ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๒๔๐ - ๒๖๓

ลักษณะ 7 ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง

หมวด 1 ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา

มาตรา 240 ผู้ใดทำ ปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้น เพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตร หรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

- ทำปลอมหมายความว่า กระทำโดยตั้งใจให้เหมือนของจริง คือดูที่เจตนาของผู้กระทำ ไม่ได้ดูที่ผลว่าเหมือนของจริงมากน้อย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1969/2505 จำเลยไม่ใช่ตัวการในการทำเงินตราปลอม เพราะมิได้ร่วมในการทดลองด้วย แต่การที่จำเลยยอมให้ใช้สถานที่ ภาชนะ เตาไฟของตนนั้น เป็นการให้ความสะดวก เลยมีเครื่องมือไว้เพื่อใช้ในการปลอมเงินตรา ส่วนเหรียญกษาปณ์ที่รับฝากไว้นั้น เป็นการรับฝากไว้มิใช่เพื่อนำออก ใช้ผิด ตาม ม 246, 240, 86 ต้องลงโทษตามมาตรา 240, 86 กระทงเดียวตาม ม 248

- คำพิพากษาฎีกาที่ 744/2521 การปลอมผิดจากของจริงที่ตั้งใจทำให้เหมือนมากน้อยเพียงใดไม่สำคัญ เส้นสีแดงที่กระดาษของกลางต่างกับของแท้ ไม่จำเป็นต้องให้เหมือนกับของแท้ จนไม่รู้ว่าเป็นของแท้หรือของปลอม ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1394/2522 เหรียญห้าบาทปลอมของกลางมีแร่เหล็กและสังกะสีผสมอยู่ทำให้ด้านไม่ขึ้นเงา (เช่นของจริง) จำเลยใช้น้ำยาขัดเหรียญเท่านั้น ไม่พอฟังว่าจำเลยปลอมเหรียญกษาปณ์ของกลาง เพราะข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้ร่วมในการทำปลอมเหรียญมาแต่ต้น เป็นแต่เพียงได้เหรียญปลอมมา แต่ปรากฏว่าโลหะผสมไม่ขึ้นเงานำออกใช้ไม่ได้ จำเลยจึงนำมาขัดให้ขึ้นเงาเสียก่อน การขัดให้ขึ้นเงาไม่เป็นการกระทำที่เป็นส่วนหนึ่งของการปลอม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3493/2532 ทดลองทำเหรียญ 50 สตางค์ ปลอม แต่ยังไม่เหมือนของจริง ต้องทดลองทำอีก ดังนี้เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 240

- (ขส เน 2513/ 5) (ถามเฉพาะความผิดเกี่ยวกับเงินตรา) () นายป้อมเอาเหรียญบาท ที่ผลิต พศ 2510 มาแก้เป็น พศ 2500 เพื่อขายในราคา 2 บาท ไม่ผิด ม 240 เพราะเป็นเงินแท้จริง ไม่ผิด ม 241 เพราะไม่ทำให้หลงเชื่อว่ามูลค่าสูงกว่าจริง () นายป้อม เจาะเอาเนื้อเงินจากเหรียญ แล้วเอาโลหะอื่นใส่แทน ผิด ม 242 การใส่โลหะอื่นแทน ก็ไม่ทำให้พ้นผิด

- (ขส พ 2529/ 10) ยอมให้ใช้บ้าน ทดลองทำเหรียญปลอม ผิด ม 240+86 / รับฝากเครื่องมือผิด ม 246 ลงโทษ ม 240 + 86 กระทงเดียว ตาม ม 248 / รับฝากเหรียญปลอม ซึ่งไม่เหมือนจริง ไม่ใช่เจตนาเพื่อนำออกใช้ไม่ผิด ม 244 ฎ ป 1969/2505

มาตรา 241 ผู้ใดแปลงเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือแปลงพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ให้ผิดไปจากเดิม เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานแปลงเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

มาตรา 242 ผู้ใดกระทำโดยทุจริต ให้เหรียญกระษาปณ์ซึ่งรัฐบาลออกใช้ มีน้ำหนักลดลง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ผู้ใดนำเข้าในราชอาณาจักร นำออกใช้ หรือมีไว้เพื่อนำออกใช้ ซึ่งเหรียญกระษาปณ์ที่มีผู้กระทำโดยทุจริตให้น้ำหนักลดลงตามความในวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

มาตรา 243 ผู้ใดนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสิ่งใด ๆ อันเป็นของปลอมตามมาตรา 240 หรือของแปลงตามมาตรา 241 ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา นั้น ๆ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 92/2521 มีและทำเครื่องมือทำเหรียญกระษาปณ์อันละ 5 บาท ทำมีเหรียญกระษาปณ์เพื่อนำออกใช้เป็นความผิด 3 กระทง ตาม ป.อ. ม.240 ,244 และ 246 ลงโทษตาม ม.240 ตาม ม.242

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 241

- (ขส อ 2536/ 6) แบงก์ 100 แก้เป็น 150 และทำเหรียญ 15 บาท ตำรวจจับได้พร้อมเครื่องมือ ผิด ม 241+246 ส่วนเหรียญ ไม่ผิด ม 240+244+246

มาตรา 244 ผู้ใดมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งสิ่งใด ๆ อันตนได้มาโดยรู้ว่าเป็นของปลอมตามมาตรา 240 หรือของแปลงตามมาตรา 241 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสามหมื่นบาท

- คำพิพากษาฎีกาที่ 388/2477 จำเลยจ้างคนอื่นให้เอาธนบัตรปลอมไปซื้อของแล้ว ภายหลังกลับปฏิเสธว่าไม่ใช่ธนบัตรของจำเลย ดังนี้ เป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยว่า จำเลยได้ธนบัตรมาโดยรู้แล้วว่าเป็นของปลอม ยังนำออกใช้จึงเป็นความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 740/2480 จำเลยมีธนบัตร โดยว่าปลอม ยังเอาไปหลอกซื้อโคจากผู้อื่น ผิดฐานมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อจำหน่าย และฉ้อโกง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1655/2503 จำเลยมีธนบัตรปลอมไว้แล้วนำออกขาย เป็นการมีไว้ เพื่อนำออกใช้ตามมาตรา 244

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1969/205 จำเลยที่ 2 อวดอ้างว่าทำเงินปลอมได้ จึงเอาเครื่องมือไปทำปลอมเหรียญกษาปณ์ให้จำเลยที่ 1 ดูที่บ้าน แต่การทำปลอมนั้นไม่เหมือนของจริง จำเลยที่ 2 จึงฝากเครื่องมือปลอมเงินตรากับเหรียญกษาปณ์ที่ปลอมแล้วไว้ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการปลอมเงินตรา เพราะให้ความสะดวกโดยให้ใช้บ้านและภาชนะในการปลอม แต่ไม่ผิดฐานตัวการเพราะไม่ได้ร่วมมือ แต่เป็นการดูการทดลอง การที่จำเลยที่ 1 รับฝากเครื่องปลอมเงินตราไว้นั้น จำเลยรู้อยู่แล้วจึงได้ชื่อว่ามีเครื่องมือ สำหรับปลอมแปลงเงินตรา เพื่อใช้ในการปลอมแปลง ตามมาตรา 246 ส่วนที่จำเลยรับฝากเหรียญกษาปณ์ปลอมไว้ด้วยนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทำแล้วไม่เหมือนของจริง จำเลยที่ 2 จะทดลองทำให้ดูอีก เมื่อเหรียญกษาปณ์ไม่เหมือนของจริง จำเลยที่ 1 รับฝากไว้มิใช่เพื่อนำออกใช้ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 244

- คำพิพากษาฎีกาที่ 143/2527 จำเลยนำธนบัตรปลอมฉบับละ 500 บาท ออกใช้ 2 ฉบับ ได้เงินทอน 850 บาทแล้ว ยังนำออกใช้อีก 1 ฉบับ และยังค้นพบธนบัตรปลอมจากจำเลยอีก 5 ฉบับ พฤติการณ์เช่นนี้ทำให้เชื่อว่าจำเลยทราบดีว่าธนบัตรทั้งหมด เป็นธนบัตรปลอม จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ.ม.244

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2484/2530 จำเลยที่ 1 ตกลงขายธนบัตรปลอมให้กับผู้ขอซื้อ เมื่อจำเลยที่ 1 นำธนบัตรปลอมมามอบให้กับผู้ขอซื้อ จำเลยที่ 2 บุตรจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งมอบซองจดหมายบรรจุธนบัตรปลอมให้ เป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้ เพื่อนำออกใช้ตามมาตรา 244

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 244

มาตรา 245 ผู้ใดได้มาซึ่งสิ่งใด ๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นของปลอมตามมาตรา 240 หรือของแปลงตามมาตรา 241 ถ้าต่อมารู้ว่าเป็นของปลอมหรือของแปลงเช่นว่านั้น ยังขืนนำออกใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 210/2467 ธนบัตรของกลางเป็นธนบัตรปลอม มีผู้เอามาช่วยในการแต่งงานภริยาจำเลยเก็บไว้โดยไม่รู้ ต่อมาจำเลยเอามาเล่นไพ่พอรู้สึกว่าเป็นธนบัตรปลอมก็ไม่นำออกใช้อีก ดังนี้ แสดงว่าในชั้นแรกจำเลยไม่รู้ เมื่อรู้แล้วไม่นำออกใช้ จึงไม่มีความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 496/2477 จำเลยเอาธนบัตรปลอมชนิดใบละ 10 บาท ให้แก่ ก. ฉบับหนึ่ง ก.สงสัยให้ ข. ดู ข.บอกตำรวจ ตำรวจค้นตัวจำเลยได้ธนบัตรชนิดใบละ 10 บาท อีกหนึ่งฉบับ ก่อนค้นตำรวจได้สอบถามจำเลย ๆ ปฏิเสธว่าไม่มี ก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยเอาไปใช้แก่คนอื่น เขาบอกว่าใช้ยาก เอามาเปลี่ยนจำเลยในตอนเช้าวันถูกจับนั้น แต่โจทก์ไม่มีพยานนำสืบว่า จำเลยได้รู้ความมาตั้งแต่แรก ได้ธนบัตรปลอม ดังนี้เมื่อไม่ได้ความชัดเช่นนั้น ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย โดยฟังว่าจำเลยเพิ่งรู้ภายหลังเมื่อได้ธนบัตรไว้แล้วว่าเป็นธนบัตรปลอม แต่จำเลยยังขืนนำออกใช้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 757/2527 จำเลยมีธนบัตรของกลางเพียงฉบับเดียว นำไปชำระค่าร่วมประเวณีแก่หญิง เป็นธนบัตรที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับธนบัตร ฉบับละ 500 บาทที่แท้จริงจำเลยมีอาชีพค้าขายปลีกเนื้อสัตว์ในต่างจังหวัด อาจได้รับธนบัตรของกลางมาจากลูกค้าซื้อเนื้อสัตว์ โดยจำเลยไม่รู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม ดังนี้ จำเลยไม่มีความผิดตาม ป.อ. ม.245

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 245


มาตรา 246 ผู้ใด ทำเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมหรือแปลงเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งใด ๆ ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือสำหรับปลอมหรือแปลงพันธบัตรรัฐบาล หรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ หรือ มีเครื่องมือหรือวัตถุเช่นว่านั้น เพื่อใช้ในการปลอมหรือแปลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2969/2505 รับฝากเครื่องมือทำเงินเหรียญไว้เป็นความผิดตามมาตรานี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 744/2521 จำเลยมีเครื่องพิมพ์โดยเจตนาที่จะใช้พิมพ์ธนบัตรปลอม แม้ขาดอุปกรณ์บางตัว แต่ถ้ามีอุปกรณ์ประกอบเข้ากันก็ใช้พิมพ์ธนบัตรปลอมได้ จึงเป็นความผิดตามมาตรานี้ / เส้นสีแดงที่กระดาษของกลางต่างกับธนบัตรของแท้ เป็นเรื่องของขีดความสามารถที่จะทำปลอม ไม่จำต้องถึงกับเหมือนของแท้จนไม่รู้ว่าปลอมหรือแท้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2903/2522 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ ตาม ปอ มาตรา 246 จำคุก 5 ปี กระทงหนึ่ง และฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งเหรียญชนิด 5 บาทปลอม ตาม ปอ มาตรา 244 จำคุก 2 ปี อีกกระทงหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดสำหรับความผิดทั้ง 2 กระทงไม่เกินกระทงละ 5 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนทั้ง 2 กระทง จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตาม ปวิอ มาตรา 218 แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยมาทั้งหมด ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริง คงพิจารณาให้แต่เฉพาะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ความว่า จำเลยได้ ทำแบบพิมพ์อันเป็นเครื่องมือสำหรับปลอมเหรียญกระษาปน์ตามที่โจทก์บรรยายไว้ในฟ้อง แต่ได้ความเพียงว่า จำเลย มีเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมเงินตราไว้ในความครอบครอง ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง แม้ว่าการมีเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมเงินตราไว้ในความครอบครอง ผิดตาม ปอ มาตรา 246 ด้วย แต่ก็เป็นความผิดคนละฐานกับที่โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยกระทำ ศาลจึงจะลงโทษจำเลยตาม ปอ มาตรา 246 ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ปอ มาตรา 246 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาตาม ปอ มาตรา 246 นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 246

- (ขส อ 2536/ 6) แบงก์ 100 แก้เป็น 150 และทำเหรียญ 15 บาท ตำรวจจับได้พร้อมเครื่องมือ ผิด ม 241+246 ส่วนเหรียญ ไม่ผิด ม 240+244+246

มาตรา 247 ถ้าการกระทำดังกล่าวในหมวดนี้ เป็นการกระทำเกี่ยวกับเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่ง รัฐบาลต่างประเทศออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือเกี่ยวกับพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ หรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1116/2501 จำเลยกระทำความผิดในขณะที่ประเทศนั้นยังใช้ธนบัตรนั้นอยู่ ต่อมาเลิกใช้ ความผิดก็ยังมีอยู่ไม่ระงับลง เพราะกรณีเช่นนี้ไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ตามมาตรา 2 วรรคสอง

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 247

- (ขส อ 2542/ 1) ปลอมเงินไทย ในจีน ปอ ม 240 + 7 (2) รับโทษแล้วยังไม่ครบ ศาลไทยลงได้ ม 10 2 / ปลอมดอลล่าในไทย ม 240+ 247 รับโทษ ม 4 กึ่งหนึ่งของ ม 240


มาตรา 248 ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 240 มาตรา 241 หรือมาตรา 247 ได้กระทำความผิดตามมาตราอื่น ที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้อันเกี่ยวกับสิ่งที่ตนปลอมหรือแปลงนั้นด้วย ให้ลงโทษผู้นั้นตามมาตรา 240 มาตรา 241 หรือมาตรา 247 แต่กระทงเดียว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1969/2505 จำเลยสนับสนุนให้บุคคลอื่นปลอมเงินตราและมีเครื่องมือสำหรับปลอมเงินตราเพื่อใข้ในการปลอมเป็นความผิดตามมาตรา 240, 246, 86 ต้องลงโทษตามมาตรา 240, 86 แต่เพียงกระทงเดียวตามมาตรา 248

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1126/2509 โจทก์หาว่าจำเลยทำปลอมเอกสารสิทธิสัญญากู้ยืมเงินขึ้นแล้วใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีที่จำเลยฟ้องเรียกเงินจากโจทก์ตามสัญญาที่จำเลยทำปลอมนั้น โจทก์ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยแต่เพียงจำเลยทำปลอมเอกสารสิทธิตามสำนวน คดีแดงที่ 498/2507 ก่อน แล้วต่อมาจึงฟ้องคดีนี้ในข้อหาว่าจำเลยใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิที่จำเลยทำปลอมขึ้นอีก และโจทก์จำเลยขอให้ศาลรอการพิจารณาคดีนี้ไว้เพื่อฟังผลที่สุดของ คดีแดงที่ 498/2507 เมื่อคดีนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่าเอกสารสิทธิสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทำปลอมขึ้น ฟังไม่ได้ว่าเป็นเอกสารปลอม คดีถึงที่สุดเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ก็ถือได้ว่าความผิดของจำเลยในข้อหาเรื่องใช้หรืออ้างเอกสารปลอม คดีนี้ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วด้วย เพราะเป็นความผิดเรื่องเดียวหรือกระทงเดียวกับความผิดในเรื่องที่กล่าวหาว่าจำเลยทำปลอมเอกสารสิทธิ คดีแดงที่ 498/2507 สิทธิการฟ้องคดีนี้ต้องระงับตาม ปวิอ ม 39 (4) ซึ่งบัญญัติว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้ ฯลฯ (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง สิทธิฟ้องคดีนี้ของโจทก์ต้องระงับไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนให้ยกฎีกาโจทก์เสีย.

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2846/2519 มาตรา 91 เป็นบทบัญญัติทั่วไปในภาค 1 ใช้กับความผิดทุกประเภทที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ซึ่งว่าด้วยความผิด แต่ถ้าในภาค 2 บัญญัติการลงโทษไว้อย่างไรเป็นการเฉพาะจึงเป็นข้อยกเว้นบทบัญญัติทั่วไป มาตรา 248 เป็นบทเฉพาะ จึงเป็นข้อยกเว้นมาตรา 91 ดังนั้น จำเลยมีเครื่องมือทำเงินตราปลอม และมีเงินตราปลอมเพื่อใช้ จึงต้องลงโทษตามมาตรา 240 แต่กระทงเดียวตามมาตรา 248

- คำพิพากษาฎีกาที่ 92/2521 เมื่อจำเลยทำปลอมเงินตราเป็นเหรียญกระษาปณ์ราคาอันละห้าบาท ซึ่งรัฐบาลไทยออกใช้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 และจำเลยมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งเงินตราที่จำเลยทำปลอมขึ้นดังกล่าว เป็นความผิดตามมาตรา 244 กับจำเลยทำและมีเครื่องมือและวัตถุสำหรับทำปลอมเงินตราดังกล่าวด้วย เป็นความผิดตามมาตรา 246 จำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 240 และได้กระทำความผิดตามมาตรา 244 มาตรา 246 เกี่ยวกับเงินตราที่จำเลยทำปลอมขึ้นด้วย ซึ่งความผิดตามมาตรา 244 มาตรา 246 บัญญัติไว้ในลักษณะ 7 หมวด 1 หมวดเดียวกับมาตรา 240 ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 240 และศาลลงโทษตามมาตรา 240 แล้ว จะลงโทษจำเลยตามมาตรา 246 อีกกระทงหนึ่งไม่ได้ เพราะมาตรา 248 บัญญัติให้ลงโทษแต่กระทงเดียว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 553/2536 ปอ มาตรา 248 “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 240 มาตรา 241 หรือมาตรา 247 ได้กระทำความผิดตามมาตราอื่นที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้อันเกี่ยวกับสิ่งที่ตนปลอมหรือแปลงนั้นด้วย ให้ลงโทษผู้นั้นตามมาตรา 240 มาตรา 241 หรือมาตรา 247 แต่กระทงเดียวศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 240, 244 และ 246 แล้วเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองเป็น 3 กระทง จึงขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว กรณีนี้ต้องถือว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตามมาตรา 240 เพียงกระทงเดียว มีกำหนด 14 ปี คดีสำหรับจำเลยที่ 12 แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ความผิดตามมาตรา 244 ซึ่งลงโทษจำคุกไว้ 4 ปี ก็ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และคดีสำหรับจำเลยที่ 2 สมควรคำนวณลดโทษเสียใหม่ให้ถูกต้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ทั้งเป็นเหตุลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วย


มาตรา 249 ผู้ใดทำบัตรหรือโลหธาตุอย่างใด ๆ ให้มีลักษณะและขนาด คล้ายคลึงกับเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งใด ๆ ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือพันธบัตรรัฐบาล หรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ หรือจำหน่ายบัตรหรือโลหธาตุเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการจำหน่ายบัตรหรือโลหธาตุดังกล่าวในวรรคแรก เป็นการจำหน่าย โดยการ นำออกใช้ดังเช่นสิ่งใด ๆ ที่กล่าวในวรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- เสด็จในกรมหลวงราชบุรี ทรงอธิบายว่า นายแดงเอาตะกั่วมาทำเป็นเงินบาทขัดให้ขาว ๆ สำหรับให้เด็กเล่น และนายแดงได้ขายแผ่นตะกั่วนี้ถูก ๆ เป็นเครื่องเล่น ไม่ได้มีเจตนาหลอกผู้ใด ถ้าหากแผ่นตะกั่วที่นายแดงทำนี้ คล้ายคลึงกับเงินบาทจริงมาก จนอาจทำให้คนบ้านนอกและคนแก่ หลงสำคัญว่าเป็นเงินจริงได้แล้ว นายแดงมีโทษ ข้อวินิจฉัยนั้นคือว่า เหมือนมาก เหมือนน้อย ถ้าเหมือนมากมีโทษ ถ้าไม่เหมือนไม่มีโทษ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 332/2503 ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า กรณีตามมาตรา 249 เป็นเรื่องที่กระทำบัตรหรือโลหะธาตุอย่างใด ให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตราขึ้นเท่านั้น โดยผู้กระทำ ไม่เจตนาทำปลอมให้เป็นเงินตราเพื่อนำออกลวงใช้เป็นเงินตราที่แท้จริง แต่ในคดีนี้ ผู้กระทำคือจำเลย เจตนาทำปลอมให้เป็นเงินตราเพื่อนำออกลวงใช้เป็นเงินตราที่แท้จริง พยานโจทก์เบิกความตอนหนึ่งว่า แม่พิมพ์ของกลางมีลักษณะลวดลาย ไม่เหมือนของทางราชการ เป็นแต่เพียงคล้าย ๆ กันเท่านั้น ก็ไม่หมายความว่าแม่พิมพ์ของกลางใช้ปลอมเงินตราไม่ได้ โดยปรากฏตามคำเบิกความของเจ้าหน้าที่ผู้นี้ต่อไปว่า เพียงแต่เอาตะไบตบแต่งส่วนที่ไม่เรียบร้อยของเหรียญ ที่เทออกมาจากแม่พิมพ์เสียบ้างเท่านั้น ก็อาจนำออกจำหน่ายใช้ได้ทีเดียว ดังนี้ กรณีจึงปรับด้วยมาตรา 249 ไม่ได้ ต้องปรับด้วยมาตรา 240 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว


หมวด 2 ความผิดเกี่ยวกับดวงตรา แสตมป์และตั๋ว

มาตรา 250 ผู้ใด ทำปลอมขึ้น ซึ่งดวงตราแผ่นดิน รอยตราแผ่นดิน หรือพระปรมาภิไธย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

มาตรา 251 ผู้ใด ทำปลอมขึ้นซึ่งดวงตรา หรือรอยตราของทบวงการเมือง ขององค์การสาธารณะ หรือของเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

- คำพิพากษาฎีกาที่ 36/2486 วินิจฉัยว่า คำว่าองค์การสาธารณะนั้น หมายความถึง ดวงตราขององค์การสาธารณะ เช่น สภากาชาด ดวงตราประจำของบริษัทจังหวัดพาณิชย์จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนิติบุคคล และรัฐบาลมีหุ้นอยู่มากกว่าครึ่ง และบริษัทนี้บุคคลทั่วไปเข้าไปติดต่อได้ ก็หาใช่องค์การสาธารณะไม่ ดวงตราของบริษัทจึงไม่ใช่ดวงตราขององค์การสาธารณะ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1011/2494 ประชุมใหญ่ ปลอกตะกั่วปิดปากขวดของจำเลย เป็นเพียงเครื่องหมายเพื่อจะลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าสุราในขวดเป็นสุราแม่โขงที่แท้จริง การปลอมจึงไม่เป็นการปลอมดวงตรา เพราะตราที่ปลอกตะกั่วไม่ใช่ตราที่ใช้ในราชการของกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่เป็นตราที่ใช้ในการขายสุราที่เรียกว่าสุราแม่โขงเท่านั้น ไม่ผิด ม 251 และย่อมไม่เป็นผิด ฐานใช้ ดวงตราหรือรอยตราปลอม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1269/2503 อักษรและเลขหมายพานท้ายปืนอันเป็นเครื่องหมายทะเบียนอาวุธปืนของเจ้าพนักงานนั้น ไม่ใช่รอยตราของเจ้าพนักงานตามความหมายของมาตรา 251 แต่เป็นเอกสารตามมาตรา 1 (7)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1315/2503 จำเลยปลอมดวงตรานกวายุภักษ์อันเป็นดวงตราของกรมสรรพสามิตลงในแม่พิมพ์ไพ่ และใช้แม่พิมพ์นั้นพิมพ์ไพ่ผ่องจีนและไพ่สีปลอมโดยเจตนาหลอกลวงให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นไพ่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อดวงตานกวายุภักษ์เป็นเพียงเครื่องหมายในการค้าของกรมสรรพสามิต เพื่อแสดงว่าไพ่นั้นเป็นไพ่ที่กรมสรรพสามิตผลิตขึ้น ดังนี้การใช้ดวงตรานกวายุภักษ์บนไพ่นั้น จึงหาใช่เป็นดวงตราปลอมตามความหมายของกฎหมายไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงเจตนาปลอมไพ่เท่านั้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3593/2524 ตั๋วภาพยนตร์ที่แท้จริงของกรรมสรรพากรมีตราพระอุเทนดีดพิณพิมพ์ไว้ในเนื้อของตั๋วนั้นเอง ไม่ใช่ใช้ตราประทับ ดวงตรารูปนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของรูปลักษณะของตั๋ว หาใช่เป็นการทำดวงตราปลอมหรือรอยตราปลอมตามมาตรา 241 ไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 35620/2527 นำดวงตราผู้ว่าราชการจังหวัดและของเจ้าพนักงานที่ดินประทับในโฉนดแผนที่มีความผิดตามมาตรา 251

มาตรา 252 ผู้ใด ใช้ดวงตรา รอยตราหรือพระปรมาภิไธยดังกล่าวมาในมาตรา 250 หรือมาตรา 251 อันเป็นดวงตรา รอยตรา หรือพระปรมาภิไธย ที่ทำปลอมขึ้น ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1654/2503 จำเลยนำใบประกาศนียบัตรปลอมออกแสดงต่อ ก. ซึ่งเป็นสายตรวจดูเป็นตัวอย่าง เพื่อให้ผู้ติดต่อขอซื้อเชื่อถือฝีมือในการทำปลอมจะได้ตกลงซื้อและยอมจ่ายเงินมัดจำให้แก่ตน ก.ตกลงซื้อและได้วางมัดจำ 500 บาท จำเลยได้ออกใบรับเงินไว้ วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการนำเอกสารปลอมมาใช้ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชนแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 268 ( จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า แม้นำออกใช้อย่างเอกสารปลอม ก็กระทำเพื่อนำไปใช้อย่างของที่แท้จริงต่อไป จึงเป็นความผิด)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2254/2521 ใช้เอกสารหนังสือมอบอำนาจปลอมลายมือชื่อ นายอำเภอและรอยตราอำเภอแสดงให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นความผิดตาม ป.อ.ม.252, 267, 268 ลงโทษตาม ม.252 บทหนัก เอาโฉนดไปเพื่อใช้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ไม่เป็นยักยอกโฉนดเป็นความผิดตาม ม.188 เท่านั้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2254/2521 (สบฎ เน 5633) . สามีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการดูแลผลประโยชน์ของผู้เสียหาย ผู้เสียหายมอบโฉนดและหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งผู้เสียหายลงแต่ลายมือชื่อให้ไว้และอยู่ในความครอบครองของ ถ. ต่อมา ถ.ตาย โฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจตกอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ต่อมามีการกรอกข้อความกับปลอมลายมือชื่อ นายอำเภอผู้รับรองลายมือชื่อผู้เสียหาย และปลอมรอยตรานายอำเภอลงในหนังสือมอบอำนาจ แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันนำไปแสดงเป็นหลักฐานและให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อทำการโอนและแก้ทะเบียนโฉนด ดังนี้การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามมาตรา 252, 267, 268 แต่เป็นการกระทำเพื่อประสงค์ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดดังกล่าว และเป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียว ต้องลงโทษตามมาตรา 252 ซึ่งเป็นบทหนัก เอาโฉนดไว้เพื่อประสงค์จะเอากรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่มีเจตนายักยอกโฉนดนั้น ไม่มีความผิดฐานยักยอก ตามมาตรา 352 แต่เป็นความผิดตามมาตรา 188 เพราะเอาโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิไป ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกระทำต่างกรรมกับที่จำเลยกระทำมาข้างต้น เป็นความผิดอีกกระทงหนึ่ง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3887/2532 จำเลยบอก พ.ว่า ทุกอย่างเรียบร้อยพร้อมกับยื่นหนังสือเดินทางปลอมให้ พ. ดู แล้วจำเลยก็เก็บหนังสือเดินทางปลอมนั้นไว้ การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการใช้เอกสารปลอม จำเลยใช้หนังสือเดินทางซึ่งเป็นเอกสารรายการปลอม โดยแสดงต่อ พ. เพื่อให้หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง เมื่อเอกสารนั้นได้ประทับตรารอยตราครุฑเล็ก และรอยตรารูปครุฑใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศปลอม ถือได้ว่าเป็นการใช้รอยตราปลอมตามมาตรา 252 + 251 อีกบทหนึ่ง ให้ลงโทษตามมาตรา 222 + 251 ตามมาตรา 90

มาตรา 253 ผู้ใด ได้มาซึ่งดวงตราดังกล่าวมาในมาตรา 250 หรือมาตรา 251 ซึ่งเป็นดวงตราหรือรอยตรา อันแท้จริงและใช้ดวงตราหรือรอยตรานั้น โดยมิชอบ ในประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 250 หรือมาตรา 251 นั้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2266 – 78/2519 ใบเสร็จรับเงินซึ่งทางราชการออกให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีรถยนต์เป็นหลักฐานแสดงว่าทางราชการได้รับชำระค่าภาษีรถยนต์ไว้แล้ว และมีผลทำให้การเก็บภาษีรถยนต์ของรัฐเป็นอันเสร็จสิ้นไป จึงเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแผนกทะเบียนยานพาหนะ ปลอมใบเสร็จรับเงิน แล้วใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานประทับลงในใบเสร็จรับเงินนั้น ก็โดยเจตนาทำใบเสร็จรับเงินปลอมทั้งฉบับ เพื่อให้เห็นว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ตามมาตรา 266 ,253

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1931/2522 ใช้ดวงตรานายทะเบียนยานพาหนะ ที่ตนมีหน้าที่รักษา ประทับลงในใบเสร็จรับเงินค่าภาษีปลอม เพื่อยักยอกเงินเป็นความผิดตามมาตรา 253

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1931/2522 เจ้าพนักงานตำรวจ ในแผนกยานพาหนะใช้ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถยนต์ ซึ่งมีเลขฉบับที่และเล่มที่ตรงกับฉบับอื่นที่แท้จริง ออกให้แก่ผู้ชำระเงิน โดยประทับตราชื่อของจำเลยลง เพื่อให้เห็นว่าเป็นใบเสร็จที่แท้จริง แล้วยักยอกเงินที่ได้รับ เป็นปลอมเอกสารราชการตาม ม.161, 265 แต่ไม่ใช่เอกสารสิทธิ กับมีความผิดฐานใช้ดวงตราโดยมิชอบตาม ม.253 คนละกระทงกับยักยอกตาม ม.147

มาตรา 254 ผู้ใด ทำ ปลอมขึ้นซึ่งแสตมป์รัฐบาล ซึ่งใช้สำหรับการไปรษณีย์ การภาษีอากร หรือการเก็บค่าธรรมเนียม หรือ แปลง แสตมป์รัฐบาล ซึ่งใช้ในการเช่นว่านั้นให้ผิดไปจากเดิม เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

มาตรา 255 ผู้ใดนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งดวงตราแผ่นดิน รอยตราแผ่นดิน พระปรมาภิไธย ดวงตราหรือรอยตราของทบวงการเมือง ขององค์การสาธารณะ หรือเจ้าพนักงาน หรือแสตมป์ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 250 มาตรา 251 หรือมาตรา 254 อันเป็นของปลอมหรือของแปลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

- เฉพาะแสตมป์รัฐบาลตามมาตรา 254 เท่านั้น ที่กฎหมายเอาผิดการแปลงแสตมป์ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการแปลงจะมีได้เฉพาะสิ่งที่มีมูลค่า


มาตรา 256 ผู้ใดลบ ถอนหรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่แสตมป์รัฐบาล ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 254 และมีเครื่องหมายหรือการกระทำอย่างใด แสดงว่าใช้ไม่ได้แล้ว เพื่อให้ใช้ได้อีก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 257 ผู้ใดใช้ ขาย เสนอขาย แลกเปลี่ยน หรือเสนอแลกเปลี่ยน ซึ่งแสตมป์อันเกิดจากการกระทำดังกล่าวในมาตรา 254 หรือมาตรา 256 ไม่ว่ากระทำตามมาตรานั้น ๆ จะได้กระทำภายในหรือนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- มาตรานี้ลงโทษผู้สนับสนุน หลังการกระทำความผิดสำเร็จ คล้ายกับความผิดฐานรับของโจร ตามมาตรา 357

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1410/2494 จำเลยมีแสตมป์สุราปลอมไว้โดยรู้ว่าเป็นของปลอมแล้วขายแสตมป์สุรานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง โดยจำเลยมุ่งหมายให้ใช้ได้อย่างของแท้ ย่อมมีความผิดฐานขายแสตมป์ปลอม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 784/2499 จำเลยใช้แสตมป์เก็บภาษีเครื่องดื่มปลอมปิดขวดเครื่องดื่มจากโรงงานส่งไปจำหน่ายนั้น เมื่อกระทำโดยสุจริตเชื่อว่าเป็นแสตมป์ที่แท้จริง การใช้นั้นก็ไม่เป็นความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1654-5/2503 คำว่า ใช้นี้จะมีความหมายอย่างแคบคือ ใช้อย่างของแท้ หรือมีความหมายอย่างกว้าง คือใช้อย่างของปลอม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 165/2505 โจทก์บรรยายฟ้อง มาตรา 257 คำว่าบังอาจ พอเป็นที่เข้าใจได้ว่า จำเลยมีแสตมป์สุราปลอมโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของปลอม ย่อมเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) / ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยรู้ว่าแสตมป็ของกลางเป็นแสตมป์ปลอมเป็นองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมายมาตรานี้ เป็น การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามมาตรา 158 (5) โจทก์ต้องบรรยายฟ้องมาให้ชัดแจ้ง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2067/2515 ผู้ใช้ขาย เสนอขาย แลกเปลี่ยน แสตมป์ซึ่งรู้ว่าปลอม แม้จะมิได้ทำปลอมขึ้นเองก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 257


มาตรา 258 ผู้ใดทำ ปลอมขึ้นซึ่งตั๋วโดยสาร ซึ่งใช้ในการขนส่งสาธารณะ หรือ แปลงตั๋วโดยสารซึ่งใช้ในการขนส่งสาธารณะให้ผิดไปจากเดิม เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริง หรือลบ ถอน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่ตั๋วเช่นว่านั้น ซึ่งมีเครื่องหมาย หรือการกระทำอย่างใดแสดงว่าใช้ไม่ได้แล้ว เพื่อให้ใช้ได้อีก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำว่า ตั๋วโดยสารซึ่งใช้ในการขนส่งสาธารณะก็คือ ตั๋วโดยสารรถราง (1408/2493) ตั๋วรถประจำทาง (802/2495) ตั๋วรถไฟ (816/2497)

- คำว่า ปลอมขึ้นซึ่งตั๋วโดยสารซึ่งใช้ในการขนส่งแสดงว่า ต้องมีตั๋วซึ่งออกใช้จริง ๆ เช่นเดียวกับ ธนบัตร ต่างกับการปลอมเอกสารตาม มาตรา 264 ซึ่งแม้ไม่มีเอกสารที่แท้จริง ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารได้

- ตั๋วโดยสารตามมาตรนี้ เป็นเอกสารตาม มาตรา 1 (7) การปลอมตั๋วจึงน่าจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1408/2493 พิมพ์ตั๋วโดยสารรถรางขึ้นอีกชุดหนึ่ง โดยบริษัทเจ้าของรถรางไม่ได้สั่งพิมพ์ แม้พิมพ์จากแท่นพิมพ์เดียวกับที่บริษัทเจ้าของรถรางสั่งพิมพ์ก็เป็นตั๋วปลอม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 861/2497 การปลอมตั๋วโดยสารรถไฟ มีบทบัญญัติในฐานนี้โดยตรงอยู่แล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ (อ จิตติ ติงศภัทิย์ "มาตรานี้เป็นบทยกเว้นของ มาตรา 90 มิให้ลงโทษตามบทที่มีโทษหนักในฐานปลอมเอกสาร แต่ให้ถือเป็นความผิดและลงโทษตามมาตรานี้โดยเฉพาะ แต่ถ้าเป็นเอกสารที่ปลอมไม่ใช่ตั๋ว แม้จะใช้ในการโดยสารก็ต้องลงโทษฐานปลอมเอกสาร")

มาตรา 259 ถ้าการกระทำตาม มาตรา 258 เป็นการกระทำเกี่ยวกับตั๋วที่จำหน่ายแก่ประชาชน เพื่อผ่านเข้าสถานที่ใด ๆ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 260 ผู้ใดใช้ ขาย เสนอขาย แลกเปลี่ยนหรือเสนอแลกเปลี่ยน ซึ่งตั๋วอันเกิดจากการกระทำดังกล่าวใน มาตรา 258 หรือ มาตรา 259 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2408/2493 ตั๋วรถรางอันแท้จริงนั้น บริษัทไฟฟ้าผู้สั่งพิมพ์ได้รับจากโรงพิมพ์ และได้จ่ายให้แก่คนเก็บเงินค่าโดยสารลงบัญชีเรียบร้อยไปแล้ว ส่วนตั๋วของกลางได้ถูกพิมพ์ขึ้นอีกชุดหนึ่งต่างหาก โดยบริษัทมิได้สั่งพิมพ์ แม้จะเป็นตั๋วพิมพ์จากแท่นพิมพ์เดียวกันกับตั๋วที่แท้จริง ก็ไม่ใช่ตั๋วอันแท้จริง แต่เป็นตั๋วที่พิมพ์เพิ่มขึ้นโดยเจตนา จะให้ผู้อื่นหลงว่าเป็นของแท้ นับว่าเป็นตั๋วปลอมตามกฎหมาย จำเลยขายตั๋วนี้ย่อมเป็นความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 802/2495 คนขายตั๋วเก็บค่าโดยสารรถยนต์โดยสารสาธารณะของบริษัทหนึ่ง บังอาจมีและใช้ตั๋วรถยนต์โดยสารปลอม โดยนำมาใช้จำหน่ายแก่ผู้โดยสาร โดยรู้แล้วว่าตั๋วนั้นปลอม ย่อมมีความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 496/2509 พนักงานห้ามล้อรถไฟ นำตั๋วค่าธรรมเนียมรถเร็วที่ขายแล้ว และถูกขูดลบถอนแก้เครื่องหมาย แสดงว่าใช้ไม่ได้แล้วเพื่อให้ใช้ได้อีกมาขายให้แก่ผู้โดยสารเป็นความผิดตาม มาตรา 260

มาตรา 261 ผู้ใด ทำเครื่องมือ หรือวัตถุสำหรับปลอมหรือแปลงสิ่งใด ๆ ซึ่งระบุไว้ใน มาตรา 254 มาตรา 258 หรือมาตรา 259 หรือ มีเครื่องมือ หรือวัตถุเช่นว่านั้นเพื่อใช้ในการปลอมหรือแปลง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

- การทำหรือการมี ในมาตรานี้ ถ้าทำหรือมี เพื่อใช้ในการปลอมหรือแปลง เป็นความผิดสำเร็จ ไม่จำต้องนำไปใช้ในการปลอม หรือแปลง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 210/2490 เจ้าพนักงานจับธนบัตรฉบับละ 100 บาท ได้จากจำเลย 199 ฉบับ มิใช่เป็นของปลอมหรือแปลง แต่เป็นของรัฐบาลสั่งทำมาจากประเทศญี่ปุ่นและยังใช้ไม่ได้โดยสมบูรณ์ เพราะขาดลายมือชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จำเลยมีไว้โดยเจตนาอย่างไรไม่ปรากฏเจ้าพนักงานผู้จับ เบิกความว่า อาจมีไว้เเพื่อประทับลายมือชื่อรัฐมนตรีปลอมภายหลังแล้วเอาออกจำหน่ายเป็นธนบัตรที่สมบูรณ์ หรืออาจมีไว้เพื่อจำหน่ายตามสภาพเดิมก็ได้ เมื่อจับได้จากจำเลยธนบัตรของกลางยังคงอยู่ในสภาพเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร ดังนี้ เมื่อคดีไม่ได้ความว่าจำเลยมีธนบัตรของกลางไว้ด้วยเจตนาเช่นใด จะถือว่าจำเลยมีวัตถุเพื่อใช้ในการปลอมหรือแปลงเงินตราไม่ได้

มาตรา 262 ถ้าการกระทำดังกล่าวใน มาตรา 254 มาตรา 256 มาตรา 257 หรือมาตรา 261 เป็นการกระทำเกี่ยวกับแสตมป์ รัฐบาลต่างประเทศผู้กระทำต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

มาตรา 263 ถ้าผู้กระทำความผิดตาม มาตรา 250 มาตรา 251 มาตรา 254 มาตรา 256 มาตรา 258 มาตรา 259 หรือมาตรา 262 ได้กระทำความผิดตามมาตราอื่น ที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ อันเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดจากการกระทำความผิดนั้นด้วย ให้ลงโทษผู้นั้นตาม มาตรา 250 มาตรา 251 มาตรา 254 มาตรา 256 มาตรา 258 มาตรา 259 หรือมาตรา 262 แต่กระทงเดียว

- มาตรานี้ เป็นบทยกเว้น มาตรา 91 โดยให้ลงโทษแต่กระทงเดียว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3942/2529 จำเลยปลอมหนังสือเดินทาง และจำเลยได้ทำปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของสถานกงสุลไทย ประทับรอยตราปลอมดังกล่าวลงในหนังสือเดินทางที่จำเลยทำปลอมขึ้น เป็นกรรมเดียว มาตรา 265 และ มาตรา 251 กระทงหนึ่ง ต่อมาจำเลยนำหนังสือเดินทาง ใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เดินทางออกไป และเข้ามาในราชอาณาจักรรวม 3 ครั้ง ต่างกรรมกัน การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีความผิดตาม มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วย มาตรา 265 และ มาตรา 251 ประกอบด้วย มาตรา 252 แต่เนื่องจาก มาตรา 263 บัญญัติว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตาม มาตรา 251 ได้กระทำความผิดตาม มาตรา 252 ด้วย ให้ลงโทษตาม มาตรา 251 กระทงเดียว เมื่อจำเลยเป็นผู้ทำรอยตราปลอมอันเป็นความผิดตาม มาตรา 251 และได้ใช้รอยตราปลอมนั้น อันเป็นความผิดตาม มาตรา 256 รวม 3 ครั้ง ในการใช้ครั้งแรกจำเลยทำรอยตราปลอมและใช้รอยตราปลอมด้วย จึงมีความผิดตาม มาตรา 251 ประกอบด้วย มาตรา 263 กระทงหนึ่ง แต่ในการใช้ครั้งที่สองและที่สามจำเลยมิได้ปลอมรอยตราขึ้นอีก คงใช้รอยตราปลอมอันเก่านั่นเอง จึงมีความผิดฐานใช้รอยตราปลอมอย่างเดียว ตาม มาตรา 252 อีก 2 กระทง รวมทั้งสิ้น 3 กระทง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3121/2530 ปลอมรอยตราของเจ้าพนักงาน และประทับตราปลอมในใบสำคัญทะเบียนทหาร และนำไปใช้เป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ทำปลอมและใช้รอยตราปลอม ตามมาตรา 265 , 268 , 251 , 252 แต่ลงโทษตาม มาตรา 251 ได้เพียงกระทงเดียวตาม มาตรา 263

1 ความคิดเห็น:

yang Guo กล่าวว่า...

แวะมาทักทายครับ