ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๒๗๖ - ๒๗๗

ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ

มาตรา 276 ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

- คำว่า ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงหมายความว่า ผู้ลงมือกระทำต้องเป็นชายเท่านั้น หากเป็นการกระทำของชายต่อชาย หรือหญิงต่อหญิงไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ แต่การจะเป็น ตัวการร่วมนั้นอาจเป็นชายหรือหญิงก็ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 124/2458 จำเลยทั้งสองชักมีดขู่หญิงให้ยอมให้ ช.ชำเราเป็นตัวการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 805/2490 จำเลยช่วยจับแขนขาหญิงให้ ส. กระทำชำเราเป็นตัวการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 250/2510 ความผิดในเรื่องข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดที่ร่วมกันกระทำผิดได้ โดยผู้ร่วมกระทำความผิดไม่ต้องเป็นผู้ลงมือกระทำชำเราด้วยทุกคน เพียงแต่คนใดคนหนึ่งกระทำชำเราผู้ที่ร่วมกระทำก็ผิดฐานเป็นตัวการ ตามมาตรา 83 แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นหญิงเมื่อสมคบกับจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำ ศาลก็ลงโทษจำเลยเป็นตัวการตามมาตรา 83 ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 29/2524 ตัดสินทำนองเดียวกัน)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 347/2526 โจทก์ร่วมยอมไปโรงแรมกับจำเลยที่ 2 เพราะถูกหลอกลวงว่าสามีโจทก์ร่วมนอกใจให้ไปจับผิด เมื่อไปถึงจำเลยที่ 1 สามีจำเลยที่ 2 ได้เข้ามาช่วยกันถอดเสื้อผ้าโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนขู่เข็ญให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม แล้วจำเลยที่ 2 ถ่ายภาพไว้ จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม โดยมีและใช้อาวุธปืน ตามมาตรา 276 วรรคสอง 83

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1715/2528 ก่อนเกิดเหตุจำเลย อยู่ในกลุ่มของพวกที่ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย และขณะเกิดเหตุจำเลยนั่งอยู่กับพวกที่โต๊ะใกล้ห้องน้ำที่เกิดเหตุ ถือเสื้อให้เพื่อที่เข้าไปข่มขืนกระทำชำเรา และเพื่อดูเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วแจ้งเหตุแก่ผู้กระทำผิด ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยร่วมกระทำผิดแล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1558/2543 แม้จำเลยจะมิได้เป็นผู้ลงมือข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย แต่พฤติการณ์ที่จำเลยช่วยกันฉุดผู้เสียหาย และช่วยกดคอและตบตีผู้เสียหาย เพื่อให้พวกของจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในลักษณะโทรมหญิงนั้น ถือได้ว่าจำเลยได้เป็นตัวการร่วมกระทำผิดด้วยกันกับพวกของจำเลยแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 276 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83

- หญิงผู้เสียหาย ต้องเป็นหญิงอันเป็นเพศของบุคคลตามธรรมดา ตามสภาพที่กำเนิดมา เป็นเพศที่ออกลูกได้ ไม่ใช่แปลงเพศจากชาย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 157/2524 ผู้ร้อง ร้องว่า ผู้ร้องเป็นชายโดยกำเนิดแต่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศเป็นหญิงแล้ว ขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องคืนเพศเป็นหญิง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เพศของบุคคลธรรมดานั้นกฎหมายรับรองและถือเอาตามเพศที่ถือกำเนิดมา และคำว่า หญิง ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน หมายความถึงคนที่ออกลูกได้ ผู้ร้องถือกำเนิดเป็นชาย ถึงหากจะมีเสรีภาพในร่างกาย โดยรับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศของหญิงแล้วก็ตาม แต่ผู้ร้องก็รับอยู่ว่าไม่สามารถมีบุตรได้ ฉะนั้น โดยธรรมชาติและตามที่กฎหมายรับรอง ผู้ร้องยังคงเป็นเพศชายอยู่ และไม่มีกฎหมายรับรองให้สิทธิผู้ร้องขอเปลี่ยนแปลงเพศที่ถือกำเนิดมาได้ ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมาย


- คำว่า กระทำชำเรา นั้นหมายความว่า อวัยวะเพศชายจะต้องผ่านเข้าไปทางช่องคลอดของหญิงเท่านั้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 874/2491 และ 1048/2518 การกระทำชำเราตามกฎหมายจะต้องปรากฏว่าของลับ หรืออวัยวะสืบพันธ์ของชายล่วงล้ำเข้าไปในช่องสังวาสหรืออวัยวะสืบพันธ์ของหญิง แต่คดีนี้ได้ความว่าของลับหรืออวัยวะเพศสืบพันธ์ของจำเลยได้ล่วงล้ำเข้าไปทางทวารหนักของผู้เสียหาย จึงไม่เป็นการกระทำชำเราตามกฎหมาย

- คำว่า หญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน หมายความว่า เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำแก่หญิงที่อยู่กับชายฉันสามีภริยา แต่มิใช่สามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย อาจแก้ตัวได้โดยอาศัยความสำคัญผิดตามมาตรา 62 เท่านั้น

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคแรก บัญญัติว่าสามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา แม้จะไม่ได้หมายความว่าชายมีอำนาจบังคับหญิงได้ หากชายบังคับ แม้ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 309 ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 434/2461 จำเลยต้องโทษจำคุก ภริยามีสามีใหม่ 3 ปี มีบุตรหนึ่งคน ดังนี้ขาดจากสามีภริยากันแล้ว จำเลยฉุดภริยามาข่มขืนกระทำชำเรามีความผิดตามมาตรานี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 352/2507 ฟ้องโจทก์บรรยายระบุตัวผู้เสียหายที่ถูกข่มขืนกระทำชำเราว่า คือนางสาวลำใยโดยไม่ได้บรรยายต่อไปว่าผู้เสียหายมิใช่ภริยาจำเลย เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นที่เข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นหญิงที่ยังไม่มีสามี

- คำพิพากษาฎีกาที่ 430/2532 จำเลยเคยอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้เสียหายโดยทำพิธีแต่งงานกันตามลัทธิศาสนาอิศลาม ต่อมาแยกกันอยู่ ต่อมาจำเลยพาผู้เสียหายไปทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเรา ดังนี้ จำเลยกระทำโดยเข้าใจว่ามีสิทธิกระทำได้ (ตามมาตรา 62) เสมือนทำโดยวิสาสะ จำเลยไม่มีความผิด\

- คำว่า ข่มขืน หมายความว่า หญิงมิได้ยินยอมโดยสมัครใจ

- คำว่า ขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ มีความหมายอย่างกว้าง เช่น ขู่ว่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน สิทธิ ฐานะในทางสังคม แต่มีคำพิพากษาฎีกาที่ 638/2516 หญิงมีสามียอมให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราแล้วยอมให้จำเลยที่ 2 กระทำชำเราอีก เพื่อปิดปากจำเลยที่ 2 ไม่ให้อื้อฉาว จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดตามมาตรานี้ ซึ่งไม่ตรงตามคำอธิบายข้างต้น

- ความเห็น ยินยอมในที่นี้ น่าจะหมายถึง การรู้ และยอมรับถึงการกระทำทางเพศของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จะไม่เต็มใจ เพราะถูกขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เช่น หญิงยากจนมาก จนต้องขายตัว เพื่อนำเงินมาเป็นค่าอาหารตนเองและบุตร ทั้งที่ไม่อยากขายตัว โดยขณะขายตัว ก็ยินยอมถูกร่วมเพศ แต่ไม่เต็มใจ และไม่มีความรู้สึกร่วม ทางเพศเลย ส่วนการขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ในความผิดข้อหาข่มขืน น่าจะหมายถึง หญิงนั้น ไม่ยอมรับถึงการกระทำทางเพศอีกฝ่ายหนึ่งโดยตรง เพียงแต่ได้รู้ และจำยอม เช่นมีพฤติการณ์จะทำอันตราย อย่างกรณีพูดขอร่วมประเวณี แต่มือถือปืน

- คำว่า ใช้กำลังประทุษร้าย หมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กาย หรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกาย หรือด้วยวิธีใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 502/2540 ผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อจำเลยกอดจูบและจับตัวผู้เสียหายนอนหงายกับพื้น แล้วนั่งคร่อมบริเวณลำตัวของผู้เสียหาย จับตัวผู้เสียหายพลิกคว่ำ และใช้ผ้าเช็คหน้ามัดมือทั้งสองข้างไว้ แล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายนั้น สืบเนื่องมาจากความปรากฏแก่พี่สาวและพี่ชายผู้เสียหาย เมื่อตกลงกันไม่ได้ เรื่องจึงบานปลายกลายเป็นเรื่องร้องทุกข์ไปถึงสถานีตำรวจ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและนำชี้ที่เหตุประกอบคำรับสารภาพ แต่ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่อาจนำมารับฟังประกอบเพื่อลงโทษได้ เมื่อข้อเท็จเป็นอันยุติว่า ผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยร่วมประเวณีโดยสมัครใจ ไม่ได้มีการข่มขืน ขู่เข็ญ หรือใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด

- คำว่า อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 142/2454 หญิงตกอยู่ในอิทธิพลของผู้กระทำกับพรรคพวกโดยถูกฉุดหญิงไปในป่า ไม่มีทางที่จะขัดขืนหรือได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใด หญิงจึงยอมให้กระทำไม่ถือว่าหญิงยินยอม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 828/2486 ผู้เสียหายอายุ 14 ปี ขอใบสุทธิจากจำเลยซึ่งเป็นครู จำเลยหลอกว่าต้องตรวจร่างกายก่อน แล้วครูยั่วกามารมณ์ของเด็ก โดยเด็กรู้อยู่เช่นนั้น จนถึงขนาดแล้ว จำเลยจึงกระทำชำเรา ดังนี้เป็นการยินยอม ไม่ใช่หลอกลวงข่มขืน ไม่เป็นความผิดฐานนี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2809/2516 ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้น แม้จำเลยจะไม่ได้พูดหรือมีอาวุธขู่เข็ญผู้เสียหายก็ตาม ถ้าตามพฤติการณ์ผู้เสียหายกลัวจำเลย ตกอยู่ในอำนาจบังคับของจำเลย ไม่กล้าขัดขืนอยู่ในภาวะจำต้องยอมแล้ว จำเลยจะอ้างว่าผู้เสียหายยินยอมไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 382/2522 จำเลยกระทำชำเราหญิงขณะหมดสติ เพราะดื่มสุรากับจำเลย อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ มีความผิดตามมาตรา 276

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2759/2532 ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้น แม้จำเลยจะไม่ได้พูด หรือมีอาวุธขู่ขวัญผู้เสียหาย ถ้าตามพฤติการณ์ผู้เสียหายกลัวจำเลย ตกอยู่ในอำนาจบังคับของจำเลย ตกอยู่ในภาวะจำยอมไม่กล้าขัดขืน จะถือว่าผู้เสียหายยินยอมไม่ได้ จำเลยจึงต้องมีความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 728/2540 จำเลยที่ 2 และผู้เสียหายรู้จักกันมาก่อน จำเลยทั้งสองชวนผู้เสียหายไปรับประทานอาหาร ด้วยความสนิทสนมคุ้นเคยกันเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาที่ผู้เสียหายจะเชื่อถือและไว้วางใจ จำเลยที่ 2 ไม่คิดว่าจะถูกจำเลยที่ 2 พาไปข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไป จึงยังไม่รู้และไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือ และเมื่อไปถึงบริเวณทุ่งนาที่เปลี่ยว จำเลยที่ 2 ทำร้ายร่างกายโดยตบหน้าผู้เสียหายและพูดขู่ว่า ถ้าไม่ยอมให้ร่วมประเวณีก็จะพาเพื่อนอีก 10 คน มาร่วมกันข่มขืน ผู้เสียหายจึงเกิดความกลัว ไม่กล้าขัดขืนและร้องขอความช่วยเหลือ และหากผู้เสียหายยินยอมจริงแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ทันทีที่พบบิดาผู้เสียหาย ผู้เสียหายก็เล่าเรื่องให้บิดาฟัง และพาบิดาไปตามหาจำเลยที่ 2 จนพบ และแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง

- ความผิดสำเร็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1133/2509 จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจนของลับของจำเลย เข้าไปในของลับผู้เสียหายราว 1 องคุลี เช่นนี้ถือว่าเป็นการกระทำชำเราสำเร็จตามมาตรา 276 แล้วการที่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่ามีน้ำอสุจิของจำเลยออกมาอยู่ที่ของลับผู้เสียหายหรือที่ของลับ จำเลย เป็นเรื่องสำเร็จความใคร่แล้วหรือไม่ เป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่เป็นเหตุให้เห็นว่าจำเลยกระทำชำเราไม่สำเร็จ หรือเป็นเพียงพยายาม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1646/2516 เมื่ออวัยวะเพศของจำเลยได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของหญิงผู้เสียหายแล้ว แม้จำเลยจะไม่สำเร็จความใคร่ก็เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1413/2530 จำเลยเอาของลับใส่เข้าไปในของลับผู้เสียหายอายุ 13 ปี 11 วัน ดันโดยแรง ผู้เสียหายรู้สึกว่าของลับของจำเลยเข้าไปลึกขนาดช่วงนิ้วมือนั้น ดังนี้ของลับของจำเลยล่วงล้ำเข้าไปในของลับผู้เสียหายแล้วจึงเป็นความผิดสำเร็จ หาจำเป็นต้องมีรอยฉีกขาดที่ช่องปากมดลูกหรือที่เยื่อพรหมจารีด้วยไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1646/2532 (สบฎ เน 68) การข่มขืนกระทำชำเรานั้น เมื่ออวัยวะเพศของจำเลยได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายแล้ว แม้จำเลยไม่สำเร็จความใคร่ ก็เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา

- พยายามกระทำผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 874/2491 ของลับของชายถูไถที่ปากช่องคลอดด้านนอก ยังไม่เข้าไปภายในช่องคลอด เป็นพยายามข่มขืนกระทำชำเรา

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2009/2494 จำเลยข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิง 11 ขวบ แต่ของลับของจำเลยเข้าไปในช่องคลอดของหญิงไม่ได้ จำเลยก็สำเร็จความใคร่เสียก่อน เป็นพยายามข่มขืนกระทำชำเรา (1706/2498, 85/2504, 1588/2524 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1685/2516 จำเลยแอบเข้ามากอดหญิงผู้เสียหายและพูดขอกระทำชำเรา ผู้เสียหายร้องขึ้น จำเลยเอามือปิดปากผู้เสียหายกดผู้เสียหายนอนลงที่พื้นเรือนแล้วขึ้นคร่อมเอาหัวเข่ากดต้นขาไว้ ขณะนั้นผู้เสียหายนอนหงายนุ่งกระโจมอกอยู่ จำเลยก้มลงกัดที่แก้มและถลกผ้าซิ่นขึ้น ผู้เสียหายดิ้นอย่างแรงจนหลุดแล้ววิ่งร้องไห้ลงเรือนไป ดังนี้ ลักษณะการกระทำของจำเลยดังกล่าว ยังไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายได้ การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา คงเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารเท่านั้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1673/2521 จำเลยอายุ 67 ปี เอาของลับทิ่มแทงเข้าไปในของลับของเด็กหญิงอายุ 4 ขวบเศษ ช้ำแดง เยื่อพรหมจารีด้านล่างฉีกขาด ไม่สามารถล่วงล้ำเข้าไปในช่องคลอดได้ เป็นพยายามข่มขืนชำเรา

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2804/2528 ผู้เสียหายอายุ 8 ปีถูกจำเลยพาไปกระทำชำเรา แต่ไม่ได้ใช้อวัยวะสืบพันธ์ใส่ไปในช่องคลอด เยื่อพรหมจารีขาด มีเลือดออกมาก ดังนี้จำเลยมีความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราตาม ป.อ. ม.277, 80 เท่านั้น ไม่ผิดฐานกระทำอนาจาร

- คำพิพากษาฎีกาที่ 210/2529 จำเลยใช้อวัยวะเพศสืบพันธ์ทิ่มที่อวัยวะเพศของหญิงอายุ 4 ปีเศษ จนสำเร็จความใคร่ จำเลยมีเจตนากระทำชำเรา แม้จะสำเร็จความใคร่เสียก่อน โดยอวัยวะเพศสืบพันธ์ยังมิได้สอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของเด็กหญิง ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล ผิดฐานพยายามกระทำชำเราตามมาตรา 277, 80 หาใช่เพียงกระทำอนาจารไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2417/2540 ตามพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำมาตั้งแต่เริ่มแรก โดยจำเลยถอดกางเกงของตนและกางเกงในของโจทก์ทั้งสองออก แล้วจำเลยจับโจทก์ทั้งสองขยับขึ้นลงในขณะที่อวัยวะเพศของจำเลยแข็งตัว ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยมาตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะกระทำชำเราโจทก์ทั้งสอง หาใช่มีเจตนากระทำอนาจารเพียงอย่างเดียวไม่ แต่เนื่องจากขนาดของอวัยวะเพศของจำเลยและโจทก์ทั้งสอง ประกอบกับลักษณะการกระทำชำเราของจำเลยต่อโจทก์ทั้งสอง อวัยวะเพศของจำเลยคงทิ่มแทงถูกบริเวณภายนอกของอวัยวะเพศของโจทก์ทั้งสองเท่านั้น การลงมือกระทำชำเราของจำเลยต่อโจทก์ทั้งสองจึงไม่บรรลุผล จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามกระทำชำเราโจทก์ทั้งสอง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4563/2543 จำเลยถอดกางเกงเดินเข้าไปเพื่อข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย ในขณะที่ผู้ตายไม่ได้สวมกางเกง และยืนพิงลูกกรงระเบียงอาคาร ซึ่งสูงเพียงระดับสะโพก โดยผู้ตายมิได้ยินยอม จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าหากผู้ตายหลบหลีกขัดขืน มิให้ข่มขืนกระทำชำเราแล้ว อาจจะตกลงไปจากระเบียงอาคารถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้ตายดิ้นรนขัดขืน เพื่อมิให้จำเลยข่มขืนกระทำชำเรา จนผู้ตายพลัดตกลงไปจากระเบียงอาคาร จนได้รับบาดเจ็บและตายในเวลาต่อมา จึงเป็นผลที่เกิดโดยตรงจากการกระทำของจำเลย อันเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้ตาย (มาตรา 276 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80, มาตรา 278, มาตรา 288 และมาตรา 310 เป็นการกระทำกรรมเดียว)

- ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ต้องมีเจตนาจะกระทำชำเรา แต่แม้ไม่มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยก็อาจมีความผิดฐานกระทำอนาจารได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1316/2508 ประชุมใหญ่ จำเลยเรียกผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุ 4 ขวบ เข้าไปในห้อง จำเลยถอดกางเกงผู้เสียหาย และของตนออก บอกให้ผู้เสียหายนอนตะแคงตัว จำเลยก็นอนตะแคงหันหน้าเข้าหาผู้เสียหาย แล้วจำเลยเอาของลับจำเลยทิ่มของลับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยเห็นได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะกระทำชำเรา เพราะนอนตะแคงเข้าหาผู้เสียหาย คงมีเจตนาเพียงกระทำอนาจารผู้เสียหายเท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานพยายามกระทำชำเรา โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยกระทำอนาจาร ศาลลงโทษฐานกระทำอนาจารได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2268/2529 จำเลยที่ 2 จับแขนโจทก์ร่วมไม่ให้ดิ้น จำเลยที่ 1 นุ่งกางเกงในนั่งคร่อมโจทก์ร่วมตรงบริเวณท้องน้อย ซึ่งกางเกงถูกรูดลงไปคงเหลือแต่กางเกงใน ดังนี้ จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา แม้จำเลยรับสารภาพ ก็ลงโทษฐานนี้ไม่ได้ คงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำอนาจารเท่านั้น / จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกอดปล้ำและบีบคอโจทก์ร่วมจนหายใจไม่ออกและหมดสติไป หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ถอดเสื้อและกางเกงของตนออกคงเหลือแต่กางเกงใน พร้อมกับเลิกเสื้อชั้นนอกของโจทก์ร่วมขึ้นและดึงเสื้อชั้นในลงมองเห็นนมข้างซ้ายกับรูดกางเกงของโจทก์ร่วมไปสุดง่ามขามองเห็นกางเกงในทั้งตัวและขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังจับนมโจทก์ร่วมโดยนั่งคร่อม โจทก์ร่วมตรงบริเวณท้องน้อยก็พอดีมีคนมา จำเลยที่ 1 จึงหลบหนี ไป ดังนี้ ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่อยู่ในวิสัย ที่จะกระทำชำเราโจทก์ร่วมได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ เป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา แม้จำเลยทั้งสองให้การ รับสารภาพก็ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานนี้ไม่ได้ จำเลยทั้งสองคงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำอนาจารเท่านั้น ส่วนบาดแผลที่โจทก์ร่วมได้รับจากการที่ถูกบีบคอนั้นปรากฏตามผลการตรวจชันสูตร บาดแผลของแพทย์ว่า โจทก์ร่วมมีโลหิตออกที่ใต้ตาขวาทั้งสองข้าง มีรอยแดงที่คอด้านขวายาวประมาณ 2 นิ้ว กว้างประมาณ 1/3 นิ้ว ด้านซ้ายยาวประมาณ 1 นิ้ว กว้างประมาณ 1/3 นิ้ว เจ็บคอในเวลากลืนซึ่งแพทย์ผู้ตรวจเบิกความว่า ลักษณะบาดแผลเช่นนี้เป็นการถูกบีบคออย่างรุนแรงโลหิตเดินไม่สะดวกทำให้เส้นโลหิตฝอย ในตาขวาแตก หากไม่ได้รับความช่วยเหลือทันท่วงทีอาจถึงตายได้ และถ้าผู้ถูกบีบสลบไปโอกาสที่จะตายมีได้เสมอ จำเลยทั้งสอง จึงย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่าโจทก์ร่วมอาจ ถึงแก่ความตายได้จึงเห็นได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำไม่บรรลุผล จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐาน ร่วมกันพยายามฆ่าโจทก์ร่วมเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำ ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็น การกระทำผิดต่อกันในคราวเดียวกันยังมิได้ขาดตอน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

- คำพิพากษาฎีกาที่ 117/2534 จำเลยเป็นบิดาผู้เสียหายอายุ 12 ปี ใช้อวัยวะเพศถูไถสัมผัสที่อวัยวะเพศของบุตรจนสำเร็จความใคร่โดยไม่มีเจตนาจะสอดใส่อวัยวะเพศของบุตรดังนี้ เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาจะกระทำชำเรา จึงไม่มีความผิดฐานพยายามกระทำชำเรา แต่เมื่อมีเจตนากระทำอนาจารจึงเป็นความผิดตามมาตรา 279 วรรคแรก และรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 285 (ฎีกาที่ 210/2529 วินิจฉัยว่าจำเลยมีเจตนากระทำชำเรา เพราะจำเลยไม่มีความเกี่ยวพันกับผู้เสียหาย (ผิดกับคดี ฎ 117/2534 จำเลยเป็นบิดาผู้เสียหาย จึงไม่น่าเชื่อว่าจะกระทำชำเราผู้เสียหาย))

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1839/2538 จำเลยพาผู้เสียหายไปที่ป่าละเมาะ และใช้อวัยวะเพศของจำเลยทิ่มตำอวัยวะเพศของผู้เสียหาย กับใช้นิ้วใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย แล้วจำเลยสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ดังนี้จำเลยมีความผิดฐานพรากผู้เสียหายไปจากบิดามารดาผู้ดูแล และกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายเท่านั้น ไม่มีความผิดฐานพยายามกระทำชำเราผู้เสียหาย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3078/2537 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน

- กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 891/2521 จำเลยข่มขืนชำเราหญิง โดยพวกของจำเลยมีปืนบังคับไม่ให้คนอื่นช่วยหญิง จำเลยร่วมกระทำกับพวกที่มีอาวุธปืน จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ม.276 วรรค 2

- คำพิพากษาฎีกาที่ 227/2529 แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง เพราะจำเลยที่ 2 ได้ใช้มีดขู่จะทำร้าย และได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนจำเลยที่ 1ได้ใช้ปืนขู่บังคับผู้เสียหายด้วย ดังนี้ จำเลยทั้งสองก็ยังคงมีความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้อาวุธปืนตาม ป.อ. ม.276 วรรคสอง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3007/2532 จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยใช้มีดจี้ ส่วนพวกของจำเลยข่มขืนพวกของผู้เสียหาย โดยใช้อาวุธปืนจี้ ดังนี้จำเลยมีความผิดตามมาตรา 276 วรรคสอง (เทียบ ฎ 980/2519 แม้ผู้ที่ร่วมในการปล้นไม่รู้ว่าพวกของตนมีอาวุธ ก็เป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรคสอง)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6336/2534 การกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรกกระทำโดยมีอาวุธปืน แต่มิได้ใช้ก็ดี กระทำโดยมีและใช้อาวุธปืนก็ดี ล้วนเป็นความผิดที่ต้องระวางโทษตามวรรคสองทั้งสิ้น ดังนั้น แม้จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยมีอาวุธปืน แต่มิได้ใช้อาวุธปืนนั้น จำเลยก็ยังมีความผิดต้องระวางโทษตามที่ ป.อ. มาตรา 276 วรรคสองบัญญัติไว้

- ร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็น การโทรมหญิง

- ไม่ใช่มีตัวการหลายคนเท่านั้น แต่ผู้ลงมือกระทำชำเราต้องมากกว่าหนึ่งคน และผลัดเปลี่ยนกันกระทำอย่างน้อยสองคน ๆ ละครั้ง (ฎ 1685/2503, 1683/2516, 1992/2517, 1202/2529)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1522/2506 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายสำเร็จความใคร่คนละหนึ่งครั้ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 โดยไม่ได้กล่าวว่าการกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง และอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281 นั้น เห็นได้ว่าโจทก์มิได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานโทรมหญิงด้วย เมื่อผู้เสียหายกับจำเลยตกลงยอมความกันคดีย่อมระงับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1992/2517 จำเลยสองคนร่วมกันใช้มีดปลายแล้วจี้ขู่บังคับ แล้วใช้กำลังฉุดหญิงเข้าไปในส่วนมะพร้าวข้างทาง แล้วจับกดผู้เสียหายให้นอนลงบนพื้นดินช่วยกันจับมือและกดผู้เสียหายไว้ ให้โอกาสอีกคนหนึ่งผลัดกันกระทำชำเราหญิงจนสำเร็จความใคร่ของจำเลยทั้งสองคน ๆ ละครั้ง ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเข้าลักษณะเป็นการโทรมหญิง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1403/2521 พวกจำเลย 2 คน ฉุดหญิงมายังพวกที่รออยู่แล้วผลัดกันข่มขืนกระทำชำเราได้ 2 คน ก็ถูกตำรวจจับ จำเลยถอดเสื้อกางเกงออกนุ่งแต่กางเกงใน คอยข่มขืนกระทำชำเราเป็นคนถัดไป แม้จำเลยจะไม่ได้ข่มขืนกระทำชำเรา ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นตัวการในการโทรมหญิงด้วย (ฎ 2200/2527 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1668/2523 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 แกล้งทำเป็นถูกผีสิงเดินเข้าไปหาผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายตกใจวิ่งหนีจำเลยที่ 1 วิ่งไล่ตามบีบคอกดตัวผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขณะจำเลยที่ 1 ข่มขืนผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 อยู่ห่าง 10 วา เมื่อจำเลยที่ 1 ข่มขืนเสร็จแล้ว จำเลยที่ 2 จึงเข้ามาลากผู้เสียหายไปข่มขืนที่ข้างกอไผ่โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนี้ ไม่เข้าลักษณะเป็นการโทรมหญิงตามวรรคสอง เหตุที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่เป็นการโทรมหญิง ก็เพราะจำเลยทั้งสองต่างคนต่างทำ ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1965/2524 จำเลยลอบเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในห้องจนสำเร็จความใคร่ แล้วจำเลยออกจากห้อง เรียกลูกจ้างให้เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วย ลูกจ้างจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง โดยจำเลยมิได้ร่วมกระทำผิดด้วยในขณะนั้น กรณียังไม่เข้าลักษณะเป็นการโทรมหญิง (หมายเหตุโดยอาจารย์สถิตย์ ไพเราะ) ตามคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ข้อเท็จจริงมีแต่เพียงว่า จำเลยเรียกลูกจ้างให้เข้าไปข่มขืนผู้เสียหายต่อเท่านั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะจำเลยเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายนั้นลูกจ้างจำเลยมีเจตนาร่วมกระทำผิดกับจำเลยด้วย จึงไม่เป็นความผิดเพราะเหตุนั้น แต่ศาลฎีกากลับให้เหตุผลว่าจำเลยมิได้ร่วมกระทำผิดด้วยในขณะนั้น น่าจะไม่ถูกต้อง เพราะการที่จำเลยเรียกลูกจ้างให้เข้ามาข่มขืนเป็นการร่วมกระทำผิดด้วยกันกับลูกจ้างแล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3051/2525 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ได้ใช้มีดบังคับพาผู้เสียหายอายุไม่เกิน 13 ปี ไปยังห้องในอาคารมืด เมื่อกระทำชำเราเสร็จได้ขู่มิให้ลุกขึ้นแล้วออกจากห้องไป จำเลยที่ 1 ก็เข้ามากระทำชำเรา แสดงว่าจำเลยทั้งสองคบคิดกันมาก่อน แม้จะผลัดกันเข้ากระทำชำเรา ก็เป็นการร่วมกันกระทำความผิด แม้อวัยวะเพศของจำเลยที่ 1 มิได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะต้องรับผิดเป็นตัวการข่มขืนกระทำชำเราร่วมกับจำเลยที่ 2 อยู่แล้ว และเป็นการโทรมหญิง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1199/2526 ผู้เสียหายรักจำเลยและเต็มใจร่วมประเวณีกับจำเลย แต่ปรากฏว่าจำเลยพาพวกไปอีก 3 คน ผู้เสียหายจึงวิ่งหนี จำเลยกับพวกฉุดไว้ แล้วผลัดกันกระทำชำเราทุกคน ดังนี้มีลักษณะเป็นการโทรมหญิง จำเลยมีความผิดตามมาตรา 276 วรรคท้าย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2200/2527 การร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงนั้นจะต้องก่อนหลังกันอยู่ พวกของจำเลยบางคนได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายแล้ว บางคนกำลังข่มขืนกระทำชำเราอยู่ จำเลยที่ 2 ถอดกางเกงรออยู่ พร้อมจะข่มขืนกระทำชำเราเป็นคนต่อไป แม้จะยังไม่ทันได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย เพราะมีผู้อื่นมายังที่เกิดเหตุจึงหลบหนีไปเสียก่อน ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดแล้ว (& พวกของจำเลยข่มขืน ถึงขั้นเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ถอดกางเกงรอ ยังไม่ทันลงมือข่มขืน แต่ถือว่าอยู่ในขั้นพยายามกระทำความผิด ถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหาย อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตาม ป.อ.มาตรา 276 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 แล้ว & สังเกตว่า ไม่ใช่พยายามโทรมหญิง & )

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1715/2528 ก่อนเกิดเหตุจำเลยอยู่อยู่ในกลุ่มของพวกที่ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย และขณะเกิดเหตุจำเลยนั่งอยู่กับพวกที่โต๊ะใกล้ห้องน้ำที่เกิดเหตุ ถือเสื้อให้เพื่อนที่เข้าไปข่มขืนกระทำชำเรา และเพื่อดูเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วแจ้งเหตุแก่ผู้กระทำผิด เป็นการร่วมกันกระทำผิดฐานโทรมหญิง ตามมาตรา 276 วรรคสอง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1202/2529 การร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงนั้น ต้องมีการร่วมกันผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเราตั้งแต่สองคนขึ้นไป คดีนี้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายเพียงคนเดียว ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ข่มขืน เพียงแต่กอดจูบและกดผู้เสียหายให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนเท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 มีเจตนาจะข่มขืนผู้เสียหายต่อ แต่มีคนมาขัดขวางเสียก่อน จำเลยที่ 2 จึงข่มขืนไม่ได้ ไม่เป็นการโทรมหญิงตามวรรคสอง

- ฎ 1444/2530 ครั้งแรก ผู้เสียหายถูกพวกของจำเลยข่มขืนกระทำชำเราในสวนปาล์ม โดยจำเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย หลังจากผู้เสียหายนุ่งกางเกงและเดินมาถึงถนนข้างสวนปาล์มจึงพบกับจำเลย จำเลยได้กอดลากตัวผู้เสียหายไปข่มขืนที่ข้างจอมปลวก ไม่เป็นการโทรมหญิง เพราะจำเลยข่มขืนผู้เสียหายต่างสถานที่ต่างเวลาและขาดตอนแล้ว จึงไม่เป็นการร่วมกระทำผิดด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2077/2530 จำเลยกับพวกช่วยกันจับแขนขาผู้เสียหาย ให้พวกจำเลยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันข่มขืนกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่ไปแล้ว 2 คน แม้จำเลยมิได้กระทำช้ำเราผู้เสียหายด้วยก็ตาม การกระทำของจำเลยเป็นตัวการในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4796/2530 แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายไปให้พวกตนผลัดกันข่มขืนกระทำชำเรา และรออยู่จนพวกของตนข่มขืนกระทำชำเราเสร็จ แล้วจึงพาผู้เสียหายกลับไปนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกกระทำผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3007/2532 ประชุมใหญ่ (สบฎ เน 69) จำเลยคนหนึ่งกระทำชำเราสำเร็จ ส่วนอีกคนหนึ่งพยายามกระทำชำเรา เป็นความผิดอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง เมื่อจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายแล้ว พวกของจำเลยได้ผละจากพวกของผู้เสียหายมาข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่ออีก แม้พวกของจำเลยจะไม่สามารถสอดใส่อวัยวะเพศเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายได้ แต่ก็ได้ลงมือกระทำการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนถึงขั้นพยายามแล้ว การที่จำเลยกับพวกผลัดเปลี่ยนกันกระทำชำเราผู้เสียหายต่อเนื่องกัน ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหาย อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตาม ป.อ.มาตรา 276 วรรคสอง (& จำเลยข่มขืน ถึงขั้นเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ส่วนพวกของจำเลยลงมือข่มขืน อยู่ในขั้นพยายามกระทำความผิด ถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหาย อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตาม ป.อ.มาตรา 276 วรรคสอง แล้ว & สังเกตว่า ไม่ใช่พยายามโทรมหญิง & )

- คำพิพากษาฎีกาที่ 101/2533 ผู้เสียหายไปเที่ยวงานศพจนเวลา 21.00 น. จะกลับบ้านพบจำเลยกับพวก พวกจำเลยอาสาพาไปส่งบ้าน เมื่อไปได้ประมาณ 1 เส้น พวกจำเลยฉุดผู้เสียหายเข้าป่าละเมาะ แล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย แล้วผิวปากเป็นสัญญาณให้จำเลยกับพวกเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราต่อ ดังนี้ แสดงว่าเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันเป็นการโทรมหญิงแล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1317/2533 เหตุเกิดในซ่องโสเภณี จำเลยบอกผู้เสียหายว่า ป. กับ ย. ต้องการร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย ผู้เสียหายไม่ยอม จำเลยลุกขึ้นไปนั่งที่ประตูป้องกันไม่ให้คนมาเปิดประตูเพื่อให้ ป. กับ ย. ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ดังนี้ จำเลยร่วมกระทำผิดกับ ป. และ ย. เพื่อให้ ป. กับ ย. ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง จำเลยต้องมีความผิดด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3863/2533 องค์ประกอบความผิดมาตรา 276 วรรคสอง ส่วนที่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงจะต้องมี การร่วมกันกระทำผิดประการหนึ่ง และการกระทำที่ร่วมกันนั้น เข้าลักษณะเป็นการโทรมหญิงอีกประการหนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันและผลัดกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย เป็นการบรรยายเฉพาะส่วนที่ว่าได้มีการร่วมกระทำผิดอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงองค์ประกอบส่วนที่ 2 ข้อความในฟ้อง ไม่ใช่ข้อที่แสดงให้เห็นเป็นการแน่ชัดว่ามีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ลงโทษตามมาตรา 276 วรรคสอง ไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1267/2536 จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายเสร็จแล้วออกจากห้องไป ว.เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราต่อ เสร็จแล้วจำเลยเข้ามาข่มขืนกระทำชำเราอีกหลังจากนั้น ว.เข้ามาข่มขืนกระทำชำเราอีกสลับกันไป การข่มขืนกระทำชำเราในลักษณะเช่นนี้ แม้ว่าผู้กระทำมิได้อยู่ในห้องในขณะที่คนหนึ่งข่มขืนกระทำชำเราอยู่ แต่จำเลยกับพวกได้กระทำในลักษณะติดต่อกัน จึงเป็นการกระทำผิดอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2073/2537 จำเลยทั้งสองผลัดกันกระทำชำเราผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 กระทำชำเราด้วยความยินยอมของผู้เสียหาย จึงไม่มีความผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการโทรมหญิง / จำเลยที่ 1 สมคบร่วมคิดกับจำเลยที่ 2 ว่าจะให้จำเลยที่ 2 กระทำชำเราผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายแล้วเปิดประตูไว้ให้จำเลยที่ 2 เข้าไปข่มขืนเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1558/2543 แม้จำเลยจะมิได้เป็นผู้ลงมือข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย แต่พฤติการณ์ที่จำเลยช่วยกันฉุดผู้เสียหายและช่วยกดคอและตบตีผู้เสียหาย เพื่อให้พวกของจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในลักษณะโทรมหญิงนั้น ถือได้ว่าจำเลยได้เป็นตัวการร่วมกระทำผิดด้วย กันกับพวกของจำเลยแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตาม ป..มาตรา 276 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6984/2544 จำเลยชักพาผู้เสียหายไปยังกระท่อม ต่อมา ส. กลัวว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีจึงคิดจะกลับ ขณะที่ ส. กำลังติดเครื่องรถจักรยานยนต์และผู้เสียหายจะนั่งซ้อนท้ายรถ จำเลยได้ล๊อคคอผู้เสียหายลากลงมาและกอดปล้ำผู้เสียหาย จากนั้น ต. จ. ช. เข้ามาจับแขนขาพาไปที่แคร่ข้างกระท่อมช่วยกันถอดกางเกงผู้เสียหาย แล้ว ต. ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายเป็นคนแรก โดยมี ช. ช่วยจับแขนขาผู้เสียหาย ระหว่างนี้จำเลยซึ่งอยู่บริเวณแคร่ได้ตะโกนบอกให้ จ. ไปตาม ส. ซึ่งหนีออกไปหาคนช่วยเหลือ แล้วจำเลยและ จ. ออกไปวิ่งสกัดกั้น มิให้ ส. ไปร้องขอความช่วยเหลือได้ หลังจาก ต. กระทำชำเราเสร็จแล้ว ช. ได้กระทำชำเราเป็นคนต่อไป ดังนี้ แม้จำเลยจะมิได้ช่วยจับแขนขาผู้เสียหายระหว่างที่ ต. และ ช. ทำการกระทำชำเรา แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าว นับได้ว่าเป็นตัวการในการร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง

- พฤติการณ์เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดข้อหาข่มขืน

- พฤติการณ์สนับสนุนการกระทำผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 7/2525 ผู้เสียหายกับเพื่อนนั่งรอเรืออยู่ที่ท่าน้ำ จำเลยกับ ส. เข้ามาทักผู้เสียหายแล้วอุ้มผู้เสียหายไป ส.พูดขู่ห้ามไม่ให้เพื่อนผู้เสียหายช่วยแล้ววิ่งตามจำเลยไป จำเลยอุ้มผู้เสียหายไปประมาณ 10 วา ก็วางผู้เสียหายลงแล้วกลับบ้านไป ส่วน ส. ฉุดผู้เสียหายไปข่มขืน ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการร่วมกับ ส. พาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารและเป็นการสนับสนุนการกระทำผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา การวางผู้เสียหายไม่ใช่การยับยั้งเสียเอง ตามมาตรา 82

- คำพิพากษาฎีกาที่ 54/2528 ความผิดฐานกระทำอนาจาร เช่น จับต้องของสงวนก่อนข่มขืนกระทำชำเรา เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราย่อมระงับไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4141/2536 ผู้เสียหายไปพบจำเลยและสามีโดยจำเลยอ้างว่าจะหางานให้ผู้เสียหายทำ เมื่อรับประทานอาหารแล้วผู้เสียหายหมดสติรู้สึกตัวต่อเมื่อถูกสามีจำเลยข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยเปิดม่านมาดูโดยไม่ได้ห้ามปรามเป็นความผิดฐานสนับสนุน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2073/2537 จำเลยที่ 1 ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอม จึงไม่เป็นความผิด แต่จำเลยทั้งสองได้สมคบร่วมคิดกันมาก่อนว่าจะให้จำเลยที่ 2 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย และการที่จำเลยที่ 1 ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายก่อน เมื่อเสร็จแล้ว ก็ออกจากห้องไปเปิดประตูไว้ให้จำเลยที่ 2 เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายย่อมเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5731/2541 จำเลยพาผู้เสียหายไปให้พวกของจำเลยข่มขืนกระทำชำเรา แม้จำเลยจะคบคิดกับพวกของจำเลยมาก่อนก็ตาม แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนพวกของจำเลยจะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ในขณะพวกของจำเลยข่มขืนกระทำชำเรา ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการอันใด อันมีลักษณะเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วย ทั้งจำเลยมิได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ และมิได้ร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปให้พวกของจำเลยข่มขืนกระทำชำเรา โดยคบคิดกันมาก่อนนั้น เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่พวกของจำเลย ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86

- ผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 563/2528 จำเลยที่ 4 ชวน ล.ไปเก็บผัก ไปถึงที่เกิดเหตุพบจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รออยู่ เมื่อจำเลยดังกล่าว จะข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยที่ 4 ได้ปลีกตัวออกไปจากที่เกิดเหตุ และกลับมาเมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ข่มขืนกระทำชำเรา ล.เสร็จแล้ว ดังนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ข่มขืนกระทำชำเรา ล.


กฎหมายเดิมก่อนแก้ไข

มาตรา 277 ผู้ใด กระทำชำเราเด็กหญิง อายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นการกระทำแก่เด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกหรือวรรคสอง ได้กระทำโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม หรือโดยใช้อาวุธ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรก ถ้าเป็นการกระทำที่ชาย กระทำกับเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กหญิงนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ ให้ศาลปล่อยผู้กระทำผิดนั้นไป

- พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 8 บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำชำเรา หรือกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ของตนเองหรือผู้อื่นแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีในสถานการค้าประเวณีโดยบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำต่อคู่สมรสของตน โดยมิใช่เพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น ผู้กระทำไม่มีความผิด

มาตรา 4 บัญญัติว่า สถานค้าประเวณี หมายความว่าสถานที่ที่จัดไว้เพื่อการค้าประเวณี หรือยอมให้มีการค้าประเวณีและให้หมายความรวมถึงสถานที่ที่ใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลอื่นเพื่อกระทำการค้าประเวณีด้วย

- มาตรา 276 ใช้คำว่า ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงแต่กฎหมายมาตรานี้ และพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ..2539 มาตรา 8 ใช้คำว่า ผู้ใดกระทำชำเราไม่มีคำว่า ข่มขืนก็เพราะคำว่าข่มขืนหมายความว่า ไม่ยินยอม แต่ตามมาตรานี้และมาตรา 8 ผู้ถูกกระทำชำเราจะยินยอมหรือไม่ก็เป็นความผิดทั้งสิ้น โดยเฉพาะความผิดตามมาตรา 8 ไม่ได้จำกัดด้วยว่า ผู้ถูกกระทำต้องเป็นเด็กหญิง เพราะพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.. 2539 มาตรา 8 บัญญัติว่า การค้าประเวณีหมายความว่า การยอมรับการกระทำชำเรา หรือการยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่น ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำและผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ

- เหตุที่กฎหมายเอาผิดแก่ผู้กระทำตามมาตรานี้ ก็เพราะเห็นว่าเด็กหญิงอายุเพียง 15 ปี ยังไม่มีความรู้ผิดชอบพอที่จะให้ความยินยอมได้ และทางการแพทย์มีความเห็นว่าเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี ร่างกายยังไม่เติบโตเต็มที่ หากมีบุตรแล้วจะเป็นอันตรายต่อเด็กหญิงและบุตร

- อายุไม่เกินสิบห้าปี หรือสิบสามปี หมายความว่า ขณะกระทำผิดเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีในวรรคแรก และสิบสามปีในวรรคสอง

- เด็กหญิงผู้เสียหายอายุเท่าใดเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบ โดยปกติโจทก์จะนำสืบโดยอ้างสำเนาทะเบียนบ้านหรือสูติบัตรเป็นพยานต่อศาล แต่ในบางกรณีไม่มีเอกสารดังกล่าว ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 16/2470 ว่า การสืบพยานถึงอายุเด็กนั้น มารดาเด็กหรือผู้รู้เห็น เช่น หมอตำแย อาจเบิกความเป็นพยานมีน้ำหนักดีกว่าทะเบียนโรงเรียนก็ได้

- เนื่องจากอายุของผู้เสียหายเป็นข้อเท็จจริง ฉะนั้น ถ้าผู้กระทำเชื่อว่าผู้เสียหายอายุเกินสิบห้าปีหรือสิบสามปี ย่อมเป็นความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงและทำให้ผู้กระทำไม่มีความผิดเพราะขาดเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสาม และความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงนั้น จำเลยมีสิทธิยกขึ้นต่อสู้ได้ตามมาตรา 62

- ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า ข้อนี้แตกต่างกับกฎหมายอังกฤษซึ่งไม่ยอมให้ยกเอาความสำคัญผิดในเรื่องอายุมาเป็นข้อแก้ตัว และศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ความคิดเห็นดังกล่าวจะนำมาใช้ในกฎหมายไทยไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5176/2538 มาตรา 277 และมาตรา 279 ผู้กระทำจะต้องกระทำแก่เด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี เรื่องอายุของผู้เสียหายเป็นองค์ประกอบความผิดด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าผู้กระทำผิดได้รู้หรือไม่ การรู้หรือไม่รู้ข้อเท็จจริงจะผิดหรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ข้อเท็จจริงใดถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด ฯลฯ แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด เมื่อจำเลยสำคัญผิดในเรื่องอายุของผู้เสียหาย แม้ความจริงไม่ใช่อยู่ที่จำเลยสำคัญผิด จำเลยย่อมไม่มีความผิด คดีนี้ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมประเวณี และจำเลยที่ 3 กระทำอนาจารแก่เด็กหญิงมะปรางผู้เสียหาย ซึ่งมีอายุ 14 ปี 5 เดือน โดยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายมีอายุ 18 ปี

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6419/2537 เมื่อระหว่างที่พาเด็กหญิงขนิษฐาไปพักที่ต่าง ๆ จำเลยได้กระทำชำเราเด็กหญิงขนิษฐาหลายครั้ง ถือว่าเป็นการกระทำอนาจารด้วย แม้ขณะเกิดเหตุเด็กหญิงขนิษฐาอายุ 13 ปี แต่เด็กหญิงขนิษฐามีรูปร่างสมบูรณ์กว่าเด็กปกติทั่วไป ตามสายตาบุคคลภายนอกดูแล้วจะประมาณว่ามีอายุประมาณ 17 ถึง 18 ปี ดังคำตอบคำถามค้านของนางจันทร์สีจำเลยก็สำคัญผิดเช่นนั้น จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 62 วรรคแรก

- อาจารย์พฤตินัย ทัศนัยพิทักษ์กุล อธิบายว่า การสำคัญผิดตามข้อเท็จจริงตามมาตรา 62 นี้ เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิด ข้อเท็จจริงดังกล่าว อาจใช่หรือไม่ใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดก็ได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาจากเจตนาที่บริสุทธิ์ กรณีความผิดเกี่ยวกับเพศมีความเห็นในทาง COMMON LAW ถือว่าเป็น STRICT LIABILITY ดังนั้น แม้ว่าผู้เสียหายจะบอกว่าตนเองอายุกว่า 18 ปีแล้ว ประกอบกับบุคลิกร่างกายของผู้เสียหายจะทำให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตใจ แต่แท้จริงแล้วผู้เสียหายอายุเพียง 15 ปี ศาล COMMON LAW ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดในตัวเอง เพราะแม้ว่าจำเลยจะเข้าใจว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ผิด (NOT ILLEGAL BUT WRONG) คดี R.V.PRINCE PLOPLE V RATZ โดยศาลให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการป้องกันสถาบันทางสังคม อันได้แก่ครอบครัวและเด็กจึงจะต้องถือว่าการร่วมประเวณีดังกล่าวผู้กระทำต้องตระหนักอยู่ว่า ตนเองกำลังกระทำโดยเสี่ยงกับความผิด สำหรับแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัจจุบัน เมื่อศาลฎีกาวางหลักไว้เช่นนี้ จึงต่างกับแนวความผิดของ COMMON LAW ดังกล่าว

- ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ อธิบายว่า ปัญหาที่จะต้องพิจารณาก็คือ จำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามมาตรา 277 หรือไม่ จะเห็นได้ว่า จำเลยขาดเจตนา เพราะจำเลยเข้าใจไปว่าเด็กหญิง ข. อายุ 17 ถึง 18 ปี ดังนี้ต้องถือว่าจำเลยขาดเจตนากระทำความผิดตามมาตรา 277 เพราะมาตรา 59 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด จะถือว่า ผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้ ในกรณีนี้อายุของเด็กหญิง ข. เป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด เมื่อจำเลยเข้าใจว่าเด็กหญิง ข.อายุ 17-18 ปี ก็แสดงว่าจำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าจริง ๆ แล้ว เด็กหญิง ข. อายุไม่เกินสิบห้าปี จำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำผิดตามมาตรา 277 (โปรดอ่านรายละเอียดในบทความเรื่องการขาดองค์ประกอบภายนอก การขาดเจตนาและการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงในหนังสือรพี 39)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6405/2539 วินิจฉัยตอนหนึ่งว่าเชื่อได้ว่า จากรูปร่างการพูดจา และงานที่ผู้เสียหายทำ มีเหตุผลทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจว่าผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า 15 ปี ฟังได้ว่าจำเลยสำคัญผิดโดยเข้าใจว่า ผู้เสียหายอายุ 17 ปี ย่อมมีผลให้จำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก เมื่อจำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงถือว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสาม

คำพิพากษาฉบับนี้วินิจฉัยอ้างเหตุผลตอนแรกว่า จำเลยสำคัญผิดโดยเข้าใจว่า ผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 แล้วโยงไปยกฟ้องโจทก์ โดยอ้างมาตรา 59 วรรคสาม ด้วยว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำผิดตามความเห็นของท่านอาจารย์ ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4698/2540 ร้อยตำรวจโทบุญเริ่มพนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ผู้เสียหายมีรูปร่างสูงใหญ่ ทั้งข้อเท็จจริงก็ฟังได้ตามที่ผู้เสียหายเบิกความว่า หลังเกิดเหตุได้มีการผูกข้อมือเป็นสามีภริยากับจำเลย (เพราะมีภาพถ่ายเหตุการณ์ ในวันดังกล่าวมาเป็นพยานต่อศาล) แสดงว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าผู้เสียหายมีสภาพร่างกายเติบโตพร้อมที่จะเป็นภริยาจำเลยได้แล้ว ชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การว่าไม่ทราบว่าผู้เสียหายอายุเท่าใด จึงน่าเชื่อว่าจำเลยไม่ทราบว่าผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปี ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เเสียหายโดยรู้อยู่แล้วว่าผู้เสียหายมีอายุไม่เกิน 15 ปี เป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 62 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิด

- คำพิพากษาฎีกาฉบับหลังนี้อ้างเฉพาะมาตรา 62 เช่นเดียวกับคำพิพากษาฎีกา 6419/2537 และ 5176/2538 ซึ่งเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว ปรับได้กับกฎหมายมาตรา 62 และแม้ฎีกาที่ 6405/2539 จะอ้างมาตรา 59 วรรคสาม ด้วย ผลของคดีก็ไม่ต่างกัน คือ การกระทำไม่เป็นความผิด และพึงสังเกตว่า มาตรา 59 เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับเจตนา มาตรา 59 วรรคสาม เป็นบัญญัติที่อธิบายคำว่า เจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง ส่วนมาตรา 62 เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วย ความสำคัญผิดในข้อเท็จจริง ข้อความในวรรคสองที่ว่า ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา 59 หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรกแสดงว่ากฎหมายสองมาตรานี้มีความมุ่งหมายต่างกัน เรื่องเจตนาเป็นเรื่องที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีความผิดเพราะไม่มีเจตนาเท่านั้น แต่เรื่องสำคัญผิดนั้นรวมถึงเรื่องการกระทำไม่มีความผิดเรื่องได้รับยกเว้นโทษและเรื่องได้รับโทษน้อยลงด้วย มาตรา 62 จึงมีความหมายกว้างกว่ามาตรา 59 วรรคสาม ฉะนั้นเมื่อกรณีต้องตามมาตรา 62 ซึ่งไม่เป็นความผิดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปอ้างมาตรา 59 วรรคสาม ซ้ำอีก เพราะความสำคัญผิดก็คือความไม่รู้ข้อเท็จจริงนั่นเอง และผลของคดีเหมือนกัน

- การที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าจริง ๆ แล้วเด็กหญิง ข. อายุไม่เกินสิบห้าปี จำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำผิดตามมาตรา 277 นั้น คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจได้ยาก เป็นการวินิจฉัยในเชิงกฎหมายโดยแท้ เพราะขณะที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายนั้น จำเลยก็มีเจตนาแต่เพียงว่าจำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายเท่านั้น ไม่ได้แสดงเจตนาว่าต้องการกระทำความผิดตามกฎหมายมาตราใด ปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายมาตราใดหรือไม่เป็นปัญหาที่ศาลจะต้องวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในสำนวนโดยพิจารณา ตามความเข้าใจของจำเลยว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีความเข้าใจอย่างไร ไม่ใช่วินิจฉัยโดยพิจารณาว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามกฎหมายมาตราใด

- อ จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า กรณีที่ใกล้เคียงกับความรู้ข้อเท็จจริงก็คือ ความสำคัญผิด ความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามมาตรา 59 วรรค 3 โดยปกติหมายความถึงข้อเท็จจริงนั้นความจริงมีอยู่ แต่ผู้กระทำไม่รู้ว่ามีข้อเท็จจริงเช่นนั้น หรือถ้าจะกล่าวในแง่ความสำคัญผิดก็ได้แก่ความสำคัญผิดว่าไม่มีข้อเท็จจริง ซึ่งความจริงข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่จริง แต่กลับกัน ความสำคัญผิดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้เป็นความสำคัญผิดว่ามีข้อเท็จจริงบางประการ แต่ความจริงข้อเท็จจริงนั้นไม่มีอยู่จริงตามที่เข้าใจ หรือหากจะมีก็มีเป็นอย่างอื่น ไม่ตรงตามที่ผู้กระทำเข้าใจว่ามี

- มาตรา 62 ต้องพิจารณาตามความเข้าใจของผู้กระทำ แม้ความจริง การกระทำจะประกอบด้วยองค์ความผิดครบถ้วน และไม่มีเหตุยกเว้นความรับผิดเลยก็ตาม ถ้าผู้กระทำได้กระทำโดยเข้าใจข้อเท็จจริงเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ต้องวินิจฉัยความผิด หรือความรับผิดของผู้กระทำโดยสมมติเอาว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างที่ผู้กระทำเข้าใจ ถ้าตามข้อเท็จจริงที่สมมติขึ้นตามที่ผู้กระทำเข้าใจ การกระทำนั้นยังเป็นความผิดอยู่เพียงใด ก็ถือว่าผู้กระทำมีความผิดเพียงนั้น ถ้าตามข้อเท็จจริงที่สมมติขึ้นเช่นนั้น ผู้กระทำไม่มีความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลง ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ไม่มีข้อที่จะต้องพิจารณาว่าความสำคัญผิดนั้นมีเหตุสมควรหรือไม่ ซึ่งเป็นแต่ปัญหาในชั้นที่จะฟังข้อเท็จจริงว่า จะเชื่อว่าผู้กระทำสำคัญผิดดังนั้นจริงหรือไม่เท่านั้น

- ขอให้สังเกตว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติวางหลักเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสาม และมาตรา 62 ศาลฎีกาซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการ ก็ต้องตัดสินตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้วางหลักเกณฑ์ไว้ และตัดสินคดีตามอำเภอใจไม่ได้ แต่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศ COMMON LAW ถือว่า JUDGE MADE LAW. ศาลอังกฤษจึงตัดสินดังที่ท่านอาจารย์พฤตินัยกล่าวไว้ข้างต้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 455/2542 แม้ผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายเกิดวันที่ 17 ตุลาคม 2521 ตามสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน แต่นาง ท. มารดาผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าขณะที่ผู้เสียหาย เกิดนั้นตนยังไม่ได้ไปแจ้งเกิดในทันที แต่ไปแจ้งเกิดเมื่อผู้เสียหายมีอายุ 9 เดือน วันเดือนปีเกิดที่ระบุในสูติบัตรเป็นวันที่ไปแจ้งเกิดผู้เสียหาย มิใช่วันเกิดที่ที่แท้จริง เมื่อวันเกิดของผู้เสียหายไม่มีไครทราบได้ดีกว่า มารดาผู้เสียหายเพราะเป็นผู้อุ้มท้องและคลอดผู้เสียหายเอง ย่อมต้อง จดจำวันได้อย่างแม่นยำคำเบิกความของนาง ท. จึงน่าเชื่อถือขณะ เกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุตามสูติบัตร 14 ปี 6 เดือน เมื่อรวมอีก 9 เดือน ด้วยแล้วขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุที่แท้จริง 15 ปีเศษแล้ว อายุของ ผู้เสียหายนั้นต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ขณะมีอายุเกินกว่า 15 ปีแล้วมิใช่ 14 ปีเศษตามฟ้อง การกระทำของ จำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง (โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง ส. ผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำจับตัวและขู่เข็ญผู้ เสียหายว่าหากขัดขืนจะฆ่า แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ขอให้ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ขาดองค์ประกอบภายนอก ) (ศาลไม่ปรับลงมาตรา 278 ดูฎีกาเดิม)

- ความผิดตามวรรคแรกนั้น ไม่ว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็เป็นความผิด แต่ถ้าเด็กหญิงนั้นยินยอมไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ๆ และภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษเป็นการผ่อนคลายเพราะการลงโทษชายในความผิดเช่นนี้อาจเป็นผลร้ายแก่ตัวเด็กหญิงและบุตรในกรณีที่เด็กหญิงเกิดตั้งครรภ์และเป็นความผิดทางศีลธรรมที่พรากคู่ครอง

- ศาลมีอำนาจอนุญาตให้เด็กหญิงสมรสได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 การสมรส หมายความว่าต้องจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 และตามมาตรา 1456 ศาลอนุญาตให้ผู้เยาว์สมรสได้ตามที่ผู้เยาว์ร้องขอ

- ศาลที่มีอำนาจที่จะอนุญาตให้สมรสได้ก็คือศาลเยาวชนและครอบครัว เว้นแต่ท้องที่นั้นไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัว

- ความผิดฐานกระทำชำเราตามมาตรานี้ กับความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กตามมาตรา 279 เป็นความผิดใกล้เคียงกัน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2084/2531 จำเลยข่มขืนเด็กอายุ 12 ปี โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำอนาจารอย่างอื่นอีก มีความผิดตามมาตรา 277 วรรคแรก ไม่ผิดตามมาตรา 279 วรรคแรก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 54/2528 ความผิดฐานกระทำอนาจารเช่น จับต้องของสงวน ก่อนข่มขืนกระทำชำเรา เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหากระทำอนาจารคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)

- ตัวอย่างคำพิพากษา

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2412/2525 การที่ผู้เสียหายซึ่งมีอายุ 13 ปีเศษ ยินยอมไปกับจำเลย เพราะจำเลยใช้อุบายหลอกลวงว่าจะพาผู้เสียหายไปซื้อผ้า แล้วพาผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเรานั้น ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายเต็มใจไปด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. ม.318 อีกกระทงหนึ่ง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1987/2539 จำเลยที่ 2 ดึงตัวผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่ จำเลยที่ 3 ก็เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราต่อ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็เข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอีก สลับกันไป ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไปยืนรอจำเลยที่ 3 อยู่ขณะที่จำเลยที่ 3 กำลังร่วมเพศกับผู้เสียหายและเห็นจำเลยที่ 2 กำลังใส่กางเกง และจำเลยที่ 3 ก็ให้การว่าขณะที่จำเลยที่ 2 กำลังร่วมเพศกับผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 กับที่ 3 ได้นั่งรออยู่ห่างประมาณ 3 เมตร หลังจากจำเลยที่ 2 ลุกขึ้น จำเลยที่ 3 จึงได้เข้าไปร่วมเพศกับผู้เสียหาย และหลังเกิดเหตุ เมื่อผู้เสียหายเดินกลับมาที่ร้านขายข้าวแกงที่ผู้เสียหายทำงาน ก็พบจำเลยทั้งสามนั่งกินข้าวอยู่ด้วยกันพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการร่วมกันกระทำผิด อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง

- มาตรา 277 วรรคท้าย การอนุญาตให้ผู้ต้องหาสมรสกับผู้เยาว์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2429/2541 ขณะเกิดเหตุเด็กหญิง ม. มีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ จึงมิอาจสมรสได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1448 กรณีที่จำเลยต้องการอยู่กินฉันสามีภริยากับเด็กหญิง ม. โดยนาง จ. มารดาเด็กหญิง ม. ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขออนุญาตให้เด็กหญิง ม. จดทะเบียนสมรสกับจำเลยนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุแล้ว แม้ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะอนุญาตตามคำร้องดังกล่าว ก็มิอาจลบล้างความผิดที่จำเลยได้กระทำมา ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารจึงชอบแล้ว แต่เมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้อนุญาตให้จำเลยและเด็กหญิง ม. สมรสกัน การกระทำของจำเลยในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคท้าย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกามา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้เอง

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า

- (ขส พ 2504/ 6) เด็กหญิงดำอายุไม่ครบ 13 ปีตกลงอยู่ร่วมฉันสามีภรรยากับนายขาว อายุ 19 ปี บิดามารดาของเด็กหญิงดำตามใจ เด็กหญิงดำจึงไปอยู่กินหลับนอนกับนายขาว (นายขาว เด็กหญิงดำ และบิดามารดาของเด็กหญิงดำ ผิดฐานใด) / นายขาวผิด ฐานชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปี แม้หญิงยินยอมก็เป็นความผิด ตาม ม 277 / เด็กหญิงดำไม่มีความผิด เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ ตาม ปอ ม 2 (ประกอบกับ มาตรา 277 มุ่งคุ้มครองตัวเด็กหญิงเอง เด็กหญิงที่ยินยอมด้วยในการชำเรา จึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ในความผิดนี้ / บิดามารดา ของเด็กหญิง ไม่มีความผิด เพราะไม่เป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำผิดตาม ม 86 การกระทำเกิดขึ้น เนื่องจากความตกลงใจของเด็กหญิงเอง ที่ไปหานายขาว ไม่ใช่การกระทำของบิดามารดา


มาตรา 277 ทวิ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 276 วรรคแรก หรือมาตรา 277 วรรคแรกหรือวรรคสอง เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ

(1) รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

(2) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

- คำพิพากษาฎีกาที่ 857/2536 ผู้เสียหายเป็นเด็กหญิงอายุ 8 ปี จำเลยใช้อวัยวะเพศของจำเลยใส่ไปที่ช่องขาใกล้อวัยวะเพศของผู้เสียหาย และได้กระทำการในลักษณะของการกระทำชำเรา ที่บริเวณรูทวารหนักของผู้เสียหายมีรอยช้ำแดง และที่ระหว่างช่องคลอดกับรูทวารหนัก มีรอยถลอกเล็กน้อย อวัยวะเพศของจำเลยไม่ได้เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย คงอยู่ในบริเวณปากช่องคลอดของผู้เสียหายเท่านั้น จึงเป็นเพียงความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 13 ปี / หลังจากจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย และจำเลยกับผู้เสียหายสวมใส่เสื้อผ้าแล้ว จำเลยได้ต่อยเตะจนผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยดังกล่าวมิได้กระทำต่อเนื่องกัน หากแต่ขาดตอนจากการกระทำชำเราแล้ว แม้ผู้เสียหายจะได้รับอันตรายสาหัส ก็มิใช่ผลโดยตรงจากการกระทำชำเรา อันจะเป็นเหตุให้ต้องได้รับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ทวิ

มาตรา 277 ตรี ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 276 วรรคสอง หรือมาตรา 277 วรรคสาม เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ

(1) รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

(2) ถึงแก่ความหมาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต

- กฎหมายทั้งสองมาตรานี้เพิ่มขึ้นตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 8 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 เหตุก็เพราะหลังจากใช้ประมวลกฎหมายอาญา เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2500 ประเทศไทยถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร หนังสือพิมพ์ ไม่มีข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ที่น่าสนใจ ลงพิมพ์เผยแพร่ เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลเผด็จการเสียแล้ว ก็ย่อมลงข่าวการเมืองหรือข่าวเศรษฐกิจอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้เป็นธรรมดา ฉะนั้น เมื่อมีข่าวอาชญากรรมเช่น ข่าวฆ่าข่มขืนหนังสือพิมพ์ ก็พากันลงข่าวอย่างครึกโครม บางฉบับก็อธิบายยืดยาวน่าหวาดเสียว ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เมื่อมีการปฏิวัติในต้นเดือนพฤศจิกายน 2514 คณะปฏิวัติจึงได้เพิ่มเติมมาตราดังกล่าวขึ้น เพื่อจะให้เห็นว่ารัฐบาลเผด็จการทหารสามารถที่จะออกกฎหมายโดยรวดเร็ว และทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ ซึ่งก็ทำให้ประชาชนมีความพอใจในระดับหนึ่ง แต่การออกกฎหมายมาลงโทษอย่างรุนแรงนั้นจะสามารถลดสถิติการกระทำความผิดฐานนี้หรือไม่ เป็นปัญหาทางทัณฑวิทยาและอาชญาวิทยา ขอให้สังเกตแต่เพียงว่า เพราะกฎหมายลงโทษหนักขึ้นนี้เอง เป็นเหตุหนึ่งที่จูงใจให้จำเลยฆ่าผู้เสียหายเพื่อปิดปาก หรือเพื่อไม่ให้มาเป็นพยานในชั้นศาล

- เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตายหมายความว่า ต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ ตามมาตรา 63

- คำพิพากษาฎีกาที่ 255/2472 จำเลยข่มขืนกระทำชำเรา หญิงซึ่งป่วยหนักนอนอยู่ในห้อง ต่อมาไม่ช้า หญิงนั้นตาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าหญิงตายเพราะจำเลยข่มขืนกระทำชำเรา หรือตายเพราะอาการป่วย ลงโทษจำเลยตามมาตรานี้ไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น: