ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๓๔๐ ทวิ , ตรี


มาตรา 340 ทวิ          ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำต่อ ทรัพย์ตามมาตรา 335 ทวิวรรคแรก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการปล้นทรัพย์นั้น เป็นการกระทำ ในสถานที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 335 ทวิวรรคสองด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสอง ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสอง เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสอง ได้กระทำโดยแสดงความทารุณ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิด หรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการปล้นทรัพย์ตามวรรคแรกหรือวรรคสอง เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต

มาตรา 340 ตรี          "ผู้ใด" กระทำความผิดตาม มาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจ หรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะ เพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1278/2518 ป.อ.มาตรา 340 ตรี ที่ว่า "ผู้ใดกระทำความผิดตาม..ฯลฯ มาตรา 340 โดยมีหรือใช้อาวุธปืน  ฯลฯ" ต้องระวางโทษหนักขึ้นกึ่งหนึ่งนั้น เฉพาะตัวผู้มีหรือใช้อาวุธปืน ผู้ที่ร่วมกระทำการปล้น แต่ไม่ได้มีหรือใช้อาวุธปืน ไม่ต้องด้วยมาตรา 340 ตรี
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 453/2523 ป.อ.ม.340ตรี เป็นเพียงเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตราที่ระบุไว้ได้รับโทษหนักขึ้นเท่านั้น หาได้เป็นความผิดต่างหากอีกบทหนึ่งไม่ และไม่ใช่เรื่องของการเพิ่มโทษ ดังนั้นเมื่อลงโทษให้ประหารชีวิตแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะระวางโทษหนักกว่า หรือหนักขึ้นกึ่งหนึ่งตามที่ ป.อ.ม.340 ตรี บัญญัติไว้ได้ จึงนำ ม.340 ตรี นี้มาปรับด้วยไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 464/2523 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปจอดคอยอยู่ที่ปากซอยบ้านผู้เสียหายจำเลยที่ 2 และพวก 2  คนเข้าไปปล้นทรัพย์ผู้เสียหายแล้วหนีมาขึ้นรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์พาจำเลยที่ 2 และพวกหนีออกไปในลักษณะรีบร้อนเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2  ปล้นทรัพย์โดยแบ่งหน้าที่กัน จึงเป็นตัวการในความผิดฐานปล้นทรัพย์ / ม.340 ตรี เป็นเพียงเหตุให้รับโทษหนักขึ้น  มิใช่ความผิดอีกบทหนึ่งโดยเฉพาะ ศาลลงโทษ โดยอ้าง ม.340 ประกอบ ม.340 ตรี
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 879/2522 ม.340 ตรี ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 มิใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากโดยลำพัง เป็นแต่บทบัญญัติให้ต้องรับโทษหนักขึ้น อันเป็นคนละเรื่องกับการเพิ่มโทษ จึงนำ ม.51 มาเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็น 50 ปีไม่ได้ และนำ ม.340 ตรี มาใช้ไม่ได้ จำเลยคงมีความผิดตาม ม.339 วรรคท้าย ลดโทษตาม ม.51,78 ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1835/2522 ป.อ.ม.340ตรี เป็นเหตุให้รับโทษหนักขึ้น มิใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหาก ศาลลงโทษจำเลยตาม ม.340 ตรี ซึ่งเป็นบทหนักเท่านั้นไม่ได้ ต้องลงโทษตาม ม.340, 340ตรี
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 431/2527 คนร้าย 2 คน มีปืนพกคนละกระบอกขึ้นไปบนบ้านผู้เสียหาย ใช้ปืนจี้ขู่บังคับเอาวิทยุเทปไป เมื่อคนร้ายลงไปถึงรั้วบ้านมีจำเลยเดินตามไปด้วย ดังนี้ จำเลยซึ่งมิได้มีอาวุธปืนไม่มีความผิดตาม ม. 340 ตรี ซึ่งมุ่งหมายลงโทษเฉพาะตัวผู้มีอาวุธปืนเท่านั้น คงมีความผิดตาม ม.340 วรรคสอง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1862/2527 เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นผู้ฆ่า แต่ร่วมในการปล้นโดยมีอาวุธปืนเป็นเหตุให้คนตาย และร่วมในการจับคนไปเรียกเรียกค่าไถ่ จึงลงโทษตาม ป.อ. ม.289 ไม่ได้ คงมีความผิดตาม ม.340 วรรคท้าย ซึ่งมีโทษประหารชีวิต ไม่อาจวางโทษให้หนักขึ้นอีกกึ่งหนึ่งตาม ม.340 ตรี ได้ ให้ลงโทษประหารชีวิตกระทงหนึ่ง และลงโทษตาม ม.313 ประกอบด้วย ม.316 ปี อีกกระทงหนึ่ง ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 เหลือโทษกระทงแรก จำคุกตลอดชีวิต กระทงหลังจำคุก 10 ปี รวมโทษสองกระทงแล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยได้แค่ตลอดชีวิตตาม ม. 91 (3)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1946/2527 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยอื่นปล้นทรัพย์ เมื่อศาลลงโทษจำเลยอื่นซึ่งเป็นตัวการฐานปล้นทรัพย์   ตาม ป.อ. ม.340 วรรคสอง มิได้ลงโทษตาม ม.340 ตรี เท่ากับพิพากษาว่า ไม่ได้ใช้ยานพาหนะในการปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 4 จึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการเท่าจำเลยอื่น แม้โจทก์จะนำสืบว่าจำเลยที่ 4 นำรถยนต์ของกลางไปใช้จ้างวานให้จำเลยอื่นกระทำผิดก็ตาม ก็ลงโทษจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ใช้ตาม ม.340 ตรี ไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2258/2531 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการปล้นทรัพย์รายเดียวกันจะต้องระวางโทษหนักทุกคน คนร้ายคนหนึ่งซึ่งเป็นพวกของจำเลยมีและใช้อาวุธปืนในการปล้นทรัพย์ จำเลยทั้งสองไม่ได้มีหรือใช้อาวุธปืนด้วย กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 340 ตรี เมื่อการปล้นทรัพย์ไม่สำเร็จ จำเลยทั้งสองคงมีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 80
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3768/2541 แม้เจตนาเดิมจำเลยจะใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อให้พ้นการจับกุมในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่ร้านทองก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์แล้ว จำเลยก็ได้ใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าว เป็นยานพาหนะขับหลบหนีไป แสดงว่าจำเลยยังมีเจตนาที่จะใช้รถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับมาจอดไว้นั้น เป็นยานพาหนะในการหลบหนี เพื่อให้พ้นการจับกุมในความผิดฐานชิงทรัพย์นี้ด้วย  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์ เป็นยานพาหนะเพื่อให้พ้นจากการจับกุมตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี

-          มีหรือใช้อาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด
-          พรบ อาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1150/2518 ในการปล้นทรัพย์ซึ่งใช้ปืนยิง ผู้ร่วมกระทำทุกคนมีความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรค 4 แต่เฉพาะตัวผู้ที่ใช้ปืนเท่านั้นที่ต้องรับโทษหนักขึ้นตามาตรา 340 ตรี ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 15
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1168/2518 จำเลยกระทำการชิงทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยมีอาวุธและมีพวก จึงเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 339 วรรคสอง และเมื่ออาวุธนั้นเป็นอาวุธปืนซึ่งจำเลยเป็นผู้มีและใช้ ก็ต้องระวางโทษหนักกว่ากึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 340 ตรี โดยคำนวณเพิ่มจากโทษ ตามมาตรา 339 วรรคสอง ที่จำเลยจะได้รับ ไม่ใช่วรรคแรก
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2041/2519 ใช้อาวุธปืนขู่ปล้นทรัพย์ในเมือง เป็นความผิดตาม ป.อ. ม. 340 วรรค 2 ผู้พกปืนมีความผิดตาม ม.371 ต่างกระทงกัน เฉพาะผู้ที่ใช้ปืนขู่รับโทษหนักขึ้นตาม ม.340 ตรี  จาก ม. 340 วรรค 2 อีกด้วย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1664/2520 คนร้ายปล้นทองในร้าน จำเลยวิ่งหนีออกจากร้านยิงตำรวจ เป็นการกระทำหลังจากปล้นทรัพย์สำเร็จแล้ว เป็นปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานคนละกระทงกัน ไม่เป็นความผิดฐานปล้นและทำให้เกิดอันตรายสาหัสตาม ม.340 วรรค 3 แต่เป็นความผิดตาม ม.340 วรรค 2, 340 ตรี กระทงหนึ่งผิด ม.289, 80 กระทงหนึ่ง กับผิด พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ อีกกระทงหนึ่ง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 8/2539 ปืนไฟแช็กที่จำเลยได้ใช้จี้ผู้เสียหายนั้นเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืน มิใช่อาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯจึง ไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 7562/2542 ป.อ. มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการชิงทรัพย์รายเดียวกันจะต้องระวางโทษหนักขึ้นทุกคน เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ล็อกคอผู้เสียหายไม่ได้มี หรือใช้อาวุธปืนด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว



-          ใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 778/2519 ความผิดตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2514  ข้อ 15 มาตรา 340 ตรี นั้น ต้องได้ความว่าได้ชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด ฯลฯ ไม่ใช่ชิงรถจักรยานยนต์พาไป
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 316/2521 ปล้นเอาเงินในกระเป๋าคนขับรถสามล้อเครื่อง แล้วขับรถสามล้อเครื่องที่ผู้เสียหายขับขี่มาหลบหนีไป เป็นการปล้นทั้งเงินและรถพาทรัพย์ไปตามสภาพแห่งทรัพย์ ไม่เป็นกรณีรับโทษหนักขึ้นตาม ม.340 ตรี
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2663/2522 จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถคอยช่วยเหลือพวกที่กำลังปล้น รถยนต์ของกลาง จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 กับพวกใช้ในการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ ศาลมีอำนาจสั่งริบ / จำเลยที่ 1 ขับรถแล่นขึ้นล่องไปมาในท้องที่เกิดเหตุก่อนเกิดเหตุ และขับรถตามหลัง แล้วแซงขึ้นหน้ารถโดยสารคันที่ถูกปล้น เพื่อคอยช่วยเหลือจำเลยอื่น ขณะทำการปล้นอยู่ในรถ ทั้งเพื่อคอยรับพาหลบหนีหลังจากการปล้นทรัพย์เสร็จสิ้นแล้ว จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด มิใช่เป็นตัวการร่วมปล้นทรัพย์ด้วย โดยการแบ่งหน้าที่กันทำ เพราะมิได้มาในรถโดยสารและร่วมปล้นด้วย เมื่อจำเลยอื่นร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สนับสนุนในการปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธด้วย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 234/2530 ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์สวนทางกับจำเลย แล้วผู้เสียหายถูกพวกของจำเลย 2 คนใช้อาวุธปืนจี้บังคับเอาทรัพย์ ขณะที่มีการค้นตัวผู้เสียหาย จำเลยขับรถจักรยานยนต์ย้อนกลับมาจอดห่างผู้เสียหายประมาณ 1 วาแต่มิได้ลงจากรถ เมื่อพวกของจำเลยได้ทรัพย์จากผู้เสียหายแล้ว จำเลยก็ขับรถจักรยานยนต์ออกไป และพวกของจำเลยก็ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซ้อนท้ายตามไป พฤติการณ์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อกระทำผิด แต่การที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ออกไปจากที่เกิดเหตุพร้อมกับพวก เป็นเหตุให้ผู้เสียหายซึ่งออกติดตามพวกของจำเลยไป ไม่สามารถติดตามได้ทัน ถือได้ว่าจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะหลบหนีไปเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี แล้ว / รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะที่จำเลยขับมา และขับออกไปจากที่เกิดเหตุ แม้จะเป็นความผิดตามมาตรา 340ตรี แต่การจะริบหรือไม่ จะต้องเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดตาม ม.33 (1) เมื่อของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิด จึงริบไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1985/2531 จำเลยที่ 1 อาศัยรถยนต์ที่จำเลยที่ 3 ขับไปกระทำกิจธุระอื่น โดยมิได้มีเจตนากระทำผิดฐานชิงทรัพย์มาก่อน เหตุชิงทรัพย์เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน โดยจำเลยที่ 1 ลงไปกระทำการ ขณะที่รถยนต์จอดเพราะการจราจรติดขัด ประกอบกับจำเลยที่ 3 ก็มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยแต่อย่างใด การชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 1  จึงไม่เป็นการกระทำโดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4781/2537 จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของกลางของพวกจำเลย ไปพยายามปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย เมื่อพวกของจำเลยคนหนึ่งใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ที่ขับรถจักรยานยนต์ของตนหนีไป จำเลยกับพวก ก็ไม่ได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลาง เป็นพาหนะติดตามผู้เสียหายไป รถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นเพียงยานพาหนะไปมา และพาจำเลยกับพวกหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมโดยสะดวกและรวดเร็วเท่านั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันพึงจะริบ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1893/2538 จำเลยลงจากรถจักรยานยนต์ของพวกจำเลย ซึ่งจอดที่ถนนห่างผู้เสียหายประมาณ 15 เมตร และไปชิงเอาทรัพย์ของผู้เสียหายได้แล้วก็กลับมานั่งซ้อนท้ายรถที่จอดอยู่หลบหนีไป ถือว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อพาทรัพย์นั้นไปและหลบหนีเพื่อให้พ้นการจับกุมตาม ป.อ.มาตรา 340 ตรี
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 7562/2542 โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองตระเตรียมการนำรถแท็กซี่มาใช้ประกอบอาชญากรรมชิงทรัพย์ เพื่อให้พ้นจากการจับกุม การที่จำเลยทั้งสองชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วหนีลงมาชั้นล่างแล้วขึ้นรถแท็กซี่หลบหนีไป จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 340 ตรี

-                   ประเด็นตามกฎหมายวิธีพิจารณาความ - การบรรยายฟ้อง
-                   คำพิพากษาฎีกาที่ 5999/2544 คำฟ้องของโจทก์ระบุเพียงว่า ก่อนชิงทรัพย์จำเลยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อสะดวกในการเดินทางมาทำการชิงทรัพย์ จะแปลข้อความไปในทาง ที่เป็นผลร้ายว่า จำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่ได้ เพราะจำเลยอาจเพียงแต่ใช้รถจักรยานยนต์เดินทางมา และจอดรถไว้ แล้วเดินไปยังที่เกิดเหตุซึ่งอยู่อีกแห่งหนึ่งแล้วทำการชิงทรัพย์ โดยไม่ได้ใช้รถเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลยก็ได้ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่อาจแปลได้ว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ ที่จะต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี

ไม่มีความคิดเห็น: