ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๓๙ - ๕๘

ส่วนที่ 2  วิธีการเพื่อความปลอดภัย                                          มาตรา 39 - 50

มาตรา 39               วิธีการเพื่อความปลอดภัย มีดังนี้
(1)     กักกัน
(2)     ห้ามเข้าเขตกำหนด
(3)     เรียกประกันทัณฑ์บน
(4)     คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล
(5)     ห้ามการประกอบอาชีพบางอย่าง

มาตรา 40                กักกัน คือการควบคุมผู้กระทำความผิดติดนิสัยไว้ภายในเขตกำหนด เพื่อป้องกันการกระทำความผิด เพื่อดัดนิสัย และเพื่อฝึกหัดอาชีพ

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1688/2505 จำเลยเคยถูกศาลพิพากษา ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกฐานรับของโจร ครั้ง 2 ฐานลักทรัพย์พ้นโทษครั้งที่ 2 แล้ว ภายใน 10 ปี มาทำผิดฐานลักทรัพย์อีก และศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน แม้ความผิดครั้งแรกและครั้งที่ 2 จะต่างฐานกัน แต่ก็เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งอยู่ในประเภทเดียวกัน ตาม ม.41 (8) กักกันได้

มาตรา 41               ผู้ใดเคยถูกศาลพิพากษาให้กักกันมาแล้ว หรือเคยถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนมาแล้ว ไม่น้อยกว่าสองครั้ง ในความผิดดังต่อไปนี้ คือ
(1)     ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 209 ถึงมาตรา  216
(2)     ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 217 ถึงมาตรา 224
(3)     ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 240 ถึงมาตรา 246
(4)     ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 ถึงมาตรา 286
(5)     ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 288 ถึงมาตรา 290 มาตรา 292 ถึงมาตรา 294
(6)     ความผิดต่อร่างกาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 ถึงมาตรา 299
(7)     ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ถึงมาตรา 320
(8)     ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 340 มาตรา 354 และมาตรา 357
และภายในเวลาสิบปี นับแต่วันที่ผู้นั้นได้พ้นจากการกักกันหรือพ้นโทษแล้วแต่กรณี ผู้นั้นได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดในบรรดาที่ระบุไว้นั้นอีก จนศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนสำหรับการกระทำความผิดนั้น ศาลอาจถือว่า ผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย และจะพิพากษาให้กักกันมีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าสามปีและไม่เกินสิบปีก็ได้
ความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำ ในขณะที่มีอายุยังไม่เกินสิบเจ็ดปีนั้น มิให้ถือเป็นความผิดที่จะนำมาพิจารณากักกันตามมาตรานี้  

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 646/2506 คดีที่ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานบุกรุกและพยายามลักทรัพย์ แต่ให้ลงโทษฐานบุกรุกซึ่งเป็นบทหนักมาตราเดียว จะถือว่าเป็นการลงโทษฐานพยายามลักทรัพย์ควบไปด้วยไม่ได้ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 41 ที่จะกักกันจำเลยได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1141/2506 ศาลพิพากษาว่า จำเลยพยายามลักทรัพย์ ตาม มาตรา 335, 80 และบุกรุกตามมาตรา364,365 แต่ให้ลงโทษฐานบุกรุกตามมาตรา 364,365 อันเป็นบทหนัก จำคุก 6 เดือน กรณีไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 41 (8) แม้จำเลยจะเคยถูกศาลพิพากษาคดีถึงที่สุด ให้จำคุกฐานลักทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 6 เดือนมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ก็จะกักกันจำเลยมิได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1475/2508 การพยายามกระทำผิดตาม มาตรา 80 นั้นเป็นความผิดแล้ว เพียงแต่ต้องระวางโทษต่ำกว่าความผิดสำเร็จเท่านั้น ความผิดที่จำเลยกระทำในคดีนี้ ย่อมเป็นความผิดตาม มาตรา 41 (8) แล้ว ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัยและพิพากษาให้กักกันจำเลยได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 957/2509 จำเลยเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกฐานรับของโจร ครั้งที่สองฐานลักทรัพย์ เมื่อจำเลยพ้นโทษครั้งที่ 2 ไปแล้วภายในเวลา 10 ปี จำเลยกลับมากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จนศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือนอีก ความผิดของจำเลยเหล่านี้ ก็เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งอยู่ในประเภทเดียวกันกับที่ระบุไว้ในมาตรา 41 (8) ทั้งสิ้นจึงเข้าเกณฑ์ที่ศาลจะให้กักกันได้ / จำเลยทำการลักทรัพย์ 2 ราย ในเวลาห่างกันราว 1 เดือน ทั้งเป็นความผิดที่ประกอบด้วยลักษณะ ดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราของมาตรา 335 ตั้งแต่ 2 อนุมาตราขึ้นไป คือ (1) (7) (11) เห็นได้ชัดว่าเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย สมควรที่ให้กักกันจำเลย

มาตรา  42              ในการคำนวณระยะเวลากักกัน ให้นับวันที่ศาลพิพากษาเป็นวันเริ่มกักกัน แต่ถ้ายังมีโทษจำคุก หรือกักขังที่ผู้ต้องกักกันนั้นจะต้องรับอยู่ ก็ให้จำคุกหรือกักขังเสียก่อน และให้นับวันถัดจากวันที่พ้นโทษจำคุก หรือพ้นจากกักขังเป็นวันเริ่มกักกัน
ระยะเวลากักกัน และการปล่อยตัวผู้ถูกกักกัน ให้นำบทบัญญัติมาตรา 21 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 43                การฟ้องขอให้กักกันเป็นอำนาจของพนักงานอัยการโดยเฉพาะ และจะขอรวมกันไปในฟ้องคดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกัน หรือจะฟ้องภายหลังก็ได้
มาตรา 44                ห้ามเข้าเขตกำหนด คือการห้ามมิให้เข้าไปในท้องที่ หรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา
มาตรา 45                เมื่อศาลพิพากษาให้ลงโทษผู้ใด และศาลเห็นสมควรเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ไม่ว่าจะมีคำขอหรือไม่ ศาลอาจสั่งในคำพิพากษาว่า เมื่อผู้นั้นพ้นโทษตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามมิให้ผู้นั้นเข้าในเขตกำหนดเป็นเวลาไม่เกินห้าปี
มาตรา 46                ถ้าความปรากฏแก่ศาลตามข้อเสนอของพนักงานอัยการว่า ผู้ใดจะก่อเหตุร้าย ให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นก็ดี ในการพิจารณาคดีความผิดใด ถ้าศาลไม่ลงโทษผู้ถูกฟ้อง แต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ถูกฟ้องน่าจะก่อเหตุร้าย ให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นก็ดี ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งผู้นั้น ให้ทำทัณฑ์บน โดยกำหนดจำนวนเงินไม่เกินกว่าห้าพันบาท ว่าผู้นั้นจะไม่ก่อเหตุดังกล่าวแล้ว ตลอดเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่เกินสองปี และจะสั่งให้มีประกันด้วยหรือไม่ก็ได้
                                ถ้าผู้นั้นไม่ยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกันไม่ได้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งกักขังผู้นั้น จนกว่าจะทำทัณฑ์บน หรือหาประกันได้ แต่ไม่ให้กักขังเกินกว่าหกเดือน หรือจะสั่งห้ามผู้นั้นเข้าในเขตกำหนดตามมาตรา 45 ก็ได้
                                การกระทำของเด็กที่มีอายุยังไม่เกินสิบเจ็ดปีมิให้อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติตามมาตรานี้

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 46
-          (ขส อ 2536/ 1) 46 การเรียกประกันทัณฑ์บน มี 2 กรณี 1 การฟ้องและศาลไม่ลงโทษ และ 2 ผู้กระทำยังไม่ลงมือกระทำผิด แต่มีพฤติการณ์จะก่อภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ / ผู้ต้องหาชอบรีดไถ แต่ยังไม่ลงมือกระทำผิด อายุเกิน 17 ปี ให้ทำประกันได้

มาตรา 47               ถ้าผู้ทำทัณฑ์บนตามความในมาตรา 46 กระทำผิดทัณฑ์บน ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นชำระเงิน ไม่เกินจำนวนที่ได้กำหนดไว้ในทัณฑ์บน ถ้าผู้นั้นไม่ชำระให้นำบทบัญญัติในมาตรา 29 และมาตรา 30 มาใช้บังคับ
มาตรา 48                 ถ้าศาลเห็นว่า การปล่อยตัว ผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ซึ่งไม่ต้องรับโทษหรือได้รับการลดโทษตามมาตรา 65 จะเป็นการไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน ศาลจะสั่งให้ส่งไปคุมตัวไว้ในสถานพยาบาลก็ได้ และคำสั่งนี้ศาลจะเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้
มาตรา 49                ในกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก หรือพิพากษาว่ามีความผิดแต่รอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษบุคคลใด ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเสพย์สุราเป็นอาจิณ หรือการเป็นผู้ติดยาเสพย์ติดให้โทษ ศาลจะกำหนดในคำพิพากษาว่า บุคคลนั้นจะต้องไม่เสพย์สุรายาเสพย์ติดให้โทษ อย่างหนึ่งอย่างใด หรือทั้งสองอย่าง ภายในระยะเวลาไม่เกินสองปีนับแต่วันพ้นโทษ หรือวันปล่อยตัวเพราะรอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษก็ได้
                                ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวในวรรคแรก ไม่ปฏิบัติตามที่ศาลกำหนด ศาลจะสั่งให้ส่งไปคุมตัวไว้ในสถานพยาบาล เป็นเวลาไม่เกินสองปีก็ได้

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 59/2536 จำเลยเคยถูกจับกุมในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษมาก่อน แต่ไม่ปรากฏว่าในขณะกระทำผิดคดีนี้ จำเลยเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ จึงไม่อาจนำวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 49 มาใช้บังคับแก่จำเลยได้

มาตรา 50               เมื่อศาลพิพากษาให้ลงโทษผู้ใด ถ้าศาลเห็นว่าผู้นั้นกระทำความผิด โดยอาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ หรือเนื่องจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และเห็นว่าหากผู้นั้นประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นต่อไป อาจจะกระทำความผิดเช่นนั้นขึ้นอีก ศาลจะสั่งไว้ในคำพิพากษา ห้ามการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปี นับแต่วันพ้นโทษไปแล้วก็ได้



ส่วนที่ 3  วิธีเพิ่มโทษ ลดโทษ และรอการลงโทษ                           มาตรา 51 - 58

มาตรา 51                ในการเพิ่มโทษ มิให้เพิ่มขึ้นถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกเกินห้าสิบปี

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 427/2512 ตามมาตรา 51 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จะเพิ่มโทษจำเลยให้ต้องจำคุกเกินกว่า 20 ปีไม่ได้ แต่ถ้าศาลวางโทษจำคุก 20 ปี เพิ่มโทษขึ้นไปแล้ว ลดลงคงจำคุกไม่เกิน 20 ปีได้ / อัตราโทษสำหรับความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ที่จะพึงวางแก่จำเลยมีสถานเดียวคือประหารชีวิต แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ประกอบด้วยมาตรา 80 และมาตรา 52 (1) ให้จำคุก 16 ปี เห็นได้ว่าศาลอุทธรณ์ได้ลดมาตราส่วนโทษที่จะลงตามมาตรา 289 เสียหนึ่งในสาม ตามมาตรา 80 และ 52 (1) ให้แล้ว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2615/2531 กรณีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แม้ความผิดบางกระทงจะมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ศาลก็ต้องกำหนดโทษความผิดกระทงอื่นไว้ด้วย แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) การลงโทษจำคุก ตลอดชีวิตเพียงกระทงเดียว โดยไม่กำหนดโทษกระทงอื่นอีก หาชอบไม่

มาตรา 52               ในการลดโทษประหารชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลดมาตราส่วนโทษ หรือลดโทษที่จะลง ให้ลดดังต่อไปนี้
(1)     ถ้าจะลดหนึ่งในสาม ให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต
(2)     ถ้าจะลดกึ่งหนึ่ง ให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ยี่สิบห้าปี ถึงห้าสิบปี

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 91/2510 จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ฆ่าเจ้าพนักงานแต่จำเลยที่ 1 ไม่กระทำตามจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม มาตรา 289 ประกอบด้วยมาตรา 84 วรรค 2  ซึ่งจะต้องระวางโทษ 1 ใน 3 ของโทษประหารชีวิต จึงต้องนำ มาตรา 52 (1)  มาใช้เป็นหลักในการกำหนดโทษ กล่าวคือ ให้ลดโทษประหารชีวิตเสีย 1 ใน 3 ก่อน  คงเหลือโทษเพียง 2 ใน 3 โดยให้จำคุกขั้นต่ำ 16 ปี แล้วคำนวณเอาเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราโทษ 2 ใน 3 ผลลัพธ์ก็คือ ลงโทษจำเลยมีกำหนด 8 ปี
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 421/2516 โทษกึ่งหนึ่งของโทษประหารชีวิต คือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 12 ปีถึง 20 ปี แต่การลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษประหารชีวิตนั้น มิใช่ว่าจะลงโทษจำคุกต่ำกว่า 12 ปี ไม่ได้ การที่ศาลลงโทษจำคุก 10 ปี ก็เป็นการลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษประหารชีวิต

มาตรา 53                ในการลดโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลดมาตราส่วนโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นโทษจำคุกห้าสิบปี

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3611/2528 จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. ม.289 (4) ประกอบด้วย ม.84 วรรคสอง ซึ่งต้องระวางโทษเพียง 1 ใน 3 ของโทษที่กำหนดไว้นั้น ให้ลดโทษประหารชีวิต 1 ใน 3 เป็นจำคุกตลอดชีวิตตาม ม.52 (1) และให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตอันเป็นโทษ 2 ใน 3 ของโทษประหารชีวิต เป็นจำคุก 50 ปีตาม ม.53 ซึ่งต้องลงโทษเพียง 1 ใน 3 ของโทษประหารชีวิตคือกึ่งหนึ่งของโทษจำคุก 50 ปี จึงเป็นโทษจำคุก 25 ปี
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 763/2541 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต เมื่อเป็นพยายามกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วน เท่ากับลดมาตราส่วนโทษลงหนึ่งในสาม กรณีโทษจำคุกตลอดชีวิต จะต้องเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 53 เมื่อคำนวณแล้วเหลือโทษจำคุก 33 ปี 4 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษตาม มาตรา 78 ลดโทษที่จะลงให้อีกกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 16 ปี 8 เดือน อันเป็นโทษจำคุกในอัตราขั้นต่ำของกฎหมายแล้ว กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองนอกเหนือไปจากนี้

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 53
-          (ขส อ 2530/ 3) ความผิดต่างกรรม ตาม ม 91 ศาลลงกรรมแรกให้ประหาร และลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต จะเปลี่ยนเป็นจำคุก 50 ไม่ได้ ม 53 ให้เปลี่ยนเมื่อมีการลดโทษจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น โจทก์ต้องอุทธรณ์ให้ลงโทษใหม่ให้ถูกต้อง

มาตรา 54                ในการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้ศาลตั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเสียก่อน แล้วจึงเพิ่มหรือลด ถ้ามีทั้งการเพิ่มและการลดโทษที่จะลง ให้เพิ่มก่อนแล้วจึงลดจากผลที่เพิ่มแล้วนั้น ถ้าส่วนของการเพิ่มเท่ากับหรือมากกว่าส่วนของการลด และศาลเห็นสมควร จะไม่เพิ่มไม่ลดก็ได้

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 308/2506 ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 12 ปีฐานฆ่าผู้อื่นในระหว่างต้องโทษได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นซ้ำอีกนั้น ตามมาตรา 93 ย่อมเข้าเกณฑ์ที่จะต้องเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลังด้วย / โทษจำคุกตลอดชีวิตนั้น เมื่อมีกรณีเพิ่มโทษและลดโทษเสมอกันแล้ว ศาลย่อมไม่เพิ่มไม่ลดได้ตามมาตรา 54.
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 706/2526 โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตาม ม.92 มาด้วย เมื่อศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลย และ ม.54 ให้ศาลเพิ่มโทษก่อน แล้วจึงลดจากผลที่เพิ่มนั้นแล้ว เมื่อศาลเพิ่มโทษจำเลยมิได้ เพราะเป็นโทษประหารชีวิต จึงคงลดโทษให้จำเลยสถานเดียว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2408/2538 คำว่าส่วนของการเพิ่มและส่วนของการลดตาม ป.อ.มาตรา 54 มิได้หมายถึงจำนวนของโทษที่คิดคำนวณแล้ว แต่เป็นส่วนที่ยังไม่ได้คิดคำนวณ เมื่อส่วนของการเพิ่มตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97คือกึ่งหนึ่ง ส่วนของการลดตาม ป.อ. มาตรา 78 คือหนึ่งในสาม ส่วนของการเพิ่มจึงมากกว่าส่วนของการลด และศาลเห็นสมควรไม่เพิ่มไม่ลดก็ได้

มาตรา 55                ถ้าโทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับ มีกำหนดเวลาเพียงสามเดือนหรือน้อยกว่า ศาลจะกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลงอีกก็ได้ หรือถ้าโทษจำคุกที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับ มีกำหนดเวลาเพียงสามเดือนหรือน้อยกว่า และมีโทษปรับด้วย ศาลจะกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลง หรือจะยกโทษจำคุกเสีย คงให้ปรับแต่อย่างเดียวก็ได้
มาตรา 56                ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติ ปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้ว เห็นเป็นการสมควร ศาลจะพิพากษาว่า ผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ แล้วปล่อยตัวไป เพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัว ภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้
เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดนั้น ศาลอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อ ดังต่อไปนี้
(1)     ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควร ในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคม หรือสาธารณะประโยชน์ตามที่เจ้าพนักงาน และผู้กระทำความผิดเห็นสมควร
(2)     ให้ฝึกหัด หรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(3)     ให้ละเว้นการคบหาสมาคม หรือการประพฤติใด อันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก
(4)     ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(5)     เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำ หรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก
เงื่อนไขตามที่ศาลได้กำหนดตามความในวรรคก่อนนั้น ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลตามคำขอของผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้น พนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์ที่เกี่ยวแก่การควบคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดเสียก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขข้อใด ตามที่กล่าวในวรรคก่อนที่ศาลยังมิได้กำหนดไว้เพิ่มเติมขึ้นอีกก็ได้

-          เงื่อนไขการรอการลงโทษ ประเด็นเรื่องในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1238-1239/2518 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็น 2 สำนวนศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยสำนวนหนึ่ง 1 อีกสำนวนหนึ่ง 1 ปี 6 เดือนรวม 2 ปี 6 เดือน ศาลรอการลงโทษได้ คำว่า "ในคดีนั้น" ม.56 หมายถึงคดีแต่ละสำนวนเป็นรายคดี
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1989/2523 กระทำความผิดหลายกระทงในคดีเดียวกัน การรอการลงโทษต้องพิจารณาถึงโทษจำคุก ในความผิดแต่ละกระทง  ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 กระทง โทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 2 ปี ศาลรอการลงโทษได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3818/2533 โทษที่จะรอการลงโทษได้ ต้องเป็นโทษจำคุกเท่านั้น เมื่อได้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังไปแล้ว จึงจะรอการลงโทษไม่ได้

-          เงื่อนไขการรอการลงโทษ ประเด็นเรื่องไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4215/2533 จำเลยต้องคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีอื่น ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน แต่คดียังไม่ถึงที่สุด คำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงอาจถูกศาลสูงเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งผลสุดท้าย จำเลยอาจไม่ต้องรับโทษจึงจำคุก กรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลจึงมีอำนาจรอการลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ได้

-          เปรียบเทียบ แนวการใช้ดุลพินิจ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 832/2540 การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามเกิดจากความประมาท มิใช่เกิดจากการกระทำโดยเจตนาจึงมีเหตุอันควรได้รับความปรานี ประกอบกับขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอายุไม่เกิน 17 ปี ซึ่งความรู้ผิดชอบย่อมจะไม่สมบูรณ์เท่ากับผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว สำหรับจำเลยที่ 3 แม้จะมีอายุมากรู้ผิดชอบดีแล้ว แต่ก็เป็นการกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่2 อันเป็นเหตุในลักษณะคดีต้องยกประโยชน์ในส่วนนี้ให้แก่จำเลยที่ 3 ด้วย โทษที่จำเลยทั้งสามได้รับมีกำหนดเวลาไม่มากนัก หากรับโทษจำคุกไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำการอบรมให้กลับตัวเป็นคนดีได้ทัน ซ้ำยังอาจทำให้จดจำเอาตัวอย่างที่ไม่ดีจากผู้ต้องขังอื่นมาประพฤติปฏิบัติ อันอาจเป็นผลร้ายต่อสังคมไทยในภายหน้าได้ สมควรให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสามไว้ซึ่งน่าจะมีผลดีแก่สังคมโดยส่วนรวมมากกว่า
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1993/2540 การลงโทษจำคุกระยะสั้น นอกจากจะไม่เกิดผลในการแก้ไขให้จำเลยกลับตัวเป็นคนดีแล้ว ยังทำให้จำเลยกลายเป็นคนมีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วยากที่จะกลับตัวประกอบสัมมาอาชีพโดยสุจริตต่อไปได้ ย่อมส่งผลให้ครอบครัวหรือผู้อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของจำเลย พลอยได้รับความเดือดร้อนทุกข์ยากไปด้วย และความผิดที่จำเลยขับรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น ก็มิใช่อาชญากรรมที่เป็นความผิดร้ายแรงอีกจำเลยเพิ่งจะกระทำความผิดครั้งแรก การให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นคนดีโดยการรอการลงโทษและควบคุมความประพฤติไว้ เพื่อให้พนักงานคุมประพฤติคอยสอดส่องดูแล แนะนำช่วยเหลือหรือตักเตือนให้จำเลยได้แก้ไขฟื้นฟูตนเองเพื่อกลับตัวเป็นพลเมืองดีน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวมมากกว่า
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1665/2543 การที่จำเลยโกรธโจทก์ร่วมที่ไม่ยอมลงชื่อรับหนังสือจากจำเลย และด่าโจทก์ร่วมว่า "ไอ้ลูกหมา" พร้อมกับผลักโต๊ะใส่ แล้วเข้ากอดปล้ำต่อสู้กัน ถือว่าจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุกับสมัครใจทะเลาะวิวาท จึงไม่อาจอ้างว่ากระทำไปเพื่อป้องกัน เพราะการป้องกันโดยชอบตาม ป.อ. มาตรา 68 ต้องเป็นกรณีที่ผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียวก่อน จึงได้กระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง / ใบหูเป็นส่วนที่ประกอบรูปหน้าให้งาม การที่ใบหูขาดไปส่วนหนึ่งซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ย่อมทำให้รูปหน้าเสียความงามอันเป็นการเสียโฉมอย่างติดตัว แม้บาดแผลจะรักษาหายประมาณ 14 วันโจทก์ร่วมก็ได้รับอันตรายสาหัสแล้ว / จำเลยกับโจทก์ร่วมเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน มูลคดีนี้มาจากการบริหารงานบริษัทของพี่น้อง จำเลยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีอาชีพเป็นหลักฐานมั่นคง การลงโทษจำคุกจำเลยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรแก่สังคมส่วนรวม โดยเฉพาะความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง โจทก์ร่วมก็ไม่ได้โกรธแค้นจำเลยซึ่งเป็นน้อง จนไม่ยอมอภัย จึงสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยเพื่อให้โอกาสจำเลยได้ปรับเปลี่ยนนิสัยที่ยังอาจแก้ไขได้เสียใหม่

-          เปรียบเทียบ แนวการใช้ดุลพินิจ เรื่องขับรถขณะมึนเมา
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1030/2543 (สต 3/77) การเสพยาม้า ขณะขับ "รถบรรทุก" ไม่เคยทำผิดมาก่อน ไม่รอการลงโทษ / การเสพเมทแอมเฟตามีนในขณะขับรถเป็นความผิดร้ายแรง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลในวัยทำงานไปโดยใช่เหตุเป็นจำนวนมาก จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถยนต์บรรทุก แม้จำเลยจะไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว ยังไม่เพียงพอที่จะนำมารับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกจำเลย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1031/2543 (สต 3/79) การเสพยาม้า ขณะขับ "รถกระบะ" ไม่เคยทำผิดมาก่อน ควรรอการลงโทษ / แม้การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีน ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถ จะถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง แต่รถยนต์ที่จำเลยขับขณะถูกจับกุมดำเนินคดีนี้ เป็นเพียงรถยนต์กระบะมิใช่รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่หรือรถยนต์โดยสาร หากมีความเสียหายเกิดขึ้นโดยปกติย่อมรุนแรงน้อยกว่ารถยนต์ประเภทดังกล่าว ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงควรรอการลงโทษจำคุกจำเลย



มาตรา 57               เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคำแถลงของพนักงานอัยการ หรือเจ้าพนักงานว่า ผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังที่ศาลกำหนดตามมาตรา 56 ศาลอาจตักเตือนผู้กระทำความผิด หรือจะกำหนดการลงโทษที่ยังไม่ได้กำหนดหรือลงโทษซึ่งรอไว้นั้นก็ได้
มาตรา 58                เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคำแถลงของโจทก์ หรือเจ้าพนักงานว่า ภายในเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา 56 ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทำความผิด อันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ และศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดนั้น ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกำหนดโทษที่รอการกำหนดไว้ในคดีก่อน บวกเข้ากับโทษในคดีหลัง หรือบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน เข้ากับโทษในคดีหลัง แล้วแต่กรณี
แต่ถ้าภายในเวลาที่ศาลได้กำหนดตามมาตรา 56 ผู้นั้นมิได้กระทำความผิดดังกล่าวมาในวรรคแรก ให้ผู้นั้นพ้นจากการที่จะถูกกำหนดโทษ หรือถูกลงโทษในคดีนั้น แล้วแต่กรณี

-          เงื่อนไขการบวกโทษจำคุก คดีที่จะนำมาบวกโทษ กับคดีที่รอการลงโทษไว้ได้ ต้องเป็นการกระทำผิดในระหว่างที่รอการลงโทษไว้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1131/2501 ศาลพิพากษารอการลงโทษ ต่อมาจำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่เป็นความผิดที่จำเลยได้กระทำก่อนที่ศาลพิพากษารอการลงโทษ จะนำโทษที่รอไว้มาบวกด้วยไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3523/2545 คดีก่อนศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2543 ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 9 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี แต่คดีนี้จำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2543 อันเป็นเวลาก่อนที่ศาลในคดีก่อนจะพิพากษา แม้คดีนี้ศาลจะ พิพากษาลงโทษจำเลยถึงจำคุกก็ตาม ศาลในคดีนี้ก็ไม่มีอำนาจที่จะนำโทษจำคุกในคดี ก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ได้เพราะมิใช่เป็นการกระทำความผิด ภายในระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นำโทษจำคุกในคดี ก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้น วินิจฉัยเองได้

-          เงื่อนไขการบวกโทษจำคุก ศาลบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ได้ ข้อเท็จจริงต้องยุติว่า มีการรอการลงโทษจำเลยไว้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1770/2545 การที่จะนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวก เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ศาลพิพากษาในคดีหลังตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 นั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ความ ปรากฏแก่ศาลเองหรือความปรากฏตามคำแถลงของโจทก์หรือ เจ้าพนักงานก็ตาม จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยยอมรับหรือไม่คัดค้านในข้อที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ในคดีก่อนให้ลงโทษจำคุกและโทษจำคุกนั้นศาลให้รอการลงโทษ ไว้เสียก่อน ศาลจึงจะนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน มาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีหลังได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การว่า ขอให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกประการ อันเป็นเพียงการยอมรับ ว่ากระทำความผิดตามคำฟ้องเท่านั้นมิได้เป็นการยอมรับว่าเคยต้อง คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนที่โจทก์อ้างมาในคำฟ้อง ทั้งโจทก์ไม่สืบพยานให้ปรากฏความในเรื่องนี้ จึงไม่อาจฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกและโทษจำคุกนั้นศาลรอการลงโทษไว้ ที่ศาลล่างทั้งสองนำโทษจำคุก ที่รอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้เอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา

-          เงื่อนไขการบวกโทษจำคุก (ในคดีหลัง) ศาลพิพากษาให้ลงโทษ จำคุก สำหรับความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 120825/2509 ตามมาตรา 58 คำว่า "และศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิด" นั้น หมายความว่า จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจริง ๆ ศาลวางโทษจำคุก 3 เดือน แต่ได้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นให้ส่งไปฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง ไม่เรียกว่าให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดนั้น โจทก์จะขอให้ศาลกำหนดโทษที่รอไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ ย่อมไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1274/2519 จำเลยเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกฐานเล่นการพนัน โดยให้รอการลงโทษไว้ ระหว่างรอการลงโทษ จำเลยกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.การพนันอีก ดังนั้น เมื่อจำเลยยังไม่ได้รับโทษจำคุก โดยอยู่ระหว่างรอการลงโทษ ก็ไม่เรียกว่าจำเลยพ้นโทษไปแล้ว จึงเพิ่มโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. การพนันไม่ได้ และเมื่อคดีหลังศาลมิได้ลงโทษจำคุกจำเลย จึงเอาโทษจำคุกคดีมาก่อนมาบวกไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 613/2535 การที่ศาลจะบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน เข้ากับโทษในคดีหลังตาม ป.อ. มาตรา 58 ได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่ความผิดที่ถูกลงโทษในคดีหลังนี้ ได้กระทำภายหลังที่ศาลพิพากษาในคดีก่อน ถ้าได้กระทำความผิดไว้ก่อน แต่มาถูกศาลพิพากษาหลังที่รอการลงโทษไว้แล้ว ก็นำโทษที่รอไว้มาบวกเข้าไม่ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 9377/2539  โทษของความผิดในคดีหลังที่จะนำมาบวกกับโทษในคดีก่อนตาม ป.. มาตรา 58 วรรคแรก นั้น จะต้องเป็นโทษของการกระทำภายในระยะเวลาระหว่างรอการลงโทษตามคดีก่อน และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2742/2544 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย บวกโทษ จำคุกที่รอการลงโทษในคดีก่อนเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ แล้วเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง จึงเท่ากับความผิดในคดีนี้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลงโทษกักขังจำเลย มิได้พิพากษา ให้ลงโทษจำคุก กรณีจึงไม่อาจนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษ ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58

-          ศาลบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ได้ แม้ไม่มีโจทก์ไม่ได้ระบุในคำขอท้ายฟ้อง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 8567/2544 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจซึ่งศาลชั้นต้นได้อ่านให้จำเลยฟังตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา .. 2522 มาตรา 13 แล้ว จำเลยไม่คัดค้าน เป็นการยอมรับข้อเท็จจริง ตามรายงานนั้นว่าศาลจังหวัดพิษณุโลกมีคำพิพากษาให้จำคุก 6 เดือน โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ระหว่างรอการ ลงโทษจำคุกจำเลยได้มากระทำความผิดคดีนี้อีก ศาลที่พิพากษา ในคดีหลังต้องนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษ ในคดีหลัง แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและขอให้บวกโทษ ศาลอุทธรณ์จึงต้องนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้มาบวกเข้า กับโทษในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก ไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2143/2545 ตามคำแถลงการณ์ประกอบอุทธรณ์ของจำเลยรับว่า จำเลยเคยกระทำความผิด ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมาก่อน และศาลชั้นต้นได้พิพากษา ลงโทษจำคุก 1 ปี แต่ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษจำคุกให้มีกำหนด 2 ปี และจำเลยมา กระทำความผิดคดีนี้อีกภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษไว้ ฉะนั้น แม้โจทก์จะมิได้ บรรยายฟ้องและมิได้ขอให้บวกโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับคดีนี้มาในท้ายฟ้อง อีกทั้ง มิได้อุทธรณ์ขอให้บวกโทษก็ตาม ก็เป็นกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลเองตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก นอกจากนี้ คำว่า "ศาล" ตามมาตราดังกล่าว ก็หมายถึงทุกชั้นศาล หาได้มีความหมายเฉพาะศาลชั้นต้นที่มีอำนาจกำหนดโทษตาม ที่จำเลยฎีกาไม่ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์นำโทษจำคุก 1 ปี ที่รอการลงโทษไว้ในคดี ก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้จึงชอบแล้ว

-          คดีรอการลงโทษไว้ หลายคดี ศาลสามารถนำมาบวกได้ทุกคดี
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 8388/2544 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก มิได้มีข้อจำกัด ว่าจะต้องเป็นการบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเพียงคดีเดียว ดังนั้น ในกรณีที่มีการรอการลงโทษในคดีก่อนหลายคดี ศาลที่พิพากษา คดีหลังก็ย่อมมีอำนาจที่จะบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน ทุกคดีเข้ากับโทษในคดีหลังได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 7619/2546 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังบวกโทษ ที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังได้ โดยมิได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นโทษ ที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเพียงคดีเดียว ดังนั้น ในกรณีที่มีการรอการลงโทษในคดีก่อน หลายคดี ศาลที่พิพากษาคดีหลังก็มีอำนาจที่จะบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน ทุกคดีเข้ากับโทษในคดีหลังได้

-          การนับระยะเวลา ในกำหนดเวลารอการลงโทษ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1551/2546 การนับระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษให้แก่จำเลยจนถึงวันที่ จำเลยกระทำความผิดในคดีหลัง เพื่อนำโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับ โทษในคดีหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 หาใช่เป็นการติดต่อราชการตาม นัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/4 ไม่ การนับระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2542 จะต้องไปครบ 1 ปี ในวันที่ 20 มีนาคม 2543 เวลา 24 นาฬิกา อันเป็นการนับวันเวลาตามปกตินั่นเอง จำเลยกระทำผิดในวันที่ 20มีนาคม 2543 เวลา 19.45 นาฬิกา จึงบวกโทษจำคุกในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังได้

-          คำพิพากษาฎีกาที่ 601/2520 การเพิ่มโทษตาม พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 ม.14 ทวิ ต้องจำเลยพ้นโทษ ตาม “พ.ร.บ. การพนัน” แล้วไปกระทำผิด พ.ร.บ.การพนันขึ้นอีก ถ้ากระทำผิดระหว่างรอการลงโทษเดิม จะเพิ่มโทษ หรือเอาโทษจำคุกที่รอไว้ มาลงด้วยไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น: