มาตรา 70 ผู้ใดกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน แม้คำสั่งนั้นจะมิชอบด้วยกฎหมาย ถ้าผู้กระทำมีหน้าที่ หรือเชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ เว้นแต่จะรู้ว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งซึ่งมิชอบด้วยกฎหมาย
- คำพิพากษาฎีกาที่ 75/2493 ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยจับโจทก์โดยไม่มีหมายจับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และพนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้จับโดยไม่มีหมายจับ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า คำสั่งของพนักงานสอบสวนเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าข้อแก้ตัวของจำเลยฟังไม่ขึ้น ดังศาลเดิมได้วินิจฉัยไว้แล้ว ข้อที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยควรผิดเพียงฐานประมาทเท่านั้น เห็นว่า จำเลยเจตนาจับโจทก์โดยตรง หาใช่ประมาทไม่ (พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 270)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2146/2499 ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านนำราษฎรเข้าทำทำนบในนาของเอกชนตามคำสั่งของนายอำเภอซึ่งสั่งการไปตามหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมายและเชื่อตามคำสั่งนั้นโดยสุจริต ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านไม่ต้องรับผิด. (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2500)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1089/2502 กำนันไม่มีอำนาจสั่งให้ผู้ใหญ่บ้าน จับคนไปส่งอำเภอในข้อหากระทำผิดทางอาญา โดยไม่มีหมายจับ เมื่อผู้ใหญ่บ้านกระทำตามคำสั่งของกำนัน จึงมีความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังตาม มาตรา 310
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1135/2508 ผู้บังคับกองตำรวจ สั่งให้จำเลยซึ่งเป็นตำรวจใต้บังคับบัญชาไปจับกุมผู้ต้องหา โดยไม่ได้ออกหมายจับ จำเลยไปจับผู้ต้องหา โดยเข้าใจว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะได้ถือเป็นหลักปฏิบัติกันตลอดมาว่าไปจับได้ แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นการมิชอบ จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับโทษตาม มาตรา 70
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1601/2509 จำเลยเข้าใจว่า คำสั่งขอร้องตำรวจเอกสุรพล ผู้ทำการแทนผู้กำกับ ที่สั่งให้จำเลยไปจับกุมโจทก์นั้น เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้วิทยุสั่งจับมิได้มีข้อความแสดงว่าได้ออกหมายจับแล้ว กรณีต้องด้วย มาตรา 70 จำเลยไม่ต้องรับโทษ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1562/2512 (สบฎ เน 2078) โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ ลงรายการจำนวนของ และจำนวนเงิน เกินกว่าที่จ่ายไปจริง อันมิชอบและทุจริต เมื่อโจทก์ร่วมกระทำผิด จะอ้างความจำเป็น ฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องตาม ม 157
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6344/2531 นายอำเภอขอความร่วมมือจากประชาชนให้ร่วมกันพัฒนาบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ฟันตัดไม้ของโจทก์ในบริเวณนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของโจทก์ทั้งจำเลยที่ 2 เคยตัดฟันต้นไม้ของโจทก์มาก่อนจนถูกฟ้องมาแล้วครั้งหนึ่ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย การที่นายอำเภอขอความร่วมมือดังกล่าวเป็นแต่เพียงคำแนะนำจำเลยที่ 2 จะกระทำหรือไม่กระทำก็ตาม มิได้มีลักษณะเป็นคำสั่งตามความหมายของ มาตรา 70 อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับโทษ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 358
- (คดีไอค์มัน หน้า 218) ศาลทหารระหว่างประเทศได้วินิจฉัยว่า “บรรดาคำสั่งซึ่งขัดต่อหลักของความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และศีลธรรม และคำสั่งซึ่งละเมิดต่อกฎที่สำคัญซึ่งเป็นหลักสำหรับสังคมมนุษย์ และถ้าปราศจาหลักนี้ มนุษย์ก็ไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ คำสั่งเช่นนี้ย่อมไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ ไม่ว่าในทางกฎหมาย หรือในแง่ศีลธรรม”
มาตรา 71 ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 336 วรรคแรก และมาตรา 341 ถึงมาตรา 364 นั้น ถ้าเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยา หรือภริยากระทำต่อสามี ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ
ความผิดดังระบุมานี้ ถ้าเป็นการกระทำที่ผู้บุพการีกระทำต่อผู้สืบสันดาน ผู้สืบสันดานกระทำต่อผู้บุพการี หรือพี่หรือน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน กระทำต่อกัน แม้กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ก็ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ และนอกจากนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
- มาตรา 71 วรรค 1
- สามีภรรยา ต้องชอบด้วยกฎหมาย
- ทรัพย์ที่ถูกกระทำ ต้องเป็นทรัพย์ของสามีหรือภรรยาเท่านั้น โดยไม่มีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
- ความผิดตามาตรานี้ เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เฉพาะที่ไม่มีการข่มขู่ หรือใช้กำลังประทุษร้าย และต้องไม่เกิดผลฉกรรจ์ ที่ทำให้ถึงอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตายเท่านั้น
- มาตรา 71 วรรค 2
- บุพการี และผู้สืบสันดาน ถือตามความเป็นจริง
- พี่น้อง ต้องร่วมบิดาและร่วมมารดา กระทำต่อกัน และถือตามความเป็นจริง / หากต่างบิดา หรือต่างมารดา ไม่เข้าหลักเกณฑ์
- ทรัพย์ที่ถูกกระทำ ต้องเป็นของบุคคลตามที่ระบุไว้ โดยไม่มีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จึงเข้าหลักเกณฑ์ได้รับเหตุบรรเทาโทษ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 956/2509 คำว่าสืบสันดาน ตามพจนานุกรม หมายความว่าสืบเชื้อสายมาโดยตรง และตาม ปพพ. มาตรา 1586, 1587, 1627 แสดงว่า บุตรบุญธรรมย่อม มีฐานะแตกต่างกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้รับบุตรบุญธรรม ก็มีฐานะต่างกับบุพการีโดยตรงของบุตรบุญธรรมอยู่หลายประการ มาตรา 1586, 1627 เป็นบทบัญญัติพิเศษให้สิทธิบางประการแก่บุตรบุญธรรมในทางแพ่ง เกี่ยวกับสัมพันธ์ทางครอบครัว และมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้น ต้องใช้โดยเคร่งครัด เฉพาะการตีความถ้อยคำใน ป. อาญา ก็ต้องตีความ โดยเคร่งครัดจึงหาชอบที่จะนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาใช้ตีความคำว่า ผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 71 วรรค 2ไม่ บุตรบุญธรรม จึงไม่ใช่ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการีตามมาตรา 71 จึงยอมความไม่ได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 221/2528 การที่ภริยา หรือสามีกระทำความผิดแล้ว จะไม่ต้องรับโทษหรือได้รับยกเว้นโทษ ป.อ. ม.71 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า ต้องเป็นเรื่องกระทำต่อทรัพย์อันเป็นความผิดตาม ม.334 ถึง ม.336 วรรคแรก และ ม.341ถึง ม.364 เท่านั้น ไม่มีข้อจำกัดว่าภริยา หรือสามีนั้นจะต้องกระทำความผิดตามลำพังคนเดียวแต่อย่างใด เมื่อจำเลยเป็นภริยาผู้เสียหายมีหลักฐานภาพถ่ายใบสำคัญการสมรสมาแสดง และจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร ซึ่งจะเป็นการกระทำความผิดตามลำพังคนเดียว หรือมีบุคคลอื่นร่วมกระทำผิดด้วย ก็ต้องถือว่ามีเหตุส่วนตัวให้จำเลยไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับการยกเว้นโทษตามม.71 วรรคแรกแล้ว
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2185/2532 ทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักไปเป็นทรัพย์ที่พี่สาวจำเลย และสามีของพี่สาวจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกัน มิใช่ทรัพย์ของพี่สาวจำเลยเพียงผู้เดียว หากจำเลยลักทรัพย์ดังกล่าวไปจริงตามฟ้อง จำเลยก็มิได้กระทำต่อพี่สาวจำเลยแต่เพียงผู้เดียว แต่กระทำต่อสามีของพี่สาวจำเลย ซึ่งมิใช่พี่หรือน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยด้วย การกระทำของจำเลยจึงมิใช่ความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 71 วรรคสอง
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 71
- (ขส เน 2510/ 1) สามีลักทรัพย์ของภรรยา สามีผิด ม 334 แต่ไม่ต้องรับโทษ ตาม ม 71 คนรับซื้อทรัพย์ไว้ ผิด ม 357
- (ขส อ 2526/ 5) สามีภรรยาทะเลาะกัน สามีเอาเสื้อภรรยามาเผา ผิด ม 358 ไม่ต้องรับโทษตาม ม 71
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น