ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๒๒๖ - ๒๓๙

มาตรา 226 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่โรงเรือน อู่เรือ ที่จอดรถหรือเรือสาธารณ ทุ่นทอดจอดเรือ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร เครื่องกล สายไฟฟ้า หรือสิ่งที่ทำไว้ เพื่อป้องกันอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ จนน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 227 ผู้ใดเป็นผู้มีวิชาชีพ ในการออกแบบ ควบคุม หรือทำการก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือรื้อถอน อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้น ๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3793/2543 จำเลยที่ 1 เป็นวิศวกรผู้คำนวณโครงสร้างการรับน้ำหนักของอาคารจำเลยที่ 9 ในการปลูกสร้างย่อมต้องทราบดีอยู่แล้วว่าอาคารดังกล่าวได้กำหนดการรับน้ำหนักไว้เพียง 4 ชั้นรวมชั้นใต้ดิน แต่จำเลยที่ 1 กลับมาคำนวณออกแบบต่อเติมอาคาร โดยที่ทราบดีอยู่แล้วว่าอาคารเดิมรับน้ำหนักส่วนที่ต่อเติมไม่ได้ และยังใช้ฐานรากและเสาในแนวซีซึ่งออกแบบให้รับน้ำหนักไว้เพียง 2 ชั้นเป็นจุดเชื่อมต่ออาคารเดิมและอาคารที่ต่อเติม ทำให้น้ำหนักของอาคารทั้งหมดถ่ายเทลงสู่เสา และฐานรากในแนวซี ให้ต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเบิกความและยอมรับในฎีกาว่าได้ดูแบบแปลนของอาคารเดิมดูสภาพของอาคารที่มีอยู่เดิม และทราบว่าเสาในแนวซีต้นที่ 176 มีขนาดและส่วนประกอบผิดไปจากแปลน เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามวิธีการอันพึงกระทำในการออกแบบ เพราะเดิมจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ออกแบบ เมื่อพบเห็นสภาพอาคารก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนเช่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาข้อมูลที่ถูกต้องให้ได้มากที่สุด ว่าโครงสร้างอาคารเดิมมั่นคงแข็งแรงพอจะรับน้ำหนักอาคารในส่วนที่ต่อเติมได้อีกหรือไม่ โดยการสอบถาม หรือขอข้อมูลเดิมจากสถาปนิก และวิศวกรที่ออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเดิม แต่จำเลยที่ 1 ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุที่อาคารจำเลยที่ 9 พังทลายจนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ก็เป็นเพราะจำเลยที่ 1 คำนวณออกแบบโครงสร้างและการรับน้ำหนักของอาคารไว้ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 โดยตรง การกระทำของจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 227 ประกอบกับมาตรา 238

มาตรา 228 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้เกิดอุทกภัย หรือเพื่อให้เกิดขัดข้องแก่การใช้น้ำซึ่งเป็นสาธารณูปโภค ถ้าการกระทำนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำผิดดังกล่าวในวรรคแรก เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

- น่าจะเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นผิด มาตรา 228 วรรค 1 แต่ถ้า เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นก็จะมีโทษหนักขึ้นตามวรรคสอง แต่ต้องเป็นผลตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตาม มาตรา 63

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1019/2504 จำเลยเชื่อมั่นโดยสุจริตว่าเป็นเหมืองของจำเลย จำเลยย่อมไม่รู้ว่าเหมืองที่จำเลยกั้นน้ำนั้นเป็นสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ปอ มาตรา 228 จำเลยไม่มีความผิดตามมาตรานี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1240/2504 การกระทำให้เกิดอุทกภัยตาม มาตรา 228 จะต้องมีเจตนาให้เกิดอุทกภัยโดยตรง จะยกเอาการเล็งเห็นผลของการกระทำตาม มาตรา 59 วรรค 2 มาใช้ไม่ได้ จำเลยเห็นอยู่แล้วว่าการกระทำของจำเลยทำให้น้ำท่วมนา และสวนยางของผู้เสียหาย ทางราชการสั่งให้จำเลยรื้อ ก็ไม่รื้อ ทำให้น้ำท่วมนาและสวนยางของผู้เสียหาย เห็นได้ชัดว่าเจตนาทำให้เกิดอุทกภัยตลอดมา

- คำพิพากษาฎีกาที่ 129/2532 สาเหตุที่น้ำท่วมนาของโจทก์เนื่องมาจากฝนตกเร็วกว่าปกติ และมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีก่อน ๆ การที่จำเลยก่อสร้างซ่อมแซมทำนบที่กั้นลำห้วยสาธารณะเพื่อกักน้ำไว้เลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อเอาไว้ให้ราษฎรจับเป็นอาหารในฤดูแล้ง แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาทำให้เกิดอุทกภัยหรือทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 228 และมาตรา 359


มาตรา 229 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ทางสาธารณ ประตูน้ำ ทำนบ เขื่อน อันเป็นส่วนของทางสาธารณ หรือที่ขึ้นลงของอากาศยาน อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1968/2506 ทำนบซึ่งใช้เป็นทางสัญจรไปมานี้ เป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เมื่อจำเลยทำการขุด ถือได้ว่าจำเลยทำให้เสียหายมีความผิดแล้ว แม้จะได้ความว่า มีการถมทำให้คืนดีดังเดิมแล้วก็ดี จำเลยหาพ้นความผิด ป.อาญา มาตรา 360 ไปได้ไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 119/2516 (คำอธิบายเรียงมาตราฯ) มีการตัดถนนสาธารณะกว้าง 8 เมตร โดยยกร่องพูนดินไว้เป็นทางคนเดิน ทางเกวียน ถนนนี้ทำผ่านราษฎรหลายราย รวมทั้งของจำเลยด้วย โดยราษฎร และจำเลยยินยอมยกที่ดินตอนที่ถนนตัดผ่านให้ตัดถนน เพื่อใช้เป็นทางสาธารณะ เมื่อจำเลยทำคันดินขวางถนนอันเป็นทางสาธารณะดังกล่าว ให้อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายจราจร จำเลยมีความผิดตามมาตรา 229

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3521-3522/2536 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 229, 360 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.. 2456 มาตรา 117, 118, 119, 120 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (1) และพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.. 2498 มาตรา 11 (1) เอกชนจะฟ้องได้ต่อเมื่อได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ แม้โจทก์เป็นเทศบาลเมืองมีหน้าที่ต้องจัดให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.. 2496 มาตรา 50 (2), 53 และกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้โจทก์มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการป้องกันที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่อยู่ในเขตเทศบาล ทั้งอธิบดีกรมเจ้าท่าได้มอบอำนาจเจ้าท่าตาม พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.. 2456 ให้โจทก์ดูแลรักษาลำน้ำในเขตเทศบาล ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง

มาตรา 230 ผู้ใดเอาสิ่งใด ๆ กีดขวางทางรถไฟ หรือทางรถราง ทำให้รางรถไฟหรือรางรถรางหลุด หลวมหรือเคลื่อนจากที่ หรือกระทำแก่เครื่องสัญญาณ จนน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การเดินรถไฟหรือรถราง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหมื่นสี่พันบาท

- คำพิพากษาฎีกาที่ 192/2463 จำเลยลักถอดเครื่องเหล็กที่ติดกับรางรถไฟไป 2 ครั้ง ต่างวันกันในเวลากลางคืน มีความผิดฐานลักทรัพย์ 2 ครั้ง เป็นโทษ 2 กระทง กับทำให้ทางรถไฟอาจเป็นอันตรายแก่การเดินรถไฟในวาระเดียวกัน ควรลงโทษบทหนักฐานทำให้รางรถไฟอาจเป็นอันตรายแก่การเดินรถไฟบทเดียวทั้ง 2 กระทง

มาตรา 231 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ประภาคาร ทุ่นสัญญาณ หรือสิ่งอื่นใด ซึ่งจัดไว้เป็นสัญญาณ เพื่อความปลอดภัยในการจราจรทางบก การเดินเรือ หรือการเดินอากาศ อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจรทางบก การเดินเรือ หรือการเดินอากาศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

มาตรา 232 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ ยานพาหนะดังต่อไปนี้ อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคล

(1) เรือเดินทะเล อากาศยาน รถไฟ หรือรถราง

(2) รถยนต์ที่ใช้สำหรับการขนส่งสาธารณ หรือ

(3) เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ที่ใช้สำหรับการขนส่งสาธารณะ

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท


มาตรา 233 ผู้ใดใช้ยานพาหนะ รับจ้างขนส่งคนโดยสารเมื่อยานพาหนะนั้น มีลักษณะหรือ มีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- มีลักษณะหรือ มีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 153/2506 วันเกิดเหตุจำเลยรับบรรทุกคนโดยสาร 50 คน และยังมีน้ำแข็งบรรทุกไปด้วย 10 กว่าก้อนใหญ่ คนโดยสารเกาะข้างรถ เกาะท้ายรถและขึ้นไปอยู่บนหลังคารถ ดังนี้เป็นการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่คนในยานพาหนะตาม มาตรา 233 แล้ว

- ประเด็นความผิดสำเร็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1281-1282/2538 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงกันเป็นหุ้นส่วนซื้อเรือเอี้ยมจุ๊นมาต่อเติมดัดแปลง เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในกิจการท่องเที่ยว โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ไปติดต่อขอซื้อเรือ จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ติดต่อจดทะเบียนและขออนุญาตใช้เรือ จำเลยที่ 4 มีหน้าที่ออกแบบและต่อเติมเรือและได้จ้างจำเลยที่ 1 ขับเรือของกลางซึ่งมีลักษณะน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือไปในการรับจ้างขนส่งคนโดยสาร ด้วยการบรรทุกจนน่าเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น จึงเป็นกรณีจำเลยทั้งสี่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันตาม ป.อ.มาตรา 83 / คำว่า "น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะ" ตาม ป.อ.มาตรา 233 ไม่ใช่ผลของการกระทำ เพราะความผิดสำเร็จโดยที่ยังไม่มีความเสียหาย เป็นแต่การกระทำหรือเจตนากระทำมีสภาพน่าจะเป็นอันตรายเท่านั้น เมื่อเรือนั้นมีลักษณะ หรือมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น แม้ยังไม่มีความเสียหาย ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

- ประเด็นตามกฎหมายวิธีพิจารณาความ การนำสืบพยานหลักฐาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1073/2464 โจทก์ไม่ได้สืบให้ปรากฏว่าเรือที่อับปางล่มจมลงนั้น เป็นเพราะอะไร เช่น เพียบเกินขนาดหรือไม่ กลับปรากฏว่าเพราะถูกพายุจึงจมลงและเรือไม่เพียบเกินขนาด เพียงแต่จำเลยรับคนโดยสารเกินอัตรา ไม่พอชี้ขาดลงโทษจำเลยได้

มาตรา 234 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่สิ่งที่ใช้ในการผลิตในการส่งพลังงานไฟฟ้าหรือในการส่งน้ำ จนเป็นเหตุให้ประชาชนขาดความสะดวก หรือน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 235 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ การสื่อสารสาธารณทางไปรษณีย์ ทางโทรเลข ทางโทรศัพท์ หรือทางวิทยุ ขัดข้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา 236 ผู้ใดปลอมปนอาหาร ยา หรือเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพย์หรือใช้ และการปลอมปนนั้น น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ หรือจำหน่าย หรือเสนอขาย สิ่งเช่นว่านั้นเพื่อบุคคลเสพย์หรือใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำว่า ปลอมปนพจนานุกรมให้ความหมายว่า เอาของเลวไปผสมกับของดี เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นของดี

- คำพิพากษาฎีกาที่ 64/2464 จำเลยและ ก กับ ข ช่วยกันโรยยาลงในแกงแล้วนำมารับประทาน ปรากฏว่า ก เมา ส่วน ข ตาย ส่วนจำเลยไม่เป็นอะไรเพราะกินไม่มาก ดังนี้ จะลงโทษจำเลย ตาม มาตรา 290 ไม่ได้ การกระทำแก่ตนเองไม่มีบทลงโทษ เมื่อ ข ยอมตัวเข้ารับประทานแกงซึ่งตนและจำเลยเป็นผู้ปนยาพิษนั้นเอง เท่ากับกระทำตัวเอง จึงเอาความผิดไม่ได้ แต่จำเลยมีความผิด มาตรา 198 (มาตรา 236) เพราะคำว่า ปลอมปนหมายความว่า ทำให้ไม่บริสุทธิ์ด้วย และจำเลยเป็นผู้ปลอมปนอาหารสำหรับ ข บริโภค และ ข ตายเพราะบริโภคอาหารนั้น จำเลยจึงมีความผิดตาม มาตรา 198 (มาตรา 236) มาตรา 200 (มาตรา 238)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3304/2529 จำเลยผลิตซอสปลอม เป็นความผิดฐานผลิตอาหารปลอมตาม พ.ร.บ.อาหารฯ และปลอมเครื่องหมายการค้า เป็นความผิดตาม ป.อ.แม้จะกระทำในเวลาเดียวกัน ก็เป็นความผิดหลายกรรมมิใช่เป็นความผิดกรรมเดียว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2831/2535 ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้า และผลิตอาหารปลอม ลักษณะของการกระทำผิดแยกจากกัน เมื่อมีการปลอมเครื่องหมายการค้าและนำไปใช้ ก็เป็นความผิดสำเร็จกระทงหนึ่ง เมื่อนำอาหารที่ส่วนประกอบไม่ใช่สูตรของแท้ มาปิดเครื่องหมายการค้าปลอม เพื่อให้ผู้บริโภคหลงเชื่อว่าเป็นอาหารสูตรของแท้ ก็เป็นความผิดฐานผลิตอาหารปลอมอีกกระทงหนึ่ง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4925/2538 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้น้ำหัวเชื้อทางเคมีผสมกับวัตถุทางเคมี จนเป็นแชมพูโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วบรรจุขวดแชมพูที่มีชื่อรูปรอยประดิษฐ์เป็นเครื่องหมายการค้า วิดัลแซสซูน เครื่องหมายแพนทีนโปรวี เครื่องหมายอักษรโรมันปาล์มโอลีฟออพติมา และเครื่องหมาย รีจอยส์ อันเป็นเครื่องหมายการค้าและใช้ในการประกอบการค้าของบริษัทริชาร์ด วินสัน วิคส์ อิงค์ ของบริษัทคอลเกตปาล์มโอลีฟฯ และของบริษัทเดอะพร็อคเตอร์แอนด์แกรมเบิลฯ ซึ่งได้จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าและการค้าของบริษัทดังกล่าวข้างต้น และจำหน่ายแก่ประชาชน เมื่อนำไปใช้แล้วจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพผู้บริโภค เป็นการบรรยายครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 236, 272 และชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5) (จำเลยรับสารภาพในศาลชั้นต้น แต่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน)

- ประเด็นความผิดสำเร็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2143/2536 จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย จึงเอายาเบื่อหนูใส่ในโอ่งน้ำดื่ม แต่ผู้เสียหายทราบเสียก่อน จึงไม่ได้ดื่มน้ำดังกล่าว ดังนี้เป็นการปลอมปน เครื่องอุปโภค เพื่อผู้อื่นเสพหรือใช้ ตาม มาตรา 236 และฐานพยายามฆ่าตาม มาตรา 288 , 80 ศาลลงโทษตาม มาตรา 288 , 80 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตาม มาตรา 90 (หมายเหตุ เมื่อ


มาตรา 237 ผู้ใดเอาของที่มีพิษ หรือสิ่งอื่นที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพ เจือลงในอาหาร หรือในน้ำซึ่งอยู่ในบ่อ สระ หรือที่ขังน้ำใด ๆ และอาหารหรือน้ำนั้น ได้มีอยู่หรือจัดไว้เพื่อประชาชนบริโภค ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงสองหมื่นบาท

- คำว่า ของที่มีพิษเป็นคำที่มีความหมายกว้าง หมายถึง ของทุกชนิดที่มีพิษที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพ

มาตรา 238 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 226 ถึงมาตรา 237 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความ ตายผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

ถ้าเป็นเหตุให้บุคคลอื่นรับอันตราย สาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

- คำพิพากษาฎีกาที่ 64/2465 ช และ ท เอายาเบื่อมาใส่ในแกง ท กินแกงตาย ช มีความผิดฐานปลอมปนอาหาร เป็นเหตุให้ ท ตาย ตามมาตรานี้ เพราะความตายของ ท เป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตาม มาตรา 63 ช ไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย เพราะ ช ไม่มีเจตนาทำร้าย ทั้ง ท ก็สมัครใจกินแกงเอง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 153/2506 รถยนต์ที่จำเลยขับ มีคนโดยสาร 50 คน คนโดยสารเกาะข้างรถ เกาะท้ายรถ ขึ้นไปอยู่บนหลังคา เพราะคนในรถเบียดเสียดกันแน่น มีน้ำแข็งก้อนใหญ่ จำเลยขับรถไปได้ 30 กิโลเมตร ยางล้อหลังข้างซ้ายระเบิด รถแล่นแฉลบไปทางซ้ายตกถนนลงไปในคู เป็นเหตุให้คนตายและรับอันตรายสาหัส เหตุที่รถคว่ำเพราะจำเลยขับรถเร็ว หาใช่เนื่องจากเหตุบรรทุกคนโดยสารเกินจำนวน ตาม มาตรา 233 ไม่ จึงลงโทษตาม มาตรา 238 ไม่ได้ จำเลย ผิดตาม มาตรา 291 และ มาตรา 300 ลงโทษ มาตรา 291

มาตรา 239 ถ้าการกระทำดังกล่าวในมาตรา 226 ถึงมาตรา 237 เป็นการกระทำโดย ประมาทและ ใกล้จะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ไม่มีความคิดเห็น: