ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

มาตรา ๑๓๘ - ๑๔๖

มาตรา 138 ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- กรณีการปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1041/2506 การที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยโดยไม่มีหมายจับ และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา78 (1) ถึง (4) และวรรคสุดท้ายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น เป็นการจับกุมโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยต่อสู้ขัดขวางการจับกุม ก็ไม่มีความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 148/2513 ตำรวจเข้าค้นตัวจำเลยในที่เปลี่ยว โดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบ หรือแสดงหลักฐานว่าเป็นตำรวจ กระทำการตามหน้าที่ และต่างฝ่ายต่างก็ไม่รู้จักกัน แม้จำเลยจะต่อสู้ชกต่อยขัดขวาง ไม่ให้ตำรวจค้นเอาเงินหรือทรัพย์สินของจำเลยไป ก็ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1025/2518 การจับโดยไม่ต้องมีหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(4) นั้น ถ้าเป็นกรณีจับบุคคลในที่รโหฐาน จะต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 81(1) ประกอบกับมาตรา 92 ด้วย / จำเลยทำร้ายร่างกาย ด. . ไปแจ้งความต่อผู้ใหญ่บ้านของให้จับ แต่วันนั้นจับไม่ได้ เพราะมืด รุ่งเช้าผู้ใหญ่บ้านพา ด. ไปแจ้งความต่อผู้บังคับกอง ผู้บังคับกองให้ตำรวจไปกับผู้ใหญ่บ้านเพื่อจับ แต่ไม่พบจึงพากันกลับ ผู้บังคับกองได้สั่งด้วยวาจาว่า ถ้าพบให้จับจำเลยมาดำเนินคดี ตอนเย็นวันนั้นเอง ผู้ใหญ่บ้านกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพากันไปจับจำเลยโดยคนทั้งสองไม่มีหมายจับ พบจำเลยอยู่ใต้ถุนบ้าน ท. ผู้ใหญ่บ้านแจ้งแก่จำเลยว่า ตำรวจต้องการตัวเรื่องทำร้ายร่างกาย ด. จำเลยไม่ยอมให้จับและต่อสู้ขัดขวาง การเข้าไปจับจำเลยถึงใต้ถุนบ้าน ท. อันเป็นที่รโหฐานเช่นนี้ เป็นกรณีซึ่งอยู่ในบังคับของมาตรา 81 (1) ประกอบกับมาตรา 92 ด้วย เมื่อกรณีไม่เข้าด้วยข้อยกเว้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 92 การเข้าไปจับนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยขัดขวางการจับกุมจึงไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3743/2529 เจ้าพนักงานสรรพสามิตและตำรวจค้นพบของกลาง ซึ่งเป็นภาชนะเครื่องกลั่นสำหรับทำสุรา ที่บริเวณบ้านจำเลย และสอบถามแล้ว จำเลยรับว่าเป็นของตน ดังนี้ ไม่ใช่ความผิดซึ่งเจ้าพนักงานเห็นจำเลยกำลังกระทำ หรือพบในอาการซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าจำเลยกระทำผิดมาแล้วสดๆ จึงไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับจำเลยได้ โดยไม่มีหมายจับ เมื่อเป็นการจับกุมโดยไม่มีอำนาจ เพราะไม่มีหมายจับ แม้จำเลยจะต่อสู้ขัดขวางการจับกุม ก็ไม่มีความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2608/2535 เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้แต่งเครื่องแบบ และไม่ได้แสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมกลุ่มเด็กวัยรุ่น โดยไม่แจ้งข้อหาแก่เด็กวัยรุ่นคนใดว่าเป็นผู้ดูหมิ่นตนและจะต้องถูกจับ กลับสั่งให้คนขับรถที่เด็กวัยรุ่นโดยสารมาขับรถไปสถานีตำรวจ จึงถือไม่ได้ว่ามีการจับกุมในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานโดยชอบ ผู้ต่อสู้ขัดขวางมิให้จับกุมไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3178/2540 ผู้เสียหายได้พบจำเลย ในขณะที่จำเลยซึ่งมีอาการเมาสุรานั่งคร่อมอยู่บนรถจักรยานยนต์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิด และผู้เสียหายมิได้เข้าทำการจับกุมจำเลย อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใด อีกทั้งการที่ ส. แจ้งต่อผู้เสียหายก็ระบุแต่เพียงว่าอาจมีเรื่องกันบริเวณปากซอยให้ไปช่วยคนหน่อย จึงฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นโดยจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุ หรือกระทำความผิดอย่างใด การที่ผู้เสียหายปฏิบัติภารกิจอื่นแล้วเข้าไปยังที่เกิดเหตุโดยยังมิได้มีเหตุการณ์วิวาทเกิดขึ้นแต่ผู้เสียหายกลับไปมีเรื่องกับจำเลยเป็นส่วนตัว โดยถูกจำเลยพูดว่ากล่าวและผลักอก จึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้เสียหายกำลังปฏิบัติการตามหน้าที่ในการเข้าระงับเหตุทะเลาะวิวาท หรือจับกุมผู้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 138 แต่อย่างใด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 7985/2540 การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ป.อ.มาตรา 138 นั้น จะต้องเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงาน ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย โดยได้รับการแต่งตั้งตามวิธีการที่กฎหมายให้อำนาจและกำหนดไว้ สำหรับ พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 มาตรา 16 (2) กำหนดให้กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ทำหน้าที่ตรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และมาตรา 29 ระบุว่าเจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างทำการตามหน้าที่ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายทำงานร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ จึงจะมีอำนาจตามกฎหมาย และให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงาน แต่ผู้เสียหายมีหน้าที่เพียงสกัดกั้นผู้กระทำความผิดต่อกฎหมาย ไม่มีหน้าที่จับกุม หากจะจับกุมจะต้องมีเจ้าพนักงานตำรวจและปลัดอำเภอร่วมด้วยดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจ หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับผู้เสียหายในการจับกุมจำเลย ผู้เสียหายย่อมไม่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138

- ประเด็นการต่อสู้ขัดขวาง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 618/2504 เจ้าพนักงานมีคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ ให้จัดการรื้อรั้วไซมาน และจ้างคนให้ทำการรื้อ โดยอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานโดยใกล้ชิด จำเลยทราบแล้วยังขัดขืน เข้าผลักคนรื้อเพื่อขัดขวางการรื้อ ย่อมมีความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 984/2514 คืนเกิดเหตุ ตำรวจกับพวกเจ้าทรัพย์ติดตามไปเอาเรือของเจ้าทรัพย์ที่ถูกคนร้ายชิงไป พบจำเลยทั้งสองอยู่ในเรือลำหนึ่ง ตำรวจซึ่งแต่งเครื่องแบบร้องบอกว่า "นี่ตำรวจ นั่นเรืออะไร เข้ามานี่ก่อน" จำเลยเบนหัวเรือหนี เรือตำรวจไล่ตามไปได้ 5-6 วา จำเลยก็ยิงปืนมา 1 นัด กระสุนปืนถูกพวกเจ้าทรัพย์ที่อยู่ในเรือตำรวจ เมื่อเรือตำรวจไล่ไปจะทันเรือจำเลย จำเลยทั้งสองก็กระโดดน้ำหนีไปพร้อมกัน ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานใช้ปืนเป็นอาวุธต่อสู้ขัดขวาง และฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 501/2537 เมื่อผู้เสียหายจับกุมจำเลยในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำเลยดิ้นรนขัดขืนและชกหน้าผู้เสียหาย 1 ครั้ง จนฟันผู้เสียหายหัก และมีโลหิตไหลออกจากปาก จำเลยจึงมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ.มาตรา138 วรรคสองและทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ.มาตรา 296 อีกกระทงหนึ่ง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 9212/2539 (สบฎ เน 18) จำเลยเอามือกดปืนที่เอวของตน เพื่อไม่ให้ตำรวจดึงไป เป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย มาตรา 138 วรรค 2

- กรณีไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวาง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1318/2506 (อ จิตติ 2/167) ผู้เล่นการพนัน กลัวถูกจับ จึงดำไฟฟ้าในขณะเจ้าพนักงานเข้าจับ แม้ทำให้เกิดความไม่สะดวก ก็ยังไม่ถึงกับเป็นการขัดขวางตาม มาตรา 138

- คำพิพากษาฎีกาที่ 223/2531 จำเลยขับรถยนต์สิบล้อไปถึงด่านตรวจ ได้รับสัญญาณให้หยุดรถจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งยื่นอยู่ริมถนนบริเวณด่านตรวจนั้นแล้วไม่ปฏิบัติตาม โดยจำเลยขับรถผ่านเลยไป เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำการอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้ การกระทำของจำเลยจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2220/2540 ประจักษ์พยานโจทก์ที่นำสืบทั้งสองปากเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมนั้น มิได้แต่งเครื่องแบบเหตุที่เข้าจับกุมจำเลย ก็สืบเนื่องจากเหตุวิวาทส่วนตัวระหว่างจำเลยกับผู้จับกุม ถึงขั้นลงมือทำร้ายกัน ก่อนที่พยานโจทก์อ้างว่าได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จึงเห็นได้ชัดว่าลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของพยานผู้จับกุม เป็นผลสืบเนื่องจากการวิวาทส่วนตัว น้ำหนักความเป็นกลางของพยานผู้จับกุมจึงน้อย ไม่อาจจะรับฟังเชื่อถือได้มั่นคงดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงที่มีประจักษ์พยานบุคคลอื่นซึ่งเป็นประชาชน แต่โจทก์หาได้นำสืบประกอบเพื่อสนับสนุนให้คำเบิกความของพยานผู้จับกุมมีน้ำหนักดีขึ้นแต่ประการใดไม่ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยโดยปราศจากข้อสงสัย ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5980/2540 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ในข้อหาลักทรัพย์และควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ไปที่รถโดยสิบตำรวจโท ศ. กับนาบดาบตำรวจ อ. เดินขนาบข้างคล้องแขนจำเลยที่ 1 ไว้คนละข้าง ระหว่างทางจำเลยที่ 2 กับพวกประมาณ 10 ถึง 15 คน เข้ามาแย่งตัวจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เข้ามาดึงตัวจำเลยที่ 1 ออกไป และถีบสิบตำรวจโท ศ. กับนายดาบตำรวจ อ. ส่วนจำเลยที่ 1 ได้พยายามดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากการถูกควบคุมตัว ซึ่งแม้ว่าในการดิ้นรนของจำเลยที่ 1 จะเป็นเหตุให้เท้าของจำเลยที่ 1 ไปโดนสิบตำรวจโท ศ. กับ นายดาบตำรวจ อ. ก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2410/2545 จำเลยขับรถยนต์กระบะมาถึงด่านตรวจ เจ้าพนักงานตำรวจได้ให้สัญญาณให้หยุดรถเพื่อตรวจ จำเลยไม่ยอมหยุด และได้ขับรถเลยไป จนต้องมีการไล่ติดตามเพื่อสกัดจับ การที่จำเลยขับรถเลยไป ไม่ยอมหยุดให้ตรวจค้นก็ดี การที่จำเลยดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากการจับกุมก็ดี เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการจะหลบหนี จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

- ประเด็นเรื่องเจตนาต่อสู้ขัดขวาง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3231/2531 จำเลยไม่ยอมให้ค้น เนื่องจากเกรงว่าตำรวจจะกลั่นแกล้ง เพราะเหตุที่เคยมีสาเหตุกับตำรวจนั้นมาก่อน ในที่สุดจำเลยยอมให้ค้น เห็นได้ว่าจำเลยขาดเจตนาต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ไม่ผิด ม 138


- มาตรา 138 วรรคสอง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1166/2499 แม้จำเลยไม่ได้ใช้วาจาขู่เข็ญ แต่ได้ใช้มีดเงื้อจะทำร้ายเจ้าพนักงานก็ย่อมถือได้แล้วว่าเป็นการขู่เข็ญจะทำร้ายโดยประสงค์จะต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 984/2514 คืนเกิดเหตุ ตำรวจกับพวกตามหาเรือของเจ้าทรัพย์ที่ถูกคนร้ายชิงไป พบจำเลยทั้งสองอยู่ในเรือลำหนึ่ง ตำรวจซึ่งอยู่ในเครื่องแบบ แสดงตัวและบอกให้จำเลยเข้ามาหา จำเลยทั้งสองรู้ว่าเป็นตำรวจ แต่ขัดขืน และได้ยิงปืนมาที่เรือตำรวจ 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่ขา แล้วจำเลยทั้งสองโดดน้ำหนีพร้อมกัน ดังนี้ จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานกับผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่กระทำตามหน้าที่ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2514) (ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 288, 289, 80,83 ให้ลงโทษตามมาตรา 289, 80, 83 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด / ศาลฎีกาพิพากษาว่า พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 288, 289, 80, 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 289, 80 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2564/2517 ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ประมาณ 1 เดือน จำเลยถูกกล่าวหาว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่น วันเกิดเหตุตำรวจออกตรวจท้องที่ เห็นจำเลยกับพวกอยู่บนบ้านหลังหนึ่งในสวนยาง ตำรวจเข้าไปในระยะห่าง 1 เส้น ร้องตะโกนว่า อย่าหนี นี่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จำเลยกระโดดหนีลงทางหลังบ้าน แล้วใช้ปืนยิงขู่ตำรวจและหลบหนีไปได้ เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติราชการตามหน้าที่แล้ว เพราะตำรวจเหล่านั้นมีอำนาจจับกุมจำเลยได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา78 (3) ทั้งตามพฤติการณ์เช่นนี้ตำรวจเหล่านั้นอาจจับจำเลยได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นไปค้นบนบ้านอันเป็นที่รโหฐานแต่ประการใดด้วย / เมื่อการกระทำของจำเลยต้องด้วย มาตรา 140 แล้วก็ไม่ต้องปรับบทด้วย มาตรา 138 อีก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2335/2518 นายร้อยตำรวจทำหน้าที่นายร้อยเวรสอบสวนไปนั่งในร้านอาหาร ยังมีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมผู้ทำผิดซึ่งหน้า การชกต่อยต่อสู้ ไม่ยอมให้จับ เป็นความผิดตาม ม.138 วรรค 2, 295 (ฐานทำร้ายร่างกาย ต้องปรับเหตุฉกรรจ์ ม 296)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 52/2523 การที่จำเลยที่ 1กอดเอว และจำเลยที่ 2 ดึงเสื้อเจ้าพนักงานตำรวจไว้ เพื่อมิให้จับกุมญาติของตนที่กำลังถูกติดตามจับกุมเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5479/2536 จำเลยใช้มือผลักหน้าอกร้อยตำรวจโท ป. ในขณะที่จะเข้าตรวจค้นบ้านจำเลยตามหมายค้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย และการที่จำเลยพูดด่าร้อยตำรวจโท ป.ร้อยตำรวจโท ส. และร้อยตำรวจตรี ช. กับพวกว่า "ไอ้พวกอันธพาล ไอ้พวกฉิบหาย ไอ้มือปืน" เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 176/2543 การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดฟันพลตำรวจ ก. ซึ่งแต่งกายเครื่องแบบตำรวจและออกตรวจท้องที่ ในขณะปฏิบัติหน้าที่สามีภริยาทะเลาะวิวาทกัน ไม่ว่าการใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายร่างกายพลตำรวจ ก. ดังกล่าวจะมีมูลเหตุมาโดยประการใด หรือไม่เกี่ยวข้องกับการที่พลตำรวจ ก. กับพวกจับกุมจำเลยที่ 1 กับพวก ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำร้ายร่างกายพลตำรวจ ก. เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ เพราะการที่พลตำรวจ ก. กับพวกกำลังระงับเหตุทะเลาะวิวาทกันดังกล่าว ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามหน้าที่ โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 296 (ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม มาตรา 140 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 138 วรรคสอง, มาตรา 83 จำคุกคนละ 6 เดือน และจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม มาตรา 296,371 เป็นความผิดหลายกรรม ศาลอุทธรณ์แก้โทษ )

- ความผิดสำเร็จ

- (อ จิตติ 2/167) การต่อสู้ขัดขวาง ไม่จำต้องมีผล ถือว่าความผิดสำเร็จทันที เมื่อมีการต่อสู้ขัดขวาง ไม่ต้องรอให้ผลเกิด แม้การขัดขวางนั้นจะไม่ได้ผลเลย เพราะเจ้าพนักงานยังสามารถกระทำการตามหน้าที่ได้สำเร็จก็ตาม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 243/2509 การที่จำเลยยิงปืนขึ้นฟ้า เพื่อขู่ตำรวจมิให้ไล่จับกุมจำเลยต่อไปนั้น เป็นการขัดขวางเจ้าพนักงาน ตาม ม 138 ต้องลงโทษตาม มาตรา 140 (เป็นการ ต่อสู้ขัดขวางโดย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายแต่มีเหตุฉกรรจ์ ตรงที่ใช้อาวุธปืน / แม้ตำรวจไล่ตามจับจำเลยจนได้ ซึ่งหมายถึง การต่อสู้ขัอขวางของจำเลย ไม่เกิดผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานหยุดชะงัก )

- ผู้เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3891/2530 จำเลยนั่งดื่มสุราอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น 5-6 คน เมาสุราส่งเสียงเอะอะ เจ้าพนักงานเข้าไปตักเตือนห้ามปราม และจะขอจับกุมวัยรุ่นกลุ่มนั้นกลุ้มรุมทำร้ายเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยไม่ได้ลงมือทำร้ายร่างกายด้วย แต่การที่จำเลยยืนดูอยู่ห่างประมาณ 5 เมตร ยกเก้าอี้เหล็กขึ้น เพื่อคอยช่วยเหลือเพื่อนของจำเลยในการต่อสู้ทำร้ายเจ้าพนักงานตำรวจ ถือได้ว่าได้ร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ในการปฏิบัติการตามหน้าที่แล้ว

- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 289 (2) ฆ่าเจ้าพนักงาน / มาตรา 296 ทำร้ายเจ้าพนักงาน / มาตรา 298 ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานถึงสาหัส

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 138

- (ขส เน 2538/4) พลตำรวจได้รับคำสั่งให้จับกุมผู้ทำผิด แจ้งผู้ทำผิดให้หนีไปก่อนถึงเวลาจับกุม / เมื่อตำรวจอื่นจะเข้าจับ พลตำรวจเข้าไปกั้นเพื่อให้ล่าช้า จนผู้ทำผิดหนีไปได้ / พลตำรวจ มีอำนาจสืบสวนและมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามคำสั่ง การแจ้งให้หลบหนี และเข้าขัดขวางการจับกุม เป็นการกระทำโดยมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลไม่ให้ต้องโทษ ถือเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานฯ และเป็นการป้องกัน หรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำสั่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ผิด ม 138 + 157 + 165 + 200 การแจ้งให้หลบหนี เป็นการช่วยผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด ซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ผิด ม 189 ด้วย

มาตรา 139 ผู้ใดข่มขืนใจเจ้าพนักงาน ให้ปฏิบัติการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินแปดพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 920/2508 จำเลยไปพูดขอประกันผู้ต้องหาเป็นการส่วนตัว ขณะพนักงานสอบสวนกำลังกินข้าวที่บ้านพัก จึงไม่ใช่เวลาปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ตามมาตรา 136 / เมื่อพนักงานสอบสวน ไม่ยอมสั่งอนุญาตให้จำเลยประกันตัวผู้ต้องหา เพราะผิดระเบียบ จำเลยพูดขู่เข็ญว่าถ้าไม่สั่งให้ประกัน จำเลยจะจัดการให้พนักงานสอบสวนถูกย้ายไปที่อื่น เช่นที่เคยกระทำได้ผลมาแล้วแก่ผู้บังคับกองคนหนึ่ง แต่โดยที่เรื่องย้ายไม่แน่ ถ้าไม่ให้ประกันจะต้องเอาพนักงานสอบสวนลงหลุมฝังศพเสีย เป็นการข่มขืนใจ ขู่เข็ญพนักงานให้ถึงแก่ชีวิต ด้วยการใช้กำลังประทุษร้าย ตามความหมายของถ้อยคำ เพื่อให้เจ้าพนักงานปฏิบัติการสั่งประกันเสียเองอันมิชอบด้วยหน้าที่ เป็นความผิดตาม มาตรา 139

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1266/2530 ตำรวจจะเข้าจับกุมเจ้าของรถเข็นในข้อหานำรถที่ไม่ได้เสียภาษีมาใช้ในทางและกีดขวางทางจราจร จำเลยพูดว่า 'ถ้าจับ มีเรื่องแน่' พร้อมกับชี้มือในลักษณะของการข่มขู่ และพวกจำเลยประมาณ 30-40 คนได้เดินเข้าไปหาตำรวจ ทำให้ตำรวจกลัวว่าจำเลยและพวกจะทำร้าย จึงพากันถอยออกไป การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะข่มขืนใจไม่ให้เจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยจึงมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 และเมื่อการกระทำต้องด้วยมาตรา 140 ก็ไม่ต้องปรับบทด้วยมาตรา 139 อีก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1266/2530 เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมเจ้าของรถเข็น ในข้อหานำรถที่ไม่ได้เสียภาษีมาใช้ในทาง และกีดขวางทางจราจร จำเลยได้พูดว่าถ้าจับไปน่าดู วันนี้มีเรื่องแน่พร้อมกับชี้มือในลักษณะของการข่มขู่ และพวกของจำเลยอีกประมาณ 30-40 คน ก็เดินเข้าไปหาเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจเกรงว่าจะถูกทำร้ายจึงต้องถอยออกไป การกระทำของจำเลยกับพวก จึงเป็นการข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เป็นความผิดตาม มาตรา 140 / เมื่อการกระทำของจำเลยต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 140 แล้ว กรณีไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 139 อีก

- ประเด็นความผิดสำเร็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2989/2537 การที่จำเลยพูดขู่เข็ญจะฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้หากไม่ปล่อยไม้ที่ยึด เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นการลงมือกระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดแล้ว แต่การกระทำนั้น ไม่บรรลุผล เพราะผู้เสียหายไม่เกรงกลัว ไม่ยินยอมปล่อยไม้ที่ยึด ผู้เสียหายจึงไม่ได้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ที่จำเลยข่มขืนใจ จำเลยจึงมีความผิดขั้นพยายามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 ประกอบมาตรา 80

- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 289 (2) ฆ่าเจ้าพนักงาน / มาตรา 296 ทำร้ายเจ้าพนักงาน / มาตรา 309 ความผิดต่อเสรีภาพ


มาตรา 140 ถ้าความผิดตามมาตรา 138 วรรคสอง หรือมาตรา 139 ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะมีอยู่หรือไม่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท

ถ้าความผิดตามมาตรานี้ ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 243/2509 การที่จำเลยยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่ตำรวจมิให้ไล่จับกุมจำเลยต่อไปนั้น เป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานมิให้จับกุมจำเลย หรือมิให้ปฏิบัติการตามหน้าที่ ตาม มาตรา 138 บัญญัติเป็นความผิดแล้ว ต้องลงโทษตามมาตรา 140

- คำพิพากษาฎีกาที่ 319,320/2521 นายสิบตำรวจจับผู้ที่กำลังยิงคน ผู้นั้นไม่ยอมให้จับเกิดปล้ำกัน เป็นกรณีจับผู้กระทำผิดซึ่งหน้า ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องแจ้งว่าจะจับตาม ป.ว.อ. ม.82 วรรคแรก การต่อสู้เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.140

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2780/2527 จำเลยจ้องปืนมาทางจ่าสิบตำรวจ น. กับพวกแล้วก็มี เสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จากทางด้านจำเลย ซึ่งจำเลยจะ ต้องเป็นผู้ยิงเพราะพวกของจำเลยไม่มีปืน แม้กระสุนปืนที่จำเลยยิงจะไม่ถูกใคร แต่การที่จำเลยยิงปืนมาทางจ่าสิบตำรวจ น. กับพวก จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่าอาจเป็นเหตุให้จ่าสิบตำรวจ น. กับพวกคนใดคนหนึ่งหรือ หลายคนถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1266/2530 ตำรวจจะเข้าจับกุมเจ้าของรถเข็นในข้อหานำรถที่ไม่ได้เสียภาษีมาใช้ในทางและกีดขวางทางจราจร จำเลยพูดว่า 'ถ้าจับ มีเรื่องแน่' พร้อมกับชี้มือในลักษณะของการข่มขู่ และพวกจำเลยประมาณ 30-40 คนได้เดินเข้าไปหาตำรวจ ทำให้ตำรวจกลัวว่าจำเลยและพวกจะทำร้าย จึงพากันถอยออกไป การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะข่มขืนใจไม่ให้เจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยจึงมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 และเมื่อการกระทำต้องด้วยมาตรา 140 ก็ไม่ต้องปรับบทด้วยมาตรา 139 อีก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5980/2540 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ในข้อหาลักทรัพย์ และควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ไปที่รถ โดยสิบตำรวจโท ศ. กับนายดาบตำรวจ อ.เดินขนาบข้าง คล้องแขนจำเลยที่ 1 ไว้คนละข้าง ระหว่างทางจำเลยที่ 2 กับพวกประมาณ 10 ถึง 15 คน เข้ามาแย่งตัวจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เข้ามาดึงตัวจำเลยที่ 1 ออกไป และถีบสิบตำรวจโท ศ. กับนายดาบตำรวจ อ. ส่วนจำเลยที่ 1 ได้พยายามดิ้นรน เพื่อให้พ้นจากการถูกควบคุมตัว ซึ่งแม้ว่าในการดิ้นรนของจำเลยที่ 1 จะเป็นเหตุให้เท้าของจำเลยที่ 1 ไปโดนสิบตำรวจโท ศ. กับนายดาบตำรวจ อ. ก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 140

- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 289 (2) ฆ่าเจ้าพนักงาน / มาตรา 290 วรรคสอง ไม่เจตนาฆ่า แต่ทำร้ายเจ้าพนักงานถึงตาย / มาตรา 296 ทำร้ายเจ้าพนักงาน / มาตรา 298 ทำร้ายเจ้าพนักงานสาหัส /

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 140

- (ขส พ 2528/ 8) จำเลยที่ 1 ชักปืนเจตนายิงตำรวจ แต่ขณะกระชากลูกเลื่อนถูกขัดขวาง ยังไม่ถึงขั้นลงมือ ไม่ผิด ม 80, 288 แต่ผิด ม 140 ว ท้าย ฎ 1120/2517 / จำเลยที่ 2 นำกระสุนด้านมาใช้ยิง กระสุนด้านอีก เป็นเหตุบังเอิญ หาใช่แน่แท้ว่าจะไม่ทำให้เกิดอันตราย ผิด ม 140 ว ท้าย และผิด ม 80,289 ฎ 783/2513 เหตุเกิดกระทันหัน ไม่มีพฤติการณ์เป็นตัวการ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามจำเลยที่ 2


มาตรา 141 ผู้ใดถอน ทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่ง ตราหรือเครื่องหมาย อันเจ้าพนักงานได้ประทับหรือหมายไว้ที่สิ่งใด ๆ ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพื่อเป็นหลักฐานในการยึด อายัด หรือรักษาสิ่งนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 17/2506 เจ้าพนักงานที่ดินผู้ไปทำแผนที่พิพาทตามคำสั่งศาลในคดีแพ่ง ไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 1 และ 67 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพราะมิได้ปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นแต่ศาลขอร้องในฐานผู้ชำนาญ หรือมีความรู้ในทางนี้ ทั้งไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ เพื่อเป็นหลักฐานในการยึด อายัดหรือรักษาสิ่งใด ๆ ตาม มาตรา 141 ด้วย เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไปทำแผนที่พิพาทตามคำสั่งศาล และปักหลักเครื่องหมายเขตที่ดินไว้ จำเลยถอน จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

มาตรา 142 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่ง ทรัพย์สินหรือเอกสารใด ๆ อันเจ้าพนักงานได้ยึด รักษาไว้ หรือสั่งให้ส่ง เพื่อเป็นพยานหลักฐาน หรือเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ว่าเจ้าพนักงานจะรักษาทรัพย์หรือเอกสารนั้นไว้เอง หรือสั่งให้ผู้นั้นหรือผู้อื่น ส่งหรือรักษาไว้ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1746/2494 จำเลยต้องหาว่าลักกระบือ เจ้าพนักงานสงสัยว่าจำเลยเอากระบือที่ลักไปขายเสียแล้ว ซื้อสิ่งของอื่นมา จึงจับจำเลยและสิ่งของอื่นนั้นมาเป็นของกลาง นำส่งปลัดอำเภอ ปลัดอำเภอรับตัวจำเลยจากตำรวจพร้อมทั้งของกลางได้ทำบันทึกการยึดและแจ้งให้จำเลยทราบด้วย ดังนี้ ถือได้ว่าได้ยึดสิ่งของที่จับมาเป็นของกลางโดยชอบตาม ป..วิ.อาญามาตรา 85 แล้ว เมื่อจำเลยลักเอาสิ่งของที่ถูกยึดนั้นไป ก็ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ก..ลักษณะอาญามาตรา290

- คำพิพากษาฎีกาที่ 665/2517 ฮ.ใช้ปืนยิง ป. และ ว. ตาย จ่าสิบตำรวจ ส. ได้รับแจ้งความแล้วไปยังที่เกิดเหตุ ในระหว่างทางพบจำเลยที่ 1 และ 2 และ ฮ. จึงถามจำเลยที่ 1 ว่าปืนที่ ฮ.ใช้ยิง ป. และ ว. นั้นอยู่กับใคร จำเลยที่ 1 ว่าอยู่กับ จำเลยที่ 3 จ่าสิบตำรวจ ส. บอกจำเลยที่ 1 ให้เก็บปืนไว้ด้วย เมื่อจ่าสิบตำรวจ ส. มอบตัว ฮ. ที่สถานีตำรวจแล้วกลับไปที่เกิดเหตุ เพื่อยึดปืนของกลาง จ่าสิบตำรวจ ส. ถามจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ว่า เมื่อได้รับปืนจากจำเลยที่ 2 แล้วได้เอาไปวางไว้ที่กล่องเบียร์แล้วหายไป จ่าสิบตำรวจ ส. จึงไม่ได้ปืนนั้นมาเป็นของกลาง ดังนี้บุตรของ ป. กับ ว. และมารดาของ ว. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม มาตรา 142

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3854/2525 สถานีรถไฟปาดังเบซาร์อยู่ในประเทศมาเลเซีย ห่างเขตแดนประเทศไทย 500 เมตร ภายในสถานีมีด่านศุลกากรของไทยและมาเลเซีย เมื่อเวลา 8 นาฬิกา นายตรวจศุลกากรประจำด่านของไทยยึดเห็ดหอม ไม่ปรากฏเจ้าของมาจากที่ทำงานพนักงานตรวจรถไฟ ซึ่งอยู่ติดสถานีเพื่อเก็บในด่านศุลกากร ขณะรอคนเปิดประตูห้อง จำเลยเข้ามาแสดงตัวเป็นเจ้าของขอคืน แล้วเกิดทำร้ายกันขึ้น เมื่อเป็นความผิดตามกฎหมายภาษีศุลกากรกับความผิดซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน คือต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และเอาของกลางไป ดังนี้ ศาลไทยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ / จำเลยนำเห็ดหอมไปวาง ณ ที่ทำการพนักงานตรวจรถไฟ ยังไม่เป็นความผิดฐานนำสินค้าต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ม.27 แม้เพียงขั้นพยายามกระทำผิด และเมื่อไปนำกลับคืนมา จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. ม.142

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 142


มาตรา 143 ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล โดยวิธีการอันทุจริต หรือผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพลของตน ให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่ อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 971/2508 พนักงานอัยการ ย่อมมีสิทธิดำเนินคดีขอให้ลงโทษจำเลย ตาม มาตรา 143 อันเป็นความผิดต่ออาญาแผ่นดินได้ / บุตรผู้เสียหายต้องหาว่าลักทรัพย์บุคคลอื่น จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านรับจะช่วยเหลือให้หลุดพ้น แต่ต้องให้เงินแก่จำเลยเพื่อเอาไปให้พนักงานสอบสวนผู้เสียหายหลงเชื่อจึงให้เงินแก่จำเลย โดยประสงค์ที่จะให้บุตรของตนไม่ต้องรับโทษนั้น เข้าลักษณะเป็นการที่ผู้เสียหายใช้ให้จำเลยไปกระทำผิด จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงาน นำคดีขึ้นว่ากล่าวในความผิดฐานฉ้อโกง อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1123/2509 โจทก์ร่วมจ่ายเงินให้จำเลยรับไปแล้วห้าแสนบาท จำเลยตั้งข้อเรียกร้องเอาเงินค่าวิ่งเต้นให้โจทก์ร่วมจ่ายเพิ่มอีก โดยพูดขู่ด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษรว่า ถ้าไม่ตกลงจ่ายเงินตามที่จำเลยเรียกร้อง ก็ให้เตรียมตัวเข้าคุก เป็นการข่มขืนใจให้โจทก์ร่วมยอมจะจ่ายเงินเพิ่มให้อีก จนโจทก์ร่วมผู้ถูกข่มขืนใจ ยอมจะให้เพิ่มขึ้นตามคำขู่ของจำเลย เพราะเกรงว่าถ้าไม่ยอมทำตามจะต้องได้รับโทษจำคุก ซึ่งเป็นอันตรายต่อเสรีภาย ชื่อเสียงของโจทก์ร่วมเป็นความผิดตามมาตรา 337

- คำพิพากษาฎีกาที่ 511/2516 การที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมผู้กระทำความผิด มีหน้าที่ต้องเบิกความต่อศาลตามความสัตย์จริง ในฐานะเป็นพยาน ในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกฟ้องนั้น เป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชน ทั่ว ๆ ไป หาใช่เป็นหน้าที่โดยตรงอันสืบเนื่องมาจาก การที่เป็นเจ้าพนักงานผู้จับกุมผู้กระทำความผิดไม่ แม้จำเลยจะเรียก และรับเงินจากผู้อื่นเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานดังกล่าว ให้เบิกความผิดไปจากความจริง ก็ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 143

- คำพิพากษาฎีกาที่ 423/2522 จำเลยเรียกเงินจากร้านค้าที่จำเลยรับจ้างทำบัญชีอ้างว่า จะเอาไปให้ ป.ผู้ช่วยสรรพากรไม่ให้มาตรวจบัญชีที่ทำผิดแต่ ป.ทำหน้าที่ธุรการไม่มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชี การกระทำของจำเลยไม่ผิดตาม ม.143

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2345/2522 (สบฎ เน 5881) เรียกและรับเงินจากผู้ต้องหา อ้างว่าจะเอาไปให้พนักงานสอบสวน เพื่อช่วยให้พ้นคดีที่ต้องหา เป็นความผิด ตาม ม 143

- คำพิพากษาฎีกาที่ 537/2523 เรียกทรัพย์ว่าจะนำไปให้ผู้พิพากษาตัดสินยกฟ้อง แม้ผู้เรียกไม่ตั้งใจจะเอาทรัพย์ที่เรียกไปให้เจ้าพนักงานนั้นเลย ก็เป็นการกระทำที่ครบองค์ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 334/2526 จำเลยเรียกเงินโดยอ้างว่าจะนำไปให้ผู้พิพากษาเพื่อให้พิพากษาฟ้องคดีอาญา ซึ่งญาติของ ป. กับพวกเป็นจำเลย วันต่อมาจำเลยจึงได้รับเงินจาก ป. กับพวก ดังนี้ เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเรียกและรับเงิน ซึ่งเป็นเจตนาอันเดียวกันมาตั้งแต่แรก และเป็นการกระทำต่อเนื่องในคราวเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นการกระทำกรรมเดียว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4586/2531 การที่จำเลยเรียกและรับเงินจาก ท. กับพวกโดยอ้างว่าจะเอาไปให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เพื่อให้พิพากษายกฟ้องในคดีที่ ท. กับพวกเป็นจำเลยดังนี้ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่จำเลยอ้างดังกล่าว ย่อมหมายถึงผู้พิพากษาผู้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในศาลอุทธรณ์ ได้ตามกฎหมาย แม้จะมิได้เป็นเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะที่พิจารณาพิพากษาคดีนั้นก็ตาม ก็ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานที่จำเลยจะจูงใจ ให้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ ท. กับพวกแล้วการกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 143

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5174/2533 จ.สามี ล.ที่จำเลยที่ 2 พา น.ไปติดต่อ เพื่อจะขอให้ช่วยวิ่งเต้นให้ น. ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ไม่ได้เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ จ.จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานที่ ล. หรือจำเลยคนหนึ่งคนใด จะพึงจูงใจให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่ โดยพิพากษาคดีในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่บุคคลใด อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 143 ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4846/2536 การที่จำเลยที่ 1 เรียกและรับเงินจำนวน 1,000,000 บาท ไป จากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาโดยวิธีอันทุจริต ให้กระทำการในหน้าที่โดยพิพากษาคดีให้เป็นคุณแก่ผู้เสียหายให้ผู้เสียหายชนะคดีในชั้นศาลฎีกานั้น ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 แล้ว จำเลยที่ 1 จะได้ไปจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาให้กระทำการในหน้าที่ให้เป็นคุณแก่ผู้เสียหายหรือไม่ หาใช่องค์ประกอบของความผิดไม่ ดังนั้นแม้ศาลชั้นต้นจะได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาไปก่อนที่จำเลยที่ 1 จะได้เรียกและรับเงินจากผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมไม่สามารถจะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณแก่ผู้เสียหายได้ทันก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1332/2537 โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเรียกและรับเงินจากผู้เสียหาย โดยอ้างว่าจะนำไปให้ ก. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารแก่ผู้เสียหาย เพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานกระทำการในหน้าที่ อันเป็นคุณแก่ผู้เสียหายโดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมาย ตาม ป.อ. มาตรา 143 นั้น มิได้อยู่ที่เจ้าพนักงานได้กระทำการในหน้าที่แล้วหรือไม่ แม้จะออกใบอนุญาตแล้ว ก. ก็ยังคงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การออกใบอนุญาตไปแล้วมิได้ทำให้ฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 7695/2543 การที่จำเลยที่ 2 ร่วมเรียกและรับเงินไปจาก น. เป็นการตอบแทน “โดยอ้างว่าจะนำไปใช้จูงใจเจ้าพนักงาน” ในตำแหน่งผู้พิพากษา โดยวิธีการอันทุจริตให้กระทำการในหน้าที่พิพากษาคดี โดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่ น. ในคดีอาญาที่ น. ถูกฟ้องนั้น ครบองค์ประกอบตามผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ไปจูงใจผู้พิพากษา ในการกระทำการในหน้าที่ให้คุณแก่ น. ก็ยังครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 143 แม้คำเบิกความของ น. ไม่ได้ระบุชื่อผู้พิพากษาซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคดีอาญาที่ น. ถูกฟ้อง ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิด เพราะขาดองค์ประกอบความผิดไปแต่อย่างใด

- "เจ้าพนักงาน"

- คำพิพากษาฎีกาที่ 423/2522 (สบฎ เน 5881) จำเลยเรียกเงินจากร้านค้า ที่จำเลยรับจ้างทำบัญชี อ้างว่าจะเอาไปให้ ป ผู้ช่วยสรรพากร ไม่ให้มาตรวจบัญชีที่ทำผิด แต่ ป ทำหน้าที่ธุรการ ไม่มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชี จำเลยไม่ผิด ม 143

- ความผิดสำเร็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2715/2531 แม้ผู้เสียหายไม่หลงเชื่อ และไม่มีเจตนาจะมอบทรัพย์สินให้ โดยได้แจ้งความไว้แล้ว นำเงินของเจ้าพนักงานตำรวจมาให้จำเลยรับไว้ เพื่อเป็นหลักฐานในการจับกุม การกระทำดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิด มาตรา 143 แล้ว (ไม่ต้องเป็นการมอบให้โดยหลงเชื่อ ความผิดสำเร็จ ตั้งแต่เมื่อเรียกสินบน โดยมีเจตนาพิเศษ)

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 143

- (ขส อ 2541/ 5) น้องอธิบดี เรียกเงินให้ภรรยาอธิบดี เพื่อขออธิบดีให้ข้าราชการเลื่อนขั้น น้องไม่ผิด ม 143 เพราะภรรยาอธิบดี ไม่ใช่เจ้าพนักงาน / ภรรยาไม่ยอมรับเงิน ไม่ผิด ม 143 / อธิบดีเก็บเงินไว้ เป็นการรับตาม ม 149


มาตรา 144 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8181/2547 คำว่า "พนักงานสอบสวน" ตาม ป.อ. มาตรา 167 มีความหมายว่า ต้องเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนั้นเท่านั้น ดังนั้น การให้เงินแก่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนั้นเพื่อให้ช่วยเหลือไม่ดำเนินคดี จึงมิใช่เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่พนักงานสอบสวนตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้ คงมีความผิดตามมาตรา 144 เท่านั้น

- เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 439/2469 (อ พิพัฒน์ อาญา 2542 / 259) จำเลยให้สินบนแก่ตำรวจผู้จับกุม เพื่อให้ เบิกความ ผิดไปจากความจริงซึ่งเป็นการนอกหน้าที่ของตำรวจ ไม่ผิด มาตรา 144

- คำพิพากษาฎีกาที่ 342/2506 กำนันรายงานกล่าวโทษจำเลยไปอำเภอ และอำเภอเรียกพยานทำการสอบสวนไปแล้ว พ้นอำนาจหน้าที่ของกำนันแล้ว จำเลยจึงให้เงินแก่กำนัน เพื่อให้ช่วยไปติดต่อกับเจ้าพนักงานอำเภอ หรือพนักงานสอบสวนให้กระทำให้คดีเสร็จไปในชั้นอำเภอ อย่าให้ถึงฟ้องศาล การกระทำของจำเลยเช่นนี้ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 144

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3700/2529 บิดาของผู้ต้องหาคดีการพนันขอให้จำเลยช่วยเหลือจำเลยเขียนจดหมายถึง ร.ต.ท. บ.พนักงานสอบสวน ว่า คดีการพนันน้ำเต้าปูปลา ถึงแม้จะเสียศาลหรือเสียที่โรงพักก็มีค่าเท่ากัน คนละไม่กี่ร้อยบาทจึงขอความกรุณาใช้ดุลพินิจแบบปรัชญาทางเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เสียเวลาทั้งสองฝ่ายทั้งหมด 6 คน คนละ 300 = 2,000 บาท เป็นค่าบำรุงโรงพักฯ ดังนี้ เป็นเพียงขอร้องให้ช่วยเหลือเปรียบเทียบให้คดีเสร็จไปในชั้นสถานีตำรวจ โดยไม่ต้องให้คดีถึงศาลเท่านั้น จำเลยไม่มีความผิดตาม ป.อ. ม.144, 167

- การปรับบทความผิดของราษฎร กับเจ้าพนักงาน ในเรื่องการให้และรับสินบน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 435/2520 ราษฎรให้สินบนเจ้าพนักงานเพื่อ ทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เจ้าพนักงานรับไว้ ราษฎรมีความผิดตาม ป.อ. ม.144 เจ้าพนักงานผิด มาตรา 144 ราษฎรไม่มีความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานรับสินบน ตามมาตรา 149 อีก

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 144

- (ขส เน 2510/ 5) ...กล้า จับกุมนายเก่งเจ้ามือสลากกินรวบ ส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนแล้ว / ...กล้า รับเงินจากนายเก่ง เพื่อช่วยพูดกับพนักงานสอบสวน เพื่อให้ทำเรื่องไม่ให้ถึงฟ้องศาล / นายเก่งไม่ผิด ม 144 เพราะ ส...กล้า ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ในการช่วยพูดกับพนักงานสอบสวน (ไม่ผิด ม 143 เพราะไม่มีข้อเท็จจริงว่า ตำรวจผู้จับเรียกเงิน เป็นการตอบแทนการจูงใจเจ้าพนักงานโดย ใช้วิธีการอันทุจริตเช่น จะนำเงินไปแบ่งให้พนักงานสอบสวน ใช้วิธีอันผิดกฎหมายเช่น จะไปข่มขู่ทำร้ายพนักงานสอบสวน หรือ โดยใช้อิทธิพลของตนเช่น จะใช้อำนาจในฐานะมียศตำแหน่งใหญ่กว่าข่มขู่เรื่องงาน)

- (ขส พ 2513/ 6) นายอาทิตย์ซึ่งเป็นนายตรวจสรรสามิต และตำรวจ ไปพบนายสุดกำลังเล่นพนัน จึงเข้าจับกุม / นายอาทิตย์พูดให้นายสุดเอาเงินให้ตำรวจ นายสุดไม่มีเงิน / ระหว่างควบคุมตัวนายสุด นายเสาร์ให้สร้อยแก่ตำรวจเพื่อให้ปล่อยนายสุด ตำรวจจึงปล่อยตัว แล้วขายสร้อยแบ่งเงินให้อาทิตย์ ปรากฏว่าเป็นสร้อยทองปลอม จึงนำไปคืนและจับนายสุดดำเนินคดี / อาทิตย์เป็นนายตรวจสรรพสามิต ไม่มีหน้าที่จับกุมผู้เล่นการพนัน แต่ร่วมกับตำรวจรับสินบน จึงเป็นผู้สนับสนุนการรับสินบน ตาม ม 149 และ 86 ไม่ผิดฐานกรรโชก ม 337 / ตำรวจผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน ม 149 / นายเสาร์ผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงาน ม 144 / นายสุดไม่มีความผิด

- (ขส อ 2523/ 7) กลัวสอบรับราชการ จึงให้เงินกรรมการ ว่าถ้าช่วยได้ให้ สองแสน ต่อมาสอบได้โดยไม่มีการช่วย แต่นำเงินไปให้ กรรมการรับไว้ คนให้ผิด ม 144 คนรับผิด ม 149 การที่ไม่ช่วยก็ไม่ทำให้ความผิดเปลี่ยน เพราะผิดสำเร็จตั้งแต่ตกลงจะรับเงิน


มาตรา 145 ผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เจ้าพนักงานผู้ใดได้รับคำสั่งมิให้ปฏิบัติการตามตำแหน่งหน้าที่ต่อไปแล้ว ยังฝ่าฝืนกระทำการใด ๆ ในตำแหน่งหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคแรกดุจกัน

- การแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1077/2505 ป. ส. ไปหลอกลวงผู้เสียหายว่าเป็นเจ้าพนักงาน ขอค้นบ้าน และค้นได้แป้งเชื้อสุราแล้วคุมตัวผู้เสียหายไปมอบให้ ค. ที่บ้านของ ป. ค.แสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิตบอกให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับ ถ้าไม่เสียจะจับส่งอำเภอ แล้วผู้เสียหายถูกคุมตัวไปหายืมเงินพบ ช. ซึ่งเป็นกำนันได้เล่าเรื่องให้ฟัง ช. พูดส่งเสริมให้ผู้เสียหายเสียเงินให้ที่นั่น ผู้เสียหายเอาเงินให้ ช. รับเงินไว้แล้วบอกให้ผู้เสียหายกลับได้ วันนั้นเอง ช. ไปร่วมรับประทานอาหารและแบ่งเงินให้ ป.ส. และ ค. ดังนี้ ป.ส.ค.มีความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตาม มาตรา 145 ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังตามมาตรา 310 และฐานกรรโชกตามมาตรา 337 ส่วน ช. เป็นเพียงสนับสนุนการกระทำผิดฐานกรรโชก ไม่ใช่เรื่องหลอกลวงฉ้อโกง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1208/2508 จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน แต่แสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงานจับกุมควบคุมตัวผู้เสียหายไป และเตะทำร้ายผู้เสียหายมีบาดเจ็บ รักษาประมาณ 15 วันหาย เป็นความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงานหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและทำร้ายร่างกายด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1394/2514 จำเลยเป็นพนักงานตีตราไม้ ซึ่งมิใช่เป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ ผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด พรบ ป่าไม้ แต่จำเลยได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้เข้าซักถาม และทำบันทึกจับกุมผู้เสียหาย หาว่ากระทำผิด พรบ ป่าไม้ ผิด มาตรา 145

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5096/2540 ครั้งแรก จำเลยและ ถ.ไปบ้านผู้เสียหาย ถ.บอกผู้เสียหายว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยได้ยินคำพูดของ ถ. แต่ก็นิ่งเฉยและมิได้ปฏิเสธเท่ากับจำเลยต้องการให้ผูเสียหายหายเชื่อหรือเข้าใจตามที่ ถ. บอก ทั้งจำเลยได้เรียกเงินจำนวน 2,000 บาท จากผู้เสียหาย มิฉะนั้นจะจับผู้เสียหาย พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานแล้ว ส่วนการเรียกรับเงินครั้งที่สอง แม้จำเลยไม่ได้บอกหรืออ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แต่จำเลยเคยไปหาผู้เสียหายและมีพฤติการณ์แสดงให้ผู้เสียหายเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริง ทั้งผู้เสียหายเคยให้เงินแก่จำเลยเพื่อมิให้ถูกจับมาก่อน การที่จำเลยไปเรียกเงินจากผู้เสียหายอีกโดยขู่ว่าหากไม่ให้จะจับผู้เสียหาย จนผู้เสียหายยอมให้เงินจำนวน 2 ,000 บาท แก่จำเลยเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น และมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา. มาตรา 145, 337

- การแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน แต่ไม่ได้กระทำการเป็นเจ้าพนักงาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 382/2508 การกระทำที่จะเป็นความผิด ตามมาตรา 145 ต้องได้ความว่านอกจากได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานแล้ว ต้องกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้นด้วย / จำเลยมิได้เป็นตำรวจสันติบาล ได้แสดงตัวเป็นตำรวจสันติบาลได้ถามถึงเรื่องคนร้าย แล้วจดชื่อลงในสมุดพก โดยจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะทำการสืบสวนหาตัวคนร้ายอย่างจริงจัง ดังนี้การกระทำของจำเลย ย่อมไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145

- คำพิพากษาฎีกาที่ 406/2520 จำเลยพูดว่า "อั๊วเป็นนายร้อยตำรวจตรี ค้นไม่ได้" ไม่ยอมให้ตำรวจค้นรถที่จำเลยขับมา ยังไม่เป็นการกระทำเป็นเจ้าพนักงาน ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.145

- คำพิพากษาฎีกาที่ 810/2520 จำเลยบอกผู้เสียหายว่าเป็นตำรวจ ขอค้นบ้านและเข้าไปในบ้าน แล้วขู่เอาทรัพย์ไป ดังนี้ จำเลยยังไม่ได้ทำการเป็นเจ้าพนักงาน ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา145 (ขอค้น แต่เข้าไปขู่เอาทรัพย์เลย ไม่ทำการค้นด้วย)

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 145

- (ขส พ 2517/ 8) แดงดำ หลอกขาวว่าเป็นตำรวจขอค้นบ้าน และค้นได้แป้งสุรา คุมตัวไปมอบให้เขียว เขียวอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานสรรสามิต ทำบันทึกให้ขาวยอมรับ และแจ้งให้นำเงินค่าปรับมาชำระ ขาวบอกไม่มีเงิน แดงดำคุมตัวขาวไปหายืมเงิน ม่วงเป็นกำนัน แนะนำให้เสียค่าปรับ แล้วทุกคนแบ่งเงินกัน / แดง ดำ เขียว ผิด ม 145 และ ม 310 และ ม 337 ประกอบ ม 83 ส่วนม่วงผิด ม 86 , 337 และ ม 157 ฎ 1077/2505

- (ขส อ 2533/ 4) แต่งกายคล้ายตำรวจ ไม่ถือเป็นการสวมเครื่องแบบเจ้าพนักงาน แต่การอ้างเป็นนายดาบ เป็นการใช้ยศโดยไม่มีสิทธิ ผิด ม 146 / การเรียกให้หยุดรถและขอเงิน ยังไม่มีการกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ไม่ผิด ม 145 / การได้เงินไป ไม่ปรากฏว่าขู่เข็ญ ไม่ผิด ม 337


มาตรา 146 ผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะสวมเครื่องแบบ หรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล หรือไม่มีสิทธิใช้ยศ ตำแหน่ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือสิ่งที่หมายถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ กระทำการเช่นนั้น เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2752/2519 จำเลยสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร กรอกใบสมัครรับเลือกตั้ง และแจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้จดข้อความเท็จ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 กับแจ้งให้พนักงานจดข้อความเท็จตาม มาตรา 267 เป็น 2 กระทง

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 146

- (ขส อ 2526/ 1) ผู้สมัคร สส กรอกใบสมัครเท็จว่ามียศร้อยโทและแต่งชุดถ่ายรูป ยื่นต่อผู้ว่า ผิด มาตรา 137+267+146 2752/2519

- (ขส อ 2533/ 4) แต่งกายคล้ายตำรวจ ไม่ถือเป็นการสวมเครื่องแบบเจ้าพนักงาน แต่การอ้างเป็นนายดาบ เป็นการใช้ยศโดยไม่มีสิทธิ ผิด มาตรา 146 / การเรียกให้หยุดรถและขอเงิน ยังไม่มีการกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ไม่ผิด มาตรา 145 / การได้เงินไป ไม่ปรากฏว่าขู่เข็ญ ไม่ผิด มาตรา 337

ไม่มีความคิดเห็น: