ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

มาตรา ๒๙๕ - ๓๐๐

               หมวด 2                        ความผิดต่อร่างกาย
     มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          เจตนาทำร้าย
-          (อ เกียรติฯ 8/191) ความยินยอมอันบริสุทธิ์ ไม่เกิดจากการหลอกลวงและไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของผู้เสียหายยกเว้นความรับผิดได้ เช่น แพทย์ตัดขาคนไข้ หรือ ชกมวก แต่อย่าตอบว่าไม่มีเจตนา
-          (ขส พ 2510/ 9) นายหยุดเป็นแพทย์ทำการตัดขาเพื่อรักษาคนไข้ / นายหยุดไม่มีเจตนาทำผิดอาญา ไม่ผิด ม 295 )
-          อ จิตติ ภาค 2 ตอน 2 /1932 ทำร้ายหมายความว่า ทำให้เสียหาย เป็นภัยแก่กายหรือจิตใจ , การทำดีแก่กาย ไม่ใช่การทำร้าย เช่น ตัดผม บีบ นวด แต่การกระทำบางอย่าง แม้ปรารถนาดี ก็เป็นการทำให้เสียหายอยู่ในตัว เช่น แพทย์ผ่าตัด จึงต้องอ้างข้อแก้ตัวเป็นเหตุยกเว้นความผิด , ถ้าไม่ชัดแจ้งว่าเป็นการทำให้เสียหายหรือไม่ อาจต้องพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์อื่น รวมทั้งความคิดเห็นของบุคคลทั่ว ๆ ไป ด้วย เอาน้ำรดร่างกาย ถือเป็นการทำร้ายอย่างหนึ่งได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 136/2515 (วรสารอัยการ ก.ย. 34 หน้า 133) การที่ชายร่วมประเวณีกับหญิง โดยต่างยินยอมพร้อมใจ แม้หญิงจะถึงแก่ความตาย โดยชายมิได้คาดคิด จึงไม่มีเจตนาฆ่า หรือทำร้ายร่างกาย / (พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ จ่าโทแอนดรู โรเบิร์ททูมส์ จำเลย) จำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย เจตนาที่แท้จริงของจำเลย ก็เพื่อจะร่วมประเวณีกับผู้ตายเท่านั้น แต่เนื่องจากการร่วมประเวณีเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย โดยขณะที่จำเลยกับผู้ตายกำลังร่วมประเวณีกัน เป็นครั้งที่ 2 จำเลยกับผู้ตายได้กอดรัดกันแรงกว่าครั้งแรก เพราะความสนุก และอาจเป็นไปได้ที่มือจำเลยบังเอิญไปถูกที่คอผู้ตาย โดยเฉพาะตอนที่ว่าใช้มือช้อนคอขึ้นจูบหน้า เมื่อใกล้จะสำเร็จความใคร่นั้น นิ้วมือของจำเลยไปกดถูกที่เส้นเลือดเลี้ยงสมองโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นการกดอย่างไม่แรงด้วย ประกอบกับผู้ตายมีสุขภาพไม่ดี เคยแท้งลูก เป็นลมและเวียนศีรษะเป็นประจำ ด้วยเหตุเหล่านี้เอง ที่เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และจำเลยกระทำกับผู้ตาย เมื่อใกล้จะสำเร็จความใคร่ ด้วยความยินยอมพร้อมใจ และสนุกด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยไม่อาจคาดคิดได้เลยว่า จะเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย จึงเห็นว่าจำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าผู้ตาย หรือแม้แต่เจตนาทำร้ายร่างกาย อันจะเป็นความผิดฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนาแต่อย่างไร

-          การทำร้าย  กระทำโดยตรง แทง, เตะ , ต่อย
                   กระทำโดยพฤติการณ์ หลอกให้ไปแตะสายไฟ หลอกให้ดื่มยาอันตราย

-          เปรียบเทียบ กรณีเกิดอันตรายแก่กาย และ กรณีไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 703/2506 (สบฎ เน 33) การทำร้ายแค่ไหน จะถือว่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามมาตรา 295 หรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาถึงการกระทำของจำเลย และบาดแผลของผู้เสียหายประกอบกัน จำเลยเพียงแต่ใช้เท้าเตะและใช้มือตบผู้เสียหาย มิได้ใช้อาวุธทำร้าย ผู้เสียหายได้รับบาดแผลเพียงฟกช้ำเท่านั้น รักษาเพียง 5 วัน ก็หาย ยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามมาตรา 295 คงเป็นความผิดตามมาตรา 391
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1340/2506 โจทก์ถูกจำเลยชกล้มลงได้รับความกระทบกระเทือนที่ศีรษะรักษาอยู่ 10 วันเศษ กับได้รับแผลภายนอกเป็นรอยบวม เช่นนี้ ถือว่าเป็นอันตรายแก่กายตาม มาตรา 295 แล้ว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1399/08 (สบฎ เน 554) ผู้เสียหายถูก จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชกตี ไม่ปรากฏบาดแผลเป็นอันตรายแก่กาย แล้วถูกพันธนาการ พาตัวไปคุมขังไว้ใต้สถานีตำรวจแต่เดียวดาย ไกลหูไกลตาผู้ต้องหาด้วยกัน ไม่เป็นอันตรายแก่จิตใจตามมาตรา 295
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1069/2510 การทำให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามมาตรา 295 ต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์การกระทำของจำเลย และบาดแผลของผู้เสียหายประกอบกัน จำเลยใช้มือชกต่อยและใช้เท้าเตะ ผู้เสียหายมีบาดแผลที่หน้าผากข้างขวาถลอก โหนกแก้วขวาบวมเล็กน้อยรักษาประมาณ 5 วันหาย ไม่เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 295 แต่มีความผิดตามมาตรา 391
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1867/2527 การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายนั้น จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ความรุนแรงแห่งการกระทำของจำเลยประกอบกับบาดแผลที่ผู้ถูกทำร้ายได้รับ / จำเลยซึ่งเป็นหญิงใช้เล็บข่วนดั้งจมูกผู้เสียหายเป็นรอยยาวประมาณ 1 ซม.มีโลหิตไหล ยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายแก่กาย คงมีความตาม ม.391
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2822/2531 จำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 1 จับคอเสื้อและใช้แขนรัดคอผู้เสียหาย แล้วถามว่าเอ็งงัดบ้านข้าใช่ไหมผู้เสียหายปฏิเสธ จำเลยที่ 1 ขู่ผู้เสียหายให้รับสารภาพอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมรับสารภาพ จำเลยที่ 1 ชักดาบปลายปืนยาวประมาณ 8 นิ้วฟุต ออกมาจี้หลังผู้เสียหาย และขู่ให้รับสารภาพ ผู้เสียหายไม่ยอมรับสารภาพ จำเลยที่ 1 จึงสอดดาบปลายปืนเข้าไปในเสื้อของผู้เสียหาย แล้วกรีดที่หลังและหน้าท้องของผู้เสียหายประมาณ 10 แห่ง กรีดเป็นรอยลึกและมีโลหิตไหล จำเลยที่ 2 ชักปืนออกมาจ่อที่ศีรษะของผู้เสียหายแล้วพูดว่า ถ้าไม่รับจะยิงให้ตาย หลังจากเกิดเหตุแล้ว 5 วัน แพทย์ตรวจพบรอยตกสะเก็ดที่เกิดจากของมีคมบาดที่ด้านหลังและที่หน้าเล็กน้อย บาดแผลหายภายใน 1 สัปดาห์ ดังนี้ถือได้ว่า กระทำให้เกิดอันตรายแก่กายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แล้ว

-          ผลโดยตรงจากการกระทำ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 895/2509 จำเลยเอาก้อนอิฐขว้างปาผู้เสียหาย ผู้เสียหายหลบ ก้อนอิฐไม่ถูกตัวผู้เสียหาย แต่ตัวผู้เสียหายเซไป มือจึงฟาดถูกข้างเรือทำให้ปลายมือบวมยาว 4 เซนติเมตร กว้าง 2 เซนติเมตร และเจ็บบริเวณศีรษะ ถือได้ว่าอันตรายแก่กายนี้ เนื่องจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 295 (ดู ฎ 658/2536)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 7156/2542 หากข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งเก้าต่างจุดประทัดของตนโยนใส่โจทก์ร่วม อันเป็นกรณีที่ต่างคนต่างมีเจตนาทำร้ายโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงต่างไปจากคำฟ้อง ที่ว่าจำเลยทั้งเก้าร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งเก้าแต่ละคน ได้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมแล้ว เพราะในการกระทำนั้น ไม่ว่าจำเลยทั้งเก้าจะร่วมกันกระทำ หรือต่างกระทำผิดตามลำพัง จำเลยทั้งเก้าแต่ละคน ก็ย่อมถูกลงโทษ เป็นแต่จะลงโทษได้เต็มคำขอของโจทก์ และโจทก์ร่วมหรือไม่เท่านั้น (การโยนประทัดเข้าใส่ผู้อื่น เป็นการทำร้าย แต่ผลจากการทำร้าย คือ อันตรายแก่กาย นั้น เกิดขึ้นตามเจตนาของแต่ละบุคคลหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาต่อไป ว่าเป็นการพยายาทำร้าย หรือผิดสำเร็จ)

-          ตัวการ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 351/2508 การที่จำเลยทั้ง 4 วิ่งเข้าไปที่ผู้เสียหายพร้อมกันแล้วจำเลยที่ 4 ชูปืนพร้อมกับร้องห้ามไม่ให้ผู้อื่นเข้าไปช่วย และในขณะเดียวกัน จำเลยที่ 1-2-3 ก็เข้ากลุ้มรุมทำร้ายผู้เสียหาย เช่นนี้ถือว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิด เป็นตัวการ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2285/2516 จำเลยกับพวกเอาไม้ทุบรั้วบ้าน ต. และท้าท้ายให้ ต. ลงจากบ้านไปสู้กัน ภริยา บุตร และมารดาของ ต. ลงไปดึง ต. ไว้จำเลยกับพวกก็พังประตูเข้าไป พวกของจำเลยใช้ไม้ตีภริยาของ ต. ดังนี้ จำเลยกับพวกมีเจตนาจะทำร้ายคนในบ้าน ต. ด้วยไม่เฉพาะแต่จะทำร้าย ต.คนเดียว จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายภริยา ต. ด้วย

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 295
-          (ขส พ 2501/ 6) แดง ดำ และเขียว เสพสุรา แล้วพายเรือกลับบ้านด้วยกัน เกิดทะเลาะกัน นายดำใช้พายตีนายแดง มีบาดแผลและเรือล่ม นายดำ และนายเขียวว่ายน้ำได้ นายแดงจมน้ำ โดยนายดำและเขียวรู้ว่าแดงว่ายน้ำไม่เป็น / ตามปัญหา ไม่ได้ความว่าเรือล่มเพราะเหตุตีกัน นายดำผิด ม 295 (ดูประเด็น ม 290 และเหตุแทรกแซง ) ส่วนนายเขียวไม่ผิด ม 374 เพราะไม่ปรากฏว่า สามารถช่วยได้แต่ไม่ช่วย
-          (ขส พ 2515/ 6) แดงข่มเหงดำ ดำบันดาลโทสะแทงแดง พลาดไปถูกเขียว เขียวโกรธวิ่งไปเอาปืนที่บ้านมายิงดำ แต่ลืมบรรจุกระสุนปืนไว้ / ดำผิด ม 295,60 อ้างบันดาลโทสะได้ ม 72 1682/2509 / เขียวผิด ม 288,81 อ้างบันดาลโทสะได้ ม 72 247/2478
-          (ขส พ 2529/ 7) ก ข แดง ดำ สมัครใจวิวาท แดงใช้ไม้ซีกตี ก ทีเดียว ก ตาย / ทุกคนผิด ม 294 แดงต้องรับผลที่ตนทำ แต่ยังไม่พอฟังว่า มีเจตนาฆ่า แดง ผิด ม 294+290 505/2504 1064/2519 / สมบอกให้สมชายขว้างอิฐไปที่ ข และ ดำ ตีกัน สมชาย ตรงไปที่ ข และดำ ตีกัน แล้วขว้างอิฐไปตรงที่วิวาท ทำให้บาดเจ็บ ผิด ม 295 / สมใจผู้ใช้ให้สมชายขว้าง ผิด ม 295+84

-          (ขส อ 2541/ 1) ร่วมกันทำร้าย ห้ามแล้ว แต่เพื่อนอัดตาย / เป็นตัวการ ม 83 ห้ามแล้วเจตนาร่วมยุติ คนห้าม ผิด ม 295+83 คนทำต่อประสงค์ต่อผล ผิด ม 288 ("ทำร้ายถึงแก่ความตาย" ไม่ ม 290) / ต่อยกันในร้าน เล็งเห็นทรัพย์เสียหาย ผิด ม 358


     มาตรา 296 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1037/2503 สารวัตรกำนันเป็นผู้ช่วยกำนัน เมื่อกำนันมีหน้าที่และอำนาจจับกุมผู้กระทำผิด สารวัตรกำนันก็ย่อมช่วยกำนันทำการจับกุมผู้กระทำผิดได้ และการช่วยทำการจับกุมผู้กระทำผิดนี้ ไม่จำเป็นจะต้องให้กำนันเรียกร้องให้ช่วย หรือต้องมีตัวกำนันอยู่ด้วย เพราะกฎหมายให้มีหน้าที่ช่วยกำนันอยู่ในตัวเป็นปกติแล้ว เมื่อจำเลยต่อสู้และทำร้ายสารวัตรกำนันในการจับกุมจำเลย และควบคุมจำเลยส่งเจ้าพนักงานสอบสวน ย่อมได้ชื่อว่าจำเลยต่อสู้ผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม มาตรา 138 และทำร้ายผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามมาตรา 289 อันเป็นความผิดตามมาตรา 296
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3355/2528 จำเลยขับรถยนต์ของกลางชนท้ายรถจี๊ปที่ ร.ต.ต. ส. ขับขี่โดยมีเจตนาทำร้าย เพราะโกรธเคืองที่จับจำเลยมาสถานีตำรวจและไม่ยอมปล่อยจำเลยตามคำขอร้องของจำเลยจน ร.ต.ต. ส.ได้รับบาดเจ็บ จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. ม.296 รถยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำผิด ศาลมีอำนาจริบเสียได้ตาม ป.อ. ม.33
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 134/2536 จำเลยทั้งสองชวนและพาผู้เสียหายออกไปจากเวทีรำวง เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ร้องบอกให้พวกของจำเลยทั้งสองที่รอคอยอยู่ก่อนเข้าทำร้ายผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยทั้งสองกับพวกต้องคบคิดวางแผนนัดหมายกันไว้ก่อน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน / โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 80, 83 ทางพิจารณาปรากฏว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิด เพียงฐานทำร้ายผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยไม่มีเจตนาฆ่า  แต่ก็ถือว่าเป็นความผิดที่รวมอยู่ในลักษณะเดียวกัน   แม้มิใช่ความผิดตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และมิใช่มาตราที่โจทก์ขอให้ลงโทษ  ศาลก็ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296,83 ที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 176/2543  การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดฟันพลตำรวจ ก. ซึ่งแต่งกายเครื่องแบบตำรวจและออกตรวจท้องที่ ในขณะปฏิบัติหน้าที่สามีภริยาทะเลาะวิวาทกัน ไม่ว่าการใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายร่างกายพลตำรวจ ก. ดังกล่าวจะมีมูลเหตุมาโดยประการใด หรือไม่เกี่ยวข้องกับการที่พลตำรวจ ก. กับพวกจับกุมจำเลยที่ 1 กับพวก ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำร้ายร่างกายพลตำรวจ ก. เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ เพราะการที่พลตำรวจ ก. กับพวกกำลังระงับเหตุทะเลาะวิวาทกันดังกล่าว ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามหน้าที่ โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 296 (ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม มาตรา 140 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 138 วรรคสอง, มาตรา 83 จำคุกคนละ 6 เดือน และจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม มาตรา 296,371 เป็นความผิดหลายกรรม ศาลอุทธรณ์แก้โทษ )
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2741/2550 การที่จำเลยใช้ไม้ตีแล้วกอดปล้ำผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและแต่งเครื่องแบบตำรวจออกตรวจท้องที่ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในงานวัด ไม่ว่าการทำร้ายร่างกายดังกล่าวจะมีมูลเหตุมาโดยประการใด ก็เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยได้ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานตำรวจผู้กระทำการตามหน้าที่เพราะการที่ผู้เสียหายกำลังปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในงานวัดเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 296


     มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึงสิบปี
อันตรายสาหัสนั้น คือ
(1)         ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(2)         เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
(3)         เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด
(4)         หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(5)         แท้งลูก
(6)         จิตพิการอย่างติดตัว
(7)         ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(8)         ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้ เกินกว่ายี่สิบวัน

-          อันตรายสาหัส เป็นผลของการกระทำ ที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับโทษหนักขึ้น แม้กระทำโดยไม่มีเจตนาจะให้ถึงอันตรายสาหัส
-          กรณีนี้เป็นปัญหาทางวิชาการครับ เพราะท่าน ศ.หยุด ยังเคยกล่าวไว้ว่า มาตรา 295 เป็นบทฉกรรจ์ตามมตรา 63 หรือไม่เพราะลองสังเกตุในตัวบทครับ ที่ใช้คำว่า...จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ...ซึ่งโดยทั่วไปถือกันว่าหากเป็นเรื่องของ บทบัญญัติที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นจะไม่มี พยายามตามมตรา 80 อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน ดังเช่น มาตรา 297 ที่หลายคนรวมทั้งในตำราเห็นว่ามาตรานี้ไม่มีพยามเพราะการที่บุคคลจะผิดตามมาตรานี้ จะต้องมี ผลเกิดขึ้นเสมอคืออันตรายสาหัสดังนั้นความส่วนใหญ่ของนักกฎหมายไทยในปัจจุบัณจึงมองว่า หากเป็นบทบัญญัติที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 63 แล้วจะไม่มีพยายามกระทำความผิด ด้วยเหตุผลที่ว่าจะต้องมีผลเกิดขึ้นเสมอ / แต่อย่างไรก็ตามก็มีนักกฎหมายเยอรมัน เช่น ท่านอ.คณิต ณ นคร หรือ ท่าน อ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ก็มีความเห็นในส่วนของแนวความคิดในการมองพยายามกระทำความผิดไว้อย่างน่าสนใจว่า โดยหลักการมองว่าการกระทำใดถึงขั้นพยายามหรือยังให้พิจารณาว่า การกระทำนั้นครบองค์ประกอบของความผิดในส่วนของ เจตนา และ ในส่วนของการกระทำ หรือไม่โดยไม่พิจารณาว่าผลจะเกิดขึ้นหรือไม่แม้ว่าบทมาตรานั้นๆจะเป็นเรื่อง บทบัญญัติที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นของมาตรา 63ก็ตาม เช่น การที่เราต้องการแทงตาของ ขาว ให้บอดแต่ ขาวกลับหลบได้ไม่เป็นอะไรเลยเช่นนี้ ตามแนวทางของท่าน อ.คณิต มองว่าเป็นพยายาม มาตรา 297และมาตรา 80 ได้ครับเพราะประเทศไทยไม่นำหลักในเรื่ององค์ประกอบในส่วนของผลของการกระทำ หรือ actus reus ที่ใช้ในระบบของ common lawมาใช้นั่นเอง / ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าหลักในเรื่องของ actus reus นั้นก็ยังคงมีอิทธิพลในการมองเกี่ยวกับ พยายาม ของบ้านเราอยู่กรณีนี้ก็คล้ายๆกับการเถียงกันเรื่อง การยิงศพนั่นแหละครับ / แต่หากเป็นเรื่อง มาตรา 290 แล้วอันนี้จะไม่มีพยายามแน่นอนครับไม่ว่าจะพิจารณาความเห็นใดเพราะผลกรณีนี้คือความตาย การเจตนาให้ผลคือความตายเกิดก็จะกลายเป็นเรื่องของ เจตนาฆ่าไปพยายามในมาตรานี้จึงไม่อาจมีได้โดยสภาพ จากคุณ : โปเต
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1116/2502 จำเลยต่อยถูกตาผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ตาผู้เสียหายบอด แม้จะไม่ได้ตั้งใจทำร้ายให้ถึงตาบอด ก็ย่อมมีผิดตาม มาตรา 297 (1)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 313/2529 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ.ม. 297 เป็นเหตุทำให้ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม ม.295 ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทำ โดยที่ผู้กระทำไม่จำต้องมีเจตนาต่อผลที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น ตัวการที่ร่วมทำร้าย แม้จะไม่มีเจตนาให้ผู้นั้นได้รับอันตรายสาหัส หรือมิได้เป็นผู้ลงมือกระทำให้เกิดผลขึ้น ก็ต้องรับผิดในผลนั้นด้วย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1001/2547 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทำ โดยที่ผู้กระทำไม่จำต้องประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลถึงอันตรายสาหัสนั้น ดังนั้น แม้จำเลยจะทำร้ายผู้เสียหายโดยหามีเจตนาทำให้แท้งลูกก็ตาม เมื่อผลจากการทำร้ายนั้นทำให้ผู้เสียหายต้องแท้งลูกแล้ว จำเลยก็ต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (5)

          มาตรา 297 (1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท

          มาตรา 297 (2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์

         มาตรา 297 (3)    เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 467/2508 (สบฎ เน 554) การเสียอวัยวะที่จะถือว่าสาหัส ตาม ม 297 (3) คำว่า "อวัยวะอื่นใด" ย่อมหมายถึง อวัยวะอื่น นอกจากที่ระบุไว้ ซึ่งต้องสำคัญเช่นกัน และเมื่อสูญเสียแล้ว เป็นเหตุให้กลายเป็นคนพิการไปด้วย ฟันหัก 1 ซี่ ยังไม่ถือว่าสาหัส
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 630/2509 คำว่า อวัยวะอื่นใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (3) หมายถึงอวัยวะส่วนสำคัญเช่น แขน ขา มือ เท้า นิ้ว ดังระบุไว้ในตอนต้น / ฟันทั้งหมดในปากรวมกัน ก็เป็นอวัยวะส่วนสำคัญ ถ้าฟันหักไปหลายซี่ เป็นเหตุให้ส่วนที่เหลืออยู่ใช้การไม่ได้ตามสภาพของฟัน เช่น เคี้ยวอาหารไม่ได้ไปแถบหนึ่ง ก็ถือได้ว่าเป็นการเสียอวัยวะส่วนสำคัญ อันเป็นอันตรายสาหัส เพียงแต่ได้ความว่าฟันแท้บนด้านหน้าหักไป 3 ซี่ จะถือว่าเป็นการเสียอวัยวะส่วนสำคัญยังมิได้ เว้นแต่โจทก์จะนำสืบให้เห็นว่า เมื่อถูกทำร้ายแล้ว ผู้เสียหายใช้ฟันที่เหลืออยู่เคี้ยวอาหารไม่ได้ ตามนัยที่กล่าวข้างต้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 631/2509 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (3) เจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งหมายถึงการก่อให้เกิดอันตรายแก่กายที่สูญเสียอวัยวะสำคัญๆ ของร่างกาย เช่นที่ระบุไว้ในกฎหมายนั้น ดังนั้น  การสูญเสียอวัยวะอื่นใดตามมาตรา297 (3) ก็ต้องเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกายหรือต้องสูญเสียไปถึงขนาดเทียบเท่าเสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว ตามที่กฎหมายระบุไว้แล้ว มิใช่ว่าเสียอวัยวะส่วนใด ๆ ก็เป็นอันตรายสาหัสเช่นเดียวกันทั้งหมดไป / โจทก์ต้องเสียฟันไปเพียงซี่เดียว แม้ฟันจะเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายแต่เฉพาะท่าที่เสียไป ยังไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่ามีความสำคัญหรือการสูญเสียเทียบเท่าการเสีย  แขน  ขา มือ เท้า หรือนิ้ว อันเป็นอวัยวะที่กฎหมายระบุไว้ชัดแจ้งนั้น จะนับได้ว่าโจทก์ได้รับอันตรายสาหัสตามความในมาตรา 297 (3) บัญญัติไว้ยังไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4949/2540 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่าตาม วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายนิยม เขียวจีน ผู้เสียหายถูกทำร้ายด้วยมีด นิ้วก้อยข้างซ้ายขาดได้รับอันตรายสาหัส คดีมีปัญหาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะ จำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ก่อนเกิดเหตุที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายจนนิ้วก้อยข้างซ้ายขาดนั้น ผู้เสียหาย ไม่ได้มีสาเหตุหรือทะเลาะกับจำเลยที่ 2 มาก่อนแต่ประการใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมสมคบหรือวางแผนเพื่อทำร้ายผู้เสียหาย และขณะผู้เสียหายถูกทำร้ายนั้น จำเลยที่ 2 ก็มิได้อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุพอที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 3 คงได้ความแต่ เพียงว่า เมื่อผู้เสียหายวิ่งหลบหนี ภายหลังถูกจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทำร้ายแล้วมาพบ จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้จับชายผ้าขาวม้าที่ผู้เสียหายคาดเอวไว้ และจำเลยที่ 2 กับพวก รุมชกต่อยผู้เสียหายจนกระทั่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามมาทัน จำเลยที่ 1 จึงใช้มีดฟัน ผู้เสียหาย แต่พลาดไปถูกขาจำเลยที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ พฤติการณ์และการกระทำของ จำเลยที่ 2 ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังผู้เสียหายถูกทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัสไปแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายในตอนหลัง และข้อเท็จจริงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 มางานเลี้ยงที่บ้านนายดีมพร้อมกับจำเลยที่ 1 ยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วม กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทำร้ายผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสจำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น"

มาตรา 297 (4)          หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 351/2508 การที่จำเลยทั้ง 4 วิ่งเข้าไปที่ผู้เสียหายพร้อมกันแล้วจำเลยที่ 4 ชูปืนพร้อมกับร้องห้ามไม่ให้ผู้อื่นเข้าไปช่วย และในขณะเดียวกัน จำเลยที่ 1-2-3 ก็เข้ากลุ้มรุมทำร้ายผู้เสียหาย เช่นนี้ถือว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิด เป็นตัวการ / ลักษณะและสภาพของบาดแผล จะทำให้ผู้เสียหายถึงต้องหน้าเสียโฉมติดตัว เพราะกะโหลกศีรษะตอนหน้าผาก จะเป็นรอยบุบยุบเข้าไป นับได้ว่าผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสตาม มาตรา 297
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 598/2510 ถูกตีด้วยท่อนเหล็ก มีแผลเป็นเป็นรอยขีด ตั้งแต่ริมจมูกข้างซ้ายยาวพาดดั้งจมูกไปจนถึงตาขวายาว 6 ซ.ม.  กว้าง 0.1 ซ.ม. แห่งหนึ่งกับอีกแห่งหนึ่งจากหัวตาขวาเฉียงลงมาใต้ตาขวา ยาว 3.5 ซ.ม. มองเห็นแผลเป็นดังกล่าวได้ชัดในระยะ  2 เมตร  ยังไม่เรียกว่าหน้าเสียโฉมติดตัวอันเป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (4)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1557/2512 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเกิดโทสะใช้มีดโต้ใบมีดกว้างราว 3 นิ้วมือผู้ใหญ่ติดกัน ยาวราว 1 ฟุต ฟันผู้เสียหายซึ่งเป็นพ่อตา 2 ที ถูกที่ใบหน้า 1 แห่ง แผลเย็บแล้วยาว 14 เซ็นติเมตร ยาวจากโหนกแก้มอีกข้างหนึ่งพาดผ่านจมูกเต็มใบหน้าเห็นได้ชัดอันเป็นเหตุให้หน้าเสียโฉม อีกแผลหนึ่งที่กลางหลังยาว 9 เซ็นติเมตร สาเหตุเนื่องจากผู้เสียหายดุด่าลูกจำเลย ดังนี้เห็นได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่า เพราะถ้าจำเลยมีเจตนาฆ่า จำเลยต้องฟันมากครั้งกว่านี้และเลือกเฟ้นที่อวัยวะสำคัญมากกว่านี้ได้  ทั้งลักษณะบาดแผล ก็ไม่ปรากฏว่าอาจทำให้ถึงอันตรายแก่ชีวิต จำเลยจึงมีผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกายสาหัสเท่านั้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2197/2519 แผลถูกคมมีดหายแล้วเป็นแผลเป็น จากใต้ใบหูท่อนล่าง พาดข้างแก้มลงไปถึงคอยาว 16 เซ็นติเมตร เป็นสันนูนกว้างครึ่งเซ็นติเมตร สูงครึ่งเซนติเมตร เห็นได้ชัดในระยะ 5 เมตร เป็นแผลทำให้รูปหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3088/2527 ผู้เสียหายมีบาดแผลฉีกขาดบนใบหน้าหลายแห่ง ต้องเย็บตามคิ้วเปลือกตาบนและที่แก้ม เมื่อแผลหายจะเป็นแผลเป็นติดใบหน้า มองเห็นได้ชัดเจนในระยะ 15 เมตร ถือได้ว่าหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว อันเป็นอันตรายสาหัสแล้ว จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ ป.อ.ม.300 ลงโทษตาม ม.300 ซึ่งเป็นบทหนัก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 313/2529 จำเลยทั้งสามรุมชกต่อยผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ใช้มีดตัดกระดาษกรีดใบหน้าผู้เสียหายเป็นแผลเสียโฉมติดตัว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมทำร้าย จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตาม ม.297 (4) ด้วย แต่ศาลลงโทษน้อยกว่าจำเลยที่ 1 ผู้เป็นต้นเหตุ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 754/2532 ใบหูเป็นส่วนหนึ่งของใบหน้าที่ประกอบรูปหน้าให้งาม เมื่อใบหูขาดไปถึงหนึ่งในสาม ย่อมจะทำให้รูปหน้าเสียความงามอันเป็นการเสียโฉมอย่างติดตัว แม้ผู้เสียหายจะรักษาตัวไม่เกิน 14 วัน ผู้เสียหายก็ได้รับอันตรายสาหัสแล้ว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1094/2543 ผู้เสียหายทั้งสองถูกจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันใช้มีด ขวดเบียร์ และไม้ฟัน แทง ตี จนได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดที่ใบหน้าและศีรษะ สำหรับที่ใบหน้ามีบาดแผลฉีกขาดที่แก้มซ้ายขนาดยาว 6 เซนติเมตร และยาว 5 เซนติเมตร ต้องเย็บถึง 100 เข็ม ซึ่งบาดแผลดังกล่าวหลังเกิดเหตุ 20 วัน สามารถมองเห็นได้ชัดในระยะ 5 เมตร แม้จะทำศัลยกรรมตบแต่งบนใบหน้าก็ไม่สามารถทำให้หายเป็นปกติได้ แต่จะจางลง วันที่ผู้เสียหายที่ 2 มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ห่างจากวันเกิดเหตุประมาณ 8 เดือนเศษ ก็ยังปรากฏรอยแผลเป็นให้เห็นชัดทำให้หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว เป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (4)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1665/2543 การที่จำเลยโกรธโจทก์ร่วมที่ไม่ยอมลงชื่อรับหนังสือจากจำเลย และด่าโจทก์ร่วมว่า "ไอ้ลูกหมา" พร้อมกับผลักโต๊ะใส่ แล้วเข้ากอดปล้ำต่อสู้กัน ถือว่าจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุกับสมัครใจทะเลาะวิวาท จึงไม่อาจอ้างว่ากระทำไปเพื่อป้องกัน เพราะการป้องกันโดยชอบตาม ป.อ. มาตรา 68 ต้องเป็นกรณีที่ผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียวก่อน จึงได้กระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง / ใบหูเป็นส่วนที่ประกอบรูปหน้าให้งาม การที่ใบหูขาดไปส่วนหนึ่งซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ย่อมทำให้รูปหน้าเสียความงามอันเป็นการเสียโฉมอย่างติดตัว แม้บาดแผลจะรักษาหายประมาณ 14 วันโจทก์ร่วมก็ได้รับอันตรายสาหัสแล้ว



มาตรา 297 (5)             แท้งลูก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 677/2510 การกระทำอันจะเป็นผิดฐานทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายถึงสาหัส ถึงแท้งลูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(5) จะต้องเป็นกรณีที่กระทำให้ลูกในครรภ์ของผู้ถูกทำร้าย คลอดออกมาในลักษณะที่ลูกนั้นไม่มีชีวิต ส่วนการคลอดก่อนกำหนดเวลา ในลักษณะที่เด็กยังมีชีวิตอยู่ต่อมาอีก 8 วันแล้วจึงตาย ดังนี้ ไม่เป็นการทำให้ได้รับอันตรายสาหัสถึงแท้งลูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (5)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1001/2547 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทำ โดยที่ผู้กระทำไม่จำต้องประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลถึงอันตรายสาหัสนั้น ดังนั้น แม้จำเลยจะทำร้ายผู้เสียหายโดยหามีเจตนาทำให้แท้งลูกก็ตาม เมื่อผลจากการทำร้ายนั้นทำให้ผู้เสียหายต้องแท้งลูกแล้ว จำเลยก็ต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (5)

มาตรา 297 (6)          จิตพิการอย่างติดตัว

มาตรา 297 (7)             พพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต

มาตรา 297 (8)             ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้ เกินกว่ายี่สิบวัน

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 970/2491 ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บไม่สามารถจะทำการงานอย่างใด ๆ เป็นเวลา 27 วัน เพราะยกแขนขึ้นไม่ได้ ให้เจ็บปวด ดังนี้ ย่อมฟังได้ว่า ผู้เสียหายไม่สามารถจะประกอบการหาเลี้ยงชีพได้โดยปกติเกินกว่า 20 วัน ต้องตามบทบัญญัติมาตรา 256 ข้อ 8 / ศาลชั้นต้นลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 256 ศาลอุทธรณ์แก้ลงโทษตามมาตรา 254 ดังนี้เป็นแก้มาก โจทก์ฎีกาข้อเท็จจริงได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1019/2491 บาดแผลของผู้เสียหายรักษา 1 เดือนเศษหาย ระหว่างแผลยังไม่หาย เดินไปไหนมาไหนได้ ไม่ถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ แต่ทำงานหนักไม่ได้ แต่ 20 วันแล้วทำงานหนักได้ 20 วันไถนาได้แต่ไม่ปรกติแท้ ดังนี้ยังฟังไม่ถนัดนักว่า บาดเจ็บนั้นจะถึงไม่สามารถจะประกอบการหาเลี้ยงชีพได้โดยปรกติเกิน 20 วัน จึงไม่เป็นบาดเจ็บสาหัสตามมาตรา 256 / ศาลชั้นต้นลงโทษตาม ก..ลักษณะอาญามาตรา 254 ศาลอุทธรณ์ลงโทษตามมาตรา 256 เป็นแก้มาก ฎีกาในข้อเท็จจริงได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 521/2495 บาดแผลถูกฟันที่หลังแขนซ้ายแผลกว้าง 4 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร ลึกเข้ากระดูกปลายแขน แผลตัดเนื้อกล้ามขาด รักษาอยู่ 20 วันแผลหาย แต่แขนเหยียดไม่ได้ นิ้วก็กระดิกไม่ได้ แพทย์ยืนยันว่า เพราะแผลลึกตัดเส้นวิถีประสาทส่วนปลายแขนขาดออกจากกัน แม้แผลหาย เส้นวิถีประสาทไม่ติดต่อกันได้ ไม่สามารถจะบังคับให้มีการเคลื่อนไหวได้เหมือนเดิมและปรากฏว่าผู้เสียหายมีอาชีพทางทำนา เช่นนี้ ต้องฟังว่าเป็นบาดแผลถึงสาหัสตาม ก..ลักษณะอาญามาตรา 256
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 966/2499 ได้ความว่าผู้เสียหายมีอาชีพทำนา ถูกชกด้วยสนับมือ มีบาดแผลที่ขอบตาล่างขวาฉีกลึก 1 ซม.ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาท 20 วันก่อนระหว่างนั้นทำงานไม่ได้ ดังนี้ถือได้ว่าผู้เสียหายไม่สามารถประกอบการหาเลี้ยงชีพได้ปกติเกิน 20 วันอันเป็นบาดเจ็บสาหัส
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1265/2510 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัสทุพพลภาพป่วยเจ็บ ด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกิน 20 วัน จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ปรากฏตามหลักฐานในสำนวนว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายแล้ว 3 วัน จึงเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลอีก 20 วัน เมื่อนับรวมวันที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายจนออกจากโรงพยาบาลจึงเป็นเวลา 23 วัน ดังนี้ ย่อมฟังได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายได้รับอันตรายแก่กายจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน จำเลยต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 96/2512 (สบฎ เน 2109) ผู้เสียหายมีอาชีพพิมพ์ดีด ถูกทำร้ายเป็นเหตุให้ความสามารถในการพิมพ์ดีดลดลง พิมพ์ได้ช้ากว่าอัตราปกติ เกินกว่า 20 วัน ไม่เรียกว่าประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกิน 20 วัน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2066/2514 ผู้เสียหายถูกทำร้าย กะโหลกศีรษะร้าว ต้องใช้เวลารักษาประมาณ 1 ปีครึ่ง กระดูกจึงจะเชื่อมติดกันได้และแข็งแรงพอ จะมีอาการปวดศีรษะในระยะ 1 เดือนแรก ไม่สามารถนั่งขายของได้ตามปกติ ถือได้ว่าผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส ตาม มาตรา 297
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3863/2525 จำเลยเมาสุราได้ยิงปืนนัดแรกที่ห้องพัก นัดที่สองยิงขึ้นฟ้า แล้วลดปืนลง กระสุนปืนนัดที่สาม ก็ลั่นถูกผู้เสียหายที่เอว เมื่อเป็นปืนลูกโม่ที่การยิงจะต้องเหนี่ยวไกทีละนัด กระสุนปืนนัดที่สามจึงลั่น เพราะเจตนายิง แต่เป็นขณะเมาสุรา ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ไม่มีเหตุเพียงพอจะคิดฆ่า ทั้งมิได้จ้องยิงตามปกติ และในขณะอยู่ห่างกัน 2 เมตร ผู้เสียหายต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 30 วัน จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ.ม.297 (8) มิใช่เป็นความผิดตาม ม.300 (ขณะยิงนัดแรก เป็นเจตนาเล็งเห็นผล ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ จึงควรปรับด้วยเจตนาฆ่า ไม่ถูกผู้เสียหาย ควรต้องรับผิด ตาม ม 288+80 ส่วนนัดที่สามลั่นถูกผู้เสียหาย โดยมิได้เจตนายิงเพื่อทำร้ายหรือฆ่า ควรต้องรับผิด ม 300 แล้ว ใช้ ม 90)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2243/2526 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. ม.300 พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ โดยบรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บถึงทุพพลภาพและป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วันแม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยภายหลังวันเกิดเหตุเพียง13 วัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจที่จะรับฟังข้อเท็จจริงตามฟ้อง แล้วพิพาทคดีโดยไม่สืบพยานได้ตาม ป.ว.อ.ม.176
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2802/2526 โจทก์ร่วมถูกฟันที่ต้นแขน ปลายแขน และข้อมือขวา ลึกผ่านชั้นกล้ามเนื้อและตัดประสาทที่ไปเลี้ยงแขน ต้องรักษาตัว 2 เดือนเศษจึงหายเป็นปกติ แต่ทำงานไม่ได้ ลักษณะบาดเจ็บดังกล่าวถึงสาหัสตาม ป.อ.ม.297 (8) แล้ว ไม่จำต้องให้ได้ความว่าผู้บาดเจ็บถึงแก่ต้องพยุงลุกพยุงนั่ง / โจทก์ร่วมวิ่งตาม พ. ไปเห็นจำเลยตบหน้า พ. แล้วเงื้อมีดดาบจะฟัน โจทก์ร่วมจึงผลัก พ. ให้พ้นไป จำเลยก็ฟันถูกโจทก์ร่วม 3 ครั้ง ลักษณะการทำร้ายของจำเลย มิใช่เนื่องในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตาม ม.299
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3862/2528 ผู้เสียหายถูกจำเลยตีที่ชายโครงซ้าย เกิดเหตุแล้ว 7-8 วันก็ไปทำงานตามปกติ  ภายหลังจากเกิดเหตุ 17 วัน ได้ไปหาแพทย์เอ็กซเรย์แล้ว พบว่ากระดูกซี่โครงซ้ายร้าว 2 ซี่ แพทย์จ่ายยาให้ไปรับประทานที่บ้าน มิได้รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยแพทย์มีความเห็นว่า จะต้องรักษาเกินกว่า 21 วัน จึงหาย ดังนี้ ยังถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน ตามความหมายใน ป.อ. ม.297 (8) จำเลยคงมีความผิดตาม ม.295 เท่านั้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4955/2528 จำเลยใช้มีดโต้ฟันผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเด็กเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของจำเลย ในเวลากลางคืน 1 ที ทำให้เกิดบาดแผลฉกรรจ์ยาว 6 เซนติเมตร กะโหลกศีรษะใต้บาดแผลแตก เป็นแนวยาวไปตามบาดแผล 5เซนติเมตร แสดงว่า จำเลยฟันโดยแรง ขณะผู้เสียหายเพิ่งโผล่ออกมาจากใต้แคร่ ในสภาพที่ผู้เสียหายซ่อนตัวอยู่ในแคร่ ซึ่งอยู่ในเขตจำกัด จำเลยอาจจะใช้วิธีการอื่นที่จะสกัดกั้นไม่ให้ผู้เสียหายออกมา และเรียกร้องให้ผู้อื่นมาช่วยจับผู้เสียหายไว้ได้ ทั้งมีทางที่จะสังเกตได้ทันทีว่าผู้โผล่ออกมาเป็นใครจะเกิดภัยแก่จำเลยเพียงใดหรือไม่ดังนี้  การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ / ผู้เสียหายถูกฟันกระโหลกศีรษะแตกเป็นแนวยาว 5 เซนติเมตร  แพทย์ลงความเห็นว่ารักษานานกว่า 21 วันหาย แต่ได้ความว่าผู้เสียหายรับการรักษาอยู่โรงพยาบาล 6-7 วัน แล้วถูกส่งตัวไปสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก 9 วัน จึงกลับบ้าน ไม่ปรากฏว่าหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วต้องไปรับการรักษาที่ใด หรือไม่แสดงว่ารักษาไม่เกิน 20 วัน จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายถึงสาหัสตาม ป.อ. ม.297
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 602/2529 ผู้เสียหายถูกแทง 3 แห่ง บาดแผลที่ชายโครงลึกมากถูกกล้ามเนื้อ และเส้นเลือด เลือดออกมาก ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 7-8 วัน ก็ไปรักษาตัวต่อที่บ้าน ระหว่างรักษาตัวไปทำนาตามปกติไม่ได้ ผู้เสียหายไปให้การในชั้นสอบสวนหลังเกิดเหตุ 25 วันว่า บาดแผลภายนอกหายแล้ว แต่ยังรู้สึกเจ็บข้างในแถวลิ้นปี่กับเอว  ดังนี้  ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ.ม.297
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1295/2530 ผู้เสียหายถูกแทงด้วยมีดปลายแหลมที่ต้นแขนซ้ายเป็นบาดแผลขนาด 2.5 เซนติเมตร ทะลุไปอีกด้านหนึ่ง หลังเกิดเหตุประมาณ 7 วัน ผู้เสียหายไปหาแพทย์เพื่อตัดไหม แพทย์บอกว่าบาดแผลเป็นปกติ และผู้เสียหายก็ไปเรียนหนังสือ กับทำกิจการงานต่าง ๆ ได้ แม้ปรากฏว่าผู้เสียหายเป็นนักศึกษาสาขาวิชาพลศึกษา ต้องเรียนภาคปฏิบัติ คือการเล่นกีฬาที่ต้องใช้แขน และหลังเกิดเหตุแล้ว 1 เดือน ผู้เสียหายไม่อาจเล่นกีฬาได้มากเท่าบุคคลปกติ เพราะยังรู้สึกเสียวที่แขน ก็เป็นเพียงแต่ทำให้ผู้เสียหายขาดความสะดวกในการใช้แขนลดน้อยลงเท่านั้น หาทำให้ผู้เสียหายประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เสียเลยทีเดียวไม่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 297 (8)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3362/2530 ผู้เสียหายถูกแทงด้วยมีดปลายแหลมที่หน้าอกซ้าย หากปลายมีดเข้าไปถึงหัวใจ หรือหลอดลมใหญ่ และไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ก็อาจถึงแก่ความตายได้ ผู้เสียหายรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 8 วัน แล้วกลับมารักษาตัวที่บ้านอีก 1 เดือน แผลภายนอกหาย แต่ภายในยังเจ็บและเสียวอยู่ ผู้เสียหายต้องเลิกอาชีพรับจ้างไปทำงานอย่างอื่น เพราะไม่สามารถทำงานหนักต่อไปได้ ดังนี้ถือได้ว่าผู้เสียหายต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน และประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เป็นอันตรายสาหัสตาม มาตรา 297 แล้ว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4946/2531 จำเลยเป็นพี่ชายผู้เสียหาย คนทั้งสองทำงานอยู่ด้วยกันกับบิดา ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยทะเลาะโต้เถียงด่าว่ากัน อันเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงถึงกับจะต้องเอาชีวิตกัน การที่จำเลยได้ใช้เหล็กขูดชาฟท์ยาวประมาณ 4 นิ้ว แทงผู้เสียหายที่ชายโครงขวา 1 ครั้ง แล้วหลบหนีไปโดยมิได้แทงซ้ำอีก ผู้เสียหายมีบาดแผลทะลุกะบังลมและตับ ต้องรักษาโดยการผ่าตัดและรักษาต่อตัวอีก 9 วัน จึงออกจากโรงพยาบาล บาดแผลต้องรักษาเป็นเวลา 4-6 อาทิตย์จึงจะหาย พฤติการณ์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสตาม มาตรา 297
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2788/2532 จำเลยใช้ไม้ไผ่ตีที่ศีรษะและลำตัวของผู้เสียหายหลายครั้ง ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลถลอกที่ศีรษะด้านซ้าย  ขนาดประมาณ  2x3 เซนติเมตร และที่บริเวณหัวไหล่ข้างซ้ายบวมฟกช้ำ ไม่พบว่ามีกระดูกหัก แต่มีลักษณะของเส้นเอ็นบริเวณหัวไหล่ซ้ายขาด ทำให้กระดูก 2 ชิ้นแยกจากกัน ผู้เสียหายเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 7 วัน ไม่ปรากฏว่าต้องรักษาตัวต่อไปอีกหรือไม่ แพทย์ผู้ตรวจลงความเห็นว่าต้องใช้เวลารักษาเกินกว่า 25 วัน ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน ก็เป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น และแม้ผู้เสียหายจะเบิกความว่าในวันมาเบิกความยังเจ็บแขน และมึนศีรษะอยู่ก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา เกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ตาม ป.อ. มาตรา 297 (8)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6345/2534 ผู้เสียหายถูกแทงมีบาดแผลที่ชายโครงซ้ายยาว3 เซนติเมตรเพียงแห่งเดียว แพทย์ลงความเห็นว่าถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อนรักษาไม่เกิน 21 วันหายแม้ผู้เสียหายจะเบิกความว่า หลังเกิดเหตุไม่สามารถทำนาได้ตลอดระยะเวลา 6 เดือน แต่ก็ปรากฏว่าผู้เสียหายเพียงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลรวมสองครั้งรวมแล้วไม่เกิน 20 วัน ผู้เสียหายออกจากโรงพยาบาลครั้งสุดท้ายทางโรงพยาบาลมิได้จ่ายยาให้ไปรักษาต่อที่บ้าน ไม่ปรากฏว่ามีอาการอย่างใดแทรกซ้อน จนผู้เสียหายต้องย้อนกลับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอีก ทั้งบาดแผลดังกล่าว แพทย์ผู้ตรวจรักษาก็เบิกความว่าลึกไม่ถึงปอด ย่อมไม่น่าเชื่อว่าจะก่อเกิดอันตรายแก่สุขภาพและอนามัย เป็นอุปสรรคให้ผู้เสียหายประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้ ตามที่ผู้เสียหายเบิกความ จึงไม่พอที่จะรับฟังว่าการกระทำของจำเลย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 892/2537 ผู้เสียหายถูกทำร้ายมีบาดแผล เส้นเอ็นที่ยึดข้อปลายของนิ้วก้อยซ้ายขาด นิ้วก้อยซ้ายงอผิดรูป หลังเกิดเหตุแล้ว 2 เดือน  นิ้วก้อยซ้ายของผู้เสียหายยังไม่สามารถยึดออกได้ตามปกติ แต่โจทก์มิได้นำสืบว่าอาการป่วยเจ็บเช่นว่านั้นทำให้ผู้เสียหายได้รับความทุกขเวทนา หรือไม่สามารถประกอบกรณียกิจได้ตลอดระยะเวลาดังกล่าว  จึงฟังไม่ได้ว่าบาดแผลดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้เสียหายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน อันจะเข้าลักษณะเป็นอันตรายสาหัส
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 69/2539 ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 6 ทำร้ายได้รับบาดเจ็บที่ดั้งจมูก แต่ผู้เสียหายมิได้รักษาโดยวิธีผ่าตัดตามความเห็นแพทย์คงเอายามากินที่บ้านตั้งแต่เกิดเหตุจนปัจจุบันเป็นเวลานานถึง 10 เดือนเศษ แสดงว่าผู้เสียหายสามารถไปทำงานหรือทำธุรกิจอื่นได้  แม้แพทย์ผู้ตรวจจะทำรายงานว่าต้องรักษาโดยวิธีผ่าตัดแล้วใช้เวลารักษาอย่างน้อย  21  วัน จึงจะหายเป็นปกติก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของแพทย์ที่กะประมาณไว้ในขณะทำการตรวจ ซึ่งไม่แน่นอนว่าจะถูกต้องตามนั้นหรือไม่ บาดแผลอาจจะหายเร็วกว่ากำหนดไว้นั้นก็ได้ ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่พอฟังว่าบาดแผลของผู้เสียหายดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้เสียหายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อันจะเข้าลักษณะเป็นอันตรายสาหัส
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 575/2548 ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์มีความเห็นว่าบาดแผลของผู้เสียหายต้องใช้เวลารักษาเกินกว่า 21 วัน แต่ผู้เสียหายเบิกความเพียงว่า บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับจากการถูกทำร้ายต้องใช้เวลารักษา 21 วัน จึงหายเป็นปกติ โดยมิได้เบิกความให้เห็นว่าผู้เสียหายต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อย่างไร ลำพังกระดูกโหนกแก้มขวาหักจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายสาหัส ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายที่ต้องใช้เวลารักษาเกิน 21 วัน เป็นเรื่องการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติเท่านั้น ย่อมรับฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายจนต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อันจะถือว่าเป็นอันตรายสาหัส ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 297 (8) คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 295 แม้ปัญหาข้อนี้จะยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ และฎีกาของจำเลยข้อนี้ต้องห้ามตามกฎหมายเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225

-          ประเด็นตามกฎหมายวิธีพิจารณาความ การสืบพยาน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 286/2490 โจทก์สืบว่าผู้ถูกทำร้ายทำงานไม่ได้เกินกว่า 20 วัน แต่ไม่ปรากฏว่า เป็นงานประกอบการหาเลี้ยงชีพตามปรกติหรืองานอะไรนั้น จะลงโทษฐานทำร้ายถึงสาหัส ตาม ม.256 (8) ไม่ได้.

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 297
-          (ขส เน 2511/ 7) นางริษยาตั้งใจเอาน้ำกรดสาดหน้าให้นางจริตตาบอดเสียโฉม นางจริตหลบทัน น้ำกรดถูกหลังเป็นแผลไหม้เล็กน้อย รักษา 5 วันหาย นางริษยาผิดฐานใด / นางริษยา ผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตาม ม 295 ไม่ผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายสาหัส ตาม ม 297 + 80 เพราะ ม 297 มุ่งถึงผลที่เกิดแล้ว หลักเรื่องพยายามตามลักษณะทั่วไป จึงไม่ต้องนำมาใช้กับกรณีนี้ ( ความรับผิดจากการพยายามกระทำผิดไม่นำมาใช้กับ ผลของการกระทำที่ต้องทำให้รับโทษหนักขึ้น”)

    มาตรา 298 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 297 ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่สองปีถึงสิบปี

-          ฎ 3322/2531 ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นรถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับ โดยโหนตัวขึ้นไปยืนบนบันไดรถ จำเลยขับรถกระชากออกไปโดยเร็ว และไม่ยอมหยุดรถโดยเจตนาให้ผู้เสียหายตกจากรถ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าอาจเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 298

    มาตรา 299 ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ รับอันตรายสาหัสโดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                 ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

-          คำอธิบายจากหนังสือกฎหมายอาญาภาคความผิดของท่านศ.ดร.คณิต ณ นคร หน้า 99 อธิบายว่า ผลที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ (คือความตามหรืออันตรายสาหัสแล้วแต่กรณี) เป็นข้อชี้ให้เห็นถึงอันตรายของการชุลมุนต่อสู้ และเป็นเงื่อนไขแห่งการลงโทษทางภาวะวิสัย ฉะนั้นผู้เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้จึงไม่จำต้องประสงค์ต่อผลนั้น ทั้งไม่จำต้องเป็นผู้ก่อผลนั้นขึ้นเองด้วย(ฎ.885/2509) เหตุนี้ผู้ได้รับอันตรายสาหัสเองก็อาจเป็นผู้เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้และมีความผิดฐานนี้ได้

-          ฎ 1015/2508 มาตรา 299 บัญญัติเอาผิดแก่ผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุน แต่สู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับอันตรายถึงสาหัส  เว้นแต่การเข้าไปห้ามหรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  โดยไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นตัวการทำให้เกิดอันตรายดังกล่าวนั้น ถ้าปรากฏว่าผู้ใดเป็นตัวการกระทำโดยลงมือกระทำเองก็ดี หรือใช้ให้เขากระทำก็ดี ผู้กระทำย่อมมีความผิดตามกรรมของตนอีกโสดหนึ่ง
-          ฎ 885/2509 จำเลยที่ 1 และ ท. บิดาจำเลยที่ 1 ได้ร่วมในการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ท.บิดาจำเลยที่ 1 ถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย ในการชุลมุนต่อสู้กันนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ร่วมในการชุลมุนต่อสู้กันนั้นด้วย ถึงแม้จำเลยที่ 1 จะไม่มีอาวุธก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำ เพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้หรือป้องกันตัว จำเลยที่ 1 ก็ต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 294
-          ฎ 2802/2526 เหตุเกิดขึ้นเพราะฝ่ายโจทก์ร่วมกับจำเลยทะเลาะวิวาทด่าว่าและท้ายทายกัน ถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยทำร้ายโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ทำไปเพราะบันดาลโทสะ / โจทก์ร่วมถูกฟันที่ต้นแขน ปลายแขน และข้อมือขวา ลึกผ่านชั้นกล้ามเนื้อและตัดประสาทที่ไปเลี้ยงแขน ต้องรักษาตัว 2 เดือนเศษจึงหายเป็นปกติ แต่ทำงานไม่ได้ ลักษณะบาดเจ็บดังกล่าวถึงสาหัสตาม ป.อ.ม.297 (8) แล้ว ไม่จำต้องให้ได้ความว่าผู้บาดเจ็บถึงแก่ต้องพยุงลุกพยุงนั่ง / โจทก์ร่วมวิ่งตาม พ. ไปเห็นจำเลยตบหน้า พ. แล้วเงื้อมีดดาบจะฟัน โจทก์ร่วมจึงผลัก พ. ให้พ้นไป จำเลยก็ฟันถูกโจทก์ร่วม 3 ครั้ง ลักษณะการทำ



     มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          กรณีขาดองค์ประกอบ การกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส
-          ฎ 1059/2507 ฟ้องว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสกระดูกปลายแขนซ้ายหัก และทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วันแต่มิได้นำสืบให้ปรากฏว่า ผู้เสียหายต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน ลงโทษจำเลยฐานทำให้รับอันตรายสาหัสไม่ได้ / ประมาททำให้เขาแขนหักรักษาประมาณ 30 วันหายนั้น ยังไม่ถือเป็นอันตรายสาหัสตาม มาตรา 300

-          กรณีเกี่ยวกับการใช้อาวุธ
-          ฎ 1086/2521 ยิงยางรถยนต์พลาด กระสุนถูกรถยนต์ทะลุไปถูกคนในรถ เป็นอันตรายสาหัส เป็นความผิดฐานทำให้เกิดอันตรายสาหัสโดยประมาทตาม ม.300 (ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำโดยประมาท ส่วนที่ใช้คำว่าพลาดไปถูกคนในรถนั้น หมายถึง ผลที่เกิดไม่ตรงกับที่ตั้งใจไว้ แต่ไม่ใช่เรื่องการกระทำโดยเจตนาโดยพลาดไปตาม มาตรา 60)
-          ฎ 2101/2527 จำเลยถืออาวุธปืนซึ่งบรรจุกระสุนไว้แล้วจ่อไปทาง ส.เป็นการกระทำที่ไม่สมควร เป็นการเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นมิใช่วิสัยที่ปกติชนจะพึงกระทำ เมื่อ ส.ตกใจใช้มือปัดเป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่น กระสุนปืนถูก ส. บาดเจ็บสาหัส การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส แม้ฟ้องว่ากระทำผิดโดยเจตนา ขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่า แต่ทางพิจารณาเป็นเรื่องประมาท ซึ่ง ป.ว.อ.ม.192 บัญญัติมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยไม่หลงต่อสู้ดังนี้ ศาลลงโทษจำเลยตาม ป.อ.ม.300 ได้
-          ฎ 2589/2546 จำเลยมีเจตนาใช้อาวุธปืนแก๊ปยาวยิงค้างคาวโดยไม่พิจารณาให้ดีว่าบริเวณ ที่ยิงไปนั้นจะมีผู้เสียหายอยู่หรือไม่ เมื่อกระสุนปืนที่ยิงไปนั้นไม่ถูกค้างคาว แต่กลับไป ถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน กรณีเช่นนี้จึงถือว่าจำเลยกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยย่อมมี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษ ในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยได้เพราะจำเลยต่อสู้ว่าเป็นการ กระทำโดยประมาท จำเลยจึงไม่หลงข้อต่อสู้ ทั้งการแตกต่างระหว่างการกระทำโดย เจตนากับประมาทนั้น กฎหมายมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม

-          กรณีเกี่ยวกับการใช้ยานพาหนะ และการจราจร
-          ฎ 7213/2540 จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกสิบล้อบรรทุกอ้อยเป็นจำนวนมากล้นท้ายรถออกมา ทำให้ผู้ขับรถตามหลังมาในบางช่วงบางระยะไม่เห็นไฟท้ายรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับเพราะส่วนเกินของลำอ้อยที่บรรทุกมาบังไฟหมด จำเลยที่ 1 ไม่ติดโคมไฟสีแดงตามที่กฎหมายบังคับไว้เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ตามหลังมามองไม่เห็นท้ายรถบรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับ  ทำให้รถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถและจำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส ถือว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อ มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส

-          กรณีสัตว์เลี้ยง
-          ฎ 3435/2527 ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ เมื่อกำลังตกมันย่อมเป็นสัตว์ดุ จำเลยไม่คอยควบคุมดูแลโดยใกล้ชิด เพียงแต่ใช้เชือกผูกไว้ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท และเป็นเหตุโดยตรงให้ พ. ผู้เสียหายถูกช้างของจำเลยแทงด้วยงาได้รับอันตรายสาหัส แล้วช้างวิ่งไปพังบ้านขอ ด. เสียหายอีก จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. ม. 300 ถือได้ว่าจำเลยปล่อยปละละเลยให้ช้างเที่ยวไปโดยลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ได้ เป็นความผิดตาม ม. 377 อีกบทหนึ่งด้วย

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 300
-          (ขส เน 2513/ 6) นายอืด ขับรถชนนายเฮง โดยประมาท ทำให้ ขาเทียมหัก และมีบาดแผลเย็บ 3 เข็ม รักษา 7 วันหาย / นายอืด ผิด ม 390 / ขาเทียมหัก ไม่ผิด ม 300 เพราะขาเทียมที่ใช้การไม่ได้ ไม่ใช่ผลจากการทำให้เกิดอันตรายแก่กาย (น่าจะเป็น เพราะขาเทียมที่ใช้การไม่ได้นั้น ไม่ใช่อาการสาหัสอย่างหนึ่งอย่างใด ตาม ม 297)

-          (ขส พ 2502/ 8 ครั้งแรก) แดงขับรถประมาท เกือบจะชนขาว ตำรวจเห็นเหตุการณ์ จึงกระโดดไปกระชากแขนขาว โดยรู้ว่าขาวอาจได้รับบาดเจ็บ ทำให้กระดูกข้อมือของนายขาว บวม ต้องเข้าเฝือก 30 วัน ตำรวจถูกล้อรถทับขาบาดเจ็บ / ตำรวจไม่ผิดฐานทำอันตรายสาหัส เพราะทำด้วยความจำเป็นพอสมควรแก่เหตุ ม 67 (2) / แดงผิดฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ตำรวจได้รับอันตรายแก่กาย ม 390 และผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ขาวได้รับอันตรายสาหัส ม 300 (การขับรถประมาท เป็นผลโดยตรงให้ขาวบาดเจ็บสาหัส และการที่ตำรวจกระโดดเข้าช่วยขาวนั้น เป็นเหตุแทรกแซงโดยบุคคลภายนอก ที่ไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล แดงยังคงต้องรับผิดต่อขาว ที่ขาวบาดเจ็บสาหัส)
-          (ขส พ 2519/ 9) แดงให้ดำช่วยสอนขับรถ แดงขับรถประมาทชนคน ดำเห็นแดงพลาด จึงหักพวงมาลัยรถ ชนคนตาย แดงบาดเจ็บสาหัส แดงและดำผิด ม 291 ดำผิด ม 300 อีกด้วย เพราะก่อนดำหักพวงมาลัย แดงขับรถมาในลักษณะน่าจะอันตรายอยู่แล้ว ฎ 1199/2510 ดำถือพวงมาลัย ทั้งที่ไม่อยู่ในสภาพที่จะขับหรือควบคุมรถได้ปลอดภัย จึงเป็นการประมาท


ไม่มีความคิดเห็น: