ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

เจ้าพนักงาน

- เจ้าพนักงาน

- เจ้าพนักงานตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ และกระทำการในหน้าที่นั้น

- เจ้าพนักงานตามที่ได้รับมอบหมาย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 700/2490 คำว่าเจ้าพนักงานตามความหมายของกฎหมายอาญานั้น ย่อมมีความหมายถึงผู้ที่ได้รับแต่งตั้งโดยทางการของรัฐไทยให้ปฏิบัติราชการของรัฐไทยเท่านั้น เมื่อฟ้องโจทก์กับคำแถลงประกอบไม่ได้ความว่า ผู้รับมอบเงินมีตำแหน่งหน้าที่เป็นพนักงานตามกฎหมาย ศาลชอบที่จะไม่ประทับฟ้องเสียได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 523/2499 ได้ความตามทางพิจารณาว่าจำเลยทั้ง 3 เป็นพนักงานรายวันของกรมทางหลวงแผ่นดิน กระทรวงคมนาคม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจรับหินซึ่งผู้รับเหมานำส่งแล้วรายงานจำนวนหินไม่ตรงกับความจริงเช่นนี้ไม่ถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่ง ก..อาญา จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ม.230 ที่โจทก์ฟ้อง / โดยปกติจะถือว่าผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ผู้นั้นต้องเป็นข้าราชการตาม ก..เว้นแต่จะมี ก..บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้เป็นเจ้าพนักงานดังเช่น พ...เทศบาล พ..2496 .44 บัญญัติว่าให้พนักงานเทศบาลมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่ง ก..อาญาเป็นต้นและใน พ...ข้าราชการพลเรือน พ..2495 .17 ซึ่งบัญญัติถึงข้าราชการพลเรือนว่ามีอยู่ 7 ประเภทก็ไม่กินความถึงจำเลยทั้งสามคนนี้ เพราะจำเลยไม่ได้รับเงินเดือน หากเป็นเพียงพนักงานรายวัน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 231/2503 จำเลยได้รับแต่งตั้งจากอธิบดีกรมชลประทานให้เป็นช่างบังคับหมู่เขื่อนระบายน้ำแห่งหนึ่ง มีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างซ่อมแซมบำรุงรักษา ควบคุมการเบิกจ่ายค่าแรงคนงาน ควบคุมคนงาน แต่ได้รับเงินค่าจ้างเป็นรายวันจากงบประมาณ ซึ่งมิใช่ประเภทเงินเดือน เมื่อจำเลยได้เบิกค่าแรงงานคนงานเกินความจริงและจดหลักฐานเท็จก็จะเอาผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทุกจริตต่อหน้าที่ และทำหลักฐานเท็จไม่ได้ เพราะถือว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 253/2503 จำเลยได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในโรงงานสุราสังกัดกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามระเบียบข้อบังคับของโรงงานสุรา แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้บรรจุแต่งตั้งก็ตาม แต่ก็ไม่ต้องผ่านการสอบคัดเลือก ไม่ต้องรับอนุมัติจาก ก.พ.การถอดถอนหรือให้ออกจากตำแหน่งเป็นไปตามข้อบังคับของโรงงานสุราไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการ จำเลยได้รับเงินเดือนจากรายได้ของโรงงานสุรา ไม่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดิน เมื่อจะออกจากงานก็ไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญ ฐานะของจำเลยเป็นเพียงลูกจ้างของโรงงานสุราเท่านั้น ไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย จึงย่อมทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทุกจริตต่อหน้าที่ไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 82-86/2506 จำเลยรับราชการเป็นครู ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่การเงินขององค์การช่วยเหลือเพื่อสมาชิกคุรุสภาสาขาจังหวัด ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งของคุรุสภา จำเลยได้รับเงินค่าจัดการศพสมาชิก และเงินสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกมาตามหน้าที่ของจำเลย เพื่อจ่ายแก่ผู้มีสิทธิได้รับ แล้วยักยอกเงินดังกล่าวนั้นเสีย ดังนี้ จำเลยมีความผิดฐานยักยอกธรรมดาตามมาตรา 352 ไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกตามมาตรา 147 และมาตรา 151 เพราะจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ในฐานะเป็นเจ้าพนักงาน แต่กระทำในฐานะเจ้าหน้าที่ของคุรุสภา ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการ คดีความผิดอันยอมความได้ แม้ผู้เสียหายพอใจตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์ จะหมดสิทธิดำเนินคดี เมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 626/2507 ฟ้องของโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยซึ่งเป็นพนักงานการรถไฟกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่อ้างบทกฎหมายขอให้ศาลลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ถือเป็นการอ้างกฎหมายผิด ศาลจะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ เพราะเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคต้น ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 18 บัญญัติ ให้พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าพนักงาน ตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา จึงนำพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาใช้บังคับลงโทษพนักงานการรถไฟซึ่งกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1670/2509 จำเลยเป็นตำรวจประจำกองบังคับการตำรวจดับเพลิงได้สมคบกับผู้อื่นแสดงตัวกับผู้เสียหายว่าเป็นตำรวจจะจับกุมตัวผู้เสียหายฐานขายยาผิดประเภท แต่จำเลยกลับเรียกเอาเงินจากผู้เสียหาย เพื่อไม่จับกุมดำเนินคดีดังกล่าว จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยจะอ้างว่าเป็นตำรวจดับเพลิง มีหน้าที่ดับเพลิงเท่านั้น ไม่มีอำนาจสอบสวนสืบสวนเพื่อจับกุมผู้กระทำผิดอาญาหาได้ไม่ เพราะหน้าที่การดับเพลิงนั้น เป็นหน้าที่เฉพาะตามที่ทางราชการแต่งตั้งให้ปฏิบัติ แต่โดยทั่วไปแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อจำเลยได้เรียกและรับเอาเงินจากผู้เสียหาย เพื่อไม่จับกุมดำเนินคดีอาญาฐานขายยาผิดประเภทจำเลยย่อมมีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 492/2512 (สบฎ เน 2085) จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำรายเดือน ตำแหน่งช่างเครื่องเรือศุลกากร สังกัดกรมศุลกากร ไม่ใช่ข้าราชการที่รับเงินเดือนในงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน ตาม พรบ ระเบียบข้าราชการพลเรือน "แม้เป็นพนักงานศุลกากร มีอำนาจหน้าที่ตาม พรบ ศุลกากร" ก็หาใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมายไม่ และทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงาน เมื่อร่วมกระทำผิดกับเจ้าพนักงาน ลงโทษฐานตัวการไม่ได้ คงลงโทษได้ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนในความผิด ม 149 เท่านั้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1202/2520 ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1/2509 1 กุมภาพันธ์ 2509 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบเหตุความผิดอาญาทำการจับกุม หรือสั่งการให้จับกุม และสืบสวนสอบสวน เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดและนายตำรวจเห็นการฆ่าคนโดยเจตนา แต่ไม่จับผู้กระทำผิด กลับให้โกยเลือดและนำศพไปทิ้งเพื่อช่วยผู้กระทำผิดเป็นความผิดตาม ป.อ. ม.157, 200, 184, 199 แต่เป็นการกระทำด้วยเจตนาเดียว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1461/2522 ลูกจ้างประจำของกรมธนารักษ์รับค่าจ้างในงบงานจัดทรัพย์สินของรัฐ มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งมีกฎหมายระบุโดยเฉพาะให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน และมิใช่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการ มีหน้าที่เก็บเงินค่าเช่าอาคารราชพัสดุ ยักยอกเงินค่าเช่าที่รับไว้ ไม่มีความผิดตาม ม.147 แต่เป็นความผิดตาม ม.352 เงินที่รับไว้เป็นของทางราชการ ซึ่งจะเรียกเก็บจากผู้เช่าอีกไม่ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งรับมอบอำนาจเป็นผู้เสียหาย ฟ้องขอให้ลงโทษโดยบรรยายว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน อ้าง ม.147,352 ศาลลงโทษตาม ม.352 ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 471/2523 นายอำเภอไม่มีอำนาจตั้งผู้ใหญ่บ้าน เป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ทำให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานที่ทำผิดตาม ป.อ.ม.147 ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2563/2523 จำเลยอยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติงาน ยังไม่ได้รับการบรรจุ และแต่งตั้งเป็นพนักงานการไฟฟ้านครหลวง จึงลงโทษจำเลยฐานรับเงินที่ได้จากการปลอมใบเก็บเงินส่วนที่เกินจากต้นขั้ว ไว้เป็นประโยชน์ตน โดยทุจริตตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ไม่ได้ลงโทษ ตาม ป.อ. ก็ไม่ได้ เพราะโจทก์ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวเพียงประการเดียว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3057/2523 จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ประจำตำบล จำเลยที่ 6 เป็นครูประชาบาลมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้ว การที่นายอำเภอซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชามีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 และที่ 6 ไปปฏิบัติงานตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติการของอำเภอ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 6 ปฏิบัติงานในฐานเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย / จำเลยที่4 และที่ 5 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาตำบลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 มิได้ระบุให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แม้นายอำเภอมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยไปปฏิบัติงานตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นฯ อันเป็นราชการของอำเภอก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 4 และที่ 5มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1787/2524 เจ้าพนักงานนั้น ย่อมหมายความถึงบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย กล่าวคือในการแต่งตั้งนั้นมีกฎหมายระบุถึงวิธีการแต่งตั้งไว้ และได้มีการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมายที่ระบุไว้นั้น จำเลยที่ 1 เป็นกำนัน จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ประจำตำบล จำเลยที่ 3 เป็นผู้ใหญ่บ้าน มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน การที่จำเลยทั้งสามดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติตามโครงการพัฒนาท้องถิ่น และช่วยประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้ง พ.ศ. 2518 ในฐานะประธานกรรมการ และกรรมการสภาตำบลได้ร่วมเป็นคณะกรรมการตามโครงการดังกล่าวประจำตำบล ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการของเจ้าพนักงานผู้มีตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น อันอาจเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการได้ดังโจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นกรรมการสภาตำบลผู้ทรงคุณวุฒิตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 หาใช่ข้าราชการ หรือได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายอย่างใดไม่ แม้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการดังกล่าวด้วย แต่ระเบียบว่าด้วยการปฏิบัติตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นฯ มิใช่กฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย และไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าให้เป็นเจ้าพนักงาน ถึงแม้จำเลยทั้งสองจะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ก็หาใช่เจ้าพนักงานไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1478/2525 จำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินงาน โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นโดยตำแหน่ง ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่า การกระทรวงมหาดไทย ไม่เป็นเจ้าพนักงาน แม้อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินกำไรสะสมของโรงพิมพ์ เพื่อจ่ายเป็นเงินภาษีเงินได้ และค่าปรับให้แก่กรมสรรพากรแทนผู้มีเงินได้ซึ่งรับเงินไปจากโรงพิมพ์ ก็ไม่มีความผิดตาม ป.อ. ม.151, 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2294/2526 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ได้รับการแต่งตั้งโดยอำนาจของกฎหมาย ให้ปฏิบัติราชการของกรมแรงงานตามที่กฎหมายกำหนดอำนาจและหน้าที่ไว้ ทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาด ข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการดังกล่าว มิฉะนั้นมีความผิดและมีโทษทางอาญา คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1329/2529 กรมที่ดินจ้าง ป.เป็นลูกจ้างชั่วคราว และนายอำเภอมีคำสั่งแต่งตั้ง ป.ให้ปฏิบัติหน้าที่พิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดิน ป.จึงเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ.ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน ม.58

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3679/2529 นายตรวจสรรพสามิตเมื่อได้รับคำสั่งให้ไปตรวจเขต 1 แล้ว แม้ไปตรวจอีกเขตหนึ่ง ก็เป็นการปฏิบัติราชการเช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นการปฏิบัตินอกเหนือคำสั่ง การตรวจร้านค้าสุรา มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ราชการ ซึ่งโดยปกติจะกระทำในระหว่างเวลาราชการ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีข้อจำกัดว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในช่วงเวลาราชการเท่านั้น เมื่อไปตรวจที่ร้านค้าของผู้เสียหายเวลา 17.00 น. และเรียกผู้เสียหายไปบอกว่าสุราของผู้เสียหายไม่ค่อยดี ซึ่งหมายความว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และจะจับสุราไปนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อเรียกร้องให้ผู้เสียหายจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทน เพื่อจะไม่จับ ทั้งที่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายทำผิดกฎหมายอย่างไร จึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. ม.148 ส่วนจำเลยอื่นซึ่งมิได้เป็นเจ้าพนักงาน เป็นเพียงพนักงานของบริษัทสุรา แต่ได้ร่วมในการกระทำดังกล่าว มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน อันเป็นความผิดตาม ม.148 ประกอบด้วย ม.86 การที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้าสุราให้เงินแก่พวกจำเลย ก็ด้วยความกลัวที่เกิดจากการถูกพวกจำเลยขู่เข็ญว่าจะจับสุรา การกระทำของพวกจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. ม.337 ด้วย ต้องลงโทษตาม ม. 148 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1586/2530 การที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 10 มีเจตนามาแต่แรกร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทำบัญชีรายชื่อผู้รับจ้างและหลักฐานการเบิกจ่ายค่าแรง ค่าควบคุมงาน และกรอกข้อความรับรองชื่อผู้รับจ้างขุดดินและผู้ควบคุมงาน ตามโครงการต่อเติมสร้างทำนบดินของตำบลเป็นเท็จ และเบิกเงินจากทางราชการมากกว่าจำนวนที่จะต้องจ่ายให้แก่ราษฎรที่ทำงานและควบคุมงาน แล้วเบียดบังเอาเป็นของตนและของผู้อื่นเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และโดยทุจริต จำเลยที่ 5 ถึงที่ 10 ต้องมีความผิดและโดยที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ใหญ่บ้านมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานอยู่ แล้วยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสภาตำบลโดยตำแหน่ง ซึ่งต้องรับผิดชอบร่วมกันกับคณะกรรมการสภาตำบลในการดำเนินการตามโครงการสร้างงานในชนบท ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการสร้างงานในชนบท พ.ศ. 2524 ข้อ 24 การที่จำเลยที่ 5 ที่ 6 ปฏิบัติหน้าที่ไปตามระเบียบดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าปฏิบัติงานในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาตำบลที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ไม่ได้ระบุให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แม้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการสร้างงานในชนบท พ.ศ. 2524 จะกำหนดให้ต้องรับผิดชอบร่วมกันกับคณะกรรมการสภาตำบลก็หาทำให้จำเลยที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายไม่ จำเลยที่ 10 เป็นราษฎรเป็นกรรมการควบคุมงานต่อเติมทำนบดังกล่าว ที่สภาตำบลแต่งตั้งกันขึ้นมาเอง ไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย ดังนั้นจำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจึงต้องมีความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการส่วนจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 มิได้เป็นเจ้าพนักงานจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยอื่นเท่านั้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2228/2530 จำเลยเป็นพนักงานเทศบาลดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการศึกษา ย่อมมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา การที่นายกเทศมนตรีมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นกรรมการ และเลขานุการดำเนินการคัดเลือกนักการภารโรง จึงเป็นการแต่งตั้งจำเลย ซึ่งเป็นพนักงานอยู่แล้วให้ปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่วางไว้อีกชั้นหนึ่ง หาได้หมายความว่าก่อนหน้านี้จำเลยไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานไม่ / จำเลยให้คนไปติดต่อผู้เสียหายให้มาสมัครเป็นนักการภารโรง กับเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเรียกและรับทรัพย์สินสำหรับตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งความผิดตามบทมาตราดังกล่าวนี้ มิใช่ความผิดอันยอมความได้ แม้ไม่มีคำร้องทุกข์พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3215/2538 แม้จำเลยเป็นปลัดอำเภอ ไม่มีหน้าที่ในการตรวจรับมอบงาน เพราะมิได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจรับการจ้าง แต่เมื่อนายอำเภอได้แต่งตั้งให้จำเลยทำการตรวจสอบผลงานดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ในทางราชการ จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบผลงานตามที่ได้รับมอบหมาย แล้วรายงานให้นายอำเภอทราบ จำเลยทำรายงานเท็จ เป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้นายอำเภอได้รับความเสียหาย เป็นความผิดตาม มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1173/2539 ความที่จำเลยที่ 3 แจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน ตรงกับสภาพที่จำเลยที่ 2 ไปพบเห็นมา จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 แจ้งข้อความตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 3 แจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญเพราะการแจ้งข้อความหมายถึง แจ้งข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย จึงไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ / พนักงานของสำนักงานการตลาด กรุงเทพมหานคร ได้รับเงินเดือน จากงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ไม่ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณ หมวดเงินเดือนกรุงเทพมหานคร ถือไม่ได้ว่ามีฐานะเป็นข้าราชการ จึงไม่เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3188/2540 ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองโจทก์ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มีอำนาจทำสัญญากับบุคคลทั่วไปที่จะค้ำประกันคนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้ และถ้าผู้ค้ำประกันผิดสัญญา ก็มีอำนาจฟ้องผู้ค้ำประกันให้รับผิดชอบตามสัญญาได้ โดยไม่ต้องไปขอความเห็นชอบจากผู้ใดอีก ในกรณีกลับกันหากเห็นว่าผู้ค้ำประกันไม่ผิดสัญญาประกันหรือมีเหตุไม่สมควรปรับ ผู้ค้ำประกันก็มีอำนาจกระทำได้โดยชอบ ดังนั้น การที่โจทก์วินิจฉัยว่าคนต่างด้าวที่จำเลยค้ำประกัน อยู่เกินกำหนดไป 2 วัน เนื่องจากป่วย และได้เดินทางออกไปหลังจากหายป่วยแล้ว ไม่มีเจตนาฝ่าฝืน และไม่เกิดความเสียหายแก่ราชการ จึงมีคำสั่งไม่ปรับจำเลยตามสัญญาประกัน และเก็บรวมเรื่องไว้แล้ว เป็นการที่โจทก็ได้ใช้ดุลพินิจสั่งตามอำนาจ และหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 262/2543 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ป.อ. มาตรา 157 ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่รายงานและให้ความเห็นในการขอลาออกจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ ไม่มีหน้าที่ในการทำหนังสือขอลาออก จำเลยปลอมหนังสือขอลาออกของ ซ. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองในท้องที่ของจำเลยและใช้เอกสารปลอม จึงไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

- เจ้าพนักงาน โดยกฎหมายแต่งตั้ง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 7985/2540 การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ป.อ.มาตรา 138 นั้น จะต้องเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย โดยได้รับการแต่งตั้งตามวิธีการที่กฎหมายให้อำนาจและกำหนดไว้ สำหรับ พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 มาตรา 16 (2) กำหนดให้กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ทำหน้าที่ตรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และมาตรา 29 ระบุว่าเจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ในระหว่างทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา ตามบทบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้ผู้เสียหายทำงานร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ จึงจะมีอำนาจตามกฎหมาย และให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงาน แต่ผู้เสียหายมีหน้าที่เพียงสกัดกั้นผู้กระทำความผิดต่อกฎหมาย ไม่มีหน้าที่จับกุม หากจะจับกุมจะต้องมีเจ้าพนักงานตำรวจและปลัดอำเภอร่วมด้วยดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจ หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับผู้เสียหายในการจับกุมจำเลย ผู้เสียหายย่อมไม่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138

- ข้าราชการ (ตามกฎหมายาเสพติด)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5333/2545 การที่บุคคลใดจะเป็นข้าราชการหรือไม่ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย หาใช่ว่าบุคคลใดที่ต้องไปปฏิบัติราชการแล้ว จะมีฐานะเป็นข้าราชการเสมอไป ซึ่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๔ บัญญัติว่า "ข้าราชการทหาร" หมายความว่า ทหารประจำการและข้าราชการกลาโหมพลเรือนที่บรรจุในตำแหน่งอัตราทหาร ส่วนคำว่า "ทหารกองประจำการ" หมายความว่า ทหารกองประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๔ (๓) บัญญัติว่า "ทหารกองประจำการ" หมายความว่า ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการและได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลด และมาตรา ๔ (๘) บัญญัติว่า "ทหารประจำการ" หมายความว่า ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดซึ่งไม่ใช่ทหารกองประจำการ จึงเห็นได้ว่าตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหารฯ และพระราชบัญญัติรับราชการทหารฯ ได้แยกทหารประจำการ และ ทหารกองประจำการไว้ต่างหากจากกัน เฉพาะทหารประจำการเท่านั้นที่ถือว่าเป็นข้าราชการ จะแปลความให้หมายความรวมถึงจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นทหารกองประจำการว่าเป็นข้าราชการ อันจะต้องรับโทษหนักขึ้นเป็นสามเท่า ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา ๑๐ ด้วย หาได้ไม่


- พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502

- คำพิพากษาฎีกาที่ 861/2512 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการเงิน ขององค์การตลาดให้เป็นไปตามหน้าที่ของจำเลย การที่จำเลยยักยอกเอาเงินขององค์การตลาดไป จึงเป็นความผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานในองค์การหรือหน่วยงาน ของรัฐกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1265/2513 คำว่า พนักงาน ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 จะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้ง ให้มีหน้าที่ปฏิบัติงานโดยมีความรับผิดชอบต่องานนั้นด้วยตนเอง ไม่รวมถึงผู้ทดลองปฏิบัติงานชั่วคราว ซึ่งต้องทำงานในความดูแลควบคุมของเจ้าหน้าที่ในการนั้นด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2290/2515 การที่จะถือว่าจำเลยซึ่งทำงานอยู่ที่องค์การค้าของคุรุสภา เป็น "พนักงาน" ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ จะต้องได้ความว่า ทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบขององค์การค้าของคุรุสภาเป็นของรัฐ / เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า กรรมการอำนวยการของคุรุสภาซึ่งเป็นนิติบุคคล ได้จัดตั้งองค์การค้าของคุรุสภาขึ้น โดยใช้ทุนของคุรุสภาและเป็นหน่วยงานหน่วยหนึ่งของคุรุสภา งานหรือทุนที่ดำเนินการ จึงเป็นของคุรุสภามิใช่เป็นของรัฐ จำเลยซึ่งทำงานในองค์การค้าของคุรุสภาจึงไม่เป็น "พนักงาน" ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2597/2516 คำฟ้องในตอนแรกกล่าวว่า ส. ซึ่งเป็นพนักงานขับรถยนต์ขององค์การ ร.ส.พ. ร่วมกับจำเลยและพวกลักเอาผ้าปูพื้นเต็นท์สนามของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบขององค์การ ร.ส.พ. และบรรทุกมาในรถที่ ส. ขับในตอนต่อไปกล่าวว่าการกระทำของ ส. ดังกล่าวเป็นการเบียดบังทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองขององค์การ ร.ส.พ. ในขณะที่ ส. มีหน้าที่จัดการและรักษาทรัพย์นี้ตามหน้าที่ไปเป็นประโยชน์ของตนและผู้อื่นโดยทุจริต จำเลยกับพวกเป็นผู้สนับสนุนการกระทำของ ส. เบียดบังเอาทรัพย์นั้นไป เช่นนี้เป็นเรื่องที่โจทก์บรรยายฟ้องประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนังงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ซึ่งมีอัตราโทษหนักนั่นเอง และในกรณีเช่นนี้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานสนับสนุนผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวเท่านั้น หาเป็นความผิดตาม มาตรา 335 ด้วยไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1614/2517 จำเลยเป็นพนักงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อันเป็นองค์การของรัฐใช้อำนาจในหน้าที่เบียดบังยักยอกเอาเงินค่ากระแสไฟฟ้า ที่จำเลยรับไว้โดยทุจริต ย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 เพียงมาตราเดียว ไม่ผิดตามมาตรา 8 ด้วย เพราะเป็นการเบียดบังทรัพย์ที่อยู่ในหน้าที่ไว้เป็นประโยชน์ มิใช่อาศัยหน้าที่หาประโยชน์อื่น นอกเหนือจากการเบียดบังเอาทรัพย์ และไม่จำต้องปรับด้วย มาตรา 352 อีก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2053/2528 จำเลยเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด โจทก์ร่วมซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประจำสาขาได้ลงนามและประทับตราของธนาคารลงในต้นขั้วใบฝากซึ่งธนาคารอื่นส่งมาเรียกเก็บเงินตามเช็ค 4 ฉบับ ซึ่ง ส.เป็นผู้สั่งจ่ายแสดงว่าเงินในบัญชีของ ส. มีพอจ่าย เป็นผลให้ธนาคารดังกล่าวนำเงินตามจำนวนในเช็ครวม 1,600,000 บาทเข้าบัญชีจ่ายให้ ท.ลูกค้ารับไปและคิดหักบัญชีระหว่างธนาคารดังกล่าวกับธนาคารโจทก์ร่วม ทั้งๆ ที่จำเลยทราบดีว่า ส. มีเงินในบัญชีเพียง 28,995 บาทและมิได้มีการนำเช็ค 4 ฉบับ ไปลงบัญชีของ ส. ดังนี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ธนาคารโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายแม้จำเลยได้บอกเรื่องให้สมุห์บัญชีทราบ ก็ไม่ทำให้กลับกลายเป็นการปฏิบัติหน้าที่ โดยชอบไปได้ ทั้งมิได้เป็นการแสดงให้เห็นความสุจริตของจำเลยด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5048/2531 การเคหะแห่งชาติมีคำสั่งกำหนดบุคคลผู้ไขกุญแจตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งในบริเวณเคหะชุมชนต่าง ๆ โดยในคำสั่งนั้นระบุตำแหน่งของกรรมการไว้โดยเฉพาะ และมีหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนเป็นประธานกรรมการ ในกรณีที่บุคคลบางตำแหน่งไม่มี คำสั่งดังกล่าวก็ได้กำหนดให้หัวหน้าสำนักงานดูแลชุมชน แต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอื่น เป็นกรรมการแทน แต่บุคคลนั้นต้องดำรงตำแหน่ง เป็นพนักงานจัดการการทรัพย์สิน หรือพนักงานธุรการประจำสำนักงานเคหะชุมชนนั้น จำเลยดำรงตำแหน่งทางสายงานเป็นพนักงานบริการ และดำรงตำแหน่งทางการบริหารเป็นหัวหน้าคนงานสำนักงานดูแลเคหะชุมชน จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการไขกุญแจเก็บเงินจากตู้โทรศัพท์ ได้การที่หัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชนได้มอบหมาย ให้จำเลยมีหน้าที่ไขตู้โทรศัพท์เก็บเงินส่งเจ้าหน้าที่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งตั้งกรรมการที่ชอบด้วยกฎหมาย และถือไม่ได้ว่าเป็นการมอบหมายในฐานะผู้บังคับบัญชา หากแต่เป็นเรื่องมอบหมายงานให้จำเลยปฏิบัติแทนหัวหน้าสำนักงานดูแลเคหะชุมชน ในฐานะประธานกรรมการเป็นการภายในเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ในฐานะเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ การที่จำเลยเบียดบังเงินที่เก็บได้จากตู้โทรศัพท์บางส่วน จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แต่เมื่อการเคหะแห่งชาติมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96

-

ไม่มีความคิดเห็น: