ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

มาตรา ๑๕๗

มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- ป.อาญา มาตรา 157 คำว่า "โดยมิชอบ" และเจตนาพิเศษ เป็นกฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายยุติธรรม มีความยืดหยุ่นสูง และไม่สามารถจะบัญญัติให้ชัดแจ้งได้ จำเป็นต้องปล่อยให้เป็นไปตามการตีความของสังคม ซึ่งวางกลไกการใช้อำนาจ และการถ่วงดุลอำนาจไว้

- เจ้าพนักงาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 262/2543 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ป.อ. มาตรา 157 ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รายงาน และให้ความเห็นในการขอลาออกจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ ไม่มีหน้าที่ในการทำหนังสือขอลาออก จำเลยปลอมหนังสือขอลาออกของ ซ. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองในท้องที่ของจำเลยและใช้เอกสารปลอม จึงไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

- กรณีไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 909/2501 สารวัตรศึกษาประจำอำเภอไม่มีหน้าที่ในการออกบัตรประจำตัวประชาชน ช่วยจัดให้ผู้ที่มาขอได้รับบัตรนั้นไปจากเจ้าหน้าที่ โดยรับเงินตอบแทน แม้บัตรนั้นผู้ขอจะไม่ได้ขอตามความเป็นจริง ไม่เป็นความผิดฐานรับสินบน และจดข้อความเท็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 737/2504 มาตรา 157 เป็นความผิด ที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยไม่ชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต การที่โจทก์ถูกตำรวจจับและควบคุมฐานะเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ แล้วถูกจำเลยซึ่งเป็นตำรวจเข้าไปกระทำมิดีมิร้ายต่อโจทก์ในทางชู้สาว ย่อมไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลย จึงไม่ผิด มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 340/2507 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไม่พอใจ ที่เห็นภริยาเล่นไพ่อยู่กับโจทก์และพวก จึงเข้าไปอาละวาดกลางวงไพ่และเตะโจทก์ แล้วจำเลยทำทีขอตรวจใบอนุญาต เพื่อกลบเกลื่อนการกระทำของจำเลย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิดตาม มาตรา 157 (การทำร้ายเกิดขึ้น ก่อนการลงมือปฏิบัติหน้าที่ (ขอตรวจใบอนุญาต))

- คำพิพากษาฎีกาที่ 117/2516 การกระทำซึ่งจะมีมูลความผิดตาม มาตรา 157 นั้น จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติซึ่งอยู่ในหน้าที่ บิดาของ ส. แจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมว่า โจทก์ฉุกคร่า ส. จำเลยที่ 2 เป็นนายตำรวจอยู่กองทะเบียนประวัติอาชญากรจับโจทก์ บอกว่ามีคนแจ้งให้จับเรื่องฉุดผู้หญิง และขู่เข็ญให้โจทก์ถอนทะเบียนสมรสกับ ส. จำเลยที่ 2 พาโจทก์ไปพบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายตำรวจอยู่กองบัญชาการตำรวจภูธร เขต 8 ตำแหน่งนายเวร จำเลยที่ 1 ก็ได้พูดขู่เข็ญโจทก์ และให้จำเลยที่ 2 นำโจทก์ไปมอบให้นาร้อยเวรสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม ดังนี้ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มิได้มีหน้าที่เกี่ยวกับคดีที่บิดา ส. แจ้งความไว้ การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัตินอกหน้าที่ ไม่ผิด มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1403/2512 (สบฎ เน 2096) มาตรา 157 การจะเป็นความผิดนั้นต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติ เฉพาะแต่หน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้น "โดยตรง" ตามที่ได้รับมอบหมาย ถ้าไม่เกี่ยวกับหน้าที่โดยตรงแล้ว ย่อมไม่ผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 294/2525 โจทก์มายื่นคำคัดค้านต่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยอ่านคำคัดค้าน แล้วพูดกับโจทก์โดยใช้ถ้อยคำที่อาจจะเป็นการดูหมิ่นโจทก์ แต่จำเลยก็รับคำคัดค้านของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป ดังนี้ถือว่าจำเลยปฏิบัติการไปตามหน้าที่โดยชอบแล้ว ส่วนถ้อยคำที่จำเลยกล่าวนั้น มิใช่การปฏิบัติหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1695/2528 สิ่งพิมพ์ตามกฎหมายว่าด้วยการพิมพ์แผ่นประกาศ หรือสิ่งอื่นใดซึ่งใช้ในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง แม้จะเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือพรรคการเมืองใดก็ตาม หากมิได้มีอยู่ภายในที่เลือกตั้งซึ่งเป็นสถานที่ที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนเลือกตั้งรวมถึงบริเวณที่กำหนดขึ้นโดยรอบที่เลือกตั้ง เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งก็ไม่มีอำนาจทำลาย ปกปิดหรือนำออกไปตามที่บัญญัติไว้ใน ม.11 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 เมื่อคำฟ้องของโจทก์ก็อ้างว่าแท็งค์น้ำของทางราชการ ซึ่งระบุชื่อ ป. และ ส. ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ตั้งอยู่ทั่วไปภายในเขตเลือกตั้ง มิใช่อยู่ภายในที่เลือกตั้ง จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

- คำพิพากษาฎีกาที่ 364/2531 ปกติการทำร้ายร่างกาย ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับโจทก์ ข้อหาวิ่งราวทรัพย์ แล้วทำร้ายร่างกายโจทก์โดยเจตนาทำร้ายธรรมดา มิใช่เพื่อประสงค์จะให้เกิดผลอันใดในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพราะจำเลยจับโจทก์ได้แล้ว ทั้งจำเลยมิใช่พนักงานสอบสวนที่ทำร้ายโจทก์ เพื่อประสงค์จะให้โจทก์รับสารภาพ กรณีจึงมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตาม มาตรา 157 เมื่อโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำของจำเลย จำเลยมีความผิดตามมาตรา 295

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2818/2531 การที่จำเลยซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีเป็นเจ้าพนักงานในเทศบาลผู้หนึ่ง ได้กล่าวอภิปรายในที่ประชุมสมาชิกสภาเทศบาลนั้น มิใช่เป็นการกระทำในหน้าที่ราชการของนายกเทศมนตรี และถ้อยคำที่จำเลยกล่าว ก็เป็นการกล่าวติชมด้วยความเป็นธรรมในฐานะที่จำเลยเป็นผู้เสนอญัตติ และเพื่อให้สมาชิกสภาเทศบาลรับทราบเรื่องที่จำเลยได้เสนอเข้าพิจารณา ในที่ประชุม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและหมิ่นประมาทโจทก์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1681/2535 การอนุมัติให้คนต่างด้าวเข้ามาในเขตจังหวัด เป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้ว่าราชการจังหวัด และการอนุมัติให้คนต่างด้าวออกนอกเขตจังหวัด เป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดในบางกรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดมิได้มอบหมายเป็นหนังสือให้จำเลยซึ่งเป็นปลัดจังหวัดเป็นผู้ทำการแทน จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติให้คนต่างด้าวเข้ามา หรือออกนอกเขตจังหวัด การที่จำเลยสั่งการให้เจ้าหน้าที่จัดทำแบบหนังสืออนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาหรือออกนอกเขตจังหวัด ลงนามในตำแหน่งปลัดจังหวัดทำการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดประทับตราจังหวัด และแจกจ่ายหนังสืออนุญาตที่มีลายมือชื่อจำเลยนี้ ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติราชการชายแดนไทยพม่า นำไปกรอกเติมข้อความมอบให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะเดินทาง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ จำเลยไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6564/2542 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต ถ้าไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ / อำนาจหน้าที่ในการสั่งงดจ่ายเงินเดือนของข้าราชการตำรวจ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมตำรวจ หรือผู้ที่กรมตำรวจมอบหมายโดยตรง ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่สั่งงดจ่ายเงินเดือนข้าราชการตำรวจ แม้จำเลยที่ 1 ทำบันทึกเสนอต่อผู้บังคับบัญชาในการที่โจทก์ขาดราชการเกินกว่า 15 วัน และเสนอความเห็นให้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการ และการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 สั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่การเงินจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ ก็เพราะเหตุที่เชื่อว่าโจทก์ละทิ้งราชการ หรือหนีราชการ ประกอบกับในทางปฏิบัติกองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้จ่ายเงินงบประมาณหมวดเงินเดือน ให้แก่สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ขอเบิกรับเงินไป หากมีเงินส่งคืนก็จะบันทึกเหตุผลในการส่งคืนไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งงดจ่ายเงินเดือนข้าราชการตำรวจ ชทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

- การปฏิบัติหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 504/2495 การที่จำเลยผู้เป็นตำรวจจับเขามาด้วยข้อหาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเรียกเอาเงินเขา เมื่อได้เงินแล้วก็ปล่อยไปนั้น แม้ข้อหาที่จับมานั้นจะเป็นข้อหาที่นมนานขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่า เป็นเรื่องเรียกสินบนเพื่อปฏิบัติการผิดหน้าที่ ซึ่งนอกเหนือเหลือเกิน มิชอบด้วยอำนาจหน้าที่ของจำเลย ย่อมเป็นผิดตาม ก..ลักษณะอาญามาตรา 138

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1399/2508 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานสืบสวนสวบสวนคดีอาญา ระหว่างสอบสวนจำเลยทำร้ายโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ยอมรับสารภาพ ไม่ยอมลงชื่อตามที่จำเลยต้องการ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผิดตามมาตรา 157, 391

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3941/2541 พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 67 กำหนดให้นายอำเภอ ปลัดอำเภอ สมุห์บัญชี รวมเรียกว่ากรมการอำเภอแม้มีตำแหน่งต่างกัน ย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบรวมกันในการที่จะให้การปกครองอำเภอนั้นเรียบร้อย กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยซึ่งมีตำแหน่งปลัดอำเภอมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ร่วมกับนายอำเภอและปลัดอำเภอคนอื่นอยู่ การกระทำของจำเลยที่ให้คำรับรอง ท. ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนทั้ง ๆ ที่ทราบว่า ท. เป็นบุคคลต่างด้าว จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ.มาตรา 157

- กรณีมีอำนาจกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 437/2515 ศาลฎีกาพิเคราะห์บาดแผลของนายตาตามรายงานการตรวจชันสูตร บาดแผลท้ายฟ้องแล้ว เห็นว่า นายตาถูกจำเลยที่ 1 เตะทั้งรองเท้า มีบาดแผลช้ำบวมหลายแผล ริมฝีปากแตก และเบ้าตาช้ำบวมเขียว ตาขาวมีรอยช้ำเลือด รักษาหายใน 7 วัน เช่นนี้ถือว่าเกิดอันตรายแก่กายแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามฟ้อง ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 310 นั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จับกุมนายตาผู้เสียหายซึ่งเมาสุรา ประพฤติ วุ่นวายครองสติไม่ได้ขณะอยู่ในถนนสาธารณะ อันเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 378 ไปที่สถานีตำรวจแล้วนายตาผู้เสียหาย ร้องเอะอะอาละวาดเตะโน่นเตะนี่ เดินไปเดินมาและจะลงไปจากสถานีตำรวจ จำเลยที่ 1 กลัวของของสถานีตำรวจจะเสียหาย จึงขอกุญแจสิบเวรพานายตา เข้าห้องขังไว้จนสว่างรุ่งเช้าเห็นว่านายตาหายเมาสุราแล้ว ก็พานายตาออกมา นอกห้องขัง ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ เห็นว่าจำเลยที่ 1 พานายตาผู้เสียหายเข้า ห้องขังก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยที่สถานีตำรวจแห่งนั้น และเพื่อรักษาความปลอดภัยไม่ให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย การกระทำของจำเลย จึงมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายตา หรือหน่วงเหนี่ยวกักขัง ทำให้นายตาปราศจากเสรีภาพในร่างกาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 310

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1233/2519 จำเลยจับกุมโจทก์ในข้อหาว่า เป็นผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น แม้ว่าการจับกุมครั้งนี้ จะไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า แต่ก็เป็นกรณีอาจอออกหมายจับได้ โดยมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์จะหลบหนี และจำเลยรักษาการแทนผู้บังคับกอง เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปจับโจทก์ด้วยตนเอง แม้ไม่มีหมายจับ ก็ย่อมทำได้โดยชอบด้วย ป วิ อาญา มาตรา 78 วรรคสุดท้าย เมื่อจำเลยมีอำนาจจับกุมโจทก์ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 612/2526 ป.ว.อ.ม.169 ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจตามควรว่า กรณีใดควรจะออกหมายเรียก กรณีใดควรจะออกหมายจับ / โจทก์ถูกฟ้องตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ซึ่งโจทก์ในคดีนั้นแถลงว่าโจทก์เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาอีกคดีหนึ่งซึ่งศาลได้ออกหมายจับไว้แล้ว ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูล ก็ขอให้ออกหมายจับด้วย ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งเป็นผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจออกหมายจับโจทก์ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบตามอำนาจที่จะกระทำได้ ไม่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามฟ้อง และไม่ความจำเป็นที่จะต้องสั่งฟ้องของโจทก์ไว้เพื่อทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 690-691/2526 คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานเงินกู้ธนาคารโลก และกำหนดอำนาจหน้าที่ให้บริหารงานเงินกู้ธนาคารโลกในส่วนของสำนักงาน รพช. แทนคณะรัฐมนตรีไดทุกประการ รวมทั้งควบคุมการดำเนินการซื้อขายและการว่าจ้างด้วย การที่คณะกรรมการฯ มีมติให้ใช้ร่างสัญญา โดยไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาของกรมอัยการ โดยต้องเสนอให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาอนุมัติก่อน ย่อมมีผลบังคับโดยชอบ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นรับมนตรีเจ้าสังกัดได้อนุมัติแล้ว การไม่ส่งร่างสัญญาไปให้กรมอัยการตรวจพิจารณา จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี แม้จำเลยทราบมติ คณะรัฐมนตรีที่ให้ส่งร่างสัญญาที่หน่วยงานของรัฐทำกับบุคคลภายนอกไปให้กรมอัยการตรวจพิจารณาก่อน ก็ไม่มีความผิดตาม ป.อ.ม.157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3710/2526 การรังวัดแบ่งแยกที่ดิน ปกติจะไม่เก็บ น.ส.3 ฉบับเจ้าของที่ดินไว้จะเรียกให้นำมาอีกครั้งหนึ่ง ในวันจดทะเบียนแบ่งแยก ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 และโจทก์ยื่นเรื่องราวขอแบ่งขายที่ดิน การที่จำเลยที่ 1 ไปขอรับ น.ส.3 ที่ยื่นไว้คืน โดยสัญญาว่าจะนำมาคืนในภายหลังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องราว และเป็นผู้ไปรังวัดตามคำสั่งของที่ดินอำเภอคืนให้ไป จึงมิได้เป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อระเบียบ หรือผิดต่อหน้าที่หรือไม่ชอบด้วยหน้าที่อย่างไร จำเลยที่ 1 รับคืนไปแล้วไปโอนขายฝาก จนที่ดินหลุดเป็นสิทธิแก่ผู้ซื้อ เป็นเรื่องผิดสัญญาแบ่งขายต่อโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดตาม ป.อ.ม.157 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นราษฎรย่อมไม่มีความผิดด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3962/2527 จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนและมีตำแหน่งสารวัตรปกครองป้องกัน เข้าไปในบ้านโจทก์เพื่อตามหาตัวโจทก์ในข้อหามีอาวุธปืน โดย จ. คนเฝ้าบ้านโจทก์อนุญาตให้เข้าไป จำเลยเข้าไปในห้องนอนของโจทก์ เมื่อไม่พบตัวโจทก์ก็ออกมาทันที ดังนี้ การกระทำของจำเลย ยังไม่เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขตาม ป.อ. ม.362 , 365 และไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตาม ม.157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2719/2528 ไม่มีข้อความตอนใดใน ม.86 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 ห้ามคณะกรรมการสอบสวนมิให้ทำรายงานการสอบสวนว่า การกระทำของข้าราชการที่ถูกสอบสวนทางวินัยมีมูลความผิดทางอาญาด้วย และไม่มีกฎหมายใดระบุไว้เช่นนั้น ดังนั้น ถ้าในการสอบสวนโจทก์ปรากฏว่ามีมูลความผิดทางอาญา คณะกรรมการสอบสวน ก็มีอำนาจที่จะทำความเห็นในดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ได้ การที่จำเลยซึ่งเป็นกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัย ทำความเห็นเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ว่าการกระทำของโจทก์มีมูลความผิดทางอาญา ให้พิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร จึงเป็นการเสนอความเห็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเจตนาร้ายหรือกลั่นแกล้งปรักปรำโจทก์ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. ม.157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2922/2528 การดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกัน ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 นั้น รถยนต์ของกลางย่อมเป็นหลักฐานสำคัญแห่งองค์ความผิดที่ทำให้ทราบ ข้อเท็จจริงตลอดจนพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และเพื่อที่จะรู้ตัวผู้ร่วมกระทำผิด และพิสูจน์ให้เห็นความผิด จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน มีอำนาจที่จะยึดรถยนต์ของกลางไว้เป็นพยานหลักฐานประกอบคดีได้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดตาม ป.ว.อ. ม.131 ประกอบกับ ม.85 จึงมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. ม.157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4791/2528 เมื่อมีเหตุให้เชื่อได้ว่า มีของที่ได้มาผิดกฎหมายอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุ หากไม่ทำการตรวจค้นเสียในวันเกิดเหตุ ของที่อยู่ในบ้านอาจถูกขนไปเสียการตรวจค้นต่อหน้าเจ้าของ หรือผู้ครอบครองบ้านและโดยไม่ทำลายกุญแจก็ไม่อาจทำได้ ทั้งการตรวจค้นของจำเลยซึ่งเป็นสารวัตรตำรวจได้กระทำต่อหน้าพยานสองคน การตรวจค้นของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วย ป.ว.อ. ม.9294 และ 102 จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. ม.157,358,364,365 (2) / สารวัตรตำรวจและสารวัตรปกครองป้องกัน เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตาม ป.ว.อ. ม.2(17) จึงมีอำนาจตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้นตาม ม.92 วรรคสุดท้าย / เมื่อจำเลยมีอำนาจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้น และมีพฤติการณ์ที่จะออกหมายค้นและทำการค้นได้ ดังนั้น หมายค้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่ทำให้จำเลยไม่มีอำนาจค้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3756/2532 โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสาร ได้ยื่นหนังสือถึงจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนประจำจังหวัดขอถอนรถโดยสารบางคันออกจากบัญชี ขส.บ. 11 ถือได้ว่าโจทก์ประสงค์จะเลิกใช้รถที่จดทะเบียนแล้วตามมาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ. การขนส่งทางบก เมื่อไม่ปรากฏว่ามีระเบียบหรือข้อบังคับใดมาแสดง ให้เห็นว่าจำเลยต้องปฏิบัติตามโดยจะพิจารณาสั่งเป็นอย่างอื่นที่เหมาะสมไม่ได้ ดังนั้นการที่จำเลยไม่อนุญาต จะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไม่ได้ / เมื่อรถที่โจทก์นำเข้ามาร่วมรับส่งผู้โดยสาร ได้พากันหยุดแล่นรับส่งผู้โดยสาร ถือได้ว่าโจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดตาม มาตรา 31 (1) แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวจำเลยมีอำนาจตามมาตรา 46 สั่งโจทก์ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขได้ จำเลยไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3878/2533 การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2497 และกฎ ก.พ. ฉบับที่ 60 (พ.ศ. 2497) อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะจำเลยที่ 1 ทำการสอบสวนโจทก์ผู้ถูกกล่าวหา มิได้กำหนดให้คณะกรรมการ ต้องสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาทราบ เพียงแต่แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ส่วนการที่จะสอบพยานเพียงใดก็เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการที่จะงดสอบสวนพยาน เมื่อจะทำให้การสอบสวนล่าช้า โดยไม่จำเป็น หรือมิใช่ประเด็นสำคัญ การดำเนินการสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่มิได้สรุปพยานหลักฐานแจ้งให้โจทก์ทราบ และมิได้สอบพยานเพิ่มเติม จึงเป็นการกระทำโดยชอบ และจำเลยที่ 2 ก็ได้พิจารณาออกคำสั่งไปตามสำนวนการสอบสวนดังกล่าว จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4825/2539 โจทก์ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุทัยธานี ให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามระเบียบคณะกรรมการ เกี่ยวกับการคัดเลือกเกษตรกร แต่จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุทัยธานี ไม่ได้มอบหนังสือรับมอบที่ดินให้โจทก์ เนื่องจากเห็นว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติที่จะได้รับที่ดินตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งมีสิทธิจะได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2525 และเสนอเรื่องของโจทก์ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุทัยธานีทราบและพิจารณาทบทวนมติเดิม คณะกรรมการดังกล่าวจึงมีมติให้รอการพิจารณาของศาลก่อนจึงจะมีมติในเรื่องนี้ต่อไป จำเลยจึงต้องรอฟังมติของคณะกรรมการดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถมอบหนังสือรับมอบที่ดินให้โจทก์ได้การกระทำของจำเลยดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า จำเลยมุ่งหมายเพื่อให้การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3112/2539 ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ไม่ปรากฏว่าหมายเลขคดีที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงตามที่อ้างถึง เป็นหมายเลขคดีที่นอกสารบบหรือกระทำขึ้น โดยมิได้มีอยู่จริงหรือปราศจากอำนาจ ตรงกันข้าม เลขคดีที่อ้างถึงเป็นเลขคดีที่ได้แก้ไข และถือใช้อยู่ในสารบบของทางราชการที่เกี่ยวข้องจริง จึงเป็นหมายเลขคดีที่แท้จริง ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งเก้าปฏิบัติหรือละเว้นไม่ปฏิบัติต่อโจทก์ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเหตุที่มีการร้องทุกข์อย่างไร อันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 มาตรา 70 การกระทำของจำเลยทั้งเก้า จึงไม่มีมูลเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162, 165, 264, 265, 266 และ พ.ร.บ. คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 มาตรา 70 / จำเลยทั้งเก้าปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของทางราชการ มิได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งเก้าจึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4881/2541 ป.อ.มาตรา 157 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการเอาโทษแก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ แต่กลับปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตอนหนึ่ง และเอาโทษแก่เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอีกตอนหนึ่ง ในตอนแรกคำว่าเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น หมายความรวมถึง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดด้วย ดังนั้น หากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน โดยมิชอบเป็นการกระทำต่อเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดโดยตรง และเป็นการกระทำให้บุคคลดังกล่าวได้รับความเสียหาย เอกชนผู้นั้นย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ได้ / คำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงหน้าที่ตลอดจนการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 3 มาในคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตาม ป.อ.มาตรา 157 ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158(5) ดังนั้นปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย / ตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 นอกจากจะเป็นตำแหน่งทางฝ่ายตุลาการแล้ว ยังเป็นตำแหน่งทางฝ่ายบริหารมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ธุรการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้ด้วย ถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีสูงกว่าตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเป็นตำแหน่งทางฝ่ายตุลาการเพียงอย่างเดียว ฉะนั้น การแต่งตั้งโจทก์จากผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นการปูนบำเหน็จความดีความชอบให้แก่โจทก์ เป็นการขัดกับการที่โจทก์ยังมีโทษงดบำเหน็จอยู่ การที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการหาข้อยุติความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับมติ ก.ต.ที่เห็นชอบในการแต่งตั้งโจทก์ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณาสั่งการไปตามอำนาจหน้าที่ในทางบริหารราชการแผ่นดิน และที่สำคัญยิ่งก็คือการจะนำเรื่องใดเสนอให้นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งนั้น เรื่องนั้นจะต้องมีข้อยุติว่าเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการแล้ว การที่จำเลยที่ 2 พยายามหาข้อยุติความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับมติ ก.ต.ที่แต่งตั้งโจทก์แ ละยังไม่อาจนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไปนั้น หาใช่จำเลยที่ 2 มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้โจทก์เสียหายอย่างใดไม่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 157 / จำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และเป็นประธาน ก.ต. โดยตำแหน่ง ในการประชุม ก.ต. ประธาน ก.ต. เป็นประธานที่ประชุม โดยทั่วไปแล้วในการประชุม ประธานที่ประชุมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการประชุม และรับผิดชอบดำเนินการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นผลดีแก่ทางราชการ หากไม่มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น กรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรประธานที่ประชุมจะสั่งเลื่อนหรือปิดประชุม ก็ย่อมทำได้ ได้ความว่า ในตอนเช้าจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้ดำเนินการประชุม ก.ต.ไป ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ จนกระทั่งถึงวาระการแต่งตั้งข้าราชการตุลาการ จำเลยที่ 3 แถลงขอให้ที่ประชุมเลื่อนวาระนี้ไปก่อน โดยชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นว่า มีเรื่องที่จะต้องปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอยู่อีก และเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งส่วนจำเลยที่ 4 ก็ได้พยายามชี้แจงและขอร้องให้ที่ประชุมเลื่อนวาระดังกล่าวออกไป โดยแจ้งว่าการเลื่อนออกไปจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ในที่สุดส่วนใหญ่ของที่ประชุมเห็นว่าไม่สมควรให้มีการเลื่อน จำเลยที่ 4 จึงอาศัยอำนาจของประธานที่ประชุมสั่งให้เลื่อ นและปิดประชุม ทั้งนี้โดยมีมูลเหตุมาจากการร้องของพลเอก ส. นายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดผลดีต่อบ้านเมืองในทุก ๆ ด้านตามรัฐประศาสโนบาย โดยเฉพาะเป็นผู้มีหน้าที่นำมติ ก.ต. ที่เห็นชอบในการแต่งตั้งโจทก์ขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เมื่อพลเอก ส. เห็นว่าโจทก์ยังมีโทษทางวินัยอยู่ และการแต่งตั้งโจทก์เป็นการขัดต่อพระราชกระแสเช่นนี้ การที่จำเลยที่ 4 ขอให้ที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน โดยแจ้งว่าการเลื่อนจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 ได้พิจารณาถึงเหตุผลและความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้านแล้ว จึงได้สั่งให้เลื่อนและปิดประชุมหากจำเลยที่ 4 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์จำเลยที่ 4 จึงไม่นำเรื่องการแต่งตั้งโจทก์บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมก็ย่อมได้ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 4 ก็รู้อยู่ว่าโจทก์มีโทษทางวินัยอยู่ การที่ภายหลังต่อมามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมดังกล่าวแล้ว กรณีจึงไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 4 สั่งเลื่อนและปิดประชุมโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์

- การปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 744/2501 การควบคุมผู้ต้องหา ผู้ควบคุมต้องพิเคราะห์ไม่ใช้วิธีเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้หนี หากใส่กุญแจมือผู้ต้องหา มิใช่เพื่อมิให้หนี แต่เพื่อให้ได้อาย แม้จะไม่เจตนาแกล้งเป็นส่วนตัว หากเพื่อปราบปรามเจ้ามือสลากกินรวบ ก็เป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 145 (ตามที่ฟ้อง ตรงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157) / นายอำเภอแกล้งใส่กุญแจมือผู้ต้องหา เป็นความผิด แต่ไม่มีเจตนาแกล้งเป็นส่วนตัว หากทำเพื่อปราบปรามเจ้ามือสลากกินรวบผู้บังคับบัญชารับรองว่าเป็นนายอำเภอที่เข้มแข็ง และมีความประพฤติดี ศาลให้รอการลงโทษ / ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์เป็นหญิงมีหลักฐานและความผิดที่ต้องหา เพียงลักเล่นการพนัน ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง การที่จำเลยใส่กุญแจมือโจทก์ ล่ามโซ่เดินไปตามถนนในตลาดเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ข้อแก้ตัวจำเลยว่า จะมีคนแย่งโจทก์ฟังไม่ขึ้น จำเลยก็รับรองว่าไม่เคยคิดเกรงว่าโจทก์จะหลบหนี แม้ปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องมีประกันเลยก็ยังเคย โจทก์ก็มาตามนัดทุกครั้ง ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยกระทำนั้นเจตนาเพื่อให้โจทก์อับอาย จึงเป็นผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 145 แต่เห็นว่าจำเลยมิได้ มีเจตนาแกล้งเป็นส่วนตัวหากเป็นเรื่องที่มุ่งจะปราบสลากกินรวบ จึงพิพากษาแก้เฉพาะข้อกำหนดโทษ โดยให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2444/2521 ตำรวจจับคนโดยไม่มีอำนาจ กระชากมือโดยแรงจนผู้เสียหายล้มลงมีบาดเจ็บที่นิ้วและหัวเข่า รักษา 5 วันหาย เป็นอันตรายแก่กาย ซึ่งทำโดยเจตนาตาม ป.อ.ม. 295 การจับกักขังเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ม.157 และ 310 เป็นกรรมเดียว ลงโทษตาม ม.157 บทหนักอีกกระทงหนึ่ง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1683/2523 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับโจทก์ โดยไม่บอกว่าโจทก์ต้องถูกจับ เป็นการจับที่ไม่ชอบด้วย ป.ว.อ.ม.83 จำเลยพาโจทก์ไปทำร้ายที่อื่นก่อนแล้ว จึงพากลับไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจ เป็นการลุอำนาจ และเกินความเหมาะสมแห่งเรื่องการจับกุม เพราะโกรธแค้นที่ถูกโจทก์ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา ทั้งเมื่อผู้บังคับบัญชามีคำสั่งด่วนให้ปล่อยตัวโจทก์ จำเลยก็ไม่ปล่อย จนกระทั่งต้องให้ผู้บังคับบัญชาระดับรองลงมา เดินทางไปดูแล้วสั่งปล่อยโจทก์ กรณีต้องด้วยความผิดตาม ป.อ.ม.157 และเมื่อจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ในการปราบปรามผู้กระทำผิด ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเสียเอง จึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 101/2524 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ประทับตราและทำบัญชีอนุญาตให้ชักลากไม้ที่ตัดโดยมิชอบ เป็นการกระทำในหน้าที่โดยตรงให้ทางราชการเสียหาย เป็นความผิดตาม ป.อ.ม.160, 162, 157 การประทับตราและลงบัญชีเป็นการกระทำคนละขั้นตอน เพื่อให้การประทับตราอนุญาตชักลากไม้เสร็จตามระเบียบโดยบริบูรณ์ เป็นกรรมเดียว ลงโทษตาม ม.157 บทหนัก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2418/2526 จำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีได้ประกาศรับสมัครบุคคลเข้าสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงานครูเทศบาลในตำแหน่งครู 2ระดับ 2 ขั้น 1,585 บาท ระบุว่าผู้สมัครสอบจะต้องมีวุฒิ ป.กศ.สูง เท่านั้นต่อมาจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ในฐานะปลัดเทศบาล ได้ร่วมกันทำประกาศแก้ไขประกาศสอบดังกล่าว โดยแก้ไขคุณวุฒิ ป.กศ.สูง หรือ ป.ม.หรือ พ.ม.เมื่อมีการทักท้วงคุณวุฒิ ป.กศ. สูง แล้วหลายเดือน การที่จำเลยที่ 2 สั่งให้เจ้าหน้าที่รับสมัคร ส. ผู้มีคุณวุฒิไม่ตรงตามประกาศสอบครั้งแรกและเป็นผู้ทำคำสั่งบรรจุแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อ แม้ ส. จะสอบได้ก็ตาม ทำให้ผู้ที่สอบได้ในลำดับถัดไป ไม่ได้รับการบรรจุได้รับความเสียหายจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.อ.ม.157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2520/2526 ใบอนุญาตทะเบียนรถมี 2 ฉบับ ฉบับต้นเก็บรักษาไว้ที่แผนกทะเบียนยานพาหนะ ฉบับปลายมอบให้เจ้าของรถ จำเลยเป็นตำรวจปฏิบัติหน้าที่อยู่แผนกทะเบียนยานพาหนะ ได้ลงรายการเสียภาษีประจำปี ในใบอนุญาตทะเบียนรถฉบับปลาย และทำเรื่องราวโอนย้ายรถนั้นไปยังต่างจังหวัด ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใบอนุญาตทะเบียนรถฉบับต้นมาตรวจสอบ และลงรายการคู่กัน เป็นการส่อแสดงว่าจำเลยทราบอยู่แล้วว่าฉบับปลาย เป็นเอกสารปลอม แต่ยังขืนดำเนินการให้แก่ผู้มาขอโอนไป จึงมีความผิดตาม ป.อ.ม.268 และ ม.157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4243/2542 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมผู้เสียหาย ที่ได้ก่อการทะเลาะวิวาทก่อนหน้านั้น แต่แหตุแห่งการทะเลาะวิวาทได้ยุติลงแล้ว เหตุวิวาทยังไม่ชัดแจ้งว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิด ไม่ใช่การกระทำผิดซึ่งหน้า โดยมีคู่กรณีกับผู้เสียหายชี้ให้จับ แต่มิได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบ อีกทั้งไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสงสัยว่ากระทำความผิดมาแล้วจะหลบหนี จำเลยซึ่งไม่มีหมายจับ ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะจับผู้เสียหาย จำเลยจับผู้เสียหายโดยไม่แจ้งข้อหา ไม่ทำบันทึกจับกุม ไม่ส่งมอบตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี กลับนำไปควบคุมที่ด่านตรวจ ชี้เจตนาจำเลยว่ากระทำโดยโกรธแค้น แสดงอำนาจ เพื่อข่มขู่กลั่นแกล้งผู้เสียหายให้เดือดร้อนเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภายในร่างกาย พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องรุนแรงต่อความรู้สึกของประชาชน ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 7663/2543 อำนาจของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดในเรื่องนี้มีลักษณะเป็นอำนาจในเชิงดุลพินิจที่อาจเลือกวินิจฉัย หรือเลือกกระทำได้หลายอย่างที่ชอบด้วยกฎหมาย การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของอธิบดีกรมอัยการหรืออัยการสูงสุดตาม ป.อ. มาตรา 157 นี้ นอกจากหมายถึงการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ที่เป็นการกระทำนอกขอบเขตแห่งอำนาจ หรือโดยปราศจากอำนาจประการหนึ่ง ที่เป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง อันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้นประการหนึ่ง และที่เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกประการหนึ่งแล้ว ยังหมายถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบอีกด้วย / การใช้อำนาจดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาสั่งการหรือเลือกกระทำตามที่เห็นว่าเหมาะสมโดยศาลไม่แทรกแซงนั้น หมายความว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจไปในทางใดแล้ว ศาลต้องยอมรับการใช้ดุลพินิจนั้น แต่การใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย คือ ต้องมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ มิใช่การใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ หรือโดยปราศจากเหตุผล / การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ รวมทั้งตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายนั้นมีการพิจารณาอาวุโสประกอบการที่จำเลยเสนอตารางประวัติปฏิบัติราชการแก่ประธาน ก.อ.เพื่อแต่งตั้งอัยการพิเศษฝ่าย โดยเสนอชื่อบุคคลที่มีอาวุโสต่ำกว่าโจทก์ ไว้เป็นอันดับสูงกว่าโจทก์ถึงสามครั้ง เพราะถือเอาสาเหตุที่จำเลยมีสาเหตุส่วนตัวกับโจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าว จำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

- คำชี้ขาดฯ 119/2537 (อัยการนิเทศ 2538 เล่ม 57/2/48) ผู้อำนวยการเขตเป็นนายทะเบียนท้องที่ ตาม พรบ.ชื่อบุคคล พ.. 2505 สามารถมอบอำนาจให้หัวหน้าหมวดทะเบียนปฏิบัติราชการแทนตนได้ การที่หัวหน้าหมวดทะเบียนได้ทำหนังงสือสำคัญจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุลให้ผู้อื่น โดยยังไม่ได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนกลาง จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อ พรบ.ชื่อบุคคล พ..2505 ถือได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร หรือกรอกข้อความในเอกสารรับรอง อันเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเป็นการมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ

- การปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1051/2505 จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่จดบัญชีสัตว์พาหนะเท็จตามคำขอร้องของลูกบ้าน แม้จะไม่ได้รับสินจ้างรางวัล แต่ทำให้ลูกบ้านได้รับประโยชน์นำไปใช้จ้างตำรวจที่ยึดโคนั้น นับเป็นการแสวงหาประโยชน์สำหรับผู้อื่นแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ทุจริต มีความผิดตาม มาตรา 157, 162 (1) / ลูกบ้านต้องการหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงขอให้ผู้ใหญ่บ้านจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบัญชีสัตว์พาหนะนั้น ย่อมมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม มาตรา 267

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1270/2518 องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกตั้งพนักงานในสังกัดเป็นกรรมการตรวจรับงานขององค์การ กรรมการลงชื่อตรวจรับว่าถูกต้อง จึงได้รับอนุมัติให้จ่ายค่าจ้าง ความจริงไม่ได้ทำงานเลย แม้ยังไม่ได้จ่ายเงิน ก็เป็นความผิดตามมาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 726/2524 ตำรวจพบเลื่อยวงเดือนซุกซ่อนไว้เป็นเครื่องมือเพื่อกระทำผิด ตำรวจยึดมาเป็นของกลาง แล้วเรียกเงิน 500 บาท คืนเลื่อยแก่เจ้าของเป็นความผิดตาม ป.อ.ม.157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2907/2526 ตาม ม.157 คำว่า "เพื่อ" ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ถือว่าเป็นเจตนาพิเศษ การที่จำเลยแก้ไขมติของสภาเทศบาลในรายงานการประชุม โดยไม่มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาล หากเป็นการกระทำไป เพราะความเข้าใจผิดพลาด เกี่ยวกับระเบียบกระทรวงมหาดไทย จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ม.157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1161/2538 จำเลยทั้งสองเป็นข้าราชการครู ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิค ร. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างต่อเติมวิทยาลัยอาชีวศึกษา ส. ซึ่งเป็นงานราชการของวิทยาลัยเทคนิค ร.จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง ปรับปรุง ต่อเติมอาคารวิทยาลัย ส. ดูแลรักษาวัสดุที่เหลือใช้จากการก่อสร้างอาคารดังกล่าว เมื่อจำเลยทั้งสองให้ ก. นำเหล็กวัสดุที่เหลือใช้ ไปเก็บไว้ที่ร้านของ ก. และให้ ก. เอาวัสดุดังกล่าวไปเสีย เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

- การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1022/2505 จำเลยเป็นพลตำรวจขาดหนีราชการ แต่ยังมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด ได้ประสบเหตุการณ์กระทำผิดอาญา กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่จะจับคนร้าย โดยเข้าขัดขวาง พูดขู่พยานผู้รู้เห็น มิให้ยืนยันว่ารู้เห็นการกระทำผิด การละเว้นปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้ เป็นการละเว้นโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าทรัพย์ จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1450/2513 เจ้าพนักงานตำรวจ เข้าไปในสำนักค้าประเวณีขณะค้าประเวณีอยู่ ประกาศตนเป็นตำรวจ และจับหญิงนครโสเภณีไป แล้วมอบหญิงเหล่านั้น ให้พวกของตนไปเสีย โดยไม่นำไปดำเนินคดีตามกฎหมาย ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการกรมตำรวจ เป็นความผิดตาม มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 638/2523 จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับผู้อื่นนำรถยนต์มารับ บ.ซึ่งเป็นคนลาวอพยพหนีจากศูนย์รับผู้อพยพ แม้จำเลยในฐานะเจ้าพนักงานมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดเห็น ป. กับพวกหลบหนีออกไปจากศูนย์ซึ่งหน้า แต่ละเลยไม่ทำการจับกุมเช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันจะเป็นความผิดตาม ป.อ.ม.157 (เป็นกรณีที่ตำรวจเข้าร่วมกระทำความผิด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขาดเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ไม่ผิด ตาม ป.อ.ม.157 แต่ผิดตามความผิดอื่นที่ได้ร่วมกระทำนั้น)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2633/2523 การที่จำเลยไม่ยอมลงชื่อรับรองแนวเขตทางสาธารณะ ในกรณีที่โจทก์ขอแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อย และขอแบ่งแยกถนนสาธารณะออกจากที่ดินของโจทก์นั้น เมื่อกฎหมายว่าด้วยเทศบาล มิได้บัญญัติให้เทศบาลหรือนายกเทศมนตรี มีหน้าที่ต้องระวังแนว และลงชื่อรับทราบแนวเขตตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม ป.อ.ม.157

- ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ “โดยทุจริต”

- คำพิพากษาฎีกาที่ 304/2507 พนักงานที่ดินอำเภอรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าพาหนะในการรังวัด จากผู้ที่มายื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิทำนิติกรรม เกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ภายในเขตท้องที่อำเภอของตน โดยมิได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ที่มายื่นเรื่องราว และมิได้นำเงินลงบัญชีไว้เป็นหลักฐาน ทั้งมิได้ดำเนินการให้เรื่องราวของผู้มาติดต่อลุล่วงไปจนกระทั่งย้ายไปอยู่ที่อื่น ก็มิได้คืนเงินให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราวเหล่านั้น พฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าเจ้าพนักงานผู้นั้นปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตาม มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1546/2511 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกับผู้ที่กระทำผิด แล้วเรียกเงินจากผู้นั้น ผู้กระทำผิดมอบเงินให้ จำเลยก็ปล่อยตัวไปดังนี้ เป็นความผิดตาม มาตรา 149 แต่ไม่ผิดฐานกรรโชกตาม มาตรา 337 ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้จำเลยคืน หรือใช้เงินตาม ปวิอ มาตรา 43

- คำพิพากษาฎีกาที่ 38/2524 กำนันถูกแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการโครงการสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้ว ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 เบิกเงินมาเพื่อจ่ายแก่ผู้รับเหมาทำถนน ในขณะที่ถนนยังไม่เสร็จ แต่เบิกมาเพื่อจะจ่ายให้ผู้รับเหมาทำงานต่อไปได้ มิฉะนั้นจะต้องส่งเงินคืนคลัง กำนันจ่ายเงินแก่ผู้รับเหมาไปแล้ว ขาดเจตนาแจ้งความเท็จตาม ป.อ.ม.59 เป็นเหตุในลักษณะคดี ใช้ตลอดถึงจำเลยที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.ว.อ.ม.213, 225 แต่เมื่อรับเงินมาแล้ว กำนันละเว้นไม่ดำเนินการ ให้ผู้รับเหมาทำงานต่อไปให้เสร็จตามสัญญา เป็นการทุจริตให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นความผิดตาม ป.อ.ม.157

- กรณีผิดระเบียบหรือกฎหมาย หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าไปบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นความผิดตามมาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1096/2513 พระภิกษุถูกหาว่าต้องปฐมปราชิก เจ้าอาวาสทำการสอบสวน โดยไม่ต้องด้วยพระธรรมวินัย,ระเบียบข้อบังคับ และกฎของมหาเถรสามาคม เพียงเท่านี้ยังไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2411/2526 คดีรถชนกัน เมื่อผู้ขับขี่ซึ่งเป็นผู้ต้องหาไม่ได้หลบหนี แต่รับสารภาพ และได้ชำระค่าปรับ ตามคำเปรียบเทียบของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน คดีก็เป็นอันเลิกกันตาม ป.ว.อ. ม.37 (4) การที่จำเลยไม่ทำแผนที่เกิดเหตุ กับปล่อยตัวผู้ต้องหาและคืนรถให้ไป โดยมิได้ทำการเปรียบเทียบค่าทดแทนที่ผู้เสียหายควรจะได้รับตาม ป.ว.อ. ม.38 (2) เสียก่อน จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม ป.อ. ม.157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5053/2530 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญา และจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย การที่จำเลยทราบจากผู้เสียหายว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ผู้เสียหายแล้ว จำเลยพูดว่าเรื่องนี้พอสืบได้ แต่ต้องไถ่ทรัพย์คืน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รู้ว่าผู้ใดเป็นคนร้ายลักทรัพย์ หรือรับของโจรรายนี้ และยังไม่รู้ว่าทรัพย์ที่ถูกลักรายนี่ถูกเก็บรักษาไว้ ณ ที่ใด ทั้งยังไม่ได้มีการแจ้งความออกความออกหมายจับคนร้าย จำเลยจึงไม่มีอำนาจหน้าที่จะจับกุมผู้ใดมาดำเนินคดี หรือนำทรัพย์ที่ถูกลักไปมาคืนผู้เสียหายหรือส่งมอบพนักงานสอบสวน ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลย เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

- เจตนา

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1135/2508 ผู้บังคับกองตำรวจ สั่งให้จำเลยซึ่งเป็นตำรวจใต้บังคับบัญชาไปจับกุมผู้ต้องหา โดยไม่ได้ออกหมายจับ จำเลยไปจับผู้ต้องหา โดยเข้าใจว่าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะได้ถือเป็นหลักปฏิบัติกันตลอดมาว่าไปจับได้ แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นการมิชอบ จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับโทษตาม มาตรา 70

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1085/2527 พระภิกษุเจ้าอาวาสไปสนทนากับหญิงบนบ้านในเวลากลางคืน จำเลยซึ่งเป็นตำรวจ และชาวบ้านออกโฆษณาทางเครื่องขยายเสียง ว่าโจทก์ทำผิดวินัยสงฆ์ และไม่ยอมให้โจทก์กลับวัด ไม่ยอมให้ลงจากบ้าน แล้วนำตัวส่งพนักงานสอบสวน เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์กระทำผิดพระวินัย จึงได้ควบคุมโจทก์ไว้ก่อน เพื่อป้องกันเหตุร้ายอันอาจเกิดขึ้นได้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.157, 309, 310

- เจตนาพิเศษ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2907/2526 จำเลยเป็นปลัดเทศบาล และเป็นเลขานุการสภาเทศบาล แต่ไม่อยู่ ประธานสภาฯ จึงแต่งตั้งให้ ส. ทำหน้าที่เลขานุการสภาแทน จำเลยใช้ให้ พ. แก้ไขสาระสำคัญของมติของสภาในรายงานการประชุมที่ ส.ทำขึ้น โดยจำเลยไม่มีอำนาจแก้ไขได้โดยพลการ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ จึงมีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสารตาม ป.อ. ม.265 ประกอบด้วย ม.84 จำเลยกระทำผิดในขณะเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสารนั้น จึงมีความผิดตาม ม.161 อีกบทหนึ่ง เมื่อจำเลยนำเอกสารนั้นไปอ้างในการขออนุมัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัด จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ม. 268 อีกกระทงหนึ่ง / จำเลยในฐานะเลขานุการสภาเทศบาล เป็นผู้มีหน้าที่ทำรายงานการประชุมสภาเทศบาล ทำรายงานการประชุมขึ้นตามอำนาจหน้าที่ของตน และลงลายมือชื่อตนเองเป็นผู้ทำ จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยทำขึ้นแม้ข้อความในเอกสารจะไม่เป็นความจริง ก็ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตาม ม.161 แต่เป็นการทำเอกสารเท็จตาม ม.162 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษตาม ม.162 จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ / ตาม ม.157 คำว่า "เพื่อ" ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ถือว่าเป็นเจตนาพิเศษ การที่จำเลยแก้ไขมติของสภาเทศบาลในรายงานการประชุม โดยไม่มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาล หากเป็นการกระทำไปเพราะความเข้าใจผิดพลาด เกี่ยวกับระเบียบกระทรวงมหาดไทย จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ม.157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4677/2534 (ผิด มาตรา 204 ไม่ผิด มาตรา 157) จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนปล่อยตัวผู้ต้องหารวม 3 คน แล้ว นำผู้มีชื่อเข้าเป็นผู้ต้องหาแทนขณะควบคุมผู้ต้องหาทั้งสามดังกล่าวกับพวก จากศาลจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อไปคุมขังที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอพระประแดง แต่จำเลยมิได้เรียกหรือรับเงินจากผู้ต้องหา เป็นการตอบแทนที่จำเลยปล่อยผู้ต้องหาดังกล่าวไป ทั้งผู้มีชื่อที่จำเลยนำเข้ามาแทนผู้ต้องหาทั้งสามที่จำเลยปล่อยตัวไป ก็ไม่ปรากฏว่าเข้ามาแทนที่โดยไม่สมัครใจ ส่วนศาลจังหวัดสมุทรปราการ แม้จะได้อนุญาตให้ผัดฟ้องฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อควบคุมการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนให้เป็นไปโดยถูกต้อง มิใช่ผู้ที่จะเข้าไปมีส่วนรับผิดชอบจากการดำเนินคดีหรือไม่ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาแต่อย่างใด คดีจึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ผู้มีชื่อ หรือโดย เจตนาทุจริต อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 204 วรรคสอง เท่านั้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3295/2543 มาตรา 157 จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ได้ลงลายมือชื่อออกหนังสือรับรองฯ (น.ส. 3 ก.) ระบุชื่อ ต. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามเรื่องราวเท็จ เอกสารปลอมที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องนำเสนอ โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงตามอำนาจหน้าที่ อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีเจตนาพิเศษ ละเว้นไม่ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมที่ดิน ต. หรือผู้หนึ่งผู้ใด จึงไม่มีความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3793/2543 การตรวจคำขอก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารนั้น พ...ควบคุมอาคารฯ มาตรา 28 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้คำนวณแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลนและรายการคำนวณที่ได้ยื่นมาพร้อมคำขอตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 หรือมาตรา24 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรมให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาแต่เฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับรายละเอียดตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง" เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคำขอก่อสร้างต่อเติมอาคารของจำเลยที่ 9 มีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมเป็นผู้ออกแบบคำนวณโครงสร้างและลงชื่อรับรองมาด้วย จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมไม่จำต้องตรวจแบบแปลนหรือรายการำควณโครงสร้างเพื่อให้ทราบว่าโครงสร้างอาคารเดิมมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักอาคารส่วนต่อเติมหรือไม่ เพราะเป็นรายละเอียดตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งจำเลยที่ 1 ยังบันทึกหมายเหตุไว้ในใบปะหน้าการคำนวณว่าได้ทำการตรวจสอบดูแล้วฐานราก และส่วนของอาคารเดิมสามารถรับน้ำหนักส่วนต่อเติมได้มาแสดงด้วย ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ตรวจคำขอต่อเติมอาคารจำเลยที่ 9 และทำความเห็นเสนอต่อจำเลยที่ 7 และที่ 8 ว่าควรอนุญาตให้จำเลยที่ 9 ต่อเติมอาคารได้ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปโดยชอบแล้ว ส่วนจำเลยที่ 7 และที่ 8 นั้น ได้พิจารณาและสั่งอนุญาติให้ต่อเติมได้ตามความเห็นที่เสนอขึ้นมาโดยชอบของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ทั้งไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นเจตนาพิเศษซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ป.. มาตรา 157 อย่างไร จำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 ย่อมไม่มีความผิดตามกฎหมายดังกล่าว

- กรณีเจ้าพนักงานละเว้นไม่จับกุมผู้กระทำผิด กรณีไม่ผิดมาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2348/2515 คำว่า "เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด" ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อาญา มาตรา 157 ต้องถือว่าเป็นเจตนาพิเศษ ปลัดอำเภอละเว้นไม่จับกุมไม้ของราษฎร ซึ่งเป็นไม้ที่ไม่ได้รับอนุญาต เมื่อไม่ได้ความว่าปลัดอำเภอละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อจะให้เกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้ แต่เป็นที่เห็นได้ว่าปลัดอำเภอ มุ่งหมายที่จะช่วยราษฎรผู้กระทำความผิด ปลัดอำเภอนั้น ยังไม่มีความผิดตามมาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 638/2523 (อก /126) จำเลยเป็นตำรวจร่วมกับผู้อื่น นำรถมารับคนลาวอพยพ แม้จำเลยมีอำนาจจับกุม แต่ละเลยไม่จับกุม ยังไม่ถือว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันจะเป็นความผิดตาม ม 157 (อ จิตติ หมายเหตุว่า "มาตรา 157 ต้องมีเจตนาพิเศษ คือ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด หรือโดยทุจริต เพียงแต่เล็งเห็นผลว่าจะเกิดความเสียหายยังไม่พอ")

- คำพิพากษาฎีกาที่ 257/2526 ความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ.ม.157 จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือต้องการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อมีการเล่นการพนันกันที่สถานีตำรวจที่จำเลย ซึ่งเป็นพลตำรวจประจำอยู่ ย่อมเป็นการยากแก่จำเลยในการตัดสินใจ ว่าสมควรเข้าทำการจับกุมโดยตนเองหรือไม่ จึงไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษให้กรมตำรวจได้รับความเสียหาย จำเลยไม่มีความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 7836/2544 แม้จำเลยจะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำผิด แต่จำเลยกลับเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยการร่วมเล่นการพนันไพ่รัมมี่ แล้วจำเลยไม่จับกุมผู้ร่วมเล่นไพ่รัมมี่นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร่วมเล่นการพนันหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ป.. มาตรา 157 Ø จำเลยได้ใช้กำลังประทุษร้ายและใช้อาวุธปืน ข่มขืนใจให้ผู้เสียหายเสพเมทแอมเฟตามีนโดยวิธีสูดรับเอาควันเข้าสู่ร่างกาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.. มาตรา 309 วรรคสอง และ พ...ยาเสพติดให้โทษ พ..2522 มาตรา 93 วรรคท้าย เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง โจทก์คงอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยเฉพาะความผิด ตาม ป.. มาตรา 309 วรรคสอง เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ...ยาเสพติดให้โทษ พ.. 2522 มาตรา 93 วรรคท้าย อันเป็นบทหนักตาม ป..มาตรา 90เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.. มาตรา 212 และศาลฎีกาไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 93 วรรคท้าย แห่ง พ...ยาเสพติดให้โทษ พ.. 2522 ได้เช่นกัน คงพิพากษาลงโทษจำเลยได้เพียงความผิดตาม ป.. มาตรา309 วรรคสอง

- กรณีเจ้าพนักงานละเว้นไม่จับกุมผู้กระทำผิด กรณีผิดมาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 999/2527 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญา และจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายในกรณีที่มีผู้กระทำผิด ซึ่งหน้า แม้ในที่รโหฐาน จำเลยก็มีอำนาจจับได้ โดยไม่ต้องมีทั้งหมายจับและหมายค้น ดังนั้นการที่จำเลยเข้าไปในห้องเล่นการพนัน พบผู้เล่นกำลังเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกัน แล้วไม่ทำการจับกุม ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการกรมตำรวจ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ.ม.157

- การปรับบทความผิดเกี่ยวกับความผิดอื่น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2861/2522 นายสิบและพลตำรวจควบคุมผู้ต้องกักขัง ตามคำสั่งนายตำรวจ ปล่อยตัวผู้ต้องกักขังเหล่านั้น แล้วเปลี่ยนตัวผู้อื่นแทน เป็นความผิดตามมาตรา 157, 191 เป็นกรรมเดียว ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1772/2539 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงาน ปลอมเอกสาร เพื่อขอเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของข้าราชการในสังกัดจำนวนหลายคนด้วยกัน ผิดฐานเจ้าพนักงานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ม 264, 166 (1), 268 + 157

- การปรับบททั่วไป - บทเฉพาะ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3470/2543 (สต 7/136) จำเลยทั้งสามร่วมกันขู่เข็ญเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหาย เพื่อที่จะละเว้นไม่จับกุมผู้เสียหายไปดำเนินคดี จนผู้เสียหายกลัวว่าจะถูกจับกุม อันจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของตน จึงยอมจะให้จำเลยแก่จำเลยทั้งสามนั้น เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไป และฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ด้วย หาใช่เป็นเรื่องที่เมื่อเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 แล้วจะไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา337 ด้วยไม่ เพียงแต่เมื่อเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกเท่านั้น

- ผู้เสียหาย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3035/2523 จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านละเว้นการจับกุมผู้บุกรุกที่สาธารณะ มิใช่เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามความหมายใน ป.อ.ม.157 เพราะผลของการไม่จับกุม มิได้เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1574/2528 จำเลยในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยมิได้ตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจของผู้ขายให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินได้รับความเสียหาย เพราะถูกผู้ซื้อฟ้อง จนศาลมีคำพิพากษาขับไล่โจทก์ ดังนี้ โจทก์มิใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องจำเลยในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. ม.157 เพราะผลที่โจทก์ได้รับตามคำพิพากษา มิใช่เป็นผลที่เกิดจากการกระทำของจำเลย แต่เป็นเพราะโจทก์หมดสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินต่อไป กล่าวอีกนัยหนึ่ง โจทก์จะอยู่ในที่ดินต่อไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสิทธิตามสัญญาเช่า หาใช่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ทรงกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่าจะเป็นผู้ใดไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4881/2541 ป.อ.มาตรา 157 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการเอาโทษแก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ แต่กลับปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตอนหนึ่ง และเอาโทษแก่เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอีกตอนหนึ่ง ในตอนแรกคำว่าเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น หมายความรวมถึง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดด้วย ดังนั้น หากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยมิชอบเป็นการกระทำต่อเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดโดยตรง และเป็นการกระทำให้บุคคลดังกล่าวได้รับความเสียหาย เอกชนผู้นั้นย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ได้

- ประเด็นตามกฎหมายวิธีพิจารณาความ การบรรยายฟ้อง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 415/2523 ตามฟ้องว่า จำเลยเป็นตำรวจ ตั้งด่านตรวจรถ การกระทำเช่นนี้ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลย เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เสียหายแก่ผู้ขับขี่รถการกระทำตามฟ้อง ดังนี้เป็นการกระทำนอกหน้าที่ ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.ม.157 (โจทก์บรรยายฟ้องผิดพลาดที่ระบุว่าจำเลยไม่มีหน้าที่ เพราะจำเลยมีอำนาจและหน้าที่ที่จะตั้งด่านตรวจได้ เพียงแต่อาจไม่ใช่หน้าที่โดยตรง)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 709/2529 จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลมีหน้าที่ควบคุมการฆ่าสัตว์ให้ถูกต้อง และเป็นไปตามใบควบคุมอาชญาบัตร ไม่ควบคุม ตรวจนับการฆ่าสุกร เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายคือเทศบาลนั้น ทางนำสืบพยานโจทก์ ได้ความว่า เทศบาลไม่ได้รับความเสียหาย ประชาชนเป็นผู้ที่อาจได้รับความเสียหายจากการแพร่โรคจากสุกรที่ฆ่าโดยมิได้ตรวจโรคก่อน ซึ่งเป็นการนำสืบนอกคำฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาล / ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้สั่งฆ่าหรือจัดการฆ่า จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 2 ฆ่าสุกรตามฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อหาตามความผิดนี้ย่อมยุติ โจทก์ฎีกาไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ฆ่าสุกร.

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4881/2541 คำฟ้องของโจทก์ มิได้บรรยายถึงหน้าที่ตลอดจนการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 3 มาในคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตาม ป.อ.มาตรา 157 ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158(5) ดังนั้นปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 157

- (ขส เน 2514/ 8) ตำรวจจับกุมผู้ร้ายลักทรัพย์ ระหว่างทางตำรวจทำร้ายร่างกายผู้ร้าย ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ราชการ เพราะเมื่อจับแล้ว ไม่มีหน้าที่ทำร้ายร่างกาย จึงไม่มีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฎ 291/2479 / พนักงานสอบสวนทำร้ายผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวน แต่ปฏิบัติมิชอบด้วย ปวิอ ม 135 คือขู่เข็ญทำร้ายให้รับสารภาพ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนผิด ม 157 1399/2508

- (ขส พ 2517/ 8) แดงดำ หลอกขาวว่าเป็นตำรวจขอค้นบ้าน และค้นได้แป้งสุรา คุมตัวไปมอบให้เขียว เขียวอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานสรรสามิต ทำบันทึกให้ขาวยอมรับ และแจ้งให้นำเงินค่าปรับมาชำระ ขาวบอกไม่มีเงิน แดงดำคุมตัวขาวไปหายืมเงิน ม่วงเป็นกำนัน แนะนำให้เสียค่าปรับ แล้วทุกคนแบ่งเงินกัน / แดง ดำ เขียว ผิด ม 145 และ ม 310 และ ม 337 ประกอบ ม 83 ส่วนม่วงผิด ม 86 , 337 และ ม 157 ฎ 1077/2505


ไม่มีความคิดเห็น: