือนชำระค่าเช่าตลอดมา แต่ได้นำไปขายให้คนอื่น ผู้ซื้อไม่ได้กรรมสิทธิ์ เจ้าของติดตามเอาคืนได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๗๔/๒๔๙๔
๕.ซื้อทรัพย์จากผู้ไม่มีอำนาจขาย จะอ้างบทกฎหมายว่าใครครอบครองก่อนคนนั้นได้สิทธิ์ดีกว่าไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๘๔๔/๒๕๑๑
๖.ซื้อรถยนต์ กรรมสิทธิ์ย่อมโอนทันที หาจำต้องจดทะเบียนการโอนไม่ กฎหมายเกี่ยวทะเบียนรถยนต์เป็นเรื่องการควบคุมยานพาหนะและภาษีรถยนต์ ไม่ใช่แบบนิติกรรม เมื่อทำสัญญาซื้อขายรถจากเจ้าของ มีการชำระราคาและรับมอบการครอบครองโดยสุจริตย่อมมีสิทธิ์ดีกว่าบุคคลอื่น คำพิพากษาฏีกา ๑๖๘๗/๒๕๐๖
๗.ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิ์ตามสัญญาสลากกินแบ่งและเหนือใบสลาก แม้จะทำหล่นหาย ย่อมมีสิทธิ์ติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิ์ยึดถือไว้ ผู้เก็บสลากได้เป็นเพียงผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย ไม่ใช่เจ้าของ ไม่มีสิทธิ์เอาไปโอนขายให้ใคร ผู้รับโอนแม้รับโอนโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนก็ไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้โอน คำพิพากษาฏีกา ๑๓๔๐/๒๕๐๘
๘.ซื้อทรัพย์ที่ได้มาจากการยักยอก แม้ซ้อโดยสุจริตก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ คำพิพากษาฏีกา ๑๙๙/๒๔๙๕
๙.รถที่ถูกลักไป ผู้ซื้อต้องคืนเจ้าของเดิม ผู้ซื้อเรียกค่าเสียหายจากผู้ขายได้ กรมตำรวจคืนรถแก่เจ้าของตามหน้าที่ไม่เป็นละเมิด คำพิพากษาฏีกา ๒๖๔/๒๕๑๙
ข้อสังเกต ๑.กรณีที่บุคคลหลายคนเรียกเอาทรัพย์สินเดียวกันโดยอ้างว่าตนมีกรรมสิทธิ์ หากทรัพย์สินนั้นเป็นสังหาริมทรัพย์(ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้) ใครครอบครองก่อนคนนั้นมีสิทธิ์ดีกว่า แต่ต้องได้ทรัพย์มาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน นั้นก็คือ แม้ครอบครองก่อน แต่หากไม่ได้ครอบครองโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแล้ว จะอ้างสิทธิ์ว่าตนครอบครองก่อนเพื่อแสดงว่าตนมีสิทธิ์ดีกว่าคนอื่นหาได้ไม่ ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๓
๒.คำว่า “ สุจริต” พิจารณาเฉพาะ “ผู้รับโอน” เท่านั้นว่าสุจริตหรือไม่ เมื่อผู้รับโอนรับโอนโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและครอบครองทรัพย์ก่อนย่อมได้สิทธิ์ดีกว่าคนอื่น .การที่รู้ว่าเจ้าของได้ขายรถให้บุคคลอื่นไปแล้ว แต่ยังรับโอนรถคันดังกล่าวจะถือว่าครอบครองโดยสุจริตไม่ได้ แม้จะเสียค่าตอบแทนและได้ครอบครองรถก่อนก็ไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้รับโอนคนหลังที่รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
๓.การซื้อขายสังหาริมทรัพย์(ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้)ที่มีราคา ๒๐,๐๐๐บาทหรือมีราคามากกว่า๒๐,๐๐๐บาทขึ้นไป หากไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๖วรรคท้าย ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ การส่งมอบจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นผลให้ทรัพย์สินตกอยู่ในมือผู้ซื้อ ป.พ.พ. มาตรา ๔๖๑,๔๖๒ กรรมสิทธิ์ในทรัย์สินที่ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่เมื่อทำสัญญาซื้อขายกัน หากเป็นการซื้อขายที่มีเงื่อนไขเงื่อนเวลา กรรมสิทธิ์จะโอนไปเมื่อการเป็นไปตามเงื่อนไขเงื่อนเวลานั้น ทรัพย์สินที่จะต้องนับชั่งตวงวัด หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก่อนเพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินแน่นอน กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปเมื่อได้ นับ หมาย ชั่ง ตวงวัด หรือทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดก่อนเพื่อให้กำหนดรู้ราคาทรัพย์สินที่แน่นอน ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๘,๔๕๙,๔๖๐
๔.เมื่อทำสัญญาซื้อขายแล้ว ผู้ขายไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบในทรัพย์ที่ซื้อขายได้ โดยมีอีกบุคคลหนึ่งอ้างสิทธิ์ว่าตนมีสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นดีกว่า ถือว่าผู้ซื้อถูกรบกวนขัดสิทธิ์ในอันที่จะครอบครองทรัพย์โดยปกติสุข เพราะมีบุคคลอื่นอ้างสิทธิ์ว่าตนมีสิทธิ์เหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันในเวลาซื้อขาย อันเป็นความผิดของผู้ขายถือว่าผู้ซื้อถูกรอนสิทธิ์ ป.พ.พ. มาตรา ๔๗๕
๕.ผู้รับโอนไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้โอน ตามหลัก กรรมสิทธิ์ที่เจ้าของมีสิทธิ์ติดตามเอาคืนทรัพย์ของตนได้จากผู้ไม่มีสิทธิ์ที่จะยึดถือไว้และมีสิทธิ์ขัดขวางไม่ให้คนอื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของตนโดยไม่ชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖ ดังนั้น เมื่อผู้โอนไม่มีสิทธิ์ ผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้โอนแต่อย่างใด
๖.การที่ผู้ซื้อคนแรกไม่แจ้งให้ผู้ซื้อคนที่สองทราบว่าตนได้ซื้อขายทรัพย์ชิ้นนั้นเรียบร้อยแล้ว จนทำให้ผู้ซื้อคนที่สองเข้าใจว่าคนขายมีสิทธิ์ที่จะขายและโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวได้ ผู้ซื้อทรัพย์คนแรกจะอ้างว่าตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ขายไม่มีอำนาจขาย ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่จะโอนให้แก่บุคคลภายนอกดังนี้หาอาจอ้างได้ไม่ เป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา๕,๖ เพราะเมื่อตนได้ทำการซื้อขายทรัพย์กับเจ้าของแล้ว การที่เจ้าของจะนำทรัพย์ที่ขายให้ตนไปแล้วไปขายให้บุคคลภายนอกซึ่งไม่ทราบว่าทรัพย์ได้ขายไปแล้วให้ผู้ซื้อคนที่หนึ่ง ผู้ซื้อคนที่หนึ่งทราบก็มีหน้าที่ต้องบอกให้ผู้ซื้อคนที่สองทราบเพื่อให้ผู้ซื้อคนที่สองตัดสินใจ หากผู้ซื้อคนที่สองทราบแล้วยังซื้อ ก็ถือว่าผู้ซื้อคนที่สองสุจริตไม่ได้ถือว่าสิทธิ์ของผู้ซื้อคนแรกอันเป็นผู้รบกวนสิทธิ์ของผู้ซื้อคนที่สองนั้น ผู้ซื้อคนที่สองได้รู้อยู่แล้วในเวลาที่ทำการซื้อขาย ดังนี้ ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการที่ผู้ซื้อคนที่สองถูกรอนสิทธิ์โดยผู้ซื้อคนแรกแต่อย่างใดไม่ ป.พ.พ. มาตรา ๔๗๖ แต่หากไม่บอกผู้ซื้อคนที่สองทำให้ผู้ซื้อคนที่สองเข้าใจว่าผู้ขายมีสิทธิ์ที่จะขาย เมื่อผู้ซื้อคนที่สองซื้อโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนย่อมได้สิทธิ์ดีกว่าผู้ซื้อคนแรก ดังนั้นผู้ซื้อคนที่สองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสามารถร้องสอดเข้ามาว่าตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ทำการซื้อขายได้ดังกล่าวได้
๗.การที่เจ้าของทรัพย์ได้ขายทรัพย์ไปโดยยังไม่ได้ส่งมอบทรัพย์ให้ผู้ซื้อ แม้ตามกฎหมายจะถือว่ากรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้วก็ตาม แต่เมื่อยังไม่ได้ส่งมอบแต่ผู้ขายได้นำทรัพย์ดังกล่าวไปขายให้บุคคลอื่นที่รับซื้อโดยสุจริตไม่รู้ว่าได้มีการขายทรัพย์ชิ้นนี้แล้ว และมีการเสียค่าตอบแทนและได้ครอบครองทรัพย์นั้นแล้ว ย่อมได้สิทธิ์ดีกว่าผู้ซื้อคนแรก ซึ่งผู้ซื้อคนแรกถูกรบกวนสิทธิ์ที่จะครอบครองทรัพย์โดยปกติสุข เพราะผู้ซื้อคนที่สองมีสิทธิ์ดีกว่าเพราะได้ซื้อโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้เข้าครอบครองทรัพย์ที่ซื้อ ดังนี้ผู้ซื้อคนแรกถูกรอนสิทธิ์จากผู้ซื้อคนที่สองอย่างไร ถูกรอนสิทธิ์ที่ไม่ได้ใช้สอยทรัพย์ที่ซื้ออย่างไรต้องไปฟ้องร้องเอากับผู้ขายต่อไป แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าครอบครองทรัพย์ที่ขายได้แต่อย่างใดไม่
๘.กรณีที่ซื้อทรัพย์จากตัวแทนเจ้าของทรัพย์มีกรณีที่ต้องพิจารณาคือ หากตัวแทนไม่มีอำนาจขาย หรือทำการขายเกินกว่าอำนาจที่ตนมีอยู่หากเจ้าของทรัพย์ที่เป็นตัวการไม่ยินยอมไม่ให้สัตยาบันการนั้นย่อมไม่ผูกพันเจ้าของซึ่งเป็นตัวการ เว้นแต่เจ้าของจะให้สัตยาบันแก่การนั้น ป.พ.พ. มาตรา ๘๒๓ แต่หากซื้อทรัพย์จากตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจให้สามารถขายทรัพย์นั้นได้ เจ้าของทรัพย์ที่เป็นตัวการย่อมต้องมีความผูกพันในกิจการทั้งหลายที่ตัวแทนได้ทำไปในขอบอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๒๐ เมื่อผู้ซื้อซื้อทรัพย์จากตัวแทนที่มีอำนาจแล้ว และได้เข้าครอบครองทรัพย์นั้น เมื่อซื้อโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้เข้าครอบครองทรัพย์นั้นย่อมมีสิทธิ์ดีกว่า การที่เจ้าของทรัพย์ได้ขายรถให้แก่บุคคลอื่น โดยบุคคลที่สามรับซื้อไว้โดยสุจริตเสียค่าตอบแทน แต่เมื่อยังไม่ได้ครอบครองทรัพย์ ผู้ซื้อคนแรกที่ซื้อโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้ครอบครองทรัพย์นั้นก่อนย่อมมีสิทธิ์ดีกว่า ส่วนที่บุคคลภายนอกเสียหายอย่างไรถูกรอนสิทธิ์อย่างไรก็ชอบที่จะดำเนินคดีกับผู้ขายต่อไป
๙.บทบัญญัติดังกล่าวนี้ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เป็นเจ้าของทรัพย์เอาทรัพย์ชิ้นเดียวกันขายให้แก่บุคคลสองคน ใครรับซื้อโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและครอบครองทรัพย์ก่อนคนนั้นย่อมมีสิทธิ์ดีกว่าคนซื้อรายอื่น แต่บทบัญญัตินี้ไม่รวมถึงการนำทรัพย์ที่ตน “เช่า “ ไปขายให้คนอื่น เพราะคนเช่าไม่ใช่เจ้าของ ไม่มีสิทธิ์นำทรัพย์ที่ตนเช่าไปให้คนอื่นซื้อ กรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๓ ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้โอน ดังนั้น การที่ผู้โอนซึ่งเป็นเพียงผู้เช่าไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ซึ่งไม่มีสิทธิ์โอนขายทรัพย์ที่เช่า ได้นำทรัพย์ที่เช่าไปโอนขายให้บุคคลอื่น ผู้ซื้อย่อมไม่มีสิทธิ์เป็นไปตามหลักผู้โอนคือผู้เช่าซึ่งไม่มีสิทธิ์ขาย ดังนั้นผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้โอนซึ่งเป็นผู้เช่าแต่อย่างใด หรือในกรณีซื้อทรัพย์จากผู้ไม่มีอำนาจขาย ก็จะอ้างว่าตนซื้อโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้ครอบครองทรัพย์ที่ซื้อก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๓ ไม่ได้ เพราะคนโอนขายไม่มีสิทธิ์โอนขายได้ ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับโอนก็ไม่มีสิทธิ์เช่นกันตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้โอน
๑๐.การซื้อขายรถกรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อทันทีนับแต่ทำสัญญาซื้อขายกัน ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๘ หาจำเป็นต้องจดทะเบียนโอนเสียก่อนไม่ กฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์เป็นเพียงการควบคุมยานพาหนะและการเสียภาษีรถยนต์เท่านั้น ไม่ใช่แบบของนิติกรรมว่าหากไม่กระทำแล้วการซื้อขายไม่สมบรูณ์แต่อย่างใดไม่ เมื่อทำสัญญาซื้อขาย มีการชำระราคาและรับมอบรถโดยสุจริต แล้วย่อมมีสิทธิ์ดีกว่าคนอื่น
๑๑.เมื่อซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิ์ตามสัญญาซื้อขายและมีสิทธิ์เหนือสลากกินแบ่งรัฐบาล แม้จะทำสลากกินแบ่งหายไปก็ย่อมมีสิทธิ์ติดตามเอาคืนจากผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๓๖ ผู้ที่เก็บได้เป็นผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายไม่ใช่เจ้าของเพราะไม่ใช่กรณีเจ้าของสลากกินแบ่งรัฐบาลเลิกครอบครองสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยเจตนาสละการครอบครองหรือสละกรรมสิทธิ์อันจะถือว่าเป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๙ ได้ เมื่อไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ ผู้เก็บสลากดังกล่าวได้ไม่อาจอ้างว่าตนได้เข้าถือเอาสังหาริมทรัพย์อันไม่มีเจ้าของ อันจะได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๑๘ เพราะการเข้าถือเอาเป็นการเข้าถือเอาทรัพย์สินหายที่ผู้เก็บได้มีความผิดฐานยักยอกของตกตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๕๒ วรรค สอง จึงเป็นการเข้าถือเอาสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฏหมาย ทั้งเจ้าของสลากก็ไม่ได้มีเจตนาสละกรรมสิทธิ์ด้วยการเลิกครอบครองทรัพย์แต่อย่างใดไม่ ดังนั้นผู้ที่เก็บได้จึงไม่มีสิทธิ์นำสลากดังกล่าวไปขายให้ใครได้ ผู้รับซื้อสลากแม้จะรับซื้อโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้ครอบครองสลากก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในสลากเพราะบทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๓ ไม่ใช้กับกรณีทรัพย์สินหายและทรัพย์สินที่ได้มาจากกากรกระทำความผิด ซึ่งในกรณีนี้เป็นทั้งกรณีทรัพย์สินหายและทรัพย์ได้มาจากการกระทำความผิดฐานยักยอกของหาย
๑๒.รับซื้อทรัพย์ที่ได้จาการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ หรือซื้อรถที่ถูกลักมา แม้ซื้อโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและได้ครอบครองทรัพย์นั้นก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ผู้ซื้อต้องคืนทรัพย์แก่เจ้าของที่แท้จริงตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๓วรรคสองและ๑๓๓๖ ผู้ซื้อสามารถฟ้องเรียกเงินคืนจากผู้ขายได้ในฐานะตนถูกรอนสิทธิ์ไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่ซื้อมาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๗๕ การที่กรมตำรวจ(ในขณะนั้น)คืนรถแก่เจ้าของที่แท้จริงจึงไม่เป็นการละเมิดที่ผู้ซื้อทรัพย์จะมาฟ้องกรมตำรวจได้ตาม ป.ว.อ. มาตรา ๘๕วรรคท้าย

ไม่มีความคิดเห็น: