ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตรา ๒๑๗ - ๒๒๕

ลักษณะ 6 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน

มาตรา 217 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

- องค์ประกอบ วางเพลิงเผาทรัพย์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6666/2542 การที่จำเลยดึงรั้วไม้ไผ่ผ่าซีกที่ยึดติดเป็นแผงซึ่งเป็นรั้วบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 แล้วนำไปเผาทำลายนั้น เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 เพียงบทเดียว มิใช่กระทำผิดหลายบท เพราะจำเลยมีเจตนาจะทำลายรั้วไม้ไผ่ที่ปักติดเป็นแผงโดยนำไปเผาให้ใช้การไม่ได้เท่านั้น การเผาแผงไม้ไผ่นั้น เป็นการทำลายทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ให้เสียหาย มิใช่วางเพลิงเผาทรัพย์รั้วบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 เนื่องจากจำเลยมิได้วางเพลิงเผาแผงไม้ไผ่ ในขณะที่มีสภาพเป็นรั้วบ้านกั้นขอบเขต เป็นที่อยู่อาศัยของโจทก์ร่วมที่ 1 อันจะต้องด้วยความผิดตาม ป.อ. มาตรา 217

- องค์ประกอบ ทรัพย์ของผู้อื่น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 207/2494 จำเลยวางเพลิงเผาเรือนของจำเลยเอง แต่ขณะเผา มีคนอื่นใช้เป็นเคหะสถานที่อยู่อาศัย ก็ไม่เป็นผิดตามมาตรา 186 (1) (อ้างฎีกาที่ 389/83 และ 747/84)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5364/2536 มาตรา 218 เป็นเหตุฉกรรจ์ของ มาตรา 217 หากไม่ผิด มาตรา 217 แม้กระทำต่อทรัพย์ ตาม มาตรา 218 ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดเช่นกัน มาตรา 217 ไม่มีข้อความว่า หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยจะตีความคำว่า ทรัพย์ของผู้อื่นให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมมิได้ ขัดต่อหลักความรับผิดของบุคคลในทางอาญา ตาม มาตรา 2

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5710/2541 จำเลยซึ่งเป็นผู้จุดไฟจนเกิดไฟไหม้บ้าน เป็นเจ้าของบ้านเกิดเหตุรวมอยู่ด้วย และเนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 218 แห่ง ป.อ. เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 217 โดยมาตรา 218 บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา 218 (1) ถึง (6) ต้องได้รับโทษหนักขึ้น ดังนั้น การกระทำอันมิได้เป็นความผิดตามมาตรา 217 แม้กระทำต่อทรัพย์ที่ระบุในมาตรา 218 ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด เช่นกัน เมื่อมาตรา 217 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิดโดยไม่มีข้อความว่า "หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย" ก็เป็นความผิดแล้ว จึงต้องตีความคำว่า "ทรัพย์ของผู้อื่น" โดยเคร่งครัด เพราะเป็นการตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญา มิอาจตีความขยายความออกไปให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยหรือผู้ต้องหาได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยเป็นเจ้าของบ้านเกิดเหตุรวมอยู่ด้วย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 217 และย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 218 (1) เช่นเดียวกัน

- ประเด็นความผิดสำเร็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1004/2531 จำเลยเข้าไปในตึกของผู้อื่นจุดเพลิงติดเชื้อลุกขึ้นแล้ว แต่เจ้าพนักงานดับได้ทัน เพลิงจึงไม่ลุกลามไหม้ จึงมีความผิดฐานวางเพลิงสำเร็จ ไม่ใช่พยายามกระทำความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5544/2531 ความผิดสำเร็จฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ไม่ได้หมายความเพียงว่า เอาเพลิงไปวางเท่านั้น หากแต่ต้องเป็นการเผาทำให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์นั้นติดไฟขึ้นด้วย จำเลยใช้มีดฟันประตูครัว ราดน้ำมันเบนซินใส่และจุดไฟเผาแล้วหลบหนีไป ปรากฏว่าพื้นบ้านที่จุดไฟเผา เป็นแต่เพียงรอยเกรียมดำ และหลังจากจุดไฟเผาแล้วประมาณ 3 นาที ไฟก็ดับเอง จึงเป็นเพียงพยายามกระทำความผิด การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน โดยมีเจตนาอันแท้จริงที่จะทำลายทรัพย์สินของผู้เสียหาย แต่ใช้วิธีการที่แตกต่างกันเท่านั้น ปรับ มาตรา 90 ต้องลงโทษ มาตรา 218 ประกอบ มาตรา 80

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2829/2532 ความผิดสำเร็จฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนนั้น ไม่หมายความเพียงว่าเอาเพลิงไปวางเท่านั้น หากต้องเป็นการเผาทำให้เกิดเพลิงไหม้โรงเรือนนั้นลุกติดไฟขึ้นด้วย เพียงแต่ฝาผนังบ้าน อันเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรือนมีรอยเขม่าดำ แต่ยังไม่ไหม้ไฟ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จ แม้จะมีทรัพย์สินอื่นหลายรายการ เช่นเครื่องเรือนถูกไฟลุกไหม้ไปด้วย ก็ถือไม่ได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรือนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยได้ถูกไฟไหม้ไปด้วย เป็นเพียงความผิดฐานพยายามวางเพลิงเผาโรงเรือนเท่านั้น

- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง220 358 / ต้องพิจารณา ม 223 ประกอบ เสมอ กรณีเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย และการกระทำนั้น ไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น


มาตรา 218 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ ดังต่อไปนี้

(1) โรงเรือน เรือ หรือแพ ที่คนอยู่อาศัย

(2) โรงเรือน เรือ หรือแพ อันเป็นที่เก็บหรือที่ทำสินค้า

(3) โรงมหรสพ หรือสถานที่ประชุม

(4) โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา

(5) สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน หรือที่จอดรถ หรือเรือสาธารณะ

(6) เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป อากาศยาน หรือรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ

ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี

- คำพิพากษาฎีกาที่ 522/2475 เผาคอกหมู เล้าไก่ หรือรั้วในบริเวณที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเคหสถาน แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโรงเรือน ไม่เป็นความผิดที่มีเหตุฉกรรจ์ตามข้อนี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 114/2531 การที่จำเลยจุดไฟเผาที่นอนในห้องของโรงน้ำชา ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าเมื่อที่นอนถูกเผาไหม้แล้ว อาจจะลุกลามไหม้เตียงนอน ฝาผนัง เพดาน จนกระทั่งไหม้โรงน้ำชาแห่งนั้นทั้งหมดได้ โรงน้ำชานั้นมีคนอยู่อาศัยด้วย ผิด 218 (1)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5364/2536 การวางเพลิงเผาทรัพย์ที่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมกับจำเลย ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 218 เพราะความผิดตาม มาตรา 218 เป็นบทฉกรรจ์ของ มาตรา 217 ถ้าไม่ผิด 217 แม้กระทำต่อทรัพย์ ตาม ม 218 ไม่มีความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6738/2537 จำเลยใช้ของเหลวไวไฟเทราดและจุดไฟให้ลุกไหม้ผู้ตาย นอกจากไฟจะลุกไหม้ผู้ตาย และโจทก์ร่วมที่ 2 แล้ว ยังลุกไหม้โต๊ะ เก้าอี้ และพื้นห้องของโจทก์ร่วมที่ 1 เสียหาย จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า ไฟต้องลุกไหม้ขึ้นภายในอาคาร ถือได้ว่าจำเลยเจตนาวางเพลิงเผาโรงเรือนด้วย (ขส พ 2540 ข้อ 7 เจตนาประสงค์ต่อผล มาตรา 289 (4) เจตนาโดยพลาด มาตรา 289 (4) ประกอบ มาตรา 60 และเจตนาเล็งเห็นผล มาตรา 218 (1)

- (คดี กำแพงเพชร 18/06/46) คดีเผาซุ้มขายสินค้า ชายพูดแซวหญิงแม่ค้า แม่ค้าด่าว่าชาย ชายโมโหจึงเผาซุ้มขายสินค้า (เป็นเพิง มุงด้วยหญ้าแฟก) (ประเด็น กรณีจะเข้าเหตุฉกรรจ์ เป็นสถานที่เก็บสินค้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า ซุ้มนั้น ใช้เก็บสินค้าหรือไม่ หากนำสินค้ามาขาย แต่ไม่ได้เก็บที่ซุ้ม ก็ไม่ใช่โรงเรือนอันเป็นที่เก็บสินค้า / หากไม่ได้นำสินค้ากลับบ้าน ก็ถือเป็นที่เก็บสินค้า)

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 218

- (ขส อ 2531/ 3) เผาที่นอนประสงค์ต่อผล (ต้องผิด ม 217 แต่ไม่มี) ไฟไหม้เตียงนอน อาคาร เล็งเห็นผล ม 218 (1) (+ 358) (ที่นอนลุกไหม้แล้วดับไฟทัน ไม่บอกว่าอาคารติดไฟ ต้องผิดพยายาม ไม่ใช่ผิดสำเร็จ + 80)

- (ขส อ 2533/ 2) เจ้าของรวม เผาบ้าน ไม่ผิด ม 217 ไม่เข้าเหตุฉกรรจ์ ม 218 ผิด ม 358 / ไฟไหม้บ้านอยู่ชายทุ่ง ไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ เด็กแอบเข้าไปนอน โดยคนเผาไม่รู้ ไม่ผิด ม 220 (เพราะไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคล ขาดองค์ประกอบภายนอก) (แม้เด็กสาหัส ไม่ผิด ม 220 + 224 เพราะไม่ใช่ผลธรรมดาที่คาดหมายได้ และไม่เป็นเหตุแทรกแซง เพราะเด็กเข้าไปก่อนที่จะวางเพลิง เป็นเหตุที่มีอยู่แล้ว)


มาตรา 219 ผู้ใด ตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 217 หรือมาตรา 218 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพยายามกระทำความผิดนั้น ๆ

มาตรา 220 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตราย แก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 218 ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 218

- วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเองไม่ได้คำนึงถึงว่า มีเจ้าของหรือไม่ และถ้าเป็นทรัพย์ของคนอื่นและเจ้าของยอมให้เผา ไม่ผิด 217-218 ก็ผิด ม 220 ได้ ถ้าน่าจะเป็นอันตรายฯ ม 220 จึงกว้างกว่า ม 217-218

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1285/2529 การที่จำเลยจุดไฟเผาฟางข้าวในนาของตนมีลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่น เช่น กำลังมีลมพัดแรง ซึ่งเป็นที่คาดเห็นได้ว่าเพลิงจะลามไปไหม้นา ตลอดจนโรงเรือนซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับบริเวณที่จุดไฟ แต่จำเลยยังขืนจุดไฟจนลุกลามไปไหม้ทรัพย์สินของผู้เสียหาย ดังนี้จำเลยจึงจะมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 220 แต่เมื่อระยะเวลาที่จำเลยจุดไฟจนถึงเวลาที่บ้านผู้เสียหายถูกเพลิงไหม้ห่างกันหลายชั่วโมง แสดงว่าไม่มีลักษณะที่น่ากลัวจะเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่นตาม มาตรา 220 แต่เป็นเพราะจำเลยประมาทไม่ควบคุมดูแลให้เพลิงไม้อยู่ภายในขอบเขตที่จำกัด การกระทำของจำเลย จึงเป็นเรื่องขาดความระมัดระวังจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่นอันเป็นความผิดตาม มาตรา 225

มาตรา 221 ผู้ใดกระทำให้เกิดระเบิด จนน่าจะเป็นอันตราย แก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 221

- (ขส อ 2533/ 1) วางระเบิดไว้ที่คอสะพานทางเข้าวัด เพื่อฆ่า ถือว่าลงมือแล้ว ตำรวจมาพบ ผิด ม 289 (4) + 80 (+221 + 80 + 358 + 80 ปรับ ม 90)

มาตรา 222 ผู้ใดกระทำให้เกิดระเบิด จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์ดังกล่าวในมาตรา 217 หรือมาตรา 218 ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 604/2521 ห้องแถว 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านขายของ ชั้นบนเป็นห้องนอน ถือได้ว่าใช้อยู่อาศัยทั้งชั้นบนชั้นล่าง จำเลยขว้างระเบิด ทำให้ฝาบ้าน ประตูบ้าน กระจกช่องลมชั้นล่างเสียหาย เป็นความผิดตาม มาตรา 222 , 218

- คำพิพากษาฎีกาที่ 234/2528 ปกติลูกระเบิดเป็นอาวุธร้ายแรง เมื่อถอดสลักแล้ว ย่อมจะต้องระเบิดขึ้นทำอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ จำเลยทำให้เกิดระเบิดโดยเจตนาฆ่าตัวตาย เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 222

มาตรา 223 ความผิดดังกล่าวในมาตรา 217 มาตรา 218 มาตรา 220 มาตรา 221 หรือมาตรา 222 นั้น ถ้าทรัพย์ที่เป็นอันตราย หรือที่น่าจะเป็นอันตราย เป็น ทรัพย์ที่มีราคาน้อยและการกระทำนั้น ไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- เมื่อเป็นกรณีตาม มาตรา 223 คือ ทรัพย์ราคาเล็กน้อยและไม่น่าเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น ย่อมไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 217 และ 218 ต่อไป แต่เป็นความผิดตามมาตรานี้โดยเฉพาะ เมื่อผิดมาตรานี้ ก็ไม่ผิดมาตรา 219

- โทษตาม มาตรา 359 หนักกว่าโทษตามมาตรานี้ เป็นบทหนักตาม มาตรา 90 แต่ความผิดตาม มาตรา 359 มาตรา 361 กำหนดให้เป็นความผิดอันยอมความได้ มาตรา 90 เป็นเรื่องกฎหมายกำหนดให้ลงโทษบทหนัก ไม่ทำให้ความผิดที่มีโทษเบาหายไป การยอมความตาม มาตรา 359 ไม่ทำให้ความผิดตามมาตรานี้ระงับไป กรณี 90 และต้องลงโทษบทหนักขึ้น หากโจทก์ฟ้องให้ลงโทษบทใดบทหนึ่งแล้ว โจทก์จะฟ้องให้ลงโทษบทอื่นอีกไม่ได้ ตาม ปวิอ ม 39 (4) 45/2528 (เมื่อศาลลงโทษข้อหาอนาจารแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา ย่อมระงับ ตาม ปวิอ ม 39 (4) 1193/2529)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2041/2497 เรือนเป็นที่อยู่อาศัยของคนถึง 4 คน ตามควรแก่อัตตะภาพ จึงไม่ใช่เพียงแต่เป็นโรงเรือนชั่วคราว ทั้งยังมีทรัพย์สินพลอยสูญเสียไปด้วย รวมราคา 426 บาท อันจะนับว่าเป็นจำนวนเล็กน้อยสำหรับชาวชนบทเช่นผู้เสียหายนี้หาได้ไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 703/2500 มาตรา 223 จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ที่เป็นอันตรายหรือน่าจะเป็นอันตรายนั้น ต้องเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อยและไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่ผู้อื่นด้วย แม้จะปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่ราคาน้อย ถ้าการกระทำน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นแล้ว ต้องลงโทษตาม มาตรา 217 , 218 ,220 ,221 หรือ มาตรา 222 แล้วแต่กรณี จะลงโทษตาม มาตรา 223 ไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 81/2501 เผากระท่อมราคา 413 บาท ราคาน้อย ทั้งไม่น่ากลัวจะเป็นอันตรายแก่ผู้ใด ไฟไม่อาจลุกลามไปถึงทรัพย์อื่น เพราะตั้งอยู่โดดเดียวกลางทุ่งนา เป็นความผิดตาม มาตรา 223

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 722/2545 ทรัพย์ที่เป็นอันตรายจากการวางเพลิงของจำเลยเป็นเพียงประตูบ้านซึ่งทำด้วยไม้มะค่าและต้นไม้ประดับ คิดเป็นเงินประมาณ 5,000 บาท ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย และขณะเกิดเหตุผู้เสียหายก็อยู่ในที่เกิดเหตุและสามารถดับไฟได้ทัน การกระทำของจำเลยจึงไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น กรณีเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) ประกอบด้วยมาตรา 223

มาตรา 224 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 217 มาตรา 218 มาตรา 221 หรือมาตรา 222 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความ ตายผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าเป็นเหตุให้บุคคลอื่นรับอันตราย สาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี

- ความตายและอันตรายสาหัส ต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ ตาม มาตรา 63 และเป็นคนละกรณีกับผลที่เกิดจากเจตนาโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลตาม เพราะจะผิดฐานฆ่าคนตาม มาตรา 288

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1412/2504 ฮ จุดไฟเผาตึกแถว ฟ ชาวบ้านสมัครใจเข้าช่วยดับเพลิง ถูกไฟลวกอยู่ได้ 5 วันก็ตาย การเข้าไปช่วยดับไฟ เป็นเหตุให้ ฟ ตาย เพราะการกระทำของ ฟ เอง ไม่ใช่ตายเพราะการวางเพลิง ฮ ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายมาตรานี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1412/2504 ห้องที่จำเลยวางเพลิงเป็นตึกแถว จำเลยเช่าเปิดเป็นร้านขายยาและตรวจรักษาโรคในตอนกลางวัน ส่วนในตอนกลางคืนจำเลยกับครอบครัวไปนอนที่อื่น ไม่มีคนอยู่อาศัยในห้องนั้น แต่มีห้องติดกันซึ่งเป็นตึกแถวเดียวกัน มีคนเช่าอยู่อาศัยหลับนอน ดังนี้ ตึกแถวที่จำเลยวางเพลิง ย่อมเป็นตึกแถวที่มีคนอยู่อาศัย จำเลยย่อมมีความผิดตาม มาตรา 224

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 224

- (ขส อ 2533/ 2) เจ้าของรวม เผาบ้าน ไม่ผิด ม 217 ไม่เข้าเหตุฉกรรจ์ ม 218 ผิด ม 358 / ไฟไหม้บ้านอยู่ชายทุ่ง ไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ เด็กแอบเข้าไปนอน โดยคนเผาไม่รู้ ไม่ผิด ม 220 (เพราะไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคล ขาดองค์ประกอบภายนอก) (แม้เด็กสาหัส ไม่ผิด ม 220 + 224 เพราะไม่ใช่ผลธรรมดาที่คาดหมายได้ และไม่เป็นเหตุแทรกแซง เพราะเด็กเข้าไปก่อนที่จะวางเพลิง เป็นเหตุที่มีอยู่แล้ว)


มาตรา 225 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ โดยประมาทและเป็นเหตุให้ ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือการกระทำโดยประมาทนั้น น่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 165/2523 จำเลยจุดไฟเผาต้นไม้ที่โค่นไว้ในสวนของจำเลย จำเลยทำทางกันไฟไว้กว้าง 2 ศอก แต่แดดร้อนจัดและลมแรง ไม่พอป้องกันมิให้ไฟลามไปไหม้สวนของผู้อื่นได้ เป็นประมาท

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2090/2526 ไฟที่จำเลยจุดไม่ได้ลุกลามไปติดสวนของผู้เสียหายในทันที แต่การที่จำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ปล่อยไว้ให้ติดคุขอนไม้ จนเป็นเหตุให้ลุกลามไปไหม้ทรัพย์สินของผู้เสียหาย ผิด ม 225

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1285/2529 ปรากฏว่าระยะเวลาที่จำเลยจุดไฟ จนถึงเวลาที่บ้านผู้เสียหายถูกเพลิงไหม้ห่างกันหลายชั่วโมง แสดงว่า ไม่มีลักษณะน่ากลัวอันตราย ม 220 แต่จำเลยไม่ควบคุมดูแล ผิดตาม ม 225

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1211/2530 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันลักน้ำมันที่ปั๊มผู้เสียหายโดยใช้สายไฟต่อขั้วแบตเตอรี่กับเครื่องปั๊มดูดน้ำมัน ทำให้เกิดประกายไฟ เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ต้องถือว่าเป็นผลอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทุกคนที่ร่วมกันลักทรัพย์ แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้เป็นผู้ถอดสายไฟฟ้าจากขั้วแบตเตอรี่ ต้องมีความผิด ฐานทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4478/2531 จำเลยจุดไฟเผากองฟางในลานนวดข้าวในเวลาแดดร้อนจัด และไม่ได้เตรียมการดับไฟที่อาจลุกลามไปได้ไว้ให้พร้อมที่จะดับไฟได้ทันที เป็นการกระทำโดยประมาท

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2190/2531 จำเลยทั้งสองจุดไฟเผาไม้ในที่ดินของตนจนน่าจะเป็นอันตรายแก่สวนยางพาราของผู้อื่น กับไม่ได้เตรียมป้องกันมิให้เพลิงลุกลามไปไหม้สวนยางข้างเคียง เพียงใช้ไม้ตีให้ดับเท่านั้น ไม่เป็นการระมัดระวังอย่างเพียงพอ เมื่อดับไฟไม่ได้และไฟได้ลุกลามไปไหม้สวนยางของผู้เสียหาย ผิด 220 1 และ 225 ปรับ 90

ไม่มีความคิดเห็น: