ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๓๔๒ - ๓๔๘


    มาตรา 342 ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
(1)   แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ
(2)   อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          มาตรา 342 (1) การแสดงตนเป็นคนอื่น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 122/2506 ไม่ได้แสดงตนเป็นคนอื่น เพียงแสดงฐานะของตนเองเป็นเท็จ ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 342 (1) ไม่ได้หลอกลวงประชาชน หากแต่หลอกลวงผู้เสียหายผู้เดียว เป็นความผิดตามมาตรา 341 ไม่ใช่มาตรา 343 วรรคต้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1067/2507 จำเลยลงลายมือชื่อปลอมลงในตั๋วแลกเงิน เป็นการกระทำส่วนหนึ่ง เพื่อให้เอกสารนั้นสมบูรณ์ครบถ้วน ผิดตามมาตรา 266 (4) แต่การลงลายมือชื่อปลอม ก็เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน เป็นการกระทำส่วนหนึ่งในความผิดฐานฉ้อโกง มาตรา 342 (1) เป็นกรรมเดียว แต่ไม่ผิด มาตรา 264
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2239/2522 ใช้เอกสารใบทะเบียนรถยนต์ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน หลอกลวงโดยแสดงเป็นผู้มีชื่อในบัตรประชาชน ขายรถยนต์แก่ผู้เสียหาย เป็นการใช้เอกสารปลอมฉ้อโกงโดยหลอกว่าเป็นคนอื่นตาม ป.อ.ม.268, 341, 342 ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 268 บทหนักกรรมเดียว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3462/2537 กรมธรรม์ประกันภัยได้ระบุข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลย ผู้รับประกันภัยไว้ว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความเสียหาย หรือสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอก และการที่คนร้ายอ้างว่าชื่อส.และ พ. ไปขอเช่ารถยนต์คันที่จำเลยรับประกันไว้จากบ. ซึ่ง บ. เช่าซื้อมาจากโจทก์และระบุ ให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนและใบอนุญาตขับรถยนต์ปลอมแสดงต่อ บ. .ตกลงให้เช่า แต่เมื่อได้รับรถยนต์คันดังกล่าวไปจาก บ.แล้วคนร้ายไม่นำมาคืนนั้น เป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าคนร้ายมีเจตนาทุจริต คิดหลอกลวง บ.ให้ส่งมอบรถยนต์แก่คนร้ายมาตั้งแต่ต้นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าคนร้ายดังกล่าวเป็นบุคคล ที่มีชื่อและภูมิลำเนาตามเอกสารปลอมมีความประสงค์จะเช่ารถยนต์ บ.หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงยินยอมส่งมอบรถยนต์ให้แก่คนร้ายไป ความจริงคนร้ายแสดงตนเป็นบุคคลอื่นและไม่มีความประสงค์จะเช่ารถยนต์แต่อย่างใด การกระทำของคนร้าย เป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกอันจะเป็นข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวข้างต้นไม่ จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 20/2546 การที่จำเลยนำ น..3 . ที่ระบุชื่อ ส. และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ส. ซึ่งเลอะเลือนมองเห็นไม่ชัดเจนมาแสดงต่อผู้เสียหายเพื่อขอกู้ยืมเงิน ทำให้ผู้เสียหาย หลงเชื่อว่าจำเลยคือ ส. เจ้าของที่ดินตาม น..3 . ที่แท้จริง จึงตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงินไปนั้น เป็นความผิดฐานฉ้อโกงผู้อื่นโดยการแสดงตนเป็นคนอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342(1)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1895/2546 การปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน และไม่ต้องทำให้เหมือนของจริงก็เป็นเอกสารปลอมได้ จำเลยที่ 2 กับพวกหลอกลวง ต. ว่า จำเลยที่ 2 คือ ย. เจ้าของรถยนต์บรรทุก มีความประสงค์จะขายรถยนต์คันดังกล่าว. ตกลงรับซื้อไว้ และทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กัน โดยพวกของจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ย. ในช่องผู้ขายในสัญญาดังกล่าว มอบให้ ต. ยึดถือไว้ การกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาทุจริต เพื่อให้ได้เงินจาก ต. และไม่ให้ ต. ใช้สัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นเป็นหลักฐานฟ้องร้องเรียกเงินคืน ทำให้ ต. ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 กับพวก จึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์อันเป็นเอกสารสิทธิ เมื่อจำเลยที่ 2 กับพวกได้มอบหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นให้ ต. ยึดถือไว้ จำเลยที่ 2 กับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมอีกกระทงหนึ่ง รวมทั้งมีความผิดฐานฉ้อโกงด้วย Ø ความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมโดยจำเลยที่ 2 กับพวกเป็นผู้ปลอมเอกสารเอง ต้องลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียว และความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม กับความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความ ฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วย มาตรา 195 วรรคสอง

-          มาตรา 342 (2) การอาศัยความเบาปัญญา หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3839/2526 นอกจากจะได้กล่าวในฟ้องว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ โดยอาศัยความโง่เขลาเบาปัญญา และความอ่อนแอแห่งจิตของโจทก์แล้ว โจทก์ยังบรรยายข้อความที่จำเลยหลอกลวงโจทก์อีกว่า เหล็กไหลสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่โจทก์กำลังเป็นอยู่นั้น ให้หายขาดได้  ซึ่งพอเป็นที่เข้าใจได้ว่า ความอ่อนแอแห่งจิตของโจทก์ เนื่องมาจากความเจ็บป่วย และคำว่าโง่เขลาเบาปัญญา ก็แสดงอยู่ว่าโจทก์นั้นถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อได้ง่ายกว่าคนมีจิตปกติ ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตาม ป.อ.ม.342 (2) และ ป.ว.อ.ม.158 (5) แล้ว

มาตรา  343    ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

-          "ประชาชน"
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 587-588/2511 บรรยายฟ้องว่าจำเลยทำการหลอกลวงผู้มีชื่อตามฟ้อง และราษฎรอื่นอีกหลายคนถือว่าเข้าองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 แล้ว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 97/2518 จำเลยที่ 1  เป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 ได้จัดสรรที่ดินในนามของจำเลยที่ 2  ให้ประชาชนเช่าซื้อ แต่ที่ดินนั้นมิใช่ที่ดินที่จำเลยที่ 2  มีกรรมสิทธิ์ตามที่จำเลยโฆษณาชี้ชวนแก่ประชาชน และจำเลยไม่สามารถจะโอนขายที่ดินนั้นได้ การกระทำของจำเลย จึงเป็นการหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน โดยเจตนาทุจริตผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทจำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินผ่อนไปบ้างแล้วบริษัทจำเลยที่ 2  ก็ปิดที่ทำการไม่มีคนมาทำงาน แม้จะได้ความว่ามีผู้สั่งจองโดยยังไม่ชำระเงินราว 10 ราย มีผู้ซื้อที่ดินเพียง 2 ราย คือ อ.  กับผู้เสียหายและมีแต่ผู้เสียหาย เพียงรายเดียวที่ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยการกระทำของจำเลย ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2593/2521 จำเลยมิใช่แพทย์ รักษาคนป่วยโดยเรียกเงินคนละ 59 บาท วิธีรักษา ไม่ใช่วิธีตามวิชาแพทย์แผนโบราณ หรือปัจจุบัน เป็นการแสดงเท็จต่อประชาชนว่าสามารถรักษาให้หายจากโรคได้ เป็นความผิดตาม ป...343 จำเลยใช้เข็มแทงเนื้อที่โป่งทำให้น้ำเลี้ยงสมองไหลออกไม่หยุด ทำให้เด็กตาย เป็นผลโดยตรง เป็นความผิดตาม ม.291 อีกกระทงหนึ่ง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 709/2523 คำว่า ประชาชน หมายถึงบรรดาพลเมือง ซึ่งมีความหมายถึงชาวเมืองทั้งหลาย โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกหลอกลวงโจทก์และประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ประมาณ 30 คน จึงเป็นการหลอกลวงเฉพาะบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ซึ่งมีจำนวนมากเท่านั้น มิใช่เป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไป ฟ้องโจทก์ไม่มีมูลตาม ป.อ.ม.343
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3660/2527 การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ.ม.343 ไม่ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมากหรือน้อยเป็นหลัก แต่ถือเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยได้หลอกลวงผู้เสียหายและบุคคลอื่น ๆ ในท้องที่หลายจังหวัดให้มาสมัครไปทำงานต่างประเทศกับจำเลย โดยรับรองว่ามีงานให้ทำและจะได้ไปทำงานเร็ว เป็นเหตุให้ผู้เสียหายเชื่อมาสมัครงานและชำระเงินให้ แต่จำเลยไม่สามารถจัดส่งไปทำงาน และไม่ยอมคืนเงินแก่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยเป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม ม. 343
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2486/2528 จำเลยประกาศรับสมัครคนงาน ไปทำงานต่างประเทศ จนผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งรวม 7 คน หลงเชื่อไปสมัคร จำเลยกับพวกรับเงินผู้เสียหายไว้เป็นจำนวนมาก แต่ผู้เสียหายไม่ได้ทำงานยังต่างประเทศ ถือได้ว่าจำเลยโดยทุจริตหลอกลวงประชาชน รวมทั้งผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งทรัพย์สิน จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. ม.343
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 563/2531 (สบฎ เน 179) จำเลยโฆษณาหลอกลวงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อขายข้อสอบที่จำเลยเขียนขึ้นเอง เพื่อให้นักศึกษาที่ซื้อข้อสอบจากจำเลยหลงเชื่อว่าเป็นข้อสอบจริงที่จะออกสอบ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป จึงไม่มีความผิดตาม มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 เท่านั้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1497/2531 จำเลยหลอกลวงชวนโจทก์ร่วมทั้งสามไปทำงานต่างประเทศ เนื่องจากการหลอกลวงของจำเลย  โจทก์ร่วมทั้งสามได้จ่ายเงินให้จำเลยการหลอกลวงของจำเลย มิได้มีลักษณะเป็นการประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่ว ๆ ไปว่าจำเลยสามารถจัดหางานในต่างประเทศให้บุคคลทั่ว ๆ ไปที่ต้องการทำ จำเลยเพียงแต่พูดชวนโจทก์ร่วมทั้งสาม ให้ไปทำงานในต่างประเทศเท่านั้นการกระทำของจำเลย จึงยังไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้ เมื่อคดีขาดอายุความสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมทั้งสาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ร่วม ที่ขอถือเอาตามคำฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ ก็ย่อมตกไปด้วย ศาลไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1663/2535 จำเลยมีเจตนาหลอกลวงบุคคลทั่วไป โดยไม่จำกัดตัวผู้ถูกหลอกลวงว่าเป็นผู้ใด จำเลยมีเจตนาหลอกลวงทุกคนที่ทราบเรื่อง แล้วมาสมัครงานกับจำเลยและพวก โดยมิได้มีเจตนาที่จะหลอกลวงเฉพาะผู้เสียหายบางคนที่จำเลยเป็นผู้ชักชวนให้ไปทำงานที่ประเทศอังกฤษเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมอันฉ้อโกงประชาชน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3307/2535 จำเลยทั้งสองเป็นครู รู้จักหรือเป็นที่รู้จักของบุคคลในหมู่บ้าน หรือท้องถิ่นเดียวกันเป็นอย่างดี นับถือศาสนาคริสต์ด้วยกัน ปฏิบัติศาสนกิจที่โบสถ์เดียวกัน ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองโฆษณาต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งรู้จักจำเลยเป็นอย่างดี หาใช่โฆษณาต่อบุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดว่าเป็นบุคคลใดไม่ การโฆษณาของจำเลยทั้งสอง ยังไม่เป็นการโฆษณาต่อประชาชน อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ.มาตรา 343
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5292/2540 (สบฎ เน ) การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน ตาม ป.. มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคน แล้วมีการบอกต่อกันไปเป็นทอด ๆ เป็นการฉ้อโกงประชาชน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 135/2547 จำเลยกับพวกได้ก่อตั้งบริษัท ด. ขึ้น และได้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ประกาศแพร่ข่าวชักชวนประชาชนว่าบริษัท ด. เป็นบริษัทที่มั่นคงประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ต้องการรับสมัครพนักงานหรือบุคลากรเพิ่มหลายตำแหน่ง และโฆษณาชักชวนให้บุคคลทั่วไปนำเงินมาลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่กับบริษัทซึ่งให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งความจริงแล้วบริษัท ด. ไม่ได้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และไม่ได้เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อการลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์ ก. เป็นความเท็จโดยทุจริตของบริษัท ด. เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ได้อ่านข่าวหลงเชื่อ จึงไปติดต่อและมอบเงินให้จำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกสำหรับผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

-          ประเด็นเปรียบเทียบ กรรมเดียว - หลายกรรม
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1570/2532 คดีฉ้อโกงประชาชนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ค. พวกของจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายคนละวันเวลากัน แต่สถานที่เกิดเหตุเป็นที่เดียวกันหรือบริเวณเดียวกันดังนั้น ถือว่าจำเลยกับพวกได้หลอกลวงพวกผู้เสียหายในเวลาเดียวกัน แม้พวกผู้เสียหายหลงเชื่อ มาชำระให้ ค. หรือจำเลยในภายหลังในวันเวลาที่ไม่ตรงกัน ก็ไม่เป็นการกระทำผิดหลายกรรม เพราะการรับเงินเป็นผลที่เกิดจากการกระทำ หาใช่การกระทำขึ้นใหม่ไม่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 870/2549 การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ไม่จำเป็นที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเอง ตั้งแต่ต้นทุกครั้ง เป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยที่ 1 แสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหาย แม้เพียงบางคน แต่เป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อ และนำเงินมาให้จำเลยที่ 1 กู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้น เป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ดังนั้นการที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยที่ 1 รับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย



-          "การฉ้อโกงประชาชน"
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 340/2512 (สบฎ เน 2117) จำเลยวางแผนประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวัน เปิดรับสมัครบุคคลมาทำงานกับบริษัท เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อมาสมัครทำงาน โดยวางอัตราค่าจ้างเงินเดือนสูง วางระเบียบให้ต้องซื้อหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้นเป็นเงิน 900 บาท บริษัทตั้งขึ้นแล้ว  จำเลยก็มิได้ดำเนินกิจการค้าดังวัตถุประสงค์แต่อย่างใด สินค้าในบริษัทก็ไม่มีธุรกิจที่จะมอบหมายให้ผู้สมัครรับจ้างปฏิบัติก็ไม่มี ถือได้ว่าจำเลยก่อตั้งบริษัท ดำเนินการด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเพื่อหลอกลวงประชาชน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 / เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับการฉ้อโกงของจำเลยดังกล่าวแล้ว โจทก์ฟ้องจำเลยฐานฉ้อโกงผู้เสียหายคนอื่นในกรณีนี้อีกได้ เพราะผู้เสียหายเป็นคนละคนต่างถูกหลอกลวงคนละวันคนละเวลา จำนวนเงินที่ถูกหลอกแตกต่างกันตำแหน่งงานที่จะจ้างผู้เสียหายไม่เหมือนกัน จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ มิใช่เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกัน และหาเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรกไม่
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1929/2514 จำเลยวางแผนร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงประชาชน โดยแอบอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโควต้าสลากกินแบ่งเป็นจำนวนพันๆ เล่ม ซึ่งความจริงจำเลยมีโควต้าเพียงเล็กน้อยและจำเลยได้ไปซื้อสลากกินแบ่งจากที่ต่างๆ มาด้วยราคาสูงกว่าที่นำมาจำหน่ายให้แก่ประชาชน โดยยอมขาดทุน ซึ่งไม่ใช่วิสัยการค้าที่จะทำได้โดยสุจริต แต่เพื่อเป็นอุบายหลอกลวงล่อให้มีผู้มาลงทุนกับจำเลยเป็นจำนวนมากแล้วจำเลยที่ 1 ก็หลบหนีไป การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 343 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 97/2518 ผู้จัดการบริษัทจำกัดโฆษณาหลอกขายที่ดินแก่ประชาชน แม้มีผู้สั่งจองโดยยังไม่ชำระเงิน มีผู้ซื้อเพียงรายเดียวที่แจ้งความร้องทุกข์ ก็เป็นความผิดตามมาตรา 343 บริษัทจำกัดมีความผิดตามมาตรานี้ ซึ่งศาลลงโทษปรับบริษัท และจำคุกผู้จัดการ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1612-1613/2518 ผู้จัดการบริษัท โฆษณาให้คนสมัครเข้าเป็นสมาชิก เสียค่าบริการคนละ 200 บาท สมทบทุนอีก 300 บาท มีสิทธิกู้เงินได้คนละ 2,500 บาท แสดงว่าไม่พอให้สมาชิกกู้ได้ทั่วตามสิทธิของสมาชิก เป็นแผนการณ์ฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ.ม. 343 ผู้ที่เข้าเป็นสมาชิกเป็นผู้เสียหาย ผู้แทนนิติบุคคลที่ลงมือกระทำ ถ้ามิใช่ความผิดเฉพาะตัว ต้องมีความผิดเป็นส่วนตัวด้วย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2593/2521 (สบฎ เน 5632) จำเลยไม่ใช่แพทย์ รักษาคนป่วย โดยเรียกเงิน 59 บาท วิธีรักษาไม่ใช่วิธีทางการแพทย์ เป็นการแสดงเท็จต่อประชาชนว่าสามารถรักษาให้หายจากโรคได้ ผิด ม 343 จำเลยใช้เข็มแทงเนื้อ ทำให้น้ำเลี้ยงสมองไหลออกไม่หยุด ทำให้เด็กตาย "เป็นผลโดยตรง" มีผิดความ ม 291 อีกระทงหนึ่ง

-          คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ 73/2537 ผู้ต้องหาประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน รู้ดีอยู่แล้วว่าฐานะการเงินของตนไม่ดีพอ ที่จะจัดหาตั๋วเครื่องบินมาให้ลูกค้าได้ แต่กลับปกปิดความจริง แล้วยังบังอาจรับเงินจากลูกค้า พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาฉ้อโกงมาแต่แรกแล้ว

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 343
-           (ขส อ 2530/ 1) แต่งเป็นพระ หลอกว่าเป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ เพื่อเอาเงินบริจาค จากชาวบ้าน ผิด ม 208 คนร่วมหลอกเป็นตัวการ ม 208 ด้วย (ฎ 3699-3739/2541 (สบฎ สต 53) ไม่ใช่พระอุปัชฌาย์ แต่บวชให้คนอื่น และมอบเครื่องแต่งกาย ผิด ม 208+86 คนถูกบวช ไม่มีสิทธิ ผิด ม 208) / + ม 343 ว 1 + 83 + 343 ว 2 แสดงตนเป็นคนอื่น (ม 342 (1))



มาตรา 344     ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ให้ประกอบการงานอย่างใดๆ ให้แก่ตนหรือให้แก่บุคคลที่สาม โดย จะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้น หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้น ต่ำกว่าที่ตกลงกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1953/2506 ความผิดตาม มาตรา 344 ต้องได้ความว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต ในขณะที่ตกลงจะให้ผู้เสียหายประกอบการงานให้แก่ตน โดยเจตนาจะไม่ใช้ค่าแรงงานฯ หากไม่ได้ความว่ามีเจตนาทุจริตในขณะที่จะตกลงกัน แต่มีเหตุขัดข้องเกิดขึ้นแก่จำเลย ทำให้จำเลยไม่อาจใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างได้ตามที่ตกลงกันไว้ ก็เป็นเพียงการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1051/2510 (สบฎ เน 1537) มาตรา 343 ลงโทษผู้หลอกลวง "ประชาชน" ฟ้องว่าหลอก ช กับพวก 10 คน ไม่ได้ฟ้องว่าหลอกลวงประชาชน ผิด มาตรา 341 เท่านั้น / ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 ผู้หลอกลวงต้องประสงค์ต่อผล คือ การทำงานของผู้ที่ถูกหลอกให้ประกอบการงานให้แก่ตน หรือบุคคลที่สามโดยจะไม่ใช้ค่าแรงงาน ฯลฯ เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยหลอก เพื่อให้ส่งเงินเท่านั้น ไม่ได้หลอกให้ทำงาน จึงไม่ใช่เป็นการกระทำ เพื่อประสงค์ต่อผล ตามมาตรา  344 จำเลยไม่มีความผิดตามมาตรานี้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4279/2539 บริษัทมีเจตนาเพียงจะเรียกเก็บเงินประกันการทำงานจากประชาชนผู้มาสมัครงาน โดยมีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตัวกรรมการของบริษัทเอง หรือเพื่อบริษัทอันเป็นการกระทำโดยทุจริตโดยประกาศหลอกลวงให้ประชาชนมาสมัครงานด้วยแสดงข้อความเท็จว่าให้สมัครเข้ามาทำงาน แต่บริษัทหามีงานให้ทำไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะกรรมการบริหารงานของบริษัทย่อมจะต้องทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทไม่มีงานให้ทำ แต่ก็ยังร่วมดำเนินการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานตลอดมาเป็นการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนและในการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานดังกล่าวเป็นเหตุทำให้บริษัทกับกรรมการของบริษัทได้ไปซึ่งเงินประกันการทำงานจากผู้สมัคร การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 วรรคแรก / การที่บริษัทได้รับผู้เสียหายเข้าทำงานแล้วได้ให้ ผู้เสียหายซื้อหุ้นคนละ 30 หุ้น เป็นเงิน 3,000 บาท มี ลักษณะเป็นการรับเข้าร่วมลงทุนและได้มีการจ่าย ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้เสียหายโดยให้เงินปันผลหรือเงิน ค่าครองชีพเดือนละ135 บาท จึงเข้าลักษณะการกู้ยืมเงิน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ..2527 มาตรา 3 เมื่อบริษัทจัดให้มีผู้รับเงินในการรับสมัครงานที่มิชอบ หรือจ่ายหรือตกลงหรือจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้เสียหายซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดดังกล่าว และในการกู้เงินดังกล่าวได้มีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเดือนละ 135 บาท หรือคิดเป็นอัตราถึงร้อยละ 54 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตาม กฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้จึงเข้ากรณีเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.. 2527 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ร่วมรับเงินที่ ผู้เสียหายได้นำมาเข้าร่วมลงทุนเพื่อให้ผลประโยชน์ ตอบแทนดังกล่าว จึงมีความผิดตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.. 2527 มาตรา 5 / ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 ผู้หลอกลวงต้องประสงค์ต่อผล คือการทำงานของผู้ถูกหลอกลวงให้ประกอบการงานให้แก่ตนหรือบุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงาน หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานต่ำกว่าที่ตกลงกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ได้ กระทำในนามของบริษัท โดยอ้างว่ามีงานให้ทำก็ดี การรับผู้เสียหายเข้าทำงานก็ดี การคืนเงินประกันการ ทำงานเมื่อครบกำหนด 6 เดือน แล้วก็ดี ล้วนเป็นอุบาย ทุจริตคิดตั้งเรื่องขึ้นเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อ และมอบเงินให้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวง ผู้เสียหายให้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น มิได้มีเจตนาหลอกลวงเพื่อมิให้มาทำงาน เพราะความจริง แล้วไม่มีงานให้ทำ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดให้มีการทำงานในช่วงแรก ๆ และจ่ายเงินเดือนให้ก็เป็นวิธีการในการหลอกลวงอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อมาภายหลังก็ไม่มีงานให้ทำและไม่จ่ายเงินเดือนให้ กรณีจึงมิให้เป็นการกระทำ เพื่อประสงค์ต่อผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 ไม่มีความผิดตามมาตรานี้

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 344
-          (ขส เน 2510/ 3) นายเชิด จ้างคน 10 คน ให้ถมดิน เมื่อถมเสร็จ นายเชิดจึงรู้ว่ามีเงินไม่พอจ่ายค่าจ้าง ขอจ่ายให้ 5 คน เต็มจำนวนที่ตกลง และขอจ่ายให้อีก 5 คน คนละครึ่งเดียว นายเชิด ไม่ผิด ม 344 เพราะไม่ได้หลอกตั้งแต่แรก และไม่ทำโดยทุจริต

มาตรา 345     ผู้ใด สั่งซื้อและบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือเข้าอยู่ในโรงแรม โดยรู้ว่าตนไม่สามารถชำระเงินค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือค่าอยู่ในโรงแรมนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1686/2505 ม.345 เป็นเรื่องสั่งซื้อและบริโภคอาหารด้วย และเป็นการกระทำต่อเนื่องกันในเวลานั้น การที่ไปติดต่อตกลงสั่งอาหารล่วงหน้าหลายวัน โดยให้นำอาหารไปเลี้ยงในสถานที่อีกแห่งหนึ่ง เมื่อไม่ชำระราคา ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดตาม ม.345
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1077/2511 มาตรา 345 หมายความว่า การสั่งซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มมาบริโภคนั้น เป็นที่เข้าใจว่าจะชำระราคาให้ เมื่อได้บริโภคเสร็จแล้วในเวลาและสถานการค้าของผู้ขาย ถ้านำสินค้าไปที่บ้านของผู้ซื้อและว่าจะชำระเงินให้ภายหลัง ซึ่งผู้ขายก็ยินยอมเป็นการซื้อของเชื่อ ไม่ผิดมาตรา 345

มาตรา 346     ผู้ใด เพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ชักจูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน โดยอาศัยเหตุที่ผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอ หรือเป็นเด็กเบาปัญญา และไม่สามารถเข้าใจตามควรซึ่งสารสำคัญแห่งการกระทำของตน จนผู้ถูกชักจูงจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 347     ผู้ใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัย แกล้งทำให้เกิดเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 348     ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตามมาตรา 343 เป็นความผิดอันยอมความได้

-          ข้อหารือ (ที่ อส 17/25155 ลว 8 พย 2537) (อัยการนิเทศ 2538 เล่ม 57 ฉบับ 1 193) กรณีผู้แทนนิติบุคคลที่เป็นองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ ไม่ยอมร้องทุกข์ ในความผิดฐานฉ้อโกงที่กระทำต่อนิติบุคคล ทรัพย์สินของนิติบุคคลดังกล่าว ถือว่าเป็นทรัพย์สินของส่วนรวม จึงไม่เป็นความผิดต่อส่วนตัว การดำเนินคดีกับผู้ฉ้อโกง สามารถกระทำได้โดยมิพักต้องมีการร้องทุกข์

ไม่มีความคิดเห็น: