ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตร ๓๓๙


มาตรา 339     ผู้ใดลักทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1)   ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(2)   ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(3)   ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(4)   ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
(5)   ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาท
ถ้าความผิดนั้น เป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใด แห่งมาตรา 335 หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็น โค กระบือ เครื่องกล หรือเครื่องจักร ที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

-          ความผิดสำเร็จ ฐานชิงทรัพย์
-          ผู้กระทำมีเจตนาประสงค์ต่อทรัพย์
-          ฎ 445/2537 จำเลยใช้มีดจี้ผู้เสียหาย และดึงสร้อยคอจากคอผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายส่งเสียงดัง จำเลยคืนสร้อยให้ผู้เสียหายไป จำเลยกระทำโดยมิได้มีความประสงค์ต่อทรัพย์ที่แท้จริง จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ
-          ผู้กระทำใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อได้ทรัพย์ตามลักษณะ มาตรา 339 (1) – (5)
-          1626/2500 จำเลยฆ่าเจ้าทรัพย์ แล้วเกิดทุจริต เอาทรัพย์ภายหลัง ผิดลักทรัพย์ และฆ่าผู้อื่น เป็นความผิดต่างกรรม
-          1337/2532 จำเลยตบหน้าเจ้าทรัพย์ แล้วขับรถไปโดยทุจริต ผิด ม 334 และ ม 391 ไม่ผิด ม 339 เพราะไม่ปรากฏว่า ตบหน้าด้วยเหตุอย่างใด อย่างหนึ่ง ตาม ม 339 (1) – (5)
-           ผู้เสียหายส่งมอบทรัพย์ ตามที่ถูกขู่เข็ญ
-          399/2482 ผู้เสียหายส่งมอบทรัพย์ เพื่อจับกุม ผิดพยายามชิงทรัพย์
-          1985/2517 จำเลย ยิงเพื่อเอาทรัพย์ แต่ยังไม่ได้ทรัพย์ เป็นพยายาม
-          ฎ 1885/2522 คนร้ายแย่งชิงกระเป๋าถือ ขณะยื้อแย่งกระเป๋ากันอยู่ ตำรวจยิงปืนขึ้นฟ้า กระเป๋าตกลงกับพื้น ผู้เสียหายเก็บคืนมา คนร้ายยังไม่ได้กระเป๋าไป เป็นพยายามชิงทรัพย์
-          ฎ 2147/2527 จำเลยใช้เหล็กปลายแหลมจี้ขู่บังคับให้ผู้เสียหายถอดสร้อยคอให้ ผู้เสียหายกำลังจะถอดมีผู้เข้าช่วย จำเลยจึงกระชากพระเครื่อง ซึ่งกลัดเข็มกลัดไว้ที่เสื้อ พระเครื่องตกลงที่พื้นรถ ยังไม่ได้เอาไป และยังมิได้เข้ายึดถือครอบครองพระเครื่องนั้นเลยความผิดฐานชิงทรัพย์ยังไม่สำเร็จ เป็นเพียงพยายามชิงทรัพย์
-          การได้ทรัพย์ไป ต่อเนื่องกับ การประทุษร้าย หรือขู่เข็ญ
-          ฎ 1408/2512 กรณีที่จำเลยลักกระบือของผู้เสียหาย ผู้เสียหายไล่ติดตามอีก 10 วาจะทัน จำเลยทิ้งกระบือวิ่งหนี ผู้เสียหายไล่ตามต่อไปอีกเพื่อจะจับกุม จำเลยชักปืนออกจ้องย่อมเป็นการขู่เข็ญจะทำร้ายผู้เสียหาย เพื่อให้พ้นจากการจับกุม เป็นการกระทำต่อเนื่องกับการลักทรัพย์ เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 แล้ว
-          ฎ 555/2513 จำเลย 3 คนร่วมกันลักไก่ของผู้เสียหายไปจากบ้านผู้เสียหาย ผู้เสียหายกับพวกตามไปทัน ห่างจากบ้านผู้เสียหายราว 3 - 4 เส้น จำเลยคนหนึ่งชักมีดออกมาขู่ไม่ให้ตาม การกระทำของจำเลยทั้งสามเข้าเกณฑ์ปล้นทรัพย์
-          ฎ 2399/2518 จำเลยลักไก่ไปจากบ้านผู้เสียหาย ต่อมา 1 ชั่วโมง ผู้เสียหายตามไปพบจำเลยกับไก่ที่กระท่อมของ จ. ห่างที่เกิดเหตุ 100 เส้น จำเลยถือเหล็กแหลมจ้องมาทางผู้เสียหาย การลักทรัพย์ขาดตอนแล้ว ไม่เป็นชิงทรัพย์
-          ฎ 2674/2532 จำเลยลักทรัพย์สำเร็จแล้ว ขณะหลบหนี ญ.ผู้ดูแลรักษาทรัพย์นั้นได้วิ่งไล่จับจำเลย  จำเลยสะบัดหลุดแล้วใช้มีดแทง ญ. ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน ยังไม่ขาดตอนจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การที่จำเลยใช้มีดแทง ญ.เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุมการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

-          ประเด็นเปรียบเทียบ ความผิดฐานชิงทรัพย์ กับความผิดฐานกรรโชก สรุป (อ หม่อมหลวงไกรฤกษ์ (เน 51/11/50))
-          ชิงทรัพย์ มาจาก ลักทรัพย์ ทรัพย์จึงหมายถึง สังหาริมทรัพย์ส่วน กรรโชก รวมถึง อสังหาริมทรัพย์” “สิทธิและ ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน
-          กรรโชก มีเพียง เจตนาธรรมดาส่วน ชิงทรัพย์ มาจาก ลักทรัพย์ ต้องมีเจตนาพิเศษ โดยทุจริตด้วย
-          ชิงทรัพย์ เป็นการใช้กำลัง หรือขู่เข็ญ ไม่รวมเสรีภาพ ส่วน กรรโชก เป็นการขู่เข็ญ หรือใช้กำลัง รวมถึงเสรีภาพด้วย
-          ชิงทรัพย์ เป็นการขู่เข็ญ เพื่อให้ได้ทรัพย์สิน ในทันที ขณะกระทำส่วน กรรโชก ไม่จำเป็นต้องได้ทรัพย์สินในทันที
-          กรรโชก เมื่อยอมตามที่ถูกขู่เข็ญ แม้ยังไม่ส่งมอบทรัพย์ ก็ผิดสำเร็จ ส่วน ชิงทรัพย์ ผิดสำเร็จ เมื่อส่งมอบทรัพย์ ตามที่ถูกขู่เข็ญ

-          ประเด็นเปรียบเทียบ ความผิดฐานชิงทรัพย์ กับความผิดฐานกรรโชก (ที่มา คือ หนังสือเตรียมสอบ ทบทวนสรุปย่อ วิธีไล่สาย กม.อาญา ของท่าน ผู้พิพากษา วินัย เลิศประเสริฐ)
1 ชิงทรัพย์ ขู่ต่อชีวิต - ร่างกายของผู้ถูกขู่ (339)
1. แต่ กรรโชกขู่ต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรืออย่างอื่น ของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือบุคคลที่ 3 (337)
2. ถ้าเป็นชิงทรัพย์ ก็โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือ ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้น จะใช้กำลังประทุษร้าย (339)
2. ถ้าเป็นกรรโชก ก็ กรณีขู่ต่อชีวิต ร่างกาย เป็นการขู่ในอนาคต
3. ชิงทรัพย์ จะขู่เอาทรัพย์เท่านั้น แต่
3. กรรโชก จะขู่เอาทรัพย์ หรือ ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน
4. (ชิงทรัพย์) ความผิดสำเร็จเมื่อได้ทรัพย์ หรือ ผู้ถูกขู่เข็ญ ยอมตกลง และมอบทรัพย์ให้ ด้วยความกลัว จากการใช้กำลังประทุษร้าย หรือ ขู่เข้ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย คือ ผู้กระทำต้องได้รับทรัพย์นั้นไป
4. ส่วนกรรโชก จะเป้นความผิดสำเร็จ เมื่อผู้ถูกขู่เข็ญยอมตกลงจะให้ทรัพย์หรือประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ด้วยความกลัวจากการขู่เข็ญ ซึ่งจะส่งมอบทรัพย์ให้แล้วหรือไม่ ไม่สำคัญ..

-          เจตนาทุจริตประสงค์ผลต่อทรัพย์สิน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1232/2527 จำเลยกับพวกอีก 1 คน เข้าไปนอนเล่นในบ้านผู้เสียหาย ซึ่งเป็นพี่เขยของจำเลยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยจึงขึ้นไปบนบ้านหยิบเอาวิทยุของผู้เสียหายไป ป.บุตรชายของผู้เสียหายห้าม จำเลยกลับชักอาวุธปืนออกมา เป็นทำนองขู่บังคับมิให้ขัดขวาง พฤติการณ์ที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยใช้อาวุธปืนขู่บังคับนั้น หาใช่การถือวิสาสะไม่ เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1926/2527 จำเลยทำร้าย ส.เนื่องจากทะเลาะโต้เถียงกัน ไม่ใช่เป็นการทำร้าย เพื่อประสงค์จะเอาทรัพย์จาก ส. จำเลยเพิ่งมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ไปในตอนที่ ส.ใช้กระบอกตั๋วตีจำเลย เมื่อจำเลยแย่งกระบอกตั๋วมาได้ ก็มิได้ขู่เข็ญจะประทุษร้าย ส.แต่อย่างใดการกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นการชิงทรัพย์ แต่ผิดฐานทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงบาดเจ็บตาม ป.อ.ม. 391 กระทงหนึ่ง และลักทรัพย์ตาม ม. 335 (1) (9) อีกระทงหนึ่ง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 830/2502 เจ้าพนักงานป่าไม้ ยึดใบเบิกทางนำไม้ของผู้อื่นไว้เพื่อตรวจสอบตามอำนาจ แต่แล้วเรียกร้องเอาเงินจากผู้ถูกยึด เพื่อแลกเปลี่ยนในการจะคืนใบเบิกทางให้ ยังไม่เข้าลักษณะบีบบังคับโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือขู่เข็ญขืนใจ ไม่ผิดฐานกรรโชก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2474/2531 จำเลยไปทวงเงินที่ผู้เสียหายเป็นหนี้ จ.ผู้เสียหายไม่มีให้จำเลยจึงใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้ผู้เสียหายมอบทรัพย์ให้ แม้จำเลยจะกระทำเพื่อทวงหนี้แทน จ. และพูดว่าเมื่อผู้เสียหายมีเงินเมื่อไรให้ไปไถ่คืน ก็ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเพื่อประโยชน์ ของจำเลยโดยเจตนาทุจริต เพราะจำเลยไม่มีอำนาจเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยพลการ และโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเช่นนั้นได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ และเมื่อเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์แล้ว ย่อมไม่มีความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพอีก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6045/2531 ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ไม่นาน จำเลยเคยถูกนักเรียนโรงเรียนเดียวกับผู้เสียหายขู่บังคับเอาเข็มขัดไป การที่จำเลยขู่บังคับให้ผู้เสียหายถอดเข็มขัดให้ จึงเป็นเพราะความโกรธแค้นไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น จำเลยมิได้ขู่บังคับให้ผู้เสียหายส่งนาฬิกาข้อมือ และแหวนนากที่ผู้เสียหายสวมใส่ในขณะเกิดเหตุให้ด้วย เข็มขัดที่จำเลยเอาไปมีราคาเพียง 50 บาท ถือว่าจำเลยไม่มีเจตนาลักเข็มขัดของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ / การที่จำเลยขู่บังคับให้ผู้เสียหายส่งเข็มขัดแก่จำเลยนั้น เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้กระทำตามความประสงค์ของจำเลย โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกายของผู้เสียหายอันเป็นความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคแรก ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคท้าย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 330/2535 จำเลยที่ 3 เข้ามาขอซื้อไอศกรีม 7 - 8 แท่ง ในราคา 1 บาท จน ผู้เสียหายไม่พอใจและชักอาวุธออกมา จำเลยทั้งสามจึงกลุ้มรุมทำร้ายผู้เสียหายเพราะผู้เสียหายชักอาวุธออกมา มิใช่เพราะเจตนาจะทำร้ายผู้เสียหาย เพื่อประสงค์ต่อไอศกรีมของผู้เสียหายแต่แรก ทั้งยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 หยิบเอาไอศกรีมไปแจกจ่ายพวกจำเลย ประกอบกับหลังจากนั้น โจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันลักเอาไอศกรีมดังกล่าวไป จำเลยทั้งสามจึงไม่ผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1592/2535 จำเลยกับพวกโกรธผู้เสียหาย เกิดการโต้เถียงกัน พวกของจำเลยชกต่อยผู้เสียหาย และดึงแว่นตาของผู้เสียหายออกจนหล่นที่พื้น โดยประสงค์จะแกล้งผู้เสียหาย มิได้มีเจตนาทุจริตคิดที่จะลักแว่นตาผู้เสียหายไปตั้งแต่แรก ก่อนจะหนีไป จำเลยกับพวก จึงลักเอาแว่นตาและเศษสตางค์ของผู้เสียหาย ที่หล่นจากกระเป๋าเสื้อไปในภายหลัง การกระทำของจำเลยกับพวก จึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายกระทงหนึ่ง และความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่ง มิใช่ความผิดฐานชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3608/2535 จำเลยใช้อาวุธปืนยิง ท.แล้วใช้อาวุธปืนจี้เอารถจักรยานยนต์ ของ ร. ขับหลบหนีไป แล้วจำเลยนำรถจักรยานยนต์นั้นไปทิ้งไว้ข้างทางห่าง คงมีเจตนาเพียงต้องการใช้ รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อหลบหนีเท่านั้น ไม่ผิดชิงทรัพย์ แต่เป็นการใช้อาวุธปืนข่มขืนใจ ร. ให้มอบรถจักรยานยนต์ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย ผิด ม 309 2
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3058/2539 (สบฎ เน /41) จำเลยตระเวนเก็บค่าจอดรถยนต์โดยไม่มีสิทธิ แต่จำเลยมิได้ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายตั้งแต่ต้น เงินที่เก็บก็เท่ากันทุกรายและไม่ได้ขู่เข็ญเอาเงินเกินกว่านี้ เพียงแต่ว่าหากไม่ให้เงิน ต้องไปจอดรถยนต์ที่อื่นเท่านั้น การขู่เข็ญจึงมีเงื่อนไข มิได้เจตนาแย่งการครอบครองเงินโดยตรงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นการข่มขืนใจ ผิดฐานกรรโชกสำเร็จ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 507/2543 จำเลยกับ ต. ตกลงกันว่า หากพบเห็นนักศึกษาต่างโรงเรียนก็ให้แย่งเสื้อตัวที่นักศึกษาของสถาบันนั้นมาให้ได้  จำเลยจับเสื้อช๊อปของผู้เสียหายไว้ ขณะที่พูด ขอเสื้อ ครั้นถูกปฏิเสธ จำเลยจึงล้วงมีดคัทเตอร์ เมื่อพวกของจำเลยต่อย จำเลยก็เข้าชกต่อยจนกระทั่งได้เสื้อช๊อป แสดงเจตนาว่าจำเลยประสงค์ต่อเสื้อช๊อปเป็นสำคัญ จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์

-          การใช้กำลังประทุษร้าย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1469/2494 จำเลยที่ 1 เป็นคนเดินแซกเข้าไปลักปากกาจากกระเป๋าเสื้อเจ้าทรัพย์พาหนีไป จำเลยที่ 2 เดินเข้ามาชนกระแทกไหล่เจ้าทรัพย์เซไป แล้วเดินตามไปด้วยกัน และถูกจับพร้อมกันในขณะที่เดินไปด้วยกันดังนี้ เพียงพอที่จะชี้ได้ว่า การที่จำเลยที่ 2 ใช้กำลังกายกระแทกไหล่เจ้าทรัพย์ให้เซไป ก็เพื่อหน่วงเหนี่ยวการติดตามของเจ้าทรัพย์ให้ช้าลงโดยประสงค์ให้เป็นความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 จะพาทรัพย์ที่ลักไปจากเจ้าทรัพย์หนีไปให้พ้นและเพื่อให้จำเลยที่ 1 รอดพ้นอาญาสำหรับความผิดที่ได้กระทำลง และการใช้กำลังกายกระแทกไหล่ เป็นการใช้กำลังทำร้ายอย่างหนึ่ง จำเลยทั้งสองที่สมคบกันในการนี้ จึงต้องมีผิดฐานชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 867/2502 (เทียบ คำพิพากษาฎีกาที่ 436/2477) ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า เด็กชายยงอายุ 12 ปี นำกระบือ 2 ตัว แม่ลูกของผู้เสียหายไปเลี้ยงในนา จำเลยมีมีดขัดเอว กับนายแกถือปืนสั้นเข้ามา จำเลยกระชากเชือกที่ผูกกระบือจากเด็กชายยง ๆกำเชือกแน่น และเอามืออีกข้างหนึ่งช่วยกำไว้ จำเลยกระชากไม่หลุด ก็เข้าแกะเชือกออกจากมือเด็กชายยงทั้งสองข้างแกะอยู่นานราวหนึ่งอึดใจเชือกจึงหลุดจากมือ เด็กชายยง แล้วจำเลยจับเชือกผูกกระบือพากระบือวิ่งไป / ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ฟังได้ว่า จำเลยกับพวกได้ลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของจำเลยเป็นเหตุทำให้เด็กชายยงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 361/2520 จำเลยปัดไฟฉายที่ผู้เสียหายถืออยู่ จนหลุดจากมือ ผู้เสียหายก้มลงเก็บไฟฉาย จำเลยกระชากเอาสร้อยคอพาหนีไป การปัดไฟฉายเป็นการกระทำแก่เนื้อตัวหรือกาย เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเป็นชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4487/2531 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะแล่นตามหลังรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายและจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์เข้าชนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายอย่างแรง จนเสียหลักล้มลง แล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งซ้อนท้ายได้กระชากสร้อยคอทองคำที่คอผู้เสียหายไป การกระทำของจำเลยทั้งสองถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ จึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3708/2537 ขณะที่ผู้เสียหายขึ้นรถโดยสารประจำทาง ก็ถูกจำเลยซึ่งเข้ามาทางด้านหลังกระแทกตรงหัวไหล่ และจำเลยได้ล้วงเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหาย เป็นการที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย เพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ของผู้เสียหายบนยวดยานสาธารณะซึ่งประชาชนใช้โดยสาร จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง

-          กรณีไม่เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1003/2484 กิริยาที่จำเลยกะชากลร้อยไปจากคอเจ้าทรัพย์ ไม่ถือว่าเป็นการใช้กำลังทำร้าย จึงไม่เป็นผิดฐานชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2100/2521 (สบฎ เน 5631) จำเลยรวบคอผู้เสียหายเพื่อให้รู้ว่าสวมสร้อยคออยู่ แล้วกระตุกสร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง สร้อยบาดคอเป็นแผล ไม่ถึงเป็นอันตรายแก่กาย ไม่เป็นชิงทรัพย์ เป็นการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า มีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2103/2521 ลักนกเขาพร้อมกรง โดยแย่งกรงกับผู้เสียหาย ผู้เสียหายสู้กำลังจำเลยไม่ได้ จำเลยแย่งเอาไปได้ ไม่ถือเป็นการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจ และไม่ใช่ทำให้อยู่ในภาวะไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่เป็นชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 831/2532 (สบฎ เน 95) จำเลยที่ 1 ใช้มือซ้ายกระชากคอเสื้อผู้เสียหาย แล้วใช้มือขวา กระชากสร้อยคอทองคำหนัก 1 สลึง ของผู้เสียหายขาดออกจากกัน และเอาสร้อยคอกับพระเลี่ยมทองคำซึ่งแขวนอยู่ 1 องค์ไป เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันในทันใดเพื่อประสงค์จะเอาสร้อยคอของผู้เสียหายเป็นสำคัญ และเป็นเพียงวิธีการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายเท่านั้น มิใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายอันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นเรื่องที่จำเลยใช้กิริยาฉกฉวยเอาสร้อยคอ และพระเลี่ยมทองคำของผู้เสียหายไปซึ่งหน้า อันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์เมื่อโจทก์มิได้บรรยายองค์ประกอบความผิดฐานนี้มา และคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้ประสงค์ให้ลงโทษในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ คงลงโทษจำเลยได้เฉพาะลักทรัพย์เท่านั้น

-          การขู่เข็ญว่า ทันใดนั้น จะใช้กำลังประทุษร้าย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 626/2499 การที่จำเลยที่ยืนเอามือกุมด้ามปืนคุมเชิงอยู่ และพูดว่าค้นเอาให้หมด ขณะที่จำเลยที่ 2 ค้นเอาเงินจากผู้เสียหายนั้น เป็นการแสดงขู่เข็ญแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2 ยังกระชากมือผู้เสียหายซึ่งปิดกระเป๋าไว้เพื่อสะดวกในการล้วงเอาเงิน เป็นการใช้กำลังทำร้ายย่อมเข้าลักษณะชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 958/2511 จำเลยลักทรัพย์โดยขู่บุตรผู้เสียหายมิให้ดังให้นิ่งและอย่างให้บอกพ่อแม่ ถ้าบอกจะกลับมาฆ่า เป็นการไม่ชัดแจ้งว่าเป็นการขู่ว่าจะทำร้ายในทันใดนั้น ประกอบกับที่โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยใช้ว่าจะขู่เข็ญเท่านั้น มิได้ระบุว่าทันใดนั้นจะประทุษร้าย จึงยังไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1972/2521 (สบฎ เน 5631) จำเลยขอเงินโดยขู่ว่า ถ้าไม่ให้จะเผาบ้าน ขว้างระเบิด และห้ามแจ้งตำรวจ มิฉะนั้นจะทำร้าย แสดงว่าไม่ใช่ทำร้ายในทันใดนั้น แต่จะทำร้ายในภายหน้า ไม่เป็นชิงทรัพย์ (ผิด กรรโชกได้ ม 337)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4130/2528 จำเลยที่ 1 เอาเหล็กขูดชาฟท์มาวางบนตักให้ผู้เสียหายเห็น ในขณะนั่งติดกันอยู่ในรถยนต์โดยสารประจำทาง แล้วพูดขอแว่นตาจากผู้เสียหายแล้วจำเลยที่ 1 หยิบเอาแว่นตาของผู้เสียหายจากกระเป๋าเสื้อ และดึงสเกลจากในสมุดผู้เสียหายไป  ดังนี้เป็นการลักทรัพย์โดยขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. ม.339 ขณะเดียวกันนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งขึ้นรถยนต์โดยสารประจำทางไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 และยืนอยู่ใกล้กับจำเลยที่ 1 ต่างเข้าไปหยิบทรัพย์จากกระเป๋าเสื้อและจากในมือผู้เสียหายไป แสดงว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทราบถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 โดยตลอด ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมชิงทรัพย์กับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1161/2543 (ฎ สต 2543/4/41) ความผิดฐานกรรโชก เป็นการขู่ เพื่อประโยชน์ในภายหลัง หากขู่เพื่อจะเอาประโยชน์ทันที เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ จำเลยชักอาวุธมีดคัดเตอร์ มาจี้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายกลัวจึงบอกให้ ส มอบเงินให้จำเลย แสดงว่าจำเลยขู่เข็ญฯ ด้วยการทำร้ายร่างกาย และให้ผู้เสียหายส่งเงินให้ในขณะนั้น เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ใช่กรรโชก เนื่องจากมิใช่การขู่ว่าจะทำร้ายผู้เสียหาย และให้ส่งเงินให้แก่จำเลยในภายหลัง

-          พฤติการณ์ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 820/2497  ใช้มือผลักหน้าอกไม่ให้ลุกขึ้นและพูดว่า " อย่าลุก " เพื่อจะแย่งเอาทรัพย์เขาดังนี้ ฟังได้ว่าเป็นการใช้กำลังทำร้ายและใช้วาจาขู่เข็ญว่าจะทำร้าย เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 988/2514 น้องชายเจ้าทรัพย์นำโคกระบือของเจ้าทรัพย์ไปเลี้ยง และมีคนอื่นอีกหลายคนเลี้ยงโคระบืออยู่ที่นั่นด้วย จำเลยกับพวกรวม 8 คนมาทักทายคนเลี้ยงโคกระบือ แล้ว จำเลยกับพวกจูงโคของเจ้าทรัพย์ไป 1 ตัวและยิงปืนขึ้นฟ้า 2 นัด โดยไม่ได้หันมามองดูน้องชายเจ้าทรัพย์ซึ่งอยู่ห่างราว 20 วา เช่นนี้ ถือว่าจำเลยกับพวกมีเจตนายิงปืนขู่เข็ญพวกคนเลี้ยงโคกระบือ ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น เพื่อเป็นความสะดวกแก่การที่จะพาโคไป จำเลยจึงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1464/2522 จำเลยบังคับให้ บ.ยืมเงิน ท.มาให้จำเลย การที่จำเลยถือปืนขู่ บ. เป็นการขู่ ท. อยู่ในตัว ท. หยิบเงินออกมา ยังไม่ทันส่งมอบแก่ บ.จำเลยเอาเงินไปจากมือ ท.เป็นชิงทรัพย์ ท.
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 602/2543 จำเลยที่ 1 ยื้อแย่งไม้กวาดจากผู้เสียหายที่ 2 และเหวี่ยงกันไปมา โดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าตาและส่งเสริมข่มขู่จะทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้ข้อมือของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย ต่อเนื่องกับการเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของผู้เสียหาย เพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เป็นชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1181/2543 จำเลยที่ 1 ล้วงกระเป๋า กางเกงหยิบเอาเงินสดของผู้เสียหายไป แล้วส่งเงินแก่พวกของตน แล้วทั้งหมดหลบหนีไป ผู้เสียหายวิ่งตามจับจำเลยทั้งสองได้ จำเลยที่ 1 “กัดมือซ้ายและจำเลยที่ 2 “กัดมือขวาของผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมปล่อยจำเลยทั้งสอง เป็นการร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้พ้นจากการจับกุม ผิดฐานชิงทรัพย์ ม 339 วรรคสอง

-          กรณี ไม่ถือเป็นพฤติการณ์ขู่เข็ญ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 730/2509 (ขอรถ ไม่ผิด ม 339 แต่ผิด ม 309+334) จำเลยกับพวกยืนขวางทางผู้เสียหาย จำเลยถือมีดคนหนึ่ง ถือขวานคนหนึ่ง จับแฮนเดิลรถจักรยานบอกให้ผู้เสียหายลงจากรถ เอาหนังสือท้ายรถออกและพูดว่า ให้รถกูเถอะ ไม่ได้ความว่าจำเลยได้แสดงกิริยาอย่างใดอีกที่จะทำให้เข้าใจว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ไม่ได้ความว่าจะใช้ทำร้ายผู้เสียหาย  คดีไม่พอฟังว่าความผิดจำเลยถึงขั้นปล้นทรัพย์ แต่มีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยมีอาวุธ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2822/2525 จำเลยพวกเข้าไปลักทรัพย์ ของผู้เสียหายในเวลากลางคืน แม้จำเลยถือมีดเดินเข้าไปในห้องนอนผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายเรียกให้บิดาช่วยทันทีที่เห็น จำเลยผละวิ่งหนีออกจากห้อง โดยไม่ปรากฏว่าใช้มีดจ้องจี้ หรือแสดงท่าทีให้เห็นว่า เป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ คงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยมีอาวุธเท่านั้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1908/2528 จำเลยกับพวกอีก 3 คน เข้าไปลักทรัพย์ในบ้านผู้เสียหายซึ่งมี ส.กับสามีนอนอยู่ในมุ้งบนบ้าน คนร้ายพูดกันว่า ถ้าเจ้าของบ้านตื่นจะฆ่าให้ตาย  ส. ซึ่งตื่นอยู่ได้ยินจึงนอนเฉย ๆ ส่วนสามี ส. ยังนอนหลับอยู่ จำเลยนั่งคุม ส. กับสามีอยู่ข้างมุ้ง พวกของจำเลยค้นหาทรัพย์  เมื่อได้ทรัพย์แล้วพากันหลบหนีไป การที่จำเลยกับพวกพูดกันเองว่าถ้าเจ้าของบ้านตื่นจะฆ่าให้ตาย โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกรู้ว่า ส. ตื่นและได้ยินข้อความที่พูดกันเช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยกับพวกมีเจตนาขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ส. การกระทำของจำเลยกับพวกไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ คงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. ม.335 (1) (7) (8)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5045/2530 จำเลยกับพวกอีก 4 คนไล่จับไก่ของผู้เสียหาย หลังจากจับไก่ได้แล้ว จำเลยกับพวกยิงปืน 2 นัดด้วยความคึกคะนอง มิได้ยิงปืนขู่เข็ญผู้เสียหายกับพวกเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ ยึดถือทรัพย์ไว้ หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกเห็นผู้เสียหายกับพวกซึ่งแอบดูอยู่ ไม่ผิดปล้นทรัพย์ แต่ผิดลักทรัพย์ตาม มาตรา 335 (2) (7) และ (8)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2552/2532 จำเลยทั้งสามนั่งเรือไปที่แพดูดดำแร่  ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 1 กิโลเมตร จำเลยที่ 1 ที่ 3 ขึ้นไปบนแพดูดดำแร่ จำเลยที่ 3 ซึ่งแต่งกายและแสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอาวุธปืนติดตัวมองเห็น ได้บอก ว. ให้ตักแร่ให้ ว. กับพวกกลัว ตักแร่ให้ 1 ถุง น้ำหนัก  20 กิโลกรัม ราคาประมาณ 1,200 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3  ได้ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์  แต่ตามพฤติการณ์ย่อมเห็นได้ว่า จำเลยได้อาศัยการที่จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอาวุธปืนติดตัว ประกอบกับที่เกิดเหตุอยู่ในท้องทะเล ไม่มีผู้ใดจะรู้เห็นหรือช่วยเหลือได้ทันถ้าขัดขืน เป็นการบังคับ ว. กับพวกอยู่ในทีแล้ว ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันข่มขืนใจให้ ว. ต้องตักแร่ให้ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของ ว. กับพวก เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสองแล้ว สำหรับจำเลยที่ 2 มาด้วยกับจำเลยที่ 1, ที่ 3 ขณะเกิดเหตุแม้จะนั่งอยู่ในเรือ แต่ก็อยู่ติดกับแพดูดดำแร่เห็นกันชัดเจน แสดงว่าแบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อได้แร่แล้วก็กลับไปพร้อมกัน ถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ด้วย / เรือพร้อมเครื่องยนต์ของกลางจำเลยทั้งสามใช้เป็นยานพาหนะไปมาเท่านั้น เป็นเรื่องใช้ยานพาหนะตามปกติ ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดอันจะพึงริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4705/2536 การที่จำเลยซึ่งไม่เคยรู้จักกับผู้เสียหายมาก่อนเดินตรงเข้ามาหาผู้เสียหายขณะรอรถยนต์โดยสารเพื่อจะกลับบ้านอยู่ที่หน้าโรงเรียน ทำท่าทางขึงขังลักษณะจะทำร้ายผู้เสียหายพร้อมกับแบมือและพูดว่าขอเงิน ๑ บาท ผู้เสียหายส่งเงินให้ไป ๑ บาท หลังจากนั้นจำเลยก็เดินไปขอเงินจากเด็กนักเรียนอื่น นักเรียนคนนั้นก็ส่งเงินให้ ๑ บาท เช่นกัน ดังนี้จำเลยเพียงแต่ขอเงินผู้เสียหายโดยยังไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ฉะนั้นที่ผู้เสียหายเห็นจำเลยมีท่าทางขึงขังและคิดว่าจะทำร้ายตนนั้นเป็นเพียงลักษณะท่าทางของวัยรุ่นที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อยด้วยการแสดงอำนาจบาตรใหญ่มากกว่า ซึ่งยังไม่พอฟังว่าเป็นลักษณะขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

-          ชิงทรัพย์ = การลักทรัพย์ + ขู่เข็ญ หรือใช้กำลังประทุษร้าย โดยการได้ทรัพย์ไป ต้องต่อเนื่องกับ การประทุษร้าย หรือขู่เข็ญ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1421/2494 ลักบุหรี่ที่เขาวางขายไว้ที่ร้านแผงลอยไป 1 ซองแล้วเดินเรื่อย ๆ ไป เจ้าทรัพย์กับพวกติดตามในขณะนั้นชั่วระยะทางเพียงเล็กน้อยก็ทัน จำเลยจึงใช้มือชกต่อยพวกเจ้าทรัพย์ ดังนี้ แสดงให้เห็นว่าทำร้ายเพื่อระงับการติดตามของคนเหล่านั้นโดยหวังผลที่จะพาบุหรี่ที่ลักมานั้นไป และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นผิดอาญาสำหรับความผิดฐานลักทรัพย์ ที่ได้กระทำลง ย่อมเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1914/2499 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโคและกระบือของผู้เสียหายถูกลักไปในคืนเกิดเหตุทั้งสองแห่ง เมื่อผู้เลี้ยงต่างเห็นผู้ร้ายพาโคกระบือไปห่างบ้านตนคนละประมาณ 3 เส้น และ 2 เส้นเศษต่างก็ไปแจ้งผู้เสียหายทันที และผู้เสียหายก็ไปแจ้งตำรวจทันที ตำรวจแยกเป็น 2 ทางตามรอยโคกระบือไปเป็นเวลาประมาณ 7 ชั่วโมงจนไปพบปะผู้ร้ายและโคกระบือคนละตำบลกับที่เกิดเหตุก็ดี และแม้ผู้ร้ายจะกระจัดกระจายจนโคกระบือข้ามแม่น้ำไปบ้างแล้วก็ดี การลักทรัพย์รายนี้ก็หายังได้ขาดตอนจากกันไม่ / เมื่อผู้ร้ายมี 5 คน 3 คนแรกวิ่งไปทางกลางเกาะอีก 2 คนวิ่งตามไปติด ๆ กัน แล้วอีก 2 คนลงไปที่เรือชล่าที่จอดอยู่ ตอนเจ้าพนักงานบอกให้วางอาวุธ เพราะได้ล้อมไว้แล้ว พวกผู้ร้ายกลับยิงปืนมา เป็นทำนองต่อสู้ขัดขวางเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญา ดังนี้การกระทำของจำเลยต้องด้วยลักษณะสมคบกันปล้นทรัพย์.
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1408/2512 กรณีที่จำเลยลักกระบือของผู้เสียหาย ผู้เสียหายไล่ติดตามอีก10 วาจะทัน จำเลยทิ้งกระบือวิ่งหนี ผู้เสียหายไล่ตามต่อไปอีกเพื่อจะจับกุม จำเลยชักปืนออกจ้องย่อมเป็นการขู่เข็ญจะทำร้ายผู้เสียหาย เพื่อให้พ้นจากการจับกุม เป็นการกระทำต่อเนื่องกับการลักทรัพย์ เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 แล้ว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 104/2513 ปล้นทรัพย์ แล้วยิงปืนในระยะห่างจากที่เกิดเหตุ 2 เส้น ในขณะที่เห็นคนสวนทางมา เห็นได้ว่ายิงเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เหตุการณ์ยังไม่ขาดตอนจากการปล้น เป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรค 4
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 555/2513 จำเลย 3 คนร่วมกันลักไก่ของผู้เสียหายไปจากบ้านผู้เสียหาย ผู้เสียหายกับพวกตามไปทัน ห่างจากบ้านผู้เสียหายราว 3 - 4 เส้น จำเลยคนหนึ่งชักมีดออกมาขู่ไม่ให้ตาม การกระทำของจำเลยทั้งสามเข้าเกณฑ์ปล้นทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2399/2518 จำเลยลักไก่ไปจากบ้านผู้เสียหาย ต่อมา 1 ชั่วโมง ผู้เสียหายตามไปพบจำเลยกับไก่ที่กระท่อมของ จ. ห่างที่เกิดเหตุ 100 เส้น จำเลยถือเหล็กแหลมจ้องมาทางผู้เสียหาย การลักทรัพย์ขาดตอนแล้ว ไม่เป็นชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1453/2519 คนร้ายลักกระบือไป 2 ตัว ผู้เสียหายตามไปในคืนนั้นระยะทาง 7 กิโลเมตร พบคนร้ายจูงกระบืออยู่ คนร้ายยิงปืน 1 นัดแล้วหนีไป การลักทรัพย์ขาดตอนแล้ว ไม่เป็นชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2674/2532 จำเลยลักทรัพย์สำเร็จแล้ว ขณะหลบหนี ญ.ผู้ดูแลรักษาทรัพย์นั้นได้วิ่งไล่จับจำเลย จำเลยสะบัดหลุด แล้วใช้มีดแทง ญ. ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน ยังไม่ขาดตอนจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การที่จำเลยใช้มีดแทง ญ.เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุมการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3768/2541 เมื่อจำเลยใช้ไม้ตีทำร้ายผู้เสียหายล้มลง และในทันทีทันใดนั้น จำเลยก็ได้ลักเอาอาวุธปืนสั้นของผู้เสียหายไป ซึ่งการกระทำทั้งสองอย่างดังกล่าวยังต่อเนื่องติดพันกัน ตามพฤติการณ์แสดงว่าขณะจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย จำเลยมีเจตนาเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหายด้วย จึงเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดชิงทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 339 แล้ว / แม้เจตนาเดิมจำเลยจะใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ เพื่อให้พ้นการจับกุมในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่ร้านทองก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์แล้ว จำเลยก็ได้ใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าว เป็นยานพาหนะขับหลบหนีไป แสดงว่าจำเลยยังมีเจตนาที่จะใช้รถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับมาจอดไว้นั้น เป็นยานพาหนะในการหลบหนี เพื่อให้พ้นการจับกุมในความผิดฐานชิงทรัพย์นี้ด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์ เป็นยานพาหนะเพื่อให้พ้นจากการจับกุมตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี

-          การทำร้าย โดยมิได้มีเจตนาพิเศษตาม มาตรา 339 (1) ถึง (5)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3486/2527 จำเลยทั้งสองกับพวกดื่มสุราอยู่ด้วยกันแล้ว จำเลยที่ 2 ให้ผู้ตายดื่มสุรา ผู้ตายไม่ดื่ม จำเลยที่ 1 ใช้แก้วสุราตบหน้าผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ยิงปืน 2 นัด ถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วย  ทั้งเหตุที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตาย ก็เนื่องจากผู้ตายไม่ยอมดื่มสุรา มิใช่ประสงค์จะแย่งชิงรถของผู้เสียหาย การเอารถไป ก็เพื่อจะหลบหนีให้พ้นจากการจับกุม หลังจากที่ได้กระทำผิดฐานฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. ม.288 และฐานลักทรัพย์ ตาม ม. 335 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มีความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1337/2532 (สบฎ เน 42) ผู้เสียหายขับรถยนต์โดยสารไปส่งคนโดยสารที่ปลายทาง เมื่อจอดรถให้คนโดยสารลงแล้ว จำเลยเดินตรงมาตบหน้าผู้เสียหาย 1 ที ผู้เสียหายเปิดประตูลงจากรถ เพื่อจะชกจำเลย จำเลยขึ้นไปบนรถขับรถ แล่นวนไปวนมาในบริเวณที่เกิดเหตุประมาณ 5 นาที แล้วขับไปจอดทิ้งไว้ในทุ่งนาซึ่งมีป่าละเมาะ ห่างจากถนนประมาณครึ่งกิโลเมตร และห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 2 กิโลเมตร ประกอบกับจำเลยได้หลบหนีไปอยู่ที่อื่น แสดงว่าจำเลยมีเจตนาเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยตบหน้าผู้เสียหาย เพื่อการอย่างหนึ่งอย่างใดตาม ป.อ. มาตรา 339 (1) ถึง (5) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์คงมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายตามมาตรา 391 กระทงหนึ่ง และฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 อีกกระทงหนึ่ง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2549/2532 จำเลยทวงค่าแรงจากผู้เสียหายไม่ได้ จึงโกรธและใช้มีดเหลียนฟันพยายามทำร้ายผู้เสียหาย แล้วเอาเครื่องสูบน้ำของผู้เสียหายไป มิใช่เป็นการฟันผู้เสียหาย เพื่อความสะดวกหรือเพื่อเอาเครื่องสูบน้ำของผู้เสียหายไป การเอาเครื่องสูบน้ำของผู้เสียหายไป เกิดขึ้นหลังจากการทำร้ายร่างกายขาดตอนไปแล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ / แม้จำเลยเอาเครื่องสูบน้ำของผู้เสียหายไป เพื่อยึดเอาไว้ให้ผู้เสียหายไปจ่ายค่าแรงบุตรชายจำเลย แล้วจำเลยจะคืนให้ ก็ถือได้ว่าจำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะจำเลยไม่มีอำนาจเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยพลการได้

-          ลักษณะตัวการ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 463/2529 จำเลยกับ ว.ไปยังที่เกิดเหตุด้วย และคุยกันอยู่แล้ว จึงแยกกันไปรออยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ พอ ว.กระชากเอาสร้อยคอของผู้เสียหายวิ่งหนี ป. วิ่งไล่ตามไปได้ 7-8  ม.จำเลยก็เข้าไปขัดขวางโดยกำหมัดยกแขนจะทำร้าย ป. ทันที ดังนี้เป็นการแบ่งแยกหน้าที่กันกระทำเป็นการร่วมกับ ว. ชิงทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.ม.339 วรรคสอง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1595/2532 ผู้ตายถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตาย เนื่องจากจำเลยทั้งสองเป็นผู้ยิง แต่ไม่อาจระบุได้ว่าจำเลยคนใด แม้จะฟังว่าจำเลยคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ยิง แต่การที่จำเลยทั้งสองต่างก็มีอาวุธปืนอาก้าไปร่วมชิงทรัพย์ ส่อให้เห็นเจตนาของจำเลยทั้งสองว่า ถ้ามีเหตุการณ์คับขันเกิดขึ้นในการชิงทรัพย์ จำเลยทั้งสองจะใช้อาวุธปืนยิงผู้ที่ต่อสู้หรือขัดขวาง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองอยู่ด้วยกัน เมื่อยิงแล้วก็วิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์ขับขี่หลบหนีไปด้วยกัน โดยได้ยิงปืนอีก 1 ชุดพฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ขัดขวาง และยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า

-          ประเด็นเรื่องผู้เกี่ยวข้องในการกระความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2082/2527 จำเลยกับ ว.คบคิดกันลักทรัพย์บนบ้านผู้เสียหายเวลากลางคืน บังเอิญผู้เสียหายตื่นอยู่ ฉายไฟไปยัง ว. ว.จึงโถมเข้ากดคอผู้เสียหาย เมื่อจำเลยมิได้รู้เห็นเป็นใจหรือร่วมด้วยในการที่ ว.ประทุษร้ายผู้เสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ คงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. ม.335 (1) (7) (8) เท่านั้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1876/2528 ขณะผู้เสียหายนั่งคุยกับ จ. จำเลยที่ 2 ได้เข้าไปขอเงิน 5 บาท เป็นค่ารถกลับบ้าน ผู้เสียหายพูดว่าไม่มีให้ จำเลยที่ 1 ใช้มีดจี้คอผู้เสียหาย และพูดว่าถ้าไม่ให้เจ็บตัว จ. ส่งเงิน 10 บาท ให้ผู้เสียหาย แล้วผู้เสียหายส่งให้จำเลยที่ 2 รับไปเมื่อได้เงินแล้ว จำเลยที่ 2 ได้เดินไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 และถูกตำรวจจับค้นตัวได้เงินเพียง 10 บาท ที่ จ.ให้ไปเท่านั้น จ. ตอบคำถามค้านว่าให้เงินแก่จำเลยที่ 2 ด้วยความสมัครใจ เต็มใจ เพราะสงสาร ดังนี้พฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริต มิได้มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 เพื่อทำการชิงทรัพย์ผู้เสียหายมาแต่แรก เมื่อได้เงินตามขอแล้วก็ไม่ขู่เอาทรัพย์อื่นต่อไปอีก การเอาเงินไปจึงถือไม่ได้ว่าเกิดจากการลักทรัพย์จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ / ส.ถูกจำเลยที่ 1 ใช้มีดจี้และขู่เอาเงิน แม้เงินที่ได้ไปจะเป็นของ จ.ส่งให้ ส. แล้ว ส.ส่งให้จำเลยที่ 2 ส.ก็เป็นผู้เสียหาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2028/2535 พฤติการณ์ที่ปรากฏในบันทึกคำรับสารภาพชั้นจับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 รู้ถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีว่าจะไปชิงทรัพย์ผู้ตาย และขณะที่จำเลยที่ 1 ล็อกคอผู้ตาย จำเลยที่ 2 ก็รีบปลีกตัวออกมาจากที่เกิดเหตุ ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ผู้ตาย ร่วมกับจำเลยที่ 1 เพราะไม่ได้มีการแบ่งหน้าที่กันทำความผิด เมื่อจำเลยที่ 2ไม่ได้ร่วมกระทำผิดตามเจตนาเช่นนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน ทั้งการนัดหมายระหว่างจำเลยทั้งสองว่าหากจำเลยที่ 1 ลงมือกระทำผิดขณะใด ให้จำเลยที่ 2 หลบไปจากที่นั้น ก็ไม่ใช่การร่วมมือหรือเป็นการกระทำผิดในทางอาญาเช่นกัน

-          เหตุเฉพาะตัวผู้กระทำ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1683/2513 จำเลยกับพวกอีก 3 คนมีเจตนาร่วมกันลักโคของผู้เสียหาย เมื่อลักโคได้แล้วก็รีบพาหนีไป ผู้เสียหายกับพวกไล่ติดตามไปทัน คนร้ายอีก 3 คนหลบหนีไปได้ เหลือแต่จำเลยแต่ผู้เดียวถูกผู้เสียหายกับพวกล้อมจับ จำเลยยิงปืนต่อสู้ขัดขวาง เป็นการกระทำเฉพาะตัว จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ คนร้ายอีก 3 คนได้หลบหนีไปก่อนแล้ว ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์หาได้ไม่

-          เปรียบเทียบ ขั้นตระเตรียม กับการพยายามกระทำความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 399/2482 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ แต่ปรากฎว่าเจ้าทรัพย์ส่งทรัพย์ให้แก่จำเลยเอง เพื่อเป็นพะยานหลักฐานในการที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุม เช่นนี้จำเลยคงมีความผิดแต่เพียงฐานพยายามชิงทรัพย์เท่านั้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 926/2491 ความผิดฐานปล้นทรัพย์สำเร็จนั้น ต้องได้ความว่า จำเลยได้ชิงเอาทรัพย์ของเจ้าทรัพย์ไปด้วย / จำเลยได้ร้อง "อ้ายเสือเอา" และพังประตูเรือนเจ้าทรัพย์เข้ามา ทั้งเอาปืนยิงด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าเอาทรัพย์ของเจ้าทรัพย์ไปด้วย จำเลยมีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 911/2518 จำเลยกล่าวหาว่าผู้เสียหายชกต่อยน้องชาย จำเลยขอให้ไปพบน้องชายจำเลยที่วัด เมื่อไปถึงหลังโบสถ์ ผู้เสียหายกับจำเลยนั่งคอยอยู่ราว 10 นาที มีตำรวจมาพบและค้นตัวบุคคลทั้งสอง ผู้เสียหายเล่าเรื่องให้ฟัง ตำรวจจึงจับจำเลย จำเลยรับว่าจำเลยกับพวกลวงผู้เสียหายมาเพื่อชิงทรัพย์เช่นนี้ จำเลยยังมิทันได้กระทำการอันใดที่จะถือว่าลงมือกระทำการลักทรัพย์ ก็มีตำรวจมาค้นตัว และจับจำเลยไปเสียก่อน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ผู้เสียหาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3211/2526 พวกจำเลยทำร้ายคนที่นั่งอยู่กับผู้เสียหาย จำเลยวิ่งเข้ามากระชากสร้อยคอจากคอผู้เสียหายขาดหล่นลงที่พื้น จำเลยก้มลงจะหยิบเอา แต่ผู้เสียหายแย่งหยิบเอาไว้ได้ก่อน การที่สร้อยขาด แม้จะเป็นผลให้สร้อยติดมือจำเลยชั่วระยะหนึ่ง แต่เป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้สร้อยขาดหลุมเท่านั้น จะถือว่าจำเลยยึดถือสร้อยไว้แล้วหาได้ไม่ การยึดถือสร้อยยังไม่บรรลุผล จึงเป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ ไม่ใช่ความผิดสำเร็จลงโทษตาม ป.อ.ม.339 ,80
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2147/2527 จำเลยใช้เหล็กปลายแหลมจี้ขู่บังคับให้ผู้เสียหายถอดสร้อยคอให้ ผู้เสียหายกำลังจะถอดมีผู้เข้าช่วย จำเลยจึงกระชากพระเครื่อง ซึ่งกลัดเข็มกลัดไว้ที่เสื้อ พระเครื่องตกลงที่พื้นรถ ยังไม่ได้เอาไป และยังมิได้เข้ายึดถือครอบครองพระเครื่องนั้นเลยความผิดฐานชิงทรัพย์ยังไม่สำเร็จ เป็นเพียงพยายามชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4955/2531 จำเลยล็อกคอ ส. ในร้านอาหาร แล้วใช้มีดแทงผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารที่จะเข้าไปช่วย ส. จนได้รับอันตรายแก่กายและต้องถอยห่างออกไป หลังจากนั้นจำเลยใช้มีดจี้ที่คอ ส.พร้อมกับตะโกนต่อหน้าคนในร้านว่าที่ทำไปเพื่อต้องการเงิน 500 บาท แม้จำเลยจะมิได้เจาะจงว่าต้องการเงินจากผู้เสียหาย แต่ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่า ต้องการให้ผู้เสียหายในฐานะเจ้าของร้านยื่นเงินให้ในทันใดนั้น เมื่อจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อนที่จะได้เงินจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6917/2542 ผู้เสียหายเบิกความโดยไม่ได้ความว่าไก่ชนของผู้เสียหาย พ้นขึ้นมาจากสุ่มไก่แล้วหรือไม่ หรือจำเลยปล่อยไก่ชนในสุ่มไก่หรือปล่อยไว้บนลานดินนอกสุ่มไก่ อันจะเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเอาไก่ชนของผู้เสียหาย แยกออกจากสุ่มไก่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ไก่ชนติดอยู่ภายใน ไม่สามารถนำเอาออกมาไปได้ เมื่อกรณียังมีข้อสงสัยต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นคุณแก่จำเลย คือจำเลยยังไม่ได้เอาไก่ชนของผู้เสียหายออกจากสุ่มไก่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การยึดถือเอาไก่นั้นยังไม่บรรลุผล จึงอยู่ในขั้นพยายามลักทรัพย์ เมื่อจำเลยลงมือกระทำความผิดในเวลากลางคืน โดยใช้ฉมวกเป็นอาวุธ ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้น จะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย เพื่อให้พ้นจากการจับกุม จึงเป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80

-          ความผิดสำเร็จฐานชิงทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 282/2499 การที่จำเลยบังคับขู่เข็ญจนผู้เสียหายมีความกลัว ต้องส่งเงิน (ธนบัตร) ให้และจำเลยได้รับไว้แล้ว ดังนี้ย่อมถือว่าเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์สำเร็จแล้ว ส่วนการที่จำเลยกลับฉีกธนบัติเสียนั้น ก็เป็นเรื่องที่มาเปลี่ยนเจตนาขึ้นในภายหลัง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 8098/2540 จำเลยกับคนร้ายอีก 2 คน ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ทำการปล้นสร้อยข้อมือทองคำของผู้เสียหาย เมื่อคนร้ายคนหนึ่ง ปลดสร้อยข้อมือออกไปจากข้อมือของผู้เสียหายไปได้นั้น ทรัพย์นั้นจึงขาดจากการครอบครองของผู้เสียหาย แต่อยู่ในมือคนร้ายคนนั้นพร้อมที่จะนำไปได้ เป็นการเอาไปโดยสมบูรณ์ เป็นการปล้นทรัพย์สำเร็จ แม้ผู้เสียหายแย่งคืนมาในทันที

-          เหตุฉกรรจ์อันมีผลอันทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1309/2508 การที่พวกจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ภายหลังที่จำเลยหยิบทรัพย์แล้ว เป็นการกระทำต่อเนื่องกันกับการลักทรัพย์เพื่อให้เป็นความสะดวกแก่การที่จำเลยกับพวกจะพาทรัพย์หนี หรือเพื่อปกปิดการกระทำผิด หาใช่การชิงทรัพย์ขาดตอนแล้วไม่ จำเลยต้องร่วมรับผิดในผลที่พวกจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคท้าย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1491/2530 จำเลยที่ 1 ใช้ปืนยิง และจำเลยที่ 2 ใช้มีดฟัน ม. ผู้ตายถึงแก่ความตาย แล้วเอาเงินสดจากตัวผู้ตาย พากันหลบหนีไป แม้จำเลยทั้งสองจะกระทำไปโดยประสงค์จะชิงทรัพย์ของผู้ตายก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันจำเลยทั้งสองก็มีเจตนาฆ่าผู้ตายด้วย จึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้ตายเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยทั้งสองได้กระทำการชิงทรัพย์ เพื่อปกปิดความผิดฐานชิงทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองได้กระทำไว้ ตาม มาตรา 289 (7) อีกบทหนึ่ง และต้องใช้กฎหมายบทนี้ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแก่จำเลยทั้งสองตามมาตรา 90
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3269/2531 จำเลยกับพวกใช้ยากดประสาทอย่างแรงใส่ลงในกาแฟให้ผู้เสียหายดื่ม เมื่อผู้เสียหายดื่มแล้วสิ้นสติไปแทบจะทันที แล้วจำเลยกับพวกได้ลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป ผู้เสียหายฟื้นคืนสติที่โรงพยาบาลหลังจากเวลาล่วงไปประมาณ 12 ชั่วโมง  ดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้รับอันตรายแก่กายอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ถือได้ว่าเป็นอันตรายแก่จิตใจของผู้เสียหายแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1570/2535 จำเลยทำร้ายและค้นเอาทรัพย์ของผู้เสียหายโดยได้กระทำต่อเนื่องกัน ทั้งหลังจากได้ทรัพย์แล้วยังมีการข่มขู่ผู้เสียหายอีก ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำการทั้งหมดเป็นอันเดียวกันมาแต่ต้น หาใช่เจตนาเพียงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายแต่แรก แล้วเกิดเจตนาลักทรัพย์ของผู้เสียหายขึ้นภายหลังจากที่ได้ทำร้ายผู้เสียหายไปแล้วไม่ ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ มีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กาย ตาม ป.อ.มาตรา 339 วรรคสาม

-          การชิงทรัพย์ขาดช่วงไป ไม่ต้องรับผิดในการกระทำของตัวการอื่น ซึ่งกระทำในภายหลัง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1352/2508  จำเลยสมคบกับ ส. ทำการชิงทรัพย์ แล้วพากันหลบหนี ส. ได้ใช้มีดแทงเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงแก่ความตาย  เพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นการจับกุม เมื่อได้แยกทางกับจำเลยไปคนละทิศละทางแล้ว ถือได้ว่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการชิงทรัพย์ของจำเลย และ ส.ขาดตอนจากกันแล้ว  จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย

-          กฎหมายที่เกี่ยวข้อง / 148-149 + 200-201 จพ เรียกสินบน / 157 ตาม ม 148-149 / 288-289 ชีวิต / 295-298 ร่างกาย / 309-313 เสรีภาพ / 337 บททั่วไป / 371 + 376 + 391 + 392

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 339
-          (ขส เน 2521/ 6) ปัดร่ม กระชากสร้อย ผิด ม 339 การปัดร่มถือว่าใช้กำลังประทุษร้าย แม้ไม่ทำต่อร่างกายโดยตรง ฎ 361/2520

-          (ขส พ 2500/ 7) แดงถูกหวยใต้ดิน เจ้ามือไม่จ่าย จึงพาตำรวจมาทวงเงิน เจ้ามือไม่จ่ายอ้างว่าผิดกฎหมาย ตำรวจควักปืนขู่เจ้ามือว่า ถ้าไม่จ่ายจะจับไปยิงทิ้ง / () ถ้าตำรวจเข้าใจโดยสุจริตว่า เป็นเงินที่แดงควรได้โดยชอบ ตำรวจผิด ปอ ม 309 แดงไม่ผิด / () ถ้าตำรวจเข้าใจว่า แดงไม่มีสิทธิได้รับ ผิดชิงทรัพย์ ม 339 ถ้านายแดงสมคบด้วยก็เป็นตัวการ
-          (ขส พ 2522/ 6) คนใช้ไม่พอใจเจ้านาย แกล้งเปิดหน้าต่างให้ขโมยเข้าบ้าน ขโมยเห็นหน้าต่างเปิด จึงปีนเข้าบ้าน คนใช้ตื่นพอดี เกิดสงสารเจ้านาย จึงตะโกนว่ามีคนร้าย ขโมยหนีทันที ยังไม่ได้ทรัพย์ เจ้านายจับขโมยได้จึงต่อว่า ขโมยชกฟันหัก (เพราะโกรธ) / ขโมยผิด พยายามลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืน โดยเข้าช่องทางที่มีผู้เป็นใจเปิดไว้ให้ ม 335 (1) (4) (8) , 80 ลงโทษสองในสามส่วน ฎ 854/2507 / ไม่ผิดพยายามชิงทรัพย์ ม 339, 80 เพราะไม่ได้ทำร้าย เพื่อให้พ้นจากการจับกุม / คนใช้ผิดสนับสนุนลักทรัพย์ ม 335 , 80 , 86 แต่ไม่ผิดสนับสนุนทำร้ายร่างกาย เพราะนอกเหนือเจตนา ม 87 แต่การขัดขวางทำให้ไม่ได้ทรัพย์ไป ไม่ต้องรับโทษตาม ม 88
-          (ขส พ 2522/ 7) พี่ชายจำเลยและนายแก่น ด่าท้าทายและร้ายกัน แก่นท้าให้จำเลยยิง และชักเหล็กแหลมเดินเข้าใส่ จำเลยยิงถูกแก่นสาหัส ถูกแก้วตาย จำเลยเห็นสร้อยของแก่น จึงกระชากวิ่งหนีไป / ไม่เป็นป้องกัน ม 68 เพราะจำเลยสมัครใจเข้าร่วมเป็นฝ่ายพี่ชาย และเตรียมตัวต่อสู้ ผิด ม 288,80 และการที่กระสุนถูกแก้ว ผิด ม 288 เป็นกรรมเดียว ม 90 ฎ 222/2513 / การเอาสร้อยไม่เป็นชิงทรัพย์ ม 339 แต่ผิด ม 336 เรียงกระทงตาม ม 91 ฎ 1626/2500
-          (ขส พ 2529/ 9) สมัครกระชากข้อมือให้หญิงกลับไปอยู่กินด้วย สร้อยติดมือมา ผิด ม 335 (1) (7) เจตนาลักทรัพย์ภายหลังยึดถือทรัพย์แล้ว ส่วนการใช้ปืนขู่เพื่อให้กลับไปอยู่กินร่วมกัน ไม่ใช่ประสงค์ต่อทรัพย์ ไม่ผิด ม 339 2767/2512 / เสมอ ไปฉุดหญิงกับสมัคร ไม่ผิดลักทรัพย์ เพราะไม่มีเจตนาร่วม ฎ 131/2515 / สมัครและเสมอ ร่วมกัน ฉุดหญิง และสมัครชำเรา ผิด ม 284 + 309 2 + 83 และ ม 276 + 83 และฆ่าผู้เข้าช่วย ผิด ม 289 (6) 975/2508 / ผิด พรบ อาวุธปืน และ ปอ ม 371 ด้วย

-          (ขส อ 2523/ 9) ตำรวจขู่พระว่ามีผู้ร้องเรียนเรื่องใบ้หวยและยุ่งสีกา ให้จ่ายเงิน / พระไม่มี บอกว่า อีก 7 วันให้มาเอา ตำรวจขอเอาเงินไปส่วนหนึ่งก่อนแล้วเอามือจับปืนพบ พระกลัวจึงจ่ายเงินไป 1000 บาท / การข่มขืนใจเพื่อเอาเงิน และพระบอกอีก 7 วันให้มาเอา ตำรวจผิด ม 337 3221/2522 (สบฎ เน 5898) / การแสดงท่าไม่พอใจและจับปืน เป็นการขู่เข็นว่าทันใดนั้นจะทำร้าย ผิด ม 339 เป็นกรรมเดียว ลงโทษ ม 339 1637/2509

มาตรา 339 ทวิ          ถ้าการชิงทรัพย์ได้กระทำต่อ ทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิวรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์นั้น เป็นการกระทำ ในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 335 ทวิวรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสอง เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสอง เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการชิงทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสอง เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

กรณีมีการทะเลาะวิวาทกันมีการกระชากสร้อยคอผู้เสียกายขาดและหายในที่เกิดเกตุและมีรอยบาดแผลที่คอ แต่ผูก่อเหตุอ้างว่าไม่ได้เอาสร้อยคอผู้เสียหายไป อยากทราบว่าผู้ก่อเหตุต้องรับผิดชอบมัย และมีพระเหลี่มทองตกอยู่ที่เกิดเหตุด้วย แต่ตัวสร้อยได้หายไป