ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๖๙

มาตรา 69 ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 และมาตรา 68 นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไป เกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้

- การป้องกัน "เกินสมควรแก่เหตุ" (อ เกียรติขจรฯ 8/385) เกินสัดส่วนกับภยันตราย

- "เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน" กระทำโดยมีเจตนาป้องกัน แต่ภยันตรายยังห่างไกล หรือผ่านพ้นไปแล้ว

- ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้บันทึกหมายเหตุท้ายฎีกา ที่ 782/2520 ไว้ตอนหนึ่งว่า "ยังไม่ถึงขั้นที่จำต้องป้องกันก็ยิง หรือเลยขั้นที่จำต้องป้องกันแล้วก็ยังยิง จึงเป็นเรื่องทำเกินกว่า ที่จำต้องทำเพื่อป้องกัน" อันเป็นหลักการที่สื่อความหมายของ การป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันได้ ชัดเจนที่สุด กล่าวคือ กรณียังไม่ถึงขั้นที่จำต้องป้องกันก็ยิงนั้น เป็นการป้องกันสิทธิต่อภยันตรายที่ยังอยู่ห่างไกล เช่น ใช้ปืนยิง เด็กซึ่งส่องไฟหากบที่ริมรั้วบ้านตาย โดยสำคัญผิดว่าเด็กเป็น คนร้ายจะมาฆ่าพี่ชาย ขณะใช้ปืนยิงเด็กอยู่ห่าง 7 วา และยัง ไม่ทันเข้ามาในรั้วบ้าน (คำพิพากษาฎีกาที่ 872/2510) / กระบือถูกลักไปหลายครั้งคงเหลือตัวเดียว คือเกิดเหตุผู้ตายเดินผ่าน หน้าบ้านจึงใช้อาวุธปืนยิงเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นคนร้ายมาลักกระบือ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2442/2527) / จำเลยสำคัญผิดว่าคนที่มาเคาะประตูห้องพักเป็นสามีเก่าของผู้ตายจะมาทำร้ายจำเลย แต่กลับเป็นผู้ตาย จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายโดยสำคัญผิดทั้ง ๆ ที่ประตู ห้องเกิดเหตุมีโซ่คล้องอยู่ สามารถเปิดได้ประมาณ 1 คืบ เท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 4613/2534) / ส่วนกรณีเลยขั้นที่จำต้องป้องกัน แล้วก็ยังยิงนั้น เป็นการป้องกันสิทธิต่อภยันตรายที่ผ่านพ้นไปแล้ว เช่น ใช้ปืนยิงผู้ตาย หลังจากที่ผู้ตายก่อเหตุและหันกลับวิ่งหนี (คำพิพากษาฎีกาที่ 1542/2509, 4952/2536) / คนร้ายลอบวางเพลิงบ้านจำเลยไปแล้ว จำเลยเห็นผู้ตายยืนอยู่หน้าบ้านสำคัญผิดว่า เป็นคนร้ายจึงใช้ปืนยิงผู้ตาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 529/2517) ยิงผู้ตายล้มลงแล้วเอาไปทิ้งลงเหว (คำพิพากษาฎีกาที่ 2410/2530) แทงหรือยิงผู้ตายในขณะที่ผู้ตายหมดโอกาสทำร้ายจำเลยแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ 2066/2533, 1579/2534, 3206/2536) ผู้ตายไม่อาจจะทำร้ายจำเลยต่อไปแล้วจำเลยยังตีซ้ำอีก (คำพิพากษาฎีกาที่ 1407/2537) ผู้ตายกับพวกเป็นเครือญาติกับจำเลยเอง เมื่อ พ.ชกจำเลยล้มลงแล้ว ผู้ตายก้มตัวจะดึง จำเลยขึ้น แต่จำเลยสำคัญผิดว่าผู้ตายจะทำร้าย จึงใช้มีดแทงผู้ตาย ทั้งที่ผู้ตายกับเครือญาติไม่มีอาวุธ (คำพิพากษาฎีกาที่ 4314/2536)


- การป้องกัน "เกินสมควรแก่เหตุ"

- คำพิพากษาฎีกาที่ 29/2487 จำเลยไช้ไม้ซางยิงไก่ของผู้อื่น ที่เข้ามากินผักสวนครัวของจำเลยตาย ย่อมมีความผิดตามมาตรา 324. อ้างดีกาที่ 1271/2481 / การไช้ไม้ซางยิงไก่ที่เข้ามากินผักตาย เปนป้องกันเกินกว่าเหตุ.

- คำพิพากษาฎีกาที่ 196/2496 จำเลยใช้ปืนยิงคนร้ายที่กำลังฟันถากเปลือกต้นยาพาราในสวนของจำเลยในเวลากลางคืน กระสุนปืนถูกคนร้ายตายไป 1 คน นั้นเป็นการกระทำป้องกันทรัพย์ แต่เกินสมควรแก่เหตุ.

- คำพิพากษาฎีกาที่ 405/2490 ผู้ตายเข้าไปในไร่ฝ้าย แล้วทำการหวดต้นฝ้าย เพื่อลักในเวลากลางวัน จำเลยเป็นผู้เฝ้าไร่ได้ยิงผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นการป้องกันทรัพย์เกินสมควรแก่เหตุมาก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1320/2503 สามีจะทำร้ายภริยาด้วยไม้หลักแจว ภริยาหนีเข้าห้องเรือนไป สามีก็ติดตามจะเข้าไปทำร้ายภริยาให้ได้ ภริยาจึงใช้ปืนยิง 1 นัด ถูกสามีถึงแก่ความตายเช่นนี้ เป็นการป้องกันแต่เกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 411/2509 ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน ผู้ตายเป็นน้องสาวจำเลย จำเลยพูดสั่งสอนผู้ตาย ผู้ตายโกรธและโดดเข้าไปจะทำร้ายจำเลย โดยผู้ตายไม่มีอาวุธอะไร จำเลยคว้าได้มีดและแทงไป 1 ที ถูกผู้ตายที่ซอกคอ แผลลึก 3 นิ้วครึ่ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยสมัครใจจะวิวาทต่อสู้ทำร้ายซึ่งกันและกันกับผู้ตาย เห็นได้ว่าจำเลยกระทำไป เพื่อป้องกันตัวให้พ้นภยันตรายที่ใกล้จะถึง แต่การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1103/2510 ผู้ตายเมาสุราแล้วเข้ากอดปล้ำภรรยาจำเลยก่อน เมื่อจำเลยไปกระชากตัวออกมา ผู้ตายได้ชกต่อยจำเลยอีก จำเลยจึงใช้มีดแทงผู้ตายไปหลายที จนกระทั่งผู้ตายขาดใจตาย การที่ผู้ตายชกต่อยจำเลยโดยไม่มีอาวุธ แต่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายจนถึงตาย เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม มาตรา 69

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1408/2510 ผู้ตายยิงจำเลยก่อนแต่ไม่ถูก ขณะที่ผู้ตายกำลังเอี้ยวตัวหักลำปืน จำเลยยิงผู้ตาย 1 นัด ผู้ตายล้มลง จำเลยยิงซ้ำอีก 2 นัด เพราะกลัวผู้ตายจะไม่ตาย เป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 978/2514 ผู้ตายเข้าไปบนเรือนของจำเลยในยามวิกาล ถึงที่ที่จำเลยนอน จำเลยร้องถามว่าใครถึง 3 ครั้ง ผู้ตายไม่ตอบและยังเข้ามาเหยียบเท้าจำเลย ประกอบกับในระหว่างนั้นได้มีคนร้ายมาปล้นบ้านใกล้เคียงบ่อยๆ จึงมีเหตุอันสมควรให้จำเลยเข้าใจว่าผู้ตายเป็นคนร้ายเข้ามาทำร้าย การที่จำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงไป 1 ที ถือได้ว่าจำเลยกระทำการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ แต่เมื่อจำเลยแทงไป 1 ที และผู้ตายวิ่งหนีไป เสียหลักล้มลงที่พื้นดินหน้าบันไดเรือนจำเลย จำเลยยังวิ่งตามไปแทงซ้ำอีกหลายครั้ง จนผู้ตายถึงแก่ความตายอยู่ตรงนั้น ถือว่าจำเลยกระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1061/2514 ผู้ตายซึ่งเป็นพี่ชายของจำเลยตบหน้าจำเลยก่อน แล้วตามจำเลยเข้าไปในห้อง จะตบตีจำเลยอีก จำเลยจึงคว้ามีดซามูไรยาว 1 คืบทั้งด้ามแทงผู้ตายทางด้านหน้าก่อน และเมื่อผู้ตายจะหนีออกนอกห้อง จำเลยก็แทงข้างหลัง แผลทะลุถึงหัวใจ ผู้ตายล้มลงและถึงแก่ความตาย ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1378/2514 ผู้ตายซึ่งมีอาการเมาสุรายืนพูดต่อว่าบุคคลอื่นอยู่ จำเลยซึ่งเมาสุราเหมือนกัน เข้าไปถามว่าเรื่องอะไรกัน ผู้ตายตอบว่า ไม่ใช่เรื่องของมึง พร้อมกับชักมีดดาบปลายปืนตัวมีดยาว 15 นิ้วออกมาแทงจำเลย แล้วผู้ตายกับจำเลยแย่งมีดกัน จำเลยแย่งมีดได้ จึงแทงผู้ตายที่หน้าอกและท้องอันเป็นอวัยวะสำคัญ โดยที่ผู้ตายไม่มีอาวุธอะไรแล้ว ทั้งปรากฏว่าจำเลยหนุ่มกว่า และรูปร่างใหญ่กว่าผู้ตายด้วย ดังนี้ ถือว่าเป็นการฆ่าโดยเจตนาด้วยการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1445/2514 ผู้ตายยกกลองยาวตีศีรษะจำเลย 1 ที ผู้ตายยังตามเข้าไปใช้เท้าถีบจำเลยอีก จำเลยใช้มีดปลายแหลมยาว 1 คืบ แทงถูกผู้ตายที่อุ้งขาขวาใต้ลูกอัณฑะ แผลลึกตัดเส้นโลหิตใหญ่ขาด ผู้ตายไม่มีอาวุธอะไรเลย เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2106/2514 ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุก่อนด่าว่าจำเลย ถือเหล็กไขควงบุกรุกขึ้นไปบนเรือนจำเลย แล้วใช้เหล็กไขควงแทงจำเลย แม้จะไม่ถูก จำเลยก็มีสิทธิป้องกันได้ แต่การที่จำเลยใช้มีดดาบฟันผู้ตายมีบาดแผลฉกรรจ์ถึง 4 แห่งเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ย่อมเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ เพราะจำเลยฟันผู้ตายเพียงครั้งเดียว ก็จะหยุดยั้งการกระทำของผู้ตายได้แล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2474/2515 ผู้ตายกับพวกจะเข้าทำร้ายจำเลยซึ่งมีแต่ตัวคนเดียวและเป็นเวลากลางคืน จำเลยใช้ปืนยิงเพื่อป้องกัน โดยพวกผู้ตายไม่มีปืนนั้น เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 782/2520 ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปลักแตงในไร่ของจำเลย ในเวลากลางคืนจำเลยใช้อาวุธปืน .22 ยิงผู้เสียหายขณะผู้เสียหายกับพวกวิ่งหนี ถูกที่หลังกระสุนฝังใน การที่จำเลยยิงผู้เสียหายโดยเหตุที่ผู้เสียหายลักแตง 2-3 ใบราคาเล็กน้อย กระสุนถูกที่สำคัญตรงหน้าอก ย่อมเล็งเห็นได้ว่ามีเจตนาจะฆ่า จึงเป็นการกระทำที่เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย เพื่อป้องกันสิทธิของตนเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2494/2520 จำเลยที่ 2 ชักปืนออกจะยิงจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยิงจำเลยที่ 2 เพื่อป้องกันได้ แต่ยิงหลายนัดถูกจำเลยที่ 2 ทางข้างหลังและใต้รักแร้ เป็นการเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตาม ม.69

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2513/2520 ธ.โต้เถียงกับจำเลยแล้วเดินเข้าหาจะทำร้าย จำเลยยิง ธ. 3 นัด ถูกโคนขาซ้าย ธ.ไม่มีอาวุธ เป็นการป้องกันเกินกว่าเหตุ แต่ไม่เป็นบันดาลโทสะ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 975/2521 พ.ล.มือเปล่าชกต่อยจำเลย จำเลยใช้มีดแทง พ.ล.เป็นอันตรายสาหัส ประกอบอาชีพตามปกติไม่ได้เกิน 20 วัน เป็นป้องกันเกินแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2409/2521 พ.ยิงจำเลย 1 นัด จำเลยฟัน พ.สาหัสมาก พ.ไม่ได้แสดงกริยาจะทำร้ายจำเลยอีก ถือปืนยืนเซ่ออยู่ เป็นปืนที่ต้องบรรจุกระสุนทีละนัด จำเลยฟันซ้ำอีกถูกคอ พ.ลึกกระดูกประสาทต้นคอขาด ตายอยู่กับที่ เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ และเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 186/2524 จำเลยเป็นนายเรือเดินทะเล ลูกเรือชักชวนกันละทิ้งหน้าที่ แต่ยังมีคนทำงานเรือเดินทางมาอย่างปกติ ภยันตรายที่เรือใกล้จะอับปางจึงยังไม่มี ผู้ตายแสดงกิริยาให้เข้าใจว่าจะทำร้ายจำเลย และร้องบอกพรรคพวกให้นำอาวุธมาให้ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้จำเลยหลบเข้าห้อง และที่ประจันหน้ากับผู้ตาย ก็มิใช่สมัครใจต่อสู้กับผู้ตาย จำเลยยิงผู้ตายซึ่งไม่มีอาวุธติดตัวเป็นการป้องกันสิทธิ แต่เกินสมควรแก่เหตุ จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.ม.288,69 จำคุก 2 ปี รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตาม ม.56

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2031/2525 ผู้ตายและ ส. โกรธจำเลยอย่างมาก ที่จำเลยอ้างว่ามีคนบอกว่าผู้ตายมีเฮโรอีนขาย แต่หาตัวคนบอกไม่พบ จึงได้รุมทำร้ายจำเลยจนมีบาดแผลโลหิตไหลที่ปาก จำเลยได้ใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้ตาย เพื่อให้รอดพ้นจากอันตรายที่ถูกรุมทำร้าย แต่จำเลยแทงผู้ตายหลายทีมีบาดแผลฉกรรจ์ ดังนี้การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1895/2526 ผู้ตายเมาสุรา ถือปืนจ้องตรงไปยัง น. บิดาจำเลย พูดขู่ในทำนองจะฆ่าเพราะไม่พอใจที่ น.ต่อว่าผู้ตายเทน้ำตาลเมาทิ้ง จำเลยจึงสกัดกั้น โดยยิงผู้ตายก่อนด้วยปืนลูกซองยาว แล้วกระโดดเข้าแย่งปืนสั้นจากผู้ตาย แต่เมื่อได้ปืนมาแล้ว จำเลยกลับใช้ปืนของผู้ตายยิงซ้ำอีก 3 นัด จึงเป็นการกระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตาม ป.อ. ม.69

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2635/2526 ผู้ตายจะยิงจำเลยก่อน จำเลยปัดปืนหลุดจากมือผู้ตาย ขณะแย่งปืนกันจำเลยได้ใช้มีดปลายแหลมแทงผู้ตายครั้งแรกเป็นแผลฉกรรจ์ ทำให้ผู้ตายไม่สามารถจะแย่งปืนได้อีก แต่จำเลยก็ยังแทงฟันซ้ำอีกหลายครั้งรวม 6 แผล ล้วนเป็นแผลฉกรรจ์ ขณะผู้ตายไม่มีอาวุธและถึงแก่ความตาย ดังนี้การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3661/2527 ผู้ตายถือเหล็กแหลมไล่แทงจำเลย จำเลยใช้มือผลัก จึงถูกแทงที่มือและแขน จำเลยวิ่งหนี และไปพบไม้ตกอยู่ข้างถนนก็หยิบขึ้นมา เมื่อผู้ตายวิ่งเข้ามาแทงจำเลยอีก จำเลยจึงใช้ไม้นั้นตีผู้ตาย ผู้ตายมีบาดแผลถูกตีด้วยของแข็ง 7 แผล ถึงแก่ความตาย ดังนี้ จำเลยทำร้ายผู้ตาย เพื่อป้องกันสิทธิของตน แต่กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ มีความผิดตาม ป.อ. ม.288,69

- คำพิพากษาฎีกาที่ 805/2528 จำเลยกับพวกเกิดวิวาทชกต่อยกับโจทก์ร่วม และพวกในวงสุราหน้าบ้านโจทก์ร่วม มีผู้ห้ามก็เลิกกัน จำเลยพกปืนกลับมาที่วงสุราอีก แต่ถูกโจทก์ร่วมค้นตัว จนหนีกลับบ้าน โจทก์ร่วมกับพวกตามไปถึงใต้ถุนบ้านจำเลย จึงเป็นเพราะอยากหาเรื่องกับจำเลย เป็นการตามไปคุกคามจะทำร้ายจำเลยถึงในบ้าน จำเลยใช้ปืนยิงโจทก์ร่วมกับพวกจึงเป็นการป้องกันตัว แต่โจทก์ร่วมกับพวกไม่มีอาวุธอะไร หากจำเลยยิงปืนเพียงนัดเดียว ก็น่าจะเป็นเหตุให้หลบหนีไปแล้ว แต่จำเลยยิงปืนถึง 4 นัด กระสุนปืนถูก ว.ถึงแก่ความตายและถูกโจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ มีความผิดตาม ป.อ.ม.288,69

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2717/2528 ผู้ตายเข้ามาลักลอบ ตัดฟันต้นข้าวโพดของจำเลยในเวลากลางคืน จำเลยซึ่งอาศัยอยู่กับมารดาไปพบเห็น ย่อมมีสิทธิกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิในทรัพย์สินของมารดาได้ แต่ขณะที่จำเลยยิงผู้ตายนั้น ปรากฏว่าผู้ตายถือมีดอยู่ห่างประมาณ 2 วา ยังไม่อยู่ในลักษณะที่พร้อมจะฟันทำร้ายจำเลย จำเลยยังมีทางหลบหลีก และยิงขู่ผู้ตายได้ เมื่อผู้ตายรู้ว่าจำเลยกับพวกมีอาวุธปืน ย่อมจะอาศัยความมืดหลบหนีไป ดังนี้ การที่จำเลยด่วนยิงผู้ตาย จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2777/2528 เช้าวันเกิดเหตุหลังจากผู้เสียหายหลับนอนกับภริยาจำเลย ที่บ้านจำเลยตลอดคืน แล้วผู้เสียหายเดินออกจากบ้าน ในขณะที่จำเลยกำลังเดินเข้าบ้าน ผู้เสียหายได้เตะต่อยจำเลยก่อน จำเลยซึ่งมีอายุมากกว่าสู้ไม่ได้ จึงคว้ามีดมาฟันผู้เสียหาย ดังนี้ เป็นการป้องกัน แต่จำเลยใช้มีดทั้งตัวด้ามและใบมีดยาวประมาณ 1 ฟุต ใบมีดกว้าง 4 นิ้ว ฟันหลายที บาดแผลสำคัญที่ท้ายทอยยาว 15 ซม. ลึก 7 ซม. ที่หน้าผากยาว 5 ซม. ลึกถึงกะโหลกศีรษะ จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3451/2528 จำเลยได้ยินเสียงน้องสาวภริยาจำเลยร้องขอให้ช่วย จึงวิ่งขึ้นไปบนบ้านก็ถูกยิงสวนออกมาจากในห้องซึ่งเป็นที่มืด จำเลยย่อมจะใช้อาวุธปืนซึ่งติดตัวอยู่ยิงโต้ตอบไปได้ เพราะจำเลยอาจถูกยิงอีกได้เนื่องจากอยู่ในที่โล่งที่จำเลยใช้ปืนยิงถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกัน แต่การที่จำเลยใช้ปืนยิงเข้าไปในห้องหลายนัด โดยไม่คำนึงถึงว่านอกจากคนร้ายแล้ว ยังมีผู้อื่นอยู่อีกทำให้กระสุนปืนพลาดไปถูกผู้อื่นถึงแก่ความตายด้วย การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4955/2528 จำเลยใช้มีดโต้ฟันผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเด็กเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของจำเลย ในเวลากลางคืน 1 ที ทำให้เกิดบาดแผลฉกรรจ์ยาว 6 เซนติเมตร กะโหลกศีรษะใต้บาดแผลแตก เป็นแนวยาวไปตามบาดแผล 5เซนติเมตร แสดงว่า จำเลยฟันโดยแรง ขณะผู้เสียหายเพิ่งโผล่ออกมาจากใต้แคร่ ในสภาพที่ผู้เสียหายซ่อนตัวอยู่ในแคร่ ซึ่งอยู่ในเขตจำกัด จำเลยอาจจะใช้วิธีการอื่นที่จะสกัดกั้นไม่ให้ผู้เสียหายออกมา และเรียกร้องให้ผู้อื่นมาช่วยจับผู้เสียหายไว้ได้ ทั้งมีทางที่จะสังเกตได้ทันทีว่าผู้โผล่ออกมาเป็นใคร จะเกิดภัยแก่จำเลยเพียงใดหรือไม่ ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ / ผู้เสียหายถูกฟันกระโหลกศีรษะแตกเป็นแนวยาว 5 เซนติเมตร แพทย์ลงความเห็นว่ารักษานานกว่า 21 วันหาย แต่ได้ความว่าผู้เสียหายรับการรักษาอยู่โรงพยาบาล 6-7 วัน แล้วถูกส่งตัวไปสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก 9 วัน จึงกลับบ้าน ไม่ปรากฏว่าหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วต้องไปรับการรักษาที่ใด หรือไม่แสดงว่ารักษาไม่เกิน 20 วัน จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายถึงสาหัสตาม ป.อ. ม.297

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2001/2530 ผู้ตายหลอกลวงจำเลยว่า บุตรจำเลยป่วยหนัก สามีจำเลยให้ผู้ตายมารับจำเลยไป ผู้ตายขับขี่รถจักรยานยนต์พาไปถึงที่เปลี่ยวแล้วลวนลามจำเลย จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายอย่างแรง ถูกอวัยวะสำคัญ ขณะนั้นจำเลยอยู่ในสภาพแต่งกายเรียบร้อย ผู้ตายยังนุ่งกางเกงอยู่ ผู้ตายจึงคงลวนลาม โดยกอดจูบเท่านั้น ไม่ถึงขั้นจะข่มขืนกระทำชำเราจำเลย กรณียังไม่พอถือว่าเป็นภยันตรายที่จะใกล้จะถึง สำหรับการจะถูกข่มขืนกระทำชำเรา คงเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงเฉพาะที่ผู้ตายกระทำการอนาจารเท่านั้น ในขณะที่ผู้ตายกอดปล้ำจำเลยผู้ตายอาเจียร จำเลยยังดิ้นหลุดออกไปได้บ้าง แต่ผู้ตายก็เข้ามากอดปล้ำอีก แสดงว่าผู้ตายเมาสุรามากจนแทบจะครองสติไม่ได้ จำเลยอาจกระทำการใดเพื่อป้องกัน โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ตายถึงตายก็ได้ การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายในที่สำคัญ จนผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม มาตรา 69

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3287/2531 ผู้ตายถืออาวุธปืนเป็นฝ่ายก่อเหตุเข้ามาต่อว่า และตบตีภริยาจำเลย เมื่อจำเลยถือปืนวิ่งออกมาเห็นภริยาจำเลยมีเลือดเปื้อนเต็มตัว จำเลยย่อมเข้าใจว่าผู้ตายจะยิงภริยาจำเลย อันเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยจึงมีสิทธิที่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพื่อป้องกันชีวิตภริยาจำเลยได้ แต่การที่จำเลยใช้อาวุธยิงผู้ตายติดต่อกันถึง 6 นัด ในขณะที่อาวุธปืนในมือของผู้ตายหล่นลงไปที่พื้นแล้ว หากจำเลยยิงผู้ตายเพียงนัดเดียว ก็น่าจะหยุดยั้งผู้ตายได้การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3651/2531 ผู้ตายกับพวกร่วมกันดื่มสุราโดยมีจำเลยนั่งอยู่ด้วย ผู้ตายจับไหล่นมและแขนจำเลย จำเลยโกรธเดินออกจากบ้านผู้ตาย ผู้ตายยังเดินตามเข้ามากอดจำเลยทางด้านหลัง ฉุดและกอดปล้ำจนจำเลยล้มลง ผู้ตายขึ้นนั่งทับหน้าท้องจำเลยพร้อมกับปลดกระดุมเสื้อของตนและของจำเลย จำเลยจึงใช้มีดที่ติดตัวมาแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย แม้มีบาดแผลถึง 30 แผล แต่เป็นการแทงติดต่อกันไปซึ่งจำเลยไม่อาจทราบได้ว่าภยันตรายดังกล่าวหมดไปแล้วหรือไม่ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกัน แต่กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4284/2531 ผู้ตายบุกรุกขึ้นไปบนบ้านจำเลยในเวลากลางคืน โดยผู้ตายกอดรัดคอพาพี่สาวจำเลยขึ้นไปเป็นตัวประกัน แล้วผู้ตายเตะทำลายทรัพย์สินต่าง ๆ บนบ้าน จำเลยกับพวกจึงวิ่งหลบหนีเข้าไปอยู่ในห้องนอน และปิดประตูไว้ผู้ตายใช้เท้าถีบประตูห้อง และร้องบอกให้ทุกคนออกมามิฉะนั้นจะฆ่าให้หมด ผู้ตายถีบประตูหลายครั้งจนประตูเปิดออกและจะเข้าไปทำร้ายจำเลย จำเลยจึงยิงผู้ตายล้มลงหงายลงกลางบ้าน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจาก การประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงอันจำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตน อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ตายไม่มีอาวุธ และได้ความว่าผู้ตายมีอาการมึนเมาสุรามาก การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึง 2 นัด จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม มาตรา 69

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4500/2531 ผู้ตายเตะต่อยและใช้ขวดตีจำเลยก่อน จำเลยจึงใช้ขวดตีผู้ตายถึงแก่ความตาย การที่ผู้ตายเมาสุราและเข้าไปทำร้ายจำเลยก่อน จำเลยก็ชอบที่จะป้องกันได้ตามกฎหมาย แต่เนื่องจากจำเลยทราบอยู่แล้วว่าผู้ตายชอบด่า และทำร้ายคนในบ้าน ทั้งผู้ตายมีอายุมากและยังเมาสุรา จำเลยอาจกระทำการใด เพื่อป้องกันโดยไม่จำต้องรุนแรง จนถึงกับเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ได้ การที่จำเลยใช้ขวดตีผู้ตายตรงบริเวณที่สำคัญของร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2180/2532 ผู้ตายรูปร่างแข็งแรงใหญ่โตกว่าจำเลย ปกติมีนิสัยเกเรและชอบพกพาอาวุธปืนตลอด แต่วันเกิดเหตุไม่มีใครเห็นผู้ตายชักอาวุธปืนออกมาเพื่อจะยิงจำเลย และไม่ได้อาวุธปืนจากตัวผู้ตาย หรือในที่เกิดเหตุมาเป็นพยานหลักฐาน การที่จำเลยถูกผู้ตายชกต่อยล้มลง แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ท้องหนึ่งนัด จึงเป็นการทำให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บ หมดโอกาสทำร้ายจำเลยได้อีก เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ แต่เมื่อถูกยิงแล้วผู้ตายงอตัวก้มศีรษะลง เพราะพิษกระสุนนัดแรก ผู้ตายย่อมไม่อยู่ในสภาพที่จะทำร้ายจำเลยได้อีก ดังนี้การที่จำเลยยิงผู้ตายอีกหนึ่งนัด ถูกท้ายทอยผู้ตาย จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1408/2537 จำเลยแทงผู้ตายเพราะผู้ตายใช้ขาโต๊ะตีจำเลยก่อน แต่ไม่ถูก และผู้ตายจะตีซ้ำ การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกัน แต่การที่ผู้ตายใช้เพียงขาโต๊ะทำร้ายจำเลย จำเลยสามารถหยุดยั้งผู้ตายด้วยวิธีการอื่นได้ แต่ไม่กระทำ กลับใช้มีดแทงผู้ตายทันทีที่บริเวณหน้าอกอันเป็นอวัยวะสำคัญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเกินสมควรแก่เหตุ ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่ กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตาม ป.อ. มาตรา 69

- "เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน"

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1542/2509 จำเลยกับพวกเจ้าทรัพย์ติดตามเรือที่ถูกลักไป ไปพบผู้ตายกับพวกอยู่ใกล้ ๆ กับเรือที่ถูกลักนั้น ผู้ตายใช้ปืนลูกกรดยิงจำเลย แต่ไม่ถูก จำเลยยิงผู้ตายข้างหลัง 1 นัด การที่จำเลยยิงผู้ตาย เมื่อผู้ตายหนีจากเรือไป 12 วา ปืนที่ผู้ตายใช้ยิงเป็นปืนลูกกรด เป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 529/2517 คนร้ายลอบวางเพลิงบ้านจำเลยในตอนกลางคืน ผู้ตายยืนอยู่หน้าบ้าน สำคัญผิดคิดว่าเป็นคนร้าย จึงใช้ปืนยิงผู้ตายดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยกระทำไปเพื่อป้องกันทรัพย์ของตน แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าผู้ตายทำอะไรแก่บ้านของจำเลย ไม่มีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะต้องยิงผู้ตาย การกระทำของจำเลยถึงเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันทรัพย์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1579/2529 แม้ผู้ตายกับจำเลยจะเป็นสามีภริยากัน ผู้ตายก็ไม่มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะทำร้ายจำเลย เมื่อผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุ ด่าและตบเตะจำเลยก่อน จนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับอันตรายแก่ร่างกาย จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะป้องกันตัวได้ การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายเพื่อยับยั้งมิให้ทำร้ายจำเลยอีก จึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากการถูกทำร้าย แต่ขณะเกิดเหตุผู้ตายเพียงแต่ตบเตะจำเลยโดยไม่มีอาวุธ การที่จำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงผู้ตายหลายครั้ง จนปรากฏบาดแผลถึง 5 แผล เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน จำเลยมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเพื่อป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. ม.288 ประกอบด้วย ม.68,69

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2066/2533 ผู้ตายกับพวกรวม 3 คน ถีบประตูห้องพักของจำเลยจนกลอนประตูหลุดประตูเปิด แล้วเข้าไปทำร้ายจำเลย และจะทำร้ายภรรยาจำเลยซึ่งมีครรภ์ เป็นการกระทำที่อุกอาจและเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย ทั้งเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่จำเลยใช้มีดแทงคนทั้งสาม แม้จะแทงหลายที ก็เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยในขณะนั้นจึงไม่มีความผิด / หลังจากผู้ตายวิ่งออกมาจากห้องพักของจำเลยแล้ว จำเลยติดตามออกมาและใช้มีดแทงผู้ตายอีก 3 ที เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแม้การกระทำของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับการกระทำของจำเลยในตอนแรก ซึ่งเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อจำเลยแทงผู้ตายในขณะที่หมดโอกาสทำร้ายจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยในตอนนี้ จึงเป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตามมาตรา 69

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4952/2536 ผู้เสียหายปลุกปล้ำภรรยาจำเลยในบ้านจำเลย จำเลยใช้ไม้ตีผู้เสียหายแล้วไปเอาปืนออกมายิงผู้เสียหายซ้ำอีก แม้จะเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับการกระทำของจำเลยในตอนแรก ซึ่งเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อจำเลยใช้ปืนยิงตามหลังผู้เสียหายในระยะห่างกันเพียง 1 เมตร ในขณะที่ผู้เสียหายลุกขึ้นแล้วรีบวิ่งออกไปทางประตูหน้าบ้าน ถูกผู้เสียหายล้มลงตรงประตู ในลักษณะที่ผู้เสียหายวิ่งหนี ไม่ได้วิ่งเข้าหาจำเลยหรือภรรยาจำเลย เพื่อทำร้ายหรือกระทำการปลุกปล้ำอีก เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายในตอนหลัง จึงเป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 69

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1407/2537 ก่อนเกิดเหตุผู้ตายกับจำเลยมีการทะเลาะโต้เถียง แล้วผู้ตายหยิบจอบไล่ตีจำเลย จำเลยวิ่งหนีแล้วหันมาต่อสู้และแย่งจอบจากผู้ตายได้แล้วตีผู้ตาย จึงถือได้ว่าจำเลยตีผู้ตายเพื่อป้องกันตนให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และภยันตรายที่ใกล้จะถึง แต่จากบาดแผลที่ตีนั้น ด้านท้ายทอยแตกมีสมองไหล และด้านใบหน้ากระดูกแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แสดงให้เห็นว่าจำเลยตีผู้ตายอย่างแรง การถูกตีอย่างแรง เช่นนี้เพียงครั้งเดียวผู้ตาย ก็ไม่อาจจะทำร้ายจำเลยได้ต่อไป การที่จำเลยตีซ้ำอีก จึงเป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3233/2541 โจทก์ร่วมถามจำเลยที่ 1 ถึงเรื่องที่จำเลยที่ 1 ด่าบิดาโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 ตอบว่า "ให้กลับไปถามพ่อมึงดู" ถ้อยคำดังกล่าวหาได้มีความหมายเป็นการด่าไม่ จึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 สมัครใจเข้าวิวาทกับโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกโจทก์ร่วมเข้าทำร้ายก่อน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะป้องกันตนเองได้ แต่โจทก์ร่วมเข้าทำร้ายจำเลยที่ 1 โดยใช้มือกระชากผมและตกใบหน้าหลายครั้ง จากนั้นทั้งคู่เข้ากอดปล้ำกัน การที่จำเลยที่ 1 ใช้มีดแทงทำร้ายโจทก์ร่วมซึ่งปราศจากอาวุธที่บริเวณเอว จึงเป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้เท่านั้น สำหรับบาดแผลที่โจทก์ร่วมได้รับนั้น แม้จะเป็นบริเวณเอวและช่องท้อง แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีโอกาสที่จะเลือกแทงได้ เนื่องจากกำลังกอดปล้ำกับโจทก์ร่วมอยู่ ทั้งจำเลยที่ 1 หยุดทำร้ายโจทก์ร่วมทันทีเมื่อมีคนมาห้าม และส่งมีดให้ยึดไว้โดยดี แสดงให้เห็นว่าไม่ประสงค์ต่อชีวิตของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดเพียงฐานทำร้ายโจทก์ร่วมจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย โดยเกินกว่ากรณีจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1037/2542 ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเพียงแต่ใช้มือผลักอกจำเลยจนล้ม โดยผู้เสียหายไม่มีอาวุธใดๆ ส่วนจำเลยแม้จะเป็นคนพิการแขนขาด้านซ้ายอ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ เดินกะเผลก แต่กลับใช้มือขวาซึ่งสมบูรณ์แข็งแรง ถือใบเลื่อยที่ดัดแปลงเป็นมีดปลายแหลมยาวรวมทั้งตัว ใบมีดและส่วนที่เป็นด้ามประมาณ 6 นิ้ว เป็นอาวุธแทงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายหลายครั้ง จนได้รับอันตรายสาหัส ทั้งที่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายจะทำร้ายจำเลยมากไปกว่าการผลักอก ถือได้ว่าจำเลยกระทำไปเกินสมควรกว่าเหตุ และเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4252/2542 แม้ผู้ตายมีเจตนาจะใช้มีดที่ถืออยู่ประทุษร้ายจำเลยอย่างแน่นอน อันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายใกล้จะถึง แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปที่มือผู้ตาย ขณะที่มือผู้ตายอยู่ในบริเวณใบหน้า และจำเลยรู้ดีว่าปืนของจำเลยเป็นชนิดที่ยิงออกไปแล้วกระสุนกระจายออกหลายเม็ด จำเลยย่อมเล็งเห็นผลว่า หากจำเลยยิงไปที่มือกระสุนปืนต้องถูกใบหน้าผู้ตายด้วย ข้ออ้างของจำเลยที่อ้างว่า ต้องการยิงมือของผู้ตายเพื่อให้มีดตกลงจากมือผู้ตายฟังไม่ขึ้น / ผู้ตายถือมีดทำครัวใบมีดยาวเพียง 4 นิ้ว กว้าง 1 นิ้ว เข้ามาจะทำร้ายจำเลย หากจำเลยเพียงแต่ใช้อาวุธปืนขู่ หรือเพียงแต่ยิงขู่ผู้ตายซึ่งเมาสุรา และถือมีดดังกล่าว ก็ไม่น่าจะกล้าใช้มีดนั้นเข้ามาทำร้ายอีกต่อไป แม้จำเลยจะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพียงนัดเดียว ก็เป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

อ่านแล้ว คนที่มาทำร้ายก่อนผู้ถูกกระทำจึงต้องป้องกันตน แต่ทำให้คนที่มาทำร้ายถึงแก่ความตาย ในกรณีนี้น่าจะถือว่าเป็นการป้องกันตัว หากว่าคนตายไม่ได้มากระทำหรือทำร้ายถึงร่างกายแล้วไปยิงไปแทงเขาตายก็น่าจะถือว่าทำเกินกว่าเหตุ