ลักษณะ 3 ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม
หมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม
มาตรา 167 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด แก่เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดีหรือพนักงานสอบสวน เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำใด อันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
- ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3700/2529 บิดาของผู้ต้องหาคดีการพนันขอให้จำเลยช่วยเหลือจำเลยเขียนจดหมายถึง ร.ต.ท. บ.พนักงานสอบสวน ว่า คดีการพนันน้ำเต้าปูปลา ถึงแม้จะเสียศาลหรือเสียที่โรงพักก็มีค่าเท่ากัน คนละไม่กี่ร้อยบาทจึงขอความกรุณาใช้ดุลพินิจแบบปรัชญาทางเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เสียเวลาทั้งสองฝ่ายทั้งหมด 6 คน คนละ 300 = 2,000 บาท เป็นค่าบำรุงโรงพักฯ ดังนี้ เป็นเพียงขอร้องให้ช่วยเหลือเปรียบเทียบให้คดีเสร็จไปในชั้นสถานีตำรวจ โดยไม่ต้องให้คดีถึงศาลเท่านั้น จำเลยไม่มีความผิดตาม ป.อ. ม.144,167
- เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดีหรือพนักงานสอบสวน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8181/2547 คำว่า "พนักงานสอบสวน" ตาม ป.อ. มาตรา 167 มีความหมายว่า ต้องเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนั้นเท่านั้น ดังนั้น การให้เงินแก่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนั้นเพื่อให้ช่วยเหลือไม่ดำเนินคดี จึงมิใช่เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่พนักงานสอบสวนตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้ คงมีความผิดตามมาตรา 144 เท่านั้น
- ผู้เสียหาย
- คำพิพากษาฎีกาที่ 340/2506 โจทก์มอบเงินให้จำเลย เป็นการร่วมกับจำเลยในการนำสินบนไปให้เจ้าพนักงาน ถือได้ว่าโจทก์ใช้ ให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดี (หาว่าฉ้อโกง) มาฟ้องจำเลยได้
มาตรา 168 ผู้ใดขัดขืนคำบังคับตามกฎหมายของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ซึ่งให้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 9/2491 พนักงานสอบสวนเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ได้ความว่านายบุญยืนผู้ต้องหา เป็นผู้กระทำความผิด จึงทำความเห็นส่งไปยังพนักงานอัยการ พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายบุญยืนเป็นจำเลยแล้ว ดังนี้ เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และสำนวนการสอบสวนก็ส่งไปยังพนักงานอัยการ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 140, 141, 142 แล้ว หน้าที่ของพนักงานสอบสวนในคดีนั้น ก็ย่อมสิ้นสุดลง เพราะการสอบสวนเสร็จแล้ว เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะสั่งต่อไป เช่น มาตรา 141 บัญญัติว่า “... ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่า ควรสอบสวนต่อไป ก็ให้สั่งพนักงานสอบสวนปฏิบัติเช่นนั้น...” และตามมาตรา 143 บัญญัติว่า “เมื่อได้รับความเห็นและสำนวนจากพนักงานสอบสวนดังกล่าวในมาตราก่อน ให้พนักงานอัยการปฏิบัติดังนี้ (1) ... สั่งให้พนักงนสอบสวนดำเนินการสอบสวนต่อไป...” และมาตรา 143 (2) ว่า “...พนักงานอัยการมีอำนาจ (ก) สั่งตามที่เห็นสมควร ให้พนักงานสอบสวนสั่งพยานคนใดมาให้ซักถาม เพื่อสั่งต่อไป...” ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า เมื่อพนักงานสอบสวนได้สอบสวนเสร็จ และส่งความเห็นพร้อมด้วยสำนวนไปยังพนักงานอัยการแล้ว ความรับผิดชอบย่อมจะตกอยู่แก่พนักงานอัยการ หมดหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนคดีต่อไป เว้นแต่ว่าจะได้รับคำสั่งจากพนักงานอัยการ ดังที่บทบัญญัติของกฎหมายระบุไว้ หากยอมให้พนักงานสอบสวนเข้าเกี่ยวข้องโดยลำพังได้ต่อไป อาจทำให้เสียหายแก่คดี โดยพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบมิได้รู้เห็นตามควรแก่หน้าที่ได้ ดังนั้น ถ้าผู้ที่พนักงานสอบสวนมีหมายเรียกมา เพื่อให้การในชั้นหลังนี้ ไม่ยอมให้การ ก็หามีความผิดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พนักงานสอบสวนเรียกจำเลยในคดีนี้มาสอบสวนไม่ได้ จึงเป็นการชอบแล้ว
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1843/2499 เมื่อกระทำความผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก แล้วไม่ไปสถานีตำรวจตามคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร เช่นนี้ย่อมเป็นเหตุให้ออกหมายจับมาได้ตาม ป.วิ.อาญา ม.66 จึงหามีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตาม ม.334 (2) ไม่
- คำพิพากษาฎีกาที่ 185/2503 การขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ไม่ไปรายงานตนภายใน 24 ชั่วโมง ยังไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามมาตรา 368 กฎหมายให้ฟ้องต่อศาลในความผิดจราจรนั้น จะถือว่ามีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซ้ำ อีกกระทงหนึ่งไม่ได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1341/2509 จำเลยเป็นผู้ต้องหา ปวิอ ม 134 พนักงานสอบสวน จะบังคับให้ผู้ต้องหาให้ถ้อย คำใด ๆ ไม่ได้ และ ปวิอ ม 135 ห้ามมิให้ ล่อลวงหรือ ขู่เข็ญผู้ต้องหามา เพื่อให้การ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นคำบังคับ ตาม ม 168 กรณีผู้ต้องหาขัดขืนไม่มาให้การตามหมายเรียก โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ปวอ ม 66 (3) ให้ออกหมายจับได้ เป็นการลงโทษอยู่แล้ว เจตนารมณ์ของ ปอ ม 168 หาได้มุ่งหมายจะใช้บังคับกับผู้ต้องหาที่ขัดขืน ไม่มาให้การต่อพนักงานสอบสวนตามหมาย เรียกด้วยไม่
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า
- (ขส เน 2518/ 2) ผู้ต้องหาไม่ยอมเซ็นรับหมายเรียก และไม่ไปพบพนักงานสอบสวน ไม่ผิด ม 168 เพราะหมายเรียก ไม่เข้าลักษณะเป็นคำบังคับ การขัดหมายเรียก กฎหมายให้ออกหมายจับได้ อันเป็นการลงโทษอยู่แล้ว จึงไม่ผิดฐานใด ฎ 1341/2509
มาตรา 169 ผู้ใดขัดขืนคำบังคับตามกฎหมายของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ซึ่งให้ส่งหรือจัดการส่งทรัพย์หรือเอกสารใด ให้สาบาน ให้ปฏิญาณ หรือให้ให้ถ้อยคำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1954/2515 พนักงานสอบสวนจึงบอกจำเลย ว่าจะสอบสวนจำเลยเป็นพยาน ซึ่งย่อมหมายความว่าสั่งให้จำเลยให้ถ้อยคำ คำสั่งของพนักงานสอบสวนเช่นนี้ ถือ เป็นคำบังคับตามกฎหมายให้จำเลยให้ถ้อยคำ เมื่อจำเลยขัดขืน ย่อมมีความผิดตาม มาตรา 169
มาตรา 170 ผู้ใดขัดขืนหมายหรือคำสั่งของศาล ให้มาให้ถ้อยคำ ให้มาเบิกความ หรือให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารใดในการพิจารณาคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 454/2512 มาตรา 170 เป็นบทบัญญัติถึงการกระทำความผิดต่อศาล เหตุที่ศาลมีคำสั่งตัดพยานโจทก์ เพราะไม่มาเบิกความตามหมายเรียกของศาลนั้น โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย ไม่มีอำนาจฟ้องผู้ที่ขัดขืนหมายเรียก
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2768/2522 ป.อ. ม.170 มุ่งหมายเอาโทษแก่ผู้ที่ขัดขืนคำสั่งของศาลที่ให้ส่งเอกสารในการพิจารณาคดี อันเป็นบทบัญญัติถึงการกระทำความผิดต่อศาลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมโดยเฉพาะ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรานี้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2046/2533 โจทก์อ้างว่าได้รับความเสียหาย ที่จำเลยขัดขืนคำสั่งศาลไม่ส่งเงิน ที่อายัดไว้ไปยังศาลแพ่ง แต่ก็ไม่ใช่ความเสียหายโดยตรง เพราะโจทก์จำเลยมิได้มีสิทธิหน้าที่ต่อกัน การกระทำของจำเลยไม่เป็นการล่วงสิทธิของโจทก์ โจทก์มิใช่ผู้เสียหาย
มาตรา 171 ผู้ใดขัดขืนคำสั่งของศาล ให้สาบาน ปฏิญาณ ให้ถ้อยคำ หรือเบิกความ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 172 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- & องค์ประกอบกฎหมาย
Ø ผู้กระทำ คือ “ผู้ใด”
Ø การกระทำ คือ “แจ้งฯ” + ประกอบด้วยเงื่อนไขคือ “ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา” Ø ในส่วนของการกระทำ ตามองค์ประกอบความผิดนี้ ผลของการกระทำคือ ผู้รับแจ้ง “ได้ทราบข้อความที่แจ้ง” เป็นความผิดสำเร็จ ส่วนผู้รับแจ้ง จะเชื่อข้อความดังกล่าวหรือไม่ ไม่ใช่ผลของการกระทำความผิด
Ø เจตนา คือ รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดต่างๆ ครบถ้วน
Ø พฤติการณ์ประกอบการกระทำ คือ “ซึ่ง (การแจ้งข้อความฯ นั้น) อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย”
Ø ระวางโทษ “จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
- การแจ้ง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 897/2507 จำเลยไปแจ้งความโดยเล่าเรื่องตามที่เกิดขึ้น ซึ่งมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจเช่นนั้นได้ ข้อความที่บันทึกไว้นั้นก็เป็นข้อความที่ “พนักงานสอบสวน” บอกให้ “ตำรวจ” เขียน ไม่ใช่ถ้อยคำที่จำเลยแจ้งโดยแท้จริง ไม่ผิด ม 172
- เจตนา
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1017/2505 คดีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจแจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า โจทก์บุกรุกเข้าไปอยู่ในห้องของจำเลยนั้น แม้จำเลยผู้แจ้ง จะไม่ประสงค์ให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีอาญาก็ตาม แต่ก็เห็นเจตนาของจำเลยได้แล้วว่า ต้องการให้ตำรวจจับโจทก์ไปเสียจากห้องที่อยู่ดังกล่าว ข้อเท็จจริงได้ความว่า เนื่องจากคำแจ้งความของจำเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกโจทก์ไปสอบสวน เมื่อโจทก์นำสืบชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้เช่นนี้ ซึ่งถ้าเป็นจริงโจทก์จะได้รับความเสียหาย ย่อมถือว่าคดีของโจทก์มีมูลแล้ว
- คำพิพากษาฎีกาที่ 897/2507 จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน โดยเล่าเรื่องให้ฟังตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า จำเลยไม่เห็นคนยิง แต่เชื่อหรือเข้าใจว่า โจทก์เป็นผู้ยิง พนักงานสอบสวนได้สรุปข้อความตามคำแจ้งความ แล้วให้ตำรวจบันทึกคำแจ้งความไว้ มีความตอนหนึ่งว่าโจทก์ใช้ปืนพกยิง จำเลยเข้าใจว่า โจทก์มีเจตนาจะยิงจำเลยให้ถึงแก่ความตาย จำเลยไปแจ้งความ โดยเล่าเรื่องตามที่เกิดขึ้น ซึ่งมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจเช่นนั้นได้ ข้อความที่บันทึกไว้นั้นก็เป็นข้อความที่พนักงานสอบสวนบอกให้ตำรวจเขียน ไม่ใช่ถ้อยคำที่จำเลยแจ้งโดยแท้จริง ทั้งมีพฤติการณ์ต่อมาแสดงว่า จำเลยมิได้เจตนาแกล้งเอาความเท็จไปกล่าวหาโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3025/2526 เมื่อตามพฤติการณ์มีเหตุผลควรให้จำเลยเข้าใจได้ว่า โจทก์เป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ของจำเลยไป การที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนโดยเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.ม.172 / การที่ผู้ใหญ่บ้านจำเลยที่ 2ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 1ว่าทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ถูกคนร้ายลักไป ได้ทำบันทึกมีข้อความถูกต้องเพียงแต่ทำบันทึกในวันหลัง และลงวันที่ย้อนหลังให้ถูกต้องตรงกับวันที่ที่มีการแจ้งความนั้น เป็นเพียงการทำบันทึกให้ตรงกับความเป็นจริงว่ามีการแจ้งความในวันใด ไม่เป็นการทำพยานหลักฐานเท็จตาม ม.179
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3383/2541 ความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ นอกจากจะต้องแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อแกล้งให้ผู้อื่นต้องรับโทษแล้ว ผู้กระทำจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จด้วย เมื่อพฤติการณ์เป็นการแจ้งความตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นแก่จำเลย มีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจว่าต้องดำเนินคดีแก่โจทก์ ส่วนการจะตั้งข้อหาดำเนินคดีแก่โจทก์หรือไม่ เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน หาได้เกิดจากการกระทำของจำเลยโดยตรงไม่ กรณียังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 8391/2544 จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในทำนองเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมของบิดาและโจทก์ได้บุกรุกที่ดินของจำเลย เมื่อพนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลย จำเลยก็ให้การรับว่าที่ดินดังกล่าวยังมีข้อพิพาทฟ้องร้องทางแพ่งโต้เถียงกรรมสิทธิ์กันอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มีเจตนาแกล้งเอาความเท็จไปกล่าวหาโจทก์ ส่วนฝ่ายใดจะมีสิทธิดีกว่ากันเป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป จำเลยไม่มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน
- ผู้แจ้ง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 225/2508 จำเลยกล่าวในฐานะผู้ต้องหา หรือเสมือนผู้ต้องหา จำเลยหามีความผิดฐานแจ้งความเท็จไม่
- ผู้รับแจ้ง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 259/2509 แม้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 45 จะบัญญัติให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาก็ดี ก็มีแต่เพียงอำนาจสอบสวนอธิกรณ์ และสั่งลงโทษพระภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเท่านั้น หามีอำนาจรับแจ้งความเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญา และมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาไม่ฉะนั้น จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตาม มาตรา 172 ,173
- คำพิพากษาฎีกาที่ 594/2521 แจ้งความเท็จต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย ซึ่งขณะนั้นเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาด้วย แต่แจ้งความในฐานะรัฐมนตรี ไม่เป็นความผิดตาม ม.172, 173
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2453/2521 แจ้งความต่อศาล โดยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวเป็นเท็จ ไม่ใช่ยื่นต่อเจ้าพนักงาน 4 ประเภทที่ระบุไว้ใน ม.172 และไม่ใช่แจ้งว่าทำผิดอาญาตาม ม.175
- ข้อสำคัญ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2249/2515 จำเลยเห็น ส. กับ ฮ. ร่วมกันฆ่า “โดยมิได้เห็น” ท. ร่วมในการฆ่าด้วย แต่จำเลยได้แจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจ ผู้ออกไปสืบสวน และให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า “เห็น” ท. ร่วมกับ ส. และ ฮ.ฆ่าผู้ตาย ผิด ม 172 ไม่ผิด ม 137 ซึ่งเป็นบทบัญญัติโดยทั่วไปอีก ไม่ผิด ม 173
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3702/2526 ความสำคัญของคดีแจ้งความเท็จอยู่ที่ว่า จำเลยเห็นเหตุการณ์การกระทำผิดของผู้อื่น ตามที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้อื่นกระทำผิดหรือไม่ เพราะแม้ผู้อื่นกระทำผิดจริง แต่ถ้าจำเลยไม่เห็นการกระทำผิด แล้วบังอาจให้การว่าเห็น ก็มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ จำเลยให้การเท็จว่าเห็นเหตุการณ์ แล้วขอถอนคำให้การ อ้างว่าที่ให้ไว้เพราะได้รับการเสี้ยมสอน ผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ.ม.172, 174 / ป.อ.ม.181 (2) ข้อความที่ว่าเป็นการกระทำในกรณีแห่งข้อหาว่าผู้อื่นกระทำความผิดที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไปนั้น หมายถึงอัตราโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4205/2529 การแจ้งความเท็จอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173 และ 174 นั้น ความเท็จที่แจ้งต้องเป็นข้อความที่เกี่ยวกับความผิดอาญา เมื่อจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนเพียงว่า จำเลยเป็นผู้แนะนำ ส. ให้รู้จักกับโจทก์และสามีซึ่งเป็นความเท็จ โดยไม่มีข้อความว่าโจทก์กระทำความผิดอาญาการกระทำของจำเลย ย่อมไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ / ส่วนการเบิกความเท็จอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 นั้น ความเท็จที่เบิกความต้องเป็นข้อสำคัญในคดี คือ เป็นข้อความในประเด็นหรือที่เกี่ยวแก่ประเด็นอันอาจจะทำให้ คู่ความถึงแพ้ชนะกันในประเด็นนั้นในคดีที่โจทก์คดีนี้ถูกฟ้องว่าฉ้อโกง ข้อสำคัญแห่งคดีมีว่า โจทก์ได้ทำการหลอกลวงผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ แล้วมอบเงินให้โจทก์รับไปหรือไม่ ดังนั้น ที่จำเลยเบิกความในคดีดังกล่าวว่าจำเลยเคยแนะนำโจทก์ ให้รู้จักกับผู้เสียหายนั้น ถึงหากจะเป็นความเท็จก็มิใช่ข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ
- กรณีไม่ถือเป็นการแจ้งความคดีอาญาเท็จ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1146/2520 โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทตามคำสั่งศาลแล้ว จำเลยแจ้งต่อ ศาลและตำรวจว่าโจทก์ยังไม่ออกตามคำสั่งศาล ศาลจึงออกหมายจับ และ ตำรวจจับโจทก์ดังนี้ เป็นการแจ้งความเท็จเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่ง ไม่เป็น ความผิดตาม ป.อ. ม.172, 173 และ 174 การที่โจทก์ไม่ออกจากที่พิพาทตามคำสั่งศาล ไม่เป็นการละเมิดอำนาจ ศาลตาม ป.ว.พ.
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4669/2530 จำเลยเป็นเกษตรอำเภอทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชา ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยเกษตรจังหวัดได้ไปรื้อค้นสำนักงาน และโต๊ะทำงานของจำเลยขณะจำเลยไม่อยู่ ปรากฏว่าเงินที่จำเลยเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานสูญหายไป จำเลยย่อมมีเหตุที่จะสงสัยว่าโจทก์อาจจะเป็นคนร้ายลักเงินไป จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสืบสวนว่า โจทก์บุกรุกสำนักงานและลักทรัพย์โดยแจ้งรายละเอียด และพฤติการณ์ของโจทก์ พร้อมทั้งระบุด้วยว่าจำเลยทราบเรื่องจากผู้ใด ดังนี้ แม้จะได้ความว่าโจทก์ไปตรวจราชการตามหน้าที่โดยชอบกฎหมาย และจำเลยไม่มีพยานหลักฐานว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จ อันจะเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 172 และที่จำเลยทำบันทึกถึงนายอำเภอ มีข้อความทำนองเดียวกับที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ.มาตรา 179 / การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน ซึ่งจะเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 172 ต้องเป็นกรณีที่ผู้แจ้งแกล้งแจ้งข้อความให้ผิดไปจากความจริง การที่แจ้ง “ข้อกล่าวหา” คลาดเคลื่อนไป จะถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเสมอไปหาได้ไม่ เช่นเดียวกับการตั้งข้อหาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ซึ่งไม่จำเป็นต้องตั้งข้อหาตามข้อกล่าวหาของผู้แจ้งความเสมอไปเช่นกัน
- เปรียบเทียบ มาตรา 173
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1294/2536 คืนเกิดเหตุผู้เสียหายมิได้นำอาวุธปืนติดตัวไปที่บ้านจำเลย และมิได้ทำอาวุธปืนหล่นที่หน้าบ้านจำเลย การที่จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ว่าผู้เสียหายทำอาวุธปืนลูกซองสั้น 1 กระบอก มีกระสุนปืนบรรจุอยู่ 1 นัดตกอยู่หน้าบ้านจำเลย จึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน ซึ่งอาจทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย เพื่อแกล้งให้ผู้เสียหายต้องรับโทษ อันเป็นความผิดตาม มาตรา 172 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง (คดีนี้น่าจะผิด ม 173) ในการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าผู้เสียหายมีและพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น จำเลยได้นำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปมอบให้พนักงานสอบสวนด้วย จึงเป็นการทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดอาญาเกิดขึ้น จึงมีความผิดตาม มาตรา 179 ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4-5/2537 จำเลยทั้งสองเคยติดต่อซื้อบุหรี่จำนวนมากจาก ณ. ซึ่งซื้อมาจากร้านสหกรณ์ในราคาถูกกว่าท้องตลาด ณ. เป็นลูกค้าซื้อบุหรี่เงินเชื่อ ประเภทขายส่งของร้านสหกรณ์มานาน ในวันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองได้มอบเงินให้ ณ. ไปซื้อบุหรี่ด้วยความหวังว่าจะได้บุหรี่ตามจำนวนที่ขอซื้อเช่นเคย แต่ ณ. เป็นหนี้ค่าบุหรี่ร้านสหกรณ์จำนวน 98,282.20 บาท โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานการเงินของสหกรณ์รับเงินจาก ณ.แล้ว แทนที่จะมอบบุหรี่ตามจำนวนเงินที่มาขอซื้อ กลับนำเงินมาหักหนี้ที่ ณ. ค้างชำระอยู่ โดยเชื่อว่าเป็นเงินของ ณ. เอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่สามารถเรียกเงินคืนจาก ณ. ได้ จึงแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนอันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 1 กับ จ.ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ได้นำเงินจำนวน 56,205 บาท และ 45,000 บาท ตามลำดับ มาขอซื้อบุหรี่จากร้านสหกรณ์ด้วยตนเอง ไม่เกี่ยวกับ ณ. โจทก์รับเงินแล้ว ไม่ส่งมอบบุหรี่ตามจำนวนที่ขอซื้อ เป็นการฉ้อโกงจำเลยทั้งสอง เพื่อบีบบังคับให้โจทก์คืนเงิน เป็นเหตุให้โจทก์ถูกดำเนินคดีและต้องถูกควบคุมตัว ย่อมได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172 (คดีนี้น่าจะผิด ม 173)
มาตรา 173 ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ว่าได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท
- คำพิพากษาฎีกาที่ 209/2506 จำเลยเป็นปากเสียงกับบุคคลผู้หนึ่ง แล้วถูกบุคคลผู้นั้นชกต่อยเอา แต่จำเลยได้นำความไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า มีนักเลง 3 คนกลุ้มรุมทำร้ายจำเลย คนหนึ่งใช้ไม้ตี คนหนึ่งล็อกคอ อีกคนหนึ่งแย่งเงิน แล้วนำเจ้าพนักงานไปที่เกิดเหตุเพื่อจับกุมผู้ที่มีเรื่องกับตน เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา เพื่อจะแกล้งให้บุคคลผู้นั้นต้องรับโทษหนักขึ้น และข้อความที่แจ้งเป็นการกล่าวหาว่าบุคคลผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยมีความผิดตามมาตรา 174 ประกอบด้วยมาตรา 181 (1) ไม่ใช่ มาตรา 172
- คำพิพากษาฎีกาที่ 627/2515 จำเลยและผู้เสียหายมีอาชีพขายเนื้อโคกระบือ วันเกิดเหตุ ผู้เสียหายไม่ได้รับอนุญาตให้ฆ่ากระบือ จำเลยแจ้งตำรวจ ว่า เนื้อบนเขียงผู้เสียหายเป็นเนื้อกระบือ ให้จับผู้เสียหาย ถ้าไม่จับจะไปเอาตำรวจที่อื่นมาจับเพื่อให้ผู้เสียหาย ต้องรับโทษ โดยจำเลยรู้ว่าเนื้อดังกล่าวเป็นเนื้อโค ซึ่งผู้เสียหายได้รับอนุญาต ให้จำหน่าย เช่นนี้ เป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยประสงค์จะให้ เจ้าพนักงานดำเนินคดีกับผู้เสียหายฐานฆ่ากระบือและจำหน่ายเนื้อกระบือโดยไม่ได้รับอนุญาต / ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ปอ ม 172,173, 174 เมื่อได้ความว่าจำเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่แจ้งว่าได้ มีการกระทำผิดเกิดขึ้น ต้องลงโทษตามมาตรา 173 ซึ่งเป็นบทเฉพาะ ประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์ตามมาตรา 174 มิใช่เป็นเรื่องกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1275/2519 จำเลยฝ่ายเดียวเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย แล้วไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ว่าผู้เสียหายใช้มีดแทงพยายามชิงทรัพย์ จำเลยโดยผู้เสียหายมิได้กระทำผิด จำเลยมีความผิดฐาน พยายามฆ่าและผิดฐานแจ้งความเท็จอีกกระทงหนึ่ง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1489/2530 ความผิดตาม มาตรา 173, 174 ผู้แจ้งจะต้องมีเจตนาที่จะให้เจ้าพนักงานสอบสวน ดำเนินการสอบสวนเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษในทางอาญา แต่การที่จำเลยทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์นั้น จำเลยมีเจตนาให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ มิได้เจตนาที่จะให้ดำเนินการเอาความผิดแก่โจทก์ในคดีอาญา จึงไม่มีมูลเป็นความผิดตาม มาตรา 173, 174
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1088/2536 จำเลยมิได้แลกเช็คจาก ศ. เพียงแต่รับสมอ้าง จึงไม่เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าเป็นผู้ทรง โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นเช็คที่ไม่มีมูลความผิด เพราะโจทก์มิได้ลงวันที่สั่งจ่าย เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ อันจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง / เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 137 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก และไม่เป็นความผิดตามมาตรา 172
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5449/2540 จำเลยเป็นพนักงานเก็บเงินของบริษัทผู้เสียหายเก็บเงินจากลูกค้าแล้วยักยอกไป โดยจำเลยได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายใช้อาวุธปืนและมีดจี้บังคับปล้นเอาเงินจำนวน 74,320 บาท ซึ่งเป็นของผู้เสียหายและบางส่วนเป็นของจำเลยไป โดยไม่มีการปล้นทรัพย์เกิดขึ้น แต่จำเลยทำพยานหลักฐานเท็จด้วยการใช้ท่อนไม้ทุบรถจักรยานยนต์ของจำเลยและแจ้งข้อความเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการปล้นทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา แจ้งความเท็จว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ / ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 172, 173, 179, 90, 91 ฐานยักยอก จำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับความผิดอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด กับความผิดฐานทำพยานหลักฐาน อันเป็นเท็จเป็นกรรมเดียวกัน ลงโทษฐานแจ้งความเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา 173 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ศาลฎีกาแก้ไขโทษ นอกนั้นพิพากษายืน
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3550/2541 รถยนต์ที่จำเลยดูแลรับผิดชอบได้หายไป จำเลยจึงไปแจ้ง ต่อพันตำรวจโท ม. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่ที่จำเลยไปพบรถยนต์ที่จำเลยดูแลรับผิดชอบ เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจนำรถยนต์มาเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจเพื่อป้องกันมิให้สูญหาย โดยจำเลยไม่ประสงค์ ที่จะให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วมหรือผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องสืบให้ได้แน่ชัดก่อน แล้วจึงจะไปร้องทุกข์ดำเนินคดีภายหลัง เมื่อข้อความ ที่จำเลยแจ้งแก่พันตำรวจโท ม. เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และจำเลยมิได้แจ้งว่ารถยนต์หายไป ไม่ว่าจะเป็นการ โดยการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์อย่างใด และไม่ปรากฏข้อความ ที่แจ้งว่ามีการกระทำความผิด แม้โจทก์ร่วมจะได้แนะนำ ให้จำเลยไปแจ้งความดำเนินคดีในท้องที่เกิดเหตุก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยไปแจ้งความดำเนินคดีเพราะเหตุมีการกระทำความผิด แต่อย่างใด ไม่ การกระทำของจำเลยที่ไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้นำรถมาเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจ จึงไม่เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173
- กรณีไม่ถือเป็นการแจ้งความคดีอาญาเท็จ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1489/2530 (สบฎ เน 74) จำเลยทำหนังสือร้องเรียนผู้บังคับบัญชาโจทก์ โดยมีเจตนาให้ดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์ ไม่เจตนาให้ดำเนินการเอาผิดแก่โจทก์ในคดีอาญา ไม่มีมูลความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 และ 174
- ผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 173
- คำพิพากษาฎีกาที่ 627/2515 จำเลยและผู้เสียหายมีอาชีพขายเนื้อโคกระบือ วันเกิดเหตุ ผู้เสียหายไม่ได้รับอนุญาตให้ฆ่ากระบือ จำเลยแจ้งตำรวจ ว่า เนื้อบนเขียงผู้เสียหายเป็นเนื้อกระบือ ให้จับผู้เสียหาย ถ้าไม่จับจะไปเอาตำรวจที่อื่นมาจับเพื่อให้ผู้เสียหาย ต้องรับโทษ โดยจำเลยรู้ว่าเนื้อดังกล่าวเป็นเนื้อโค ซึ่งผู้เสียหายได้รับอนุญาต ให้จำหน่าย เช่นนี้ เป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยประสงค์จะให้ เจ้าพนักงานดำเนินคดีกับผู้เสียหายฐานฆ่ากระบือและจำหน่ายเนื้อกระบือโดยไม่ได้รับอนุญาต / ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ปอ ม 172,173, 174 เมื่อได้ความว่าจำเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่แจ้งว่าได้ มีการกระทำผิดเกิดขึ้น ต้องลงโทษตามมาตรา 173 ซึ่งเป็นบทเฉพาะ ประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์ตามมาตรา 174 มิใช่เป็นเรื่องกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1041/2542 โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของสถานที่ที่จำเลยแจ้ง โจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ที่ 1 แม้จำเลยจะแจ้งถึงสถานที่ไม่ได้ระบุถึงโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 แต่สถานที่ไม่มีสถานะเป็นบุคคล แม้จะมีบุคคลอื่นอยู่ในสถานที่นั้นอีกหลายคน แต่หากมีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่จริง โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองสถานที่จะต้องรับผิดชอบ โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 173 และไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้อง / จำเลยประกอบอาชีพเป็นทนายความเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมาย กระทำการอันเป็นความผิดต่อกฎหมายเสียเอง แล้วไม่สำนึกผิด กลับต่อสู่คดีวกวนกล่าวโทษผู้อื่น จึงไม่สมควรกำหนดโทษให้เบาลงอีก แต่จำเลยกระทำไปก็โดยมุ่งหมายให้สำเร็จประโยชน์ในงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นที่พอใจแล้วและไม่ติดใจเอาความกับจำเลย สมควรรอการลงโทษจำคุก
มาตรา 174 ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท
ถ้าการแจ้งข้อความในวรรคแรกเป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ หรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2913 ถึง 2915/2528 จำเลยที่ 1 ยืมรถยนต์โดยสารจาก ส. ฝากรถไว้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมา ส.ขับรถดังกล่าวชนรถอื่นมีคนบาดเจ็บ ร.ต.อ. ก.ติดตามพบรถ แต่ไม่พบคนขับ จึงนำรถไปไว้ที่สถานีตำรวจ จำเลยที่ 1 ได้แจ้งความว่าจำเลยที่ 1 มีความเห็นว่าการกระทำของ ร.ต.อ. ก.กับพวกรวม 3 คนเป็นการร่วมกันเอารถยนต์ไป โดยเจตนาทุจริตและใช้กำลัง อันเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์และลักทรัพย์ หาใช่เป็นเพียงความเห็น หรือความเข้าใจไม่ เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.173, 174 วรรคสอง ประกอบด้วย ม.181 (1) ซึ่งจะต้องได้รับโทษหนักขึ้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 1088/2536 จำเลยมิได้แลกเช็คจาก ศ. เพียงแต่รับสมอ้าง จึงไม่เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวน ว่าเป็นผู้ทรงโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเช็คที่ไม่มีมูลความผิดเพราะ โจทก์มิได้ลงวันที่สั่งจ่าย เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ โจทก์อันจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ จึงเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ประกอบ มาตรา 174 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 137 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก และไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 172 ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง
คำพิพากษาฎีกาที่ 1173/2539 ข้อความที่จำเลยที่ 3 แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ตรงกับสภาพที่จำเลยที่ 2 ไปพบเห็นมาจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 แจ้งข้อความตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ส่วนการกระทำของโจทก์ จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 3 แจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งข้อความหมายถึง แจ้งข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับ ข้อกฎหมาย จึงไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ / โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะเจ้าพนักงานได้ร่วมกันกระทำผิด กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจ ให้จำเลยที่ 3 แจ้งความร้องทุกข์ต่อจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานสอบสวน ว่าโจทก์บุกรุกแผงค้าตลาดมีนบุรีโดยมีจำเลยที่ 2 อ้างว่าได้พบ การกระทำความผิดของโจทก์แล้วรายงานต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลย ทั้งสามทราบว่าเป็นความเท็จ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ ได้รับโทษทางอาญาอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อมาจำเลยที่ 4 ได้ดำเนินการจับกุมตัวโจทก์ไว้ โดยมิได้มีการออกหมายเรียก ผู้ต้องหาก่อน โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสี่ อย่างมาก โดยถูกจำเลยที่ 4 ควบคุมตัวในวันที่ 13 ตุลาคม 2532 ทำให้ โจทก์เสื่อมเสียอิสระภาพ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 172, 174 วรรคสอง, 310, 86, 83 / ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 172, 174, 83 เฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้ประทับฟ้อง ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง / ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน / โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาต ให้ฎีกา / ศาลฎีกา พิพากษายืน
คำพิพากษาฎีกาที่ 3383/2541 การที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 และ 174 นอกจากจะต้องแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อแกล้งให้ ผู้อื่นต้องรับโทษแล้ว ผู้กระทำจะต้องรู้ว่า ข้อความที่ แจ้งนั้นเป็นเท็จด้วย จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน โดยมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจว่า ต้องดำเนินคดีแก่โจทก์ ส่วนการจะตั้งข้อหาดำเนินคดี แก่โจทก์หรือไม่ ก็เป็นอำนาจ หน้าที่ของพนักงานสอบสวน หาได้เกิดจากการกระทำของจำเลย โดยตรง กรณียังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความ อันเป็นเท็จดังกล่าว
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมากมายคับ
แสดงความคิดเห็น