ลักษณะ 4 ความผิดเกี่ยวกับศาสนา
มาตรา 206 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่วัตถุหรือสถาน อันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 736/2505 จำเลยขณะเป็นพระภิกษุได้ร่วมประเวณีกับหญิง ในกุฏิของจำเลย บนเขาวัง จังหวัดเพชรบุรี ไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่จะถือว่าเป็นการเหยียดหยามศาสนา ตาม มาตรา 206 ยังไม่ถนัด
- คำพิพากษาฎีกาที่ 5199/2533 ความผิดที่กระทำต่อเนื่องอาจเป็นความผิดหลายกระทงได้ หากได้ความว่าผู้กระทำผิดมีเจตนาหลายอย่างแต่ละอย่างเป็นความผิดที่สมบูรณ์แยกจากกันได้ / จำเลยฉีกธงชาติไทยอันมีความหมายถึงรัฐเพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ และยังใช้ไม้ตีทุบเกศเศียรพระพุทธรูปอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของพุทธศาสนิกชนอันเป็นการเหยียดหยามศาสนา อันเป็นคนละเจตนา แต่ละเจตนาเป็นความผิดในตัวเองแยกจากกันเป็นความผิดคนละกระทง แม้กระทำต่อเนื่องกัน และแต่ละกระทงดังกล่าวคือเจตนา ในการทำให้เสียทรัพย์เช่นเดียวกัน จึงเป็นความผิดหลายบทในแต่ละกระทง กล่าวคือ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 118, 360, 90 กระทงหนึ่ง และมาตรา 206, 360 ทวิ, 90 อีกกระทงหนึ่ง
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 206
มาตรา 207 ผู้ใดก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้น ในที่ประชุมศาสนิกชน เวลาประชุมกัน นมัสการ หรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การกระทำต้องมีผล คือ “การวุ่นวายเกิดขึ้น” หากทำไม่สำเร็จ เป็นการพยายามกระทำผิด (อ เกียรติขจร อ้าง ฎ 1100/2516 “จำเลยก่อความวุ่นวาย แม้ผู้ชุมนุมจะไม่มีปฏิกิริยาวุ่นวายก็ตาม ถือเป็นความผิดตาม มาตรานี้” อธิบายว่า ความวุ่นวายต้องเกิดขึ้น ผู้ที่วุ่นวายที่ “ผู้กระทำ” ส่วนผู้มาร่วมประชุม ไม่ต้องวุ่นวายก็ได้) (อ เกียรติขจร ปอ ภาคความผิด 2542 หน้า 13)
- ก่อให้เกิดการวุ่นวาย
- คำพิพากษาฎีกาที่ 392/2500 ชาวบ้านประชุมกันนมัสการถวายต้นดอกไม้ และปราสาทผึ้ง ต่อพระภิกษุเจ้าอาวาส จำเลยเข้าไปด่าพระภิกษุและเอาปราสาทผึ้งไปเตะเล่น เป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 173 แต่ให้ลงโทษ ม 207 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่า
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1100/2516 จำเลยส่งเสียงเอะอะอื้อฉาวในงานพิธีทางศาสนา กล่าว ถ้อยคำก้าวร้าวพระภิกษุ ใช้มือตบพื้นกระดานหลายครั้งและชักปืนออกมาด้วย แม้ผู้ที่ไปชุมนุมกัน จะไม่มีปฏิกิริยาวุ่นวาย จำเลย ผิด ม 207 แล้ว พนักงานสอบสวน ตั้งข้อหาในความผิดลหุโทษ แล้วเปรียบเทียบปรับ เป็นการไม่ชอบ ไม่ทำให้คดีเลิกกัน พนักงานอัยการมีสิทธิฟ้องจำเลยในความผิดที่มิใช่ลหุโทษได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3144/2530 ปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานก่อความวุ่นวาย ในการกระทำพิธีกรรมตามศาสนาหรือไม่นั้น การที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองเป็นอิหม่ามและบิหลั่น โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกา เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองดำรงตำแหน่งดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย จนกระทั่งถึงขณะเกิดเหตุ โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง / จำเลยที่ 2 ประกาศทางเครื่องขยายเสียงต่อหน้าสัปปุรุษทั้งหลายในมัสยิดโดยใส่ความโจทก์ ว่าเป็นอิหม่ามและบิหลั่นเถื่อนได้หลอกลวงสัปปุรุษมานานแล้ว เป็นการทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทั้งมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ตาม ป.อ. มาตรา 329 จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม มาตรา 328 (โจทก์ฟ้องข้อหาตามมาตรา 207 ด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษในข้อหาตามมาตรา 207 ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน)
- ที่ประชุมศาสนิกชน
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1109/2500 แห่นาคไปตามถนนหลวงยังไม่เป็นการประชุมทำพิธีกรรมทางศาสนา ตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.173
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1354 – 1355/2515 จำเลยยิง พ. ตายในบริเวณวัด และไล่ยิง ว. ไปจนถึงโรงธรรม ในเวลาที่ยังไม่มีการประชุมศาสนิกชน หรือกระทำพิธีกรรมทางศาสนา ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาก่อให้เกิดความวุ่นวายในที่ประชุมศาสนิกชน การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 207
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 207
มาตรา 208 ผู้ใดแต่งกาย หรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็น ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4499/2539 คณะสงฆ์ผู้พิจารณาชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ให้จำเลยลึกจากการเป็นพระภิกษุ จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะสงฆ์ การยื่นอุทธรณ์จะกระทำโดยชอบหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยซึ่งได้ลึกจากการเป็นพระภิกษุไปแล้ว กลับมาเป็นพระภิกษุใหม่อีก การที่จำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นพระภิกษุ และไม่ยอมออกไปจากวัดตามคำสั่งของเจ้าอาวาสวัดดังกล่าว จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208, 368 วรรคแรก พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 38 (1), 45
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3699-3739/2541 การที่จำเลยอุทธรณ์แต่เพียงว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 มาตรา 5 และ 27 นั้น ไม่ใช่เป็นกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 264 ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไม่ต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นไปเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 23 กำหนดให้การแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม เมื่อจำเลยที่ 80 ไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ การบวชของจำเลยทั้ง 24 คน จึงเป็นการบวชที่ไม่ชอบตามกฎมหาเถรสมาคม และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ จำเลยดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา ต้องมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 208 ส่วนจำเลยที่ 80 เป็นผู้บวชให้จำเลยดังกล่าวและทำหน้าที่เป็นพระผู้รับนำเข้าหมู่ เป็นผู้มอบเครื่องแต่งกายและอัฐบริขารให้แก่จำเลยอื่น จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยอื่นในการกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 208
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1798/2542 จำเลยยินยอมสึกจากการเป็นพระภิกษุ โดยเปลื้องจีวรออก แล้วแต่งกายด้วยชุดขาว จึงถือได้ว่าจำเลยได้สละสมณเพศแล้วในขณะนั้น การที่จำเลยอ้างว่ายินยอมเปลื้องจีวรออกเพื่อต่อสู้คดี ไม่เป็นเหตุให้จำเลยซึ่งได้สละสมณเพศแล้ว กลับมาเป็นพระภิกษุใหม่อีก จำเลยกลับมาแต่งกายเป็นพระภิกษุ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นพระภิกษุ ผิดตาม ปอ ม 208
- คำพิพากษาฎีกาที่ 6782/2543 ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ มาตรา 29 การสละสมณเพศ เพราะถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญามีได้ 3 กรณี คือ เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้สละสมณเพศได้กรณีหนึ่ง หรือเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้สละสมณเพศได้กรณีหนึ่ง หรือเมื่อพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวและพระภิกษุรูปนั้น มิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่งหรือเป็นพระจรจัด พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้สละสมณเพศได้อีกกรณีหนึ่ง ในคดีก่อนที่จำเลยถูกจับกุม ในข้อหามีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไว้ในครอบครอง พนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และพาจำเลยไปที่วัด บ. เพื่อให้จำเลยสึก แต่จำเลยไม่ยอมสึก และเจ้าอาวาสวัด บ. ก็ไม่ยอมสึกให้ พนักงานสอบสวนจึงพาจำเลยกลับไปที่สถานีตำรวจและจัดให้จำเลยลาสิกขาบทต่อหน้าพระพุทธรูปที่อยู่บนสถานีตำรวจ ดังนี้ จำเลยย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยยังไม่ขาดจากความเป็นพระภิกษุ เนื่องจากจำเลยไม่สมัครใจลาสิกขาบท และการดำเนินการให้จำเลยสละสมณเพศกระทำโดยพลการของเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อพ้นจากการคุมขังโดยได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้ว ถือว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 208
- (ขส อ 2530/ 1) แต่งเป็นพระ หลอกว่าเป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ เพื่อเอาเงินบริจาค จากชาวบ้าน ผิด ม 208 คนร่วมหลอกเป็นตัวการ ม 208 ด้วย (ฎ 3699-3739/2541 (สบฎ สต 53) ไม่ใช่พระอุปัชฌาย์ แต่บวชให้คนอื่น และมอบเครื่องแต่งกาย ผิด ม 208+86 คนถูกบวช ไม่มีสิทธิ ผิด ม 208) / + ม 343 ว 1 + 83 + 343 ว 2 แสดงตนเป็นคนอื่น (ม 342 (1))
ลักษณะ 5 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน
มาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคล ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็น อั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
- “สมาชิก” ต้องมีฐานะ มีสิทธิออกเสียง ได้เท่าเทียมกับบุคคลอื่น ส่วน คนรับใช้หรือลูกจ้าง ไม่มีสิทธิออกเสียง ไม่ถือเป็นสมาชิก
- “ปกปิดวิธีดำเนินการ” หมายความว่า รู้กันเฉพาะในหมู่สมาชิก ไม่เปิดเผยแก่บุคคลอื่น วิธีการปกปิดอาจกระทำโดยวิธีใช้เครื่องหมายอาณัติสัญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ใช้นิ้วแสดงเป็นเครื่องหมายลับ โดยรู้กันเฉพาะในหมู่สมาชิกด้วยกัน
- “เพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย” ไม่จำต้องเป็นความผิดอาญา อาจเป็นเพียงละเมิดในทางแพ่ง หรือผิดสัญญาในทางแพ่งก็ได้ แต่ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ เห็นว่า เพียงแต่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี แต่ไม่ขัดต่อกฎหมาย เห็นจะไม่พอ / ดร.หยุด แสงอุทัย “ความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย” ต้องถือว่ามิชอบด้วยกฎหมายมหาชน ถ้ามุ่งหมายจะทำผิดกฎหมายเอกชน ที่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ซึ่ง ปพพ ยอมให้ตกลงเปลี่ยนแปลงได้ ก็ไม่ใช่อั้งยี่
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3447/2530 ความผิดตาม ปอ ม 209 , 210 , 212 และ 215 มิใช่กระทำโดยเฉพาะเจาะจงแก่บุคคลใดเป็นส่วนตัว รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายโดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องร้องจำเลยได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1176/2543 จำเลยเข้าเป็นสมาชิกของกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บี อาร์เอ็น กลุ่มนาย อ. มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมาย เกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดงจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผิด ม 209 วรรคหนึ่ง
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 209
- (ขส เน 2524/ 3) การเข้าเป็นสมาชิกชมรม ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ เพื่อชุมนุมขับรถยนต์แข่งกันในท้องถนนหลวง เวลากลางคืน เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะฝ่าฝืน พรบ จราจรทางบก พ.ศ.2522 นายเดชกับพวกมีความผิด ม 209 แต่ไม่ ผิด ม 210 เพราะไม่ใช่สมคบกันเพื่อกระทำความผิดใน ภาค 2 แห่ง ป.อาญา
มาตรา 210 ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้น มีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็น ซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท
- ความผิดที่สมคบกันเพื่อกระทำนี้ ต้องเป็นความผิด ตาม ปอ และมีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ไม่รวมถึงกฎหมายอื่น ต่างกับข้อความในมาตรา 209 ที่ว่า “การอันมิชอบด้วยกฎหมาย” นั้น หมายถึงกฎหมายอื่นด้วย
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1341/2521 คน 6 คนปรึกษากันจะใช้ไขควงงัดประตูรถยนต์ เพื่อลักวิทยุติดรถยนต์เก๋งที่จอดอยู่ข้างถนน ตำรวจเข้าจับ เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.210
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2829/2526 ความผิดฐานเป็นซ่องโจรจะต้องมีการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้การสมคบกัน จะต้องมีการแสดงออกซึ่งความตกลงในการที่จะกระทำความผิดร่วมกัน มิใช่เพียงแต่มาประชุมหารือกันโดยมิได้ตกลงอะไรกัน หรือตกลงกันไม่ได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 3201/2527 เมื่อได้ประชุมตกลงกันแล้ว แม้จะยังไม่ได้ไปกระทำความผิดตามที่ตกลงกัน ผู้ที่เข้าร่วมประชุมก็มีความผิด 210 หากมีผู้เข้าร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งไปกระทำความผิดตามที่ได้ตกลงกันไว้ ก็เป็นความผิดขึ้นอีกกระทงหนึ่ง ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมประชุมแม้จะไม่ได้ไปร่วมกระทำผิดด้วย ก็ต้องมีความผิดด้วยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 213
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2429/2528 จำเลยกับพวกรวมกัน 10 คน จับกลุ่มวางแผนใช้ตลับยาหม่องครอบเหรียญพนัน จำเลยที่ 1 ให้จำเลยอื่นทุกคนเพื่อนำไปแทง เมื่อเลิกเล่นแล้วก็คืนให้กัน เมื่อรถยนต์โดยสารออกจากสถานีขนส่ง จำเลยที่ 1 กับพวกก็ดำเนินการตามที่ตกลงกัน เพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของผู้โดยสารอื่นโดยทุจริต จำเลยที่ 5 รออยู่ที่สถานีขนส่งและจะขับรถไปรับจำเลยอื่นเมื่อเลิกเล่นแล้ว เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ เพราะจำเลยที่ 5 ได้เข้าร่วมปรึกษาวางแผนกับจำเลยอื่นแล้ว จำเลยที่ 5 ผิด ม 210
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4986/2533 ความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น ผู้กระทำจะต้องสมคบกันเพื่อกระทำความผิด คือร่วมคบคิดกัน ประชุมปรึกษาหารือกัน หรือการแสดงออก ซึ่งความตกลงจะกระทำผิดร่วมกัน อันมีสภาพเป็นการกระทำระหว่างผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันเจรจากับเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปล่อซื้อเสนอขายรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาให้แก่ เจ้าพนักงานตำรวจ มีลักษณะที่เป็นการกระทำต่อบุคคลภายนอก การกระทำของจำเลย ยังไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร
- คำพิพากษาฎีกาที่ 637/2534 ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยานโจทก์ ไม่มีข้อเท็จจริงที่เป็นการชี้ให้เห็นว่า จำเลยทั้งหกกับพวกจะหลอกลวงผู้อื่นให้หลงเชื่ออย่างไร ไม่รู้ว่าทำงานในลักษณะอย่างใด ที่จะให้เห็นว่าเป็นการหลอกลวงผู้อื่น ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งหกกระทำผิด
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4050/2534 ความผิดฐานเป็นซ่องโจรจะต้องมีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป คบคิดประชุมหารือร่วมกัน และตกลงกันที่จะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่ง ป.อ. และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ทั้งนี้โดยการประชุมหารือร่วมกันและตกลงกันว่าจะกระทำความผิดอะไร เป็นข้อสาระสำคัญของความผิดฐานเป็นซ่องโจร ได้ความเพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ผู้เสียหาย โดยใช้เล่ห์เพทุบายในการเล่นการพนัน เป็นเหตุให้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายเล่นแพ้ และเสียทรัพย์พนัน แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยกับพวกได้คบคิดร่วมประชุมปรึกษาหารือกันที่ไหน เมื่อใดและได้ตกลงกันจะกระทำความผิดอย่างใด หรือไม่จึงจะลงโทษจำเลยฐานเป็นซ่องโจรมิได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 521/2539 จำเลยที่ 12 ให้เงินจำเลยที่ 11 เพื่อให้นำไปให้จำเลยที่ 7 และที่ 8 เช่าสถานที่และซื้อไม้มาสร้างโรงรถเพื่อถอดแยกชิ้นส่วนรถยนต์ โดยไม่ได้สมคบกันเพื่อลักทรัพย์หรือรับของโจร และเมื่อนับรวมกันแล้ว ก็มีเพียง 4 คนเท่านั้น ส่วนคนร้ายที่ทำการถอดแยกชิ้นส่วนรถยนต์ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 12 ได้ร่วมสมคบในการลักทรัพย์ด้วย ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 12 สมคบกับคนอื่นตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจรอันจะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจร
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2905/2543 พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองกับพวก ทำทีเป็นเข้าไปขอเช่าที่ดินจากผู้เสียหาย ชักนำไปบ้านหลังหนึ่ง และให้ดื่มน้ำผสมสารมึนเมา แล้วผู้เสียหายไปถอนเงินที่ธนาคาร และขอยืมเงินไปเล่นการพนัน จนหมดเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยทั้งสองกับพวก ไม่เคยปริปากพูดถึงเรื่องการเช่าที่ดินอีกเลย ซึ่งวิธีการเช่นนี้หากไม่มีการนัดแนะ และร่วมกันวางแผนกันมาก่อน ผลก็ย่อมจะเกิดขึ้นเป็นลำดับสอดคล้องเช่นนั้นไม่ได้ กรรมจึงเป็นเครื่องชี้เจตนา อันถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้สมคบกับพวกตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ซึ่งมีกำหนดโทษจำคุกไม่เกินสามปี มีความผิดฐานเป็นซ่องโจร
- ความผิดตามมาตรานี้จะเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดที่ได้กระทำขึ้นตามที่สมคบกันหรือไม่ ต้องดูเจตนาที่สมคบกัน
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1103/2496 คบคิดกัน 5 คนคิดวางแผนการปล้นทองคำ การปล้นครั้งแรก ไม่สำเร็จจึงล้มเลิก รุ่งขึ้นประชุมใหม่และทำการปล้นสำเร็จ ดังนี้การปล้นครั้งต่อมาเป็นการคบคิดกัน คนละคราวคนละวาระ ผู้ที่สมคบเฉพาะคราวแรก ไม่ได้ไปด้วยในคราวหลัง จึงต้องรับผิดเพียงเท่าที่ทำไปในครั้งแรก คือฐานซ่องโจร ไม่มีความผิดในการปล้นครั้งหลัง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4548/2540 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันวางแผนไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 และได้ร่วมกันปล้นเอารถยนต์จากผู้เสียหายที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 4 กับพวกใช้เป็นพาหนะไปทำการปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 อีกทอดหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 4 กับพวกไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 ตามแผนที่ร่วมกันวางไว้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร่วมวางแผน ย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการปล้นร้านทอง ร่วมกับจำเลยที่ 4 กับพวกด้วย ตาม มาตรา 213 และความผิดฐานเป็นซ่องโจร กับความผิดฐานปล้นทรัพย์เกี่ยวเนื่องกัน กระทำผิดฐานเป็นซ่องโจรเพื่อจะไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสอง เป็นกรรมเดียว ลงโทษฐานปล้นทรัพย์ อันเป็นบทหนัก
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 210
- (ขส เน 2526/ 7) นายจี้คังกับพวก สมคบกัน ตั้งแต่ 5 คน เพื่อกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ในเวลากลางคืน ตามมาตรา 335 กำหนดโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 1 ปี นายจี้คังกับพวก จึงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจร ตาม มาตรา 210 วรรคแรก แม้จะยังไม่ได้ลงมือกระทำความผิดตามที่สมคบกันก็ตาม ฎ 1341/2521
- (ขส พ 2516/ 6) หกคนร่วมวางแผนปล้น แต่ฤกษ์ไม่ดี จึงไม่ได้ปล้น ต่อมาวางแผนใหม่ ทิดและจัน ไอยากปล้น แต่เกรงใจพวก จึงร่วมมือด้วย ก่อนถึงบ้านปล้น นายทิดแยกตัวกลับ นายจันชี้บ้านแล้วรออยู่ห่างบ้าน 3 เส้น โดยไม่ได้ช่วยเหลือใด ๆ อีก นายคานดูลาดเลาแล้ว ออกมาระวังเหตุการณ์ภายนอก พุด หัด และสุก เข้าปล้น นายเสาร์รู้ตัวก่อนจึงนำทรัพย์ไปไว้ที่อื่น พวกปล้นไม่ได้ทรัพย์ไป / การประชุมปล้นทั้งสอง ครั้ง ผิด ม 210 พุด หัด และสุก ทำผิดตามที่สมคบ ทิด จัน และคาน ต้องรับโทษเช่นกัน ตาม ม 213 ไม่ต้องพิจารณาเรื่องตัวการ ผู้สนับสนุน เมื่อไม่ได้ทรัพย์จึงผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ ม 340,80 ฎ 1103-4/2496
- (ขส พ 2529/ 6) ประชุมกัน 5 คนเพื่อปล้นทรัพย์ ม 210 ว 2 ฎ 116/2471 / มีดาบคนละเล่มไปที่บ้านเจ้าทรัพย์ ผิด ม 371 เข้าปล้นเวลากลางคืน ผิด ม 364 + 365 (2) (3) +83 / ก ฟันกุญแจบ้าน เจตนาเดียวกัน พวกปล้น ผิด ม 358 + 83 / ช่วยกันลากหีบเหล็ก แต่ติดโซ่ แล้วถูกตำรวจจับ ผิด ม 334+80 + 335 (1) (3) (7) (8) + 80 + 83 +335 ว 2 ฎ 237/2461
- (ขส อ 2536/ 5) นักเรียน 30 คนดักทำร้าย วิ่งไล่อยู่ ตำรวจสั่งให้เลิก จึงยอมหยุด ผิด ม 295+80 (ไม่ ม 391) + 210 และ เป็นการมั่วสุม โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลัง ม 215 (ไม่ผิด ม 216 เพราะผิดสำเร็จตาม ม 215 ไปแล้ว ไม่ใช่เพราะเลิกตามคำสั่ง)
- (ขส อ 2542/ 5) 5 คน วางแผนลักขนุน 2 คนเจอตำรวจ เลิก / 3 คนลัก หนีไปคนหนึ่ง อีกสองคนกำลังมัดปากถุง ผิด ม 210+335(1) (7) + 80 ยังไม่ผิดสำเร็จ ตราบที่ยังไม่ได้เก็บ และยึดถือขนุนที่หลุด ไว้ในครอบครอง / 2 คนแรกผิด ม 213 + 83
มาตรา 211 ผู้ใดประชุม ในที่ประชุมอั้งยี่หรือซ่องโจร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร เว้นแต่ผู้นั้นจะแสดงได้ว่า ได้ประชุมโดยไม่รู้ว่าเป็นการประชุมของอั้งยี่หรือซ่องโจร
มาตรา 212 ผู้ใด
(1) จัดหาที่ประชุม หรือที่พำนักให้แก่อั้งยี่ หรือซ่องโจร
(2) ชักชวนบุคคลให้เข้าเป็นสมาชิกอั้งยี่ หรือพรรคพวกซ่องโจร
(3) อุปการะอั้งยี่ หรือซ่องโจร โดยให้ทรัพย์ หรือโดยประการอื่น หรือ
(4) ช่วยจำหน่ายทรัพย์ที่อั้งยี่หรือซ่องโจรได้มา โดยการกระทำความผิด
ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร แล้วแต่กรณี
- “ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิด มาตรา 209 หรือ ม 210” แสดงว่า มาตรา 212 ไม่ใช่เป็นความผิด มาตรา 209 หรือ มาตรา 210 ผลก็คือจะนำมาตรา 213 มาใช้แก่ผู้ทำผิด มาตรา 212 ไม่ได้
- ดำ ขาว เขียว เหลือง ส้ม 5 คน สมคบกันจะไปล้วงกระเป๋าประชาชน ที่งานแสดงดนตรี ก่อนถึงวันแสดงนายดำกับพวกดังกล่าวนัดประชุมชักชวนกันอีกครั้งหนึ่งที่บ้านนายแดง นายแดงเป็นผู้จัดให้ใช้บ้านของตนเป็นที่ประชุม แต่ไม่ได้เข้าประชุม คืนวันงาน นายขาวป่วยไปร่วมด้วยไม่ได้ ดำกับพวกจึงไปตามแผนที่เตรียมไว้ เจ้าพนักงานตำรวจจับนายดำกับพวกได้พร้อมกับทรัพย์สินที่ลักมา / ขาวผิด ม 210 และ ม 335 (1) (7) ตาม ม 213 เพราะขาวอยู่ในที่ประชุมแต่ไม่ได้คัดค้านในการตกลง / แดงเป็นผู้จัดหาที่ประชุม ผิด ม 212 ว 1 และเนื่องจากมาตรานี้ให้ระวางโทษเช่นเดียวกับ ผู้กระทำความผิดฐาน ม 210 เท่านั้น จึงลงโทษแดงตามมาตรา 213 ไม่ได้
- มาตรานี้ เป็น การสนับสนุน ตาม ปอ ม 86 โทษสองในสามส่วน สำหรับความผิดที่สนับสนุน แต่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงกำหนดโทษเท่ากับ ผู้กระทำความผิด ม 209-210
- “การช่วยจำหน่ายทรัพย์ฯ “ อาจเป็นความผิด ม 357 ด้วย และ ปรับ ม 90
- “ผู้ใดจัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แก่อั้งยี่หรือซ่องโจร” เมื่อได้จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แล้ว แม้ยังไม่มีการประชุมหรือมีการพำนักก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว / ดร. หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า ม 212 ว 2 หมายถึง กรณีที่บุคคลซึ่งมิได้เป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร แต่ได้ชักชวนให้บุคคลอื่นเข้าเป็นสมาชิก ส่วนกรณีที่สมาชิกอั้งยี่หรือซ่องโจรได้ชักชวนให้บุคคลอื่นเข้าเป็นสมาชิก ผิด ม 209 หรือ ม 210 บทเดียว และไม่ผิด ม 212 ว 2 อีก / อ สถิต เห็นว่า กฎหมายเอาผิดผู้ที่ชักชวน แม้ผู้นั้นจะเป็นสมาชิก ชักชวนเองก็ผิดมาตรานี้ได้ มาตรา 209 และมาตรา 210 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรม ต่างกันกับการกระทำตามมาตรานี้ ตาม ปอ ม 91 / อ จิตติ ติงศภัทิย์ เห็นว่า แม้ตนเองไม่เป็นสมาชิก ถ้าได้ความ ว่าได้กระทำการชักชวนผู้อื่นก็เป็นความผิดได้ และได้อธิบายต่อไปว่าการชักชวนอาจกระทำก่อนมีอั้งยี่หรือซ่องโจรก็ได้ แต่ต้องมีอั้งยี่หรือซ่องโจรอยู่ตามที่ชักชวน และต้องมีผลคือผู้ถูกชักชวนเข้าเป็นสมาชิกหรือพรรคพวก จึงจะเป็นความผิดสำเร็จตามข้อนี้ / อ สุปัน พูลพัฒน์ เห็นว่า การชักชวนบุคคลให้เข้าเป็นสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวก ซ่องโจรดังกล่าวเป็นความผิดสำเร็จ เพียงแต่ชักชวนผู้ถูกชักชวนจะเข้าเป็นสมาชิกหรือพรรคพวกตามที่ชักชวนหรือไม่ ไม่สำคัญ / อ.สถิต เห็นว่า กฎหมายกำหนดแต่เพียงว่า ผู้ใดชักชวนบุคคลให้เข้าเป็นสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรเท่านั้น ฉะนั้น เพียงแต่ชักชวนบุคคลให้เข้าเป็นสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจร ก็น่าจะเป็นความผิดสำเร็จแล้ว
มาตรา 213 ถ้าสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรคนหนึ่งคนใด ได้กระทำความผิดตามความมุ่งหมายของอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น สมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจร “ที่อยู่ด้วยในขณะกระทำความผิด” หรือ “อยู่ด้วยในที่ประชุม แต่ไม่ได้คัดค้าน” ในการตกลงให้กระทำความผิดนั้น และบรรดา “หัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่” ในอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นทุกคน
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 213
- (ขส พ 2516/ 6) หกคนร่วมวางแผนปล้น แต่ฤกษ์ไม่ดี จึงไม่ได้ปล้น ต่อมาวางแผนใหม่ ทิดและจัน ไอยากปล้น แต่เกรงใจพวก จึงร่วมมือด้วย ก่อนถึงบ้านปล้น นายทิดแยกตัวกลับ นายจันชี้บ้านแล้วรออยู่ห่างบ้าน ๓ เส้น โดยไม่ได้ช่วยเหลือใด ๆ อีก นายคานดูลาดเลาแล้ว ออกมาระวังเหตุการณ์ภายนอก พุด หัด และสุก เข้าปล้น นายเสาร์รู้ตัวก่อนจึงนำทรัพย์ไปไว้ที่อื่น พวกปล้นไม่ได้ทรัพย์ไป / การประชุมปล้นทั้งสอง ครั้ง ผิด ม 210 พุด หัด และสุก ทำผิดตามที่สมคบ ทิด จัน และคาน ต้องรับโทษเช่นกัน ตาม ม 213 ไม่ต้องพิจารณาเรื่องตัวการ ผู้สนับสนุน เมื่อไม่ได้ทรัพย์จึงผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ ม 340,80 ฎ 1103-4/2496
- (ขส พ 2524/ 10) นายโซ๊ะ เลาะ และคนไทยสามคน สมคบกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยเข้าช่องทางฯ ผิด ม 210 แม้โซ๊ะ เลาะ เป็นคนต่างด้าว แต่ทำผิดในประเทศไทย ต้องรับโทษในไทยตาม ม 4 / คนไทยสามคนผิด ม 334 ว 2 แม้ทำผิดนอกประเทศ ต้องรับโทษในไทย เพราะรัฐบาลมาเลร้องขอ ตาม ม 8 รับโทษ ตาม ม 335 ว 2 ในไทย / นายเลาะคนต่างด้าว ผิดฐานสนับสนุนลักทรัพย์ แต่เป็นการทำผิดนอกประเทศ คนไทยหรือรัฐบาลไทยไม่ใช่ผู้เสียหาย นายเลาะไม่ต้องรับโทษตาม ม 8 / นายโซ๊ะ แม้ไม่มีส่วนลักทรัพย์ แต่อยู่ในที่ประชุมซ่องโจรและไม่คัดค้านต้องรับโทษตาม ม 335 ว 2 ตาม ม 213 ส่วนนายเลาะ เป็นผู้สนับสนุนแล้ว ไม่อยู่ในความประสงค์ของ ม 213 ที่จะต้องรับผิดตาม มาตรานี้อีก
- (ขส อ 2542/ 5) 5 คน วางแผนลักขนุน 2 คนเจอตำรวจ เลิก / 3 คนลัก หนีไปคนหนึ่ง อีกสองคนกำลังมัดปากถุง ผิด ม 210+335(1) (7) + 80 ยังไม่ผิดสำเร็จ ตราบที่ยังไม่ได้เก็บ และยึดถือขนุนที่หลุด ไว้ในครอบครอง / 2 คนแรกผิด ม 213 + 83
มาตรา 214 ผู้ใดประพฤติตนเป็นปกติธุระ เป็นผู้จัดหาที่พำนัก ที่ซ่อนเร้น หรือที่ประชุมให้บุคคลซึ่งตนรู้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของผู้กระทำ ศาลจะไม่ลงโทษก็ได้
- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ม 189
มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2387/2536 จำเลย ให้คำปรึกษาแนะนำ และสั่งการในการนัดหยุดงานของลูกจ้าง โดยมิได้เป็นไปตามขั้นตอนและเงื่อนไข ตามกฎหมาย เมื่อเกิดความวุ่นวาย จึงเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2034 – 41/2527 จำเลยเป็น ผู้มีส่วนริเริ่ม ชักชวนประชาชนให้มาชุมนุมที่เกิดเหตุแต่ต้น จนคนเหล่านั้นรวมกันหลายพันคน ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน ไม่ใช่เป็นการกระทำตามสิทธิของตนตามรัฐธรรมนูญ จำเลยผิดตาม ม 116 , 215 ลงโทษ ม 116 ซึ่งเป็นบทหนัก
- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 215
- (ขส อ 2536/ 5) นักเรียน 30 คนดักทำร้าย วิ่งไล่อยู่ ตำรวจสั่งให้เลิก จึงยอมหยุด ผิด ม 295+80 (ไม่ ม 391) + 210 และ เป็นการมั่วสุม โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลัง ม 215 (ไม่ผิด ม 216 เพราะผิดสำเร็จตาม ม 215 ไปแล้ว ไม่ใช่เพราะเลิกตามคำสั่ง)
มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุม เพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1903/2532 (สบฎ เน 63) ป.อ.มาตรา 216 มุ่งประสงค์ลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงาน ที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมกัน เพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ซึ่งเป็นการกระทำที่ยังไม่ถึงขั้นที่ผู้กระทำได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญหรือทำให้เกิดความวุ่นวายอันเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 ดังนั้น มาตรา 216 จึงเป็นความผิดต่างหากอีกบทหนึ่ง หากเจ้าพนักงานได้มีคำสั่งให้เลิกแล้ว แต่ผู้กระทำไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน และได้กระทำการต่อไปจนเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 215 ผู้กระทำก็ย่อมมีความผิดทั้งตามมาตรา 215 และมาตรา 216 อันเป็นกรรมเดียวกัน
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1974/2532 (สบฎ เน 63) ม 216 เป็นความผิดต่างหากอีกบทหนึ่ง หากเจ้าพนักงานมีคำสั่งให้เลิกแล้ว แต่ผู้กระทำไม่เลิกตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน และได้ “กระทำต่อไปจนเป็นความผิดสำเร็จ” ตาม ม 215 ผู้กระทำย่อมมีความผิดทั้ง ม 215 และ 216 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวจากเจตนาเดียวกัน จึงต้องลงโทษตาม มาตรา 216 ซึ่งเป็นบทหนัก
- คำพิพากษาฎีกาที่ 346-7/2535 (สบฎ เน 41) ม 216 มุ่งประสงค์ลงโทษ ผู้ที่ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน ที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตาม ม 215 อันเป็นการกระทำ “ที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นความผิดสำเร็จตาม ม 215” เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้จำเลยกับพวกเลิกการมั่วสุม “ภายหลัง” ที่มีการกระทำผิดตาม ม 215 แล้ว แม้จำเลยทุกคนไม่เลิก การกระทำของจำเลยทุกคนคงมีความผิดตาม ม 215 เท่านั้น ไม่เป็นความผิดตาม ม 216 ด้วย
- คำพิพากษาฎีกาที่ 305/2547 องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 นั้น ผู้มั่วสุมต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 โดยการมั่วสุมนั้นยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทำการ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 แต่หากผู้นั้นกระทำการดังที่มาตรา 215 บัญญัติไว้ ก็จะมีความผิดทั้งมาตรา 215 และมาตรา 216 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ชุมนุมปราศรัยด้วยความสงบ ไม่มีพฤติการณ์ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง แสดงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกมิได้มั่วสุมโดยมีเจตนาพิเศษ เพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 216 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น