๑.พนักงานสอบสวนถามปากคำเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี โดยไม่มีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำ แม้ไม่ชอบด้วยกฏหมายแต่ก็ไม่มีผลถึงขนาดทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด ไม่อาจถือได้ว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนี้มาก่อน พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๗๒๔๑/๒๕๔๙
๒.พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้เด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีชี้ตัวผู้ต้องหาตาม ปวอ. มาตรา ๑๓๓ตรี แต่บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าพนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีการชี้ตัวทุกคดี เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน เพียงแต่ว่าหากมีการชี้ตัวต้องทำตามแบบที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น คำพิพากษาฏีกา ๒๘๓๔/๒๕๕๐
๓.พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับข้อหาที่ได้แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบแล้ว ปวอ. มาตรา ๑๓๔เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวน เพื่อให้ผู้ต้องหารู้ตัวว่าจะถูกสอบสวนในความผิดเรื่องใด หาได้หมายความว่าต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิดไม่ ถือมีการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง คำพิพากษาฏีกา ๔๓๐๘/๒๕๔๗,๑๘๑๖/๒๕๕๒ ,๒๓๕๑/๒๕๕๒,๒๕๖/๒๕๕๓,๑๑๐๕๙/๒๕๕๔
๔.พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา การที่ไม่แจ้งลายละเอียดในเรื่องที่กล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบก่อน คำให้การในชั้นสอบสวนอาจเสียไปไม่สามารถนำมาใช้ยันผู้ต้องหาในชั้นศาลได้ ตาม ปวอ. มาตรา ๑๓๔/๔(๑) แต่จากการนำสืบของพนักงานอัยการโจทก์ได้ความว่า ก่อนที่จะแจ้งข้อหา พนักงานสอบสวนเรียกผู้ต้องหาไปสอบถามเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดปรากฏตามบันทึกคำให้การจำเลยที่ ๑ และบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ ๒ ที่เขียนด้วยลายมือตัวเอง บันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ ๑ และบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ ๒ ย่อมเป็นพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองต่างรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น แม้ในวันที่แจ้งข้อหา พนักงานสอบสวนไม่ได้ย้ำถึงข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิด ก็เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองต่างรู้ดีว่า มูลคดีที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่องใด ซึ่งเห็นได้จากบันทึกคำให้การชั้นสบสวนของจำเลยทั้งสองต่างให้การตรงกันว่าทราบและเข้าใจข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบเป็นอย่างดีแล้ว การที่พนักงานสอบสวนไม่แจ้งข้อเท็จจริงและลายละเอียดของเรื่องที่จำเลยถูกกล่าวหาให้จำเลยทั้งสองทราบอีกครั้ง ไม่เป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบ คำพิพากษาฏีกา ๑๐๗๐๔/๒๕๕๓
ข้อสังเกต ๑. ในความผิดเกี่ยวกับเพศ ชีวิตร่างกายอันไม่ใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ กรรโชก ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีและเด็ก ความผิดเกี่ยวสถานบริการ หรือความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีร้องขอ เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องแจ้งนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการ เพื่อเข้าร่วมในการสอบปากคำเด็ก โดยให้พนักงานสอบสวนตั้งคำถามผ่านนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยา คำถามใดที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้ถามผ่านพนักงานสอบสวน นักจิตวิทยา โดยไม่ให้เด็กได้ยินคำถาม และห้ามถามเด็กซ้ำซ้อนโดยไม่มีเหตุอันควร ปวอ. มาตรา ๑๓๓ทวิ วรรคแรก
๒.ในกรณีเร่งด่วนอย่างยิ่ง มีเหตุอันควรไม่อาจรอนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ หรือพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำเด็ก พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบปากคำเด็กโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอยู่ร่วมด้วย โดยต้องบันทึกเหตุที่ไม่สามารถรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวน โดยไม่ถือว่าการสอบปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็ก เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปวอ. มาตรา ๑๓๓ ทวิ วรรคท้าย
๓.พนักงานสอบสวนถามปากคำเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี โดยไม่มีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำโดยไม่ใช่กรณีมีเหตุเร่งด่วนอย่างยิ่ง หรือมีเหตุอันควรไม่อาจรอนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ หรือพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำเด็ก การสอบปากคำเด็กย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่มีผลถึงขนาดทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด ไม่อาจถือได้ว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนี้มาก่อน พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องได้ตาม ปวอ. มาตรา ๑๒๐
๔.ในการปฏิบัติงานเคยเจอพนักงานสอบสวนสวนปากคำเด็กโดยไม่มีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำโดยไม่ใช่กรณีมีเหตุเร่งด่วนอย่างยิ่ง หรือมีเหตุอันควรไม่อาจรอนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ หรือพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำเด็ก โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่า แจ้งบุคคลดังกล่าวแล้วแต่ไม่สามารถติดต่อได้เนื่องจากเป็นวันหยุดสงกรานต์ ไม่มีเจ้าหน้าที่มาทำงาน เหตุที่ระบุนี้ไม่ใช่กรณีมีเหตุเร่งด่วนอย่างยิ่ง หรือมีเหตุอันควรไม่อาจรอนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ หรือพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำเด็ก หากเป็นจริง ก็สอบก่อนถึงวันสงกรานต์ หรือหลังวันสงกรานต์ก็ได้ ในส่วนของพนักงานอัยการมีการเข้าเวรสอบสวนเด็กดังนั้นจะอ้างว่าไม่มีพนักงานอัยการมาทำงานในช่วงเวลาดังกล่าวคงไม่สามารถอ้างได้ แต่สำหรับสหวิชาชีพอื่นจะมีเวรแบบอัยการหรือไม่ไม่ทราบ เมื่อส่งสำนวนมาถือการสอบสวนไม่สิ้นกระแสความ พนักงานอัยการต้องสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม โดยให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำเด็กใหม่โดยมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำ จะไปยึดตามคำพิพากษาฏีกาก็เสี่ยงเกินไป คำพิพากษาฏีกาสามารถกลับแนวได้เสมอ ปลอดภัยไว้ก่อนด้วยการให้สอบสวนปากคำเด็กใหม่
๕.ในกรณีพนักงานสอบสวนมีความจำเป็นต้องจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี ชี้ตัวบุคคลใด พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีการชี้ตัวในสถานที่เหมาะสมสำหรับเด็กและสามารถป้องกันไม่ให้บุคคลที่ถูกชี้ตัวนั้นเห็นเด็ก โดยมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการชี้ตัวบุคคลดังกล่าว เว้นแต่มีความจำเป็นไม่อาจหาหรือรอบุคคลหนึ่งบุคคลใดดังกล่าวข้างต้นได้ และเด็กไม่มีความประสงค์ให้มีหรือรอบุคคลดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนบันทึกเอาไว้ หรือในกรณีชี้ตัวเด็กที่เป็นผู้กระทำผิดที่อายุไม่เกิน ๑๘ ปี ให้จัดให้มีการชี้ตัวในสถานที่เหมาะสมสำหรับเด็กและสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กเห็นตัวบุคคลที่มาชี้ตัว ปวอ. มาตรา ๑๓๓ ตรี
๖.การที่พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้เด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปีชี้ตัวผู้ต้องหาตาม ปวอ. มาตรา ๑๓๓ตรี แต่บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าพนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีการชี้ตัวทุกคดี เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนหากเห็นว่ามีความ “ จำเป็น” ต้องทำการชี้ตัว เพียงแต่ว่าหากมีการชี้ตัวต้องทำตามแบบที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้นคือต้องมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการชี้ตัวด้วย และการชี้ตัวต้องกระทำในสถานที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาเห็นเด็กได้ บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าต้องมีการชี้ตัวทุกคดีเป็นดุลพินิจพนักงานสอบสวนที่จะมีการชี้ตัวหรือไม่ก็ได้ แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีการชี้ตัวก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งสิ้น พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง
๗.การที่พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับข้อหาที่ได้แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบแล้ว จะถือว่าการสอบสวนไม่ชอบไม่ได้ เพราะ ปวอ. มาตรา ๑๓๔เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวน เพื่อให้ผู้ต้องหารู้ตัวว่าจะถูกสอบสวนในความผิดเรื่องใดโดยต้องมีการแจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดและจึงมีการแจ้งข้อหา บทกฏหมายดังกล่าว หาได้หมายความว่าต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิดไม่ ถือมีการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง แต่หากไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งข้อหาใดๆแก่ผุ้ต้องหาเลยถือเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ปวอ. มาตรา ๑๓๔ การสอบสวนย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะทำให้อำนาจฟ้องของพนักงานอัยการมีปัญหา
๘.เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียกหรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนด้วยตัวเอง หรือผู้ที่มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา เมื่อพนักงานสอบสวนถามชื่อที่อยู่และลายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดแล้วจึงแจ้งข้อหา ปวอ. มาตรา ๑๓๔
๙.การที่พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา การที่ไม่แจ้งลายละเอียดในเรื่องที่กล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบก่อน คำให้การในชั้นสอบสวนอาจเสียไปไม่สามารถนำมาใช้ยันผู้ต้องหาในชั้นศาลได้ ตาม ปวอ. มาตรา ๑๓๔/๔(๑) กฎหมายต้องการเพียงให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงก่อนว่าผู้ต้องหาได้ไปกระทำอะไรมา แล้วการกระทำนั้นเป็นความผิดอะไรแล้ว จึงมีการแจ้งข้อหาต่อผู้ต้องหา แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำผิดก่อนมีการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาก็ตามแต่จากการนำสืบของพนักงานอัยการโจทก์ได้ความว่า ก่อนที่จะแจ้งข้อหา พนักงานสอบสวนเรียกผู้ต้องหาไปสอบถามเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดปรากฏตามบันทึกคำให้การจำเลยที่ ๑ และบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ ๒ ที่เขียนด้วยลายมือตัวเอง บันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ ๑ และบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ ๒ ย่อมเป็นพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองต่างรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้วว่าตนถูกกล่าวหาเรื่องอะไรเพราะไปทำอะไรมา แม้ในวันที่แจ้งข้อหา พนักงานสอบสวนไม่ได้ย้ำถึงข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิด ก็เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองต่างรู้ดีว่า มูลคดีที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่องใดที่ตนได้ไปกระทำมา ซึ่งเห็นได้จากบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองต่างให้การตรงกันว่าทราบและเข้าใจข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบเป็นอย่างดีแล้ว การที่พนักงานสอบสวนไม่แจ้งข้อเท็จจริงและลายละเอียดของเรื่องที่จำเลยถูกกล่าวหาให้จำเลยทั้งสองทราบอีกครั้ง ไม่เป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบ พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง แต่ทางปฏิบัติคำพิพากษาฏีกาอาจเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นทำตามตัวบทกกหมายปลอดภัยกว่าครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น