ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

มาตรา ๑๔๗ - ๑๔๘

หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

มาตรา 147 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

- หน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 184/2496 เงินบำรุงท้องที่เป็นเงินที่ทางรัฐให้เรียกเก็บ เพื่อใช้จ่ายบำรุงความผาสุขของราษฎรในท้องที่ ผู้ใดไม่เสีย เจ้าพนักงานอาจยึดทรัพย์สินมาขายทอดตลาดเอาเงินชำระได้ ฉะนั้นเมื่อเจ้าพนักงานเรียกเก็บเงินนี้มาจากราษฎรได้แล้ว เงินนี้ก็เป็นเงินของแผ่นดิน หาใช่เงินของราษฎรที่เสียภาษีแต่ละคนไม่ และเมื่อสมุห์บัญชีอำเภอรับเงินนี้ไว้จากราษฎรในฐานที่เป็นสมุห์บัญชีอำเภอ สมุห์บัญชีอำเภอก็มีหน้าที่รับผิดชอบปกครองดูแลรักษาเงินนี้ไว้ เมื่อสมุห์บัญชีอำเภอยักยอกเงินนี้ไป ก็ย่อมมีผิดตาม ก..ลักษณะอาญามาตรา 131 และในการดำเนินคดี ก็ไม่จำต้องให้ราษฎรเจ้าของเงินมาร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดี

- คำพิพากษาฎีกาที่ 213/2503 ครูประชาบาลได้รับเงินเดือน จากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน ของกระทรวงศึกษาธิการ ย่อมเป็นข้าราชการพลเรือนและเป็นพนักงานของรัฐบาล เมื่อนายอำเภอและศึกษาธิการอำเภอซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ได้มีคำสั่งให้ครูประชาบาลนั้นไปทำงานในตำแหน่งเสมียนแผนกศึกษาธิการอำเภออีกตำแหน่งหนึ่ง ย่อมสั่งได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และมีจำเลยปฏิบัติราชการโดยทุจริตยักยอกเงินที่ได้รับไว้ตามหน้าที่ ก็มีผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ในหน้าที่ตาม มาตรา 147

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1092/2505 จำเลยเป็นผู้คุมตรี มีหน้าที่ควบคุมดูแลนักโทษและยังมีหน้าที่ขับรถยนต์ของเรือนจำด้วย พัศดีเรือนจำให้จำเลยเอารถยนต์ของเรือนจำไปบรรทุกแกลบ จำเลยก็ขับไป ย่อมถือว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องดูแลรักษารถยนต์ ตลอดถึงน้ำมันรถยนต์ด้วย เมื่อจำเลยเบียดบังเอาน้ำมันในรถยนต์ จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 147

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1566/2505 ผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัดได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดอำเภอตรี แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้ช่วยเสมียนตราไปก่อน หากในการปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัด ได้รับเงินอากรฆ่าสัตว์เพื่อนำส่งคลัง แล้วเบียดบังเอาเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ย่อมถือได้ว่ามีหน้าที่รักษาเงินนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 147

- คำพิพากษาฎีกาที่ 496/2506 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยตำแหน่งพนักงานห้ามล้อ ได้นำตั๋วค่าธรรมเนียมรถเร็วที่จำเลยขายแล้วซึ่งถูกขูดลบถอนแก้เครื่องหมาย แสดงว่าใช้ไม่ได้แล้ว เพื่อให้ใช้ได้อีกมาขายให้แก่ผู้โดยสารรถไฟ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยสุจริต การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต และเบียดบังเงินค่าธรรมเนียมที่จำเลยจำหน่ายตามหน้าที่เป็นของจำเลย จึงเป็นความผิดตามมาตรา 147 และ 151

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1103/2508 จำเลยเป็นพนักงานเก็บรายได้ต่าง ๆ ของเทศบาลรวมทั้งภาษีโรงเรือนและที่ดิน จำเลยได้เก็บหรือรับเงินจากผู้นำมาชำระ จึงเป็นการกระทำในหน้าที่พนักงานเก็บเงิน เมื่อยักยอกเงินซึ่งได้รับมอบหมายไว้ตามหน้าที่ ย่อมมีความผิดตามมาตรา 147 / นายกเทศมนตรีได้แต่งตั้งปลัดเทศบาลเป็น "พนักงานเจ้าหน้าที่" สมุห์บัญชีเป็น "พนักงานเก็บภาษี" มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บเร่งรัดค่าภาษี ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 แต่ปลัดเทศบาลและสมุห์บัญชีมิได้ทำหน้าที่ด้วยตนเอง จำเลยได้รับมอบหมายไปปฏิบัติผู้เดียว ฉะนั้นการที่จำเลยเก็บเงินภาษี จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเก็บเงินซึ่งมีสมุห์บัญชีเป็นหัวหน้า ถือได้ว่าเป็นหน้าที่ที่จำเลยได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการตามหน้าที่ เมื่อเบียดบังยักยอกจะอ้างว่าไม่ได้ทำในหน้าที่ หรือไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ย่อมฟังไม่ขึ้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 341/2512 (สบฎ เน 2092) จำเลยเป็นพลทหารเรือประจำการ มีหน้าที่เป็นพลขับรถยนต์ของราชการทหารเรือ จึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการใช้และรักษาน้ำมันรถที่จำเลยทำหน้าที่ขับนั้นด้วย การที่จำเลยยอมให้บุคคลอื่นดูดเอาน้ำมันในรถไป แล้วรับเงินจากบุคคลนั้นเป็นค่าตอบแทนเอาเป็นประโยชน์ส่วนตัว ย่อมเป็นการเบียดบังน้ำมันของทางราชการไปโดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147

- คำพิพากษาฎีกาที่ 406/2515 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน บังอาจเบียดบังยักยอกเอาทรัพย์ของทางราชการที่จำเลยได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษา นำไปขายให้ผู้อื่นอันเป็นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ขอให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 147,151,157,158,352 และ 353 รวม 6 มาตรา ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลย ตามข้อเท็จจริงที่บรรยายในฟ้องทั้งสิ้น ศาลปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นการลงโทษตามข้อเท็จจริง จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 744-745/2515 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ใช้และเก็บรักษาปืนคาร์บีน แมกกาซิน และกระสุนปืน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการตำรวจ เพื่อใช้ในการตรวจตราปราบปรามโจรผู้ร้าย จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ใช้และรักษาปืนคาร์บิ่น กระสุนปืนและแมกกาซินที่จำเลยได้รับมอบหมาย เมื่อจำเลยเบียดบังปืนคาร์บีน แมกกาซิน และกระสุนปืนนั้น เป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ย่อมมีความผิดตาม ป.อาญามาตรา 147

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3031/2517 เทศบาลมอบเงินให้แก่จังหวัดเพื่อใช้ในกิจการใด ๆ ก็ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดให้นำเงินดังกล่าว มาเป็นสวัสดิการข้าราชการในจังหวัด เพื่อให้ข้าราชการผู้มีเงินเดือนน้อยกู้ยืม วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินดังกล่าวจึงหาได้มุ่งหมายใช้จ่ายในทางราชการไม่ แต่เป็นการใช้จ่ายช่วยเหลือข้าราชการเป็นการส่วนตัว เป็นกิจการพิเศษซึ่งไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดกำหนดไว้ การที่จำเลยได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่รักษาและรับจ่ายเงินดังกล่าว จึงเป็นกิจการพิเศษ ซึ่งไม่ต้องอาศัยฐานะที่จำเลยเป็นเสมียนตราจังหวัดหรือข้าราชการ การที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามตำแหน่งหน้าที่ราชการ เมื่อจำเลยเบียดบังยักยอกเงินดังกล่าวไป จึงมีความผิดตาม มาตรา 352 เท่านั้น หาเป็นความผิดตามมาตรา 147 ไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1264/2518 พลตำรวจรับมอบปืนและเครื่องกระสุนไปปฏิบัติราชการ มีหน้าที่รักษาสิ่งเหล่านั้น ถ้าเอาไปจำนำถือได้ว่าแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้เป็นเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 147 และไม่เป็นความผิดตามมาตรา 158 อีก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3374/2522 พนักงานบัญชีประจำกิ่งอำเภอ อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของปลัดกิ่งอำเภอสั่ง ให้รับผิดชอบในงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ยักยอกเงินภาษีที่ได้รับไป เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ป.อ.ม.147

- คำพิพากษาฎีกาที่ 256/2523 เจ้าพนักงานยักยอกเงินเป็นความผิดสำเร็จแต่ละวันที่ไม่นำเงินส่งตามหน้าที่เป็นรายกระทง ไม่ใช่รวมกันทุกวันเป็นความผิดกรรมเดียว คำสั่งนายอำเภอให้เจ้าพนักงานรับเงินรวบรวม ส่งต่อไปตามระเบียบ ย่อมมีหน้าที่รักษาเงินในระหว่างนั้น ชั่วเวลาสั้นหรือยาวก็ตาม การรับเงินรวบรวมส่งต่อไปเป็นการจัดการทรัพย์ตาม ป.อ.ม.147 ด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3313/2524 จำเลยเป็นครูใหญ่โรงเรียนอนุบาล กรอกรายการเพิ่มขึ้นในใบสำคัญคู่จ่ายค่าอาหารเลี้ยงนักเรียน มีจำนวนสูงกว่าหลักฐานการเบิกเงินของแม่ครัว เนื่องจากการที่จำเลยสั่งซื้ออาหารเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอรับประทาน เป็นการกรอกเพิ่มขึ้นเพื่อให้จำนวนเงินตรงกับที่จ่ายไปจริง หาได้มีเจตนาทุจริตคิดเบียดบังเอาเงินบำรุงการศึกษาของโรงเรียน เป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นไม่ และไม่เป็นการทำเอกสารเท็จหรือรับรองข้อความอันเป็นเท็จอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ.ม.147,162

- คำพิพากษาฎีกาที่ 205/2528 แม้จำเลยมีตำแหน่งอาจารย์ทำหน้าที่สอนหนังสือ แต่จำเลยก็ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ใหญ่ ให้ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกการเงิน ซึ่งอาจารย์ใหญ่ก็มีอำนาจมอบหมายได้ เงินที่จำเลยได้รับและเบียดบังไปเป็นเงินค่าจำหน่ายผลิตผลและอื่น ๆเมื่อจำเลยรับไว้แล้วมีหน้าที่ต้องนำส่งต่อคณะกรรมการรักษาเงิน อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจ จำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาทรัพย์ เมื่อจำเลยเบียดบังเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต ต้องมีความผิดตาม ป.อ. ม.147 หาใช่ ม.352 ไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4000/2528 ผู้บังคับการตำรวจภูธรเขตมีคำสั่งให้จำเลย ซึ่งเป็นตำรวจประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ทำหน้าที่ผู้ช่วยเสมียนทะเบียนยานพาหนะ จำเลยจึงมีหน้าที่รับเงินค่าภาษีรถยนต์และค่าภาษียานพาหนะอื่นได้ทั้งหมดแล้วนำส่งให้แก่สารวัตรการเงินและบัญชี การที่ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด มีคำสั่งให้จำเลยเป็นหัวหน้าสำหรับประเภทล้อเลื่อน ไม่มีผลเป็นการลบล้าง หรือยกเลิกคำสั่งของกองบังคับการตำรวจภูธรเขต ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่เหนือกว่าได้ จำเลยยังคงมีอำนาจ และหน้าที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยเสมียนทะเบียนยานพาหนะกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเช่นเดิม เมื่อจำเลยรับเงินค่าภาษีรถยนต์แล้วเบียดบังเป็นของจำเลยย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ. ม.147 / จำเลยอ้างว่าคำสั่งของผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะออกโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยการมอบหมาย อำนาจการสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ แต่โจทก์จำเลยมิได้อ้างและนำสืบถึงระเบียบดังกล่าว จำเลยได้นำเข้าสู่สำนวนความ โดยมีคำแถลงส่งต่อศาลอุทธรณ์เมื่อจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่จำเลยมิได้อ้างไว้ในศาลชั้นต้น ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 480/2529 จำเลยเป็นข้าราชการครูโรงเรียนวิสุทธิกษัตรีสังกัดกรมสามัญศึกษา แต่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ทางธุรการและการเงินของโรงเรียนผู้ใหญ่วิสุทธิกษัตรี สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียนด้วยจำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานและได้ปฏิบัติราชการตามที่ได้รับมอบหมาย เมื่อจำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาเงินบำรุงการศึกษาของโรงเรียนผู้ใหญ่วิสุทธิกษัตรี ที่ได้รับไว้ตามหน้าที่ ไม่จัดการนำส่งประธานกรรมการเก็บรักษาเงินตามระเบียบ จึงมีความผิดตาม ป.อ. ม. 147 ซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้จะมีการร้องทุกข์เกิน 3 เดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและตัวผู้กระทำความผิด คดีก็ไม่ขาดอายุความ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 148/2530 พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 18 บัญญัติให้พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา เมื่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีหน้าที่จำหน่ายตั๋วเดินทาง ยักยอกเงินค่าตั๋วเดินทางได้รับไว้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 และโดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย ไม่เป็น"พนักงาน" ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา4 ด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1146/2537 จำเลยได้รับแต่งตั้งให้รักษาการตำแหน่งสมุห์บัญชีอำเภอ มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรส่งคลังจังหวัด เมื่อรับเงินค่าภาษีแล้วต้องออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ชำระเงินบางราย จำเลยไม่ออกให้ บางรายออกให้ไม่ตรงตามจำนวนเงินที่รับไว้ แล้วเบียดบังเอาเงินนั้นไป จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เบียดบังทรัพย์เป็นประโยชน์ตนโดยทุจริต มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 147,157 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 147 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90

- ไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1463/2494 จำเลยเป็นเสมียนกรมรถไฟประจำสถานีหนึ่งมีหน้าที่ขายตั๋วรถไฟให้ผู้โดยสาร จำเลยใช้ตั๋วของกรมรถไฟซึ่งได้ศูนย์หายไปในระหว่างทางและไม่ได้อยู่ในบัญชีสถานีที่จำเลยประจำอยู่ มาเขียนกรอกข้อความลงไป แล้วปลอมขายว่าเป็นตั๋วรถไฟที่แท้จริงให้แก่ผู้ซื้อไป ดังนี้ เงินที่จำเลยขายตั๋วปลอมได้มา จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องส่งให้นายสถานีนั้น จำเลยเอาเงินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย จำเลยจึงไม่มีผิดฐานยักยอกตาม ก..ลักษณะอาญามาตรา 131 หรือ 319

- คำพิพากษาฎีกาที่ 381/2505 จำเลยเป็นตำรวจกองบังคับการตำรวจรถไฟ มีหน้าที่อารักขาพนักงานรถไฟ สืบสวนคดี และถ่ายรูปประกอบคดีในเขตการรถไฟ แต่กองบังคับการไม่มีปืนพกและกล้องถ่ายรูปใช้ จึงให้จำเลยเบิกจากกองกำกับการตำรวจรถไฟ เพื่อใช้ในราชการ เจ้าหน้าที่ได้มอบปืนพก 1 กระบอกและกล้องถ่ายรูปให้แก่จำเลยไป เพื่อใช้ในราชการ ต่อมาจำเลยได้ลาราชการ แล้วหลบหนีราชการไป จำเลยได้เบียดบังเอาปืนและกล้องถ่ายรูปนั้นไว้เป็นของตนโดยทุจริต ดังนี้ จำเลยมิใช่เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ดังบัญญัติไว้ใน มาตรา 147 จึงไม่ผิดตามมาตราดังกล่าว แต่ผิดตามมาตรา 158

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1272/2506 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอ มีหน้าที่รับเรื่องราวจดทะเบียน ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของราษฎร ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดิน จากผู้ขาย “เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด” และยึดเอาส่วนเกินไว้ เงินส่วนเกินไม่ใช่เป็นเงินของทางราชการหรือของรัฐบาล จึงไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของ มาตรา 147 / ฉะนั้นการที่จำเลยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม (แม้จะเกินกว่ากฎหมายกำหนด) ก็ดี การทำนิติกรรมการซื้อขายที่ดินก็ดี จึงไม่ใช่เป็นการกระทำหรือเบียดบังต่อทรัพย์ตาม มาตรา 147 (“เงินส่วนที่เกิน” และเบียดบังไว้นั้น ไม่ใช่ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาโดยตรง ผิด มาตรา 157 , 341)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1468/2516 จำเลยเป็นเสมียนประจำแผนกศึกษาธิการอำเภอ มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับจ่ายเงิน ได้ยักยอกเงินค่าสมัครอบรมสอบวิชาชุดครูซึ่งแผนกศึกษาธิการอำเภอเรียกเก็บจากผู้สมัคร แต่หน้าที่รับสมัครและรับเงินดังกล่าวนี้ผู้ช่วยศึกษาธิการมีคำสั่งให้ ป. ครูช่วยราชการแผนกศึกษาธิการอำเภอเป็นผู้ทำ ป. ไปราชการ ร. ครูช่วยราชการได้รับสมัครและรับเงินค่าสมัครไว้แทน ป. แล้วได้มอบเงินให้จำเลยเก็บรักษาไว้ การที่จำเลยรับเงินมาเก็บรักษาไว้นี้ จึงมิใช่จัดการเก็บรักษาไว้ตามหน้าที่ราชการของจำเลย เมื่อจำเลยยักยอกไปจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เท่านั้น ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 147

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1542,1543/2517 จำเลยที่ 1 รับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างรายวัน ทำงานในโรงพยาบาลเดียวกัน มีหน้าที่จำหน่ายยาแก่คนไข้จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เก็บรักษาเงินค่าจำหน่ายยาไว้ เพื่อส่งแก่เจ้าหน้าที่การเงินด้วย เวลาที่จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ ถ้าจำเลยที่ 1 ช่วยเขียนใบเสร็จรับเงิน ก็ต้องมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 กลับมา จำเลยทั้งสองร่วมกันทำสำเนาใบเสร็จรับเงิน โดยลงจำนวนเงินราคาน้อยกว่าที่จำหน่ายไปจริง แล้วร่วมกันยักยอกเอา “เงินที่เกินกว่าจำนวนใบเสร็จไป” มีความผิดตามมาตรา 352 เท่านั้น เพราะจำเลยที่ 1 มิได้มีหน้าที่เก็บรักษาเงิน และ จำเลยที่ 2 เป็นเพียงลูกจ้างมิใช่เจ้าพนักงาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2738/2522 เงินที่พิพาท 5,000 บาทเป็นเงินที่จำเลยที่ 2 เสมียนตราอำเภอ ยืมจากจำเลยที่ 1 เสมียนปกครอง และเงินค่าธรรมเนียมอาวุธปืน 5,970 บาท เป็นเงินที่บุคคลอื่นนำมาฝากไว้เป็นการส่วนตัว มิใช่จำเลยที่ 2 รับเงินจากจำเลยที่ 1 และบุคคลในหน้าที่ราชการ เงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่จัดการ หรือรักษาตามความหมายของ ม.147

- คำพิพากษาฎีกาที่ 471/2523 นายอำเภอไม่มีอำนาจตั้งผู้ใหญ่บ้าน เป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ทำให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานที่ทำผิดตาม ป.อ.ม.147 ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1301/2524 พ.ร.บ.สุขาภิบาล พ.ศ. 2495 ให้พนักงานสุขาภิบาลเป็นเจ้าพนักงาน ตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญาและให้กระทรวงมหาดไทย วางระเบียบพนักงานสุขาภิบาลขึ้นไว้ โจทก์ไม่นำสืบว่าระเบียบนี้มีไว้อย่างไร ลูกจ้างชั่วคราว ไม่อยู่ในฐานะพนักงานสุขาภิบาล การยักยอกเป็นความผิดตาม ป.อ.ม.352 ไม่ใช่ ม.147

- คำพิพากษาฎีกาที่3410/2525 จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่รับจดทะเบียนยานพาหนะเก็บรักษาเงินค่าภาษียานพาหนะ และค่าแผ่นป้ายหมายเลขทะเบียน ได้รับเงินที่ผู้มาต่อทะเบียนมอบให้ด้วยความสมัครใจเป็นค่าบริการ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.147 เพราะเงินดังกล่าวมิใช่เป็นทรัพย์ที่จำเลยมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษา ทั้งไม่ใช่เป็นเงินของทางราชการหรือของรัฐบาลด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 228/2534 ความผิดตาม ป.. มาตรา 147 ผู้กระทำผิดต้องมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นโดยทุจริต จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจตำแหน่งเจ้าหน้าที่สายตรวจ มิได้มีหน้าที่จัดการหรือรักษาเลื่อยยนต์ของกลางซึ่งนายดาบตำรวจ ส. เป็นผู้เก็บรักษา การที่จำเลยที่ 1 ลักเลื่อยยนต์ดังกล่าวไปจึงไม่มีความผิดตาม ป.. มาตรา 147 / จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามและสายตรวจมีหน้าที่ดูแลรักษาสิ่งของต่าง ๆ ในบริเวณสถานีตำรวจ ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งโดยชอบให้ดูแลรักษาทรัพย์ของกลางที่สถานีตำรวจด้วย การที่จำเลยที่ 1 อาศัยโอกาสดังกล่าวลักเลื่อยยนต์ของกลางไปขายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.. มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5964/2537 ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานเบียดบังเอาไว้เป็นของตนหรือของผู้อื่นตาม ป.อ.มาตรา 147 ต้องเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษา แต่เมื่อเงินที่จำเลยยักยอกเอาไปใช้ส่วนตัว เป็นเงินค่าบำรุงที่เจ้าภาพงานศพมาใช้ฌาปนสถานมอบให้แก่จำเลย เพื่อเก็บส่งเป็นสวัสดิการต่อกรมตำรวจ หาใช่เงินของทางราชการหรือของรัฐบาล ที่จำเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาแต่อย่างใดไม่ จึงลงโทษจำเลยตาม ป.อ.มาตรา 147 ไม่ได้ แต่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 เมื่อผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความ

- เจตนาเบียดบังทรัพย์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1184/2505 จำเลยเป็นปลัดอำเภอทำหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนอาวุธปืน ส่งเจ้าหน้าที่เพื่อพิจารณาสั่งอนุญาต แล้วจึงเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ร้องขออนุญาตนั้น หากรับคำขอจดทะเบียนและเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมไว้ แล้วเบียดบังเงินค่าธรรมเนียมทั้งหมดเสีย และทำให้คำขอจดทะเบียนสูญหายไปบ้างบางส่วน ย่อมมีความผิดตาม มาตรา 147

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1264/2518 พลตำรวจรับมอบปืนและเครื่องกระสุนไปปฏิบัติราชการ มีหน้าที่รักษาสิ่งเหล่านั้น ถ้าเอาไปจำนำ ถือได้ว่าแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 147 และไม่เป็นความผิดตามมาตรา 158 อีก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3123/2526 หนังสือนำส่งเงินพิมพ์ 2 ครั้ง ครั้งแรกระบุจำนวนเงิน 350,009 บาท ครั้งที่ 2 จำนวนเงิน 370,009 บาท ผู้พิมพ์ฉีกทำลายต้นฉบับและสำเนาสลับกัน และนำเสนอ จำเลยซึ่งเป็นสมุห์บัญชีประจำกองกำกับตำรวจภูธรจังหวัด ลงชื่อโดยมิได้ตรวจสอบว่าต้นฉบับกับสำเนาตรงกัน หรือไม่ เป็นเหตุให้มีเงินเกินอยู่ที่จำเลย 20,000บาท ตรวจไม่พบว่าเป็นเงินประเภทใด และเกิดการผิดพลาดด้วยเหตุใด รุ่งขึ้นได้รายงานให้รองผู้กำกับการตำรวจภูธรทราบ แต่ไม่ได้นำเงินเก็บไว้ในเซฟ ผิดระเบียบของทางราชการ จำเลยไม่แจ้งให้พนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่มาตรวจนับเงินให้ทราบว่ามีเงินเกินบัญชีอยู่ที่จำเลย แต่แจ้งให้ทราบในวันที่มาตรวจสอบบัญชี เมื่อจำเลยเก็บเงินไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน โดยไม่ปรากฏว่าได้เอาเงินนั้นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นแต่อย่างใด จึงไม่พอฟังว่าจำเลยเบียดบังเงินนั้นเป็นของตนโดยทุจริต ไม่มีความผิดตาม ป.อ.ม.147

- คำพิพากษาฎีกาที่ 473/2527 สารวัตรใหญ่สั่งให้จำเลยทำหน้าที่เก็บรักษาเงินประกันตัวผู้ต้องหาของสถานีตำรวจ การที่จำเลยนำเงินดังกล่าวไปฝากพี่สาว มิได้นำมาเก็บไว้ในตู้นิรภัยของทางราชการ หรือหากไม่มีตู้นิรภัย ควรจะเก็บเงินอย่างใด จำเลยก็จะต้องขอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินนั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่น แม้จำเลยจะนำเงินมาคืนในภายหลัง ก็มีความผิดตาม ป.อ. ม.147

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1507/2530 จำเลยเป็นพนักงานมีหน้าที่รับเงินรายได้ของหน่วยราชการที่ตนสังกัดและได้รับเงินรายได้ไว้ แต่มิได้นำเงินนั้นส่งคลังตามระเบียบ ซึ่งตามปกติจะต้องนำส่งคลังในวันเดียวกันกับวันที่ได้รับเงินไว้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นก็ให้นำส่งคลังในวันรุ่งขึ้น ถัดไปที่เป็นวันทำการ ทั้งจำเลยมิได้ลงบัญชีรับเงินไว้เป็นหลักฐาน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของกรมเจ้าสังกัดตรวจพบการกระทำของจำเลยเป็นเวลาถึง 5 เดือนเศษจำเลยจึงได้นำเงินส่งคลัง นับว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2729/2532 จำเลยตรวจรับกัญชาของกลางไว้ แล้วไม่นำลงบัญชีของกลางในคดีอาญา ก็โดยเจตนาที่จะเบียดบังเอากัญชานั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต อันเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 อีก ถึงแม้จะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 157 ด้วย ก็มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1522/2536 จำเลยขายเรือพอนทูนสภาพชำรุดใช้การไม่ได้ของกรมชลประทาน ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลย ให้แก่พ่อค้ารับซื้อของเก่าไป 1 ลำในราคา 3,600 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมชลประทาน แล้วจำเลยซื้อรถตัดหญ้ามอบให้แก่โครงการส่งน้ำ สำนักงานชลประทาน จำนวน 1 คัน จำเลยขายซากเรือโดยเปิดเผย เจ้าหน้าที่หลายคนทราบ เป็นการกระทำโดยสุจริตใจ ราคาที่ขายได้ก็สูงกว่าราคาที่สำนักงานชลประทานที่ 7 เคยขายเรือพอนทูนชำรุดมาก่อน เพียงแต่ไม่ได้ขออนุมัติ และได้รับอนุมัติให้ขายตามระเบียบเท่านั้น ทั้งเมื่อขายได้เงินแล้ว จำเลยก็นำเงินจำนวนดังกล่าวซื้อรถตัดหญ้าราคาสูงกว่าเงินที่ได้จากการขายเรือ 400 บาท ให้แก่ทางราชการทันที อันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า จำเลยไม่มีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ของทางราชการเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นจึงไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 147

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3485/2539 พ.ร.บ.การสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มาตรา 15 บัญญัติให้พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา จำเลยดำรงตำแหน่งพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่บุรุษไปรษณีย์มีหน้าที่ปิดเปิดถุงไปรษณีย์ภัณฑ์ และคัดเลือกไปรษณีย์ภัณฑ์เข้าด้านจ่าย ได้เบียดบังเอาจดหมายต่างประเทศ ต้นทางเยอรมันและบราซิลเป็นของตนโดยทุจริต และตั้งใจกักหรือหน่วงเหนี่ยวไปรษณีย์ภัณฑ์ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ ย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 58

- ทรัพย์สิน

- คำพิพากษาฎีกาที่1958/2515 ความผิดตามมาตรา 147 เป็นเรื่องบัญญัติเอาผิดแก่เจ้าหน้าที่ที่เบียดบังเอาทรัพย์ที่ตนได้มา หรือถือไว้เพื่อจัดการตามหน้าที่ ไม่ใช่เอาผิดเฉพาะว่าทรัพย์นั้นจะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของทางการหรือของใคร โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินผลประโยชน์ของการรถไฟ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าเงินนั้นเป็นเงินของสารวัตรเดินรถ ส่งมาให้หัวหน้ากองจัดการเดินรถเพื่อรวบรวมนำไปถวายสมเด็จพระราชชนนีทำการกุศล และเจ้าหน้าที่ของการรถไฟก็ได้ยึดถือเอาส่งมายังเจ้าหน้าที่ของการรถไฟอย่างเงินของการรถไฟ แล้วจำเลยได้ยักยอก กรณีที่ฟ้องเรียกชื่อเงินผิดพลาด เพียงเท่านี้ ไม่ถือว่าได้ความแตกต่างจากฟ้อง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2163 ถึง 2174/2525 เมื่อจำเลยกระทำผิดหลายกรรม ศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ป.อ.ม.147 เป็นบทบัญญัติที่เอาผิดแก่เจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานที่เบียดบังเอาทรัพย์ที่ตนได้มา หรือถือไว้เพื่อจัดการตามหน้าที่ โดยไม่จำกัดว่าทรัพย์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของทางราชการหรือของรัฐ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3224, 3225/2527 การที่จำเลยปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ก็โดยมีเจตนาที่จะใช้เป็นหลักฐาน ในการเบียดบังยักยอกเงินค่าธรรมเนียม การกระทำของจำเลย จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. ม.147 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำเลยมีหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนสิทธิ เก็บเงินค่าธรรมเนียม จำเลยรับเงิน แล้วไม่รวบรวมส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่การเงิน ผิดตาม ป.อ. ม.147 ซึ่งเอาผิดแก่เจ้าพนักงานที่เบียดบังเอาทรัพย์ที่ตนได้มา หรือถือไว้เพื่อจัดการตามหน้าที่ ไม่ใช่เอาผิดเฉพาะว่าทรัพย์นั้นจะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของทางราชการหรือของรัฐ

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 147

- (ขส เน 2513/ 3) สรรพากร เก็บเงินค่าธรรมเนียม รับเงินและเขียนต้นขั้วถูกต้อง มอบปลายขั้วให้ผู้เสียค่าธรรมเนียม แล้วแก้ต้นขั้วจาก 1000 เป็น 100 ลงชื่อกำกับ และเอาเงินไป 900 ผิด มาตรา 161 เพราะหมดอำนาจแก้ไขแล้ว และน่าจะเกิดความเสียหายแก่ราชการ และผิด ม 147 (ผิด มาตรา 157 ด้วย แต่ไม่ต้องปรับบท มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไป)

- (ขส อ 2529/ 2) เสมียนฝ่ายปกครอง มีหน้าที่ "รับเงิน" แล้วส่งสมุห์ออกใบเสร็จ แอบปลอมใบเสร็จ แล้วรับเช็คค่าภาษีไว้เอง ผิด มาตรา 265+268 889/2492 ไม่ผิด มาตรา 161 เพราะไม่มีหน้าที่ออกใบเสร็จ / มีหน้าที่รับเงิน เอาเงินผิด มาตรา 147 / เอาเช็คไปรับเงิน ผิด มาตรา 188 200/2528


มาตรา 148 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต

- มาตรา 149 เจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ

- เจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ต้องเป็นเจ้าพนักงาน มีอำนาจหน้าที่ ในการตำแหน่งนั้น และได้ใช้อำนาจในตำแหน่งนั้นโดยมิชอบ ไม่รวมถึงกรณีเป็นเจ้าพนักงาน แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้นโดยตรง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1142/2482 (เน 51/12/5) เจ้าพนักงานสรรพสามิตร ไม่มีหน้าที่จับผู้ต้องหาในความผิดเกี่ยวกับการพนันและอาวุธปืน แม้ได้กระทำการโดยไม่ชอบ ให้ผู้ต้องหานำทรัพย์สินมาให้ ก็ไม่ผิด มาตรา 148 (แต่อาจผิด มาตรา 337)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 692-693/2502 กล่าวฟ้องใจความว่า จำเลยบังคับให้ผู้เสียหายสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้ มิฉะนั้น จะดำเนินการฟ้องร้องให้ได้รับโทษ เช่นนี้อาจเป็นผิดฐานกรรโชกตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 303 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 หรือไม่ก็ได้ แล้วแต่พฤติการณ์ของรูปคดี ถ้าข้อเท็จจริงเป็นเรื่องจำเลยพูดไกล่เกลี่ยก็ไม่ผิดฐานกรรโชก แต่ถ้าพ้นเขตของการไกล่เกลี่ยโดยเป็นไปในทางบังคับให้เขาสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้ ถ้าไม่ส่งจะดำเนินคดีเช่นนี้ เป็นการขู่เข็ญขืนใจโดยชัด ย่อมเป็นผิดฐานกรรโชก แม้ว่าจำเลยมีสิทธิตามกฎหมายในการจะฟ้องเรียกเงินจากผู้เสียหายก็ตาม หรือแม้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จับกุมฟ้องร้องดำเนินคดี และจำเลยบังคับผู้เสียหายเช่นกล่าวข้างต้นจนพ้นเขตของการไกล่เกลี่ย และการที่ผู้เสียหายต้องสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ก็เพื่อมิให้ถูกดำเนินคดีฟ้องร้อง เพราะถูกขู่เข็ญขืนใจก็เป็นผิดฐานกรรโชกด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1230/2510 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นตำรวจประจำสถานีทุ่งวัง อำเภอเมืองสงขลา จำเลยที่ 2 เป็นผู้คุมเรือนจำ ประจำเรือนจำเขตสงขลา ได้ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้ผู้อื่นมอบเงินให้ อันเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148,157,337 และ 83 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดจริง ก็ลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น เพราะแม้จำเลยที่ 2 เป็นพลตำรวจ แต่โจทก์ก็มิได้ระบุในฟ้องว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ตำรวจผู้มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดโดยทั่วๆ ไป / ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองได้ไปตรวจค้นบ้านผู้เสียหายแล้วเรียกเอาเงินจริง พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 เป็นตำรวจประจำการจึงมีความผิดฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ และผิดฐานกรรโชก ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้คุมเรือนจำ ไม่มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด โดยทั่วไป จึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ประกอบด้วยมาตรา 86 มาตรา 337, 83 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน / ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองได้ทำผิดดุจดังความเห็นของศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบเช่นเดียวกับโทษของจำเลยที่ 1 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 337, 83 ให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามมาตรา 148 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองไว้คนละ 5 ปี / ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาว่าจำเลยกับพวกได้ร่วมกันกระทำความผิด ชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 83 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งหน้าที่ตามฟ้องโจทก์ว่าเป็นผู้คุมชั้นสองประจำเรือนจำเขตสงขลา โจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยจึงเป็นตำแหน่งหน้าที่ทางกรมราชทัณฑ์ มิใช่ตำรวจผู้มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดโดยทั่ว ๆ ไป การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่การใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ หากเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือและให้ความสะดวก แก่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจกระทำความผิดเท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 86 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 86 มาตรา 337, 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 148, 86 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

- มาตรา 149 กรณีไม่ถึงขั้นเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 173/2510 เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ถูกผู้เสียหายยิง แล้วได้ไปแจ้งความต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนัน การที่จำเลยที่ 2 เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อตกลงเลิกคดีกัน และจำเลยที่ 1 ก็ได้พูดกับผู้เสียหายเป็นทำนองไกล่เกลี่ย ให้เลิกแล้วต่อกันนั้น ดังนี้จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 148 ,337

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2570/2515 จำเลยเป็นผู้บังคับกองสถานีตำรวจ เป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ยึดแร่กับหนังสือกำกับนำแร่เคลื่อนที่ของบริษัทเหมืองแร่ แล้วข่มขืนใจให้ผู้จัดการเหมืองมอบเงินให้จำเลย เป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 148 เท่านั้น จำเลยไม่มีหน้าที่จับแร่ที่มีผู้ขนมาโดยชอบ การที่จำเลยจับแร่ จึงไม่ใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ หากแต่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบที่จำเลยมีอยู่ในการจับ กรณีไม่ต้องด้วยองค์ประกอบอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 157 ด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1673/2522 สมุห์บัญชีและพนักงานเทศบาลผู้มีหน้าที่ตรวจ และควบคุมงานจ้างหักเงินที่จ่ายแก่ผู้รับเหมาไว้ร้อยละ 10 แบ่งกัน เป็นความผิดตาม ป.อ.ม.149 / ประกาศคณะปฏิวัติเป็นกฎหมาย ผู้ได้รับอำนาจสอบสวนตามประกาศ ทำการสอบสวนแล้ว อัยการฟ้องได้

- คำพิพากษาฎีกาที่2120/2523 ตาม ป.อ. มาตรา 148 ต้องเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจใจตำแหน่งโดยมิชอบ ม.157 ต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้นั้นโดยตรง จำเลยไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับคดีที่จำเลยเรียกและรับเงิน จึงเป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่ ไม่เป็นผิดตาม มาตรา 148, 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2213/2526 เจ้าพนักงานผิด ม 148 , 157 เมื่อลงโทษบทเฉพาะอันเป็นบทหนักแล้ว ไม่ต้องลงโทษบททั่วไป ตาม ม 157 อีก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2084-85/2526 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา148, 157 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม มาตรา 149 และมาตรา 157 แม้จะลงโทษจำเลยตามมาตรา 149 ไม่ได้ เพราะฟ้องโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะมาด้วย ศาลก็ลงโทษจำเลยตามมาตรา157 ซึ่งเป็นบททั่วไปได้เพราะเป็นบทมาตราที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3861/2528 มีผู้ไปแจ้งว่าผู้เสียหายลักโค สารวัตรใหญ่ให้จำเลยซึ่งเป็นตำรวจไปจับผู้เสียหาย ผู้เสียหายว่าซื้อมา เอาสัญญาซื้อขายให้ดูจำเลยไม่ยอมดู พูดว่าโคอยู่ที่ใครก็จับคนนั้น ถ้าไม่ให้จับ ต้องเอาเงินมาให้ ผู้เสียหายกลัวจึงมอบเงินให้จำเลยไป ดังนี้ เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจให้ผู้เสียหายยอมมอบให้ ซึ่งทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะจับกุมผู้เสียหายฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจร อันไม่เป็นความจริง และผู้เสียหายเกรงกลัวยอมมอบทรัพย์ให้จำเลย ตามที่เรียกร้อง จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. ม.148 ,337 ลงโทษตาม ม.148 อันเป็นบทหนัก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3679/2529 นายตรวจสรรพสามิต ไปตรวจที่ร้านค้าของผู้เสียหายเวลา 17.00 น. และเรียกผู้เสียหายไปบอกว่าสุราของผู้เสียหายไม่ค่อยดี ซึ่งหมายความว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และจะจับสุราไปนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อเรียกร้องให้ผู้เสียหายจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทน เพื่อจะไม่จับ ทั้งที่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายทำผิดกฎหมายอย่างไร จึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. ม.148 ส่วนจำเลยอื่นซึ่งมิได้เป็นเจ้าพนักงาน เป็นเพียงพนักงานของบริษัทสุรา แต่ได้ร่วมในการกระทำดังกล่าว มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน อันเป็นความผิดตาม ม.148ประกอบด้วย ม.86 การที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้าสุราให้เงินแก่พวกจำเลย ก็ด้วยความกลัวที่เกิดจากการถูกพวกจำเลยขู่เข็ญว่าจะจับสุรา จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. ม.337 ด้วย ต้องลงโทษตาม ม. 148 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1085/2536 องค์ประกอบความผิดของ มาตรา 148 ในส่วนของการกระทำ ได้แก่ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจผู้อื่น ผู้กระทำเป็นเจ้าพนักงาน มีเจตนาพิเศษเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น อันมีความหมายว่าการใช้อำนาจต้องใช้ในตำแหน่ง ถ้าใช้นอกตำแหน่งก็ไม่เป็นความผิด เมื่อได้มีการใช้อำนาจในตำแหน่งแล้ว แต่เป็นการใช้โดยมิชอบจึงเป็นความผิดตามมาตรานี้ / จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายได้ทั่วราชอาณาจักร ได้ใช้อำนาจในตำแหน่ง แกล้งกล่าวหาว่าผู้เสียหายกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ แต่ความจริงผู้เสียหายมิได้กระทำผิดต่อกฎหมายดังกล่าว การที่จำเลยกล่าวหาผู้เสียหายเช่นนั้น ก็มิให้ผู้เสียหายขัดขวางในการที่จำเลยกับพวกยึดเอาเลื่อยยนต์ของผู้เสียหายไป ถือว่าเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมมอบเลื่อยยนต์ อันเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายให้แก่จำเลยกับพวกนั่นเอง จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3309/2541 คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจให้แสดงตน เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ไปเรียกเก็บเงินจากบรรดาคนขับรถยนต์บรรทุกที่แล่นผ่านไปมาไม่เลือกว่าคนขับรถนั้นจะได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 เข้าไปพูดกับคนขับรถว่า "ตามธรรมเนียม" คนขับรถนั้นแม้มิได้กระทำความผิดก็ต้องจำใจจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ด้วยความเกรงกลัวต่ออำนาจในการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวเป็นการร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้คนขับรถยนต์บรรทุกมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แล้วและหากรถยนต์บรรทุกคันใดมีการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย ถ้าจำเลยที่ 1 เรียกเอาเงินจากคนขับรถได้แล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะไม่ทำการจับกุมการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4 ดังกล่าวย่อมเป็นการร่วมกันเรียกและรับเงินจากคนขับรถยนต์บรรทุกสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการในตำแหน่งคือ ไม่จับกุมตามหน้าที่ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แต่คืนเกิดเหตุมีการเรียกเก็บเงินหลายครั้งหลายหน จากบรรดาคนขับรถหลาย ๆ คนดังนี้ เมื่อโจทก์รวมการกระทำเหล่านี้ไว้ในฟ้องข้อเดียวกันโดยถือเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท คือผิดทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และ 149 จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ ซึ่งแต่ละบทมาตรามีโทษเท่ากัน และเมื่อผิดตามบทเฉพาะเช่นนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก

- มาตรา 149 ประเด็นความผิดสำเร็จ

- เจ้าพนักงาน พูดขู่ให้จ่ายเงิน ผิด 148 แม้ผู้ถูกขู่ไม่ยอมให้เงิน ก็ผิดสำเร็จ (ขส เน อาญา/2538/3)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 798/2502 จำเลยเป็นพลตำรวจประจำสถานีตำรวจ มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดเพื่อส่งเจ้าพนักงานดำเนินคดี จำเลยได้แกล้งจับกุมผู้เสียหายหาว่าเล่นการพนันไม่รับอนุญาต และบังคับให้ขึ้นรถรับจ้างไปกับจำเลย ในระหว่างทางจำเลยได้พูดข่มขืนใจผู้เสียหายเพื่อให้มอบเงินให้แก่จำเลย ถ้าไม่ให้เงินจำเลยจะเอาตัวส่งสถานีตำรวจ แล้วจำเลยได้ค้นลักเงินของผู้เสียหายไป 120 บาท ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดกฎหมายหลายบท คือ มาตรา 148, 310, 334 ประมวลกฎหมายอาญา / การข่มขืนใจเพียงเพื่อให้มอบให้ แม้แต่ยังมิได้มอบทรัพย์สินให้แก่กัน ก็เป็นความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แล้ว / จำเลยเป็นพลตำรวจพูดว่า ถ้าผู้เสียหายไม่มอบเงินให้จำเลย จำเลยจะเอาตัวส่งสถานีตำรวจในข้อหาฐานเล่นการพนันไม่ได้รับอนุญาต เพียงเท่านี้ก็ไม่ใช่เป็นการขู่เข็ญที่จะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม มาตรา 339 (ฎีกานี้วินิจฉัยพลาดตรงที่ จับชอบแล้ว เนื่องจากเป็นผู้กระทำผิด แต่เรียกเงิน ต้องใช้ มาตรา 149 (เน 51/12/47))

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1389/2506 จำเลยเป็นตำรวจประจำอยู่ในกรุงเทพฯ พากันไปแกล้งจับผู้เสียหายที่จังหวัดนครนายกหาว่าเล่นสลากกินรวบ ขอค้นบ้าน แล้วงัดลิ้นชักโต๊ะหยิบเอาเงินและปืนไปเพื่อประโยชน์แก่ตน ดังนี้เป็นความผิดตาม มาตรา 148 แล้ว แม้จำเลยจะหยิบเอาเงินและปืนนั้นไปเองก็ดี แต่เมื่อเป็นเพราะเหตุที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ผู้เสียหายจึงไม่กล้าแย่งคืน หรือเพราะผู้เสียหายอาจจะเข้าใจว่าจำเลยเอาไปเป็นวัตถุพยาน ดังนั้นจึงถือได้ว่าผู้เสียหายได้มอบให้แก่จำเลยตามความหมายของมาตรานี้แล้ว และเมื่อจำเลยมีความผิดตามมาตรา 148 แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงมาตรา 157 อันเป็นบทลงโทษทั่วไปซึ่งมีอัตราโทษน้อยกว่าอีก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2406-8/2519 (สบฎ เน 5051) ความผิดตาม มาตรา 148 เพียงแต่ผู้กระทำผิดมีเจตนาจะให้เขาส่งมอบทรัพย์สินให้ ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้ผู้ถูกข่มขืนใจจะไม่ยอมตามนั้นก็ตาม แม้ผู้ถูกเรียกไม่มีเงินให้ เป็นความผิดสำเร็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1663/2513 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร นัดให้ผู้เสียหายไปพบที่ที่ทำงาน เอาบัตรสนเท่ห์ให้ดู แล้วบอกว่าถ้าเจ้าที่มาตรวจภาษีจะเสียเงินเป็นหมื่น ถ้าจะไม่ให้เรื่องยุ่ง ก็เสียเงินสี่พันบาท ผู้เสียหายจึงต้องให้เงินจำเลยไปสองพันบาท ถือว่าจำเลยได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตาม มาตรา 148 แล้ว แม้ตามระเบียบ ก่อนออกตรวจสอบเกี่ยวกับภาษีอากร จำเลยต้องได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาก่อน และที่จำเลยไม่ได้พูดว่าจำเลยมีอำนาจตรวจภาษี ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ ทั้งมาตรานี้ มิใช่ว่าจะต้องมีการข่มขืนใจแต่ประการเดียวไม่ เพียงแต่มีการจูงใจให้เข้ามอบให้ หรือหามาให้ ก็เป็นความผิดแล้ว

- ประเด็นเรื่องเจ้าพนักงาน กระทำผิดร่วมกับบุคคลธรรมดา หรือเจ้าพนักงานอื่นซึ่งไม่มีหน้าที่ในเรื่องที่กระทำผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1245/2502 จำเลยที่ 1 เป็นพลตำรวจสมัครประจำกองตำรวจภูธร ลามากิจธุระ ไม่แต่งเครื่องแบบ แต่มีเข็มขัดตำรวจคาดอยู่ จำเลยที่ 1 บอกผู้เสียหาย ซึ่งจับปลาในลำน้ำชีอันเป็นที่สาธารณะในฤดูปลามีไข่ อันเป็นความผิดต่อกฎหมายว่าถ้าไม่ให้จับ ก็ให้ให้ปลาแก่จำเลยที่ 1 เสีย ผู้เสียหายกลัว จึงยอมให้ปลาแก่จำเลยที่ 1 เช่นนี้แม้ในทางปฏิบัติกรมตำรวจได้วางระเบียบไว้ว่า พลตำรวจภูธรประจำกองตำรวจภูธรจะสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตจังหวัดนั้น จะต้องมีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ชั้นผู้บังคับกองขึ้นไปก็ดี แต่เมื่อมีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยไว้ว่า พลตำรวจภูธรไปปรากฏตัว ณ ที่ใดแม้จะเป็นที่นอกเขตอำนาจของพลตำรวจผู้นั้น ถ้าปรากฏว่ามีผู้กระทำผิดซึ่งหน้าพลตำรวจภูธรผู้นั้นก็มีอำนาจจับได้ ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานผู้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจให้ผู้เสียหายมอบปลาให้เป็นประโยชน์แก่ตน / จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นครูประชาบาลมายังที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ 1 และในขณะที่จำเลยที่ 1 พูดกับผู้เสียหายว่า ถ้าจะไม่ให้จับ ก็ให้ปลาเสียนั้น จำเลยที่ 2 ก็ได้พูดกับผู้เสียหายต่อเนื่องกันไปว่า ทำผิดกฎหมายแล้ว เอาปลาให้ตำรวจเสีย จะได้ไม่ถูกจับ และในที่สุดเมื่อผู้เสียหายยอมให้ปลาแล้ว จำเลยที่ 1 หิ้วถังปลาไปจำเลยที่ 2 ก็เดินตามไปพร้อมๆ กันด้วยพฤติการณ์เช่นนี้ เข้าลักษณะที่ว่าเป็นการช่วยเหลือในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ในขณะกระทำความผิด อันเป็นลักษณะของผู้สนับสนุนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดแล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1230/2510 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นตำรวจประจำสถานีทุ่งวัง อำเภอเมืองสงขลา จำเลยที่ 2 เป็นผู้คุมเรือนจำ ประจำเรือนจำเขตสงขลา ได้ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้ผู้อื่นมอบเงินให้ อันเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148,157,337 และ 83 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดจริง ก็ลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น เพราะแม้จำเลยที่ 2 เป็นพลตำรวจ แต่โจทก์ก็มิได้ระบุในฟ้องว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ตำรวจผู้มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดโดยทั่วๆ ไป

- คำพิพากษาฎีกาที่ 657/2513 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทางอำเภอแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสำรวจที่ดิน ได้เรียกประชุมลูกบ้านให้มาแจ้งการสำรวจ และได้เรียกให้จำเลยอื่นอีก 4 คนซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรมาช่วยในการนี้ แล้วจำเลยทั้งหมดนี้ได้ร่วมกันเรียกร้องเอาเงินจากราษฎร อ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียม ถ้าไม่ให้ก็จะไม่รับแจ้ง ดังนี้จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ส่วนจำเลยนอกนั้นมีความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3431-3433/2526 จำเลยกับพวกไปที่บ้าน ว.อ้างว่าเป็นตำรวจ โดยจำเลยที่ 1 เป็นตำรวจพกปืน จำเลยที่ 2 ถือใบกระท่อมกล่าวหาว่า ว. มีพืชกระท่อม จะจับกุม หากไม่ต้องการถูกจับกุมให้เสียเงิน ว.ไม่มีพืชกระท่อมแต่กลัวการข่มขู่ จึงจ่ายเงินให้จำเลย แล้วจำเลยทั้งสองไปข่มขู่เรียกเอาเงินจาก ท. และ ส. ซึ่งอยู่ห่างบ้าน ว. 15 วา และ 1 เส้นตามลำดับ ดังนี้ แม้จะใช้วิธีการเดียวกัน แต่จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายต่างราย ต่างสถานที่ และต่างเวลากัน แสดงว่า จำเลยมีเจตนาแยกการกระทำของตน เป็นหลายกรรมต่างกัน ต้องถือว่ากระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรม / จำเลยที่ 2 แต่งกายธรรมดา สวมรองเท้าแตะและพูดว่าตนเคยเป็นเจ้าหน้าที่ มิได้แอบอ้างหรือแสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงาน จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ.ม.145 แต่มีความผิดตาม ม. 337 และ ม.148, 86 ลงโทษตาม ม.148 ,86

- เปรียบเทียบ ม 148 - 149 และ ม 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 154/2503 การกระทำที่จะเป็นผิดฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 นั้น จะต้องเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานใช้อำนาจโดยมิชอบและใช้อำนาจนั้น ข่มขืนใจให้เขามอบให้ หรือหาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิใช่เป็นเรื่องเรียก ฯลฯ ทรัพย์ เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งเป็นการตอบแทน เช่น แกล้งจับเขามาข่มขืนใจเรียกเอาเงินทอง โดยไม่ปรากฏว่าได้เกิดการกระทำผิดขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือแกล้งจับเขาโดยใช้อำนาจนอกเหนือตำแหน่ง บังคับให้เขาหาเงินให้ตนแล้วปล่อยตัวไป ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 148 / ถ้าบุคคลที่ถูกจับได้กระทำผิด เจ้าพนักงานได้จับกุมตามอำนาจหน้าที่แล้วเรียกหรือรับเงิน แล้วปล่อยตัวไป ดังนี้ถือว่าเจ้าพนักงานงดเว้นไม่กระทำการตามตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการมิชอบ ย่อมจะเป็นความผิดตามมาตรา 149

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1138/2505 เมื่อเจ้าพนักงานทำการจับกุมเขาโดยชอบแล้ว แต่กลับทุจริตเรียกและรับเงินแล้วปล่อยตัวไป ไม่ส่งตัวเพื่อดำเนินคดี ย่อมมีความผิดตาม มาตรา 149 แต่ไม่ผิดตามมาตรา 148 เพราะมาตรา 148 เป็นเรื่องเริ่มต้นด้วยการใช้อำนาจในตำแหน่ง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 638/2508 จำเลยเป็นปลัดอำเภอ ได้รับคำสั่งจากนายอำเภอโดยชอบให้จัดทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณสัตว์ให้ราษฎร ซึ่งก็ได้จัดทำให้โดยชอบด้วยตำแหน่งหน้าที่ แต่ทำชอบไม่ตลอดโดยในระหว่างนั้นได้เรียกเงินเกินอัตราที่กำหนดไว้ตามกฎหมายจากราษฎรที่นำโคกระบือมาทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณ เพื่อประโยชน์ตนเสียโดยไม่ปรากฏว่าได้ข่มขืนใจหรือจูงใจราษฎรเหล่านั้นแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นการเรียกเงินเพื่อกระทำการไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง เช่นนี้ ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 148 และมาตรา 149 แต่ผิดตามมาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1538/2511 ประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3 ออกตามความใน พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 2) ..2504 กำหนดไว้ว่า "ข้อ 6 กองปราบปรามมีเขตอำนาจการรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตามบทกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดคดีอาญาทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร" ย่อมหมายความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร แม้จะมีข้อบังคับกรมตำรวจกำหนดเขตอำนาจหน้าที่ของกองกำกับการแต่ละกองไว้ก็เป็นเพียงคำสั่งภายในเท่านั้น หากผู้บังคับบัญชาสั่งให้นายตำรวจคนใดไปสืบสวนสอบสวนนอกเขตที่กำหนดไว้นี้ นายตำรวจผู้นั้นย่อมมีอำนาจหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานโดยชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ทำการนอกเหนือจากเขตอำนาจหน้าที่ซึ่งแบ่งไว้ ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย / จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนความผิดอาญา ฉะนั้น การจับกุมผู้กระทำผิดในฐานเป็นเจ้ามือสลากกินรวบจึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยชอบ มิใช่การแกล้งกล่าวหา แต่เมื่อไปขู่เข็ญให้จ่ายเงินสินพนันสลากกินรวบแก่ผู้เล่นแล้ว ละเว้น ไม่จับกุมย่อมเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

- คำพิพากษาฎีกาที่ 720/2512 (สบฎ เน 2092) จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ขณะปฏิบัติหน้าที่เวรตำรวจจราจร ได้สั่งให้ผู้เสียหายซึ่งขับรถยนต์บรรทุกฝ่าฝืนกฎจราจรหยุดรถ เพื่อตรวจใบอนุญาตขับขี่ แล้วภายหลังเรียกเงินจากผู้เสียหายเช่นนี้ ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 148 เพราะมิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ แต่เป็นความผิดตามมาตรา 149 ฐานเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินโดยมิชอบ และฐานเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่ตามมาตรา 157 ด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องให้ลงโทษตามมาตรา 148 และ 157 แต่มิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 149 ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามมาตรา 157 ได้ / จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจราจรได้เรียกให้ผู้เสียหาย ซึ่งขับรถยนต์บรรทุกฝ่าฝืนกฎจราจรหยุดรถ เพื่อตรวจใบอนุญาตขับขี่และจับกุม อันเป็นการปฏิบัติในอำนาจหน้าที่ แต่ภายหลังได้เรียกเงินจากผู้เสียหายโดยมิชอบ ดังนี้ คงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินในอำนาจหน้าที่ โดยมิชอบตามมาตรา 149 และฐานเจ้าพนักงานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา 157 ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 337

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1450/2513 เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปในสำนักค้าประเวณีขณะค้าประเวณีอยู่ ประกาศตนเป็นตำรวจและจับหญิงนครโสเภณีไป แล้วมอบหญิงเหล่านั้นให้พวกของตนไปเสีย โดยไม่นำไปดำเนินคดีตามกฎหมาย ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการกรมตำรวจ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2906/2517 เมื่อตามพฤติการณ์ของจำเลย แสดงว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรก ที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด ข่มขืนใจให้โจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่จำเลย โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุม มิใช่ว่าจำเลยจับกุมโจทก์ร่วมโดยชอบด้วยอำนาจในตำแหน่ง แล้วเรียกเอาเงินเพื่อไม่ให้นำตัวโจทก์ร่วมไปส่งให้พนักงานสอบสวนตามหน้าที่ เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 148 หาใช่ความผิดตามมาตรา 149 ไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 119-120/2518 ล.เลขานุการแขวงมีหน้าที่ตรวจสอบภาษีบำรุงท้องที่ว่ารายการถูกต้องหรือไม่ พูดจูงใจให้ผู้เสียภาษี มอบเงินค่าภาษีให้เกินจำนวนที่ต้องเสียภาษี แล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสีย ล.ไม่มีหน้าที่รับเงิน ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 148 แต่เป็นความผิดตามมาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2645/2527 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนประจำอำเภอ เป็นผู้วางโครงการจัดสร้างทำนบฝายน้ำล้น จำเลยหลอกลวงเอาเงินราษฎรที่เข้าร่วมประชุม อ้างว่าเพื่อจะนำไปมอบให้ พ.เป็นค่าใช้จ่ายในการวิ่งเต้นขอจัดสรรเงิน และเอาเงินนั้นไว้เป็นของตน จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป...157 แต่มิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ แม้จะเป็นการจูงใจให้ราษฎรมอบเงิน ก็ไม่ผิดตาม ม.148 ความผิด ม.343 มิได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายเป็นเกณฑ์ การหลอกลวงเอาเงินจากราษฎรหลายคน ที่มาประชุมจัดสร้างทำนบฝายน้ำล้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการหลอกลวงประชาชนตาม ม.343

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3793/2530 (สบฎ เน 66) จำเลยเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งปลัดอำเภอ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินตามโครงการ กสช. ได้สั่งให้คณะกรรมการสภาตำบลแก้ไขหลักฐานการเบิกจ่ายเงินให้เกินความเป็นจริง แล้วจำเลยเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต ดังนี้ แสดงว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรก ที่จะกระทำการทุจริตโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตน มิใช่ว่าจำเลยกระทำโดยชอบด้วยอำนาจในตำแหน่ง แล้วกระทำการทุจริตในภายหลัง จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 เท่านั้น หาเป็นความผิดตามมาตรา 149 อีกด้วยไม่ / โจทก์ขอให้ลงโทษตาม ปอ มาตรา 147 แต่เมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยผิด มาตรา 148 เท่านั้น โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตาม ปวิอ ม 43

- คำพิพากษาฎีกาที่ 7499/2540 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวปฏิบัติราชการอยู่ในกรมคุมประพฤติและได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้เป็นพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ..2522 มีหน้าที่สืบเสาะและพินิจประวัติความประพฤติของจำเลยในคดีอาญา เพื่อรายงานศาลประกอบดุลพินิจในการลงโทษ จำเลยได้รับคำสั่งจากหัวหน้าสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลอาญากรุงเทพใต้ให้สืบเสาะความประพฤติของนายวรชาติ จิตต์พายัพ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาเรื่อง มียาเสพติดให้โทษ (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้ จำเลยได้ข่มขืนใจนางสาวนันทิรา บุญรัตน์ ผู้เสียหายซึ่งเป็นภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสของนายวรชาติโดยขู่เข็ญว่าหากผู้เสียหายไม่นำเงิน 10,000 บาท มาให้จำเลย จำเลยจะทำรายงานต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ว่า นายวรชาติเป็นผู้มีความประพฤติไม่ดีและจะต้องถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของนายวรชาติ และผู้เสียหาย จนผู้เสียหายยอมจ่ายเงินให้จำเลยตามที่ถูกข่มขืนใจและได้จ่ายเงิน 1,000 บาท ให้จำเลย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 337 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,000 บาท แก่ผู้เสียหาย / ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157 และ 337 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตาม มาตรา 148 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลย 5 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,000 บาท แก่ผู้เสียหาย / จำเลยอุทธรณ์ / ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 337 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิพากษายืน

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 148

- (ขส เน 2538/ 3) ...สมชาย ออกตรวจท้องที่ โดยนายสำลีติดตามไปด้วย แล้วช่วยกันพูดกันนายสุภาพว่า เป็นเจ้ามือหวยเถื่อน ให้เอาเงินใส่ซองมาให้บ้าง ถ้าไม่ให้ จะตามสารวัตรปกครองมาจับกุม นายสุภาพไม่ให้เงิน / ...สมชายและนายสำลี จึงไปแจ้งให้สารวัตรปกครอง ว่าพวกในตลอดเล่นการพนันสลากกินรวบ ปรากฏว่าไม่มีผู้เล่นกันการพนัน (...สมชายและนายสำลี ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่) / ...สมชาย เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิด เมื่อไม่ได้เงิน จึงแจ้งกว่าวหานายสุภาพ ถือว่ามีเจตนาจูงใจให้จ่ายเงินให้ โดยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ผิด ม 148 แม้ผู้ถูกขู่ไม่ยอมให้เงิน ก็ผิดสำเร็จ ฎ 2406-8/2519 , ฎ 1084/2536) (เพิ่ม ม 337+80+83 , 173+174+83) นายสำลี เป็นราษฎร แม้ร่วมในการพูดจูงใจให้จ่ายเงิน ก็ไม่อาจเป็นตัวการร่วมได้ คงเป็นความผิดฐานสนับสนุนตาม ม 86 จึงผิด ม 148 ประกอบ ม 86 ฎ 657/2513 (เพิ่ม ม 337+80+83 , 173+174+83 ฐานตัวการ เพราะไม่ใช่ความผิดที่อาศัยคุณสมบัติโดยเฉพาะ)

- (ขส อ 2529/ 6) ตำรวจและราษฎร ร่วมกันแกล้งจับ ชกหน้า ใช้ปืนตบปาก ยึดบัตรประชาชน เรียกเงิน คุมตัวไปบ้านเพื่อเอาเงิน / ราษฎรหลอกมารดาผู้ถูกจับ ว่าไปขับรถชน ให้จ่ายเงินเพื่อคดีจบ มารดาไม่เงินน้อย จึงไม่เอา / ตำรวจผิด ม 148 + 337 + 297 + 83 / ราษฎรผิด ม 148+86 - 337+297+83 / ราษฎรที่หลอก ผิด ม 341+80


ไม่มีความคิดเห็น: