มาตรา 340 ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกัน ตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน
ปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี
และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท
ถ้า "ในการปล้นทรัพย์" ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี
และปรับตั้งแต่สองหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท
ถ้าการปล้นทรัพย์
เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำโดยแสดงความทารุณ
จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิด
หรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการปล้นทรัพย์
เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต
-
การใช้กำลังประทุษร้าย และการขู่เข็ญ
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 988/14
น้องชายเจ้าทรัพย์นำโคกระบือของเจ้าทรัพย์ไปเลี้ยง
และมีคนอื่นอีกหลายคนเลี้ยงโคระบืออยู่ที่นั่นด้วย จำเลยกับพวกรวม 8 คนมาทักทายคนเลี้ยงโคกระบือ แล้วจำเลยกับพวกจูงโคของเจ้าทรัพย์ไป
1 ตัวและยิงปืนขึ้นฟ้า 2 นัด โดยไม่ได้หันมามองดูน้องชายเจ้าทรัพย์ซึ่งอยู่ห่างราว
20 วา เช่นนี้ ถือว่าจำเลยกับพวกมีเจตนายิงปืนขู่เข็ญพวกคนเลี้ยงโคกระบือ
ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น เพื่อเป็นความสะดวกแก่การที่จะพาโคไป
จำเลยจึงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1465/2519 จำเลยกับพวกอีก 2 คน ใช้เส้นลวดกลม ขึงกั้นสะพานบนถนน โดยใช้เส้นลวดผูกติดกับราวสะพานทั้งสองข้างเป็นแนวเฉียง
ดักรถที่ผ่านมาชนเพื่อเอาทรัพย์สิน ผู้เสียหายซึ่งมีเงินติดตัวมาด้วยกับพวก
ขับรถยนต์ผ่านมาพบจำเลยถือปลายลวดข้างหนึ่ง จึงจับตัวไว้
เป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด ผิด ม 340 + 80 และ ม 385
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3562/2537
จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ยานอนหลับผสมลงในเครื่องดื่มเบียร์ให้ผู้เสียหายดื่ม
จนไม่รู้สึกตัวหลับไป แล้วปลดเอาเครื่องประดับของผู้เสียหายไป
ดังนั้นจึงเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1543/2540 (สบฎ เน 37) ผู้เสียหายเข้าบาร์โชว์เปลือย
พนักงานเก็บเงินค่าเครื่องดื่มและบริการเป็นเงิน 8,600 บาท
ผู้เสียหายทั้งสองไม่ยอมรับว่ามีราคาตามที่เรียกเก็บ การที่พนักงานเก็บเงินได้ใช้แรงกายภาพ
และกระทำประทุษร้ายต่อผู้เสียหายเพื่อเก็บเงิน โดยทุจริต จนผู้เสียหายต้องยื่นเงินให้
เป็นการชิงทรัพย์ โดยร่วมกันตั้งแต่สามคน จึงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 248/2543 โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยทั้งสองกับพวก ร่วมกันปล้นทรัพย์ใช้กำลังประทุษร้าย โดยใช้ยาไดอาซีแพม
ปลอมปนใส่ในเครื่องดื่มนมเปรี้ยวให้ผู้เสียหายดื่ม เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหมดสติ
อยู่ในภาวะขัดขืนไม่ได้ แล้วเอาสร้อยพลอย 91 เส้น ของผู้เสียหายไป /
แต่หลังเกิดเหตุได้ตรวจปัสสาวะของผู้เสียหายไม่พบยานอนหลับ
ซึ่งเป็นยาระงับประสาทกลุ่มเบนโซไดอะซีฟิน
แสดงว่าขณะเกิดเหตุบุคคลทั้งสองมิได้ดื่มนมที่มียาไดอาซีแพมปลอมปน
ประกอบกับโจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริง
พยานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์
-
ขาดเจตนาทุจริต
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2753/2539
จำเลยกับพวกขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทาง บังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายถอดเสื้อฝึกงานและแหวนรุ่นทำด้วยเงินซึ่งมีราคาเล็กน้อย
จำเลยกับพวกกระทำไปเป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ด้วยความคะนอง
เพื่อให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักศึกษาต่างสถาบัน
ที่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับสถาบันของจำเลยเห็นว่า เป็นคนเก่ง พอที่จะรังแกคนได้
ตามวิสัยวัยรุ่นที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อยเท่านั้น
มิใช่มุ่งหมายเพื่อจะได้ประโยชน์จากทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์
แต่เป็นความผิดต่อเสรีภาพตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามที่โจทก์ฟ้อง
จึงต้องลงโทษตามที่พิจารณาได้ความ ส่วนเสื้อฝึกงานและแหวนเงินจำเลยไม่มีสิทธิยึดถือไว้
ต้องคืนแก่ผู้เสียหาย หลังจากให้ถอดเสื้อฝึกงานและแหวนเงิน
แล้วกลุ่มเพื่อนของจำเลย 3 คน ได้ชกต่อยผู้เสียหาย
จากนั้นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะห่าง 1 ฟุต
แต่ผู้เสียหายยกขาและแขนขึ้นปิดป้องไว้ และกระสุนปืนถูกกระดุมเสื้อซึ่งเป็นแผ่นเหล็ก
เป็นเหตุให้ไม่ถูกอวัยวะส่วนสำคัญ ถือได้ว่าจำเลยใช้ปืนยิงโดยมีเจตนาฆ่า
แต่การกระทำไม่บรรลุผล จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 และมาตรา 371
-
กรณีชิงทรัพย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคน
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 465/2513 คนร้ายมาด้วยกัน 3 คน
ร่วมกันกระตุกท้ายรถจักรยานที่ผู้เสียหายกำลังขี่ล้มลง
แล้วคนร้ายคนหนึ่งก็ขี่จักรยานคันนั้นไป อีก 2
คนใช้มีดเข้าจี้และขู่ไม่ให้ผู้เสียหายร้องกับให้ถอดสร้อยคอให้
ถือว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันกระทำความผิด ครบองค์ความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 555/2513 จำเลย 3
คนร่วมกันลักไก่ของผู้เสียหายไปจากบ้านผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายกับพวกตามไปทัน
ห่างจากบ้านผู้เสียหายราว 3 - 4 เส้น จำเลยคนหนึ่งชักมีดออกมาขู่ไม่ให้ตาม
การกระทำของจำเลยทั้งสามเข้าเกณฑ์ปล้นทรัพย์
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1919/2514 คนร้าย 7 คนได้ร่วมกันมา
แล้วแยกย้ายเข้าทำการปล้นเจ้าทรัพย์ 5 ราย
ซึ่งอยู่บ้านใกล้เคียงกันโดยปล้นในเวลาเดียวกันและใกล้เคียงกัน
แม้คนร้ายจะแยกกันเข้าทำการ แต่ละบ้านมีจำนวนไม่ถึง 3 คน ก็ต้องถือว่าคนร้ายทุกคน
มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 375/2533 จำเลยที่ 1 กับพวกอีก 2 คน เข้าไปในบ้าน
และพยายามลักทรัพย์ของผู้เสียหาย
แล้วพวกของจำเลยดังกล่าวได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย
จนได้รับอันตรายแก่กาย
เพื่อสะดวกในการลักทรัพย์ หรือพาทรัพย์ไป การที่พวกของจำเลยที่ 1
ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายดังกล่าว จึงมิได้นอกเหนือความมุ่งหมาย
หรือเจตนาของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นความผิดตาม มาตรา 340 วรรคแรก 80
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 49/2538
โจทก์มีพยานเบิกความประกอบกันยืนยันว่าจำเลยที่ 4
ขับรถยนต์กระบะติดตามรถยนต์บรรทุกกุ้งตั้งต้นจนถึงปลายทางและในชั้นสอบสวนจำเลยที่
4 ให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมวางแผนปล้นทรัพย์โดยจำเลยที่ 4
ทำหน้าที่ขับรถยนต์กระบะดูเส้นทางและรถยนต์บรรทุกกุ้งคันที่ทำการปล้น อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ
จึงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 4 ได้ร่วมกระทำความผิด
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 8098/2540 จำเลยกับคนร้ายอีก 2 คน ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ
ทำการปล้นสร้อยข้อมือทองคำของผู้เสียหาย
เมื่อคนร้ายคนหนึ่งปลดสร้อยข้อมือออกไปจากข้อมือของผู้เสียหายไปได้นั้น ทรัพย์นั้นจึงขาดจากการครอบครองของผู้เสียหาย
แต่อยู่ในมือคนร้ายคนนั้น พร้อมที่จะนำไปได้
ย่อมเป็นการเคลื่อนที่ไปจากแหล่งที่ทรัพย์นั้น ติดตรึงอยู่ตามปกติ
ไปอยู่ในความครอบครองของคนร้าย เป็นการเอาไปโดยสมบูรณ์
เป็นการปล้นทรัพย์สำเร็จ แม้ผู้เสียหายแย่งคืนมาในทันที
ก็เป็นกรณีเกิดขึ้นหลังจากการเอาทรัพย์นั้นไปแล้ว
ย่อมไม่ทำให้การเอาทรัพย์ไปซึ่งสมบูรณ์แล้ว กลับเป็นว่าไม่สมบูรณ์ไปได้
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 8722/2548
(หนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา เนติบัณฑิตยสภา ตอนที่ 9 หน้า 1858 อาญา
ปล้นทรัพย์ มาตรา 340) ผู้เสียหายขับรถยนต์รับจ้างสาธารณะ จำเลยกับพวกอีก ๒ คน
ว่าจ้างให้ขับไปส่งบริเวณเกษตร เมื่อไปถึงจำเลยกับพวกให้ผู้เสียหายหยุดรถ จำเลยกับพวกลงจากรถโดยไม่ชำระค่าโดยสาร
อ้างว่าผู้เสียหายโกงมิเตอร์ ผู้เสียหายจึงลงจากรถและตามจำเลยกับพวกไปเพื่อทวงค่าโดยสาร
จำเลยหักกลับมาซักมีดปลายแหลมยาวประมาณ 5 นิ้ว ออกมาจี้หลังผู้เสียหายบังคับให้ผู้เสียหายเดินเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุ
แล้วให้ผู้เสียหายนั่งอยู่ภายในห้องในบ้าน จำเลยกับพวกเตะผู้เสียหายคนละ 1 ครั้ง กล่าวหาว่าผู้เสียหายเป็นสายลับให้เจ้าพนักงานตำรวจ
และพูดข่มขู่ให้ผู้เสียหายเสพเมทแอมเฟตามีนจากนั้นบังคับให้ผู้เสียหายนั่งในลักษณะคู้ตัวไปข้างหน้า
ขาเหยียดตรง แล้วจึงเอานาฬิกาข้อมือและเงินสด 880 บาท ไปจากผู้เสียหาย ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ถือได้ว่าจำเลยกับพวกเอาทรัพย์ไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย
จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 เมื่อจำเลยร่วมกระทำความผิดกับพวกอีก
2 คน โดยมีมีดเป็นอาวุธ จึงเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธติดตัวไปด้วยตามมาตรา
340 วรรคสอง
-
กรณีไม่ใช่การชิงทรัพย์โดยร่วมกัน
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1261/2513 จำเลย 2 คน กับพวกอีก
3 คนพบผู้ตายกับลูกจ้างขนบุหรี่เดินทางมา ได้พากันไปพูดจาซื้อขายบุหรี่
แล้วพวกของจำเลยคนหนึ่งได้ยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย
จากนั้นจำเลยก็ร่วมกับพวกลักเอาบุหรี่ของผู้ตายไป เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยรู้เห็นเป็นใจ
หรือร่วมด้วยในการที่พวกของจำเลยยิงผู้ตาย จำเลยไม่ผิดฐานปล้นทรัพย์
คงผิดฐานลักทรัพย์ตาม มาตรา 335 (7) เท่านั้น
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1683/2513 จำเลยกับพวกอีก 3
คนมีเจตนาร่วมกันลักโคของผู้เสียหาย เมื่อลักโคได้แล้วก็รีบพาหนีไป ผู้เสียหายกับพวกไล่ติดตามไปทัน
คนร้ายอีก 3 คนหลบหนีไปได้ เหลือแต่จำเลยแต่ผู้เดียว ถูกผู้เสียหายกับพวกล้อมจับ
จำเลยยิงปืนต่อสู้ขัดขวาง มิให้ถูกการจับกุม
และใช้ปืนตีผู้เสียหายจนถูกจับกุมไว้ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเฉพาะตัว
จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ คนร้ายอีก 3 คน ได้หลบหนีไปก่อนแล้ว
ไม่ได้ร่วมประทุษร้ายหรือขู่เข็ญผู้เสียหาย ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์หาได้ไม่
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2879/2526
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับพวกอีก 1 คน ปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย
แต่ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 กับ ห. ทำร้ายจนสลบ
แล้วบุคคลทั้งสองเอาเงินไป อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2
เป็นผู้จ้างจำเลยที่ 1 กับ ห. และช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการกระทำผิด
โดยการเรียกผู้เสียหายให้กลับบ้าน แต่โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ 2
ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด คงลงโทษจำเลยที่ 2
ได้ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ความผิดดังกล่าว
เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี จึงมีผลปรับบทลงโทษถึงจำเลยที่ 1
ที่ซึ่งมิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วย
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 333/2527
ผู้เสียหายขี่รถจักรยานสองล้อจะกลับบ้าน ระหว่างทางจำเลยทั้งสองกับพวกขี่รถจักรยายนต์ตามมาทัน
แล้วกลุ้มรุมทำร้าย การที่ ต. พวกจำเลยล้วงเอาเงินจากกระเป๋ากางเกงผู้เสียหาย
ในขณะถูกกลุ้มรุมทำร้าย เป็นการฉวยโอกาสของ ต.ในขณะนั้นเอง
จะฟังว่าจำเลยรู้เห็นเป็นใจด้วยไม่ได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์
คงผิดฐานทำร้ายร่างกายเท่านั้น
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3462/2526 จำเลยกับพวกต้องการฆ่าผู้ตาย
ไม่มีเจตนาปล้นทรัพย์ของผู้ตายมาก่อน จึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
เพื่อความสะดวกในการปล้นทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์
เพิ่งจะมีเจตนาลักเอารถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขี่ภายหลัง
เมื่อความผิดฐานฆ่าได้สำเร็จลงเด็ดขาดแล้ว
จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ความผิดฐานนี้ เป็นคนละกรรมกับความผิดฐานฆ่าคนตาย
และปล้นทรัพย์ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องรวมเป็นกรรมเดียวกันมา
จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 476/2535 จำเลยที่ 3
วิ่งเข้ามาถามผู้เสียหายทั้งสองว่าเป็นนักศึกษาวิทยาลัย ท.หรือไม่ ขณะเดียวกันจำเลยที่
2 ใช้มีดสะปาต้า ฟันแขนซ้ายของผู้เสียหายที่ 1 บาดเจ็บและใช้มีดดังกล่าว
จี้เอาเสื้อฝึกงาน 1 ตัว นาฬิกาข้อมือ 1 เรือนไป
ส่วนพวกของจำเลยทั้งสามขึ้นไปล้วงกระเป๋าใส่เงิน 1 ใบ พร้อมเงินสด 10 บาทไปและจำเลยที่
1 ขึ้นไปกระชากสร้อยคอทองคำ 1 เส้น จากคอผู้เสียหายที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 ที่
3 กระทำต่อผู้เสียหายคราวเดียวกัน แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ที่ 3
กับพวกไม่ได้สมรู้ร่วมคิด อันมีลักษณะประสงค์ต่อทรัพย์ผู้เสียหาย
เพียงแต่พวกของทั้งสามคนหนึ่งชวนให้ไปตีกับพวกนักศึกษาวิทยาลัย ท. ลักษณะที่จำเลยที่
3 แยกไปสอบถามผู้เสียหายทั้งสอง น่าจะเป็นความคึกคะนองและพาลหาเรื่อง
หาใช่เป็นการแบ่งหน้าที่กันกระทำ เพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย จำเลยที่
1 กระชากสร้อยคอทองคำผู้เสียหายที่ 2
เป็นลักษณะที่ถือโอกาสเป็นส่วนตัวลำพังผู้เดียว เจตนากระทำความผิดดังกล่าวการกระทำของจำเลยที่
1 เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 336 วรรคแรก พวกของจำเลยทั้งสามถือโอกาสร่วมคิด
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ (หากฟังข้อเท็จจริงยุติดังนี้
จำเลยที่ ๒ ต้องผิดชิงทรัพย์)
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3116/2537 จำเลยที่ 2 ร่วมคบคิดกับจำเลยที่ 1 และที่
3 มาก่อนเกิดเหตุเพื่อที่จะมากระทำผิด
โดยเขียนแผนที่เพื่อประโยชน์ในการเข้ากระทำผิดและหลบหนี และขณะที่ และที่ 3 กระทำผิดฐานชิงทรัพย์ จำเลยที่ 2 รออยู่ณ
ที่ตามที่นัดหมายกันไว้ พร้อมกับมีรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่
1 และที่ 3 หลังจากได้กระทำความผิดสำเร็จ และขาดตอนไปแล้ว
โดยไม่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 รออยู่ในที่ ๆ
ใกล้ชิดเพียงพอที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในขณะกระทำผิดได้
ไม่พอฟังว่าเป็นการร่วมเป็นตัวการในการกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คงเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่
1 และที่ 3 ก่อนการกระทำผิด จำเลยที่ 2
จึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ / จำเลยที่ 1 และที่ 3
เข้าไปในบ้านผู้ตาย ผู้ตายเรียก ช.
เข้าไปในบ้านจำเลยที่ 3 เอาวิทยุโทรศัพท์มือถือของผู้ตายยื่นให้
ช.นำไปมอบแก่ภริยาผู้ตาย ช. ไม่ยอมรับ จำเลยที่ 1
ดึงมือ ช. พาเข้าไปยืนที่หน้าโต๊ะทำงานของผู้ตาย จำเลยที่ 3
สั่งให้ผู้ตายส่งลูกกุญแจให้แล้วจำเลยที่ 3 ส่งกุญแจต่อให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่
1 ไปเปิดลิ้นชักโต๊ะทำงานของผู้ตายเอาเงินสดไป
ขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 เตะปลายคาง ช.และชักอาวุธปืนสั้นออกมายิงผู้ตาย1 นัด
แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 3 เดินออกไปขับรถจักรยานยนต์ซ้อนท้าย พากันหลบหนีไป ดังนี้
การกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์กับการฆ่าผู้ตายได้กระทำต่อเนื่องกันไป
อันเป็นการฆ่าเพื่อสะดวกในการชิงทรัพย์และการพาทรัพย์นั้นไป
ทั้งเพื่อให้พ้นการจับกุม จึงเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท
-
มาตรา 340 วรรคสอง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 412/2504
การที่จำเลยปล้นทรัพย์ได้แล้ว บอกให้ขบวนเกวียนของเจ้าทรัพย์ขับเกวียนไปได้
แล้วจำเลยยิงปืนทางท้ายขบวนเกวียนขึ้นนั้น เป็นการยิงปืนเพื่อขู่ขวัญ
มิให้พวกเจ้าทรัพย์ติดตามต่อสู้ เห็นได้ว่าเหตุการณ์ยังคงต่อเนื่องกับการปล้นอยู่
จำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรค 4
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1021/2518 จำเลยกับพวกรวม 6 คน
ปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 1 มีปืนติดตัวและใช้ปืนจี้เอาทรัพย์ จำเลยที่ 2 ไม่มีปืน
จำเลยที่ 1 ผู้เดียวมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 340 ตรี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา
340 วรรค 2 เท่านั้น
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 980/2519 แม้ผู้ที่ร่วมในการปล้น ไม่รู้ว่าพวกของตนมีอาวุธ ก็เป็นความผิดตามมาตรา 340
วรรคสอง (การมีอาวุธในการปล้น
ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ม ๖๒ ว ท้าย
ซึ่งหากจะต้องรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องรู้ด้วย การรู้หรือไม่นั้น
ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง / หากข้อเท็จจริงยุติว่า ไม่รู้
ก็ไม่น่าจะต้องรับโทษหนักขึ้น)
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1664/2520 คนร้ายปล้นทองในร้าน
จำเลยวิ่งหนีออกจากร้านยิงตำรวจ เป็นการกระทำหลังจากปล้นทรัพย์สำเร็จแล้ว
เป็นปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานคนละกระทงกัน
ไม่เป็นความผิดฐานปล้นและทำให้เกิดอันตรายสาหัสตาม ม.340 วรรค 3 แต่เป็นความผิดตาม
ม.340 วรรค 2, 340 ตรี กระทงหนึ่งผิด ม.289, 80 กระทงหนึ่ง กับผิด พ.ร.บ.
อาวุธปืนฯ อีกกระทงหนึ่ง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2009/2522 จำเลยชักสิ่วออกมาขู่จะทำร้าย
ในการปล้นเป็นการปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธติดตัวไปตาม ป.อ.ม.340 วรรค 2
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 4280/2531 ในการปล้นทรัพย์คนร้ายใช้กระบอกไฟฉายเดินทางขนาด 3
ก้อน ที่มีติดตัวไปตีทำร้ายภรรยาผู้เสียหาย จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย
เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธติดตัวไปด้วย ตาม มาตรา 340 วรรคสอง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 503/2532
คนร้ายปล้นทรัพย์ที่บ้าน แล้วใช้อาวุธปืนจี้บังคับให้ผู้ตายทั้งสามและ พ.
เดินลัดทุ่งนาไปทางหลังบ้าน เมื่อห่างบ้าน 1 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
คนร้ายก็ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสาม และ พ. คนร้ายมิได้ยิงผู้ตายทั้งสาม และ พ.
ขณะทำการปล้นทรัพย์ เพิ่งลงมือยิงเมื่ออยู่ห่างไกลจากบ้านที่เกิดเหตุถึง 1
กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางนานถึงครึ่งชั่วโมง การกระทำของคนร้าย
มิใช่เป็นการต่อเนื่องกับการปล้นทรัพย์ การปล้นทรัพย์ได้ขาดตอนไปแล้ว
การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา340 วรรคสอง ไม่ใช่มาตรา 340
วรรคท้าย
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 7562/2542
การชิงทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดแผลที่คอ
มีรอยถลอกทางยาว 3 เซนติเมตร กว้าง 2 เซนติเมตร และมีรอยขีดข่วน 2 รอย ขนาดเล็กๆ
บาดแผลถลอกเล็กๆ อีก 2 ถึง3 แห่ง ที่หลังมือซ้าย ข้อมือซ้ายบวมแดงเป็นหย่อมๆ
และมีบาดแผลถลอกที่ริมฝีปากบนทางด้านซ้าย แพทย์มีความเห็นว่า
จะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 7 วัน บาดแผลของผู้เสียหายมีเพียงเล็กน้อย
ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ไม่เป็นความผิดตาม
ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม คงมีความผิดตามมาตรา 339 วรรคสอง
-
มาตรา 340 วรรคสี่
-
พวกปล้นตาย ผิด ม 288+340 วรรค 4 ใช้ปืนยิง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1277/2502
ตามข้อบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรค 4 นั้น เพียงแต่ใช้ปืนยิงในการปล้น
ก็เป็นกรณีเข้าอยู่ในวรรคนี้แล้ว เพราะไม่มีข้อบัญญัติว่า
การใช้ปืนยิงนั้นจะต้องทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแต่อย่างใด
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 372-373/2503
ความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงขึ้น
ไม่จำเป็นที่การใช้ปืนจะต้องทำก่อนได้ทรัพย์จากผู้เสียหาย
และไม่จำเป็นที่การใช้ปืนจะต้องทำให้ ผู้ใดได้รับอันตรายแก่กาย
แม้ใช้ปืนยิงเมื่อได้ทรัพย์ไปแล้ว เพื่อให้พ้นจากการ จับกุมและไม่มีผู้ใดบาดเจ็บ
ก็ได้เชื่อว่าเป็นการปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงตามมาตรา 340 วรรค 4
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1465/2508 (สบฎ เน 564) คนร้ายยิงสุนัข เพราะจะกัด
ขณะคนร้ายอื่นกำลังค้นหาทรัพย์ ถือเป็นการปล้นโดยใช้ปืนยิง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 255/2510 (สบฎ เน 1534) ปล้นแล้วคุมตัวเจ้าทรัพย์ไปยิง
ห่างจากที่ปล้นถึง 40 เส้น การยิงตาย
ไม่ใช่การต่อเนื่องกับการปล้น หรือเป็นผลธรรมดาจากการปล้น การปล้นขาดตอนแล้ว จำเลยผิด
ม 340 ว 4 ไม่ใช่ ว ท้าย
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 851/2512 (สบฎ 2115) จำเลยกับพวกสมคบกันไปปล้นผู้โดยสารรถยนต์ประจำทาง
มิได้สมคบกันไปฆ่า เมื่อพวกของจำเลยคนหนึ่งไปยิงผู้โดยสารที่ถูกปล้นบาดเจ็บสาหัส
โดยจำเลยไม่ได้เป็นผู้ยิง จะปรับเป็นความผิดของจำเลยฐานพยายามฆ่าคนด้วยไม่ได้
จำเลยคงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม มาตรา 340 วรรค 4 เท่านั้น
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 149-150/2513
จำเลยใช้กำลังกระชากสร้อยจนขาดจากคอผู้เสียหาย และพวกจำเลยในกลุ่มที่วิ่ง
ได้ใช้ปืนยิงพวกผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ
เมื่อกำลังวิ่งไล่ติดตามพวกคนร้ายอย่างกระชั้นชิด
เป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย
เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์พาเอาทรัพย์นั้น ไปให้พ้นจากการจับกุมการกระทำ
เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ และเมื่อมีผู้กระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป
โดยใช้ปืนยิงเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายแล้ว ก็เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์
ตาม มาตรา 340 วรรค 4
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 810/2514
ปล้นทรัพย์ที่กระท่อมแล้วต้อนกระบือของผู้เสียหาย
พร้อมกับคุมตัวผู้เสียหายกับพวกให้ไปส่งทาง เมื่อไปไกลจากกระท่อมที่เกิดเหตุ 40
เส้นจึงปล่อยให้ผู้เสียหายกับพวกกลับ ก่อนปล่อย จำเลยได้ยิงปืนขู่ขึ้นฟ้า การที่จำเลยยิงปืนไม่ใช่
เพื่อความสะดวกในการปล้น หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม
การปล้นทรัพย์ได้ขาดตอนไปแล้ว มิใช่เป็นการยิงปืนอันต่อเนื่องกับการปล้น
จึงจะปรับบทเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ โดยใช้ปืนยิงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340
วรรค 4 ไม่ได้
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3620/2538
เมื่อผู้กระทำผิดคนใดใช้อาวุธปืนยิงในการปล้นทรัพย์
ก็ถือว่าผู้กระทำผิดอื่นที่ไม่มีอาวุธปืนหรือไม่ได้ยิงอาวุธปืนมีความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนยิงตาม
ป.อ.มาตรา 340 วรรคสี่ด้วย
-
มาตรา 340 วรรคท้าย
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 255/2510 คนร้าย ตี ถีบ เตะ
เจ้าทรัพย์และยิงปืนขณะทำการปล้นทรัพย์ แล้วคุมตัวเจ้าทรัพย์ให้ไปส่ง
เมื่อถึงไร่ห่างบ้านเจ้าทรัพย์ประมาณ 40 เส้นคนร้ายยิงเจ้าทรัพย์ถึงแก่ความตาย
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า
เจ้าทรัพย์มิได้ถูกจำเลยซึ่งเป็นคนร้ายกับพวกยิงตายในขณะปล้น
แต่เพิ่งจะไปถูกยิงตาย ต่างตำบลต่างอำเภอกับที่เกิดเหตุห่างไกลถึง 40 เส้น เช่นนี้
การที่เจ้าทรัพย์ถูกยิงตายนั้น มิใช่เป็นการต่อเนื่องกับการปล้น
หรือเป็นผลซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมดาจากการปล้นทรัพย์ การปล้นทรัพย์ได้ขาดตอนไปแล้ว
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ตาม มาตรา 340 วรรค 4 ไม่ใช่วรรคท้าย
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1917/2511
ความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม มาตรา 340 วรรคท้ายนั้น
หมายถึงบุคคลอื่น มิใช่พวกปล้นด้วยกันเอง
จำเลยกับพวกปล้นทรัพย์และใช้ปืนยิงเจ้าทรัพย์บาดเจ็บ
กระสุนพลาดไปถูกพวกคนร้ายด้วยกันตาย จำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานปล้นโดยใช้ปืนยิง
และฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2969/2517 จำเลยทั้งสี่ปรึกษากันจะปล้นรถที่ผ่านมา แล้วจอดรถรออยู่เมื่อผู้เสียหายขับรถมาถึง
จำเลยที่ 1 ยืนส่องไฟฉายให้รถหยุดผู้เสียหายถามว่ารถเป็นอะไร จำเลยที่ 1 แกล้งบอกว่าไฟช้อตแล้วกระโดดขึ้นรถของจำเลยและขับหนีไปก่อน
โดยร้องตะโกนบอกจำเลยที่ 2, 3 และ 4 ว่า จัดการให้เรียบร้อย
จำเลยที่ 2, 3 และ 4 ก็จับผู้เสียหายกับพวกที่มาด้วยมัดแล้วยิง
พวกผู้เสียหายถูกยิงตายหมด แล้วจำเลยที่ 2, 3, 4 ก็เอารถไป การปล้นทรัพย์รายนี้เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1
ได้ร่วมกระทำการปล้นในระยะแรก แม้มิได้อยู่ด้วยในขณะที่จำเลยอื่นฆ่าเจ้าทรัพย์กับพวกจำเลยที่
1 ก็ต้องมีความผิดตามวรรคท้ายของมาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2461-2462/2521
ขณะเข้าปล้น จำเลยที่
1 ถือปืนสั้น จำเลยที่ 2 ถือปืนยาว ต่อมาในขณะถูกจับพบปืนลูกซองสั้นข้างตัวจำเลยที่
1 ค้นตัวพบกระสุนปืนลูกซอง 2 นัด ส่วนจำเลยที่
2 มีปืนลูกซองยาวอยู่ที่หว่างขา ค้นตัวพบกระสุนปืนลูกซอง 2 นัด แม้ปืนลูกซองยาวจะเป็นปืนของเจ้าทรัพย์และมีทะเบียน แต่จำเลยที่
2 นำมาไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตเช่นนี้ก็เป็นความผิด จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ
/ จำเลยทั้งสองร่วมทำการปล้นทรัพย์ แล้วบังคับเอาตัวเจ้าทรัพย์ และบุตรไปเป็นตัวประกัน
แม้ที่เกิดเหตุปล้นทรัพย์จะอยู่ในเขตหมู่ 4 แต่ตำรวจติดตามพบคนร้ายในคืนนั้นเอง
ในเขตหมู่ 9 เกิดยิงต่อสู้กัน
เป็นเหตุให้บุตรผู้เสียหายถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตาย ก็ต้องถือว่าขณะนั้น
การปล้นทรัพย์ยังไม่ขาดตอน เพราะยังอยู่ในระหว่างที่ถูกคนร้ายขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายและบุตร
และเพื่อให้ความสะดวกแก่การพาทรัพย์ที่ถูกปล้นไป ทั้งเพื่อให้คนร้ายพ้นจากการจับกุม
แม้ไม่ได้ความชัดว่าบุตรผู้เสียหายถึงแก่ความตายเพราะกระสุนปืนของฝ่ายจำเลยหรือฝ่ายตำรวจ
ก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกระทำการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
/ การที่จำเลยยิงไปโดยไม่เห็นตัวตำรวจ เพียงแต่รู้ว่าตำรวจยิงมาเท่านั้น เป็นการยิงสุ่มๆ
ไปเพื่อขัดขวางมิให้ตำรวจเข้าจับกุม จึงมีความผิดฐาน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่
ไม่มีผิดฐานพยายามฆ่า
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1459/2532 จำเลยที่ 2 ที่ 3
กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้ตายแล้ว พวกของจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้รู้
หรือได้มีการนัดหมายกันมาก่อนว่าคนร้ายที่ฆ่าผู้ตายมีเจตนาฆ่ามาตั้งแต่แรก
จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับคนร้ายอื่นฆ่าผู้ตาย
อันจะเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 289 (7) แต่เมื่อการฆ่าผู้ตายเป็นส่วนหนึ่งของการปล้นทรัพย์
จึงเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 340
วรรคท้าย / เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3
กับพวกปล้นทรัพย์ของผู้ตาย และผู้ถูกใช้ได้กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้ว
จำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผลของการกระทำของผู้ถูกใช้ในการปล้นทรัพย์นั้นทั้งสิ้น เมื่อการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตาย
ถึงแก่ความตายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคท้าย จำเลยที่ 1
ในฐานะผู้ใช้ย่อมต้องรับผิดในผลการกระทำของผู้ถูกใช้ อันเนื่องจากการปล้นทรัพย์
เสมือนเป็นตัวการเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วย
-
“เหตุลักษณะคดี” และ “เหตุส่วนตัว” ในการปล้นทรัพย์
-
สังเกต มาตรา 340 วรรคสอง ถึงวรรคท้าย ใช้คำว่า “ถ้าในการปล้นทรัพย์”
ซึ่งมุ่งถึง “เหตุการณ์” อันเป็นเหตุลักษณะคดี ที่ผู้ร่วมกระทำผิด ต้องร่วมกันรับผิด / ส่วน มาตรา 340 ตรี ใช้คำว่า “ผู้ใดกระทำความผิด”
ซึ่งมุ่งถึง “ตัวบุคคล” และมาตรา
340 ตรี เป็นเพียงบทกำหนดโทษ ให้ต้องรับโทษหนักขึ้น อันเป็นเหตุเฉพาะตัว
ของแต่ละบุคคล
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 84, 85/2516 (สบฎ เน 3916) จำเลยกับพวกนี้ขึ้นไปขู่เข็ญเจ้าทรัพย์บนบ้านผู้ตาย
และบังคับให้ผู้ตายนอนคว่ำหน้า จำเลยที่ 2
เหยียบหลังผู้ตายไว้ จำเลยที่ 1 ถือปืนยืนคุมอยู่ตรงศีรษะผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 3
เข้าไปในห้องค้นหาทรัพย์ ครั้นได้ทรัพย์แล้วก็เดินออกจากห้อง จำเลยที่ 2
พูดชวนกลับแล้วเดินตามจำเลยที่ 3 ไป จำเลยที่ 1 ก็เดินตามไปด้วยพอคล้อยห่างผู้ตายได้เพียง
2 ศอก ผู้ตายผงกศีรษะขึ้น จำเลยที่ 1 จึงยิงผู้ตาย 1 นัด ผู้ตายถึงแก่ความตาย การที่จำเลยที่
1 ยิงผู้ตาย ก็เพราะผู้ตายผงกศีรษะขึ้น เพื่อดูหน้าจำเลยนั่นเอง จำเลยที่ 2
และจำเลยที 3 มิได้ร่วมกระทำในตอนนี้ด้วย การที่จำเลยทั้งสามกับพวกมีอาวุธปืนร่วมกันปล้นทรัพย์
หาพอที่จะฟังว่า จำเลยมีเจตนาร่วมกันที่จะฆ่าเจ้าทรัพย์มาแต่แรกไม่ จำเลยที่ 2
และจำเลยที่ 3 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย มิใช่มาตรา 289
(7)
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 980/2519 จำเลยที่ 1 มีอาวุธ (มีด)
ติดตัวไปในการปล้น แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ใช้
หรือแสดงอาวุธในการกระทำผิด และจำเลยที่ 2 “ไม่รู้”
ว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธก็ตาม จำเลยที่ 2
ก็ต้องมีความผิดตาม ม 340 วรรคสอง (เห็นว่า “การที่ จำเลยที่ 1 มีอาวุธติดตัวไปในการปล้น”
เป็นข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้ต้องรับโทษหนักขึ้น จำเลยที่ 2
จะต้องรับโทษหนักขึ้น ต่อเมื่อ จำเลยที่ 2 รู้ถึงเหตุดังกล่าว
ตาม ม 62 วรรคท้าย หากจำเลยที่ 2 “ไม่รู้”
ก็ไม่ควรต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ม 340 วรรคสอง
แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงในคดี
หากฟังได้ว่า มีการเตรียมอาวุธแบ่งกัน หรือมีการแสดงอาวุธในขณะปล้น ฯลฯ
คดีย่อมฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ จำเลยที่ 2 ต้องรับโทษหนักขึ้นด้วย)
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1188/2527 จำเลยกับพวกรวม 3
คนเดินตามผู้เสียหายไป แล้วจำเลยยืนขวางผู้เสียหาย ขณะ
บ.พวกจำเลยใช้ปืนขู่บังคับเอาทรัพย์จากผู้เสียหาย
ทั้งยังบอกผู้เสียหายให้ส่งทรัพย์ให้ บ.เมื่อจำเลยไม่รู้มาก่อนว่า
บ.มีอาวุธปืนติดตัวและจะใช้ในการปล้น การที่ บ.
แย่งสายสร้อยไปจากมือผู้เสียหายได้แล้ว จึงยิง
เป็นพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในทันใดนั้นเอง จำเลยไม่รู้มาก่อนว่า
บ.มีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหาย ดังนี้จำเลยไม่มีความผิดฐานร่วมยิงผู้เสียหายด้วย
คงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงเท่านั้น
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 691/2529 ป.อ.ม.340 ตรี เป็นบทลงโทษผู้กระทำความผิดตาม ม.339, 339 ทวิ, 340
หรือ 340 ทวิ หนักขึ้น จะต้องตีความโดยเคร่งครัด คือ
หมายความเฉพาะตัวผู้กระทำตามที่ระบุไว้ใน ม.340 ตรี เท่านั้น การที่พวกของจำเลย
2 คน กระทำผิดโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ
แต่จำเลยไม่ได้ใช้ยานพาหนะในการกระทำความผิด จึงไม่มีความผิดตาม ม.340 ตรี
คงมีความผิดตาม ม 340 ตรี วรรคสอง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1582/2531 ความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง เป็นความผิดที่ร่วมกันกระทำด้วยกันได้
จำเลยร่วมกับคนร้าย 7 - 8 คน
ไปปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนติดตัวไป 6 กระบอก
แม้จะฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วยก็ตาม ผิด ม 371
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3944-45/2534 ปอ 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้น
เฉพาะผู้ที่อาวุธปืนในการปล้นเท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการปล้นรายเดียวกันจะต้องระวางโทษหนักขึ้นทุกคน
พวกของ ล1 อีก 2 คน
มีอาวุธปืนในการปล้น ส่วน ล1 เพียงแต่รู้เห็นร่วมแผนการณ์
และเป็นตัวการ ล1 มิได้มีอาวุธปืนในการปล้นแต่อย่างใด
ไม่ต้องด้วย ม 340 ตรี
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 7562/2542 (สบฎ สต 107) ม 340 ตรี
มุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น มิใช่ผู้ร่วมชิงทรัพย์รายเดียวกันจะต้องระวางโทษหนักขึ้นทุกคน เมื่อจำเลยที่
2 เป็นเพียงผู้ล็อกคอ
จึงไม่มีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว
-
ผู้เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 342/2509
จำเลยสนับสนุนตัวการให้ปล้นทรัพย์ ตัวการได้กระทำการเพียงพยายามปล้น
จำเลยจึงต้องรับโทษสองในสามของความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1840/2519
คนร้ายเข้าขู่บังคับเอาทรัพย์ในร้านขายของใส่กระสอบและคุมตัวผู้เสียหายไป จำเลยคอยอยู่ห่างร้าน
3 เส้น รับของแบกต่อไป จำเลยเป็นผู้สนับสนุนการปล้น
-
ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 340
-
(ขส เน 2511/ 3) เอก โท ตรี ร่วมกันไปลักทรัพย์นายทอง
โดยใช้ยาพิษสุมเหนือลม ทำให้คนในบ้านนายทองเมายา หลับ / เอก
โท จึงขึ้นไปเก็บของบนบ้าน ส่วนตรีไม่ได้ขึ้นไปบนบ้าน แต่ดูต้นทางอยู่หน้าบ้าน (สามคนผิดฐานใด) / การใช้ยาสุมไฟให้หลับ
เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตาม ม 1 (6) จึงเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย
เพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ นายตรีดูต้นทาง ก็เป็นตัวการร่วม
ทั้งสามคนจึงผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ม 340
-
(ขส เน 2520/ 1) สามคน ขึงลวดดักรถ
คนขับรถจักรยานยนต์ขับมาเห็น และหยุดทัน คนขึงผิด ปล้นทรัพย์ พ้นขึ้นตระเตรียม ม 340+80
(+ ๒๘๙ (๔) (๖) +
๕๙ ว ๒ เจตนาย่อมเล็งเห็นผลหรือประสงค์ต่อผลแล้วแต่กรณี)
-
(ขส พ 2502/ 9 ครั้งแรก) ดำ แดง
ขาว เขียว และเหลือง รวมห้าคน สมคบกันไปโดยมีมีดไปลักทรัพย์ / ดำปีนบ้านเจ้าทรัพย์ แดงและขาวคอยรับของ
เขียวและเหลืองดูต้นทางอยู่ด้านล่าง / เขียวรับของแล้ว
ออกไปพร้อมกับเหลือง / ส่วนดำ แดงและขาว พบเจ้าของบ้าน
ดำจึงชักมีดมาขู่ แล้วหลบหนีไป / เขียว และเหลือง รับของ
แล้วกลับก่อนมีการขู่เข็ญ ซึ่งขาดตอนไปแล้ว ผิดลักทรัพย์ ม ๓๓๕ (๗) (ไม่มีประเด็น ม ๒๑๐ ) / ดำ
แดง และขาว ผิด ฐานปล้นทรัพย์ ม ๓๔๐ ว ๒ เพราะแดง และขาว ยังคงถือมีด
คุมเชิงอยู่ในบ้านเจ้าทรัพย์ ในขณะเกิดการขู่เข็ญขึ้น มีโอกาสช่วยดำได้ ฎ ๖๐๔/๒๔๙๘
-
(ขส พ 2516/ 6) หกคนร่วมวางแผนปล้น แต่ฤกษ์ไม่ดี
จึงไม่ได้ปล้น ต่อมาวางแผนใหม่ ทิดและจัน ไอยากปล้น แต่เกรงใจพวก จึงร่วมมือด้วย
ก่อนถึงบ้านปล้น นายทิดแยกตัวกลับ นายจันชี้บ้านแล้วรออยู่ห่างบ้าน ๓ เส้น
โดยไม่ได้ช่วยเหลือใด ๆ อีก นายคานดูลาดเลาแล้ว ออกมาระวังเหตุการณ์ภายนอก พุด หัด
และสุก เข้าปล้น นายเสาร์รู้ตัวก่อนจึงนำทรัพย์ไปไว้ที่อื่น พวกปล้นไม่ได้ทรัพย์ไป
/ การประชุมปล้นทั้งสอง ครั้ง ผิด ม ๒๑๐ พุด หัด และสุก
ทำผิดตามที่สมคบ ทิด จัน และคาน ต้องรับโทษเช่นกัน ตาม ม ๒๑๓
ไม่ต้องพิจารณาเรื่องตัวการ ผู้สนับสนุน
เมื่อไม่ได้ทรัพย์จึงผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ ม ๓๔๐,๘๐ ฎ ๑๑๐๓-๔/๒๔๙๖
-
(ขส พ 2523/ 9) สามคน ร่วมกันเตะรั้วบ้านผู้เสียหาย
แล้วขอเงิน เมื่อไม่ได้ ก็เตะหนักขึ้นจนสังกะสีหลุด 3 แผ่น
ผู้เสียหายกลัว จึงมอบเงิน 300 บาทให้ไป / เป็นการลักทรัพย์โดยขู่เข็ญ ว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย
เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ การขู่เข็ญอาจขู่ตรง ๆ หรือใช้ถ้อยคำกริยา
หรือทำประการใดให้เข้าใจเช่นนั้น แม้ใช้กำลังทำร้ายต่อทรัพย์สิน
ไม่ใช่การใช้กำลังประทุษร้าย ก็ผิด ม 340 ว 1 ฎ 549/2517 และ ม 358
-
(ขส พ 2524/ 8) นายมา เมฆ หมอก
นัดหมายให้นายกลอนวางยาสลบนายสิน ถือว่านายกลอนเป็นตัวการ ตาม ม ๘๓ แต่นายกลอนให้นายสินกินน้ำตาลก้อน
คิดว่าเป็นยาสลบ ไม่ถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย ตอนยิงปืนเข้าปล้น
ก็ไม่มีใครอยู่ จึงผิดฐานพยายามลักทรัพย์ ตาม ม ๓๓๕ (๑)
(๓) , ๓๓๖ ทวิ ประกอบ ม ๘๐
แต่กลอนสงสารจึงปลุกและพานายสินหนี เป็นการกลับใจ ไม่ต้องรับโทษตาม ม ๘๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น