ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ขูดลบตกเติมแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม”

๑.ทำพินัยกรรมสองฉบับลงวันเดือนปีเดียวกัน ฉบับที่ยกทรัพย์ให้จำเลยเขียนชื่อผู้รับไว้เรียบร้อย ฉบับที่ยกให้โจทก์ เว้นชื่อรับพินัยกรรมไว้ เจ้ามรดกเพิ่งกรอกชื่อโจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรมในภายหลัง ถือว่าพินัยกรรมที่ยกให้โจทก์เป็นพินัยกรรมภายหลังมีผลเพิกถอนพินัยกรรมฉบับจำเลย การกรอกชื่อผู้รับพินัยกรรมในช่องว่าง ไม่ใช่การขูดลบตกเติม เปลี่ยนแปลงพินัยกรรม จึงไม่ต้องเซ็นชื่อกำกับ คำพิพากษาฏีกา ๑๖๒๔/๒๕๑๑
๒.พินัยกรรมที่ใช้พิมพ์ดีดพิมพ์ทั้งฉบับไม่ใช่พินัยกรรมที่เขียนเองทั้งฉบับ แต่เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาที่ต้องมีพยานรู้เห็น การที่พยานลงลายมือชื่อในภายหลังขัดต่อกฎหมายพินัยกรรมตกเป็นโมฆะ คำพิพากษาฏีกา ๒๑๐๒/๒๕๕๑
๓.เจ้ามรดกขีดฆ่าข้อความในพินัยกรรมโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับ การขีดฆ่าเป็นเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อยไม่สำคัญ ไม่ได้ทำให้เสียถ้อยกระทงความไป หาทำให้พินัยกรรมเสียไปทั้งฉบับไม่ พินัยกรรมมีผลสมบรูณ์อยู่ ไม่ใช่เป็นการเพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรม แม้มีการขีดฆ่าออกไป พินัยกรรมก็มีสาระสำคัญครบถ้วนเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ส่วนการที่ข้อความในพินัยกรรมในส่วนที่แก้ไขตกเติม ไม่ได้มีการลงวันเดือนปีที่แก้ไข ทั้งผู้ทำพินัยกรรมและพยานในพินัยกรรมไม่ได้ลงชื่อกำกับในพินัยกรรม พินัยกรรมย่อมมีผลสมบรูณ์เฉพาะส่วนที่มีการแก้ไขตกเติม แต่ข้อความที่ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม การแก้ไขเพิ่มเติมพินัยกรรมที่ไม่ทำให้ถูกต้องตามแบบ หามีผลทำให้พินัยกรรมในส่วนที่สมบรูณ์ตกเป็นโมฆะไม่ คำพิพากษาฏีกา๓๓๙๔/๒๕๔๘
๔.เขียนพินัยกรรมทั้งฉบับลงวันเดือนปีและลายมือชื่อผู้ตายถูกต้อง มีข้อความว่า “ ทรัพย์สินเงินทองข้าวที่อยู่ในห้องของข้าพเจ้านี้ขอมอบให้ทายาทของข้าพเจ้าในเมื่อข้าพเจ้าตายไปแล้ว” มีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่า ผู้ตายประสงค์ยกทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งเงินในสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่พบในห้องนอนของผู้ตายให้แก่ทายาทเมื่อผู้ตายมรณภาพแล้ว การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มเติมต่อไปว่า “และในสมุดฝากในธนาคารต่างๆด้วย” แม้ไม่ชอบตามกฎหมาย เพราะผู้ตายไม่ได้ลงชื่อกำกับ ก็มีผลเพียงว่าไม่มีการเติมข้อความดังกล่าวเท่านั้น ส่วนข้อความอื่นยังคงสมบรูณ์หามีผลให้พินัยกรรมที่สมบรูณ์ตกเป็นโมฆะไม่ คำพิพากษาฏีกา ๖๔๓๓/๒๕๔๖
๕.ผู้ตายเขียนพินัยกรรมในไดอารี่ด้วยตนเองและลงลายมือชื่อในสมุดบันทึกถือเป็นพินัยกรรมแล้ว คำพิพากษาฏีกา ๘๘๔/๒๕๒๗
ข้อสังเกต ๑.พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ผู้ทำต้องเขียนด้วยมือตัวเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลงลายมือชื่อของตน การขูดลบ ตก เติม การเปลี่ยนแปลงแก้ไขในพินัยกรรมไม่สมบรูณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมได้ทำด้วยมือตัวเอง และลงลายมือชื่อกำกับ ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๗
๒.การเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนด้วยพินัยกรรมฉบับหลัง การเพิกถอนพินัยกรรมจะสมบรูณ์เมื่อพินัยกรรมฉบับหลังได้ทำตามแบบใดแบบหนึ่งที่กฏหมายบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๙๔,๑๖๙๗
๓.ทำพินัยกรรมสองฉบับลงวันเดือนปีเดียวกัน ย่อมมีผลใช้บังคับได้ทั้งสองฉบับหากทรัพย์ที่ยกให้แก่บุคคลใดเป็นทรัพย์คนละชิ้นกัน หากเป็นทรัพย์ชิ้นเดียวกันก็คงต้องดูเวลาที่ทำ แม้พินัยกรรมทั้งสองฉบับทำในวันเดือนปีเดียวกัน แต่คงไม่ได้ทำในเวลาเดียวกัน พินัยกรรมฉบับหลังย่อมเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกเดียวกัน แต่ในกรณีตามปัญหาปรากฏว่าแม้พินัยกรรมสองฉบับทำวันเดือนปีเดียวกัน แต่ฉบับหนึ่งลง ชื่อผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมแล้วย่อมเป็นพินัยกรรมที่ใช้บังคับได้ ส่วนพินัยกรรมฉบับหลังที่ไม่ได้ลงชื่อผู้รับพินัยกรรมจึงไม่มีผลสมบรูณ์เป็นพินัยกรรม เมื่อต่อมาผู้ทำพินัยกรรมได้ลงชื่อในช่องผู้รับพินัยกรรม พินัยกรรมฉบับหลังย่อมใช้บังคับได้ มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกในส่วนที่เป็นทรัพย์สินชิ้นเดียวกัน โดยพินัยกรรมฉบับที่ยกทรัพย์ให้จำเลยเขียนชื่อผู้รับไว้เรียบร้อย ฉบับที่ยกให้โจทก์ เว้นชื่อรับพินัยกรรมไว้ เจ้ามรดกเพิ่งกรอกชื่อโจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรมในภายหลัง ถือว่าพินัยกรรมที่ยกให้โจทก์เป็นพินัยกรรมภายหลังมีผลเพิกถอนพินัยกรรมฉบับจำเลย การกรอกชื่อผู้รับพินัยกรรมในช่องว่าง ไม่ใช่การขูดลบตกเติม เปลี่ยนแปลงพินัยกรรม จึงไม่ต้องเซ็นชื่อกำกับ พินัยกรรมจึงไม่เสียไปเพราะเป็นการเติมคำในช่องว่างไม่ใช่การแก้ไขตกเติมเปลี่ยนแปลงแต่เป็นการทำพินัยกรรมที่ไม่สมบรูณ์ให้เป็นพินัยกรรมที่สมบรูณ์ขึ้นด้วยการเติมชื่อผู้รับพินัยกรรม กรณีนี้ไม่เหมือนกรณีพินัยกรรมแบบมีพยานที่พยานต้องลงลายมือชื่อพร้อมกันอย่างน้อยสองคน หากพยานมาลงชื่อในภายหลังจากทำพินัยกรรมไปแล้ว พินัยกรรมตกเป็นโมฆะตาม ปพ.พ. มาตรา ๑๖๕๖,๑๗๐๕ แต่กรณีที่ทำพินัยกรรมยังไม่ระบุใครเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมถือเป็นพินัยกรรมที่ยังไม่เป็นพินัยกรรมเพราะไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม
๔.พินัยกรรมแบบธรรมดา เป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรมเป็นหนังสือลงวันเดือนปีที่กระทำ และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ซึ่งพยานทั้งสองคนต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๖ ส่วนพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ เป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือชื่อของตน ซึ่งมีวันเดือนปีและลงลายมือชื่อของตน ป.พ.พ.๑๖๕๗ ดังนั้นการที่ผู้ทำพินัยกรรมใช้พิมพ์ดีดหรือเครื่องคอมพิวเตอร์พิมพ์ข้อความย่อมไม่ใช่การเขียนเองทั้งฉบับจึงไม่ใช่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ แต่เป็นพินัยกรรมตามแบบธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๖ ซึ่งต้องมีพยานลงลายมือชื่อไว้อย่างน้อยสอง โดยพยานทั้งสองต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น เมื่อพยานมาลงลายมือชื่อไว้ในภายหลังทำให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๖,๑๗๐๕ เมื่อพินัยกรรมตกเป็นโมฆะ ทรัพย์สินตามพินัยกรรมย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือตกแก่แผ่นดินกรณีไม่มีทายาท ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๙๙,๑๗๕๓
๕การที่กฎหมายบัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในพินัยกรรม ผู้ทำพินัยกรรมต้องทำด้วยตัวเองและลงลายมือชื่อกำกับไว้ นั้นหมายเฉพาะการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความสำคัญในพินัยกรรม เช่น ใครเป็นผู้รับทรัพย์ในพินัยกรรม ทรัพย์พินัยกรรมมีอะไรบ้างตกแก่ใคร ทำพินัยกรรมเมื่อใด เหล่านี้เป็นสาระสำคัญในพินัยกรรม การที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงต้องมีการลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมกำกับไว้ .การที่เจ้ามรดกขีดฆ่าข้อความในพินัยกรรมโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับ การขีดฆ่าในเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อยไม่สำคัญ ไม่ได้ทำให้เสียถ้อยกระทงความไป หาทำให้พินัยกรรมเสียไปทั้งฉบับไม่ พินัยกรรมมีผลสมบรูณ์อยู่ ไม่ใช่เป็นการเพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรม แม้มีการขีดฆ่าออกไป พินัยกรรมก็มีสาระสำคัญครบถ้วนเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับคือพินัยกรรมเขียนโดยผู้ทำพินัยกรรมทั้งฉบับ มีการลงวันเดือนปีที่พร้อมลงลายมือชื่อคนทำเอาไว้ ส่วนการที่ข้อความในพินัยกรรมในส่วนที่แก้ไขตกเติม ที่ไม่ได้มีการลงวันเดือนปีที่แก้ไข ทั้งผู้ทำพินัยกรรมและพยานในพินัยกรรมไม่ได้ลงชื่อกำกับในพินัยกรรม พินัยกรรมย่อมมีผลสมบรูณ์เฉพาะส่วนที่มีการแก้ไขตกเติม แต่ข้อความที่ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม การแก้ไขเพิ่มเติมพินัยกรรมที่ไม่ทำให้ถูกต้องตามแบบ หามีผลทำให้พินัยกรรมในส่วนที่สมบรูณ์ตกเป็นโมฆะไม่ คือพินัยกรรมมีทั้งที่สมบรูณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย และมีส่วนที่ไม่สมบรูณ์ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อมีทั้งส่วนสมบรูณ์และส่วนไม่สมบรูณ์อยู่ในฉบับเดียวกัน สามารถแยกส่วนสมบรูณ์ออกจากส่วนไม่สมบรูณ์ออกจากกันได้ ดังนั้นข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงไม่เสียไปทั้งหมด ไม่ทำให้พินัยกรรมเสียไปทั้งฉบับ
๖พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับที่ผู้ทำพินัยกรรมเขียนด้วยลายมือชื่อของตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด มีการลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อของตนครบถ้วนสมบรูณ์เป็นพินัยกรรมแล้ว. มีข้อความว่า “ ทรัพย์สินเงินทองข้าวที่อยู่ในห้องของข้าพเจ้านี้ขอมอบให้ทายาทของข้าพเจ้าในเมื่อข้าพเจ้าตายไปแล้ว” มีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่า ผู้ตายประสงค์ยกทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งเงินในสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่พบในห้องนอนของผู้ตายให้แก่ทายาทเมื่อผู้ตายมรณภาพแล้ว การที่ผู้ตายเขียนข้อความเพิ่มเติมต่อไปว่า “และในสมุดฝากในธนาคารต่างๆด้วย”โดยไม่ได้ลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมกำกับไว้ แม้ไม่ชอบตามกฎหมาย ก็หาทำให้พินัยกรรมทั้งฉบับตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๗,๑๗๐๕ แต่อย่างใดไม่ คงมีผลเพียงข้อความที่เติมลงไปตกเป็นโมฆะเสมือนหนึ่งไม่ได้มีการเขียนข้อความดังกล่าวลงไปเท่านั้น ส่วนข้อความอื่นยังคงสมบรูณ์หามีผลให้พินัยกรรมที่สมบรูณ์ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับไม่ เพราะเป็นการทำพินัยกรรมที่เป็นการทำนิติกรรมที่สามารถแยกส่วนที่สมบรูณ์ออกจากส่วนที่ไม่สมบรูณ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา๑๗๓
๗.ผู้ตายเขียนพินัยกรรมในไดอารี่ด้วยตนเองและลงลายมือชื่อในสมุดบันทึกถือเป็นพินัยกรรมแล้ว กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า การทำพินัยกรรมต้องทำในกระดาษอะไรอย่างไหน จะทำที่ไหนก็ได้ เป็นกระดาษหรืออยู่ในสมุดก็ได้ขอให้ทำถูกต้องตามแบบที่กฏหมายกำหนดไว้ก็เป็นอันใช้ได้

ไม่มีความคิดเห็น: