ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๒๖๕ - ๒๖๙

มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท

- ความสมบูรณ์ของเอกสาร

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1507/2514 แบบพิมพ์ที่ได้พิมพ์รายการไว้บางรายการ ว่าเป็นเช็ค ชื่อหรือยี่ห้อสำนักงานของธนาคาร และสถานที่ใช้เงินโดยยังไม่มีรายการอื่นให้ครบถ้วนบริบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 988 ยังไม่เป็นเช็คหรือตั๋วเงินตามกฎหมาย จำเลยกรอกข้อความลงในแบบพิมพ์เช็คเพื่อให้มีรายการครบถ้วนบริบูรณ์ตามกฎหมาย แม้แบบพิมพ์เช็คนั้นจะมิใช่แบบพิมพ์ที่ธนาคารจัดพิมพ์ไว้ให้ใช้เป็นเช็ค แต่เมื่อจำเลยได้ลงลายมือชื่อของจำเลยเองเป็นผู้สั่งจ่าย มิได้ปลอมลายมือชื่อของบุคคลอื่นใด ถือไม่ได้ว่าเป็นเช็คหรือเอกสารปลอม จำเลยนำตั๋วเงินไปใช้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แต่เมื่อตั๋วเงินนั้น ไม่ใช่เป็นตั๋วเงินปลอม จำเลยก็ยังไม่มีความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1614/2517 ใบเสร็จรับเงินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ถูกทำปลอมขึ้น เพื่อให้หลงเชื่อว่าเป็นใบเสร็จที่แท้จริงอันอาจนำไปเรียกเก็บเงินซ้ำอีกได้นั้น แม้จะมิได้มีการลงชื่อในช่องพนักงานเก็บเงินว่า ได้รับเงินไว้ถูกต้องแล้วก็ตาม ย่อมเป็นเอกสารสิทธิ แต่มิใช่เอกสารราชการ จำเลยผู้ทำปลอมขึ้นต้องมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตาม มาตรา 265 การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 266 และกรณีไม่จำต้องปรับบทด้วย มาตรา 264 อีก

- เอกสารราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1112/2507 เอกสารราชการจะต้องเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้น หรือรับรองในหน้าที่ดังบัญญัติไว้ใน ม 1 (8) บันทึกที่จำเลยเขียนขึ้นไว้ทั้งฉบับ และเขียนไว้ เป็นส่วนตัวโดยจำเลยมิได้มีหน้าที่ในราชการนั้น มิใช่เอกสารราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 317/2521 เขียนหมายเลขทะเบียน ก.ท.จ. 2395 อันเป็นหมายเลขทะเบียนรถคันอื่น ลงไว้ที่แผ่นเหล็กท้ายรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน 05591 เพื่อให้หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงที่กองพลาธิการทำขึ้น แม้ไม่คล้ายของจริง ก็เป็นการทำเอกสารราชการปลอมขึ้นทั้งฉบับ การขับขี่รถนั้นไปเป็นการใช้เอกสารปลอม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2979/2522 บัตรประจำตัวข้าราชการเป็นเอกสาร ซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นในหน้าที่ เป็นเอกสารราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5969/2530 หนังสือรับรองราคาที่ดิน ที่เจ้าพนักงานที่ดินออกให้เป็นเอกสาร ซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงเป็นเอกสารราชการ จำเลยที่ 2 เป็นตัวการจัดให้มีการปลอมหนังสือรับรองราคาที่ดิน แล้วมอบให้จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปใช้เป็นหลักประกันในการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาต่อศาล จำเลยที่ 2 ผิดฐานปลอมเอกสารราชการ ตาม มาตรา 265

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5466/2533 คำว่า เอกสารราชการ ตามมาตรา 1 (8) หรือมาตรา 265 หมายถึงเอกสารของราชการไทยเท่านั้น หนังสือเดินทางคดีนี้เป็น หนังสือเดินทางของประเทศอังกฤษจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดเพียงฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268, 264 / การที่จำเลยนำหนังสือเดินทางปลอม และเช็คเดินทางปลอมไปแสดงต่อพนักงานจ่ายเงิน และรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารในคราวเดียวกันเพื่อขอแลกเงินตามเช็คเดินทางปลอมนั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2209/2536 เอกสารใบแจ้งย้าย ท.ร.6 ตอน 1 เป็นแบบฟอร์ม ที่นายทะเบียนผู้รับแจ้งย้ายออก และนายทะเบียนผู้รับแจ้งย้ายเข้า ต้องลงชื่อเป็นผู้รับแจ้ง ด้วย ถือเป็นเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้น อันเป็นเอกสารราชการตาม มาตรา 1 (8)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2667/2536 (อพ 2541/2/49) แบบพิมพ์ใบอนุญาตขับรถยนต์แม้ยังไม่มีการกรอกข้อความอื่นลงไป ก็เป็นการปลอมเอกสารราชการ (เทียบ ฎ 1507/2514 แบบพิมพ์เช็ค ยังไม่กรอกข้อความ ไม่เป็นเอกสาร)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2328/2541 แม้คำว่าเอกสารราชการตาม ป.อ.มาตรา 1 (8) และมาตรา 265 จะหมายถึงเอกสารของทางราชการไทยเท่านั้น ก็ตาม แต่การที่จำเลยประทับตราปลอมของด่านตรวจคนเข้าเมืองหาดใหญ่ ที่อนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางนั้นผ่านออก ก็เป็นการปลอมเอกสารราชการของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตาม ป.อ.มาตรา 265 แล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2570/2541 หนังสือคู่มือจดทะเบียนรถ หรือใบคู่มือจดทะเบียนรถ เป็นเพียงเอกสารซึ่งควบคุมการใช้รถยนต์และการจัดเก็บภาษีประจำปีตาม พ.ร.บ.รถยนต์เท่านั้น มิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิแต่อย่างใด ใบคู่มือจดทะเบียนรถจึงเป็นเพียงเอกสารราชการ หาได้เป็นเอกสารสิทธิ อันเป็นเอกสารราชการไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5599/2541 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เขียนข้อความลงในใบสั่งจ่ายน้ำมัน ทั้งๆ ที่ทราบว่าตนไม่มีอำนาจกระทำได้ จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร การที่จำเลยนำเอกสารปลอมไปยื่นต่อพนักงานของสถานีน้ำมัน เพื่อประโยชน์ในการเติมน้ำมันใส่รถยนต์ของจำเลย จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมด้วย เอกสารใบสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว เป็นเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำหน้าที่พลขับ จะต้องกรอกข้อความให้ชัดเจน ว่าเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในราชการใด จำนวนเท่าใด จึงเป็นการทำขึ้นในหน้าที่ อันเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม ใบสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกลักไป ต่อมาตกอยู่ในความครอบครองของจำเลย เมื่อจำเลยนำไปกรอกข้อความ เพื่อใช้สิทธิเติมน้ำมัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบว่าใบสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร

- คำพิพากษาฎีกาที่ 9/2543 การที่จำเลยเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ไปจากผู้เสียหาย แล้วนำบัตรเอ.ที.เอ็ม. ดังกล่าวไปลักเอาเงินของผู้เสียหาย โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินนั้น ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภท เป็นความผิดหลายกรรม / การที่จำเลยลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นความผิดทั้งฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 188 ((ขส พ 2546/8)บัตรเอ ที เอ็ม เป็นวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร อันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น จึงเป็นเอกสาร ตาม ม 1 (7))

- กรณีไม่ใช่เอกสารราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 285/2507 ..1 ไม่ใช่เอกสารราชการตามมาตรา 1 (8) เพราะไม่ใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 890/2508 .1 แม้มีกำนันผู้ใหญ่บ้านรับรอง ก็เป็นเพียงพยานรับรองข้อเท็จจริงในเอกสารที่ผู้ครอบครองทำขึ้น ไม่ใช่รับรองความแท้จริงของเอกสาร การที่เจ้าหน้าที่ลงเลขรับ ลงชื่อ และประทับตรา ไม่ทำให้ ส..1 เป็นเอกสารราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1614/2517 ใบเสร็จรับเงินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ถูกทำปลอมขึ้น เพื่อให้หลงเชื่อว่าเป็นใบเสร็จที่แท้จริง อันอาจนำไปเรียกเก็บเงินซ้ำอีกได้นั้น แม้จะมิได้มีการลงชื่อในช่องพนักงานเก็บเงินว่า ได้รับเงินไว้ถูกต้องแล้วก็ตาม ย่อมเป็นเอกสารสิทธิ แต่มิใช่เอกสารราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1375/2522 สำเนาประวัติอาชญากรที่เจ้าหน้าที่รับรองเป็นเอกสารราชการ แต่ ภาพถ่ายสำเนาของเอกสารดังกล่าวเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับรองอีกชั้นหนึ่ง ภาพถ่ายจึงเป็นเอกสารธรรมดา ไม่ใช่เอกสารทางราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2664/2536 เอกสารมรณะบัตรปลอม ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้นั้น เป็นภาพถ่ายเอกสาร ซึ่งมิใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการปลอม การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

- ประเด็นเปรียบเทียบ การปลอมที่กระทำต่อ สำเนาเอกสาร

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1375/2522 (สบฎ เน 5888) สำเนาประวัติอาชญากร ที่เจ้าหน้าที่รับรองเป็นเอกสารราชการ แต่ ภาพถ่ายสำเนาของเอกสารดังกล่าว เจ้าหน้าที่ไม่ได้รับรองอีกชั้นหนึ่งภาพถ่ายจึงเป็นเอกสารธรรมดา ไม่ใช่เอกสารราชการ จำเลยกรอกข้อความเพิ่มเติมลงไป แม้จะเป็นความจริง ก็เป็นปลอมเอกสาร ตาม ม 264 วรรค 2 (เทียบ ฎ 4766/2538)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 950/2537 จำเลยนำ “สำเนา น.ส.3 ก.” มาแก้ไขโดยการเพิ่มเติม ตัดทอนข้อความ และแก้รูปแผนที่ที่ดินให้ผิดไปจากความจริง แล้วจำเลยได้ถ่ายภาพสำเนา น.ส.3 ก.ที่มีการแก้ไขแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจว่าเอกสารต่าง ๆ ที่จำเลยทำขึ้นนั้น เป็นภาพถ่ายสำเนา น.ส. 3 ก. ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4766/2538 (สบฎ เน 1) บัตรประชาชนที่ปลอมขึ้นเป็นเพียง ภาพถ่ายเอกสารแต่การกระทำของจำเลยมีลักษณะ เพื่อการใช้อย่างต้นฉบับบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริง จึงเป็นเอกสารราชการ Ø จำเลยนำภาพถ่ายของ ม. มาตัดให้พอดีกับภาพถ่ายในบัตรประจำตัวประชาชนของ น. ที่แท้จริงแล้วนำภาพถ่ายที่ตัดแล้วปิดทับภาพถ่ายของ น. ที่ติดอยู่ในบัตรประจำตัวประชาชนของ น. ดังกล่าว แล้วถ่ายภาพบัตรและนำภาพถ่ายดังกล่าวอัดพลาสติกมอบให้ ม. โดยคิดค่าทำ 15 บาท ถือได้ว่า จำเลยกระทำโดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้พบเห็นบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวหลงเชื่อว่า ภาพถ่ายของ ม. ในบัตรประจำตัวประชาชนที่ถ่ายมาเป็นภาพถ่ายของ น. โดยมีวัน เดือน ปีเกิด และภูมิลำเนาตามที่ระบุไว้ในบัตรดังกล่าว เป็นบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริง จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร Ø บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานสำนักทะเบียนบัตรประชาชนกระทรวงมหาดไทยได้ทำขึ้นจึงเป็นเอกสารราชการ ตามนิยามของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8) Ø แม้บัตรประชาชนที่จำเลยทำปลอมขึ้นนั้นจะเป็นเพียงภาพถ่ายเอกสาร แต่การกระทำของจำเลยมีลักษณะเพื่อการใช้อย่างบัตรประจำตัวประชาชนฉบับที่แท้จริงจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4340/2543 สำเนาหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดิน” ที่จำเลยนำไปใช้ เป็นภาพถ่ายจากต้นฉบับเอกสารราชการ เพียงแต่แตกต่างกันในตัวเลขเกี่ยวกับราคาประเมินเท่านั้น จึงเป็นการแก้ไขตัวเลขอันเป็นการทำปลอมขึ้นจากหนังสือรับรองราคาประเมินซึ่งเป็นเอกสารราชการที่แท้จริง แม้จะเป็นการทำปลอมในสำเนาหนังสือรับรองราคาประเมิน ถือว่าเป็นการปลอมเอกสารราชการ เมื่อจำเลยได้นำไปใช้แสดงต่อโจทก์ร่วม จึงผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม (ปอ. มาตรา 265, 268)

- เอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 285/2507 “..1.” เป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดินเพื่อยึดถือเอาที่ดินเป็นของตน จึงเป็นเอกสารสิทธิที่ทำเป็นหลักฐานว่าผู้แจ้งคงมีสิทธิครอบครองอยู่ จึงตรงกับคำว่า สงวนซึ่งสิทธิตามมาตรา 1 (9) ..1. จึงเป็นเอกสารสิทธิ / จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมและตัดทอนข้อความในหนังสือ ส.ค. 1 และนำไปใช้ เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม แต่ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมกระทงเดียว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 584/2508 การซื้อเชื่อสินค้าต่าง ๆ เมื่อผู้ขายนำส่งสิ่งของที่ผู้ซื้อสั่งซื้อนั้น ผู้นำส่งได้เขียนกรอกรายการสิ่งของที่นำส่ง และราคาลงในบิลด้วย เมื่อฝ่ายผู้ซื้อตรวจสอบสิ่งของและราคาถูกต้องกับจำนวนที่ฝ่ายผู้ขายนำส่งแล้ว ก็ลงชื่อลายมือชื่อผู้รับในบิลนั้น มอบให้แก่ผู้นำส่งสิ่งของไป บิลซื้อเชื่อสินค้าต่าง ๆ รายนี้ จึงเป็นหลักฐานแห่งการก่อหนี้สินและสิทธิเรียกร้อง จึงเป็นเอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1104/2510 จำเลยนำเอาสลากการกุศล ที่มีการขูดลบแก้ตัวเลยไปขอรับรางวัล โดยรู้ว่าเป็นสลากปลอม จึงมีความผิดตาม มาตรา 268 ,265

- คำพิพากษาฎีกาที่ 863/2513 จำเลยที่ 1,ที่ 2 สมคบกันหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายเชวง เจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 จนโจทก์หลงเชื่อและทำหนังสือรับรองหลักทรัพย์กับยื่นขอประกันตัว ก.ต่อศาล ถือว่าจำเลยกระทำโดยทุจริต มาตรา 1 (9) หมายถึงเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับ “ซึ่งสิทธิ หรือหนี้สินทุกอย่าง” หนังสือที่โจทก์รับรองว่าทรัพย์ตามบัญชีเป็นของผู้ขอประกัน หากผู้ขอประกันผิดสัญญาประกัน และศาลบังคับเอาแก่นายประกันไม่ได้หรือไม่ครบ โจทก์ยอมรับผิดใช้ให้ เป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิ เพราะศาลมีสิทธิที่จะบังคับให้โจทก์รับผิดใช้เงินได้ เท่ากับเป็นสัญญาค้ำประกันนายประกันอีกชั้นหนึ่ง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1731-1732/2514 สำเนาบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ที่พิมพ์ลงในแบบพิมพ์ ท.ด.70 ของสำนักงานที่ดิน ซึ่งไม่มีเจ้าพนักงานรับรองสำเนาถูกต้อง และมิได้มีอะไรแสดงให้เห็นว่าเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ ย่อมไม่เป็นเอกสารราชการ แต่โดยที่เป็นเอกสารซึ่งแสดงถึงการมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน จึงเป็นเอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 709/2516 เอกสารมีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโดยลงชื่อโจทก์เป็นผู้แทนซื้อ จำเลยที่ 1 ต้องการที่ดินใด โจทก์จะโอนโฉนดคืนให้นั้น เป็นหลักฐานแห่งการเปลี่ยนแปลงสิทธิของโจทก์ในที่ดิน จึงเป็นเอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2748/2528 สมุดคู่ฝากบัญชีออมทรัพย์มีข้อความแสดงว่า ผู้ฝากได้ฝากเงินไว้กับธนาคาร ย่อมเป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิแก่ผู้ฝากที่จะเรียกถอนเงินฝากคืน หาใช่เพียงแต่เป็นหลักฐานแสดงฐานะของผู้ฝากไม่ การที่มิได้ทำขึ้นเพื่อใช้ถอนเงินฝากนั้นก็ไม่ทำให้ลักษณะของเอกสารเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นเอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3348/2541 (สบฎ สต 3) โจทก์บรรยายฟ้องว่า บิลเงินสดเป็นเอกสารสิทธิ จึงไม่จำต้องบรรยายซ้ำลงในคำฟ้องอีกว่าเป็นเอกสารที่ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจข้อหาได้แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6303/2541 (สบฎ สต 3) หนังสือหลักฐานการได้รับเงินและสละสิทธิในที่ดินมรดก เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแก่การก่อ เปลี่ยนแปลง โอนหรือระงับซึ่งสิทธิในที่ดินมรดก จึงเป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ.มาตรา 1 (9)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 10385/2546 ใบถอนเงินที่จำเลยทำปลอมขึ้นและนำไปใช้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย เป็นหลักฐานที่ใช้แสดงว่าผู้เสียหายได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากไปแล้ว ใบถอนเงินจึงเป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคารจึงเป็นเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9)

- กรณีไม่ใช่เอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1182/2487 “ใบอนุญาตเล่นการพนันเป็นแต่เพียงใบอนุญาต ไม่ใช่เอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1666/2494 จำเลยทำ สัญญากู้ไว้ แทนเงินที่ชนะพนันดังนี้ ไม่มีหนี้ตามกฎหมาย จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 928/2506 คำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ใช่เอกสารสิทธิตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา1 (9) ฉะนั้นแม้จะได้ความว่าจำเลยเจตนาทุจริต หลอกลวงให้ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก็ดี ก็ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 40/2507 ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ไม่เป็นเอกสารสิทธิ แต่เป็นเอกสารราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1107/2509 ใบแต่งทนายในคดีแพ่ง ที่ไม่มีข้อความนอกเหนือไปจากแบบพิมพ์ ไม่ใช่เอกสารสิทธิ เพราะเป็นเรื่องแต่งตั้งให้มีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนคู่ความ ไม่ใช่หลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 554/2514 แบบสำรวจที่บริษัทการค้ามอบให้ลูกจ้างของบริษัท จำเลยกรอกจำนวนผงซักฟอกเกินความจริง และยักยอกส่วนที่เกิน ดังนี้ เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานว่า ส.ได้จ่ายผงซักฟอกไปเท่าใด ไม่ใช่ก่อเปลี่ยนแปลงสิทธิ จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1538/2516 “คำฟ้องคดีแพ่งเป็นหลักฐานแห่งการสงวนสิทธิ แต่ก็ไม่ใช่แสดงเจตนาต่อบุคคลทำนิติกรรม เป็นการมีคำขอต่อศาลเพื่อบังคับตามสิทธิที่มีการโต้แย้ง การหลอกให้ถอนฟ้องในคดีล้มละลาย ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง เพราะไม่ใช่เอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1636-1650/2518 บัตรอนุญาตของเจ้าหน้าที่ให้ขึ้นเข้าศูนย์ได้ ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม ตามประกาศของผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมูนิสต์ เป็นเอกสารราชการ ไม่ใช่เอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3287/2522 “ใบรับรองของผู้ขอรับเงินช่วยค่ารักษาพยาบาลเป็นคำชี้แจง ไม่ใช่เอกสารสิทธิ บันทึกของเจ้าหน้าที่ที่ตรวจถูกต้องอนุมัติให้จ่ายได้ บัญชีหน้างบ สมุดคู่มือ วางฎีกา ไม่ใช่เอกสารสิทธิ เป็นแต่เอกสารราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2178/2524 สำเนาใบเบิกพัสดุที่ผู้ขอเบิกพัสดุนำมาขอเบิก และรับพัสดุไปจากจำเลยตามรายการที่ขอเบิก และมอบให้จำเลยเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานการที่จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนรายการ ขอเพิ่มขึ้นนอกเหนือก็เพื่อให้เอกสารที่ทำปลอมขึ้นนี้ เพื่อยักยอกเอาพัสดุของโจทก์ร่วม ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษารับผิดชอบของจำเลยไปเป็นประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น เป็นเพียงแต่การใช้เพื่ออำพรางความผิดของตน หาใช่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลงโอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตามความหมายแห่ง ป.อ.ม.1 (9) ไม่สำเนาใบเบิกพัสดุจึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2567/2526 สำเนาใบเสร็จรับเงิน เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าได้มีการออกต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน มีข้อความตรงกับสำเนาใบเสร็จเท่านั้น ไม่ใช่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ อันจะถือว่าเป็นเอกสารสิทธิ ตาม ม. 1 (9)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 587/2527 “ใบมอบฉันทะให้จดทะเบียนแก้โฉนดและทำนิติกรรมแทน ไม่เป็นเอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1892/2532 คำขอเอาประกันชีวิตแบบออมทรัพย์สงเคราะห์ มีสาระสำคัญว่าผู้เอาประกันมีความประสงค์ที่จะเอาประกันชีวิต ตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในคำขอ มีลักษณะเป็นเพียงคำเสนอขอทำสัญญาประกันชีวิตเท่านั้น ยังไม่แน่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะตกลงรับประกันหรือไม่ และบันทึกปากคำผู้เอาประกัน ก็เป็นเพียงเอกสารซึ่งผู้ขอเอาประกันชีวิตตอบคำถาม ตามที่บริษัทผู้รับประกันต้องการ ทราบ ในเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างผู้เอาประกัน ชีวิตกับผู้รับประโยชน์ ตลอดจนรายละเอียดในการชำระเบี้ยประกัน เอกสารดังกล่าวมิใช่หลักฐาน แห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงมิใช่เอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2718/2532 แบบฟอร์มรับหนังสือเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัท และรายชื่อผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมวิสามัญ ไม่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวนหรือระงับซึ่งสิทธิจึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2720/2535 (สบฎ เน 3) “คำร้องทุกข์ไม่ใช่ เอกสารสิทธิ ไม่ว่าจำเลยจะมีเจตนาทุจริต หลอกลวงผู้เสียหายให้ถอนคำร้องทุกข์หรือไม่ ก็ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ม 341

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1367/2536 ประกาศนียบัตรนักศึกษาโรงเรียนผู้ใหญ่ ตามหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน เพียงแสดงว่าผู้ได้รับประกาศนียบัตรดังกล่าวจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เท่านั้น ไม่ได้เป็นหลักฐานแห่งการก่อเปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ จึงมิใช่เอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3972/2536 ใบอนุญาตให้นำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์ เป็นเพียงเอกสารที่ทางราชการออกให้แสดงว่าได้อนุญาตให้เคลื่อนย้ายสัตว์ได้เท่านั้น หาใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อเปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิไม่ จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3512/2537 ใบเสนอราคาดังกล่าว จึงมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิ มิใช่เอกสารสิทธิตามความในมาตรา 1 (9)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1120/2539 ( สบฎ เน 1 ) “หนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารธรรมดา ไม่เป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิ ไม่เป็นเอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2570/2541 หนังสือคู่มือจดทะเบียนรถหรือใบคู่มือจดทะเบียนรถ เป็นเพียงเอกสารซึ่งควบคุมการใช้รถยนต์และการจัดเก็บภาษีประจำปีตาม พ.ร.บ.รถยนต์เท่านั้น มิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิแต่อย่างใด ใบคู่มือจดทะเบียนรถจึงเป็นเพียงเอกสารราชการ หาได้เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4830/2542 บันทึกที่มีข้อความว่า โจทก์ไม่ได้รู้เห็นข้อเท็จจริงในการซื้อขายที่ดิน ไม่เป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ เพราะไม่ใช่หลักฐานที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงแห่งสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) / โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยข่มขืนใจโจทก์ ให้ทำลายสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง ศ. กับ ส. ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 37/2543 จำเลยที่ 1 ได้ปลอมข้อความในใบบันทึกการขาย โดยปลอมหมายเลขผู้ถือบัตรเครดิต วันหมดอายุบัตร ชื่อผู้ถือบัตร และลายมือชื่อผู้ถือบัตร แม้ยังไม่อาจนำไปเรียกเก็บเงินได้ เพราะจะต้องนำไปลงข้อมูลของร้านค้า จำนวนเงิน รหัสอนุมัติวงเงิน วันที่ทำรายการและหมายเลขหนังสือเดินทางก่อน ก็น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ถือบัตรดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดสำเร็จ ใบบันทึกการขายดังกล่าวยังมิได้ลงข้อมูล ยังไม่สามารถนำไปเรียกเก็บเงินได้ จึงมิใช่เอกสารสิทธิ

- เรื่องใบมอบฉันทะนี้ คำพิพากษาฎีกาแต่เดิมมา เคยวินิจฉัยว่า เป็นเอกสารสิทธิ เช่น ฎ 96/2458, 737/2465, 102/2472, 92–93/2457, 352/2478, 761/2463 ต่อมามีคำพิพากษาฎีกาที่ 1143/2482 วินิจฉัยว่า ใบมอบฉันทะให้รับของกลางคืนจากอำเภอไม่เป็นเอกสารสิทธิ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 587/2527 หนังสือมีข้อความว่า โจทก์มอบให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจจัดการให้กรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ในฐานะตนเองและเป็นตัวแทนอีกฝ่ายหนึ่งได้ เป็นเพียงเอกสารที่โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยมีอำนาจทำนิติกรรมแทนโจทก์เท่านั้น ไม่เป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อสร้างสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ.ม. 1 (9) แม้จำเลยกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อโจทก์โดยโจทก์ไม่ยอนยอม ก็ไม่มีความผิดตาม ม.265

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1120/2539 ( สบฎ เน 1 ) “หนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารธรรมดา ไม่เป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิ ไม่เป็นเอกสารสิทธิ (ความเห็น ใบมอบฉันทะ หรือหนังสือมอบอำนาจ ควรถือเป็นเอกสารสิทธิ เพราะเป็นหลักฐานแห่งการตั้งตัวแทน อันเป็นการหลักฐานแห่งการ ก่อสิทธิให้แก่ตัวแทน มีอำนาจทำการแทนตัวการ และเป็นการ โอนสิทธิของตัวการให้แก่ตัวแทน เพื่อทำการแทน จึงเป็นหลักฐานการโอนสิทธิที่จะมีผลให้ ตัวการต้องผูกพันในกิจการที่ ตัวแทนกระทำ ตาม ปพพ ม 820 ปกรณ์)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4381/2541 หนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารธรรมดาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้มอบอำนาจ มอบหมายให้บุคคลอีกคนหนึ่ง มีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทนผู้มอบอำนาจเท่านั้น ไม่เป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิแต่อย่างใด จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ การที่จำเลยปลอมหนังสือมอบอำนาจ จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร และใช้หรืออ้างเอกสารปลอมตาม ป.อ.มาตรา 264 วรรคแรก,268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 265

- (ขส เน 2510/ 10) กำนันทำรายงานให้พนักงานสอบสวน ว่านายสีลักทรัพย์นายแก้ว กำลังตามจับอยู่ ต่อมากำนันทราบว่าความจริง ผู้ต้องหาคือนายแดง ไม่ใช่นายสี จึงขอแก้รายงาน พนักงานสอบสวนไม่ยอม กำนันจึงแอบแก้ชื่อผู้ต้องหาในรายงานเดิม / กำนันผิดฐานปลอมเอกสารราชการ ตาม ม 265 เพราะรายงานนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน การแก้ไขอาจทำให้ทางราชการ พนักงานสอบสวน และนายแดงเสียหาย (ไม่ผิด ม 161 เพราะพ้นหน้าที่แล้ว ไม่มีหน้าที่ต่อเอกสารนั้นโดยตรง)

- (ขส เน 2518/ 4) ผู้กู้ลงชื่อในสัญญากู้เป็นบุคคลอื่นในตำบลเดียว แล้วมอบสัญญาให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้ / ผู้กู้ ผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม ม 265+268 ลงโทษตาม ม 268 กระทงเดียว ฎ 167/2517

- (ขส อ 2536/ 2) ผู้เสียหายขอถ่ายสำเนา รายการประวัติอาชญากรของจำเลย โดยไม่มีผู้รับรองสำเนา กรอกข้อความว่าเคยต้องโทษคดีอื่นตามที่เป็นจริง แล้วนำไปแจกจ่าย / ไม่ใช่เอกสารราชการ แต่เป็นเอกสาร ม 1 (7) ตรงจริงก็น่าจะเสียหายผิด ม 265+268 1375/2522

มาตรา 266 ผู้ใดปลอมเอกสารดังต่อไปนี้

(1) เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ

(2) พินัยกรรม

(3) ใบหุ้น ใบหุ้นกู้หรือใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้

(4) ตั๋วเงิน หรือ

(5) บัตรเงินฝาก

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

- เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 778/2506 บัญชีเงินต่าง ๆ ของทางราชการ มีช่องที่ผู้รับเงินจะต้องลงชื่อ เมื่อลงแล้ว และรับเงินไปแล้ว ย่อมเป็นหลักฐานแห่งการระงับไปซึ่งสิทธิ ทำให้ผู้นั้นหมดสิทธิจะเรียกร้องเอาเงินจากทางราชการอีก เป็นเอกสารสิทธิของทางราชการตามมาตรา 266

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2266-2278/2519 ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถยนต์ที่ทางราชการออกให้ ย่อมเป็นหลักฐานแสดงว่าทางราชการได้รับชำระค่าภาษีรถยนต์ไว้แล้ว มีผลทำให้การเก็บภาษีรถยนต์ของรัฐเป็นอันเสร็จสิ้นไป จึงเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2716/2522 เอกสารที่จ่าสิบตำรวจขอกู้เงินและสัญญากู้ ซึ่งประกอบด้วย ความเห็นของผู้บังคับบัญชาว่า เดือดร้อนจริง และบันทึกผู้บังคับบัญชาค้ำประกัน เป็นเอกสารสิทธิและเอกสารราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1772/2539 เอกสารที่ใช้ประกอบเป็นรายงานการเดินทางไปราชการ เพื่อเบิกเงินจาก และเอกสารการรับเงินเพื่อแสดงว่า ได้มีการจ่ายเงินไปถูกต้องแล้ว เป็นหลักฐานแห่งการก่อและระงับสิทธิ เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5132/2539 หนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ซึ่งเจ้าพนักงานได้ออกให้เพื่อแสดงว่าผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน

- ตั๋วเงิน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3355/2533 เช็คทั้งสิบฉบับเป็นเช็คที่สมบูรณ์ครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว การที่จำเลยร่วมปลอมลายมือชื่อของ ป.เป็นผู้รับอาวัลเช็คก็เพื่อให้เช็คทั้งสิบฉบับเป็นที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้นเท่านั้น เช็คดังกล่าวจึงเป็นตั๋วเงิน จำเลยย่อมมีความผิดฐานปลอมเอกสารที่เป็นตั๋วเงิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 266 (4) ไม่ใช่เป็นความผิดตามมาตรา 264 เท่านั้น / แม้จำเลยปลอมลายมือชื่อของ ป.ที่ด้านหลังเช็คทั้งสิบฉบับในคราวเดียวกัน แต่การปลอมลายมือชื่อดังกล่าวในแต่ละฉบับ เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารแยกออกจากกันได้ ทั้งจำเลยกระทำโดยมีเจตนานำเช็คที่มีลายมือชื่อปลอมนั้น ไปหลอกขายลดให้แก่บุคคลอื่นเป็นรายฉบับ จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 266

- (ขส อ 2531/ 6) นำใบเสร็จไปคืน รพ ของราชการ ขอให้แก้ยอดเงินเพิ่ม เมื่อเบิกได้แล้วจะนำมาแบ่ง / จนท รพ ผิด ม 264+266 + 161 + 149 ยอมจะรับ / คนขอผิด ม 144+ ผู้ใช้ ม 264+266+84 (คนขอ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ขาดคุณสมบัติอันเป็นองค์ประกอบภายนอก ไม่อาจเป็นผู้ใช้ได้ จึงไม่สามารถเป็นตัวการได้ จะต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ม 86) + นำไปเบิก ม 268+341


มาตรา 267 ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ จดข้อความอันเป็นเท็จ ลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- การแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 127/2484 จดบัญชีทรัพย์เท็จในการยื่นคำร้องขอประกันนั้น ไม่เรียกว่าเป็นการบอกให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จ ไม่เป็นผิดตามม.226

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1274/2513 การฟ้องเท็จในคดีแพ่ง ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดทางอาญา และการฟ้องกับการยื่นคำให้การในคดีแพ่ง ไม่เป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จำเลยแถลงต่อศาลในการดำเนินคดีเพื่อที่จะให้ศาลจับกุมโจทก์มาปฏิบัติตามคำพิพากษา โดยอ้างว่าโจทก์เป็นบริวารของผู้ถูกฟ้องขับไล่ การที่ศาลจดคำแถลงดังกล่าวไว้ในรายงานพิจารณานั้น มิใช่เอกสารที่จะเป็นพยานหลักฐานตามความหมาย มาตรา 267 แต่เป็นเพียงคำกล่าวอ้าง ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะคัดค้านอย่างไรก็ได้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6099/2531 จำเลยกรอกใบสมัครเพื่อสมัครรับเลือก เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่าจำเลยจบการศึกษา ประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย ความจริงแล้วจำเลยไม่ได้จบการศึกษาชั้นดังกล่าว อันเป็นการแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานผู้รับสมัครเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 กับแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

- คำพิพากษาฎีกาที่ 8018/2544 การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่า ได้ทำโฉนดที่ดินของจำเลยรวม 3 ฉบับสูญหายไป ซึ่งความจริงแล้ว โฉนดที่ดินทั้งสามฉบับไม่ได้สูญหายไป และแจ้งให้พนักงานสอบสวน จดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เจตนา ของจำเลยก็เพื่อนำเอกสารรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ไปใช้และแสดงอ้างอิงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน กับแจ้งแก่เจ้าพนักงาน ที่ดินว่าโฉนดที่ดิน 3 ฉบับสูญหายไปเพื่อขอรับใบแทนโฉนดที่ดิน ทั้งสามฉบับ การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นการกระทำคนละวัน และต่อเจ้าพนักงานคนละหน่วยงานกันแต่เป็นการกระทำโดย มีเจตนาเดียวกันคือเจตนาเพื่อขอรับโฉนดที่ดินทั้งสามฉบับ นั่นเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อ กฎหมายหลายบท / ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83 เป็นการกระทำ อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 267 แต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 จำคุก 6 เดือน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1001/2545 บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารสำคัญของทางราชการ ที่ออกให้โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐาน ในการแสดงตนของบุคคล การที่จำเลยที่ 1 แจ้งความเท็จว่าตน ชื่อ ป. และบัตรประจำตัวประชาชนของตนสูญหายไป เป็นเหตุ ให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อจดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวลงในเอกสาร ราชการและจำเลยที่ 2 รับรองต่อเจ้าพนักงานว่าจำเลยที่ 1 คือ ป. และบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 สูญหายจริงพร้อมทั้ง ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับรอง และจำเลยทั้งสองยังร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมขึ้นแสดงต่อเจ้าพนักงาน เพื่อขอมีบัตรใหม่ อันเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชน ฉบับใหม่ให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น นับว่าก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แก่ทางราชการ และอาจสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้สุจริต ทั่วไปที่จำเลยที่ 1 อาจนำบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่ไปใช้แอบอ้าง อีกด้วย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงไม่สมควรรอการลงโทษ จำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง

- เจ้าพนักงาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 310/2530 ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 กำหนดให้เฉพาะแต่นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้รักษาการแทนเท่านั้น เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อปรากฏว่า อ. เป็นเพียงปลัดอำเภอ และมิได้เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอ แม้นายอำเภอจะมีคำสั่งแต่งตั้งให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชน อ. ก็มีฐานะเป็นเพียงผู้ทำการแทนนายอำเภอเท่านั้น หาใช่เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอ ตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวไม่ อ. จึงไม่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ดังนั้นการที่จำเลยยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวประชาชน โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ. จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2505 มาตรา 17 แต่การที่ อ.ทำการแทนนายอำเภอดังกล่าวนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่า อ. มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ผู้กระทำการตามหน้าที่ ดังนั้น การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ. และ อ. จดข้อความที่แจ้งลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 137 และมาตรา 267 แล้ว

- พฤติการณ์ประกอบการกระทำ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1785/2517 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งเรื่องที่ดิน ศาลสั่งให้ทำแผนที่พิพาท จำเลยบอกให้เจ้าพนักงานผู้ทำแผนที่บันทึกลงในแผนที่พิพาทว่า "จำเลยว่าทุกฝ่ายที่เคยมีชื่อในโฉนดครอบครองร่วมกัน ไม่เคยแบ่งแยกเป็นสัดส่วนฯลฯ" ไม่ว่าข้อความนี้จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงการบันทึกให้ปรากฏไว้ว่าจำเลยอ้างว่าอย่างไรเท่านั้น หาอาจให้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งดังกล่าว โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือผู้อื่นหรือประชาชนได้ไม่ จึงไม่อาจเป็นความผิดตาม มาตรา 267

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3724/2525 ที่ดินและบ้านเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 เมื่อใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ.ที่ได้ตรวจชำระใหม่แล้ว ย่อมเป็นสินส่วนตัว อันจำเลยที่ 1 มีอำนาจจำหน่ายได้เอง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นสามี และมิใช่ทรัพย์สินที่โจทก์จะมีส่วนแบ่งเมื่อหย่ากัน การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินและบ้าน โดยแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นหม้าย โดยการตายของสามี ยังไม่ได้สมรสใหม่ และจำเลยที่ 2 รับรองการเป็นหม้ายของจำเลยที่ 1 ให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกไว้ตามหนังสือสัญญาขายที่ดิน หากข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายอันจะฟ้องจำเลย ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการตาม ป.อ. ม.267 ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1430/2537 การที่จำเลยร่วมกับ อ. และให้ อ. ยื่นขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม กรรมการของบริษัท ก.ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท โดยยื่นเอกสารรายงานการประชุมวิสามัญของบริษัท ก. อันเป็นเอกสารเท็จประกอบไปด้วย เป็นเหตุให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนให้ เป็นการแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความ อันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของบริษัท ก. และประชาชน จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267

- พฤติการณ์ประกอบการกระทำ ไม่ครบองค์ประกอบ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1237/2544 ความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 267 จะต้องปรากฏว่าการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. จำเลยไม่มีคู่สมรส เพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากับ ค. แล้วก่อนหน้านั้น แม้จำเลยจะแจ้งต่อนายทะเบียนว่าจำเลยเคยสมรส แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเคยจดทะเบียนสมรสกับ ค. ก็มีผลอย่างเดียวกัน ไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ไม่เป็นความผิด

- การกระทำอันเป็นความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1615/2528 จำเลยมีสัญชาติเวียดนาม ได้อาศัยทะเบียนบ้านที่ระบุว่าจำเลยมีสัญชาติไทย ซึ่งจำเลยทราบดีว่าไม่เป็นความจริง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือหลักฐานเท็จ ไปอ้างต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชน เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อว่าจำเลยมีสัญชาติไทยจริง จึงได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลยดังนั้น บัตรประจำตัวประชาชนที่จำเลยได้รับซึ่งเกิดจากหลักฐานเท็จและความหลงผิดของเจ้าพนักงาน จึงเป็นบัตรประจำตัวเท็จไปด้วย เมื่อจำเลยนำเอาทะเบียนบ้านที่ระบุสัญชาติของจำเลยเป็นเท็จ กับบัตรประจำตัวประชาชน ของจำเลยอันเป็นเท็จ ไปแจ้งต่อปลัดอำเภอ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อขอเปลี่ยนบัตรใหม่ ทั้ง ๆ ที่จำเลยทราบอยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีสิทธิออกบัตรประจำตัวประชาชนได้ จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. ม.267

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2918/2535 เมื่อ ห. เป็นนายทะเบียนมีหน้าที่รับแจ้งการย้าย และได้ลงชื่อเป็นผู้รับแจ้งข้อความ ซึ่งเป็นข้อความเท็จตามที่จำเลยมาแจ้งแล้ว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิด การที่ ห. จะใช้ให้บุคคลใด เป็นผู้เขียน หรือจดข้อความแทน หาใช่เป็นสาระสำคัญ อันจะทำให้การกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบ ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 267 แต่อย่างใดไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3978/2539 จำเลยทราบดีว่าที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นที่เป็นของผู้เสียหาย แต่อ้างว่าซื้อมาจาก ธ. ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของ เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานสนับสนุน และมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวอย่างจริงจัง อันเป็นการผิดปกติวิสัย และจำเลยอ้างว่าผู้เสียหายทิ้งร้างไว้ไม่ได้ทำประโยชน์ จำเลยจึงเข้ายึดถือครอบครองทำนากุ้งนั้น ก็ได้ความว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ถึง 247 ไร่เศษ มีราคาประเมินถึง 14 ล้านบาท ถ้าเป็นราคาซื้อขายทั่วๆ ไป จะตกราคาไร่ละ 2 ล้าน ที่ดินพิพาทจึงมีราคาซื้อขายเกือบ 500 ล้านบาท อันมิใช่เล็กน้อย มีถนนสุขุมวิท เข้าสู่ที่ดินพิพาท มีรั้วลวดหนามล้อม 3 ด้าน ด้านติดทะเลมีเขื่อนคอนกรีตภายในมีสำนักงานและอาคารเก็บรักษาทรัพย์ เจ้าของทรัพย์เป็นรัฐบาลต่างประเทศให้สถานเอกอัครราชฑูตของตนดูแล โดยสถานะของเจ้าของและสภาพของทรัพย์ดังกล่าว เพียงพอที่จะฟังได้ว่าผู้เสียหายยังครอบครองอยู่ ไม่ได้ทิ้งร้าง ดังจำเลยอ้าง พ. พึ่งเป็นผู้ดูแลที่ดินและทรัพย์สินของผู้เสียหายแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินแต่จำเลยไม่ยอม กลับพาพวกใช้อาวุธปืนขู่เข็ญให้ พ. ออกไปจากที่ดิน ต่อมา อ. นายอำเภอซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายให้จำเลยออก จำเลยไม่ยอมกลับอ้างสิทธิครอบครอง เหตุดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาบังอาจของจำเลยได้ เมื่อจำเลยกระทำไปโดยเจตนาก็ต้องมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (2) ประกอบด้วยมาตรา 362 และ 354 / การที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นเป็นของผู้เสียหายผู้เสียหายยังครอบครองมิได้ทิ้งร้าง แต่จำเลยยังขืนไปยื่นคำขอต่อทางราชการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ผู้เสียหายคัดค้านไม่ยอมให้เข้าไปในที่ดิน จึงไม่สามารถรังวัดตรวจสอบได้ จำเลยได้ให้ถ้อยคำยืนยันตามคำขอซึ่งเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ได้บันทึกข้อความไว้ในบันทึกถ้อยคำ (ท.ด. 16) อันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีสาระสำคัญว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้เสียหายผู้เสียหายทิ้งร้างไว้ไม่ได้ทำประโยชน์ จำเลยเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์มานาน ขอให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิได้มา โดยการครอบครองอันเป็นเท็จ ซึ่งจำเลยมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานในการที่จำเลยจะได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท อันน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267

- สิทธิในการให้การของผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 134

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4048/2528 จำเลยเป็นคนสัญชาติญวน ไม่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังหนึ่งเลย แล้วไปแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมทะเบียนจดข้อความเท็จลงในทะเบียนบ้านอีกหลังหนึ่ง ว่าจำเลยเป็นคนสัญชาติไทย ย้ายมาจากบ้านที่จำเลยไม่เคยมีชื่ออยู่นั้น การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ.ม.267 / โจทก์ฟ้องจำเลยแจ้งความเท็จต่อนายทะเบียนเขตว่าจำเลยมีสัญชาติไทย ขอให้ออกบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อบัตรประจำตัวประชาชนที่เจ้าพนักงานออกให้นั้น ไม่มีการจดข้อความเท็จที่ว่าจำเลยมีสัญชาติไทยลงไว้ กรณีจึงไม่เข้าองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. ม.267 คงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ม.137 เท่านั้น / การที่จำเลยซึ่งถูกจำกุมในข้อหาว่าเป็นคนญวนอพยพ หนีจากเขตควบคุม ให้การปฏิเสธ พร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัวประชาชนให้ตำรวจดูนั้น เป็นการปฏิเสธในฐานะผู้ต้องหา แม้ข้อความที่จำเลยให้การนั้นจะเป็นเท็จ ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ม.137 และจะเอาผิดแก่จำเลยฐานใช้ หรืออ้างอิงเอกสารอันเกิดจากการกระทำผิด ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการตาม ม.268 ก็ไม่ได้อีกเช่นกัน

- ประเด็นตามกฎหมายวิธีพิจารณาความ การบรรยายฟ้อง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1217/2518 แจ้งความเท็จขอรับบัตรประจำตัว และใบแทนใบสำคัญทหารกองเกินอัตรา เจ้าพนักงานออกให้โดยหลงเชื่อว่าเป็นคนไทยและใบสำคัญทหารกองเกินอัตราหาย ความจริงไม่ใช่คนไทย แล้วนำบัตรไปใช้ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267 ไม่ใช่เอกสารปลอมตามมาตรา 265 โจทก์บรรยายฟ้องถูกต้องแต่อ้างมาตรา 265,268 ผิด ศาลลงโทษตามมาตรา 267 ,268 ได้

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 267

- (ขส อ 2526/ 1) ผู้สมัคร สส กรอกใบสมัครเท็จว่ามียศร้อยโทและแต่งชุดถ่ายรูป ยื่นต่อผู้ว่า ผิด ม 137+267+146 2752/2519

- (ขส อ 2526/ 4) สามีภรรยาไม่จดทะเบียน สามีแจ้งนายทะเบียน ว่าเด็กเป็นบุตร ไม่ใช่ข้อความเท็จ ไม่ผิด ม 267 (+137)

- เปรียบเทียบกับประมวลกฎหมายลักษณะอาญา

- มาตรา 226 ผู้ใดบอกให้เจ้าพนักงานผู้มีตำแหน่งทำการตามหน้าที่ จดข้อความซึ่งมันรู้อยู่ว่าเป็นเนื้อความเท็จลงในหนังสืออย่างใดใด อันสามารถจะใช้เป็นพะยานได้ แลถ้าการที่มันกระทำนั้น อาจจะเกิดความเสียหายแก่สาธารณชน หรือแก่ผู้หนึ่งผู้ใดได้ไซร้ ท่านว่ามันมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนขึ้นไป จนถึงสามปี แลให้ปรับตั้งแต่ห้าสิบบาทขึ้นไปจนถึงพันบาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 127/2484 จดบัญชีทรัพย์เท็จในการยื่นคำร้องขอประกันนั้น ไม่เรียกว่าเป็นการบอกให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จ ไม่เป็นผิดตามม.226


มาตรา 268 ผู้ใด ใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเอง ให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

- เจตนา

- คำพิพากษาฎีกาที่ 693/2526 รถยนต์ของ ส.ซึ่งถูกคนร้ายลักไป อ.เคยนำมาซ่อมท่อไอเสียกับจำเลย และแสดงตนว่าเป็นเจ้าของรถ จำเลยขอยืมรถจาก อ.ไปใช้ แม้รถมีป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปีและป้ายทะเบียนรถยนต์ซึ่งต่างเป็นเอกสารราชการปลอม เมื่อจำเลยไม่รู้ความจริงดังกล่าว จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมตาม ป.อ.ม.268

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6317/2534 จำเลยได้นำสมุดเงินฝากของธนาคารไปยื่นประกอบเรื่องราวขอวีซ่าไปประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าสมุดเงินฝากของธนาคารเป็นเอกสารปลอม เมื่อคดีโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ทำปลอมสมุดเงินฝากของธนาคาร ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยรู้ว่าสมุดเงินฝากของธนาคารเป็นเอกสารปลอม โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยใช้เอกสารปลอม ย่อมมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าสมุดเงินฝากของธนาคารปลอม ซึ่งถ้าจำเลยไม่รู้ความจริงดังกล่าว แม้จำเลยนำเอกสารไปใช้ จำเลยก็ไม่มีความผิดทางอาญา

- ลักษณะการนำออกใช้ หรืออ้างเอกสารปลอม หรือเอกสารเท็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1264/2503 จำเลยรู้อยู่แล้วว่า อักษรเลขหมายที่พานท้ายปืน เป็นของทำปลอมขึ้น เมื่อเจ้าพนักงานมาขอค้น จำเลยได้นำปืนดังกล่าว ออกแสดงให้เจ้าพนักงานดู พร้อมใบอนุญาตของจำเลย ต้องถือว่าจำเลยได้ใช้ หรืออ้างเอกสารปลอมตามมาตรา 268

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1731-1732/2514 จำเลยเอาสำเนาบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์ รวมที่ดินไปมอบให้โจทก์ร่วม โดยจำเลยรู้ว่าเป็นเอกสารปลอม และจะก่อให้เกิดการเสียหายแก่โจทก์ร่วม แม้เอกสารนั้นจะเป็นสำเนา แต่ก็เป็นสำเนาที่ทำขึ้นเพื่อให้เชื่อว่ามีต้นฉบับเช่นนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้เอกสารปลอม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4880/2528 อาวุธปืน 2 กระบอกมีหมายเลขทะเบียนตรงกันโดยอาวุธปืนยี่ห้อเมาเซอร์เป็นอาวุธปืนที่ทางราชการออกใบอนุญาตให้จำเลยมีและใช้โดยแท้จริง อาวุธปืนยี่ห้อสเตอร์ลิงจำเลยมีไว้ในความครอบครองในภายหลังและหมายเลขทะเบียนปืนที่ตอกลงบนอาวุธปืนยี่ห้อสเตอร์ลิง ที่จำเลยอ้างต่อพนักงานสอบสวนเป็นหมายเลขทะเบียนปลอม จำเลยมีอาวุธปืนดังกล่าวพร้อมเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครอง โดยมิได้รับอนุญาตและใช้หมายเลขทะเบียนปืนอันเป็นเอกสารราชการปลอม จึงมีความผิดตาม ป.อ. ม.268 พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4772/2536 จำเลยนำใบอนุญาตขับรถยนต์ปลอมไปมอบให้ ช.โดยรู้อยู่ว่าเป็นเอกสารปลอม และใบอนุญาตขับรถยนต์ดังกล่าว ได้มีรอยตราประทับของกรมการขนส่งทางบกที่มิใช่รอยตราประทับที่แท้จริง ดังนั้นจำเลยจึงมีความผิดฐานใช้รอยตราปลอม และการที่จำเลยรับจะเป็นคนติดต่อทำใบอนุญาตขับรถยนต์ให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะมีใบอนุญาตดังกล่าว โดยไม่ต้องผ่านการสอบของกรมการขนส่งทางบก ย่อมหมายความว่าจำเลยสามารถจะนำใบอนุญาตที่แท้จริงมาให้แก่บุคคลดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยนำใบอนุญาตปลอมมาให้ จึงเท่ากับเป็นการอ้างแก่บุคคลเหล่านั้นว่าเป็นเอกสารราชการที่แท้จริงแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานอ้างเอกสารราชการปลอม

- กรณีไม่เป็นการนำออกใช้ หรืออ้างเอกสารปลอม หรือเอกสารเท็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1819/2532 จำเลยยอมรับต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่กองกำลังพล กรมตำรวจ ว่าจำเลยเป็นผู้แก้ไขตำแหน่ง และเลขประจำตำแหน่งในบันทึกการขอบรรจุข้าราชการตำรวจที่ผู้บังคับบัญชาของจำเลย เสนอแต่งตั้งให้จำเลยดำรงตำแหน่งรองสารวัตรปกครองป้องกันสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น เป็นตำแหน่งรองสารวัตรปกครองป้องกันสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ดังนี้ เป็นคำบอกเล่าที่ทำให้ตนเองเสียประโยชน์ จึงรับฟังได้ / จำเลยปลอมเอกสารบันทึกการขอบรรจุข้าราชการตำรวจ อันเป็นเอกสารราชการขณะเอกสารดังกล่าว ถูกส่งไปตามสายงานจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลถึงอธิบดีกรมตำรวจและยังคงค้างอยู่ที่กองกำลังพลกรมตำรวจ ย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กองกำลังพล ที่จะเสนอเอกสารดังกล่าวไปตามลำดับจนถึงอธิบดีกรมตำรวจ จำเลยมิใช่เป็นผู้ใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่กองกำลังพล โดยวิธีแนบเรื่องไปตามลำดับจนถึงอธิบดีกรมตำรวจ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268

- ความผิดสำเร็จ ในองค์ประกอบ ใช้ หรืออ้าง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 557/2509 จำเลยนำสลากกินแบ่งซึ่งจำเลยรู้ว่าปลอมไปขอขึ้นเงินกับนายแก้ว นายแก้วสงสัยว่าปลอมจึงไม่รับ ให้ไปขึ้นเงินกับกองสลากกินแบ่ง นายแก้วได้พาจำเลยไปยื่นคำร้องขอรับเงินที่กองสลากกินแบ่ง เจ้าหน้าที่ตรวจแล้วเห็นว่าเป็นสลากปลอม จึงไม่จ่ายเงินให้จำเลย ถือว่าจำเลยได้นำสลากปลอมไปใช้ต่อนายแก้ว และกองสลากกินแบ่งเพื่อขอรับเงินแล้ว การกระทำของจำเลยจึงบรรลุผลฐานใช้เอกสารปลอมแล้ว ไม่ใช่เป็นผิดเพียงฐานพยายาม

- พฤติการณ์ประกอบการกระทำ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1407/2510 นำพินัยกรรมปลอมไปแสดงต่อพนักงานที่ดินอำเภอ เพื่อขอรับมรดกและอำเภอได้ประกาศการขอรับมรดกแล้ว แม้ต่อมาจะได้ขอถอนคำขอรับมรดกนั้นเสีย การทำพินัยกรรมปลอมไปแสดงเช่นนั้น ก็เป็นการกระทำอันเป็นเหตุที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 268

- คำพิพากษาฎีกาที่ 658/2513 จำเลยจะให้ ล.ถ.และ พ. ร้องขอให้ศาลสั่งว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยมิชอบ ได้นำใบแต่งทนายไปให้ ล. ถ. และ พ. เซ็นชื่อ ล.ถ.และ พ. เซ็นชื่อไม่ได้ จึงยินยอมให้ ค.เซ็นชื่อแทนแล้วจำเลยนำใบแต่งทนายนั้นไปให้ทนายความยื่นต่อศาลพร้อมกับคำร้องดังนี้ ล. ถ.และ พ. ไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย แต่เป็นที่เห็นได้ว่าน่าจะเกิดความเสียหายแก่ศาลแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 517/2541 หมายเลขทะเบียนรถยนต์แต่ละคันทางราชการเป็นผู้กำหนดและออกให้ใช้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสะดวกต่อการควบคุมแผ่นป้ายทะเบียนของกลางแม้จะเป็นแผ่นป้ายที่ทางราชการออกให้กับรถของจำเลย แต่ได้มีการแก้ไขข้อความจากหมายเลขทะเบียน 3ธ-8086 กรุงเทพมหานคร ให้กลายเป็นหมายเลขทะเบียน 8ธ-8886 กรุงเทพมหานคร แม้รถยนต์ของจำเลย คันหมายเลขทะเบียน 3ธ-8086 กรุงเทพมหานคร จะเป็นยี่ห้อหนึ่งส่วนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8ธ-8886 กรุงเทพมหานครจะเป็นอีกยี่ห้อหนึ่ง ก็อาจทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจผิดได้ การที่จำเลยนำรถยนต์ที่มีแผ่นป้ายทะเบียนอันเป็นเอกสารราชการปลอมออกใช้ ขับไปในที่ต่าง ๆ และแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

- การปรับบทลงโทษ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1653/2520 จำเลยเป็นพนักงานประจำเขียนใบเสร็จรับเงินท่อนแรกให้ผู้ชำระเงิน 35 บาท แต่เขียนสำเนาท่อนสองส่งคลัง และท่อนสามติดอยู่ในเล่มรายละ 25 บาทบ้าง 10 บาทบ้าง ลงวันคนละวันส่งเงินตามสำเนา ยักยอกเงินที่เหลือ ดังนี้ เป็นการปลอมเอกสารสำเนาใบเสร็จรับเงิน อันเป็นเอกสารสิทธิ ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตาม ม.268 / ใช้เอกสารปลอมสำเนาใบเสร็จรับเงิน ส่งพร้อมกับเงินที่เก็บได้นอกนั้น ยักยอกไว้เป็นความผิดกรรมเดียวกัน ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ม.4 อันเป็นบทหนัก

- ผู้ร่วมกระทำผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3894/2525 แม้ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรม ในพินัยกรรมมีลักษณะลายเส้นนูนเลอะเลือน จนผู้ชำนาญการพิเศษตรวจพิสูจน์ลงความเห็นไม่ได้ มีพยานลงชื่อรับรองสองคน ก็มีสภาพเป็นพินัยกรรม แต่เป็นพินัยกรรมที่จำเลยกับ บ. ร่วมกันทำปลอมขึ้น เมื่อนำส่งอ้างเป็นพยานต่อศาลสำเร็จลงแล้ว ต้องมีความผิดฐานใช้พินัยกรรมปลอมอีกกระทงหนึ่ง มิใช่การพยายามกระทำความผิดที่เป็นไปไม่ได้ตาม ป.อ. ม.81 แม้จำเลยจะได้กระทำในฐานะทนายความของ บ. จำเลยในคดีแพ่ง จำเลยก็มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันใช้พินัยกรรมปลอมตาม ป.อ. ม.83

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1970/2530 น.กู้เงินผู้เสียหายโดย ส.ใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ของ ส. ซึ่งเป็นเอกสารปลอมไปค้ำประกันหนี้เงินกู้ แม้จำเลยจะมิได้ร่วมไปบ้านผู้เสียหายในวันทำสัญญากู้ แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยร่วมกับ น. และ ส.มาแต่ต้นในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยในวันเกิดเหตุจำเลยพา น. และ ส.ไปพบ ว. เพื่อให้พาบุคคลทั้งสองไปพบผู้เสียหาย ส่วนจำเลยรออยู่เพื่อคอยรับเงินส่วนแบ่งจาก น. พฤติการณ์ดังกล่าว ฟังได้ว่าจำเลยเป็นตัวการในการใช้เอกสารปลอมด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 176/2537 จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ได้กรอกข้อความ โดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการปลอมหนังสือมอบอำนาจด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ไปด้วยในวันที่นำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปจดทะเบียนโอนที่ดิน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิด กับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น ทั้งเป็นสามีภรรยากันมีส่วนได้เสียในที่ดินที่รับโอน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการใช้เอกสารปลอมด้วย

- ผู้เสียหาย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1593/2528 จำเลยในฐานะครูใหญ่ยื่นเอกสารใบรับรองแพทย์ ประกอบใบลาป่วยต่อผู้จัดการโรงเรียนคือจำเลยเอง โจทก์ซึ่งเป็นเพียงเจ้าของโรงเรียน มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการของโรงเรียนในขณะนั้นแต่ประการใด โจทก์เพิ่งเป็นผู้จัดการโรงเรียนในภายหลัง แม้ใบรับรองแพทย์จะเป็นเอกสารปลอม แต่จำเลยมิได้ใช้เอกสารดังกล่าวแสดงต่อโจทก์ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในข้อหาใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. ม.268 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236-2237/2550 ความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารปลอม เป็นความผิดต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ปลอมและใช้เอกสารปลอมตามฟ้อง แม้จำเลยจะปลอมหนังสือของผู้ตายส่งไปถึงนายแพทย์อำนวยการโรงพยาบาล บ. ว่า ผู้ตายขอลาการปฏิบัติงานแล้วลงชื่อปลอมของผู้ตายในหนังสือดังกล่าว และจำเลยได้ปลอมจดหมายของผู้ตายส่งไปถึงนาย ช. กับนางสาว ก.บุตรชายและบุตรสาวของผู้ตายว่า ผู้ตายต้องไปฝึกสมาธิ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารปลอมนั้นผู้ตายได้ทำขึ้นจริง ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็ตาม ในกรณีนี้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาผู้ตายก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ทั้งความผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายหลังจากผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว ผู้ตายไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวได้ จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายจะจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2)การเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้หรือไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกคำร้องดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 ความผิดฐานซ่อนเร้น ทำลายศพผู้ตาย เพื่อปิดบังการตายและความผิดฐานปลอมเอกสารกับฐานใช้เอกสารปลอมซึ่งต้องลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยจำคุกกระทงละ 1 ปี ดังนั้น ความผิดทั้งสองกระทงดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 2 นำสืบยังรับฟังไม้ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดทั้งสองกระทงดังกล่าว เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาจำเลยนัดหมายให้ผู้ตายไปพบและรับประทานอาหารร่วมกันที่ร้านอาหารโดยจำเลยแอบอ้างหลอกลวงผู้ตายเรื่องนัดพบช่างที่จะไปซ่อมแซมบ้านพักผู้ตายระหว่างการรับประทานอาหารร่วมกันจำเลยลอบนำยานอนหลับที่สั่งซื้อไว้ก่อนหน้านี้ใส่ลงในอาหารหรือเครื่องดื่มให้ผู้ตายรับประทานหรือดื่มจนผู้ตายมีอาการสะลึมสะลือครองสติไม่ได้ หลังจากนั้นจำเลยได้พาผู้ตายไปยังอาคารที่จำเลยจัดเตรียมเปิดห้องพักรอไว้ เพื่อทำการหน่วงเหนี่ยวให้ผู้ตายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย แล้วจำเลยลงมือฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่จำเลยวางแผนไว้ จากนั้นจำเลยได้ชำแหละแยกศพผู้ตายออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ บางส่วนทิ้งลงในชักโครกของห้องพักในอาคาร บางส่วนนำไปทิ้งในโถชักโครกของโรงแรมในวันรุ่งขึ้น เพื่อปิดบังการตายของผู้ตาย การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้ตายปราศจากเสรีภาพในร่างกายและฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 268

- (ขส เน 2518/ 4) ผู้กู้ลงชื่อในสัญญากู้เป็นบุคคลอื่นในตำบลเดียว แล้วมอบสัญญาให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้ / ผู้กู้ ผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม ม 265+268 ลงโทษตาม ม 268 กระทงเดียว ฎ 167/2517

- (ขส อ 2523/ 6) เอาป้ายทะเบียนรถคันเก่า ที่ราชการออกให้มาติดใส่คันใหม่นำออกใช้ ไม่ผิด ม 268 เพราะไม่ใช่เอกสารปลอม ฎ 1141/2523

- (ขส อ 2541/ 3) แดงนำบัตรประชาชนคนอื่น มาใส่ภาพถ่ายแดง เขียวเข้าใจว่าเป็นบัตรแดง เอามาใส่ภาพถ่ายเขียว เขียวแฟกซ์ไปสมัครงาน แล้วยื่นสำเนาที่ตนทำขึ้น / ผิด ม 1 (8) + 265 ส่งแฟกซ์ ผิด ม 268 (ในฐานใช้เอกสารธรรมดา เพราะลักษณะการส่ง ไม่ใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานทำขึ้น) วันต่อมายื่น ผิด ม 268 เอกสารราชการ ผิด ม 90 (ปลอมเอกสารราชการ ใช้เอกสารปลอม และ ใช้เอกสารราชการปลอม อีกกระทง)

มาตรา 269 ผู้ใดในการประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชี หรือวิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดโดยทุจริตใช้ หรืออ้างคำรับรองอันเกิดจากการกระทำความผิดตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 269

- (ขส พ 2499/ 9) สายขอเงินบิดา โดยให้แพทย์ออกหนังสือตรวจโรคว่าเป็นมะเร็งต้องใช้เงินค่ารักษา สายและแพทย์ไม่ผิด เพราะเป็นอุบายในการขอทรัพย์ (ถ้าตอบว่าผิด และให้เหตุผลดี ก็ให้คะแนน) / (ตามประมวลกฎหมายอาญา สายผิดฐานฉ้อโกง และใช้คำรับรองอันเกิดจากแพทย์ทำคำรับรองอันเป็นเท็จ ตาม ม 341 ประกอบ ม 83 , 269 วรรคสอง / แพทย์ผิด ม ม 341 ประกอบ ม 83 , 269 วรรคแรก)

ไม่มีความคิดเห็น: