ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

มาตรา ๑๓๖ - ๑๓๗

ลักษณะ 2 ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง

หมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงาน

มาตรา 136 ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

- ความหมายคำว่า "ดูหมิ่น"

- อ จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ดูหมิ่นคือ ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอายเสียหาย สบประมาท หรือด่า ไม่เพียงแต่คำหยาบคาย ไม่สุภาพ คำแดกดัน คำสาปแช่ง หรือคำขู่อาฆาต ต่างกับหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ซึ่งเป็นการใส่ความทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียหาย และการดูหมิ่นลดคุณค่าของผู้ถูกดูหมิ่นลงโดยไม่ต้องกล่าวต่อบุคคลที่สาม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4327/2540 การกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 คือ ดูหมิ่นซึ่งหมายถึงการด่า ดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อ ข. เจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ว่าแน่จริงมึงถอดเสื้อมาต่อยกับกูเลยเป็นการกล่าวท้าทายให้ ข. ออกมาต่อสู้กับจำเลย เป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นที่พอจะให้เข้าใจว่าจำเลยมีความมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทให้ ข. อับอายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136

- "เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่"

- คำพิพากษาฎีกาที่ 421/2499 เพียงแต่จำเลยแสดงกิริยาวาจาต่อผู้เสียหายว่า "พี่ณรงค์เรามาจับมือประกาศเป็นศัตรูกันตั้งแต่วันนี้ไปจนตลอดชีวิต" พร้อมกับยื่นมือไปขอจับด้วยดังนี้ เป็นแต่เพียงจำเลยประกาศตัวเป็นศัตรู คือเลิกความเป็นมิตร ยังเรียกไม่ได้ว่าแสดงอาฆาตมาดร้าย / ผู้เสียหายเป็นนายกเทศมนตรี เกี่ยวกับทางหลวงผู้เสียหาย คงมีหน้าที่ระวังไม่ให้รุกล้ำถนนหลวงและคูเมืองเท่านั้น เมื่อส่งคนงานไปวัดที่ดินของผู้อื่น อันเป็นเหตุให้จำเลยโกรธ กล่าวคำหมิ่นประมาท ดังนี้จำเลยหามีความผิดฐานหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานไม่ เพราะที่ผู้เสียหายสั่งไปนั้นเ ป็นการนอกอำนาจและหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1551/2503 ถ้าเป็นการนอกหน้าที่แล้ว กรณีหาเข้ามาตรานี้ไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 920/2508 จำเลยไปพูดขอประกันผู้ต้องหา เป็นการส่วนตัว ขณะพนักงานสอบสวนกำลังกินข้าวที่บ้านพัก ถือไม่ได้ว่าจำเลยดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เพราะได้กระทำการตามหน้าที่ แต่เป็นการข่มขืนใจ ให้เจ้าพนักงานสั่งประกัน อันมิชอบด้วยหน้าที่ ผิด ม 139

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2113/2516 การที่กำนันใช้ให้บุคคลอื่น ไปตามบุตรสาวจำเลยมาไกล่เกลี่ย แบ่งทรัพย์สินกันระหว่างสามีภริยา มิใช่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของกำนัน ตาม พรบ ลักษณะปกครองท้องที่ จำเลยกล่าววาจาดูหมิ่นกำนัน ไม่ผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2256/2537 จำเลยและผู้เสียหายที่ 1 ได้พบผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ช่วยเจรจาไกล่เกี่ยวกรณีพิพาทเรื่องการกู้ยืมเงินจำเลยได้พูดว่าผู้เสียหายที่ 1 ต่อหน้าผู้เสียหายที่ 2 และบุคคลอื่นว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้หญิงต่ำ ๆ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาว่าผู้เสียหายที่ 1 ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าผู้หญิงทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นคำพูดที่เหยียดหยามผู้เสียหายที่ 1 เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งหน้าแล้ว หาใช่เป็นเพียงคำพูดในเชิงปรารภปรับทุกข์ไม่ แต่ที่จำเลยพูดพาดพิงถึงผู้เสียหายที่ 2 ว่า "มันก็เข้าข้างกัน" ไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เพราะผู้เสียหายที่ 2 มีหน้าที่ทางอาญา หาได้เกี่ยวกับกรณีพิพาททางแพ่งไม่ แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะได้ทำการไกล่เกลี่ยเรื่องทางแพ่งให้ และจัดการลงบันทึกประจำวันไว้ ก็หาใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรงตามกฎหมายไม่

- ถ้อยคำและพฤติการณ์ อันเป็นการดูหมิ่น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1519/2500ผมผิดแค่นี้ใคร ๆ ก็ผิดได้ ทำไมมาว่าผม อย่างคุณจะเอาผม ไปคุณถอดเครื่องแบบมาชกกับผมตัวต่อตัวดีกว่ากริยาและถ้อยคำท้าทายเช่นนี้ เป็นการดูถูกดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1183/2503 ตำรวจจับจำเลยขณะลักเล่นการพนัน จำเลยพูดว่า ตำรวจล้วงเอาเงินส่วนตัวในกระเป๋าของจำเลยไป พูดซ้ำกันหลายครั้ง โดยไม่เป็นความจริง ดังนี้เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะกระทำการตามหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 637/2504 การที่จำเลยไม่หลีกทางให้รถยนต์ตำรวจ ซึ่งบีบแตรขอทาง เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ ทั้งยังกล่าวว่า "รถยนต์ตำรวจกลัวแม่มันหยัง" ซึ่งหมายความว่า "รถยนต์ตำรวจ กลัวแม่มันทำไม" นั้น นอกจากเป็นคำหยาบคาย ไม่สมควรกล่าวต่อเจ้าพนักงานผู้กำลังกระทำตามหน้าที่ แล้วยังเป็นถ้อยคำกล่าวเหยียดหยามดูถูกหมิ่นเจ้าพนักงาน ขณะกำลังกระทำตามหน้าที่ด้วย ผิดตาม มาตรา 136

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1081/2505 เจ้าพนักงานตำรวจจราจรจับจำเลยในข้อหาฐานขับรถรับจ้างคนโดยสารเกินจำนวน มีรถยนต์ส่วนบุคคลคันหนึ่งบรรทุกคนวิ่งผ่านไป จำเลยกล่าวว่า"รถคันนี้ทำไมไม่จับ คนก็แน่นเหมือนกันหรือจะแกล้งจับเฉพาะผมคนเดียวเท่านั้น จราจรลำพูนไม่ให้ความยุติธรรม" ดังนี้ แสดงว่าจำเลยกล่าวโดยตั้งใจ เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานตาม มาตรา 136

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1735/2506 จำเลยกล่าวต่อเจ้าพนักงานตำรวจจราจร ขณะกระทำการตามหน้าที่จับรถยนต์จำเลยฐานกีดขวางทางจราจรว่า "ลื้อชุ่ยมาก" เป็นความผิดตาม มาตรา 136 แล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 623/2508 จำเลยชี้หน้าและว่าเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ว่า "ปลัดนิกรนี้จะเป็นบ้าหรืออย่างไร มาขัดขวางกลั่นแกล้ง จำเลยทำงานไป โดยเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ให้ความเป็นธรรม พยายามกลั่นแกล้งจำเลยคนเดียว พยายามกลั่นแกล้งจำเลยมาหลายครั้งแล้ว" ถ้อยคำและกิริยาเช่นนี้เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตาม มาตรา 136 การกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการกล่าวในลักษณะต่อว่าด้วยการสุจริตที่จะยกขึ้นอ้างให้พ้นผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 862/2508 จำเลยว่าเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ว่า "ตำรวจเฮงซวย ถือว่ามีอำนาจก็ทำไปตามอำนาจ จะต้องให้เจอดีเสียบ้าง" ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวนี้ เป็นการกล่าวสบประมาทผู้เสียหาย ขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงเป็นคำที่แสดงการดูหมิ่นเจ้าพนักงานตาม มาตรา 136

- คำพิพากษาฎีกาที่ 316/2517 ถ้อยคำว่า "อ้ายจ่า ถ้ามึงจับกู กูจะเอามึงออก" ซึ่งจำเลยกล่าวต่อจ่าสิบตำรวจ ในขณะที่จะเข้าจับกุมจำเลย อันเป็นปฏิบัติการตามหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นถ้อยคำที่กล่าวสบประมาท เหยียดหยาม และข่มขู่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นมิให้จับกุมจำเลย เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ มิใช่เป็นเพียงการประท้วงการกระทำของเจ้าพนักงาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 347/2519 นายตำรวจไม่รับแจ้งความเรื่องสุนัขกัดหลานจำเลย จำเลยกล่าวต่อนายตำรวจว่า ทำอย่างนี้ไม่ยุติธรรม ดังนี้ เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม ไม่ใช่ต่อว่าแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียตามคลองธรรม เป็นความผิด ม.136

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1985/2521 (สบฎ เน 5617) จำเลยกล่าวว่า "ด่านตำรวจนี้ เท่ารูหี" ประกอบพฤติการณ์ที่ยื่นหน้าตะโกนออกมานอกรถ "มุ่งถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยิ่งกว่าสถานที่" อาจเป็นผิด มาตรา 136

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1541/2522 จ่า ฯ ตำรวจจับจำเลยฐานวางหาบเกะกะ ทางเท้าให้จำเลยไปคอยที่สถานีตำรวจพอตำรวจไปถึง จำเลยว่า "ลื้อจับแบบนี้แกล้งจับอั๊วนี่หว่า ไม่เป็นไร ไว้เจอกันเมื่อไรก็ได้" ยังเป็นการอยู่ระหว่างจับกุม เป็นการดูหมิ่นตาม มาตรา 136

- คำพิพากษาฎีกาที่ 930/2526 ตำรวจผู้เสียหายจับกุมผู้ขับรถยนต์บรรทุกสินค้าควบคุมออกนอกเขตควบคุมโดยมิได้รับอนุญาต จำเลยมาดูของกลางแล้วพูดว่า ของเหล่านี้ตำรวจคุมมาเองแล้วยังจับกุม ผู้เสียหายถามว่าตำรวจที่คุมเป็นใคร จำเลยชี้หน้าผู้เสียหายและพูดว่า มึงนั่นและเป็นคนนั่งคุมที่หน้ารถไปแล้วมาจับกุม ดังนี้ เมื่อจำเลยรู้อยู่แล้วว่าผู้เสียหายขับขี่รถจักรยานยนต์ตามหลังรถยนต์บรรทุกไป หาได้นั่งคุมไม่ และผู้เสียหายก็ได้จับกุมผู้กระทำผิดตามหน้าที่ ข้อความที่จำเลยกล่าวจึงไม่เป็นความจริง ถือได้ว่าจำเลยกล่าวโดยเจตนาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยกล่าวข้อความดังกล่าวโดยสุจริตหรือไม่ จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 136

- คำพิพากษาฎีกาที่ 501/2537 เมื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า เป็นนายจับอย่างไรก็ได้ และเรียกทำเย็ดแม่ ดังนี้ที่จำเลยกล่าวว่า เป็นนายจับอย่างไรก็ได้ เป็นเพียงคำกล่าวในทำนองตัดพ้อต่อว่า ไม่ได้กล่าวหาว่าผู้เสียหายกลั่นแกล้ง จึงไม่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย แต่ที่จำเลยกล่าวว่า เรียกทำเย็ดแม่ เป็นคำด่าอันเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 136

- ถ้อยคำและพฤติการณ์ อันไม่เป็นการดูหมิ่น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 106/2506 กล่าวถ้อยคำว่านายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ด้วยความน้อยใจ และมีอารมณ์โกรธ เนื่องจากถูกนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาล พูดเป็นทำนองไล่ อันเป็นการไม่สมควร เพราะเป็นการขาดคารวะ แต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท (ดูย่อเต็ม)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 713/2519 กล่าวว่า "พวกมึงตำรวจไม่มีความหมายสำหรับกู อยากจะจับก็มาจับเลย ในเมื่อกูไม่ได้กระทำผิด" เป็นคำพูดที่ไม่สุภาพ แต่ไม่เป็นดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 860/2521 (สบฎ เน 5617) จำเลยกล่าวว่า "คุณเป็นนายอำเภอได้อย่างไร ไม่รับผิดชอบ" ไม่ได้กล่าวโดยเมาสุรา หรือทุบโต๊ะชวนวิวาท เป็นแต่คำไม่สุภาพ ไม่ถึงดูหมิ่นตาม มาตรา 136

- คำพิพากษาฎีกาที่ 420/2529 พล.ตำรวจ ม.เรียกให้แท็กซี่ที่จำเลยนั่งมาหยุด เพื่อตรวจจำเลยพูดว่า ด่านจริง หรือด่านผี ม.ว่าด่านจริง และชี้ไปที่ ร.ต.ท. ป.โจทก์ร่วมว่าเป็นหัวหน้าด่าน หากสงสัยสอบถามหัวหน้าด่านได้ จำเลยพูดว่าแค่ร้อยตำรวจโทนั้นกระจอก ไม่อยากคุยด้วยหรอก ดังนี้ เป็นแต่คำพูดที่ไม่สุภาพ หาใช่เป็นคำด่าหรือเป็นการสบประมาทเหยียดหยามโจทก์ร่วม ให้ได้รับความอับอายแต่ประการใดไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 136

- คำพิพากษาฎีกาที่ 786/2532 จำเลยที่ 1 กล่าวแก่เจ้าพนักงานสรรพสามิตซึ่งทำการจับกุม อ. ผู้ต้องหาว่า "โคตรแม่มึงเวลาเขาลักขโมยควายไป 2-3 วัน ตามหาไม่เจอเวลามีสุราทำไมจับเร็วนัก พวกคุณมาสร้างปัญหา คุณไม่ต้องมามองหน้าผมหรอก คุณเป็นหัวหน้าส่วนกระจอก ๆ ผมไม่กลัวคุณหรอก ใหญ่กว่านี้ผมก็ไม่กลัว" เป็นการพูดเปรยขึ้นมาเพื่อประชดประชันว่า ทำไมเรื่องสุราจับเร็วนัก และเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพ มิใช่เป็นการสบประมาทเหยียดหยามดูหมิ่นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4529/2536 หลังจากผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิตยึดสุราของจำเลยไปแล้ว จำเลยตามไปที่ห้องเปรียบเทียบปรับกรมสรรพสามิตจำเลยพูดกับผู้เสียหายว่า พวกมึงเก่งแต่จับเหล้า ไปต่อยกับกูข้างนอกไหม เป็นคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควร เป็นการพูดเปรย เพื่อประชดประชันผู้เสียหาย โดยเจตนาท้าทายให้ออกไปชกต่อยกับจำเลย หาใช่เป็นการเหยียดหยามดูหมิ่น

- การกระทำที่มีเหตุจูงใจจากข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 329 ใช้ยกเว้นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 402/2496 ..ลักษณะอาญามาตรา 285 นั้น เป็นบทยกเว้นโทษให้แก่คู่ความ เพื่อเปิดโอกาศให้คู่ความได้ดำเนินคดีได้เต็มที่ และเป็นข้อยกเว้นโทษของมาตรา 116 ด้วย ถ้าการหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานตามมาตรา 116 นั้น มีมูลฐานมาจากความผิดตามมาตรา 282. / จำเลยแก้อุทธรณ์ที่อัยการโจทก์อุทธรณ์ แม้ถ้อยคำที่จำเลยใช้ในคำแก้อุทธรณ์นั้น จะไม่สมควรหลายแห่ง แต่เมื่อยังเป็นเรื่องที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 285 แล้ว จำเลยก็ยังไม่ผิด

- การปรับบทความผิด กับข้อหาความผิดอื่น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1650/2514 จำเลยร่วมกันจัดพิมพ์เอกสารสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีข้อความบางตอนกล่าวในทำนองตำหนิศาลอาญา ศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีที่จำเลยถูกฟ้องว่า พิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ยึดหลักกฎหมายและความยุติธรรม ไม่เป็นที่พึ่งของประชาชน นับว่าเป็นการกระทำที่แสดงต่อศาล หรือผู้พิพากษาในทางที่ลดคุณค่าของศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 / เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 แล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 อีก

- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 198 / 393


มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- เจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1050/2514 ความผิดฐานแจ้งความเท็จ จำเลยต้องรู้อยู่ว่าข้อความที่ตนไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานนั้นเป็นความเท็จ ถ้าจำเลยเชื่อโดยมีเหตุผลอันควรเชื่อว่าเป็นความจริงเช่นนั้น จำเลยก็ยังไม่มีความผิดฐานนี้

- "การแจ้ง"

- การแจ้งคือ ให้ทราบจะต้องมีการกระทำอันเป็นการแจ้ง และการกระทำนั้นทำให้เจ้าพนักงานได้ทราบข้อความที่แจ้ง จึงเป็นผล องค์ประกอบนี้จึงเป็นความผิดสำเร็จที่อาศัยผล คือ เจ้าพนักงานจะต้องทราบการแจ้ง หากแจ้งแล้ว แต่เจ้าพนักงานยังไม่ทราบ เพราะหูหนวก ไม่ได้ยิน หรือเสียงบริเวณนั้นดังมาก เป็นพยามแจ้งความเท็จได้ / การนิ่ง คือ ไม่พูด ไม่ถือเป็นการแจ้งตามมาตรานี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 492/2509 การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 นั้นไม่ว่าไปแจ้งเองหรือตอบคำถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยาน ก็เป็นการแจ้งต่อเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งมาตรานี้ทั้งนั้น

- ข้อความ

- ข้อความอันเป็นเท็จหมายถึง ข้อเท็จจริง ในอดีต หรือปัจจุบัน ที่ไม่ตรงต่อความจริง ไม่ใช่คำมั่นสัญญา หรือการรับรองข้อเท็จจริงที่จะมีขึ้นในอนาคต

- คำพิพากษาฎีกาที่ 928/2474 , คำพิพากษาฎีกาที่ 56/2478 (เน 51/2/21) การแสดงความคิดเห็น ในการประมาณราคาทรัพย์ ที่ใช้เป็นหลักประกันตัวจำเลยหรือผู้ต้องหา แม้จะผิดไปจากความจริง หาก ไม่ตั้งใจจะให้ผิดไปจากความจริง โดยรู้ว่าความจริงเป็นราคาเท่าใด ไม่ถือเป็นการแจ้งความเท็จ” / (เทียบ การแสดงความคิดเห็น ในการประมาณราคาหุ้น และที่ดิน ผิดไปจากความจริง เพื่อเป็นหลักประกัน ทุเลาการบังคับคดี หาก ตั้งใจจะให้ผิดไปจากความจริง โดยรู้ว่าความจริงอยู่แล้ว ถือเป็นการแจ้งความเท็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2913 ถึง 2915/2528 จำเลยที่ 1 ยืมรถยนต์โดยสารจาก ส. ฝากรถไว้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมา ส.ขับรถดังกล่าวชนรถอื่นมีคนบาดเจ็บ ร.ต.อ. ก.ติดตามพบรถ แต่ไม่พบคนขับ จึงนำรถไปไว้ที่สถานีตำรวจ จำเลยที่ 1 ได้แจ้งความว่าจำเลยที่ 1 มีความเห็นว่าการกระทำของ ร.ต.อ. ก.กับพวกรวม 3 คนเป็นการร่วมกันเอารถยนต์ไป โดยเจตนาทุจริตและใช้กำลัง อันเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์และลักทรัพย์ หาใช่เป็นเพียงความเห็น หรือความเข้าใจไม่ เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.173, 174 วรรคสอง ประกอบด้วย ม.181 (1) ซึ่งจะต้องได้รับโทษหนักขึ้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1173/2539 ความที่จำเลยที่ 3 แจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน ตรงกับสภาพที่จำเลยที่ 2 ไปพบเห็นมา จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 แจ้งข้อความตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 3 แจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญเพราะการแจ้งข้อความหมายถึง แจ้งข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย จึงไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5600/2541 จำเลยนำความไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานสอบสวนว่า โจทก์ขับรถยนต์เฉี่ยวชนจำเลยได้รับบาดเจ็บ เป็นการแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์ จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะการแจ้งข้อความย่อมหมายถึงแจ้งข้อเท็จจริง ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ จำเลยไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

- ข้อความอันเป็นเท็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 459/2472 ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ม.118 (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137) นั้น เพียงแต่จำเลยมีเจตนาเอาความเท็จมากล่าว และอาจจะเสียหายได้แล้ว ก็มีความผิด การที่เจ้าพนักงานจะทราบความเท็จหรือไม่นั้น ไม่เป็นข้อสำคัญ จำเลยสาบาลตัวกล่าวความเท็จเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุนำมาซึ่งความเสียหายต่อทางราชการ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 586-600/2504 จำเลยจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างอาคาร และจ่ายเงินให้โจทก์นำไปใช้ในก่อสร้าง โดยให้โจทก์ออกเช็คไว้ให้เป็นประกันการก่อสร้าง โดยเป็นที่เข้าใจกันว่าจะบังคับให้มีการจ่ายเงินตามเช็คได้ ต่อเมื่อได้คิดบัญชีหักทอนกันก่อน แต่ต่อมาโจทก์จำเลยผิดใจกันจำเลยนำเช็คที่โจทก์ออกให้ไปเข้าบัญชีธนาคาร ๆปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยจึงไปแจ้งความแก่ตำรวจหาว่า โจทก์ทำผิดอาญาฐานใช้เช็คโดยไม่มีเงินพอจ่าย ดังนี้ เป็นการแจ้งความเพื่อให้เจ้าพนักงานเข้าใจว่าเช็คที่โจทก์ออกให้แก่จำเลย เป็นการออกให้ในการยืมเงินตามธรรมดาและเช็คถึงกำหนดการชำระแล้ว จึงเป็นความเท็จ ส่วนความจริงเป็นเรื่องโจทก์ออกเช็คเพื่อประกันการที่จำเลยจ่ายเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์และเช็คนั้นยังไม่ถึงกำหนดตามตกลงกัน จำเลยจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ส่วนโจทก์ยังไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

- คำพิพากษาฎีกาที่ 919/2504 จำเลยไปแจ้งความต่อตำรวจว่า รถจักรยานถูกลักไป ไม่รู้ว่าใครเป็นคนร้าย ต่อมาจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์เป็นคนร้าย โดยตนเห็น และได้ไล่ติดตามโจทก์ในคืนเกิดเกิดเหตุด้วย ซึ่งความจริงจำเลย มิได้รู้ว่าใครเป็นคนร้าย ดังนี้ จำเลยย่อมมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 400/2508 (อัยการนิเทศ พ..2508 น 445) การที่จำเลยซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีไปแจ้งความว่า โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลย ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ... ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง แต่ไม่ได้แจ้งด้วยว่าโจทก์ได้โฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยตนเอง เป็นภาษาไทย ในกิจการของเทศบาล ซึ่งตามกฎหมายไม่ต้องได้รับอนุญาต ทั้งๆ ที่จำเลยรู้อยู่แล้ว ถือได้ว่าคดีมีมูล ควรได้ฟังข้อแก้ตัวของจำเลย ว่าเหตุใดตนจึงไม่ควรได้รับโทษฐานแจ้งความเท็จ (จงใจแจ้งข้อเท็จจริง "บางส่วน" ทำให้เห็นว่ามีการกระทำผิด ผู้แจ้งเท็จมีความผิด) (คดีนี้เป็นประเด็นชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามมาตรา 173 ซึ่งศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าพนักงานอัยการมีอำนาจรับแก้ต่างคดีให้ได้ และให้ศาลชั้นต้นประทับรับฟ้อง)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2302/2523 คำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวจะต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดี คำว่า "ศาล" หมายถึงผู้พิพากษาที่มีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา ผู้พิพากษาจึงมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราว ตลอดจนการบังคับตามสัญญาประกันในกรณีที่ผิดสัญญา จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การที่จำเลยยื่นคำร้องเท็จว่า ส. ถึงแก่กรรมเป็นการร้องเพื่อให้พ้นจากความผิดตามสัญญาประกัน จึงเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน / จำเลยที่ 2 เป็นสารวัตรกำนันปฏิบัติหน้าที่แทนกำนัน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ออกสำเนาทะเบียนบ้านว่าย้ายออก และมีหน้าที่ กรอกข้อความลงในมรณบัตร ตามอำนาจหน้าที่ โดยลงชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องนายทะเบียนผู้รับแจ้งมรณบัตร และสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้น แม้ข้อความในมรณบัตร และสำเนาทะเบียนบ้าน ไม่ตรงกับความจริง ก็ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตาม ป.อ.ม.161 แต่เป็นความผิดตาม ม.162

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3470/2525 จำเลยเป็นคนต่างด้าว แม้จะเคยมีบัตรประจำตัวประชาชน ก็หาใช่ข้ออ้างที่จะนำมาใช้ เพื่อขอให้มีการทำบัตรใหม่แทนฉบับเดิมที่หมดอายุ ซึ่งได้มาโดยไม่ถูกต้องและฝ่าฝืนกฎหมายนั้นไม่ การอ้างสัญชาติของจำเลยต่อนายทะเบียนในครั้งก่อนและครั้งหลัง แม้จะเป็นการอ้าง และนำหลักฐานแสดงความเป็นสัญชาติไทย อันเป็นเท็จในลักษณะเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นการอ้าง และนำหลักฐานแสดงเท็จต่อนายทะเบียน คนละเวลาต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นการกระทำความผิดซ้ำขึ้นมาใหม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1566/2525 จำเลยเป็นพนักงานปกครอง ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าเขต ให้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานหมวดนิติกรรม และที่ดิน เมื่อโจทก์มิได้มาพบและขอให้จำเลยรับรองใบมอบอำนาจให้ขายที่ดิน แต่จำเลยได้ให้การยืนยันต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์เป็นผู้มาขอให้รับรองหนังสือมอบอำนาจด้วยตนเอง ทั้งที่ได้รู้จักตัวโจทก์แล้วก่อนให้การ ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยต้องมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2501/2527 สมุดเช็คของจำเลยมิได้หายไป จำเลยกลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่า สมุดเช็คของจำเลยหายไปซึ่งอาจทำให้ผู้เสียหายและพนักงานสอบสวนได้รับความเสียหาย จำเลยมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. ม.137

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2141/2532 จำเลยทั้งสี่รับรองบัญชีเครือญาติ ต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินว่าผู้ตายมีทายาทเพียง 4 คน คือจำเลยทั้งสี่อันเป็นเท็จ จำเลยทั้งสี่ทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ตายยังมีบุตรสาวอีก 2 คน เจ้าพนักงานโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำให้กรมที่ดินและบุตรสาวอีก 2 คน ของผู้ตายเสียหาย จำเลยทั้งสี่ผิดตาม ป.อ.มาตรา 137 เป็นความผิดสำเร็จในวันที่กระทำความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 734/2533 จำเลยที่ 1 เป็นชาวญวนอพยพ ไม่มีสัญชาติไทย และไม่เคยมีบัตรประจำตัวประชาชน ได้แจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่าบัตรประจำตัวประชาชนหาย แล้วนำหลักฐานไปยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ โดยแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงานเขตว่าตนมีสัญชาติไทย และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการ โดยมีเจตนาเดียวกัน เพื่อให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 / คดีมีปัญหาต่อไปว่า จะลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมในกระทง ความผิดไปตามที่โจทก์ฎีกาได้หรือไม่ ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 แจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนตลอดถึงเจ้าพนักงาน ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกบัตรประจำตัวประชาชน เป็นการกระทำ ต่อเนื่องมีเจตนาเดียวที่จะให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชน ให้เท่านั้น ซึ่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.. 2526 มาตรา 14 ได้บัญญัติเป็นความผิดไว้โดยเฉพาะแล้วจึงเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่ต่างกรรมต่างวาระดังที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษไม่" พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.. 2526 มาตรา 14 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.. 2526 มาตรา 14 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 8 เดือน โดยไม่ลดโทษ ฟ้องโจทก์ฐานใช้เอกสาร ดังกล่าวให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 743/2539 จำเลยแจ้งความอันเป็นเท็จ โดยกรอกข้อความในใบสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด ว่าบิดาจำเลยเป็นคนสัญชาติไทย และจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปี 4 โดยรู้อยู่ว่าไม่เป็นความจริง จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และ พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดฯ มาตรา 64

- ข้อความ ไม่เป็นเท็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1455/2529 จำเลยที่ 2 ขายเครื่องจักรผลิตปุ๋ยเคมี ซึ่งมีหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักรให้โจทก์ โจทก์ชำระราคาครบถ้วนและรับมอบเครื่องจักรแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์ต้องจดทะเบียนให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ.2514 ด้วย ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์คือเครื่องจักร จึงยังไม่เปลี่ยนมือไปยังโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ไปพูดหลอกลวงโจทก์เพื่อขอรับหนังสือสำคัญการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร และโจทก์หลงเชื่อมอบหนังสือดังกล่าวให้ไป การกระทำของจำเลยทั้งสอง ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง เพราะหนังสือนั้นเป็นของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 นำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรให้จำเลยที่ 1 ต่อเจ้าพนักงาน จึงมิใช่เป็นการแจ้งความเท็จหรือกล่าวเท็จ เพื่อให้เจ้าหน้าที่จดแจ้งข้อความลงในเอกสารอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. ม. 137, 267 / จำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้โจทก์หมดแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้โจทก์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดแทน จำเลยที่ 2 ยังคงอยู่ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ การที่จำเลยที่ 2 ไปทำนิติกรรมโอนขายเครื่องจักรในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดให้แก่จำเลยที่ 1จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. ม.137

- คำพิพากษาฎีกาที่ 505/2537 การที่คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล มีมติว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ทำนา เป็นเพียงความเห็นในการรับฟังถ้อยคำของจำเลยทั้งสี่ว่า ไม่น่าเชื่อถือ และการที่คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด มีมติว่าจำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ทำนา ก็เพราะเชื่อถ้อยคำของจำเลยทั้งสี่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล

- "เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่"

- เจ้าพนักงานเจ้าพนักงานผู้รับแจ้ง ต้องมีหน้าที่ และกระทำการในหน้าที่ (เน 51/2/27) เจ้าพนักงาน หมายถึง ฝ่ายบริหาร รวมถึงฝ่ายตุลาการ กรณีของฝ่ายตุลาการ หากปรับ มาตรา 177 แล้ว ไม่ต้องปรับ มาตรา 137 อีก (เน 51/2/27)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 197/2481 (เน 51/2/27) กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ค้นและจับคนในที่รโหฐาน โดยไม่มีหมายค้นและหมายจับ แม้เจ้าบ้านแจ้งข้อความเท็จว่า ผู้ที่จะถูกค้น ไม่อยู่ ไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2054/2517 การเบิกความเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดี มิใช่เรื่องแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน เพราะศาลทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมในการพิจารณาคดี ซึ่งมีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 177 ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2411/2518 อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นเจ้าพนักงานรับเงินเดือนข้าราชการจากงบประมาณประเภทเงินเดือน จำเลยร้องเรียนเท็จว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายไปรษณีย์ ในบังคับบัญชาอธิบดีเรียกเอาเงินจากจำเลย เป็นความผิดตาม ม.137 กับ ม.326 ไม่เป็นการโฆษณาด้วยเอกสารตาม ม.328 ม.137 และ 326 กำหนดโทษเท่ากันศาลลงโทษตาม ม.137

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2413/2521 (สบฎ เน 5618) ผู้เสียหาย กับ ผู้ที่ไม่ใช่ผู้ต้องหาเจรจาตกลงค่าเสียหายกัน ไม่ใช่เจรจาโดยผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจเปรียบเทียบ การแจ้งความเท็จไม่เป็นความผิด

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2302/2523 (สบฎ เน 6286) คำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวจะต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดี คำว่า "ศาล" หมายถึงผู้พิพากษาที่มีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา ผู้พิพากษาจึงมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยสั่งคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราว ตลอดจนการบังคับตามสัญญาประกันในกรณีที่ผิดสัญญา จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การที่จำเลยยื่นคำร้องเท็จว่า ส. ถึงแก่กรรมเป็นการร้องเพื่อให้พ้นจากความผิดตามสัญญาประกัน จึงเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน / จำเลยที่ 2 เป็นสารวัตรกำนันปฏิบัติหน้าที่แทนกำนัน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ออกสำเนาทะเบียนบ้านว่าย้ายออก และมีหน้าที่ กรอกข้อความลงในมรณบัตรตามอำนาจหน้าที่ โดยลงชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องนายทะเบียนผู้รับแจ้งมรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้น แม้ข้อความในมรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านไม่ตรงกับความจริง ก็ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตาม ป.อ.ม.161 แต่เป็นความผิดตาม ม. (เทียบ ฎ 1122/2518 คำร้องอนาถาเท็จ ผิด ม 137)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 310/2530 ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 กำหนดให้เฉพาะแต่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้น เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อปรากฏว่า อ. เป็นเพียงปลัดอำเภอ และมิได้เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอ แม้นายอำเภอจะมีคำสั่งแต่งตั้งให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชน อ. ก็มีฐานะเป็นเพียงผู้ทำการแทนนายอำเภอเท่านั้น หาใช่เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอ ตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวไม่ อ. จึงไม่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ดังนั้นการที่จำเลยยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวประชาชน โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ. จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2505 มาตรา 17 แต่การที่ อ.ทำการแทนนายอำเภอดังกล่าวนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่า อ. มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ผู้กระทำการตามหน้าที่ ดังนั้น การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ. และ อ. จดข้อความที่แจ้งลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 137 และมาตรา 267 แล้ว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6796/2540 ความผิดฐานแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายตาม ป.อ. มาตรา 137 นั้น หมายถึงการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่วไป มิใช่เจ้าพนักงานฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยเฉพาะ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าขณะที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ร้อยตำรวจตรี ก. ว่าจำเลยเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทั้ง ๆ ที่จำเลยรู้อยู่ว่าจำเลยเป็นบุคคลสัญชาติเวียดนาม หรือญวนมีสถานภาพเป็นคนญวนอพยพ ร้อยตำรวจตรี ก. ร่วมทำการสืบสวนสถานภาพของจำเลย ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน การสืบสวนของร้อยตำรวจตรี ก. เกี่ยวกับสถานภาพของจำเลยและการสอบปากคำจำเลย จึงเป็นการกระทำในฐานะเจ้าพนักงาน หาใช่กระทำการโดยปราศจากคำสั่ง หรือมิได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาไม่ จำเลยย่อมมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตาม ป.อ. มาตรา 137

- คำพิพากษาฎีกาที่ 7985/2540 การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ป.อ.มาตรา 138 นั้น จะต้องเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย โดยได้รับการแต่งตั้งตามวิธีการที่กฎหมายให้อำนาจและกำหนดไว้ สำหรับ พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 มาตรา 16 (2) กำหนดให้กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ทำหน้าที่ตรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และมาตรา 29 ระบุว่าเจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ในระหว่างทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา ตามบทบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้ผู้เสียหายทำงานร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ จึงจะมีอำนาจตามกฎหมาย และให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงาน แต่ผู้เสียหายมีหน้าที่เพียงสกัดกั้นผู้กระทำความผิดต่อกฎหมาย ไม่มีหน้าที่จับกุม หากจะจับกุมจะต้องมีเจ้าพนักงานตำรวจและปลัดอำเภอร่วมด้วยดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจ หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับผู้เสียหายในการจับกุมจำเลย ผู้เสียหายย่อมไม่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138

- ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 654-655/2513 จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรในฐานะเป็นบุคคลไม่นับเป็นคนเข้าเมือง ก่อนครบกำหนดที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้ จำเลยได้แจ้งขอเดินทางออกจากประเทศไทยและได้รับอนุมัติแล้ว แต่แล้วจำเลยกลับใจจะไม่เดินทางออกไป และได้แจ้งต่อกองตรวจคนเข้าเมือง เท่ากับจำเลยได้แจ้งความเปลี่ยนแปลงเพิกถอนคำแจ้งความที่ว่าจะเดินทางออกไปนั้นเสียแล้ว และไม่ทำให้ผู้ใดเสียหาย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยแจ้งความเท็จ และการอยู่ในประเทศไทยต่อมา ก็เป็นการอยู่โดยชอบกฎหมาย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1544/2524 จำเลยแจ้งความต่อตำรวจ ผู้ขอตรวจใบอนุญาตขับรถของจำเลยว่า ใบอนุญาตหาย กับแสดงสำเนาใบแจ้งความว่าหายด้วย ความจริงใบอนุญาตถูกตำรวจยึดไว้ก่อนแล้ว ดังนี้ ทำให้ตำรวจเสียหายที่ไม่จับจำเลย เป็นความผิดตาม ป.อ.ม.137

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2039/2528 โจทก์และจำเลยต่างก็เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้จำเลยจ่ายเงินแก่ทายาท จำเลยยื่นงบดุลกองมรดกต่อศาลแสดงจำนวนเงินเหลืออยู่มากกว่าจำนวนที่เหลืออยู่จริง แม้จะเป็นเท็จ ก็มิใช่เป็นข้อสำคัญในคดี และโจทก์ซึ่งเป็นทายาทก็ไม่ได้รับความเสียหาย เพราะไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิรับเงินมรดกน้อยกว่าจำนวนที่เป็นจริงแต่ประการใด โจทก์จะเสียหาย ก็ต่อเมื่อจำเลยแสดงงบดุลจำนวนเงินมรดกน้อยกว่าที่เป็นจริง การกระทำของจำเลยไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งความเท็จ หรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. ม.137, 180

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1329/2529 จำเลยซื้อที่ดินซึ่งมี (น.ส.3) อยู่แล้ว จำเลยได้ไปขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศสำหรับที่ดินนั้นอีก โดยแจ้งต่อ ป.เจ้าหน้าที่พิสูจน์ สอบสวนว่าที่ดินดังกล่าว ยังไม่เคยมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาก่อน จนทางราชการออก น.ส.3 ก.ให้จำเลย แต่ในที่สุดผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งเพิกถอน เพราะเหตุจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ดังนี้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ.ม.137

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1489/2530 ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธร และผู้บัญชาการตำรวจภูธร ต่างมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ ที่จะดำเนินการทางวินัยต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หากข้อความในหนังสือที่จำเลยร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ดังกล่าวเป็นเท็จ จำเลยย่อมมีความผิดฐานแจ้งความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตาม มาตรา 137

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2141/2532 จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ขอรับมรดกที่ดินมีโฉนดแล้ว จำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำและยืนยันรับรองบัญชีเครือญาติต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินที่สอบสวนที่ดินมรดก ว่าผู้ตายมีทายาทเพียง 4 คน คือจำเลยทั้งสี่ อันเป็นเท็จ ซึ่งความจริงจำเลยทั้งสี่ ต่างทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ตายยังมีบุตรสาวอีก 2คนเป็นทายาทโดยธรรม เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตามคำขอของจำเลยทั้งสี่ทำให้กรมที่ดินและบุตรสาวอีก2 คน ของผู้ตายเสียหาย จำเลยทั้งสี่ย่อมมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 137 และกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จในวันที่กระทำความผิดนั้นเอง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3252/2543 จำเลยแจ้งความต่อร้อยตำรวจโท อ. เพื่อเป็นหลักฐาน หากจะมีข้อความบางส่วนเป็นเท็จ หรือผิดความจริงไปบ้าง ก็ยังไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ร้อยตำรวจโท อ. ต้องทำการสอบสวน เนื่องจากไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาจะมอบเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ การแจ้งความของจำเลย จึงย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดี เพื่อเอาผิดต่อจำเลย ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานได้ (น่าจะเกิดความเสียหายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อความที่เท็จ แต่คดีนี้ศาลวินิจฉัยเพียงว่า โจทก์ยังไม่ใช่ผู้เสียหาย ที่จะมีอำนาจฟ้อง)

- การแจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา เกี่ยวพันกับมาตรา 172 174

- คำพิพากษาฎีกาที่ 8018/2544 การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนว่า ได้ทำโฉนดที่ดินของจำเลยรวม 3 ฉบับสูญหายไป ซึ่งความจริงแล้ว โฉนดที่ดินทั้งสามฉบับไม่ได้สูญหายไป และแจ้งให้พนักงานสอบสวน จดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เจตนา ของจำเลยก็เพื่อนำเอกสารรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ไปใช้และแสดงอ้างอิงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน กับแจ้งแก่เจ้าพนักงาน ที่ดินว่าโฉนดที่ดิน 3 ฉบับสูญหายไปเพื่อขอรับใบแทนโฉนดที่ดิน ทั้งสามฉบับ การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นการกระทำคนละวัน และต่อเจ้าพนักงานคนละหน่วยงานกันแต่เป็นการกระทำโดย มีเจตนาเดียวกันคือเจตนาเพื่อขอรับโฉนดที่ดินทั้งสามฉบับ นั่นเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อ กฎหมายหลายบท / ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83 เป็นการกระทำ อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 267 แต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 จำคุก 6 เดือน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1001/2545 บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารสำคัญของทางราชการ ที่ออกให้โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐาน ในการแสดงตนของบุคคล การที่จำเลยที่ 1 แจ้งความเท็จว่าตน ชื่อ ป. และบัตรประจำตัวประชาชนของตนสูญหายไป เป็นเหตุ ให้เจ้าพนักงานหลงเชื่อจดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวลงในเอกสาร ราชการและจำเลยที่ 2 รับรองต่อเจ้าพนักงานว่าจำเลยที่ 1 คือ ป. และบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 สูญหายจริงพร้อมทั้ง ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับรอง และจำเลยทั้งสองยังร่วมกันใช้เอกสาร ราชการปลอมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมขึ้นแสดงต่อเจ้าพนักงาน เพื่อขอมีบัตรใหม่ อันเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชน ฉบับใหม่ให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น นับว่าก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แก่ทางราชการ และอาจสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้สุจริต ทั่วไปที่จำเลยที่ 1 อาจนำบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่ไปใช้แอบอ้าง อีกด้วย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงไม่สมควรรอการลงโทษ จำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1706/2546 เมื่อมันสำปะหลังที่ขุดเป็นของโจทก์ที่ 1 ที่ปลูกในที่ดินเกิดเหตุ โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ปลูก การที่จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ทั้งสี่ลักทรัพย์มันสำปะหลังที่ตนปลูก จึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนซึ่งทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 หาใช่เป็นเรื่องขาดเจตนาไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 ไปให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนยืนยันว่าตนร่วมปลูกมันสำปะหลังกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จะได้มีเจตนาร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 คงเป็นเพียงความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าเท่านั้น

- ประเด็นเปรียบเทียบ การแจ้งแก่เจ้าพนักงาน ในการขอจดทะเบียนสมรสซ้อน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2614/2518 ชายมีภริยาจดทะเบียนอยู่แล้ว จดทะเบียนสมรสกับหญิงอีก โดยแจ้งต่อนายทะเบียนว่าไม่เคยสมรสมาก่อน เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.137 หญิง (ภรรยาใหม่) เป็นผู้เสียหายฟ้องตาม ม.137 ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2583/2522 สามีจดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่น โดยที่ยังไม่ขาดจากภริยาเดิมที่ได้จดทะเบียนสมรสไว้ แต่อ้างกับเจ้าหน้าที่จดทะเบียนว่าไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน ภริยาเดิมเป็นผู้เสียหายฟ้องสามีตาม ป.อ.ม.137 ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 5052/2530 โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับน้องสาวของโจทก์ไว้ก่อนแล้ว การที่จำเลยแจ้งต่อนายทะเบียน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำตามหน้าที่ให้จดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานว่า ไม่เคยจดทะเบียนสมรส ณ ที่ใดมาก่อนเพื่อขอจะทะเบียนสมรสกับโจทก์ นายทะเบียนจึงจดทะเบียนสมรสให้ ดังนี้ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1237/2544 ความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 จะต้องปรากฏว่าการแจ้งความเท็จนั้น อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. จำเลยไม่มีคู่สมรส เพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากับ ค. แล้วก่อนหน้านั้น แม้จำเลยจะแจ้งต่อนายทะเบียนว่าจำเลยเคยสมรส แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเคยจดทะเบียนสมรสกับ ค. ก็มีผลอย่างเดียวกัน ไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ไม่เป็นความผิด

- การกระทำ ที่ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

- (ขส อ 2533 อาญา ข้อ 5 / อัยการนิเทศ 2533 เล่ม 52 210) ผู้ต้องหา บอกชื่อเป็นเท็จย่อมมีความผิดตาม ปอ ม 367 เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา ซึ่งผู้ต้องหาจะให้การต่อสู้อย่างไรก็ได้ แต่ไม่ผิดตาม ม 137

- คำพิพากษาฎีกาที่ 568/2500 จำเลยสมคบกับ ป. พ. ฆ่ากระบือไม่รับอนุญาต จำเลยไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวน ว่าจำเลยไปไร่เห็น ป.พ. 2 คนเท่านั้นฆ่ากระบือ จำเลยไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ (จำเลยร่วมทำผิด แจ้งต่อตำรวจไปตามความจริง เพียงแต่ไม่กล่าวถึงตนเอง ไม่มีความผิด เพราะข้อความที่แจ้งไม่เป็นความเท็จ)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 138/2505 การที่จำเลยแจ้งความตำรวจว่า โจทก์ทำรั้วรุกล้ำเข้าไปในเขตบ้านจำเลยนั้น หากความจริงปรากฏว่า โจทก์ได้กั้นรั้วขึ้นตรงที่ ๆ จำเลยทำราวตากผ้า และตรงนั้นเป็นด้านหลังห้องที่จำเลยเช่าจากโจทก์ ซึ่งโจทก์เคยผ่อนผันให้จำเลยทำราวตากผ้าได้ เดินผ่านไปใช้สะพานท่าน้ำได้ ดังนี้จำเลยย่อมน่าจะเข้าใจโดยสุจริตใจได้ว่า เมื่อโจทก์มาทำรั้วกั้นเช่นนี้ จำเลยย่อมเสียสิทธิในการใช้ และเข้าใจว่าจำเลยถูกกลั่นแกล้งขัดขวางสิทธิ ฉะนั้นจะว่าจำเลยแจ้งความเท็จมีความผิดในทางอาญายังไม่ได้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 225/2508 (สบฎ เน 783) ร้อยตำรวจตรีกมล กับพวก จับกุมจำเลยในข้อหาเล่นการพนันสลากกินรวบ และค้นตัวจำเลย ได้บัตรรับฝากรถจักรยานและกระดาษฟุลสแก๊ปมีเขียนเลข 2 ฉบับ จำเลยแจ้งว่าเป็นสลากกินรวบซื้อมาจากโจทก์ ดังนี้ ถือว่าจำเลยกล่าวในฐานผู้ต้องหา หรือเสมือนผู้ต้องหา จำเลยหามีความผิดฐานแจ้งความเท็จไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 986-987/2508 การบรรยายฟ้องว่า จำเลยเบิกความเท็จต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีนั้น ไม่ใช่ข้อกล่าวหาว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา 137, 267

- คำพิพากษาฎีกาที่ 530/2515 และ คำพิพากษาฎีกาที่ 1122/2518 (ขส เน สมัย 33 อาญา ข้อ 2) ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเท็จ ไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ ตาม ม 137 และไม่ปรากฏว่าเบิกความในชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาอย่างไร จะถือว่าผิด ม 177 ยังไม่ได้ ทนายขาดต่อใบอนุญาตลงลายมือชื่อเรียงฟ้อง ผิด พรบ ทนายความ ฯ แต่ไม่ผิด ม 137 (สังเกต ฎ 530/2515 เป็นคำคัดค้านคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก อันเป็น คำคู่ความ” / 1122/2518 เป็นคำร้อง เรื่องครอบครองปรปักษ์ เป็น คำคู่ความ” (อ สุปัน อาญา เล่ม 2 ภาค 2/95, 97) (“คำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาไม่ใช่คำคู่ความ เพราะไม่ได้ตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ) (เทียบ9291/2480 (เน 47/11/38) ร้องอนาถาเท็จ ผิด แจ้งความเท็จและเบิกความเท็จ) (เทียบ474/2484 (อ ทวีเกียรติ อาญา พิมพ์ 5/292) ร้องอนาถาเท็จ ผิด ม 137 (เดิม ม 118) อ จิตติว่า คำร้องที่ไม่ได้ตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ หากเท็จ ผิด ม 137 ได้ (อ ทวีเกียรติ น 294)) (เทียบ2940/2529 (อ สุปัน อาญา เล่ม 2 ภาค 2/104) ยื่นคำร้องขอกันส่วน แม้เป็นเท็จ ก็ไม่ผิด ม 137 เพราะมาตรานี้ มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่การยื่น คำคู่ความต่อศาล)

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1122/2518 ยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 เพื่อตั้งประเด็น แม้ผู้พิพากษาเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ หากข้อความเป็นเท็จ ก็ไม่เป็นแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตาม ป.อ.มาตรา 137

- คำพิพากษาฎีกาที่ 508/2524 จำเลยแจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ การกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมาย ตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งข้อความ ย่อมหมายถึงการแจ้งข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย เมื่อฟังว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความจริง จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 4048/2528 จำเลยเป็นคนสัญชาติญวน ไม่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังหนึ่งเลย แล้วไปแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมทะเบียนจดข้อความเท็จลงในทะเบียนบ้านอีกหลังหนึ่ง ว่าจำเลยเป็นคนสัญชาติไทย ย้ายมาจากบ้านที่จำเลยไม่เคยมีชื่ออยู่นั้น การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 267 / โจทก์ฟ้องจำเลยแจ้งความเท็จต่อนายทะเบียนเขตว่าจำเลยมีสัญชาติไทย ขอให้ออกบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อบัตรประจำตัวประชาชนที่เจ้าพนักงานออกให้นั้น ไม่มีการจดข้อความเท็จที่ว่าจำเลยมีสัญชาติไทยลงไว้ กรณีจึงไม่เข้าองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267 คงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม มาตรา 137 เท่านั้น / การที่จำเลยซึ่งถูกจำกุมในข้อหาว่าเป็นคนญวนอพยพ หนีจากเขตควบคุม ให้การปฏิเสธ พร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัวประชาชนให้ตำรวจดูนั้น เป็นการปฏิเสธในฐานะผู้ต้องหา แม้ข้อความที่จำเลยให้การนั้นจะเป็นเท็จ ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม มาตรา 137 และจะเอาผิดแก่จำเลยฐานใช้ หรืออ้างอิงเอกสารอันเกิดจากการกระทำผิด ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการตาม มาตรา 268 ก็ไม่ได้อีกเช่นกัน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 353,354/2529 จำเลยร้องเรียนจากฐานความจริงหรือเหตุการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติอยู่ ทำให้จำเลยเข้าใจเช่นนั้น โดยเข้าใจว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ อาจทำให้ราชการเสียหายและเป็นผู้บกพร่องเกี่ยวกับศีลธรรมอันดี ในกรณีชู้สาวซึ่งผิดวินัยข้าราชการดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ.ม.329 (1) (3) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2940/2529 ในการบังคับคดี โจทก์ขออายัดเงินที่จำเลยได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่น จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลขอกันส่วนเงินที่โจทก์ขออายัดไว้ เมื่อคำร้องขอกันส่วนเงินของจำเลยเป็นคำคู่ความ การยื่นคำร้องเป็นการดำเนินการตามกระบวนวิธีพิจารณาตามกฎหมาย แม้คำร้องจะเป็นเท็จ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามความหมายของ ป.อ. ม.137 เพราะมาตรานี้มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่การยื่นคำคู่ความต่อศาล

- บรรยายฟ้อง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1462/2519 ฟ้องว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจดอนเจดีย์ ทำให้โจทก์เป็นผู้ต้องหา ฟ้องมิได้ระบุชื่อพนักงานสอบสวน ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1701/2519 ฟ้องขอให้ลงโทษ ตาม ป.อ. ม.137, 173 บรรยายว่า จำเลยร้องทุกข์ต่อตำรวจเป็นเท็จว่าโจทก์ยักยอกรถจักรยาน ซึ่งความจริงจำเลยอนุญาตให้โจทก์ยืมรถไปใช้ จำเลยแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ แม้โจทก์ไม่บรรยายว่าจำเลยรู้ว่าเป็นข้อความเท็จ คำบรรยายฟ้องก็มีความหมายอยู่ในตัวว่าจำเลยกระทำความผิด

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 137

- (ขส เน 2510/ 4) ข้าราชการเบิกค่าเช่าบ้านจากทางราชการทุกเดือน นำมาจ่ายเงินตามสัญญาเช่าซื้อบ้าน โดยนำเงินส่วนตัวจ่ายรวมเป็นค่าเช่าซื้อด้วย ไม่ผิดฐานใด เพราะเงินค่าเช่าได้จ่ายเป็นค่าเช่าบ้านจริง ไม่ได้เอามาเป็นประโยชน์ส่วนตัว

- (ขส พ 2513/ 8) ศาลสั่งให้เด็กชายขจรซึ่งเป็นจำเลย หาผู้ปกครองมารับรองความประพฤติ เด็กชายขจรขอให้นายสงวนมาแสดงตัวเป็นบิดา ร่วมกันแถลงต่อศาลว่านายสงวนเป็นนายขจิต บิดาของเด็กชายขจร ศาลเชื่อจึงมอบขจรให้นายสงวนรับไว้ / เด็กและนายสงวนผิด ม 137 คำว่า เจ้าพนักงานหมายถึง เจ้าพนักงานทั่วๆ ไป ไม่จำกัดเฉพาะฝ่ายบริหาร นัยเดียวกับมาตรา 289 (2) (3) / และการลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา นายสงวนลงชื่อนายขจิตซึ่งเป็นบิดาของเด็กชายขจร นายสงวนผิดฐานปลอมเอกสารตาม ม 264 แต่ไม่ผิดฐานปลอมเอกสารราชการตาม ม 265 เพราะศาลเป็นผู้ทำขึ้น นายสงวนเพียงลงชื่อปลอม ฎ 561/2508

- (ขส อ 2526/ 1) ผู้สมัคร สส กรอกใบสมัครเท็จว่ามียศร้อยโทและแต่งชุดถ่ายรูป ยื่นต่อผู้ว่า ผิด ม 137+267+146 2752/2519


ไม่มีความคิดเห็น: