ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๓๕๓ - ๓๕๖



    มาตรา 353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 438/2520 จำเลยเป็นผู้ตรวจสอบสินค้าประจำโกดัง ผู้ควบคุมสินค้าเป็นผู้รับผิดชอบถ้าสินค้าหาย จำเลยไม่ใช่ผู้ครอบครองสินค้า เอาผิดแก่จำเลยตาม ป.อ. ม.352 ไม่ได้ บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างยักยอกสินค้าของผู้เสียหาย มิได้กล่าวว่าจำเลยรับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สิน ไม่ครบองค์ความผิดตาม ม.353 ลงโทษตามมาตรานั้นไม่ได้

-          กรณีที่ไม่ใช่ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1286/2505 เสมียนตราจังหวัด ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่รับและจำหน่ายสลากกินแบ่ง ได้เบียดบังเงินค่าขายสลากกินแบ่งไว้เป็นของตนโดยทุจริต มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ธรรมดา ตาม มาตรา 352 ไม่ใช่มาตรา 353 หรือ 354
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2343/2514 จำเลยเป็นผู้จัดการสมาคมที่มีสมาชิกเฉพาะชาวจีนไหหลำ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยอยู่ในฐานะเป็นผู้มีอาชีพอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 / จำเลยมีหน้าที่เพียงเก็บเงินค่าสมัครเข้าเป็นสมาชิก ค่าบำรุง ค่ามรณะสงเคราะห์ฌาปนกิจ และทำบัญชีของสมาคม แม้จำเลยจะเป็นผู้เก็บรักษาเงิน ก็ไม่มีอำนาจจัดการกับเงินจะเอาไปใช้จ่ายอะไรไม่ได้ ดังนี้ จะถือว่าจำเลยได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์ของสมาคมด้วยยังไม่ได้ เมื่อจำเลยยักยอกเงินดังกล่าวไป จึงไม่มีความผิดตาม มาตรา 353 คงมีความผิดตามมาตรา 352 แต่บทเดียว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1552/2517 จำเลยทำงานอยู่กับโจทก์ร่วม เป็นผู้ติดต่อและเก็บเงินจากลูกค้า จำเลยรับเช็คจากลูกค้าของโจทก์ร่วมมาในฐานะเป็นผู้รับชำระหนี้แทนโจทก์ร่วม มิใช่ในหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากฝ่ายลูกค้า จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองเช็คของโจทก์ ร่วมในฐานะตัวแทนมีหน้าที่ต้องนำเช็คหรือเงินตามเช็คนั้นส่งให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร และเบียดบังเอาไว้โดยทุจริต โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และฟ้องจำเลยได้ และเป็นความผิดตาม มาตรา 352 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 353 เพราะจำเลยมิได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ร่วม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1674/2522 สมุห์บัญชี และพนักงานบัญชีของกลุ่มเกษตรกรรม ไม่ใช่ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สิน หรือมีอาชีพธุรกิจที่ประชาชนไว้วางใจ การยักยอกไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.ม.353, 354
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2419/2529 ยักยอกเช็ค ไม่ผิดยักยอกเงิน เงินที่ขายลดเช็ค ไม่ใช่ของโจทก์ เพราะไม่ได้มอบหมายให้ขาย และไม่ใช่รับมอบจากธนาคาร

-          กระทำผิดหน้าที่ของตน โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 196/2511 การมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 นั้น หาจำกัดเป็นการมอบหมายให้จัดการเพื่อหาหรือให้ได้ประโยชน์อย่างใดเสมอไปไม่ ฉะนั้น ประโยชน์ที่เกิดการเสียหาย จึงมิใช่เพียงประโยชน์อันได้จากการจัดการทรัพย์เท่านั้น แต่อาจเป็นประโยชน์อื่นใดก็ได้ ซึ่งข้อสำคัญมีเพียงว่าประโยชน์ที่เกิดจากการเสียหายนั้น จะต้องเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของเจ้าของทรัพย์เท่านั้น / บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ควบคุม และครอบครองรถแทร็กเตอร์ของโจทก์ เพื่อนำไปแสดงและไถ่แข่งขันในงานจำเลย โดยเจตนาทุจริตได้เบียดบังนำรถนั้นไปไถไร่ของจำเลย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน คือ ยางเสีย เครื่องยนต์ และตัวถังต้องซ่อมแซมเป็นเงินจำนวนหนึ่ง แสดงว่าความเสียหายในตัวทรัพย์ของโจทก์ที่ได้รับ ล้วนเป็นประโยชน์ที่เป็นเงินอันอยู่ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินทั้งสิ้น ฟ้องของโจทก์จึงครบถ้วนตามมาตรา 353 ดังกล่าวแล้ว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1800/2517 จำเลยเป็นผู้จัดการสถานธนานุบาล (โรงรับจำนำ) ของเทศบาลนครกรุงเทพ ได้รับจำนำสิ่งของไว้จาก อ. รวม 507รายการ  ในราคาสูงกว่าปกติ  และส่วนมากสูงกว่าราคา ที่จำเลยรับจำนำไว้จากลูกค้ารายอื่น  โดยไม่ปรึกษาผู้ช่วยผู้จัดการ เมื่อถูกทักท้วง ก็ว่าจะรับผิดชอบเอง อ. นำสิ่งของมาจำนำแทบทุกวัน วันละหลายๆ ชิ้น มากกว่าลูกค้ารายอื่น สิ่งของบางชิ้น อ.ขอร้อง ให้จำเลยตีราคาสูงๆ เพื่อเอาเงินไปชำระค่าดอกเบี้ยสิ่งของที่จำนำไว้ และจะครบกำหนด ถ้าเอาสิ่งของ 507 ชิ้นที่รับจำนำไว้ ออกขายทอดตลาดขาดทุน  จำเลยก็ไม่สามารถจะใช้เงินที่ขาดให้ได้ หลังจากจำเลยถูกจับ อ.ก็มิได้มาติดต่อกับสถานธนานุบาลอีกเลย แสดงว่าจะปล่อยสิ่งของเหล่านั้นให้หลุด  ซึ่งหากนำออกขายทอดตลาด ได้ราคาต่ำกว่าราคาที่จำนำไว้ เทศบาลนครกรุงเทพก็ต้องขาดทุน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต และทำให้เทศบาลนครกรุงเทพเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะ ที่เป็นทรัพย์สิน / สถานธนานุบาลหรือโรงรับจำนำเป็นธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน  จำเลยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินและธุรกิจนั้นของเทศบาลนครกรุงเทพ กระทำผิดหน้าที่ของตน โดยทุจริต  ทำให้เทศบาลนครกรุงเทพเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4397/2530 จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาของธนาคารโจทก์ร่วม ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของธนาคาร กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตผิดระเบียบเกี่ยวกับการอนุมัติเบิกจ่ายเงิน จนลูกค้าธนาคารโจทก์ร่วมเป็นลูกหนี้ธนาคารโจทก์ร่วม สูงกว่าหลักประกันถึงหกแสนบาทเศษ ดังนี้ ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของธนาคารโจทก์ร่วมตาม ป.อ.มาตรา 353 แล้ว / ฟ้องไม่ได้บรรยายว่าจำเลยครอบครองทรัพย์ และเบียดบังทรัพย์ของผู้เสียหายโจทก์ เพียงแต่อ้าง ป.อ.มาตรา 352 มาในคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 352 / เงินที่จำเลยอนุมัติให้เบิกจ่ายไปจากบัญชีกระแสรายวันของลูกค้าธนาคารโจทก์ร่วม เป็นเงินของธนาคารโจทก์ร่วม ธนาคารโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจร้องทุกข์และขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 113/2535 จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จำเลยมีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน จำเลยจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทเป็นของตน โดยไม่ยินยอมที่จะให้เอาชื่อทายาทอื่นเป็นผู้รับมรดกร่วมกับจำเลย การกระทำของจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินนั้น เป็นของตนโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น

-          กรณีกระทำผิดหน้าที่ แต่ไม่ได้กระทำโดยทุจริต
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1858/2528 จำเลยเป็นผู้จัดการธนาคาร ก. สาขาสุขุมวิท ได้ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าหลายคน โดยไม่มีหลักทรัพย์เป็นประกัน อันเป็นการเกินอำนาจที่ธนาคาร ก. โจทก์ร่วมได้ให้ไว้ ฝ่ายตรวจสอบฯ ของโจทก์ร่วมทราบ และได้แจ้งให้จำเลยจัดการแก้ไข  จำเลยได้โอนหนี้ของลูกค้าดังกล่าวไปเป็นหนี้ของบริษัท บ. รายเดียว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมมีทางจะได้รับชำระหนี้จากบริษัท บ.และจากหลักทรัพย์ต่างๆ ที่บริษัท บ.เสนอเป็นประกันหนี้โดยสิ้นเชิง และการที่จำเลยปล่อยสินเชื่อดังกล่าว จำเลยไม่ได้รับประโยชน์แต่อย่างใดดังนี้ การกระทำของจำเลยหาเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วมแต่อย่างใดไม่ และฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.353
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2975/2529 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นกรรมการและผู้จัดการฝ่ายส่งออกของโจทก์ โจทก์ได้มอบหมายให้ครอบครองเงินประเภทค่าใช้สอยล่วงหน้าในการติดต่อ เพื่อธุรกิจ และมีสิทธินำเงินจำนวนนี้ไปใช้จ่ายเพื่อธุรกิจของโจทก์ ได้ จำเลยได้เบิกเงินค่าใช้สอยล่วงหน้าจากโจทก์ไปรวม 56 ครั้ง เป็นเงิน 858,136 บาท 75 สตางค์ จำเลยได้กระทำผิดโดยทุจริตเบียดบัง เอาเงินจำนวน 671,302 บาท 49 สตางค์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือ ผู้อื่นโดยแสดงหลักฐานการใช้เงินที่เบิกล่วงหน้าได้เพียง 186,434 บาท 26 สตางค์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 91 / ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "เงินค่าใช้สอยที่จำเลยเบิกไปจากโจทก์ จำเลยมีสิทธิครอบครองใช้จ่ายได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องขออนุมัติโจทก์ โจทก์มิได้กำหนดการจ่ายไว้เป็นที่แน่นอน จึงสุดแล้วแต่จำเลยจะเห็นสมควรใช้จ่ายอย่างใด แล้วนำหลักฐานมาหักหนี้ในทางบัญชีกับโจทก์ ในภายหลัง กรรมสิทธิ์ในเงินดังกล่าวจึงตกเป็นของจำเลยตั้งแต่ ขณะที่ได้รับไปจากโจทก์ หาใช่จำเลยครอบครองเงินดังกล่าวไว้แทน โจทก์ไม่ หากปรากฏว่า จำเลยไม่มีหลักฐานพอที่จะนำมาหักหนี้ หรือมีเงินเหลือไม่ส่งคืนก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะเรียกร้องทางแพ่งเอากับจำเลย การกระทำของจำเลยไม่มีมูลเป็นความผิดฐานยักยอก"

-          กรณีเปรียบเทียบ การยักยอก กับการผิดสัญญาทางแพ่ง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 556/2541 เงินที่ ค. ส่งมาชำระค่าสินค้าโดยผ่านเข้าบัญชีของจำเลย จึงเป็นเงินของโจทก์ร่วม แม้ ค. จะส่งฝากไว้ในบัญชีเงินฝากของจำเลย แต่ก็เพื่อให้จำเลยนำไปชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วมอีกทีหนึ่ง จำเลยในฐานะผู้จัดการของโจทก์ร่วม ถอนเงินจำนวนนั้นไปเสีย ไม่ส่งคืนให้โจทก์ร่วมตามหน้าที่ เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3074/2541 เมื่อ ม. ตายแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิสั่งจ่ายเบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวันของ ม. จำเลยสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวันของ ม. ไปเข้าบัญชีของจำเลย ทำให้กองมรดกของ ม. ต้องรับผิดชำระหนี้ ให้แก่ธนาคาร เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ซึ่งต้องรับผิดในทางแพ่งต่อกองมรดกของ ม. เป็นการส่วนตัว แต่ไม่มีความผิดทางอาญายักยอกกองมรดก

มาตรา 354     ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 352 หรือมาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          มาตรา 354          ผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3525/2528 ผู้มอบหมายทรัพย์ให้ผู้ครอบครองอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ.ม.352 นั้น มิได้หมายความเฉพาะแต่เจ้าของทรัพย์ศาลซึ่งมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ก็ถือว่าเป็นผู้มอบหมายทรัพย์มรดกให้แก่ผู้จัดการมรดกครอบครอง หากผู้จัดการมรดกเบียดบังเอาไปโดยทุจริต อาจมีความผิดตาม ป.อ. ม.352, 354 ได้ / ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ช. ได้ใช้หน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกโดยทุจริต โอนขายที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมิได้มีการซื้อขายกันจริง โดยมีเจตนายักยอกทรัพย์มรดก ซึ่งถ้าฟังได้ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 อาจมีความผิดตาม ป.อ. ม.353,354 ได้ โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวแช ตามคำสั่งศาล ได้สมคบกับจำเลยที่ 2 แจ้งต่อเจ้าพนักงานว่าจำเลยที่ 1 ได้ขาย ที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว เพื่อให้เจ้าพนักงานจดทะเบียนให้ อันเป็น ความเท็จเพราะไม่ได้มีการซื้อขายกันจริง เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์มรดกเป็นของตน โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354, 83”
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 113/2535 จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จำเลยมีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามสิทธิของแต่ละคน จำเลยจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทเป็นของตน โดยไม่ยินยอมที่จะให้เอาชื่อทายาทอื่นเป็นผู้รับมรดกร่วมกับจำเลย การกระทำของจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินนั้น เป็นของตนโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางเหลียง แซ่เจี่ยหรือ แซ่อึ้ง หรือผิวพานิช ตามคำสั่งศาล จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ยักยอกที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกที่จะตกทอดแก่ทายาทซึ่งเป็น ผู้เสียหาย กับจำเลยไปเป็นของจำเลยเอง โดยจำเลยได้จดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย เพียงคนเดียว มิได้จัดแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ทายาทตามหน้าที่ ของจำเลยตามกฎหมายโดยทุจริต ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 4,974,987.50 บาท แก่ผู้เสียหาย

-          มาตรา 354          ผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1976 - 1977/2505 ศาลฎีกาเห็นว่า เดิมได้มีบทบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 319(3) และต่อมาก็ได้ขยายความข้อนี้และบัญญัติ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ซึ่งเห็นได้ว่ากฎหมายมุ่งถึงการกระทำเกี่ยวกับธุรกิจที่ประกอบเป็นหลักเกณฑ์และงานที่จำเลยทำอยู่นี้ก็เป็นกิจการหรือธุรกิจการธนาคารอันเห็นได้ว่าเป็นสถานที่ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประกอบการธนาคารอันได้รับความไว้วางใจเกี่ยวกับการเงินจากประชาชน โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการแทนธนาคารด้วยเหตุนี้จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ซึ่งกำหนดโทษไว้หนักกว่าการยักยอกธนาคาร แต่การกระทำของจำเลยตามสำนวนหลังเป็นการกระทำก่อนใช้ประมวลกฎหมายอาญา ส่วนสำนวนแรก เกิดขึ้นระหว่างใช้กฎหมายลักษณะอาญา และประมวลกฎหมายอาญา จึงต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ซึ่งมีโทษเบากว่า จำเลยเป็นผู้จัดการธนาคาร อันเป็นกิจการที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับการเงินมากระทำผิดโดยใช้ความรู้ความเฉลียวฉลาดและความชำนาญในหน้าที่โดยวิธีอันยอกย้อนซ่อนเงื่อนเสียเองนับว่าเป็นการกระทำผิดร้ายแรง อาจกระทบกระเทือนกิจการการธนาคารและเศรษฐกิจของบ้านเมืองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยมาแล้ว จึงนับว่าเบาไป
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1800/2517 สถานธนานุบาล หรือโรงรับจำนำเป็นธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จำเลยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินและธุรกิจนั้นของเทศบาลนครกรุงเทพ  กระทำผิดหน้าที่ของตน โดยทุจริต  ทำให้เทศบาลนครกรุงเทพเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน  จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3595/2532 (ป) จำเลย ร่วมกับผู้จัดการและสมุห์บัญชีของธนาคาร ยักยอกทรัพย์ของธนาคาร ผิดฐานเป็นตัวการยักยอกทรัพย์ ตาม มาตรา 352 ประกอบ มาตรา 83 / ผู้มีอาชีพ หรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เป็นเหตุเฉพาะตัวผู้กระทำผิดแต่ละคน จำเลยไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ตาม มาตรา 354 ประกอบด้วยมาตรา 86

-          มาตรา 354          กรณีที่ยังไม่ถือว่าเป็น "ผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน"
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2343/2514 จำเลยเป็นผู้จัดการสมาคมที่มีสมาชิกเฉพาะชาวจีนไหหลำ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยอยู่ในฐานะเป็นผู้มีอาชีพอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนตามความหมายใน  มาตรา 354
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1674/2522 สมุห์บัญชี และพนักงานบัญชีของกลุ่มเกษตรกรรม ไม่ใช่ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สิน หรือมีอาชีพธุรกิจที่ประชาชนไว้วางใจ การยักยอกไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353, 354
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1549-1550/2526 การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. ม.354 จะต้องได้ความว่ากระทำลง ในฐานะเป็นผู้มีอาชีพและธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน มิใช่เป็นเรื่องความไว้วางใจกันเองระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำความผิด

-          มาตรา 354          กรณีไม่เป็นการยักยอก ก็ไม่อาจผิดในเหตุฉกรรจ์ตามมาตรานี้ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 604/2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ย. ผู้ตายต่อมาจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ได้จดทะเบียนขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ ว.โดยไม่ได้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินดังกล่าว ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายไปด้วยวิธีการอันไม่สุจริต หรือมีเจตนาที่จะเบียดบังเงินที่ได้จากการขายที่ดินทรัพย์มรดกไว้โดยทุจริตอย่างไร ทั้งก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสี่ก็ไม่เคยทวงถามจำเลย ให้แบ่งเงินที่ได้จากการขายที่ดินทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสี่ การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทำการขายที่ดินทรัพย์มรดกของผู้ตายไปนั้น จึงเป็นวิธีเกี่ยวกับการจัดการ และแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ.มาตรา 1719,1750 คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลดังฟ้อง

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 354
-          (ขส อ 2542/ 2) รับฝากเงินแล้วฉีกต้นฉบับ ม 188 เขียนใหม่ว่าฝากน้อยลง แล้วยื่นให้หัวหน้าตรวจ ม 1 (9) + 264 + 265 + 268 ยักยอกเงิน ม 352 เป็นลูกจ้างธนาคาร ม 354 496-7/2542

มาตรา 355     ผู้ใด เก็บได้ซึ่งสังหาริมทรัพย์อันมีค่า อันซ่อน หรือฝังไว้ โดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1558/2509 เทวรูปเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ พ.ศ.25074 มาตรา 24 แล้ว ศาลจึงไม่ต้องสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 อีก / เทวรูปหินอ่อนรูปนารายณ์สี่กร เป็นของโบราณราคาแพง ฝังอยู่ใต้ดินบริเวณปราสาทโบราณ เป็นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ จำเลยขุดได้และเบียดบังเอาเสีย จึงผิดพระราชบัญญัติโบราณสถาน ฯ พ.ศ. 2504 มาตรา 31 / จำเลยขายเทวรูปนั้นไป เพียงเท่านี้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำการค้าโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ พ.ศ. 2504 มาตรา 19 / เทวรูปนั้นไม่มีคุณค่าเป็นพิเศษ จึงไม่ใช่สังหาริมทรัพย์อันมีค่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 355

มาตรา 356     ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้


ไม่มีความคิดเห็น: