-
กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 87/2506
ผู้รับฝากเงินมีอำนาจเอาเงินที่รับฝากไปใช้จ่ายได้และมีหน้าที่ต้องคืนเงินแก่ผู้ฝากให้ครบจำนวน
การที่ผู้รับฝากจ่ายเงินให้จำเลยไปเพราะถูกจำเลยหลอกลวง
ต้องถือว่าผู้รับฝากเป็นผู้เสียหาย ส่วนผู้ฝากไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1153/2511
จำเลยยืมเงินผู้เสียหาย โดยนำเช็คลงวันที่ล่วงหน้าของผู้อื่นมามอบไว้เพื่อชำระหนี้
และจำเลยได้สลักหลังเช็คนั้นด้วยแม้จำเลยจะบอกว่าผู้สั่งจ่ายเช็คมีฐานะดี
สามารถใช้เงินตามเช็คได้ก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2264/2532 โจทก์ที่ 1 ที่ 2
และที่ 3 มาสอบถามจำเลยที่ 7 และที่ 8 เพื่อประสงค์จะเล่นแชร์น้ำมันชาร์เตอร์เอง
เพราะทราบข่าวจากผู้อื่น หาใช่จำเลยที่ 7 และที่ 8
เอาความเท็จไปพูดหลอกลวงโจทก์ทั้งสามแต่แรกไม่ การที่จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นหัวหน้าสายของบริษัทชาร์เตอร์ฯ
จำเลยที่ 1 หาเงินมาลงทุนให้ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 8 สามีของจำเลยที่ 7
ได้พูดถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นบริษัทที่มั่นคง มีหลักทรัพย์เป็นพันล้านบาท
มีกิจการน้ำมันและศูนย์การค้าใหญ่โตให้โจทก์ทั้งสามฟัง
ก็เป็นการบอกเล่าตามข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามเชื่อตามคำโฆษณาของจำเลยที่ 1
ประกอบด้วยทุนจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 กำหนดไว้เป็นจำนวน 1,000 ล้านบาท
นับว่าเป็นจำนวนทุนที่มากพอสมควร
ที่สามารถทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อถือฐานะของจำเลยที่ 1
แม้แต่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นปัญญาชน มีการศึกษาดี ยังเชื่อถือ ถึงกับขวนขวายหาทางเข้าไปร่วมลงทุนกับจำเลยที่
1 และโจทก์ที่ 1 ยังชักชวนโจทก์ที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรชายให้ร่วมเล่นแชร์รายนี้ด้วย
นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังมีหลักฐานสัญญาการลงทุนกับจำเลยที่ 1 เป็นเงินประมาณ 4,550,000 บาท เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ล้ม
จำเลยก็ไม่ได้รับผลประโยชน์และต้นเงินที่ร่วมลงทุนคืน จำเลยที่ 7 และที่ 8
ไม่มีตำแหน่งใด ๆ ในบริษัทจำเลยที่ 1
ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนแบ่งจากจำนวนเงินที่ประชาชนนำมาร่วมลงทุน
ต่อมาเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ฉ้อโกงประชาชน จำเลยที่ 7 และที่ 8
ก็ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
เช่นเดียวกับประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย เช่นนี้ การที่จำเลยที่ 1
ไม่จ่ายเงินที่ลงทุนคืนให้แก่โจทก์ทั้งสี่ จะสันนิษฐานเอาว่าจำเลยที่ 7 และที่ 8
ได้กระทำผิดฐานฉ้อโกงหาได้ไม่
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2444/2532 ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหาก
จากการกระทำ คือต้องเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินโดยการหลอกลวง ดังนี้
การที่จำเลยได้ทรัพย์สินจากผู้เสียหายโดยการเล่นแชร์ ซึ่งเล่นกันจำนวน 90 มือ
มีการประมูลแชร์และเก็บเงินจากผู้เล่นให้แก่ผู้ประมูลได้ถึง 57 มือ
แล้วต่อมาจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าวงผิดนัด ไม่เก็บเงินจากผู้เล่นแชร์ และไม่ดำเนินการประมูลแชร์ต่อไปตามหน้าที่
จึงเป็นการผิดสัญญาเล่นแชร์ซึ่งเป็นความผูกพันทางแพ่ง หาเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3784/2532
จำเลยตกลงจะขายข้าวโพดให้ผู้เสียหาย
โดยผู้เสียหายจ่ายเงินค่าข้าวโพดให้จำเลยล่วงหน้าบางส่วน
ครั้นผู้เสียหายไปขอรับมอบข้าวโพด ปรากฏว่าข้าวโพดได้หายไปจากเดิมเกือบครึ่งหนึ่ง
จำเลยบอกว่าไม่ขายข้าวโพดให้ผู้เสียหาย และไม่ยอมให้นำข้าวโพดไป
ผู้เสียหายทวงเงินคืน จำเลยบอกว่าไม่มีเงินคืนให้ เช่นนี้เป็นเรื่องที่จำเลยตกลงจะขายข้าวโพดให้ผู้เสียหาย
แล้วเปลี่ยนใจไม่ยอมขายให้ ข้าวโพดที่จะขายมีอยู่จริงในขณะเจรจาตกลงซื้อขายกัน
จึงเป็นกรณีที่จำเลยประพฤติผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 124/2535
จำเลยตกลงขายไม้ยางท่อนซุงและรับเงินค่าไม้จากผู้เสียหาย
โดยเจตนาขายไม้ยางท่อนซุงที่จำเลยได้ตกลงซื้อไว้ แต่จำเลยไม่สามารถจัดส่งไม้ยางท่อนซุงให้ผู้เสียหายได้
เพราะทางราชการไม่อนุญาตให้ทำไม้ดังกล่าว
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น
หาเป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงไม่
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 566/2542 (สบฎ สต 107) การที่จะฟังว่าจำเลยทั้งสองฉ้อโกงโจทก์หรือไม่
ข้อเท็จจริงจะต้องได้ความว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่แรก หลอกลวงโจทก์
เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าขณะที่โจทก์วางมัดจำนั้น
จำเลยทั้งสองได้ขายรถยนต์ไปแล้วจริง
อันจะทำให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่แรก
เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง
-
“ทำ ถอน ทำลายเอกสารสิทธิ”
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 928/2506
คำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ไม่ใช่เอกสารสิทธิตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา1 (9)
ฉะนั้นแม้จะได้ความว่าจำเลยเจตนาทุจริต หลอกลวงให้ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก็ดี
ก็ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ไม่ได้
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 40/2508 จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจะโอนโฉนดให้ผู้เสียหาย ฯลฯ
แล้วเพทุบายขอรับโฉนดไปจากผู้เสียหายว่าจะเอาไปทำการโอนให้ตามข้อตกลง
แต่จำเลยโอนให้เพียง 2 โฉนด ฯลฯ กับต่อมาวันที่ 3-4 ตุลาคม 2498 จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่า
จำเลยได้โอนโฉนดให้เรียบร้อยแล้ว รอแต่วันรับโฉนดเท่านั้น
ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องยึดหนังสือสัญญากู้ไว้
ผู้เสียหายหลงเชื่อได้มอบหนังสือสัญญากู้ให้จำเลยไป
ข้อหาว่าจำเลยฉ้อโกงโฉนดและข้อหาฉ้อโกงหนังสือสัญญากู้ ต่างกรรมต่างวาระ เป็น 2
กระทง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1107/2509 หลอกให้ลงชื่อ “ในใบแต่งทนายความ” ไม่ใช่เอกสารสิทธิ ไม่ผิดฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 863/2513 จำเลยที่ 1,ที่ 2
สมคบกันหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายเชวง แซ่ภู่เจ้าของที่ดินตาม น.ส.3
จนโจทก์หลงเชื่อและทำหนังสือรับรองหลักทรัพย์กับยื่นขอประกันตัว ก.ต่อศาล
แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับประโยชน์โดยการนำหนังสือรับรองหลักทรัพย์นั้นไปอ้างยื่นต่อศาลจนได้ประกันตัวไป
เป็นการแสวงหาประโยชน์สำหรับผู้อื่นแล้ว จึงถือว่าจำเลยกระทำโดยทุจริต เอกสารสิทธิ ตาม มาตรา 1 (9)
หมายถึงเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน
สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิหรือหนี้สินทุกอย่าง หนังสือที่โจทก์รับรองว่าทรัพย์ตามบัญชีเป็นของผู้ขอประกัน
หากผู้ขอประกันผิดสัญญาประกัน และศาลบังคับเอาแก่นายประกันไม่ได้หรือไม่ครบ
โจทก์ยอมรับผิดใช้ให้ดังนี้ เป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิ เพราะศาลมีสิทธิที่จะบังคับให้โจทก์รับผิดใช้เงินได้เท่ากับเป็นสัญญาค้ำประกันนายประกันอีกชั้นหนึ่ง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1538/2516 “คำฟ้องคดีแพ่ง” แม้เป็นหลักฐานแห่งการสงวนสิทธิ
แต่ก็ไม่ใช่แสดงเจตนาต่อบุคคลทำนิติกรรม
เป็นการมีคำขอต่อศาลเพื่อบังคับตามสิทธิที่มีการโต้แย้ง
มีผลใช้อายุความสะดุดหยุดลง ฉะนั้น การที่หลอกให้ถอนฟ้องในคดีล้มละลาย จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง เพราะคำฟ้องไม่ใช่เอกสารสิทธิ
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1455/2529 จำเลยที่ 2 ขายเครื่องจักรให้โจทก์โดยชำระราคาครบถ้วน
และส่งมอบเครื่องจักรแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์
กรรมสิทธิ์จึงยังอยู่กับจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ไปหลอกลวงโจทก์ขอรับหนังสือสำคัญมา
แล้วนำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 1 ดังนี้
ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 341, 137 และ 267 เพราะหนังสือนั้นเป็นของจำเลยที่ 2
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2617/2529 จำเลยลักสมุดเช็ค แล้วกรอกข้อความลงในบัญชีจ่ายเช็คว่าจ่ายให้ ม. ลูกค้าของโจทก์ร่วม และมอบเช็คให้บุคคลอื่นไปกรอกวันเดือนปีจำนวนเงิน
ปลอมลายมือชื่อ ม. ผู้สั่งจ่าย แล้วนำไปขึ้นเงิน ผิดตามมาตรา
335 (11) 2 กระทง
และเป็นตัวการร่วมกับผู้อื่นใช้ตั๋วเงินปลอมและฉ้อโกงโจทก์ร่วม
สำหรับเช็คแต่ละฉบับ
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1962/2531 จำเลยหลอกผู้เสียหาย
ให้หลงเชื่อลงลายมือชื่อ ในแบบพิมพ์เอกสารจดทะเบียนนิติกรรมจำนองที่ดิน
“แม้ยังไม่กรอกข้อความ” ถือได้ว่าเป็นการหลอกลวงให้ผู้เสียหายทำเอกสารสิทธิแล้ว เพราะอาจนำไปกรอกข้อความให้ครบถ้วนบริบูรณ์
ผิดฐานฉ้อโกงตาม มาตรา 341
เมื่อจำเลยไปกรอกข้อความให้ผิดจากความประสงค์ของผู้เสียหาย
แล้วยื่นต่อธนาคารและสำนักงานที่ดิน เพื่อประกันเงินกู้ ที่จำเลยเป็นหนี้ธนาคาร
ผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามมาตรา 265 และ 268 โดยมีเจตนาเดียวเพื่อให้ได้เงินจากธนาคาร
ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 ประกอบมาตรา 265
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1508/2538 จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบินแล้วได้มอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋ว
หรือมอบให้แก่ผู้อื่น ซึ่งจะนำไปมอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋ว
จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้มีชื่อในตั๋วต้องนำตั๋วไปใช้ในการเดินทาง
และเมื่อตั๋วถูกนำไปใช้แล้ว จำเลยผิดฐานเป็นตัวการใช้ตั๋วเครื่องบินปลอม และการที่จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบิน
ด้วยมีเจตนาที่จะให้ผู้มีชื่อในตั๋วได้เดินทาง
โดยจำเลยหรือผู้มีชื่อในตั๋วไม่ต้องจ่ายเงินค่าตั๋ว
แสดงว่าจำเลยมีเจตนาโดยทุจริตหลอกลวงเจ้าของสายการบินว่าจำเลย
หรือผู้มีชื่อในตั๋วได้ชำระค่าตั๋วเครื่องบินแล้วอันเป็นความเท็จ
ทำให้ผู้มีชื่อในตั๋วมีสิทธิเดินทางได้โดยไม่ต้องชำระเงิน
จำเลยผิดฐานฉ้อโกงเจ้าของสายการบิน
-
มาตรา 341 เปรียบเทียบ กฎหมายอื่น ข้อหาฉ้อโกง
- ยักยอก
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 278-279/2501 ลงชื่อและประทับตรา
ซึ่งไม่มีตัวจริงลงในหนังสือเป็นความผิดฐานปลอมหนังสือ / หลอกว่า
มีผู้ต้องการซื้อของ จึงขอรับของไปจำหน่ายแก่ผู้ที่ต้องการซื้อนั้น
เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่ไม่ต้องด้วย ม.306 (4) / รับมอบทรัพย์ไปเพราะใช้อุบายหลอกลวงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
การจำหน่ายทรัพย์นั้นต่อไป ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก /
คำร้องขอแก้ฟ้องที่ศาลไม่ได้สั่งประการใดไม่เป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2147/2517
จำเลยได้หลอกลวงผู้เสียหายว่าจะขายแร่พลวงให้
และขอรับราคาค่าแร่ทั้งหมดกับขอรับกระสอบไปใส่แร่ด้วย โดยมีเจตนาทุจริตมาแต่แรกผลจากการหลอกลวงดังกล่าว
ทำให้จำเลยได้รับเงินค่าแรง และกระสอบ 30 ใบไปจากผู้เสียหายในคราวเดียวกัน ดังนี้
แม้เงินค่าแรงจะเป็นทรัพย์สิน ซึ่ง
เป็นวัตถุประสงค์อันสำคัญที่จำเลยมุ่งหมายหลอกลวงไปจากผู้เสียหาย ส่วนกระสอบนั้นจำเลยหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งให้เพื่อให้สมกับอุบายของจำเลยที่อ้างว่ามีแร่ที่จะขายให้เท่านั้นก็ตาม
แต่การที่จำเลยได้กระสอบไปด้วยนี้ ก็ได้ไปจากการหลอกลวงผู้เสียหาย
ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ว่าจะใส่แร่พลวงมาส่งให้
โดยจำเลยมิได้ตั้งใจจะนำกระสอบไปใส่แร่พลวงมาส่งให้แก่ผู้เสียหายเลย แสดงว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกแล้วว่าจะหลอกลวงเอากระสอบ
30 ใบนี้จากผู้เสียหายด้วยเหมือนกัน จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงกระสอบ
ด้วยส่วนการที่ผู้เสียหายเข้าใจว่าให้กระสอบแก่จำเลยไป
ในลักษณะเป็นการยืมใช้คงรูปนั้น
ก็เป็นความเข้าใจผิดของผู้เสียหายซึ่งถูกจำเลยหลอกลวงเพียงฝ่ายเดียว
จำเลยหาได้ตั้งใจปฏิบัติตามที่ผู้เสียหายหลงเข้าใจไม่
และการทำจำเลยได้กระสอบไปจากผู้เสียหายเช่นนี้
เป็นการครอบครองอันได้มาจากการหลอกลวงผู้เสียหาย จึงมิใช่การครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2715/2531 (สบฎ เน 85) การที่จำเลยเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหาย
โดยอ้างว่าจะนำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อช่วยเหลือให้ จ.
เข้ารับราชการโดยไม่ต้องสอบคัดเลือกนั้น แม้ผู้เสียหายจะไม่หลงเชื่อคำกล่าวอ้างของจำเลย
และไม่มีเจตนาจะมอบเงินให้แก่จำเลย โดยได้ไปแจ้งความแล้วนำเงินของเจ้าพนักงานตำรวจ
มาหลอกให้จำเลยรับไว้เป็นหลักฐานในการจับกุมก็ตาม
การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 แล้ว
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 6196/2534
โจทก์บรรยายฟ้องในฐานความผิดฉ้อโกงมีใจความว่าจำเลยกับพวก
รับสมัครคนหางานเพื่อส่งไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน หากบุคคลใดต้องการไปทำงาน
และเมื่อเสียค่าบริการให้แก่จำเลยกับพวกแล้วจำเลยกับพวกจะส่งบุคคลนั้น
ไปทำงานยังประเทศไต้หวันตามที่ต้องการซึ่งเป็นความเท็จความจริงจำเลยกับพวกมิได้รับอนุญาตให้จัดหางาน
เพื่อไปทำงานต่างประเทศจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย
จำเลยกับพวกไม่มีความสามารถจัดส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน
และไม่มีเจตนาที่จะส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศไต้หวันดังที่จำเลยกับพวกกล่าวอ้าง
เช่นนี้คำฟ้องของโจทก์ได้ความโดยชัดแจ้ง
ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจัดหางานให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายจำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหาย
ว่าจะส่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน
ก็เพื่อที่จะได้รับเงินค่าบริการจากโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายเท่านั้น
การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตตาม
พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา30 วรรคแรก /
จำเลยเป็นผู้ชักชวนโจทก์ร่วม และผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน
โดยอ้างว่าเคยส่งคนไปทำงานมาแล้ว และเรียกค่าบริการจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหาย
จำเลยรับเงินจากโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายไป
แล้วไม่ดำเนินการให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายได้เดินทางไปทำงานตามที่จำเลยพูดรับรองไว้
ทั้งไม่ยอมคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม
และผู้เสียหายเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยร่วมหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหาย
โดยไม่มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหาย
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1925/2541 การที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายว่า จำเลยทั้งสองสามารถจัดหางานที่ประเทศญี่ปุ่นให้แก่ผู้เสียหายได้
โดยจำเลยทั้งสองได้เรียกเงินจากผู้เสียหาย 200,000 บาท เป็นค่าตอบแทน
และที่ผู้เสียหายให้เงินแก่จำเลยทั้งสองไปแล้วจำนวน 124,000 บาท
ก็เพราะผู้เสียหายเชื่อตามที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงนั่นเอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตาม
พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี
และแม้ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341
ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้แล้วก็ตาม
โจทก์ก็ยังมีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดตาม พ.ร.บ.
จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 91 ตรี ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้ต่อไป
แต่ความผิดตามมาตรา 91 ตรี เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341
และศาลอุทธรณ์ภาค 1 วางโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี
ซึ่งต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของมาตรา 91 ตรี แต่โจทก์มิได้ฎีกา
ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยทั้งสองเกินกว่านี้ไม่ได้
-
ความผิดสำเร็จ
-
ความผิดตาม ม 341 เป็นความผิดที่ต้องการผล (เน 51/13/53)
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 901/2476 (เน 51/13/53)
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1125/2527
จำเลยนำความเท็จมาอวดอ้างแก่ผู้เสียหาย ว่าสามารถติดต่อกับบริษัทสุรา
ม.ให้แต่งตั้งผู้เสียหายเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง
เนื่องจากจำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ ที่จะกระทำได้
โดยจำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะหลอกลวงเอาทรัพย์สินจากผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะไม่ส่งมอบทรัพย์ให้ตามที่จำเลยหลอกลวง
ก็เป็นความผิดฐานพยายามฉ้อโกงผู้เสียหาย
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3554/2529 จำเลยชักชวน จ.และ
ส.ไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียโดยอ้างว่าจะได้เงินเดือนสูง
แต่ต้องจ่ายค่าบริการให้จำเลยเมื่อไปถึงมาเลเซียแล้ว
กลับไม่มีงานทำตามที่กล่าวอ้าง ดังนี้ จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกง
เมื่อจำเลยพูดชักชวนหลอกลวง จ.และ ส.คนละคราว แม้ จ.หลงเชื่อ
จ่ายค่าบริการส่วนของตนและของ ส.ซึ่งเป็นบุตรให้จำเลยไปคราวเดียวกัน
เป็นความผิดหลายกรรม
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1962/2531
จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์เอกสารต่าง ๆ
เกี่ยวกับสัญญาจำนองที่ดิน แม้จะยังไม่ได้กรอกข้อความลงในเอกสารนั้น
ถือได้ว่าเป็นการหลอกลวงให้ผู้เสียหายทำเอกสารสิทธิแล้ว ผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341
และเมื่อจำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความในให้ผิดจากความประสงค์ของผู้เสียหาย
นำไปยื่นต่อธนาคารและสำนักงานที่ดินเพื่อเป็นการจำนองที่ดินของผู้เสียหายค้ำประกันเงินกู้
จึงเป็นความผิด ฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม มาตรา 265 และ 268
ด้วย
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 6512/2539 จำเลยรู้อยู่แล้วว่ายังคงเป็นหนี้โจทก์ร่วมอยู่
แล้วมีเจตนาทุจริต
ถือโอกาสจากการที่พนักงานของโจทก์ร่วมปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าและบกพร่อง หลอกลวงพนักงานของโจทก์ร่วม
ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าได้ชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมครบถ้วนแล้ว
และขอไถ่ถอนจำนอง โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าจำเลยชำระหนี้ครบถ้วนจริง
จึงทำหนังสือสลักหลังปลอดจำนอง อันเป็นเอกสารสิทธิ
โดยเป็นหลักฐานระงับซึ่งสิทธิตามสัญญาจำนองมอบให้จำเลย เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
และแม้โจทก์ร่วมจะสามารถดำเนินการเพิกถอนการไถ่ถอนจำนองได้
ก็หาทำให้การกระทำผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยซึ่งสำเร็จแล้ว กลับไม่มีความผิดไม่
-
ผู้เสียหาย
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2440/2525 จำเลยหลอกลวง ศ.
ว่าสามารถนำบุตรสาวของ ศ. เข้าเรียนเป็นผู้ช่วยพยาบาลของโรงพยาบาลสวนดอก
และโรงพยาบาลศิริราชได้ โดยไม่ต้องสอบคัดเลือกเข้าเรียน และได้เรียกร้องเอาเงินจาก
ศ. จำนวนหนึ่ง ศ. ตกลงยินยอมและมอบเงินให้
ต่อมาปรากฏว่าจำเลยไม่สามารถช่วยบุตรสาวของ ศ. ให้เข้าเรียนได้ เมื่อไม่ปรากฏว่า
ศ. ให้เงินไปเพื่อให้จำเลยนำไปให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการสอบคัดเลือก
ให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต การที่จำเลยหลอกลวง ศ.
ก็เพื่อต้องการได้เงินจาก ศ. เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่า
ศ.ร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้เจ้าพนักงาน อันเป็นการใช้ให้จำเลยกระทำผิด ดังนี้ ศ.
ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ได้
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 4684/2528 การที่จำเลย ซึ่งเป็นผู้จัดการของโจทก์ร่วม
หลอกลวงลูกค้าของโจทก์ร่วม ว่าโจทก์ร่วมขึ้นราคาสินค้า ลูกค้าหลงเชื่อซื้อตามนั้น
เงินส่วนที่ขายเกิดกำหนดเป็นเงินของลูกค้าส่งมอบให้จำเลย เพราะถูกจำเลยหลอกลวง
มิใช่เป็นเงินที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. ม.810
จึงเป็นเงินของลูกค้าผู้ถูกหลอกลวง หาใช่เงินของโจทก์ร่วมไม่
โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหาย
เมื่อลูกค้าผู้เป็นเจ้าของเงินซึ่งเป็นผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 5219/2531
ฟ.พูดยกให้บางส่วนซึ่งที่ดินที่มีโฉนดอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้โจทก์
แต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การยกให้ดังกล่าว
จึงไม่สมบูรณ์ที่ดินยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามกฎหมาย เมื่อ
ฟ.ตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ ที่ดินย่อมเป็นทรัพย์มรดกของ
ฟ. ตกได้แก่จำเลยผู้เป็นทายาทโดยธรรมของ ฟ. การที่จำเลยรับมรดกที่ดินดังกล่าว
แล้วนำไปขายให้แก่บุคคลภายนอก จึงไม่กระทบกระเทือนสิทธิและหน้าที่ของโจทก์
ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
ผู้เสียหายโดยนิตินัย
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1064/2491 ในคดีฉ้อโกง เพียงแต่ถูกหลอกลวงให้ส่งทรัพย์ แม้ยังมิทันส่งทรัพย์ให้
ก็ถือว่าผู้ถูกหลอกลวงเป็นผู้เสียหายแล้ว / เจ้าของโคที่หายไป
ถูกจำเลยหลอกลวงเอาเงินไปว่า จะเอาโคมาคืนให้ เจ้าของโคไม่มีเงิน
จึงขอให้บุคคลอื่นออกเงินไถ่เอาโคมา โดยตกลงว่า เมื่อไถ่โคมาแล้ว
จะมอบโคให้เป็นสิทธิแก่บุคคลนั้น ดังนี้เจ้าของโคยังเป็นผู้เสียหาย
และมีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามกฎหมาย
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 736/2504
จำเลยหลอกลวงว่าจะพาโจทก์ไปเรียนหนังสือต่อที่กรุงเทพ ฯ
ให้โจทก์เตรียมหาเงินไว้และแนะนำให้โจทก์ลักเงินของบิดา โจทก์ปฏิบัติตามเมื่อได้เงินมาแล้วมอบให้จำเลย
จำเลยได้เอาเงินนั้นเสีย ดังนี้ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์
แต่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1462-1463/2523
นำเช็คปลอมเบิกเงินจากสาขาธนาคารเป็นความผิดตาม ป.อ. ม.268, 341
ธนาคารเป็นผู้เสียหาย ผู้จัดการสำนักงานใหญ่ของธนาคารมอบอำนาจให้ บ.
ไปร้องทุกข์แล้วผู้จัดการใหญ่ตาย ไม่เป็นเหตุให้ระงับการร้องทุกข์ที่ทำเสร็จแล้ว
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1357/2533 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์
ด้วยวิธีโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินของจำเลยที่ 2 เป็นหลักประกัน โดยตกลงกันว่าจำเลยทั้งสองจะต้องไถ่ถอนคืนภายในกำหนด
2 ปี ต่อมาจำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ให้นำเงินมาชำระหนี้ และยินยอมให้โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวใส่ชื่อจำเลยที่
1 โจทก์หลงเชื่อจึงโอนที่ดินใส่ชื่อจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ถูกจำเลยที่ 2
ฟ้องเป็นคดีแพ่ง ข้อหาผิดสัญญา เรียกค่าเสียหาย
ดังนี้การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 341 เป็นคดีนี้ ความเสียหายที่โจทก์ได้รับจะต้องเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการถูกหลอกลวงนั้นโดยตรง
แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการถูกจำเลยที่ 2 ฟ้อง ก็เป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งต่างหาก
มิใช่การกระทำในคดีนี้ ความเสียหายดังกล่าว มิใช่ความเสียหายโดยตรงในคดีนี้
โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสอง
-
ผู้เสียหายโดยนิตินัย เรื่องเกี่ยวกับการพนัน
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 436/2530 (สบฎ เน 112) ผู้เสียหายสมัครใจเล่นการพนันกับจำเลยและพวกโดยไม่ได้รับอนุญาต
เป็นการร่วมกับจำเลยกระทำความผิด
ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานนำคดีขึ้นว่ากล่าวในความผิดตามมาตรา
341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายกับบุคคลอีกคนหนึ่งให้ร่วมเล่นพนันบนรถโดยสารประจำทาง
ถือไม่ได้ว่าจำเลยกับพวกได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน
หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน
การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1813/2531 จำเลยฉ้อโกงให้โจทก์ร่วมเข้าหุ้นเล่นการพนันต้มบุคคลที่สาม โจทก์ร่วมเข้าหุ้นและเข้าเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย
ดังนี้ เป็นการร่วมกับจำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ได้พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 3327/2532 (สบฎ เน 110) ฟ้องโจทก์บรรยายว่า
จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวง พ. ให้ร่วมเล่นการพนันเพื่อกันมิให้
ส. ต้องเสียเงิน พ. ถูกหลอกลวงจึงร่วมเล่นการพนันด้วย
ดังนั้น การพนันจึงเป็นเหตุการณ์อันหนึ่งที่จำเลยกับพวกสร้างขึ้นมาเพื่อเอาเงินของ
พ. โดยวิธีการอันแนบเนียน พ. ไม่ได้เป็นผู้สร้างเรื่องให้มีการเล่นการพนัน
ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง พ. จึงเป็นผู้เสียหายตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
-
ผู้เสียหายโดยนิตินัย เรื่องเกี่ยวกับการให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าพนักงานหรือคนใกล้ชิด
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 340/2506 จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยเป็นผู้ใกล้ชิดกับอัยการและผู้พิพากษา
เรียกร้องเอาเงินเพื่อจะนำไปให้ เพื่อให้ช่วยให้บุตรโจทก์หลุดพ้นคดีอาญา
โจทก์หลงเชื่อได้มอบเงินให้จำเลยไปการกระทำของโจทก์ดังนี้
เป็นการร่วมกับจำเลยในการนำสินบนไปให้เจ้าพนักงาน ถือได้ว่าโจทก์ใช้ให้จำเลยกระทำความผิด
โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดี (หาว่าฉ้อโกง) มาฟ้องจำเลยได้
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1461/2523 จำเลยหลอกเอาเงิน ว.
โดยบอกว่าสามารถติดต่อวิ่งเต้นให้ น. เป็นเสมียนปกครองได้ตามที่สมัครสอบไว้
เท่ากับ ว. ใช้ให้จำเลยไปจูงใจให้เจ้าพนักงานกรรมการสอบทำการอันไม่ชอบด้วยหน้าที่
อาจถือได้ว่า ว. ใช้ให้จำเลยทำผิด ว. ไม่ใช่ผู้เสียหาย ร้องทุกข์ไม่ได้
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1638-1640/2523 จำเลยหลอกลวงผู้เสียหาย
ว่าจำเลยสามารถนำบุตรชายผู้เสียหายเข้าโรงเรียนนายสิบทหารบกได้
โดยสอบคัดเลือกเป็นพิธีเท่านั้น และเรียกเอาเงินเพื่อนำไปให้คณะกรรมการ
เพื่อช่วยบุตรผู้เสียหายให้เข้าเรียนได้ ผู้เสียหายหลงเชื่อได้มอบเงินให้จำเลยไป
ดังนี้ ถือว่าผู้เสียหายได้ร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้เจ้าพนักงาน
อันอาจถือได้ว่าเป็นการใช้ให้จำเลยกระทำผิด
ผู้เสียหายในคดีนี้จึงมิใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานนำคดีขึ้นว่ากล่าวในความผิดต่อส่วนตัวได้
-
ผู้เสียหายโดยนิตินัย เรื่องเกี่ยวกับการให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าพนักงาน เนื่องจากถูกหลอกลวง
-
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4212/2550 โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย จำเลย
- นายสุดยอด ศรียานงค์
/ ส. และสามีมิได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
และทางราชการมิได้ยึดทรัพย์สินของ ส. การที่ ส. มอบเงิน 305,000 บาท แก่จำเลยสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงของจำเลยด้วยข้อความอันเป็นเท็จ
มิใช่ ส. หรือสามีกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแล้ว ส. มอบเงินแก่จำเลยเพื่อให้สินบนแก่เจ้าพนักงานเพื่อให้
ส. หรือสามีพ้นจากความผิด จึงถือไม่ได้ว่า ส. ได้ร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่
ส. ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงได้
/ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 305,000 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 305,000 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
"คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า
นางสวนิต ประเสริฐเพ็ญกุล
เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค
5 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 222 ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5
ว่า นางสวนิตสงสัยว่า สามีของตนติดพันหญิงอื่น
จึงนำเรื่องปรึกษาจำเลย จำเลยยืนยันว่าสามีของนางสวนิตมีความสัมพันธ์กับนางมุกดาซึ่งมีสามีเป็นคนญี่ปุ่น
สามีนางมุกดาเป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ เจ้าพนักงานตำรวจกำลังสืบหาที่อยู่ของนางมุกดาเพื่อยึดทรัพย์สิน
และจะตรวจยึดทรัพย์สินของนางสวนิตด้วย หากนางสวนิตไม่ต้องการถูกยึดทรัพย์สิน นางสวนิตต้องนำเงินไปให้พันตำรวจตรีมานพ
เสนากูล เพื่อนของจำเลยเพื่อฆ่าสามีนางสวนิต โดยต้องจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน 50,000
บาท หรือมอบเงิน 300,000 บาท ผ่านจำเลยให้แก่พันตำรวจตรีมานพเพื่อมอบแก่นายกรัฐมนตรีพันตำรวจโททักษิณ
เพื่อช่วยเหลือสามีของตนออกจากกระบวนการค้ายาเสพติด นางสวนิตหลงเชื่อมอบเงิน
305,000 บาท (เป็นค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน 5,000 บาท) แก่จำเลย ความจริงไม่มีข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างเกิดขึ้นจริง หากแต่จำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงนางสวนิตด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จมาแต่ต้น
เห็นว่า นางสวนิตและสามีมิได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และทางราชการมิได้ยึดทรัพย์สินของนางสวนิต
การที่นางสวนิตมอบเงิน 305,000 บาท แก่จำเลยสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงของจำเลยด้วยข้อความอันเป็นเท็จ
มิใช่นางสวนิตหรือสามีกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแล้วนางสวนิตมอบเงินแก่จำเลยเพื่อให้สินบนแก่เจ้าพนักงานเพื่อให้นางสวนิตหรือสามีพ้นจากความผิด
จึงถือไม่ได้ว่านางสวนิตได้ร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่
นางสวนิตย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงได้
ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน
-
ตัวการร่วมกระทำความผิด
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 2724/2532
จำเลยเป็นผู้ติดต่อชักจูงให้ผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศและรับเงินบางส่วนจากผู้เสียหายไว้
ทั้งยังเป็นผู้เขียนแผนที่ให้ผู้เสียหายเดินทางไปหาพวกจำเลยที่กรุงเทพฯ
เมื่อผู้เสียหายไม่ได้เดินทางไปทำงาน จำเลยก็เป็นผู้ติดต่อกับพวกจำเลย
เพื่อให้คืนเงินแก่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยเข้าลักษณะที่แบ่งแยกหน้าที่กันทำ
ในระหว่างจำเลยกับพวกหา
ใช่เป็นแต่เพียงผู้แนะนำให้ผู้ประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศ
ติดต่อกับผู้ที่จะจัดส่งเองโดยตรงเท่านั้นไม่
และการที่จำเลยกับพวกรับเงินผู้เสียหายไป แล้วไม่ดำเนินการให้ผู้เสียหายได้เดินทางไปทำงาน
ตามที่จำเลยกับพวกพูดรับรองไว้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยกับพวก
ไม่มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
/ จำเลยกับพวกเคยส่งบุคคลอื่นไปไต้หวันโดยให้ถือหนังสือเดินทางนักท่องเที่ยว
แล้วมีนายจ้างมาคัดเลือกไปทำงานเมื่อไปถึง โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาต
ให้ประกอบธุรกิจจัดหางานจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง
จำเลยกับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1508/2538 ตั๋วเครื่องบินที่มีมูลค่าหรือราคาใช้ตามที่ปรากฏในตั๋วเป็นตั๋วที่ผู้มีชื่อในตั๋วมีสิทธิจะใช้โดยสารเครื่องบินของสายการบินที่ปรากฏในตั๋ว
จึงเป็นเอกสารสิทธิเพราะเป็นหลักฐานแห่งการก่อซึ่งสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1
(9) / จำเลยได้ปลอมตั๋วเครื่องบินแล้วได้มอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋วหรือมอบผให้แก่ผู้อื่นเพื่อจะนำไปมอบให้แก่ผู้มีชื่อในตั๋ว
จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้มีชื่อในตั๋วต้องนำตั๋วไปใช้ในการเดินทางและเมื่อตั๋วเครื่องบินปลอมได้ถูกนำไปใช้ในการเดินทางแล้ว
จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นตัวการใช้ตั๋วเครื่องบินปลอมและการที่จำเลยปลอมตั๋วเครื่องบินด้วยมีเจตนาที่จะให้ผู้มีชื่อในตั๋วได้เดินทางโดยจำเลยหรือผู้มีชื่อในตั๋วได้เดินทางโดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าตั๋ว
แสดงว่าจำเลยมีเจตนาโดยทุจริตหลอกลวงเจ้าของสายการบินว่าจำเลยหรือผู้มีชื่อในตั๋วได้ชำระค่าตั๋วเครื่องบินแล้วอันเป็นความเท็จทำให้ผู้มีชื่อในตั๋วสามารถเดินทางได้โดยไม่ต้องชำระเงิน
ถือว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงเจ้าของสายการบิน
-
ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาความ การบรรยายฟ้อง
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1185/2508
คำฟ้องของโจทก์บรรยายแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
โดยตามคำฟ้องมิได้กล่าวว่าความจริงเป็นอย่างไร
เพื่อที่จะแสดงให้เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายตรงไหน ฉะนั้น
คำฟ้องในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องที่ระบุความพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 42/2510
คำบรรยายฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความเท็จ
หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งอย่างไร
เพียงแต่บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันหลอกลวงพนักงานเจ้าหน้าที่
ว่าห้องเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 นั้น
ไม่แสดงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 722/2512 โจทก์บรรยายฟ้องว่า
จำเลยเจตนาทุจริตใช้อุบายหลอกลวงนางคอย
ทรัพย์อ่วมโจทก์และประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริง
แต่มิได้บรรยายมาในฟ้องว่า ความจริงเป็นอย่างไร และความเท็จเป็นอย่างไร
ฟ้องโจทก์จึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
-
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
-
ม 271 ขายของโดยหลอกลวง
ถ้าไม่เป็นความผิดตาม ม 341
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 1881/2517
ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นเรื่องที่ผู้กระทำผิดได้ทรัพย์ด้วยการหลอกลวง
แต่ความผิดฐานรับของโจรทรัพย์ที่ได้มาด้วยการฉ้อโกงนั้น
ผู้รับของโจรไม่ได้ไปหลอกลวงด้วย
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องสำหรับความผิดฐานฉ้อโกงว่าจำเลยที่ 2 ได้ทรัพย์มาด้วยการร่วมกับจำเลยที่
1 หลอกลวงผู้อื่น แต่กลับบรรยายฟ้องในความผิดฐานรับของโจรว่า จำเลยที่ 2
รับทรัพย์รายเดียวกันนี้ไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการฉ้อโกง
ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมหลอกลวงด้วย จึงขัดแย้งกัน จำเลยที่ 2
ไม่อาจเข้าใจได้ว่า โจทก์กล่าวหาว่ากระทำการอย่างไรแน่ ย่อมต่อสู้คดีไม่ถูก
ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
ในความผิดสองฐานนี้จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม แต่สำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์มิได้กล่าวหาว่า กระทำผิดฐานรับของโจรด้วยฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1
ในความผิดฐานฉ้อโกงจึงไม่เคลือบคลุม
-
ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 341
-
(ขส เน 2512/ 9) นายยิ่งราษฎร
เอาบัตรทหารไปหลอกซื้อตั๋วรถไฟครึ่งราคา เจ้าพนักงานหลงเชื่อขายตั๋วให้
นายยิ่งผิดฐานใด / นายยิ่งมีเจตนาทุจริต แสดงข้อความเท็จ
หลอกลวงเจ้าพนักงานจนหลงเชื่อ ขายตั๋วครึ่งราคาให้ไป ผิดฐานฉ้อโกงตาม ม 341
-
(ขส เน 2514/ 4) นายเลียบตั้งใจเอาพระเครื่องของเทียมไปหลอกขาย
นายหลง หลงเชื่อรับซื้อไว้ / ปรากฏว่าเป็นพระเครื่องของแท้ /
ข้อความที่หลอกลวง ไม่เป็นความเท็จ
จึงไม่มีการหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ขาดองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง
ความผิดฐานพยายามฉ้อโกงเกิดขึ้นไม่ได้
-
(ขส พ 2498/ 6) แดงกินเนื้อสะเต๊ะ
คิดหาทางทำให้เสียสตางค์น้อยลง แอบเอาไม้ทิ้ง เพื่อให้คนขายคิดเงินน้อยลง
ผู้ขายคิดเงินตามไม้สะเต๊ะที่เหลืออยู่ แดงชำระเงินแล้ว / แดงผิด
ม 304 ไม่ผิด ม 305 "กฎหมายลักษณะอาญา"
(ม 304 "ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวงด้วยประการใดใด
อันต้องประกอบด้วยเอาความเท็จมากล่าว หรือแกล้งปกปิดเหตุการณ์อย่างใดใด
ที่มันควรต้องบอกให้แจ้งนั้น โดยมันมีเจตนาทุจริต คิดหลอกลวงให้ผู้หนึ่งผู้ใด
ส่งทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่ตัวมันเอง หรือแก่ผู้อื่นก็ดี
หรือให้เขาทำหนังสือสำคัญ หรือให้เขาถอน หรือทำลายหนังสือสำคัญอย่างใดใดก็ดี
ท่านว่ามันผู้หลอกลวงเช่นว่ามานี้กระทำการฉ้อโกง / ม 305
ผู้ใดซื้อเชื่อสิ่งของเขา โดยเจตนาจะไม่ใช้ค่าสิ่งของนั้น
ท่านว่ามันฉ้อโกง)
-
(ขส พ 2510/ 6) คนร้ายลักโคของนายแขกไป
นายจีนไปขอซื้อโคเพื่อนำไปคืนนายแขก นายจีนนำโคไปผสมพันธ์กับโคของตน
และรับจ้างผสมพันธ์กับโคผู้อื่น ได้ค่าจ้าง 100 บาท แล้วนำโคไปคืนนายแขก
นายแขกใช้เงินที่นายจีนจ่ายคนร้ายไป / นายจีน
ไม่ผิดฐานรับของโจร ม 357 เพราะไม่มีเจตนารับโคเพื่อตนเอง แต่จะเอาไปคืนเจ้าของ
และได้คืนเจ้าของ / ไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ม 358
เพราะไม่มีเจตนาทำให้โคเสียหาย เสื่อมค่า หรือไร้ประโยชน์ / ไม่ผิดฐานยักยอก
ม 352 เพราะไม่ได้รับมอบโคจากนายแขก / ไม่ผิดฐานฉ้อโกง มาตรา
341 เพราะไม่ได้ปกปิด เพื่อให้ได้ทรัพย์สิน แต่ปิดเมื่อได้รับทรัพย์สินมาแล้ว
-
(ขส พ 2513/ 7) แดงกู้เงิน และมอบโฉนดให้ดำ ไว้เป็นประกัน
/ แล้วหลอกว่าขอยืมโฉนดไปให้ขาวดู
เพื่อกู้เงินขาวมาชำระหนี้ดำ / ดำหลงเชื่อให้โฉนดคืน
แต่แดงกลับนำไปโอนขายให้เขียว / แดงผิดฐานฉ้อโกง มาตรา 341
เพราะมีเจตนาทุจริต
และแม้หนี้รายนี้ไม่ใช่หนี้ที่จะบังคับเอาจากที่ดินตามโฉนดได้โดยเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด
แต่ก็ทำให้นายดำขาดหลักทรัพย์ตามสัญญากู้ที่ทำไว้ต่อกัน ฎ 725/2476 (กรรมการฝ่ายข้างน้อย เห็นว่าไม่ผิด มาตรา 341)
-
(ขส พ 2516/ 9) เอกจ้างทนายแก้ต่างให้ลูกจ้าง
โดยพานายเบญจแนะนำทนายอ้างว่าเป็นนายจัตวา และนำ นส 3 ชื่อนายจัตวา
ให้ทนายยื่นคำร้องประกันตัว ทนายเชื่อจึงยื่นขอประกันตัวต่อศาล
ต่อมาทนายฟ้องว่าเอกและเบญจฉ้อโกง / เอกและเบญจ
ไม่ผิดฐานฉ้อโกง ตาม ม 341,342 แม้มีเจตนาทุจริต
และทำให้ทนายทำหนังสือรับรองหลักทรัพย์ก็ตาม แต่หนังสือดังกล่าว
ไม่ใช่เอกสารสิทธิตาม ม 1 (9) เพราะเป็นเพียงรับรองว่าเป็นหลักทรัพย์ของจัตวาจริงเท่านั้น
ไม่ได้รับรองว่าถ้าบังคับไม่ได้แล้ว ทนายจะต้องรับผิด จึงไม่ผิด ม 341
และเมื่อไม่ผิด ม 341 จึงไม่ผิด ม 342 เพราะจะต้องเข้าองค์ประกอบ ม 341 ก่อน ฎ 863/2513 (เทียบ ขส พ 2523/ 7
คำตอบว่าผิดฉ้อโกง เพราะเป็นการหลอกลวง และได้ประโยชน์จากการใช้หนังสือรับรองหลักทรัพย์
หนังสือรับรองหลักทรัพย์ มีข้อความรับใช้เงินส่วนที่ขาดจนครบ เป็นเอกสารสิทธิ ม 341
, 342 (1) )
-
(ขส พ 2517/ 7) ปิ่นทำแหวนตก เพียง 5 นาทีก็กลับมาตามหา แปลกเก็บได้ ปลิกอ้างว่าเป็นแหวนตน แปลกจึงมอบให้
เมื่อปิ่นถาม ปลิกไม่ยอมรับว่าได้รับแหวนไว้ ปิ่นรีบตามหาและสอบถาม
เป็นระยะเวลากระชั้นชิด ถือว่าแหวนยังอยู่ในความยึดถือ ไม่ใช่ทรัพย์ตกหาย
แปลกเก็บแหวนได้ ไม่ทำให้ความยึดถือของปิ่นขาดตอนไป
ปลิกเอาแหวนไปโดยรู้ว่าไม่ใช่ของตน ผิด ม 334 ไม่ผิด ม 341 ฎ 207/2512 , 1745/2514
-
(ขส พ 2523/ 7) นายจ้างจ้างทนายแก้ต่างให้ลูกจ้าง
โดยพานายวันแนะนำทนายอ้างว่าเป็นนายสม และนำ นส 3 ชื่อนายสม
ให้ทนายยื่นคำร้องประกันตัว ทนายเชื่อจึงยื่นขอประกันตัวต่อศาล / นายจ้างและนายสม ผิดฐานฉ้อโกง ตาม ม 341 , 342 (1)
เพราะเป็นการหลอกลวง
และได้ประโยชน์จากการใช้หนังสือรับรองหลักทรัพย์ หนังสือรับรองหลักทรัพย์
มีข้อความรับใช้เงินส่วนที่ขาดจนครบ เป็นเอกสารสิทธิ ม 341 , 342 (1) (เทียบ ขส พ 2516/ 9 ไม่ผิดฉ้อโกง
เพราะหนังสือรับรองหลักทรัพย์ ไม่มีข้อความรับใช้ส่วนที่ขาดจำนวน
ไม่เป็นเอกสารสิทธิ) ฎ 863/2513
-
(ขส พ 2524/ 7) เช้าแก้เลขท้ายในสลาก แล้วนำไปหลอกขาย
สายรู้อยู่แล้ว แต่เห็นว่าทำแนบเนียน จึงซื้อไว้ แล้วแก้ให้ถูกรางวัลที่สูงขึ้น
นำไปหลอกขายเที่ยง / เช้าผิด ปลอมเอกสารสิทธิ (ไม่เป็นเอกสารราชการ) และนำไปขาย (เป็นการใช้) ผิด ม 265+268 เช้าหลอกสาย
แต่สายชำระเงินทั้งที่รู้ว่าถูกหลอก เช้าผิด ม 341+80 เป็นกรรมเดียว
/ สายผิด ม 265+268 + (80+341) เป็นกรรมเดียว
การที่เที่ยงนำไปขึ้นเงิน อยู่นอกเจตนาของเช้า เช้าไม่ต้องรับผิดร่วมกับแสง
เพราะเจตนาฉ้อโกงนายแสงเพียงผู้เดียว
-
(ขส อ 2519/ 8) ผู้ซื้อแอบเอาป้ายสินค้าราคาถูกไปติดกับสินค้าราคาแพง
เพื่อชำระราคาต่ำลง ผิด ม 341
-
(ขส อ 2520/ 10) หลอกเจ้าของร้านขายที่นอน
ว่าตนเป็นเจ้าของโรงแรม เจ้าของร้านจึงพาไปเลี้ยงอาหารและซื้อของให้ เพื่อเอาใจ
แต่บ่ายเบี่ยง ไม่ยอมลงชื่อในสัญญาซื้อขายที่นอน ผิด ม 341+80 เพราะลงมือแล้ว (ไม่ชัดว่าหมายถึง ที่นอน
หรือค่าอาหาร)
-
(ขส อ 2529/ 6) ตำรวจและราษฎร ร่วมกันแกล้งจับ ชกหน้า
ใช้ปืนตบปาก ยึดบัตรประชาชน เรียกเงิน คุมตัวไปบ้านเพื่อเอาเงิน / ราษฎรหลอกมารดาผู้ถูกจับ ว่าไปขับรถชน ให้จ่ายเงินเพื่อคดีจบ
มารดาไม่เงินน้อย จึงไม่เอา / ตำรวจผิด ม 148 + 337 +
297 + 83 / ราษฎรผิด ม 148+86 - 337+297+83 / ราษฎรที่หลอก
ผิด ม 341+80
-
(ขส อ 2531/ 6) นำใบเสร็จไปคืน รพ ของราชการ
ขอให้แก้ยอดเงินเพิ่ม เมื่อเบิกได้แล้วจะนำมาแบ่ง / จนท รพ
ผิด ม 264+266 + 161 + 149 ยอมจะรับ / คนขอผิด
ม 144+ ผู้ใช้ ม 264+266+84 (คนขอ
ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ขาดคุณสมบัติอันเป็นองค์ประกอบภายนอก ไม่อาจเป็นผู้ใช้ได้
จึงไม่สามารถเป็นตัวการได้ จะต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ม 86) + นำไปเบิก ม 268+341
-
(ขส อ 2541/ 6) ก มอบให้ ข เลี้ยงปลา แล้ว ก
จับขายมาแบ่งประโยชน์กัน ข แอบเอาไปขาย ผิด ม 352 แล้วยังมาเบิกค่าอาหารปลาตามข้อตกลง
เป็นการปกปิดความจริง ผิด ม 341+91
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น