หมวด 8 การกระทำความผิดอีก มาตรา 92 - 94
มาตรา 92 ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ถ้าและได้กระทำความผิดใด ๆ อีกในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษก็ดี หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้น หนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 786/2502 กระทำผิดอาญาขึ้นอีกในระหว่างที่รอการลงโทษจำคุกไว้นั้น จะเพิ่มโทษตาม มาตรา 92 ไม่ได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2104/2511 จำเลยเคยถูกลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้ ย่อมไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเป็นการเพิ่มโทษได้ แม้จำเลยจะทำผิดขึ้นอีกภายใน 5 ปี นับแต่วันครบกำหนดรอการลงโทษก็เพิ่มโทษมิได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 427/2512 (สบฎ เน 2091) การที่ผู้กระทำผิดมาแล้วกลับมากระทำผิดอีก จะต้องถูกเพิ่มโทษ นั้นย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92, 93 หาใช่อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะเพิ่มหรือไม่เพิ่มตามที่ศาลเห็นสมควรไม่
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1275/2513 จำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 2 คดี คดีแรกฐานมีอาวุธปืน ปรับ 500 บาท จำเลยจะต้องถูกถูกกักขังแทนค่าปรับ 100 วัน คดีหลักฐานรับของโจร ให้จำคุก 2 เดือน โดยให้นับโทษต่อจากคดีแรกคดีหลังนี้ก็ถึงที่สุดแล้ว ในระหว่างถูกกักขังแทนค่าปรับ จำเลยหลบหนีที่คุมขังไป เมื่อศาลลงโทษจำคุกฐานหลบหนีที่คุมขังไป เมื่อศาลลงโทษจำคุฐานหลบหนีที่คุมขัง ศาลย่อมเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ได้
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า
- (ขส เน 2511/ 10) สำราญเคยต้องโทษ ตามคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุก 1 ปี ฐานปลอมเอกสาร เมื่ออายุ 18 ปี แต่หลบหนีก่อนถูกจำคุก ต่อมาอีก 6 ปี ถูกลงโทษอีกคดีหนึ่งฐานลักทรัพย์ ให้จำคุก 2 ปี จะเพิ่มโทษจำคุกได้หรือไม่ / เพิ่มโทษไม่ได้ เพราะโทษจำคุกฐานปลอมเอกสารนั้น ล่วงเลยกำหนดเวลาลงโทษตาม ม 98 (4) แล้ว จึงไม่อยู่ในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ ตาม ม 92
มาตรา 93 ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ถ้าและได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ที่จำแนกไว้ในอนุมาตราต่อไปนี้ ซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีก ในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี ภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษก็ดี ถ้าความผิดครั้งแรกเป็นความผิดซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่น้อยกว่าหกเดือน หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง
(1) ความผิดต่อเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามบัญญัติไว้ในมาตรา 107 ถึงมาตรา 135
(2) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 136 ถึงมาตรา 146
(3) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 147 ถึงมาตรา 166
(4) ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 167 ถึงมาตรา 192 และมาตรา 194
(5) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 200 ถึงมาตรา 204
(6) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 209 ถึงมาตรา 216
(7) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 217 ถึงมาตรา 224 มาตรา 226 ถึงมาตรา 234 และมาตรา 236 ถึงมาตรา 238
(8) ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 240 ถึงมาตรา 249 ความผิดเกี่ยวกับดวงตรา แสตมป์ และตั๋วตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 250 ถึงมาตรา 261 และความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 264 ถึงมาตรา 269
(9) ความผิดเกี่ยวกับการค้า ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 270 ถึงมาตรา 275
(10) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 ถึงมาตรา 285
(11) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 288 ถึงมาตรา 290 และมาตรา 294 ความผิดต่อร่างกาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 ถึงมาตรา 299 ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 301 ถึงมาตรา 303 และความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วย เจ็บหรือคนชรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 306 ถึงมาตรา 308
(12) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 มาตรา 310 และมาตรา 312 ถึงมาตรา 320
(13) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 365
- คำพิพากษาฎีกาที่ 308/2506 ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 12 ปีฐานฆ่าผู้อื่นในระหว่างต้องโทษได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นซ้ำอีกนั้น ตามมาตรา 93 ย่อมเข้าเกณฑ์ที่จะต้องเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลังด้วย / โทษจำคุกตลอดชีวิตนั้น เมื่อมีกรณีเพิ่มโทษและลดโทษเสมอกันแล้ว ศาลย่อมไม่เพิ่มไม่ลดได้ตามมาตรา 54.
- คำพิพากษาฎีกาที่ 741/2507 ความผิดของจำเลยแต่ละกระทง มีโทษหนักเท่ากัน ศาลลงโทษจำเลยกระทงหนึ่งกระทงใด แต่กระทงเดียวได้ / จำเลยต้องโทษคดีก่อนฐานปล้นทรัพย์ แต่คดีหลังจำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย แม้ความผิดฐานปล้นทรัพย์ในคดีก่อนนั้นจะมีการทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อศาลไม่ได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ดังนี้ ไม่ถือว่าจำเลยกระทำผิดซ้ำในอนุมาตราเดียวกัน จึงเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่ง ตาม มาตรา 93 ไม่ได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 204/2510 คดีก่อนแม้ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานแต่งกาย โดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบทหาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 146 ด้วย แต่มิได้พิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มิได้กำหนดโทษตามมาตรา 146 ไว้ หากไปลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหารซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 ปี 6 เดือน ทั้งก็รู้ไม่ได้ว่าถ้าศาลจะกำหนดโทษจำคุกตามมาตรา 146 (ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี) ศาลจะกำหนดต่ำกว่า 6 เดือนหรือไม่ เหตุนี้ จึงว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 146 มีโทษจำคุกกว่า 6 เดือนมาแล้ว ตามมาตรา 93 ยังไม่ได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3279/2528 เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยแล้ว จะเพิ่มโทษตาม ป.อ. ม.93 อีกไม่ได้
มาตรา 94 ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุยังไม่เกินสิบเจ็ดปีนั้น ไม่ว่าจะได้กระทำในครั้งก่อนหรือครั้งหลัง ไม่ถือว่าเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตามความในหมวดนี้
หมวด 9 อายุความ มาตรา 95 - 101
มาตรา 95 ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้อง และได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาล ภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
(1) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
(2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปี แต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปี ถึงเจ็ดปี
(4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือน ถึงหนึ่งปี
(5) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้ว นับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน
- ข้อหาความผิด ในการพิจารณาอายุความ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 957/2534 (ถูกกลับโดยคำพิพากษาฎีกาที่ 5494/2534 ประชุมใหญ่) อัตราโทษที่จะนำมาพิจารณากำหนดอายุความฟ้องผู้กระทำ ตามที่กำหนดไว้ใน ป.อ.มาตรา 95 นั้นถืออัตราโทษสูงสุดสำหรับความผิดที่บัญญัติไว้ในบทมาตราที่โจทก์ฟ้อง มิใช่ถือตามกำหนดโทษที่ศาลพิพากษาลงแก่จำเลย โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าตาม มาตรา 288 ,80 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 ดังนี้ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5494/2534 ประชุมใหญ่ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีข้อวินิจฉัยตามที่โจทก์ ฎีกาว่า อายุความฟ้องจะต้องพิจารณาจากข้อหาหรือฐานความผิดที่โจทก์ฟ้อง หรือพิจารณาจากข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลฟังลงโทษ โดยโจทก์เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี อายุความคดีนี้มี 10 ปี แม้ศาลชั้นต้นจะฟังลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ก็หาทำให้คดีของโจทก์ขาดอายุความไม่ เพราะโจทก์ฟ้องจำเลยภายในอายุความที่จำเลยถูกกล่าวหาแล้วนั้น พิเคราะห์แล้ว หากจะถืออายุความจากข้อหาหรือฐานความผิดตามที่ โจทก์ฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม และอาจทำให้มีการฟ้องในข้อหาที่มีอัตราโทษสูงกว่าที่ได้กระทำผิดจริง เหตุดังกล่าวอาจทำให้เป็นการขยายอายุความฟ้องคดีอาญา ซึ่งจะเป็นโทษต่อจำเลย ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า อายุความฟ้องคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ต้องถือตามอัตราโทษของความผิด ที่พิจารณาได้ความคดีนี้ได้ความเป็นที่ยุติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ซึ่งมีอายุความฟ้องภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(5) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดฟ้องโจทก์จึง ขาดอายุความ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2060/2538 อัตราโทษในการพิจารณากำหนดอายุความฟ้องผู้กระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 ต้องถือตามข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ ไม่ใช่พิจารณาจากข้อหาหรือฐานความผิดที่โจทก์ฟ้อง มิฉะนั้นอาจเป็นการขยายอายุความฟ้องคดีซึ่งเป็นโทษต่อจำเลย
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2192/2539 แม้โจทก์จะฟ้องว่า จำเลยชิงทรัพย์ผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ การจะลงโทษจำเลยในฐานความผิดที่ได้ความจากทางพิจารณาจะต้องดูว่าคดีไม่ขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 95 ด้วย เมื่อความผิดที่ได้ความจากทางพิจารณามีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน จึงมีอายุความหนึ่งปี ตามมาตรา 95 (5) นับแต่วันกระทำความผิดจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2533 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2535 เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
- การนับกำหนดเวลา
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1206/2499 ความผิดฐานไม่จดทะเบียนพานิชย์เสียภายในกำหนด 30วัน อันมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท นั้น ถ้าไม่ได้ฟ้องเสียภายในกำหนด 1 ปี ย่อมขาดอายุความแต่ความผิดในการที่ประกอบพานิชย์กิจต่อ ๆ มาโดยไม่ได้จดทะเบียนอันมีโทษปรับเป็นรายวันนั้น เป็นความผิดต่อเนื่อง ปรับได้ไม่เกิน 1 ปี วันใดที่เกิน 1 ปี ย่อมขาดอายุความเช่นกัน (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2499)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4635/2531 ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติเรื่องอายุความคดีอาญาไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะแล้ว จะนำบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดอยู่หรือการขยายอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175, 176 มาใช้ในคดีอาญาไม่ได้ / โจทก์ยื่นฟ้องคดีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ต่อศาลแขวงพระนครใต้ภายในกำหนดอายุความ ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ศาลแขวงพระนครใต้เห็นว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงจึงสั่งจำหน่ายคดีให้โจทก์ไปฟ้องยังศาลที่มีอำนาจภายใน 7 วัน โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญาภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ล่วงเลยกำหนดเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องการกระทำผิดและรู้ตัวจำเลยผู้กระทำผิดแล้ว โดยโจทก์มิได้ร้องทุกข์ไว้ก่อน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ / หมายเหตุ “เรื่องอายุความ” ประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้ว จึงไม่นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับในคดีอาญา แต่ “เรื่องการนับระยะเวลา” ประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้บัญญัติไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/1
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2144/2539 (สบฎ เน /16) อัยการขอผลัดฟ้อง โดยไม่นำตัวจำเลยส่งศาล แม้ศาลชั้นต้นอนุญาต ก็ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้ว ผู้เสียหายยื่นฟ้อง โดยวันสุดท้ายของอายุความ โจทก์ก็มิได้ตัวจำเลยมาศาล จึงขาดอายุความ
- การเริ่มนับอายุความ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 435/2535 การที่จำเลยเข้าไปสร้างรั้ว ท้องครัว ห้องน้ำในที่ดินของโจทก์เพื่อถือการครอบครองเป็นของตนนั้น ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นและสำเร็จ เมื่อจำเลยเข้าไปกระทำการดังกล่าว ส่วนการที่จำเลยครอบครองที่ดินต่อมา เป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น หาเป็นความผิดต่อเนื่องไม่
- การฟ้องคดี ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว อายุความจึงจะหยุดนับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 270/2528 ตาม ป.อ. ม.95 นั้น ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว อายุความจึงจะหยุดนับ บทบัญญัติมาตรานี้ไม่ได้ใช้บังคับในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เท่านั้น ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ก็ต้องถือหลักอย่างเดียวกัน / โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2507 ถึงวันที่30 มีนาคม 2514 ความผิดของจำเลยที่โจทก์ฟ้องมีอายุความ 10 ปีโจทก์จะต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดมายังศาลภายใน วันที่ 30 มีนาคม 2524 คดีจึงจะไม่ขาดอายุความ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลย วันที่ 30 มีนาคม 2524 แต่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไป ระหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยมายังศาลและจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วไม่ได้อายุความยังไม่หยุดนับ ศาลชั้นต้นสั่งคดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดีและได้ตัวจำเลยมาพิจารณาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2524 เกิน 10 ปี นับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว
มาตรา 96 ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่ “รู้เรื่องความผิด” และ “รู้ตัวผู้กระทำความผิด” เป็นอันขาดอายุความ
- มาตรา 96 อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 95
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2440/2523 จำเลยฉ้อโกงได้โฉนดของโจทก์ไป เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2494 ซึ่งเป็นวันกระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่โจทก์มาฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2522 เกินสิบปี คดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.อ.ม.95 สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.ว.อ. ม.39 (6) แม้โจทก์จะอ้างว่าได้ฟ้องจำเลยหลังจากรู้เรื่องความผิดภายใน 3 เดือน ตาม ป.อ. ม.96 ก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้อง เพราะสิทธิฟ้องของโจทก์ตามมาตรานี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับ ม. 95
- วิธีการนับเวลา ในเรื่องอายุความ กรณีวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2212/2515 กำหนดเวลาที่ให้ผู้เสียหายในความผิดอันยอมความได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน มิฉะนั้นเป็นอันขาดอายุความนั้น เป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ฯลฯ แต่ถ้าผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์เสียก่อน จะใช้สิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลด้วยตนเอง ก็ย่อมกระทำได้ภายในกำหนดระยะเวลาเดียวกัน / ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเป็นวันหยุด ซึ่งตามประเพณีงดเว้นการงาน ท่านให้นับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 161 ดังนั้นเมื่อระยะเวลาที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ได้สิ้นสุดลงในวันหยุดราชการ ผู้เสียหายจึงยื่นฟ้องต่อศาลในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเริ่มทำงานใหม่ได้ โดยไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1306/2524 ความผิดอันยอมความได้ วันที่โจทก์รู้ความผิดของจำเลยครบ 3 เดือนเป็นวันเสาร์หยุดราชการถึงวันอาทิตย์ วันจันทร์โจทก์ยื่นฟ้อง ไม่ขาดอายุความ
- วิธีการนับเวลา ในเรื่องอายุความ การเริ่มนับอายุความ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2272/2527 แม้จำเลยปิดป้ายประกาศหมิ่นประมาทโจทก์ก่อนวันที่โจทก์ไปร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเกิน 3 เดือนก็ตาม การโฆษณาหมิ่นประมาท นับแต่วันปิดประกาศ ก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องกันไป อันถือได้ว่าเป็นความผิดต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการปลดป้ายประกาศออกไป ซึ่งถือได้ว่า การกระทำอันเป็นมูลแห่งความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ยุติลง อายุความย่อมจะต้องเริ่มนับ ตั้งแต่วันที่มีการปลดป้ายประกาศออกคือวันที่ 2 กันยายน 2524 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยหมิ่นประมาท และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2524 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5662/2530 จำเลยเบิกความในคดีที่บิดาจำเลยร้องขัดทรัพย์ ว่าจำเลยทราบอยู่แล้วว่า บ้านที่โจทก์นำยึดเป็นของบิดาจำเลย แสดงว่าจำเลยรู้มาแต่แรกแล้วว่าบ้านไม่ใช่ของจำเลย การที่จำเลยนำบ้านดังกล่าวประกันเงินกู้โจทก์ โดยระบุในสัญญากู้ว่าเป็นบ้านของจำเลย จึงเป็นการหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้โจทก์ยอมให้จำเลยกู้เงิน และส่งมอบเงินที่กู้ให้การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง / ปัญหาอายุความความผิดฐานฉ้อโกงในคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ การที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด จำต้องอาศัยข้อเท็จจริง ในคดีที่บิดาจำเลยร้องขัดทรัพย์ว่า บ้านที่จำเลยนำไปประกันเงินกู้โจทก์นั้น เป็นบ้านของจำเลยหรือของบิดาจำเลย จึงต้องถือว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อคดีร้องขัดทรัพย์ถึงที่สุดแล้ว
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6368/2534 โจทก์ร่วมรู้ถึงการหลอกลวง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2527 แม้เพิ่งมีหลักฐานเมื่อเดือนธันวาคม 2527 แสดงว่าจำเลยฉ้อโกง ก็เป็นเรื่องของการหาหลักฐานในการดำเนินคดี อันเป็นคนละกรณี กับที่โจทก์ร่วมรู้ว่าถูกหลอกลวง อายุความต้องเริ่มนับแต่เดือนกันยายน 2527 โจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2528 จึงเกินกำหนด 3 เดือนเมื่อเป็นคดีความผิดอันยอมความได้ คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ.มาตรา 96
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3085/2537 โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ล. ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ของบริษัท โดยโจทก์มิได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยไว้ก่อน ดังนี้ เมื่อได้ความว่าก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ด. ผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เสียหาย และมีอำนาจร้องทุกข์เช่นเดียวกับโจทก์ ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ ด. รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ.มาตรา 96 (คดีของโจทก์ขาดอายุความไปด้วย อาจเป็นเพราะถือว่าเป็นผู้เสียหาย ใช้สิทธิเดียวกัน เมื่อคนหนึ่งสิ้นสิทธิดำเนินคดี อีกคนหนึ่งสิ้นสิทธิไปด้วย)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 815/2541 จำเลยนำรถจักรยานยนต์เข้าไปจอดและตั้งแสดงบนที่ดินของโจทก์ร่วม ที่อยู่ติดกับร้านขายรถจักรยานยนต์ของจำเลยเพื่อขายในเวลากลางวัน และนำเข้าเก็บรักษาในร้านในเวลากลางคืน เป็นการเคลื่อนย้ายรถจักรยานยนต์ ออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมเป็นการชั่วคราว เพื่อจะนำเข้าไปตั้งแสดงใหม่ในวันรุ่งขึ้นด้วย จุดประสงค์เดียวกันกับที่ได้กระทำมาแล้วในครั้งแรกอีก แม้จะมีการกระทำหลายครั้ง แต่ก็เป็นเพียงการกระทำที่ยืดออกไปจากการกระทำความผิดครั้งแรก และเป็นเพียงผลของการบุกรุกที่ได้กระทำสำเร็จไปแล้ว ต้องถือว่าการกระทำของจำเลย เป็นความผิดกระทงเดียวนับแต่การกระทำความผิดครั้งแรกสำเร็จลง / ความผิดฐานบุกรุกเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2536 แต่เพิ่งร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2537 พ้นกำหนด 3 เดือนแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
- ความผิดต่อส่วนตัว
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1319/2462 อัยยการนครสวรรค์ โจทก์ นายดำ จำเลย ธ.3 หน้า 749 (ประชุมสารบัญฎีกา 1748 รวมฎีกา 35 ปี ตอนที่ 3 บรรพ 5 ลักษณะอาชญา โดยนายมาลัย จั่นสัญจัย หน้า 1748) จำเลยได้ใช้สาสตราวุธ สับฟันประตูสถานีรถไฟแตกหักเสียหาย อัยยการจึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 324 - 325 โดยไม่มีผู้ร้องทุกข์ ปัญหามีว่าอัยยการจะมีอำนาจฟ้องได้หรือไม่ ตัดสินว่าถึงแม้จะเป็นความผิดต่อส่วนตัวก็ดี อัยยการก็มีอำนาจฟ้องได้เพราะเท่ากับเป็นเจ้าทุกข์เสียเอง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 405/2464 อัยยการนครสวรรค์ โจทก์ นายดำจำเลย ธ.5 หน้า 294 (ประชุมสารบัญฎีกา 1748 รวมฎีกา 35 ปี ตอนที่ 3 บรรพ 5 ลักษณะอาชญา โดยนายมาลัย จั่นสัญจัย หน้า 1748) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวนั้น ถ้าแม้ทรัพย์ที่เสียหาย เป็นทรัพย์ของรัฐบาลแล้ว อัยยการก็มีอำนาจฟ้องได้ โดยไม่ต้องมีผู้ร้องทุกข์ (ข้อมูล website ศาลฎีกา ย่อฎีกา ฎ 405/2464 ความผิดทำให้เสียทรัพย์ของแผ่นดิน เช่นฟันประตูเสาแลฝาสถานีรถไฟหลวงชำรุด ถึงแม้จะไม่มีผู้ร้องทุกข์ พนักงานอัยการก็ว่าความได้เสมอ)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1013/2474 อัยยการนครศรีธรรมราช โจทก์ นายเผือก จำเลย ธ. 15 หน้า 1211 (ประชุมสารบัญฎีกา 1748 รวมฎีกา 35 ปี ตอนที่ 3 บรรพ 5 ลักษณะอาชญา โดยนายมาลัย จั่นสัญจัย หน้า 1388) คดีความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งอัยยการเป็นโจทก์ฟ้องร้องนั้น ถ้าจำเลยมิได้รับว่าเจ้าทุกข์ได้มอบคดีให้โจทก์ว่ากล่าวแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของอัยยการจะต้องนำสืบว่าเจ้าทุกข์ได้มอบคดีให้ว่ากล่าว อัยยการจึงจะมีอำนาจฟ้องได้ เพียงแต่กล่าวในฟ้องเท่านั้นยังไม่พอ
- คำชี้ขาดความเห็นแย้งโดยอัยการสูงสุด 61/2537 (รวมคำชี้ขาดฯ 2535 - 2538 เล่ม 1 น 185 ) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เป็นความผิดที่กระทำต่อกรรมสิทธิ์ เจ้าของทรัพย์เท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายได้ ผู้เช่ายังไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ที่กระทำต่อกรรมสิทธิ์ และการกระทำในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องเป็นการกระทำต่อทรัพย์ “ให้มีสภาพเลวลง” ลำพังการกระทำของผู้ต้องหาที่เป็นการปรับปรุงดัดแปลงนั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการทำให้เสียหายฯลฯ อย่างไร จึงชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาฐานทำให้เสียทรัพย์ (เทียบ ข้อหารือ ที่ อส 0017/14144 ลว 8 พ.ย. 2537 ทรัพย์สินของนิติบุคคลซึ่งเป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินของส่วนรวม ฉะนั้น ความผิดฐานฉ้อโกงที่กระทำต่อนิติบุคคลที่เป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ จึงไม่เป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ที่จะต้องห้ามตามมาตรา 121 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การดำเนินคดีกับผู้ฉ้อโกงทรัพย์สินขององค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ จึงกระทำได้โดยมิพักต้องมีการร้องทุกข์
มาตรา 97 ในการฟ้องขอให้กักกัน ถ้าจะฟ้องภายหลังการฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกัน ต้องฟ้องภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ฟ้องคดีนั้น มิฉะนั้นเป็นอันขาดอายุความ
มาตรา 98 เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี แล้วแต่กรณี เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้
(1) ยี่สิบปี สำหรับโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกยี่สิบปี
(2) สิบห้าปี สำหรับโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(3) สิบปี สำหรับโทษคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(4) ห้าปี สำหรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีลงมาหรือโทษอย่างอื่น
มาตรา 99 การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือการกักขังแทนค่าปรับ ถ้ามิได้ทำภายในกำหนดห้าปี นับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด จะยึดทรัพย์สินหรือกักขังไม่ได้
ความในวรรคแรกมิให้ใช้บังคับ ในกรณีการกักขังแทนค่าปรับ ซึ่งทำต่อเนื่องกับการลงโทษจำคุก
มาตรา 100 เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้กักกันผู้ใด ถ้าผู้นั้นยังมิได้รับการกักกันก็ดี ได้รับการกักกันแต่ยังไม่ครบถ้วน โดยหลบหนีก็ดี ถ้าพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่พ้นโทษ โดยได้รับโทษตามคำพิพากษาแล้ว หรือโดยล่วงเลยการลงโทษ หรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนีระหว่างเวลาที่ต้องกักกัน เป็นอันล่วงเลยการกักกัน จะกักกันผู้นั้นไม่ได้
มาตรา 101 การบังคับตามคำสั่งของศาลตามความในมาตรา 46 หรือการร้องขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินเมื่อผู้ทำทัณฑ์บน ประพฤติผิดทัณฑ์บนตามความในมาตรา 47 นั้น ถ้ามิได้บังคับหรือร้องขอภายในกำหนดสองปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง หรือนับแต่วันที่ผู้ทำทัณฑ์บนประพฤติผิดทัณฑ์บน จะบังคับหรือร้องขอมิได้
ลักษณะ 2 บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดลหุโทษ มาตรา 102 - 106
มาตรา 102 ความผิดลหุโทษ คือความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามานี้ด้วยกัน
- คำพิพากษาฎีกาที่ 870/2496 นอกจากความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 3 แล้ว มาตรา 102 ใช้ในกฎหมายอื่นด้วย ฉะนั้นความผิดตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่มีระวางโทษไม่เกินที่ระบุไว้ในมาตรา 102 ถือเป็นความผิดลหุโทษด้วย
มาตรา 103 บทบัญญัติในลักษณะ 1 ให้ใช้ในกรณีแห่งความผิดลหุโทษด้วย เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในสามมาตราต่อไปนี้
- เหตุที่ต้องบัญญัติมาตรานี้ ก็เพราะจะใช้ มาตรา 17 กับความผิดลหุโทษในภาค 3 ไม่ได้ เนื่องจาก มาตรา 17 บัญญัติให้นำบทบัญญัติในภาค 1 ไปใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่น
มาตรา 104 การกระทำความผิดลหุโทษ ตามประมวลกฎหมายนี้ แม้กระทำโดยไม่มีเจตนาก็เป็นความผิด เว้นแต่ตามบทบัญญัติความผิดนั้นจะมีความบัญญัติให้เห็นเป็นอย่างอื่น
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3118/2516 ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศให้ผู้อ้างสิทธิว่าเป็นเจ้าของที่ดินในที่สาธารณประโยชน์ ไปยื่นคำร้องขอพิสูจน์สิทธิภายใน 15 วัน จำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินส่วนหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว และเข้าใจโดยสุจริตว่าครอบครองโดยชอบ โดยทางราชการผ่อนผันให้ครอบครองไปจนกว่าทางราชการจะพิจารณาแล้ว เห็นว่าจำเป็นจะต้องให้จำเลยออกจากที่ดิน และแจ้งให้ออกแล้ว ดังนี้ แม้ต่อมานายอำเภอได้แจ้งให้จำเลยออกไปจากที่ดินนั้น โดยอ้างว่าการที่จำเลยบุกรุกเข้าไปก่อความเดือดร้อนแก่สาธารณะชน และจำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ออกไป ก็ไม่เป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎหมายหรือคำสั่งของนายอำเภอ การกระทำของจำเลยขาดเจตนาอันเป็นองค์ประกอบความผิด ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 368
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1119/2517 ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่น ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามมาตรา 391 ผู้กระทำต้องมีเจตนาจึงจะเป็นความผิด
มาตรา 105 ผู้ใด “พยายาม” กระทำความผิดลหุโทษ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 273/2509 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยยกเท้าซึ่งสวมรองเท้าเงื้อจะถีบผู้เสียหาย แต่ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า ถ้าจำเลยกระทำไปโดยตลอดแล้วจะเกิดผลอย่างไร ผลธรรมดาอันจะเกิดขึ้น เพราะการถีบ จะทำให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือไม่ ไม่อาจเล็งเห็นได้ หากจำเลยกระทำไปโดยตลอดแล้ว ผลที่เกิดไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว ความผิดนั้นก็เป็นเพียงลหุโทษ ผู้พยายามกระทำความผิดลหุโทษไม่ต้องรับโทษ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยพยายามกระทำให้ผู้เสียหายเกิดอันตรายแก่กายแล้ว ก็ลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้ / การใช้เท้าเงื้อจะถีบไม่เป็นอันตรายต่อจิตใจ เพราะอันตรายต่อจิตใจนั้น ต้องเป็นผลจากการทำร้าย แต่ความรู้สึกว่าถูกเหยียดหยาม เจ็บใจ แค้นใจ เหล่านี้เป็นอารมณ์ หาใช่เป็นอันตรายต่อจิตใจไม่
มาตรา 106 “ผู้สนับสนุน” ในความผิดลหุโทษ ไม่ต้องรับโทษ
- กฎหมายยกเว้นเฉพาะผู้สนับสนุน ส่วน ผู้ร่วมกระทำความผิด และผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามมาตรา 83 และ 84 ยังมีความผิดอยู่ต่อไป
- ความผิดที่เป็นลหุโทษ เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่ “พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบ” แล้ว หรือชำระค่าปรับตามที่นายตำรวจประจำท้องที่ตั้งแต่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป หรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ผู้ทำการในตำแหน่งนั้น ได้เปรียบเทียบแล้ว “คดีเป็นเลิกกัน” ปวิอ มาตรา 37 (2) (3)
- ในกรณีซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ จะ “ควบคุมผู้ถูกจับ” ไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ และที่จะรู้ตัวว่าเป็นใคร และที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น ตาม ปวิอ มาตรา 87 วรรคสอง
- “คำพิพากษาคดีลหุโทษ” ไม่จำเป็นต้องมีข้อหาและคำให้การ ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความและเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตาม ปวิอ มาตรา 186 วรรคสอง
- ถ้าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนในความผิดลหุโทษ ศาลจะรอการลงโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ก็ได้ และภายในเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา 56 ถ้าจำเลยกระทำความผิดลหุโทษและศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ศาลที่พิพากษาคดีหลังจะบวกโทษในคดีก่อนไม่ได้ (ดู มาตรา 85)
- การกระทำความผิดลหุโทษ ไม่ขาดคุณสมบัติในการเป็นข้าราชการพลเรือน หรือข้าราชการตุลาการ การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3763/2527 คดีความผิดลหุโทษตามมาตรา 368, 386 มิใช่คดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลได้ ตาม ปวิอ ม 120 ผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษจะเป็นผู้ใด หามีความสำคัญไม่
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4947/2531 ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บฟกช้ำที่ใบหน้าด้านซ้ายเพียงแห่งเดียว ยังถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 295 ผู้กระทำคงมีความผิดตามมาตรา 391 จำเลยเป็นผู้สนับสนุน จึงไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 106
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4947/2531 การที่จำเลยเพียงแต่ร้องบอกว่า "เอามันให้ตายเลย" แล้วพวกของจำเลยได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายนั้น เป็นการที่จำเลยก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ตามมาตรา 84 แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน จะลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ แต่การที่จำเลยร้องบอกดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ / ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บฟกช้ำที่ใบหน้าด้านซ้าย เพียงแห่งเดียวแพทย์ลงความเห็นว่ารักษาประมาณ 7 วัน ยังถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามมาตรา 295 ผู้กระทำความผิดคงมีความผิดตาม มาตรา 391 จำเลยเป็นผู้สนับสนุนความผิดดังกล่าว อันเป็นความผิดลหุโทษ จึงไม่ต้องรับโทษตาม มาตรา 106
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น