ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๑๘ - ๓๑

หมวด 3  โทษ และวิธีการเพื่อความปลอดภัย
ส่วนที่ 1  โทษ                                                                   มาตรา 18 - 38

-          วัตถุประสงค์การลงโทษ
-          เพื่อทดแทนแก้แค้น             ตอบแทนในสิ่งที่ผู้กระทำผิดได้กระทำลง และจัดการสิ่งดังกล่าวแทนผู้เสียหาย
-          เพื่อยับยั้งข่มขู่                    ยับยั้งผู้ที่จะกระทำผิด และผู้อื่นในสังคมที่เห็นการลงโทษ ให้หวาดกลัวการกระทำผิด
-          เพื่อแก้ไขปรับปรุงผู้กระทำผิด               ให้โอกาส และแก้ไขข้อบกพร่องบางประการแก่ผู้กระทำผิด
-          เพื่อตัดโอกาสในการกระทำผิด             แยกผู้กระทำผิดออกจากสังคม เพื่อป้องกันสังคม ให้ปลอดภัยจากตัวผู้กระทำผิด ใช้กับผู้กระทำผิดติดนิสัย หรือกระทำผิดร้ายแรง โดยโทษจำคุกมีผลตัดโอกาสในการกระทำผิด ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ส่วนโทษประหารชีวิต เป็นการตัดโอกาสในการกระทำผิด อย่างถาวร

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 705/2541  แม้จะได้มี พ.ร.ฎ. พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2539 ประกาศใช้บังคับไปแล้วสองครั้งก็ตาม หรือตาม พ.ร.บ. ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาตรา 4 จะได้บัญญัติให้ล้างมลทินแก่ผู้ต้องโทษหรือจำเลยโดยให้ถือว่า ผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในความผิดนั้นๆ  มาก่อนก็ตาม  แต่ตามที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติ  ปรากฏว่าจำเลยได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหลายชนิด ทั้งกัญชา เฮโรอีน และเมทแอมเฟตามีนมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี2539 จนถูกจับในคดีนี้ นอกจากนี้ในระหว่างการปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณาคดีนี้ ก็ยังตรวจพบสารเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะของจำเลยอีก ซึ่งในข้อนี้จำเลยมิได้คัดค้านประการใด  จึงแสดงให้เห็นถึงพฤตกรรมของจำเลยว่ามิได้รู้สึกเข็ดหลาบต่อการกระทำความผิด น่าจะไม่อาจแก้ไขโดยวิธีอื่นได้แล้ว นอกจากการลงโทษจำคุกจำเลยสถานเดียว เพื่อตัดขาดจำเลยจากสังคมภายนอก มิให้ได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเสียสักระยะหนึ่ง อันจะเป็นการนำมาซึ่งคุณประโยชน์แก่ตัวจำเลยเองและสังคมรอบข้างในอนาคตศาลชอบที่จะลงโทษจำคุกได้ แม้ถือว่าจำเลยมิได้เคยถูกลงโทษจำคุกมาก่อนก็ตาม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1935/2541  ในกรณีเป็นผู้เสพยาเสพติดนั้น  ย่อมเกิดผลร้ายแก่ตัวผู้เสพซึ่งพึงต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขเป็นเบื้องต้น  ส่วนปัญหาที่โจทก์อ้างว่าเป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรมนั้น  เป็นเพียงแนวโน้มซึ่งมิได้เป็นจริงทุกกรณี ตราบใดที่ผู้เสพติดยังมิได้กระทำการใดขึ้นเป็นการก่ออาชญากรรมการลงโทษรุนแรงไว้ก่อน ย่อมเป็นดั่งการลงโทษล่วงหน้าสำหรับความผิดที่ยังมิได้เกิด เป็นการลงโทษที่ขัดต่อหลักนิติธรรม  เป็นนโยบายการป้องกันที่ผิดและสร้างปัญหาให้มากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงแห่งคดี ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำที่เป็นส่วนแห่งการก่ออาชญากรรมหรือมีส่วนสนับสนุนแพร่กระจายยาเสพติด  เหตุผลต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างในฎีกาจึงเป็นการสรุปที่ให้ผลร้ายแก่จำเลยที่เกินเหตุไม่อาจรับฟังเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลล่างทั้งสองที่ให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยได้

มาตรา 18               โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้
(1)     ประหารชีวิต
(2)     จำคุก
(3)     กักขัง
(4)     ปรับ
(5)     ริบทรัพย์สิน
โทษประหารชีวิต และโทษจำคุกตลอดชีวิต มิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด ในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี
                ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าว ได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 121/2541 ป.อ. มาตรา 33 (2) ระบุถึงทรัพย์สินที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบได้นั้น ต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยได้กระทำความผิด ซึ่งหมายถึงว่า จะต้องมีการฟ้องจำเลยในความผิดฐานใดฐานหนึ่ง และได้มีการพิสูจน์ความผิดนั้นแล้ว และศาลพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดจึงจะริบทรัพย์สินนั้นได้ อันถือเป็นการลงโทษอย่างหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 18 (5)

มาตรา 19                ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยการฉีดยา หรือสารพิษให้ตาย
                หลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิต ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 20                บรรดาความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับด้วยนั้น ถ้าศาลเห็นสมควรจะลงแต่โทษจำคุกก็ได้

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2607/2525 ความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ที่บัญญัติให้ลงโทษจำคุกและปรับด้วยนั้น ถ้าหากศาลเห็นสมควร ก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกแต่เพียงสถานเดียว โดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ ตามนัยที่บัญญัติไว้ใน ป.อ.ม. 20
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 139/2537 ตาม ป.อ. มาตรา 20 ได้ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจ ในกรณีที่ความผิด ที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียว โดยไม่ลงโทษปรับด้วยก็ได้ และก็มิได้หมายความว่าหากลงโทษจำคุกสถานเดียว โดยไม่ลงโทษปรับแล้วศาลต้องลงโทษจำคุกจำเลยไปทีเดียว จะรอการลงโทษไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2096/2539 ในความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับนั้น ป.อ. มาตรา 20 เป็นบทบัญญัติศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะเลือกโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยแต่เพียงสถานเดียวได้ และเมื่อศาลใช้ดุลพินิจเลือกที่จะลงโทษจำคุกจำเลยแต่เพียงสถานเดียว ก็มิได้หมายความว่า ศาลต้องลงโทษจำคุกไปทีเดียว และรอการลงโทษไม่ได้แล้ว ศาลย่อมนำบทบัญญัติ มาตรา 56 ว่าด้วยการรอการลงโทษมาปรับใช้ได้อีก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 145/2540  ศาลชั้นต้นได้กำหนดโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยแล้ว แม้จะให้รอการลงโทษจำคุกไว้ก็ตาม จำเลยก็อาจถูกศาลลงโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ได้เมื่อจำเลยกระทำผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติ หรือเมื่อไปกระทำความผิดอาญาที่มิได้กระทำโดยประมาท หรือที่มิใช่ความผิดลหุโทษภายในกำหนดเวลาที่ศาลรอการลงโทษไว้ตาม ป.อ. มาตรา 57 และ 58 ฉะนั้น การที่ศาลกำหนดโทษจำคุกจำเลย แต่ให้รอการลงโทษไว้ จึงถือว่าศาลได้ลงโทษจำคุกจำเลยตาม ป.อ.มาตรา 20 แล้ว

มาตรา 21                ใน การคำนวณระยะเวลาจำคุก ให้นับวันเริ่มจำคุกรวมคำนวณเข้าด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็ม โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง
                                ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ
                                เมื่อผู้ต้องคำพิพากษาถูกจำคุกครบกำหนดแล้ว ให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 198-9/2508 21 2 เป็นเรื่องคำนวณโทษจำคุก ไม่เกี่ยวกับอายุความ เมื่อกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติ ถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาร้องทุกข์และฟ้องร้องไว้ จะต้องกำหนดนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 267/2532 จำคุก 8 เดือน 3 กระทง ต้องจำคุก 24 เดือน ไม่ใช่ 2 ปี (30 วัน/เดือน เท่ากับ 360 วัน/ปี) ศาลลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 8 เดือน รวม 3 กระทง ต้องกำหนดโทษรวมเป็นจำคุก 24 เดือน ไม่ใช่ 2 ปี และเมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว ก็ต้องกำหนดโทษจำคุกเป็น 12 เดือน เพราะการวางโทษเป็นปีทำให้จำเลยเสียเปรียบ เนื่องจากตาม ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ ดังนั้นการนับวันใน 1 ปี จึงเท่ากับ 365 วัน แต่การนับวัน ใน 1 เดือน เท่ากับ 30 วัน กำหนดโทษ 12 เดือน จึงคิดเป็นวัน จึงเท่ากับ 360 วัน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 757/2535 ศาลเรียงกระทงลงโทษจำคุกจำเลย 4 กระทง ให้จำคุก 1 ปีกระทงหนึ่ง ส่วนกระทงที่เหลือให้จำคุกกระทงละ 6 เดือน  เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วต้องจำคุก 1 ปี 18 เดือน ไม่ใช่ 2 ปี 6 เดือน เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า  ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณเป็นปีปฏิทินในราชการ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1721/2535 ในกรณีที่กำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน เมื่อรวมถึง 12 เดือน ให้คิดเป็นจำนวนวัน 360 วัน มิใช่ถือเป็น 1 ปี เพราะจำนวนวันจำคุกจะคิดได้ถึง 365 หรือ 366 วัน ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลย



มาตรา 22                โทษจำคุก ให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา เว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น
                                ในกรณีที่คำพิพากษากล่าวไว้เป็นอย่างอื่น โทษจำคุกตามคำพิพากษา เมื่อรวมจำนวนวันที่ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาในคดีเรื่องนั้นเข้าด้วยแล้ว ต้องไม่เกินอัตราโทษขั้นสูงของกฎหมายที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ได้กระทำลงนั้น ทั้งนี้ไม่เป็นการกระทบกระเทือนบทบัญญัติในมาตรา 91

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1094/2501 การขอให้นับโทษต่อจากคดีเรื่องอื่น โจทก์ต้องแถลงให้ชัด ว่าคดีเดิมศาลตัดสินลงโทษแล้ว ประกอบด้วยหลักฐาน ไม่ใช่ข้อที่ศาลรู้เอง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 281/2505 นับโทษต่อเป็นดุลพินิจ จำคุกตลอดชีวิตแล้ว โดยปกติ ไม่มีเหตุผลพิเศษ ศาลไม่นับโทษต่อ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 741/2507 โจทก์ขอให้ศาลฎีกานับโทษจำเลยต่อจากคดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งคดีนั้นศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่นับโทษต่อให้ เพราะไม่มีมีโทษในคดีดังกล่าวนั้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 726/2513 การที่จะให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อกับโทษในคดีอื่นหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของศาล จำเลยต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตฐานฆ่าคน แต่ได้รับการอภัยโทษจนเหลือโทษจำคุกอีก 10 ปี ระหว่างที่ยังรับโทษอยู่นั้น จำเลยฆ่านักโทษด้วยกันอีก ศาลพิพากษาจำคุก 20 ปี ศาลเห็นสมควรไม่นับโทษคดีหลังนี้ต่อจากโทษในคดีก่อนก็ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2154/2516 โจทก์ฟ้องขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ออกจากคดีดำที่ 353/2513 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสาม แต่ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีดังกล่าว เพราะคดีดังกล่าวยังมิได้พิพากษา ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามและนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีดังกล่าวอีก โดยอ้างว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีแดงที่ 1021/2513 และถึงที่สุดแล้ว แต่มิได้แสดงรายละเอียดว่าศาลพิพากษาเกี่ยวกับจำเลยที่  1 อย่างไร สำนวนก็ไม่อ้างประกอบ เช่นนี้ไม่ใช่หน้าที่ของศาลจะไปค้นคว้าหาข้อเท็จจริง อันจักเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบที่จะนับโทษต่อให้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2271/2516 จำเลยถูกขังตามหมายของศาลในคดีนี้ตลอดมา จนกระทั้งศาลชั้นต้นพิพากษา แม้ในระหว่างนั้นจำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุกในอีกคดีหนึ่ง ศาลก็ต้องหักวันต้องคุมขังในคดีนี้ ให้จำเลยถึงวันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้ ไม่ใช่หักให้แค่วันที่จำเลยต้องโทษจำคุกในอีกคดีหนึ่ง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2229/2517 คดีเดิมจำคุกตลอดชีวิตแล้ว เมื่อโจทก์ขอ ศาลนับโทษคดีนี้ต่อคดีเดิมได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 757/2521 คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2519 ให้อำนาจพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจควบคุมผู้เป็นภัยต่อสังคมเพื่ออบรมและสอบสวนคดีที่ถูกตั้งข้อหาด้วย จึงต้องถือเป็นวันที่ถูกคุมขังและหักให้ตาม ม. 22
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3778/2525 ขอแก้ฟ้อง นับโทษต่อ ต้องขอก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา (เทียบ ปวิอ ม 159 เพิ่มโทษ)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2165/2528 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำขอให้นับโทษต่อ เพราะคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลยังไม่ได้พิพากษา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา และปรากฏว่าคดีดังกล่าว ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้วจริง ดังนี้ ศาลฎีกาพิพากษาให้นับโทษต่อได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2166/2528 โจทก์ฟ้องจำเลยและขอให้นับโทษต่อจากคดีดำคดีอื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ และคดีดำอื่นในวันเดียวกัน ดังนี้ถือได้ว่าความปรากฏต่อศาล และคู่ความชัดแจ้งว่า คดีดำคดีอื่นนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว โดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงต่อศาลซ้ำอีก ศาลย่อมพิพากษาให้นับโทษต่อกันได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1920-1922/2530 โจทก์มิได้ขอให้นับโทษต่อมาในฟ้อง หรือก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น การที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้นับโทษต่อนั้น จึงเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องตาม ปวิอาญา มาตรา 163 ดังนั้นโจทก์ร่วมจะมาขอในชั้นฎีกาไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3518-3522/2530 การที่ศาลจะสั่งหักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขัง ก่อนศาลพิพากษาออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคแรก และมิใช่กรณีที่หากโจทก์ไม่มีคำขอขึ้นมา ศาลจะวินิจฉัยให้ไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3332/2531 คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย3 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นจำคุกจำเลย 8 เดือน จำเลยถูกคุมขังพอแก่โทษ ศาลชั้นต้นให้ปล่อยตัวไป แม้โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่ไม่ปรากฏว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา แล้วจึงยังไม่มีโทษจำคุกที่จะนับต่อไป ศาลจึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1731/2532 การที่ศาลจะสั่งให้หักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษา หรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลตาม ป.อ. มาตรา 22 วรรคแรก แม้โจทก์ไม่มีคำขอ ศาลก็วินิจฉัยได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2505/2532 คดีที่อาจฟ้องรวมกันได้ หากแยกฟ้อง จะนับโทษต่อเกิน ม 91 ไม่ได้
-          คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 3124/2535 (สบฎ เน 7) การที่ศาลนับโทษคดีนี้ ต่อจากโทษในคดีอาญาอีกเรื่องหนึ่ง เป็นดุลพินิจของศาล แม้คดีทั้งสอง ศาลวางโทษจำคุกตลอดชีวิต ก็ให้นับโทษต่อกันได้ ไม่ต้องห้ามตามบบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6822/2540 (สบฎ เน 7) คดีนี้เดิมศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่ศาลเห็นว่าเป็นโทษเล็กน้อย ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินสามเดือน จึงให้ลงโทษกักขังแทนตาม ป.อ.มาตรา 23 กำหนดวันเวลากักขังให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา ดังนั้นเมื่อโทษกักขังเป็นเพียงโทษที่ลงแทนโทษจำคุก ศาลจึงให้นับโทษกักขังติดต่อกับโทษกักขังในอีกคดีหนึ่งได้ตาม ป.อ.มาตรา 22 / การจะนับโทษต่อกันต้องพิจารณาจากคดีที่พิพากษา ในภายหลังว่าจะนับโทษต่อได้หรือไม่ การอุทธรณ์ฎีกาขอให้นับโทษต่อจึงต้องอุทธรณ์ฎีกาในคดีหลัง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 6968/2541 ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลย แต่จำเลยหลบหนีไม่ไปฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลยเพื่อมารับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ต้องถือว่าจำเลยอยู่ในระหว่างหลบหนี นับแต่วันออกหมายจับเป็นต้นมา แม้ต่อมาจำเลยถูกจับและคุมขังในคดีอื่นอีกคดีหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งการควบคุมในคดีนี้ไว้ด้วย จึงต้องฟังว่าที่จำเลยถูกควบคุมตัวนับแต่วันที่ถูกจับตลอดมาเป็นการควบคุมในคดีอื่นอีกคดีหนึ่งเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ จึงต้องเริ่มนับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้ออกหมายขังจำเลยไว้ในคดีนี้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2344-2346/2542 เมื่อสำนวนที่สองกับสำนวนที่สามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้จะยังไม่ถึงที่สุด ก็ไม่ใช่เหตุที่จะนำมานับโทษต่อไปไม่ได้ แต่คดีของศาลอาญาที่ขอให้นับโทษต่อนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ระบุรายละเอียดว่าศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ อย่างไร จึงไม่อาจนับโทษต่อจากคดีดังกล่าวได้

มาตรา 23               ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ศาลจะพิพากษาให้ลงโทษ กักขังไม่เกินสามเดือนแทนโทษจำคุกนั้นก็ได้

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2754/2517 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกและปรับจำเลยแต่โทษจำคุกให้เปลี่ยนเป็นโทษกักขังแทน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังและให้รอการลงโทษจำเลยไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56นั้นไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 เพราะการรอการลงโทษยังไม่ต้องรับโทษจึงเบากว่าโทษกักขัง (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 13/2517)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2916/2522 นายประกันเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาในกรณีฝากขังต่อศาล เป็นละเมิดอำนาจศาล "ประพฤติตนไม่เรียบร้อย" หมายถึงไม่ปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบที่กำหนดโดยกฎหมาย หรือจารีตประเพณีศาลจำคุก 15 วัน เปลี่ยนเป็นกักขังแทนนายประกันฎีกาในข้อเท็จจริงได้

มาตรา 24                ผู้ใดต้องโทษกักขัง ให้กักตัวไว้ในสถานที่กักขังซึ่งกำหนดไว้ อันมิใช่เรือนจำ สถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน
ถ้าศาลเห็นเป็นการสมควร จะสั่งในคำพิพากษาให้กักขังผู้กระทำความผิดไว้ในที่อาศัยของผู้นั้นเอง หรือของผู้อื่นที่ยินยอมรับผู้นั้นไว้ หรือสถานที่อื่นที่อาจกักขังได้ เพื่อให้เหมาะสมกับประเภทหรือสภาพของผู้ถูกกักขังก็ได้
ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่า การกักขังผู้ต้องหาโทษกักขังไว้ในสถานที่กักขังตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้นั้น หรือทำให้ผู้ซึ่งต้องพึ่งพาผู้ต้องโทษกักขังในการดำรงชีพ ได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร หรือมีพฤติการณ์พิเศษประการอื่น ที่แสดงให้เห็นว่าไม่สมควรกักขังผู้ต้องโทษกักขังในสถานที่ดังกล่าว ศาลจะมีคำสั่งให้กักขังผู้ต้องโทษกักขังในสถานที่อื่น ซึ่งมิใช่ที่อยู่อาศัยของผู้นั้นเอง โดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่ก็ได้ กรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ต้องโทษกักขังปฏิบัติ และหากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ดังกล่าวยินยอม ศาลอาจมีคำสั่งแต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้ควบคุมดูแล และให้ถือว่าผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 25                ผู้ต้องโทษกักขังในสถานที่ซึ่งกำหนด จะได้รับการเลี้ยงดูจากสถานที่นั้น แต่ภายใต้ข้อบังคับของสถานที่ ผู้ต้องโทษกักขังมีสิทธิที่จะรับอาหารจากภายนอกโดยค่าใช้จ่ายของตนเอง ใช้เสื้อผ้าของตนเอง ได้รับการเยี่ยมอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมง และรับและส่งจดหมายได้
ผู้ต้องโทษกักขังจะต้องทำงานตามระเบียบ ข้อบังคับและวินัย ถ้าผู้ต้องโทษกักขังประสงค์จะทำงานอย่างอื่น ก็ให้อนุญาตให้เลือกทำได้ตามประเภทงานที่ตนสมัคร แต่ต้องไม่ขัดต่อระเบียบ ข้อบังคับ วินัย หรือความปลอดภัยของสถานที่นั้น
มาตรา 26                ถ้าผู้ต้องโทษกักขังถูกกักขังในที่อาศัยของผู้นั้นเอง หรือของผู้อื่นที่ยินยอมรับผู้นั้นไว้ ผู้ต้องโทษกักขังนั้นมีสิทธิที่จะดำเนินการในวิชาชีพ หรืออาชีพของตนในสถานที่ดังกล่าวได้ ในการนี้ ศาลจะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องโทษกักขังปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด หรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
มาตรา 27               ถ้าในระหว่างที่ผู้ต้องโทษกักขังตามมาตรา 23 ได้รับโทษกักขังอยู่ ความปรากฏแก่ศาลเอง หรือปรากฏแก่ศาลตามคำแถลงของพนักงานอัยการ หรือผู้ควบคุมดูแลสถานที่กักขังว่า
(1)     ผู้ต้องโทษกักขังฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ หรือวินัยของสถานที่กักขัง
(2)     ผู้ต้องโทษกักขัง ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด หรือ
(3)     ผู้ต้องโทษกักขังต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก
ศาลอาจ เปลี่ยนโทษกักขังเป็นโทษจำคุก มีกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร แต่ต้องไม่เกินกำหนดเวลาของโทษกักขัง ที่ผู้ต้องโทษกักขังจะต้องได้รับต่อไป

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 403/2517 (สบฎ เน 4260) ผู้ต้องโทษกักขังแทนค่าปรับตาม มาตรา 29 ในระหว่างรับโทษกักขังอยู่ ทำผิดข้อกำหนดตามมาตรา 27 ศาลอาจเปลี่ยนโทษกักขัง เป็นโทษจำคุกได้

มาตรา 28                ผู้ใดต้องโทษปรับ ผู้นั้นจะต้องชำระเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาต่อศาล
มาตรา 29                ผู้ใดต้องโทษปรับ และไม่ชำระค่าปรับภายสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้
ความในวรรคสองของมาตรา 24 มิให้นำมาใช้บังคับแก่การกักขังแทนค่าปรับ

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1057/2518 (อพ/18) ปรับนิติบุคคล จะกักขังแทนค่าปรับไม่ได้ จัดการตาม ม 29 ได้เท่านั้น (ยึดทรัพย์) ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดเป็นคนไทย 1 คน ผู้เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดเป็นคนต่างด้าว 1 คน ถือเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ห้างหุ้นส่วนนี้ทำการค้าประกอบธุรกิจนายหน้าตัวแทน ค้าปลีกสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิด คนไทยผู้เป็นหุ้นส่วนเป็นผู้สนับสนุน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1579/2521 โทษปรับนิติบุคคลถูกกักขังแทนค่าปรับไม่ได้ การขอผ่อนชำระค่าปรับ ถือว่าจำเลยไม่ชำระค่าปรับไม่ได้ ศาลผ่อนผันให้จำเลยชำระค่าปรับช้าเร็วเพียงใด แล้วแต่ดุลพินิจตามความยุติธรรมและเหมาะสม การยึดทรัพย์อาจทำได้ภายใน 5 ปีตาม ม.99 ไม่เป็นการขยายเวลาตาม ป.ว.พ. ม.23 ซึ่งใช้สำหรับกฎหมายวิธีพิจารณา นำมาใช้กับกฎหมายสารบัญญัติไม่ได้ ศาลกำหนดให้จำเลยผ่อนชำระค่าปรับเป็นงวด ๆ แต่เมื่อครบงวดปีที่ 4 ให้จำเลยหาธนาคารมาค้ำประกันโดยให้จำเลยทำทัณฑ์บนไว้
-          คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 774/2531 (อพ/17) จำเลยต้องชำระค่าปรับใน 30 วัน ไม่มีกฎหมายให้ศาลงดการปรับ ระหว่างอุทธรณ์ฎีกาได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5616/2539 การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับและการกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ.มาตรา 29, 30 เป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับ เป็นการบังคับคดี ไม่จำที่ศาลจะต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษา / ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วจำเลย ไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของ เจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ปรับเป็นรายวันอีกวันละ 1,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับดังกล่าวให้จัดการตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2537 ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิได้ระบุว่าหากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน หรือยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่อย่างใดขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้น þ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ และการกักขังแทนค่าปรับ เป็นวิธีที่จะกระทำ เพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับเป็นการบังคับคดี ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2995/2545 เงินที่จำเลยทั้งสามลักเอาจากตู้โทรศัพท์สาธารณะ ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (10) ที่ศาลล่างทั้งสองปรับ บทลงโทษตามมาตราดังกล่าว จึงไม่ถูกต้อง และที่พิพากษาปรับจำเลยทั้งสามคนละ 50 บาท โดยมิได้พิพากษาว่า หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับจะจัดการอย่างไรต่อไป สมควรแก้ไขว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ด้วย / þ หมายเหตุ กรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษปรับนั้น มีข้อพิจารณาว่าศาลจะต้องระบุ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ไว้ด้วยหรือไม่ มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ 2 แนวคือ 1. ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5616/2539 การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับและการกักขัง แทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 เป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อจะเป็นการชดใช้ค่าปรับเป็นการบังคับคดี ไม่จำที่ศาลจะต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษา 2. จำเป็นต้องระบุไว้ คือคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ โดยวินิจฉัยว่าที่ ศาลล่างพิพากษาปรับจำเลยทั้งสามคนละ 50 บาท โดยมิได้พิพากษาว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับจะจัดการอย่างไรต่อไป สมควรแก้ไขว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ด้วย - คงมีข้อพิจารณาต่อไปว่าควรจะยึดแนวทางใดเป็นเกณฑ์ - มาตรา 29 บัญญัติว่า ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่ง ให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้... จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าหากผู้ใด ต้องโทษแล้วไม่ชำระค่าปรับ สามารถบังคับคดีได้สองทางคือ กักขังแทนค่าปรับหรือยึด ทรัพย์สินมาขายทอดตลาดชำระค่าปรับ เมื่อเป็นเช่นนี้กรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษปรับ จำเลยนั้น ศาลควรจะระบุไว้ด้วยว่าจะให้บังคับค่าปรับอย่างไร กล่าวคือจะให้กักขังแทน ค่าปรับหรือยึดทรัพย์สินออกขายทอดตลาด เพื่อให้ง่ายในชั้นบังคับคดี เว้นแต่ผู้กระทำ ความผิดเป็นนิติบุคคล ซึ่งโดยสภาพแล้ว ไม่สามารถจะกักขังแทนค่าปรับได้ จึงเหลือวิธีการเพียงวิธีเดียวคือยึดทรัพย์สินออกขายทอดตลาดชำระค่าปรับเท่านั้น การที่ศาลพิพากษาโดยไม่กำหนดวิธีการบังคับชำระค่าปรับไว้ ทางปฏิบัติแล้วเจ้าหน้าที่ศาลจะใช้วิธีกักขังแทนค่าปรับตลอด แต่เนื่องจากปัจจุบันค่าปรับมีจำนวนมาก เช่น ค่าปรับ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสอง บัญญัติให้ปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท และวรรคสาม บัญญัติให้ปรับตั้งแต่ 1,000,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท ซึ่งมาตรา 100/1 บังคับศาลว่าจะต้องลงโทษจำคุกและปรับ ด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สิน เพื่อป้องปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติด ศาลจะใช้ดุลพินิจลงโทษแต่เพียงจำคุกอย่างเดียวตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 20 หาได้ไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ในคำพิพากษาของศาล ควรจะระบุไว้ให้ชัดเจนว่าจะให้บังคับชำระค่าปรับด้วยวิธีการใด เพื่อให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ผู้เขียนหมายเหตุ ศิริชัย วัฒนโยธิน

มาตรา  30              ในการกักขังแทนค่าปรับ ให้ถืออัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน และไม่ว่าในกรณีความผิดกระทงเดียวหรือหลายกระทง ห้ามกักขังเกินกำหนดหนึ่งปี เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปี แต่ไม่เกินสองปีก็ได้
ในการคำนวณระยะเวลานั้น ให้นับวันเริ่มกักขังแทนค่าปรับรวมเข้าด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง
ในกรณีที่ผู้ต้องโทษปรับถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังนั้นออกจากจำนวนเงินค่าปรับ โดยถืออัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน เว้นแต่ผู้นั้นต้องคำพิพากษาให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับ ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าจะต้องหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากเวลาจำคุกตามมาตรา 22 ก็ให้หักออกเสียก่อน เหลือเท่าใดจึงให้หักออกจากเงินค่าปรับ
เมื่อผู้ต้องโทษปรับ ถูกกักขังแทนค่าปรับครบกำหนดแล้ว ให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด ถ้านำเงินค่าปรับมาชำระครบแล้วให้ปล่อยตัวไปทันที

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1375/2503 ศาลลงโทษปรับจำเลย ๆ ชำระค่าปรับบางส่วนแล้ว จำเลยขอให้ศาลสั่งคืนค่าปรับ โดยจำเลยขอถูกกักขังแทนค่าปรับเช่นนี้ ศาลจะสั่งคืนค่าปรับให้จำเลยหาได้ไม่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 880/2505 (อพ/17) ขอคืนค่าปรับ ศาลไม่คืน แต่แก้ไขหักวันกักขังให้ ไม่ถือเป็นการแก้ไขคำพิพากษา เป็นการบังคับค่าปรับ

มาตรา 30/1             ในกรณีที่ศาลพิพากษาปรับไม่เกินแปดหมื่นบาท ผู้ต้องโทษปรับซึ่งมิใช่นิติบุคคล และไม่มีเงินชำระค่าปรับอาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีเพื่อขอทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ
การพิจารณาคำร้องตามวรรคแรก เมื่อศาลได้พิจารณาถึงฐานะการเงิน ประวัติ และสภาพความผิดของผู้ต้องโทษปรับแล้ว เห็นเป็นการสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับก็ได้ ทั้งนี้ ภายใต้การดูแลของพนักงานคุมประพฤติ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริการสังคม การกุศลสาธารณะหรือสาธารณประโยชน์ที่ยินยอมรับดูแล
กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ต้องโทษปรับ ทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ให้ศาลกำหนดลักษณะหรือประเภทของงาน ผู้ดูแลการทำงาน วันเริ่มทำงาน ระยะเวลาทำงาน และจำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวัน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงเพศ อายุ ประวัติ การนับถือศาสนา ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม หรือสภาพความผิดของผู้ต้องโทษปรับประกอบด้วย และศาลจะกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ผู้ต้องโทษปรับปฏิบัติ เพื่อแก้ไขฟื้นฟูหรือป้องกันมิให้ผู้นั้นกระทำความผิดขึ้นอีกก็ได้
ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับการทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์ของผู้ต้องโทษปรับได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่กำหนดไว้นั้นก็ได้ ตามที่เห็นสมควร
ในการกำหนดระยะเวลาทำงานแทนค่าปรับตามวรรคสาม ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 30 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และในกรณีที่ศาลมิได้กำหนดให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานติดต่อกันไป การทำงานดังกล่าวต้องอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาสองปี นับแต่วันเริ่มทำงานตามที่ศาลกำหนด
เพื่อประโยชน์ในการกำหนดจำนวนชั่วโมงทำงานตามวรรคสาม ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กำหนดจำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวัน สำหรับงานบริการสังคมหรืองานสาธารณประโยชน์แต่ละประเภทได้ตามที่เห็นสมควร
มาตรา 30/2             ถ้าภายหลังศาลมีคำสั่งอนุญาตตามมาตรา 30/1 แล้ว ความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคำแถลงของโจทก์ หรือเจ้าพนักงานว่าผู้ต้องโทษปรับ มีเงินพอชำระค่าปรับได้ในเวลาที่ยื่นคำร้องตามมาตรา 30/2 หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลจะเพิกถอนคำสั่งอนุญาตดังกล่าว และปรับ หรือกักขังแทนค่าปรับ โดยให้หักจำนวนวันที่ทำงานมาแล้ว ออกจากจำนวนเงินค่าปรับก็ได้
ในระหว่างการทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ หากผู้ต้องโทษปรับไม่ประสงค์จะทำงานดังกล่าวต่อไป อาจขอเปลี่ยนเป็นรับโทษปรับ หรือกักขังแทนค่าปรับก็ได้ ในกรณีนี้ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้อง โดยให้หักจำนวนวันที่ทำงานมาแล้ว ออกจากจำนวนเงินค่าปรับ
มาตรา 30/3             คำสั่งศาลตามมาตรา 30/1 และมาตรา 30/2 ให้เป็นที่สุด

มาตรา 31                ในกรณีที่ศาลจะพิพากษาให้ปรับผู้กระทำความผิดหลายคน ในความผิดอันเดียวกัน ในกรณีเดียวกัน ให้ศาลลงโทษปรับเรียงตามรายตัวบุคคล

ไม่มีความคิดเห็น: