ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร”

๑.จดทะเบียนหย่าและคู่สมรสฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์เพียงผู้เดียว คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก็ยังมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตามกฎหมาย คำพิพากษาฏีกา ๗๒๔๙/๒๕๔๖
๒.การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะปฏิเสธไม่ได้ ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ให้ศาลคำนึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี เมื่อศาลเชื่อว่าคู่สมรสทั้งสองฝ่ายสามารถให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และแบ่งความรับผิดให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ ๑๕,๐๐๐บาท เท่ากับคนละ ๗,๕๐๐ บาทต่อเดือนจึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยยกสินสมรสของจำเลยให้โจทก์เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแล้วจึงไม่ต้องรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรอีกนั้น การแบ่งสินสมรสเป็นคนล่ะส่วนกับหน้าที่ในฐานะบิดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตามกฏหมาย จึงไม่อาจยกข้อดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๕๖๘/๒๕๕๒
๓.บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ไม่มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตร เมื่อถึงแก่ความตายบุตรจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ทำละเมิดแก่ผู้ตายได้ คำพิพากษาฏีกา ๕๑๓/๒๕๔๖
๔.การที่บุตรและบิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูกันนั้น หมายถึงบุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดสิทธิ์และหน้าที่ให้บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฏหมายแต่อย่างใด แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วจะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิ์รับมรดกบิดาได้ แต่ก็ไม่มิสิทธิ์เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา ดังนั้นบุตรนอกกฏหมายจึงไม่มีสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ทำละเมิดให้บิดาตนถึงแก่ความตายได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๔๐๙/๒๕๔๘
๕.รายได้จากเงินเดือนของจำเลยไม่พออุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง จึงให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ คำพิพากษาฏีกา ๒๕๐๔/๒๕๕๒
๖.หย่าขาดกจากการเป็นสามีภรรยาโดยตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ ไม่ได้ตกลงว่าโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูคนเดียว เมื่อโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์คนเดียวจนบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์มีสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่โจทก์ได้ออกไปนับแต่วันหย่าจนกระทั้งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้และเข้าใช้หนี้นั้น แม้ขณะยื่นฟ้องบุตรจะบรรลุนิติภาวะก็ตาม ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเท่าไหร่อยู่ที่ศาลกำหนด คำพิพากษาฏีกา ๒๖๙๗/๒๕๔๘
๗.สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิ์ของบุตรแต่ละคนที่จะพึงได้รับ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองรวมกันจึงไม่ถูกต้อง ควรกำหนดเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคน “ แต่ละคน” นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อบุตรคนแรกบรรลุนิติภาวะแล้วให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นรายเดือนแก่บุตรคนที่สองจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ คำพิพากษาฏีกา ๓๕๙๖/๒๕๔๖
๘.คำร้องขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ และให้ถอดถอนอำนาจปกครอง ของ ป. และตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง อันส่งผลต่อค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะหากศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้ร้องก็ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แก่ ป. ตามที่กำหนดไว้ท้ายการหย่า ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และถือได้ว่า คำขอให้ถอนอำนาจผู้ปกครองและขอให้ตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่เป็นคำขอหลัก ส่วนคำขอให้ใช้ค่าอุปการละเลี้ยงดูเป็นคำร้องขอ แม้ข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจะกำหนดให้ ป.เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง แต่หากภายหลังจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจปกครอง ศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ คำพิพากษาฏีกา ๕๖๘๑/๒๕๕๒
ข้อสังเกต ๑. บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูอุปการะและให้การศึกษาตามสมควรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บรรลุนิติภาวะเฉพาะที่ทุพลภาคและหาเลี้ยงชีพตาเองไม่ได้เท่านั้น ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๓,๑๕๖๔
๒.บุคคลบรรลุนิติภาวะเมื่อ อายุครบ ๒๐ ปีบริบรูณ์ หรืออายุน้อยกว่า ๒๐ ปีบริบรูณ์แต่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสคือกรณีชายหรือหญิงหรือทั้งสองฝ่ายมีอายุต่ำกว่า ๑๗ปีบริบรูณ์ โดยมีเหตุอันควร เช่น หญิงตั้งครรถ์ ศาลอนุญาตให้ทำการสมรสและมีการจดทะเบียสมรส ป.พ.พ. มาตรา ๑๙,๒๐,๑๔๓๖,๑๔๔๘,๑๔๕๗
๓.บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรและให้การศึกษาแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ดังนั้นแม้หย่าขาดจากกันตกลงให้อำนาจปกครองอยู่กับคู่สมรสฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายก็ยังมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จะอ้างว่าตกลงหย่ากันแล้วให้อำนาจปกครองอยู่กับคู่สมรสอีกฝ่ายไม่ได้
๔.บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ จะปฏิเสธหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้ ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภรรยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตร ย่อมสามารถเรียกจากอีกฝ่ายได้ หากฝ่ายที่ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดู หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอแก่อัตตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูศาลให้เพียงใด หรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งคดี เช่นบุตรมีรายได้ท่วมค่าเลี้ยงดูและค่าการศึกษา บิดาก็ไม่จำเป็นต้องอุปการะเลี้ยงดู เช่นบุตรเป็นนักแสดงมีรายได้จากการแสดงหนัง การเดินแบบ เป็นตัวแทนโฆษณาสินค้า มีค่าตัวเป็นหลักแสนสูงท่วมเกินค่าเลี้ยงดูและค่าการศึกษา เป็นจำนวนมากดังนี้บิดามารดาก็ไม่จำต้องอุปการะเลี้ยงดู เพียงแต่มีหน้าที่ต้องนำรายได้ของเด็กเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาก่อน ส่วนที่เหลือบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองต้องเก็บรักษาเพื่อส่งมอบให้เด็ก และหากผู้ใช้อำนาจปกครองไม่มีเงินเพียงพอแก่ค่าครองชีพตามสมควรแก่ฐานะ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะใช้เงินดังกล่าวก็ได้ เว้นแต่เป็นเงินที่ได้จากการให้โดยเสนาหาหรือมีพินัยกรรมห้ามไม่ให้ผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กได้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๗๓ คำพิพากษาฏีกา ๑๓๙๓/๒๔๙๔
๕.ดังนั้นเมื่อศาลเชื่อว่าคู่สมรสทั้งสองฝ่ายสามารถให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และแบ่งความรับผิดให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ ๑๕,๐๐๐บาท เท่ากับคนละ ๗,๕๐๐ บาทต่อเดือนจึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
๖.ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยยกสินสมรสของจำเลยให้โจทก์เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแล้วจึงไม่ต้องรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรอีกนั้น การแบ่งสินสมรสเป็นคนล่ะส่วนกับหน้าที่ในฐานะบิดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตามกฏหมาย จึงไม่อาจยกข้อดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดได้ เพราะบิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร เมื่อมีการหย่ากันต้องแบ่งสินสมรสออกเป็นสองส่วนเท่าๆกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๓๓ การยกสินสมรสในส่วนของตนให้กับคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ก็เป็นคนละส่วนกับหน้าที่ต้องอุปผการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมาย ไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติว่า เมื่อยกสินสมรสในส่วนของตนให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแล้ว หน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นอันหมดไป เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้ หน้าที่ซึ่งต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรจึงยังคงมีอยู่ตามกฎหมาย
๗.บิดามารดาไม่จดทะเบียนสมรส บุตรไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชายแต่เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายหญิง การที่บิดารับรองบุตรโดยให้ใช้นามสกุล ให้การศึกษา ไปแจ้งเกิดบุตร จัดงฃานเลี้ยงรับบุตรที่เกิดก็เป็นเพียงบิดารับรองบุตรมีผลเพียงให้บุตรสามารถรับมรดกของบิดาได้เหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่ทำให้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็ก เพราะบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง เมื่อไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฏหมายบุตรจึงไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร ดังนั้นเมื่อบิดาถูกคนอื่นทำให้ถึงแก่ความตาย บุตรย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ทำละเมิดได้
๘. บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาบุตรร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๔ จึงมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วม ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมด้วยกัน ต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๙๖ เมื่อสามีภรรยาหย่าขาดจากกันโดยตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ โดยไม่ได้ตกลงว่าโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูคนเดียว เมื่อโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์คนเดียวจนบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแทนจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่โจทก์ได้ออกไปนับแต่วันหย่าจนกระทั้งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้และเข้าใช้หนี้นั้น เพราะในระหว่างลูกหนี้ด้วยกันต่างต้องรับผิดเป็น่ส่วนเท่าๆกัน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อได้ชำระหนี้ไปแล้วย่อมสามารถเรียกส่วนที่ตนจะชำระจากลุกหนี้ร่วมคนอื่นได้ เมื่อค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาต้องร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูบุตรด้วยกันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วม เมื่อลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งชำระหนี้แทนไปย่อมใช้สิทธิ์ไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ร่วมคนอื่นที่ตนใช้สิทธิ์แทนไป
๙. แม้ขณะยื่นฟ้องบุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตามก็ไม่ทำให้สิทธิ์ในการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหมดไป เพราะสิทธิ์เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ออกแทนไปก่อนนั้นมีอยู่และเกิดขึ้นในระหว่างที่บุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ แม้จะมาฟ้องภายหลังบุตรบรรลุนิติภาวะไปแล้วก็ไม่ทำให้สิทธิ์ดังกล่าวหมดไป ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเท่าไหร่อยู่ที่ศาลจะกำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๒๒
๑๐.หากพฤติการณ์รายได้ฐานะของคู่สมรสอีกฝ่ายเปลี่ยนไปและพฤติการณ์รายได้หรือฐานะผู้เรียกร้องอยู่ในสภาพที่ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ผู้เรียกร้องอาจขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งใหม่ได้ เช่น ศาลพิพากษาให้หย่ากัน โดยบุตรอยู่กับมารดา เนื่องจากบิดาไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่งศาลจึงไม่พิพากษาให้บิดาจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูต่อมาบิดาเกิดค้าขายร่ำรวยหรือถูกล๊อตเตอร์รี่รางวัลที่ ๑มีฐานะดีขึ้นในขณะที่มารดาทำธุรกิจค้าขายขาดทุนเป็นหนี้ ดังนี้มารดาเด็กอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงให้ฝ่ายชายจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้

ไม่มีความคิดเห็น: