ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๒๗๐ - ๒๗๕

ลักษณะ 8 ความผิดเกี่ยวกับการค้า

มาตรา 270 ผู้ใดใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ ซึ่งเครื่องชั่ง เครื่องตวง หรือเครื่องวัดที่ผิดอัตรา เพื่อเอาเปรียบในการค้าหรือมีเครื่องเช่นว่านั้นไว้ เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1885/2517 การมีไว้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตรา ต้องมีเจตนาเอาเปรียบในการค้าจึงจะเป็นความผิด เป็นหน้าที่โจทก์จะต้องนำสืบให้ปรากฏ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบหรือนำสืบไม่ได้ ลงโทษจำเลยไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 32/2520 จำเลยใช้เครื่องชั่งพิกัดกำลัง 35 กิโลกรัม ในการชั่งน้ำหนักขายข้าวสารและสินค้าอื่น ๆ ตุ้มน้ำหนักขาดไปจากน้ำหนักมาตราฐาน ทำให้จำเลยได้เปรียบลูกค้าเป็นความผิดฐานนี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1554/2521 การ มีเครื่องชั่ง เครื่องตวง หรือเครื่องวัด ที่ผิดอัตรา เพื่อเอาเปรียบในการค้าเป็นความผิดสำเร็จในทันที แม้จะยังไม่ได้ใช้ชั่งสินค้าที่ขาย จำเลยมีเครื่องชั่งที่ผิดอัตรา เพื่อใช้ในกิจการค้าและเพื่อเอาเปรียบในการค้า ผิดตามมาตรานี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 664/2524 การมีไว้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตราต้องมีเจตนาเอาเปรียบในการค้า เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเครื่องชั่งดังกล่าวไว้เพื่อเอาเปรียบในการค้า ย่อมขาดองค์ประกอบความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1885/2527 แม้จำเลยมีเครื่องตวง เครื่องชั่ง ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ในครอบครอง เพื่อใช้ในการพาณิชย์ ก็จะฟังว่าจำเลยมีเครื่องตวง เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในทางการค้าไปทีเดียวไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยมีเจตนาเอาเปรียบในทางการค้า เป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบให้ปรากฏ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบหรือนำสืบไม่ได้ ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. ม.270 ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3590/2527 จำเลย มีเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า และ ใช้เครื่องชั่งดังกล่าวในวันเวลาเดียวกัน ก็เท่ากับว่าจำเลยมีเจตนาอันเดียวกัน การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม ม 270

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1645/2532 จำเลยมีเครื่องชั่ง ไว้ชั่งข้าวเปลือกที่ซื้อจากผู้ขาย วัตถุที่มีน้ำหนักจริง 500 กิโลกรัม ชั่งได้น้ำหนัก 502 กิโลกรัม ทำให้ผู้ขายได้กำไร 2 กิโลกรัม ถือไม่ได้ว่าเป็นการเอาเปรียบในการค้า ตาม ม 270 ผิด พรบ มาตราชั่งตวงวัด พ..2466 31, 38

- คำพิพากษาฎีกาที่ 357 – 358/2535 จำเลยทั้งสามตกลง ทำการชั่งเศษทองแดงที่จำเลยทั้งสองตกลงซื้อจากโจทก์ร่วมรวม 13 ครั้ง ต่างวันเวลากับด้วยเครื่องชั่งที่ผิดอัตรา ผิด ม 270 และ พรบ มาตรชั่งตวงวัด ม 31 หลายกรรม รวม 13 ครั้ง แต่การกระทำแต่ละครั้งนั้น จำเลยทั้งสาม มีและ ใช้เครื่องชั่งในวันเวลาเดียวกัน มีเจตนาเดียวเป็นกรรมเดียว ลงโทษตาม ม 270


มาตรา 271 ผู้ใด ขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้น อันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 992/2456 การตีความกฎหมายอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัด การขายไม่รวมถึงการแลกเปลี่ยนหรือจำนำ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1277/2494 โจทก์ไม่บรรยายว่าหลอกลวงด้วยประการใด อย่างไร ผู้ซื้อมีหน้าที่ตรวจตราของที่ซื้อเอง และซื้อโดยเข้าใจไปเอง การขาย ก็ไม่เป็นความผิด ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1510/2515 มาตรา 271 เอาผิดแก่ผู้ขายของโดยหลอกลวง ผู้เสียหายคือผู้ซื้อ โจทก์เป็นเจ้าของสินค้าที่แท้จริงที่ผู้ขายเอาเครื่องหมายการค้ามาเลียนหลอกขาย ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 9/2537 ความผิดฐานปลอมเอกสาร และความผิดฐานขายของโดยหลอกลวงนั้น เป็นความผิดคนละอย่างแยกออกจากกันได้ การที่จำเลยเจตนา ปลอมเอกสารเพื่อขายของ โดยหลอกลวง เป็นเจตนาต่างกัน เพียงแต่มีเจตนาพิเศษหรือมูลเหตุจูงใจให้กระทำผิดเป็นอันเดียวกัน จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ผิดหลายกรรมต่างกัน ตามมาตรา 91

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3351/2542 จำเลยส่งไข่ผงที่เสื่อมคุณภาพแล้วให้โจทก์ร่วม โดยหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ว่าไข่ผงดังกล่าว เป็นนมผงตามที่โจทก์ร่วมสั่งซื้อ เพื่อหวังจะได้เงินจากโจทก์ร่วม อันเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริต เพียงแต่โจทก์ร่วมยังไม่ได้ชำระเงินให้จำเลย การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดฐานพยายามฉ้อโกง ไม่เป็นความผิดฐานขายของโดยหลอกลวงตาม ป.อ. มาตรา 271 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการขายของโดยหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพและคุณภาพแห่งของอันเป็นเท็จอีกหรือไม่ Ø หมายเหตุ องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 กับ มาตรา 341 ใกล้เคียงกันมากกล่าวคือ 1. มีการหลอกลวงเหมือนกัน เพียงแต่ความผิดตามาตรา 271 นั้นเป็นการหลอกลวง เฉพาะให้หลงเชื่อในหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้น ส่วนมาตรา 341 เป็นการหลอกลวงให้หลงเชื่อไม่เฉพาะในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของเท่านั้น Ø 2. มีเจตนาทุจริต ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(1) ให้คำนิยามคำว่า โดยทุจริต หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ดังนั้น แม้มาตรา 271 จะไม่ได้บัญญัติองค์ประกอบความผิด ว่าต้องมีเจตนาทุจริต เช่นเดียวกับมาตรา 341 ด้วยก็ตาม แต่การหลอกลวง ตามมาตรา 271 นี้ เป็นการหลอกลวงเพื่อขายของ ผลก็คือได้เงินจากผู้ซื้อ ซึ่งเงินที่ได้มานี้เป็นประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงถือได้ว่า ความผิดตามมาตรา 271 กับมาตรา 341 มีเจตนาทุจริตเหมือนกัน เพียงแต่การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 271 นั้น ต้องไม่เป็นความผิด ฐานฉ้อโกงซึ่งเจตนาทุจริตในความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 นั้น ต้องมีเจตนาทุจริตตั้งแต่แรกที่มีการหลอกลวง (ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 566/2542) ดังนั้นเจตนาทุจริตในความผิดตามมาตรา 271 นี้ ผู้เขียน จึงเห็นว่าน่าจะมีขึ้นในภายหลัง ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาที่หมายเหตุนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า โจทก์ร่วม สั่งซื้อนมผงสำหรับเลี้ยงสุกรจากจำเลย แต่จำเลยส่งไข่ผงมาให้โดยระบุในใบส่งสินค้า ว่าเป็นหัวนมผง โดยจำเลยนำสืบปฏิเสธว่าจำเลยส่งนมผงให้ไม่ใช่ไข่ผง ซึ่งแปลได้ว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตตั้งแต่แรกที่มีการหลอกลวง ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่าการกระทำ ของจำเลยตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นความผิดฐานพยายามฉ้อโกง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 271 แต่ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปเป็นว่า ขณะที่ตกลงซื้อขายนมผงกันนั้น จำเลยมีนมผงไม่พอขายให้โจทก์ร่วม แต่หลอกลวงว่ามีนมผงพอที่จะขายให้ ซึ่งขณะหลอกลวงนั้น จำเลยคาดหมายว่าจะหานมผงจากที่อื่นมาส่งให้โจทก์ร่วมได้ แต่ภายหลังจำเลย ไม่สามารถหานมผงมาส่งให้โจทก์ร่วมได้ จึงส่งไข่ผงไปให้โจทก์ร่วมแทน โดยระบุว่า เป็นนมผงกรณีเช่นนี้จะเห็นได้ว่า ขณะหลอกลวงนั้นจำเลยไม่มีเจตนาทุจริต เนื่องจากจำเลยต้องการขายของตามที่โจทก์ร่วมต้องการจริง ดังนั้นเงินที่จำเลย คาดหมายว่าจะได้จากการขายของนั้นจึงชอบด้วยกฎหมายด้วย การกระทำของจำเลย กรณีนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงแต่เมื่อจำเลยมีเจตนาทุจริตในภายหลัง เพราะส่งของคนละอย่างให้โจทก์ร่วม เงินที่จำเลยจะได้รับจากการขายของวิธีนี้ จึงเป็นประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลย ก็อาจเป็นความผิดตามมาตรา 271 ได้ จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้มีข้อสังเกตว่า องค์ประกอบความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 นอกจากจะต้องไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง สำเร็จแล้ว ยังหมายความรวมถึงต้องไม่เป็นความผิดฐานพยายามฉ้อโกงด้วย ผู้เขียนหมายเหตุ สุรฤทธิ์ ธีระศักดิ์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 299/2547 โจทก์ร่วมทำสัญญากับจำเลยซึ่งประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน โดยให้จำเลยมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อน้ำมันจากโจทก์ร่วมมาจำหน่ายเท่านั้น จำเลยผิดสัญญาโดยไปซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่นมาจำหน่าย โจทก์ร่วมบอกเลิกสัญญาให้จำเลยส่งคืนสถานีบริการน้ำมันแก่โจทก์ร่วม รวมทั้งเพิกถอนความยินยอมให้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม แต่จำเลยก็ยังคงประกอบการค้าต่อไปโดยซื้อน้ำมันจากที่อื่นมาจำหน่าย และยังคงติดป้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมอยู่บริเวณสถานีบริการน้ำมัน โดยมิได้แสดงเครื่องหมายให้ประชาชนเข้าใจว่าสถานีบริการน้ำมันนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันของโจทก์ร่วม แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะขายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าสินค้าที่จำเลยจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม จึงเป็นการขายของโดยหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดแห่งของอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 271 / โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลยเฉพาะในส่วนที่จำเลยได้ขายน้ำมันให้แก่ ส. และ อ. ซึ่งเป็นผู้ไปทำการล่อซื้อน้ำมันดังกล่าว โดยที่ ส. และ อ. มิได้หลงเชื่ออยู่แล้วว่าน้ำมันที่จำเลยนำออกจำหน่ายนั้นเป็นน้ำมันของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล อันเป็นการพยายามกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 ประกอบมาตรา 80 / ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พุทธศักราช 2474 มาตรา 49 เป็นความผิดที่บัญญัติลงโทษแก่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งละเลยไม่ปิดป้ายเครื่องหมายไว้ ณ ที่ที่เห็นได้ง่ายตามมาตรา 9 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่สำหรับการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงคือห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แม้จำเลยจะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตตามมาตรา 9 จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พุทธศักราช 2474 มาตรา 9 , 49

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2205/2547 การกระทำของจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นความผิดคือ การนำเอาเทปบันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์ เรื่อง อุลตร้าแมนทิก้า ที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์ เป็นการให้บริการที่ใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ แต่การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (2) ต้องเป็นการให้บริการที่ใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้น การให้บริการที่ใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรไม่อาจเป็นความผิดตามบทกฎหมายมาตรานี้ได้ ทั้งไม่ปรากฏจากฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการให้บริการใดและเครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นอย่างไร ฟ้องที่โจทก์บรรยายดังกล่าวจึงไม่มีมูลที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 110 (2) / การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) ต้องเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้หรือทำให้ปรากฏที่หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้า หรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกันเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น แต่จากที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยนำเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดในการประกอบการค้าของโจทก์ในภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมนมาทำให้ปรากฏที่สินค้าใดโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์ ทั้งการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ และข้อความที่ใช้ในการประกอบการค้าของโจทก์ในภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมนมาทำให้ปรากฏอยู่ในเทปบันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์เรื่อง อุลตร้าแมนทิก้า ที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์และนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์นั้น ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยได้เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความมาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้ห่อหุ้ม แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้า หรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกันแต่อย่างใด แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยนำเทปบันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์เรื่องอุลตร้าแมนทิก้าออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นการให้บริการโดยใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้ว นอกราชอาณาจักร โดยเป็นการนำเอาแคแรกเตอร์ตัวอุลตร้าแมนในลักษณะต่าง ๆ และสัตว์ประหลาดต่าง ๆ รวมทั้งชื่อ คำ และข้อความว่า อุลตร้าแมน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมน ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นำไปใช้ประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นการบรรยายอ้างว่าจำเลยนำเอา แคแรกเตอร์ตัวอุลตร้าแมน สัตว์ประหลาด ชื่อ คำ และข้อความว่า อุลตร้าแมนมาใช้ ถือว่าเป็นการให้บริการโดยใช้เครื่องหมายบริการที่เลียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักรโดยประสงค์จะขอให้ ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (2) มิได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยนำเอาแคแรกเตอร์ตัวอุลตร้าแมน สัตว์ประหลาด ชื่อ คำ และข้อความว่า อุลตร้าแมน โดยอ้างว่าเป็นชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์มาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้าใดเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) แต่อย่างใด ฟ้องที่โจทก์บรรยายดังกล่าวจึงไม่มีมูลที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 272 (1) ได้ / การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 274 ต้องเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้ จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นนั้น แต่จากที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่ปรากฏในข้อความส่วนใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนแล้วนอกราชอาณาจักร ทั้งไม่ปรากฏเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้กระทำเลียนว่าเป็น เครื่องหมายการค้าใด ฟ้องที่โจทก์บรรยายดังกล่าวจึงไม่มีมูลที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 274

- คำชี้ขาด 118/2537 (อัยการนิเทศ 2538 เล่ม 58 ฉบับ 3 หน้า 58) คำว่า ของตาม ปอ ม 271 หมายถึง สังหาริมทรัพย์ ไม่รวมถึงสิทธิในการใช้บริการ การที่ผู้ต้องหาโฆษณาว่าจะสร้างสโมสรสปอร์ตคลับ เพื่อให้สมาชิกใช้บริการ แล้วไม่สร้าง ไม่เป็นความผิดฐานขายของโดยหลอกลวง (ดู ปอ ม 341 พรบ คุ้มครองผู้บริโภค 2522 ม 3 , 22 , 47 , 59)

- ประเด็นความผิดสำเร็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 549/2504 จำเลยขายด้ายหลอดตราสมอแก่ตำรวจที่ขอซื้อ ที่หีบห่อแสดงว่ายาว 200 หลา แต่ความจริงยาว 130 - 150 หลา ตำรวจผู้ซื้อรู้ความจริงอยู่ก่อนแล้ว เป็นความผิดฐานพยายาม


มาตรา 272 ผู้ใด

(1) เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น

(2) เลียนป้าย หรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน จนประชาชนน่าจะหลงเชื่อว่าสถานที่การค้าของตน เป็นสถานที่การค้าของผู้อื่นที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง

(3) ไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเท็จ เพื่อให้เสียความเชื่อถือ ในสถานที่การค้า สินค้า อุตสาหกรรม หรือพาณิชย์การของผู้หนึ่งผู้ใด โดยมุ่งประโยชน์แก่การค้าของตน

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดอันยอมความได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 570/2483, 241/2484 ผู้พิมพ์ไม่รู้ว่าชื่อโรงพิมพ์อื่นนั้น โรงพิมพ์ตนไม่มีสิทธิจะใช้ไม่เป็นความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 485/2503 จำเลยสั่งเข้ามาจำหน่ายซึ่งยาที่มีชื่ออย่างนั้นอยู่แล้ว และเป็นยาที่ผลิตขึ้นโดยบริษัทเดียวกับที่ผลิตยานี้ส่งให้โจทก์จำหน่ายนั่นเอง จึงไม่ใช่กรณีจำเลยเอาชื่อยาของใครมาใช้ ให้ประชาชนหลงเชื่อ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1124-25/2506 โจทก์ซื้อสินค้าจากจำเลยเพราะเห็นว่าราคาถูก ไม่ใช่เพราะถูกจำเลยหลอกลวง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีสิทธิฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 272, 274 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ..2505 มาตรา 45

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1731/2506 แม้เจ้าของเครื่องหมายการค้าจะไม่ได้จดทะเบียน แต่ถ้ามีผู้เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ ของแท้ไปใช้ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าอันแท้จริง เจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 37/2507 ผู้ที่จะมีความผิดตามมาตรานี้จะต้องเป็นผู้กระทำขึ้นด้วย ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้มีเครื่องทำและเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้เฉย ๆ เพราะผู้ใดมีเครื่องมือการทำไพ่โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็มีโทษตามพระราชบัญญัติไพ่ พ..2486 มาตรา 11 อยู่แล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 481/2507 จำเลยเอาชื่อ รูปรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดโกหลิมยะลา มาทำปลอมขึ้น เพื่อปิดที่กระดาษแก้วหุ้มขวดสุราแม่โขง แม้สุราแม่โขงรายนี้จะเป็นสุราแม่โขงที่แท้จริง ไม่มีการปลอมปน จำเลยเป็นผู้จำหน่ายหรือวางเสนอขายเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อ ว่าเป็นสุราแม่โขง ของห้างหุ้นส่วนจำกัดโกหลิมยะลา ผิด ม 275 และ 272 (1)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 932/2508 จำเลยที่ 2 ที่ 3 เอาคำว่า แพนเค็ก ของโจทก์ มาใช้กับสินค้าแป้งน้ำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ จึงเป็นความผิด ตามมาตรา 272 (1) ส่วนจำเลยที่ 4 ที่ 5 เป็นแต่เพียงผู้จำหน่าย ไม่ปรากฏว่าได้รู้ว่าสินค้านั้นเอาคำว่า แพนเค็ก ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้ จึงไม่เป็นความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 750/2508 มาตรา 272 (1) ต้องเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นด้วย เมื่อฟ้องไม่ระบุองค์ประกอบความผิดดังกล่าวจึงลงโทษตามมาตรานี้ไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 981/2508 จำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้เสียหาย เป็นผู้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ก่อนแล้ว การที่จำเลยประกาศโฆษณาว่ามีบุคคลกระทำผิดกฎหมายเลียนแบบผลิตยาออกจำหน่าย ทั้งยังแอบอ้างใช้เลขทะเบียนปิดอยู่หน้ากล่องยา ย่อมเข้าใจได้ว่าหมายถึง ผู้เสียหายเป็นผู้ปลอมแปลงผลิตยา อันเป็นเท็จ ผิด ม 272

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1046/2508 คำว่า เดลินิวส์เป็นส่วนหนึ่งของชื่อหนังสือพิมพ์ที่จำเลยใช้มาก่อน ได้พิมพ์ออกจำหน่ายมารวม 20 ปี ก่อนที่โจทก์ได้ตั้งสำนักงานข่าวโดยใช้ชื่อเดลินิวส์ จำเลยไม่ได้เอาชื่อเดลินิวส์ของโจทก์มาใช้ ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 272 (1)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 386/2509 มาตรา 272 (1) เป็นเรื่องเครื่องหมายของสินค้าเท่านั้น เพราะชื่อหรือข้อความในการประกอบการค้า จะแปลว่าเป็นแบบของวัตถุที่ผลิตเป็นสินค้านั้นไม่ได้ ส่วนรอยประดิษฐ์ก็เป็นแต่ลวดลายของเครื่องหมายแล้ว แต่จะประดิษฐ์ให้เป็นสัญลักษณ์ที่ต้องการ รูปนั้นก็คือภาพเขียน ภาพถ่ายของบุคคลหรือสถานที่หรือสิ่งอื่นที่ใช้ให้ปรากฏที่สินค้า เพื่อให้เป็นสิ่งสังเกตว่าเป็นสินค้าของตน หาใช่รูปทรงลวดลายของสิ่งผลิตไม่ เพราะแม้จำเลยจะผลิตวัตถุเป็นรูปทรงลักษณะตบแต่งของสินค้าอย่างใด หากไม่ปรากฏเครื่องหมายในการประกอบการค้า ก็ไม่อาจรู้ได้ว่าเป็นสินค้าของผู้ใด / มาตรา 272 (1) มิใช่บทบัญญัติห้ามการผลิตวัตถุอันเป็นสินค้ามิให้ซ้ำกัน หรือมีแบบมีรูปอย่างเดียวกัน เมื่อไม่มีกฎหมายคุ้มครองประโยชน์ที่โจทก์ต้องการ จึงไม่เป็นสิทธิที่มีตามกฎหมาย หาอาจจะบังคับเหนือคนทั่วไปได้ไม่ การกระทำของจำเลยที่ผลิตไฟฉายรูปกระบอก เป็นเกลียวอย่างเดียวกับสินค้าไฟฉายของโจทก์ หาเป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 786/2509 “ชื่อหรือข้อความในการประกอบการค้าจะแปลว่าเป็นแบบวัตถุที่ผลิตเป็นสินค้านั้นไม่ได้ ส่วน รอยประดิษฐ์ก็เป็นแต่ลวดลายของเครื่องหมาย รูป นั้นก็คือการเขียนภาพถ่ายของบุคคลหรือสถานที่หรือสิ่งอื่นที่ใช้ให้ปรากฏที่สินค้า หาใช่รูปทรงลวดลายของสิ่งที่ผลิตไม่ ไม่มีบทบัญญัติห้ามการผลิตวัตถุสินค้า ไม่ให้ซ้ำกันหรือมีแบบมีรูปอย่างเดียวกัน (353/2510)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 941/2511 มาตรา 272 (1) เป็นบทบังคับในเรื่องเครื่องหมายของสินค้า อันเป็นที่สังเกตว่าเป็นสินค้าของใครเท่านั้น มิใช่ห้ามการผลิตสินค้าโดยใช้วัตถุในการผลิต หรือวิธีการผลิตเหมือนกับของผู้อื่น ยังไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายไทยก่อตั้งสิทธิประเภทนี้ และให้ความคุ้มครอง ไม่อาจแปลมาตรา 272 (1) ไปถึงการใช้ชื่อหรือข้อความนั้นในสูตรหรือวิธีการผลิตด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 941/2511 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) มิได้ห้ามการผลิตสินค้าโดยใช้วัตถุในการผลิตหรือวิธีการผลิตเหมือนกับของผู้อื่น จึงไม่แปลไปถึงการใช้ชื่อหรือข้อความนั้นในสูตร หรือวิธีการผลิตด้วย ดังนั้น การนำชื่อยาของผู้อื่นมาแสดงว่าเป็นส่วนผสมในการปรุงยาของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 272 (1)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1591/2513 การที่จำเลยซึ่งไม่ใช่ผู้แทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วม เอาเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าชนิดนั้นของโจทก์ร่วมติดไว้ที่หน้าร้านจำเลย และพิมพ์เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมลงให้ปรากฏในนามบัตรร้านจำเลย ผิด ม 272 (1)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 612/2514 รูปลักษณะเครื่องหมายการค้าคล้ายคลึงหรือไม่ เป็นข้อที่ศาลฟังพิจารณารู้ได้เอง เช่นบุคคลทั่วไปควรจะรู้กัน ศาลเพียงตรวจรูปลักษณะประกอบพยานเอกสาร โดยไม่สืบพยานบุคคลก็ชอบที่จะทำได้

- 200/2515 การออกเสียงชื่อยาทั้งสองขนานห่างไกลกันมาก รูปลักษณะการวางตัวอักษรบนกล่องยาก็ไม่เหมือนกัน แถบสีขาวบนหีบห่อยา ไม่ถือว่าเป็นรอยประดิษฐ์ของโจทก์ เพราะไม่เป็นสัญลักษณ์พิเศษ นอกจากนั้นกล่องยาของจำเลยยังระบุชื่อห้างหุ้นส่วนของจำเลยไว้ชัดเจน บุคคลบางประเภทเท่านั้นที่จะใช้ยานี้ ไม่ใช่สินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้สอย ไม่มีทางที่ผู้ใช้จะหลงผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1135/2516 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายกคำร้องคัดค้านของโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์ ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย แม้จำเลยจะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว แต่ถ้าจำเลยได้กระทำการโดยไม่สุจริต ก็อาจจะเป็นละเมิดต่อโจทก์ได้ แต่เมื่อจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามที่จดทะเบียนไว้ โดยมิได้ดัดแปลงให้ผิดแผกเป็นอย่างอื่น ย่อมชอบที่จะทำได้ หาเป็นละเมิดไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1236/2517 จำเลยเลียนเครื่องหมายการค้า มิได้เอาเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาใช้โดยตรง เป็นความผิดตามมาตรา 274 และไม่เป็นความผิดตามมาตรา 272

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2842/2517 272 (1) จะมีความผิด ก็ต่อเมื่อการใช้ชื่อนั้น มีเจตนาพิเศษ การที่จะวินิจฉัยว่าเจตนา เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นหรือไม่นั้น จะอาศัยคำซึ่งเปล่งเสียงออกมาอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องพิเคราะห์ตัวอักษร ถ้อยคำ และลักษณะอื่น ๆ ของชื่อนั้นประกอบด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 96/2523 จำเลยพิมพ์ปกหนังสือแบบเรียนซึ่งเป็นหนังสือที่โจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ขึ้น เป็นเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ผิด ม 264 แต่การที่จำเลยเอาเครื่องหมายอักษร ประชาช่างอยู่ภายในวงกลมของโจทก์ร่วม มาพิมพ์ไว้ที่ปกหนังสือ ผิดตาม ม 272

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2157/2523 โจทก์ใช้คำว่า คริสเตียนดิออร์ เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าต่าง ๆ ของโจทก์ในต่างประเทศ จำเลยใช้คำว่า ดิออร์ กับเสื้อกางเกง โดยรู้ว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายข้างต้นกับแว่นตา แม้ไม่ได้จดทะเบียน โจทก์ก็มีสิทธิดีกว่าจำเลย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3920/2526 รูปเด็กขี่แมลงปอซึ่งเป็นจุดเด่นและสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของจำเลย จำเลยได้คิดขึ้นและจดทะเบียนไว้แล้ว การที่จำเลยเอารูปเด็กขี่แมลงปอมาใช้ แม้จะคล้ายกับเครื่องหมายของโจทก์ร่วม ก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 272 (1)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2142/2532 จำเลยเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม มาใช้กับกางเกงยีนที่จำเลยผลิต โดยไม่ได้ระบุชื่อจำเลย แม้โจทก์ร่วมจะไม่ได้ผลิตกางเกงยีน แต่โจทก์ร่วมได้ใช้เครื่องหมายดังกล่าวเป็นชื่อห้าง ประทับเครื่องหมายที่สินค้าที่โจทก์ร่วมรับมาจำหน่าย ผิด ม 272 แต่โจทก์จะฟ้องว่าเป็นการละเมิดโจทก์ไม่ได้ ต้องอ้างเรื่องลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือเรื่องเครื่องหมายการค้า

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1247-48/2536 ลักษณะข้อความแตกต่างกัน ราคาสินค้าแตกต่างกันมาก ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามได้เสนอจำหน่ายสินค้าซึ่งมีชื่อหรือข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วม เพื่อให้ประชาชนหรือทางราชการหลงเชื่อ ไม่เป็นความผิด มาตรา 275, 272 (1) (คำพิพากษาฎีกาที่ 1651/2537, 547/2538 ตัดสินทำนองเดียวกัน) (ขอให้ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 4725/2538)


มาตรา 273 ผู้ใด ปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 517/2505 สาระสำคัญขององค์ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้า อยู่ที่เจตนาของการปลอม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 37/2507 “การมีเครื่องมือปลอมหรือวัตถุสำหรับปลอมเครื่องหมายการค้า ยังไม่ถือเป็นความผิดฐานนี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1124/2520 กางเกงขายาวของกลาง แม้จะยังไม่ได้ติดเครื่องหมายการค้าปลอม ก็ถือได้ว่าเป็นกางเกงที่เตรียมจะติดเครื่องหมายการค้าปลอม จึงเป็นของที่จำเลยมีไว้ด้วยเจตนาเพื่อใช้ในการกระทำความผิด พึงริบได้ตามมาตรา 33 (1)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5444/2536 การที่ถุงเท้าของกลางมีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหายติดอยู่ แม้จะมีเครื่องหมายการค้าของจำเลยติดอยู่ด้วย ก็หาทำให้กลับเป็นเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงไม่ ถือเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ตามมาตรา 275, 273

- ประเด็นความผิดสำเร็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 395/2476 พิมพ์กระดาษตราถ่ายไฟฉาย เอเวอรเรดดี ปลอมขึ้น แม้ยังไม่นำไปติดกับสินค้า ก็เป็นความผิดสำเร็จฐานนี้

มาตรา 274 ผู้ใด เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 797-88/2506 นิติบุคคลจึงอาจมีเจตนาอันเป็นองค์ประกอบความผิดในทางอาญาและกระทำความผิด ซึ่งผู้กระทำต้องมีเจตนา รวมทั้งต้องรับโทษทางอาญาเท่าที่ลักษณะแห่งโทษเปิดช่องให้ลงโทษแก่นิติบุคคลได้ จึงต้องพิจารณาตามลักษณะความผิด พฤติการณ์เป็นราย ๆ ไป การที่ผู้จัดการนิติบุคคลเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น โดยกระทำไปในอำนาจหน้าที่ทางการค้า ถือได้ว่าเป็นเจตนา และการกระทำของห้างหุ้นส่วน ฉะนั้น ห้างหุ้นส่วนจึงต้องรับผิดทางอาญาด้วย ให้ปรับ 2,000 บาท

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1124-25/2506 โจทก์ซื้อเสื้อผ้าจากจำเลยทั้งสองเพราะ เห็นว่าราคาถูกมิใช่เพราะถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3920/2526 เครื่องหมายการค้าในคดีนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดนิคโก้ ประเทศญี่ปุ่น ใช้มาก่อนโจทก์ร่วม และจำเลยมีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของห้างดังกล่าว มิได้มีเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจฟ้อง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1129/2506 จำเลยได้ปรุงยาธาตุและใช้สลากชื่อยา จำหน่ายมาก่อนที่โจทก์ได้จดทะเบียน แม้สลากจะมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตามพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อ ไม่มีความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 350/2509 เครื่องหมายการค้าของจำเลย มีลักษณะประกอบกัน 3 ประการคือ ลิง ควาย และกวาง เฉพาะลิงนั้นถือธงด้วย ซึ่งมองไป ก็เห็นลักษณะอันเด่นชัดของภาพทั้ง 3 ได้ทันที ตลอดถึงธงที่ถือก็เห็นได้ชัดเจน ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะคนขี่ควายอย่างเดียวไม่เหมือนกันรูปร่างและลักษณะท่าทางของลิงก็แตกต่างกับรูปร่างลักษณะท่าทางของคน เห็นได้ชัดดังนี้เครื่องหมายการค้าของจำเลย มีลักษณะไม่เหมือนหรือคล้ายกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อันจะทำให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 39/2510 โจทก์จำเลยต่างสั่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าอย่างเดียวกันเข้ามาจำหน่ายด้วยกัน ไม่ใช่กรณีจำเลยเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อ จำเลยไม่ได้เลียนเครื่องหมาย การนำเข้าเพื่อจำหน่าย ไม่ผิด ตาม ม 275

- คำพิพากษาฎีกาที่ 298-99/2510 ไม่ว่าจำเลยจะควบคุมผู้ขายปลีกหรือผู้ซื้อได้หรือไม่ เจ้าพนักงานจะยอมรับจดทะเบียนหรือไม่ จะมีประชาชนซื้อโดยหลงผิดหรือยัง เมื่อจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้า โดยเจตนาเพื่อจะให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นของโจทก์ ก็ผิด ตาม ม าตรา274

- คำพิพากษาฎีกาที่ 97/2512 (สบฎ เน 2101) การวินิจฉัยว่า "ประชาชนหลงเชื่อเครื่องหมายการค้าหรือไม่" ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่วไป ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2311/2515 เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้ตัวหนังสือว่า LEVE’S และมีช่องผ่ากลาง มีรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมูของจำเลยใช้ตัวหนังสือ LEVIE ไม่มีช่องผ่ากลาง ลวดลายก็แตกต่างกัน จึงแตกต่างกันถือไม่ได้ว่าจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3070/2522 โจทก์ ใช้ชื่อ เจมพลาซ่า ต่อมาจำเลยตั้งบริษัทชื่อว่า จ.พลาซ่า และจำหน่ายเพชรพลอยเหมือนกัน การกระทำของจำเลย เข้าเงื่อนไข ปพพ ม 18 และ 421 โจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยระงับการใช้ชื่อร้านดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2621/2523 เครื่องหมายการค้าโจทก์เป็นรูปควายไม่มีอักษรประกอบและรูปควายมีอักษรจีนอยู่ข้างล่าง เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นพระอาทิตย์กับควาย ดังนี้ แตกต่างกันคนธรรมดาไม่เข้าใจผิด ไม่เป็นการเลียนเครื่องหมายการค้า ไม่ผิด ม 274

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3307/2529 เครื่องหมายการค้าตามฟ้อง บริษัท ล. จดทะเบียนไว้ที่ประเทศอเมริกา ก่อนฟ้องโจทก์จดทะเบียนในประเทศไทย จึงฟังไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าบริษัท ล. เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ไม่ผิดตามมาตรา 274 และ พรบ เครื่องหมายการค้า ม 45 เป็นความผิดต่อรัฐ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง (645/2507 ทำนองเดียวกัน)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5041-42/2530 โจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตราควายกับพระอาทิตย์ ย่อมมีสิทธิใช้หรือให้ผู้อื่นใช้ได้โดยชอบ จำเลยที่ 3 ที่ 4 นำไปใช้กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 4 โดยโจทก์ร่วมยินยอม ไม่เป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้า

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3172/2532 จำเลยทั้งสองร่วมกัน เลียนเครื่องหมายการค้าประทับไว้ที่กระสอบ และร่วมกันเสนอจำหน่ายและจำหน่ายแก่ผู้ซื้อ ข้าวสารจึงเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบได้ ตามมาตรา 33 (1)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4028/2533 เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีลักษณะคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม ซึ่งจะทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3620/2537 เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมและที่จำเลยทำขึ้นใช้คำว่า KIKADA เช่นเดียวกัน โดยแบบป้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมใช้ผ้าพื้นสีกรมท่าตัวอักษรคำว่า KIKADA สีเหลือง ส่วนที่จำเลยทำขึ้นใช้ผ้าพื้นสีขาว ตัวอังกฤษ KIKADA สีดำ ต่างกันแต่เพียงสีของแบบป้าย และสีของตัวอักษร และลีลาการเขียนตัวอักษรเท่านั้น ส่วนชื่อที่เรียกขานเป็นชื่ออย่างเดียวกัน ดังนี้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยทำขึ้นจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม จึงมีความผิดตามมาตรา 274

มาตรา 275 ผู้ใด นำเข้าในราชอาณาจักร จำหน่ายหรือเสนอจำหน่าย ซึ่งสินค้า อันเป็นสินค้าที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 272 (1) หรือสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม หรือเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ตามความในมาตรา 273 หรือมาตรา 274 ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 485/2503 275 จำเลยสั่งยารักษาวัณโรคชื่อพูแรน จากบริษัทผลิตยาเดียวกับที่ส่งมาให้โจทก์จำหน่าย จึงไม่มีความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 7878/2538 คดีก่อนจำเลยถูกฟ้องฐาน เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกัน เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แม้ของกลางที่ยึดมาเป็นของกลางเดียวกัน แต่เจตนาของการกระทำความผิดทั้งสองข้อหาแตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6583/2541 จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าสุราของกลางที่จำเลยทั้งสองนำส่งออกไปขายแก่ผู้ซื้อต่างประเทศนั้น เป็นสุราปลอมซึ่งบรรจุขวดและปิดฉลากที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์และข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วม เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นสินค้าสุราที่แท้จริงของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานจำหน่ายสินค้าที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ตาม ป.อ. มาตรา 275 และเป็นความผิดฐานขายสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 มาตรา 31 แต่ความผิดฐานเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ ทำให้ปรากฏที่สินค้าตาม ป.อ.มาตรา 272 (1) นั้น จำเลยกว้านซื้อสุราของกลางมาจากร้านค้า แล้วนำส่งออกไปขายแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองทำสุราปลอมเองหรือบรรจุขวดเป็นสินค้าของจำเลยเอง แต่มีการปิดฉลากปลอม จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้กับสินค้าของตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น: