ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

มาตรา ๑๔๙ - ๑๕๖

มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต

- เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1280/2543 วันเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้โทรศัพท์ ไปข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมมอบเงินและรถยนต์แก่ตนโดยพูดขู่เข็ญ ว่าจะนำเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรมตามข่าวในหนังสือพิมพ์ ม. ไปอภิปราย ในรัฐสภาและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์ อันเป็นการทำอันตรายต่อ ชื่อเสียงและทรัพย์สินของบริษัท ท. ซึ่งมี ป. เป็นประธานกรรมการ บริษัทและมีโจทก์ร่วมเป็นผู้ช่วยบริหารงานของบริษัท จนเป็นเหตุให้ โจทก์ร่วมยอมจะให้เงินสด 1,000,000 บาท กับรถยนต์กระบะ 1 คัน แก่จำเลยตามที่ต่อรองตกลงกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ฐานกรรโชกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก / ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ มีหน้าที่ควบคุมการบริหารงานราชการแผ่นดินของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีโดยการอภิปรายและตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของรัฐมนตรีนั้น ๆ ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2521 ซึ่งใช้บังคับในช่วงเกิดเหตุ ในวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จำเลยมีสิทธิที่จะนำเรื่องที่มีข่าว ในหนังสือพิมพ์ในทำนองว่าผู้บริหารบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรมไปอภิปรายในรัฐสภาโดยอภิปรายถึงการกระทำ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งการอภิปรายจะต้องเชื่อมโยง ไปถึงผู้บริหารของบริษัท ท. แต่เรื่องที่จำเลยจะนำไปอภิปรายจะต้อง เป็นความจริงหรือจำเลยเชื่อว่าเป็นความจริงจำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ นำความอันเป็นเท็จไปอภิปรายในรัฐสภาได้ การที่โจทก์และโจทก์ร่วม อ้างว่าที่จำเลยพูดขู่เข็ญโจทก์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น เป็นเรื่องที่จำเลย แกล้งกล่าวหาเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมให้เงิน และรถยนต์แก่จำเลยเพื่อแลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไป อภิปรายในรัฐสภา กรณีตามคำฟ้องไม่ใช่เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งมีตำแหน่ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ได้พบเห็นหรือรู้เห็นความผิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่รับสินบนจากผู้บริหารของบริษัท ท. ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เกิดขึ้นจริง แล้วจำเลยใช้เหตุดังกล่าวมาเป็นข้อต่อรองเรียกรับทรัพย์สินจากโจทก์ร่วม โดยมิชอบ เพื่อแลกกับการที่จำเลยจะไม่นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปราย ในรัฐสภาตามตำแหน่งหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรการกระทำ ของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ เรียกรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบ เพื่อไม่กระทำการอย่างใด ในตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

- การเรียกรับประโยชน์

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1138/2505 เมื่อเจ้าพนักงานทำการจับกุมเขาโดยชอบแล้ว แต่กลับทุจริตเรียกและรับเงินแล้วปล่อยตัวไป ไม่ส่งตัวเพื่อดำเนินคดี ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แต่ไม่ผิดตามมาตรา 148 เพราะมาตรา 148 เป็นเรื่องเริ่มต้นด้วยการใช้อำนาจในตำแหน่ง / อนึ่ง เมื่อผิดมาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่ผิดมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 638/2508 จำเลยเป็นปลัดอำเภอ ได้รับคำสั่งจากนายอำเภอโดยชอบให้จัดทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณสัตว์ให้ราษฎร ซึ่งก็ได้จัดทำให้โดยชอบด้วยตำแหน่งหน้าที่ แต่ทำชอบไม่ตลอด โดยในระหว่างนั้นได้เรียกเงินเกินอัตราที่กำหนดไว้ตามกฎหมายจากราษฎรที่นำโคกระบือมาทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณ เพื่อประโยชน์ตนเสีย โดยไม่ปรากฏว่าได้ข่มขืนใจหรือจูงใจราษฎรเหล่านั้นแต่งอย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นการเรียกเงินเพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง เช่นนี้ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 148 และมาตรา 149 แต่ผิดตามมาตรา 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1425/2510 (สบฎ เน 1507) จำเลยและ บ.เป็นสมาชิกสภาเทศบาล จำเลยได้มีจดหมายถึง บ.ให้ช่วยเหลือปลดเปลื้องหนี้สินของจำเลย เพื่อที่จำเลยจะได้สนับสนุนให้ บ.กับคณะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีและเทศมนตรี ดังนี้ จำเลยย่อมมีความผิดตาม มาตรา 149

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1027/2511 เจ้าพนักงานตำรวจผู้มีหน้าที่สืบสวนเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญา เมื่อรู้ว่ามีความผิดเกิดขึ้นย่อมมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด หรือแจ้งการ กระทำผิดนั้นให้ผู้มีอำนาจจับกุมทราบ ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นแจ้งความต่อนายตรวจศุลกากร โดยหวังจะขอรับเงินสินบนนำจับ ข้อตกลงในการเรียกและยอมให้สินบนนำจับแก่เจ้าพนักงานผู้นั้นเพื่อปฏิบัติตามหน้าที่ ย่อมมีลักษณะเป็นการที่เจ้าพนักงานเรียกและรับสินบน ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญาจึงเป็นโมฆะ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 410/2524 จำเลยยึดอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้เสียหาย แต่พกพาไปโดยมิได้รับอนุญาต แล้วจำเลยคืนให้ผู้เสียหายไป โดยเรียกให้ผู้เสียหายชำระค่าอาหารที่จำเลยรับประทานเป็นการตอบแทน ต้องมีความผิดตาม ป.อ.ม.149

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3155/2531 จำเลยจับกุมผู้กระทำผิด แล้วไม่นำส่งสถานีตำรวจ ให้ผู้ถูกจับกุมโทรศัพท์ติดต่อกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มาตกลงกัน แสดงว่าเป็นเพียงแผนการของจำเลย ไม่มีเจตนาที่จะมอบผู้ต้องหาให้แก่พนักงานสอบสวนจริงจัง พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นการเรียกทรัพย์สินจากผู้ต้องหาแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดจำนวนเงิน และฝ่ายผู้ต้องหายังไม่ได้ตอบตกลงเท่านั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา149

- เพื่อกระทำการ ไม่กระทำการอย่างใด "ในตำแหน่ง"

- คำพิพากษาฎีกาที่ 425/2518 นายตำรวจปลอมตัวขับรถยนต์บรรทุก จำเลยเป็นตำรวจประจำตู้ยาม มาทำหน้าที่ตำรวจจราจรเรียกให้รถหยุด จะบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ก็ตาม จำเลยเรียกเอาเงินไป 20 บาท เพื่อไม่ตรวจรถตามหน้าที่ เป็นความผิดตาม มาตรา 149

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2159/2518 นายสิบตำรวจพบกัญชาที่ ว.แต่เรียกเอาเงินจาก ว.เพื่อไม่จับดำเนินคดี เป็นการรับสินบนตาม ม.149 ไม่ใช่ ม.148 เช่นแกล้งจับโดยไม่มีความผิด แล้วเรียกเอาเงิน ทั้งไม่ต้องปรับด้วย ม.157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก แต่การเรียกเงินเพื่อไม่จับ ยังไม่เป็นการคุมขัง จึงไม่เป็นความผิดตาม ม.204 อันเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ราษฎรมีความผิดเพียงผู้สนับสนุนตาม ม.149, 86

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1561/2525 จำเลยเป็นตำรวจประจำการกองร้อย มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาและมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายได้ โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายค้น ในเมื่อเป็นความผิดซึ่งหน้า แม้ที่เกิดเหตุจะเป็นที่รโหฐาน การที่จำเลยไปพบ จ. กับพวกกำลังเล่นการพนันในห้องชั้นบนบ้าน อันเป็นที่รโหฐานและจับกุม จ. กับพวกในข้อหาดังกล่าว ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ เมื่อจำเลยเรียกและรับเงินจาก จ. แล้วปล่อยตัว จ. กับพวกโดยไม่ส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. ม.149 / เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. ม.149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตาม ม.157 มาด้วย ก็ไม่จำต้องปรับบทด้วย ม.157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2228/2530 จำเลยเป็นพนักงานเทศบาลดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการศึกษา ย่อมมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา การที่นายกเทศมนตรีมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นกรรมการ และเลขานุการดำเนินการคัดเลือกนักการภารโรง จึงเป็นการแต่งตั้งจำเลย ซึ่งเป็นพนักงานอยู่แล้วให้ปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่วางไว้อีกชั้นหนึ่ง หาได้หมายความว่าก่อนหน้านี้จำเลยไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานไม่ / จำเลยให้คนไปติดต่อผู้เสียหาย ให้มาสมัครเป็นนักการภารโรง กับเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายทั้งสอง จึงเป็นการเรียกและรับทรัพย์สินสำหรับตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ ตาม มาตรา 149

- คำพิพากษาฎีกาที่ 500/2537 จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นข้าราชการตำรวจประจำอยู่ที่กองกำกับการตำรวจน้ำ ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำการตรวจค้นและจับกุม ฮ. กับ ห. ในข้อร่วมกันมียาเสพติดให้โทษชนิดเฮโรอีนไว้ในครอบครองและร่วมกันมีและพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วจำเลยที่ 2 ได้พูดว่า ถ้าไม่อยากติดคุก และไม่อยากถูกประหารชีวิตให้เอาเงินมาจ่าย 1,000,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองให้ ศ. ขับรถตระเวนพา ฮ.กับ ห.ไปที่ต่าง ๆ แล้วให้ขับรถไปที่สถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยา หากจำเลยทั้งสองต้องการตรวจค้นและจับกุมจริง เมื่อจำเลยทั้งสองค้นพบสิ่งผิดกฎหมายแล้ว ก็ชอบที่จะจับกุมและนำผู้ต้องหาไปมอบให้เจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่ที่พบการกระทำผิดเพื่อดำเนินการต่อไปในทันที ไม่ใช่พาตระเวนไปถึงสถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อจำเลยที่ 1 รับราชการเป็นตำรวจโดยได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย จำเลยที่ 1จึงเป็นเจ้าพนักงาน แม้จะรับราชการประจำอยู่ที่กองกำกับการตำรวจน้ำ ทำหน้าที่ช่างเครื่องซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ของเรือที่ใช้ในราชการตำรวจน้ำก็เป็นเพียงหน้าที่เฉพาะตามคำสั่งแต่งตั้งของทางราชการแต่โดยทั่วไปจำเลยที่ 1 ยังมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 การที่จำเลยที่ 1 ทำการตรวจค้นและจับกุม ฮ. กับ ห. จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 149

- คำพิพากษาฎีกาที่ 9306/2539 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานเขตภายใต้บังคับบัญชาของหัวหน้าเขต ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยนัยแห่ง พ.ร.บ. รับราชการทหาร พ.ศ.2497 มาตรา 28 จัตวา (2) หัวหน้าเขตย่อมมีอำนาจออกคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 1 ให้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ช่วยเหลือคณะกรรมการตรวจเลือกทหารกองเกิน ภายในเขตท้องที่ และถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเสมียนสัสดี เมื่อจำเลยที่ 1 เรียกและรับเงินจากบรรดาทหารกองเกินผู้ใด รับหมายเรียกให้เข้ารับการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการ เป็นการตอบแทนที่ช่วยเหลือมิให้ต้องเข้ารับการตรวจเลือก และไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ป.อ. มาตรา 149

- การกระทำนอกตำแหน่งหน้าที่ ไม่ผิดมาตรา 149 นี้ แต่อาจเป็นความผิดในข้อหาอื่น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 6263/2531 จำเลยที่ 2 เป็นตำรวจได้จับกุมผู้เสียหายในข้อหาเล่นการพนันสลากกินรวบ จำเลยที่1 เป็นตำรวจประจำสถานีเดียวกัน แต่ไม่ได้ร่วมจับกุมและมิใช่พนักงานสอบสวน ได้เรียกเงินจากผู้เสียหายกับพวกนำไปให้จำเลยที่ 2 เพื่อให้ปล่อยผู้เสียหายไป และจำเลยที่ 2 ได้รับเงินจากฝ่ายผู้เสียหาย แล้วได้ปล่อยตัวผู้เสียหายไปไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำโดยมิชอบต่อหน้าที่ แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับคดีที่จำเลยที่ 2 จับกุมผู้เสียหายมาโดยตรง จึงเป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่ ถือได้ว่า เป็นเพียงการสนับสนุนการกระทำความผิดตาม มาตรา 149 ของจำเลยที่ 2 เท่านั้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1651/2532 จำเลยได้นำหนังสือมอบอำนาจของผู้ช่วยหัวหน้าเขต ซึ่งมีถึงสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลขอให้ดำเนินคดีแก่ ม.ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 70 ไปแจ้งความและมอบหนังสือมอบอำนาจให้แก่พนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยย่อมหมดหน้าที่ การที่จำเลยเรียกและรับเงินจาก ม. และแก้ไขเอกสารดังกล่าวในภายหลัง เป็นการกระทำนอกตำแหน่งหน้าที่ราชการ มิใช่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ หรือละเว้นหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 / หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นหนังสือราชการ ของผู้บังคับบัญชาของจำเลยไม่ใช่หนังสือของจำเลย จำเลยไม่มีอำนาจที่จะแก้ไขจากมาตรา 70 เป็นมาตรา 65 ซึ่งมีอัตราโทษน้อยกว่า กรณีอาจเกิดความเสียหายแก่พนักงานสอบสวน หรือทางราชการกรุงเทพมหานคร ดังนี้ จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265

- การกระทำขั้นความผิดสำเร็จ

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1246/2510 (สบฎ เน 1507) ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ในตำแหน่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 นั้น เพียงแต่เรียกก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้จะยังไม่ได้ทรัพย์ที่เรียกไปก็ตาม หรือแม้จะมีการกลับกระทำการโดยชอบด้วยหน้าที่ในภายหลังก็ตาม ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแต่ขณะเรียกแล้ว หาใช่พยายามไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3228/2527 ความผิดตาม ป.อ.ม.149 นั้น เพียงจำเลย ซึ่งเป็นตำรวจเรียกเงินจากผู้ถูกจับเพื่อตนโดยมิชอบ เพื่อไม่จับกุม เป็นความผิดแล้ว แม้จะยังไม่ได้รับเงินก็ตาม

- ราษฎรเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด โดยร่วมกระทำผิดกับเจ้าพนักงาน

- คำพิพากษาฎีกาที่ 948/2510 (สบฎ เน 1507) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2, 3 มิได้เป็นเจ้าพนักงาน คงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดเท่านั้น / เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่ผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

- ราษฎรผู้ให้สินบนเจ้าพนักงาน รับผิดตามมาตรา 144 แล้ว ไม่ต้องรับผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานรับสินบนอีก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 435/2520 ราษฎรให้สินบนเจ้าพนักงานเพื่อ ทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เจ้าพนักงานรับไว้ ราษฎรมีความผิดตาม ป.อ. ม.144 เจ้าพนักงานผิด ม.144 ราษฎรไม่มีความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานอีก

- เปรียบเทียบกับการกระทำความผิดในข้อหาอื่น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1607/2509 (พบเลขฎีกาในสารบัญฎีกา เนฯ แต่ไม่ตรวจกับเนื้อหา) ตร. ดับเพลิงสังกัดกองบังคับการตำรวจดับเพลิง จับกุมผู้เสียหายฐานขายยาผิดประเภท แล้วเรียกเอาเงิน มีความผิดตามมาตรา 149 ไม่อาจอ้างได้ว่าเป็น ตร. ดับเพลิงมีหน้าที่ดับเพลิงเท่านั้น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 720/2512 (สบฎ เน 2114) จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ขณะปฏิบัติหน้าที่เวรตำรวจจราจรได้สั่งให้ผู้เสียหายซึ่งขับรถยนต์บรรทุกฝ่าฝืนกฎจราจรหยุดรถเพื่อตรวจใบอนุญาตขับขี่แล้วภายหลังเรียกเงินจากผู้เสียหายเช่นนี้ ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 148เพราะมิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ แต่เป็นความผิดตามมาตรา 149 ฐานเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินโดยมิชอบ และฐานเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่ตามมาตรา 157 ด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องให้ลงโทษตามมาตรา 148 และ 157 แต่มิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 149 ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามมาตรา 157 ได้ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจราจรได้เรียกให้ผู้เสียหายซึ่งขับรถยนต์บรรทุกฝ่าฝืนกฎจราจรหยุดรถ เพื่อตรวจใบอนุญาตขับขี่และจับกุมอันเป็นการปฏิบัติในอำนาจหน้าที่ แต่ภายหลังได้เรียกเงินจากผู้เสียหายโดยมิชอบ ดังนี้ คงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินในอำนาจหน้าที่ โดยมิชอบตามมาตรา149 และฐานเจ้าพนักงานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา 157 ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 337

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2120/2523 ตาม ป.อ.ม.148 ต้องเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจใจตำแหน่งโดยมิชอบ ม.157 ต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้นั้นโดยตรง จำเลยไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับคดีที่จำเลยเรียก และรับเงิน จึงเป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่ ไม่เป็นผิดตาม ม.148 ,157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 500/2537 จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นข้าราชการตำรวจประจำอยู่ที่กองกำกับการตำรวจน้ำ ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำการตรวจค้นและจับกุม ฮ. กับ ห. ในข้อร่วมกันมียาเสพติดให้โทษชนิดเฮโรอีนไว้ในครอบครองและร่วมกันมีและพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วจำเลยที่ 2 ได้พูดว่า ถ้าไม่อยากติดคุก และไม่อยากถูกประหารชีวิตให้เอาเงินมาจ่าย 1,000,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองให้ ศ. ขับรถตระเวนพา ฮ.กับ ห.ไปที่ต่าง ๆ แล้วให้ขับรถไปที่สถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยา หากจำเลยทั้งสองต้องการตรวจค้นและจับกุมจริง เมื่อจำเลยทั้งสองค้นพบสิ่งผิดกฎหมายแล้ว ก็ชอบที่จะจับกุมและนำผู้ต้องหาไปมอบให้เจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่ที่พบการกระทำผิดเพื่อดำเนินการต่อไปในทันที ไม่ใช่พาตระเวนไปถึงสถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อจำเลยที่ 1 รับราชการเป็นตำรวจโดยได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย จำเลยที่ 1จึงเป็นเจ้าพนักงาน แม้จะรับราชการประจำอยู่ที่กองกำกับการตำรวจน้ำ ทำหน้าที่ช่างเครื่องซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ของเรือที่ใช้ในราชการตำรวจน้ำก็เป็นเพียงหน้าที่เฉพาะตามคำสั่งแต่งตั้งของทางราชการแต่โดยทั่วไปจำเลยที่ 1 ยังมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 การที่จำเลยที่ 1 ทำการตรวจค้นและจับกุม ฮ. กับ ห. จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 149

- ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า มาตรา 149

- (ขส อ 2523/ 7) กลัวสอบรับราชการ จึงให้เงินกรรมการ ว่าถ้าช่วยได้ให้ สองแสน ต่อมาสอบได้โดยไม่มีการช่วย แต่นำเงินไปให้ กรรมการรับไว้ คนให้ผิด ม 144 คนรับผิด ม 149 การที่ไม่ช่วยก็ไม่ทำให้ความผิดเปลี่ยน เพราะผิดสำเร็จตั้งแต่ตกลงจะรับเงิน

- (ขส อ 2526/ 2) ตำรวจจับผู้พกอาวุธปืนไม่ได้รับอนุญาต ยึดปืนไว้ แล้วให้ชำระค่าอาหารให้จึงคืนปืน ผิด ม 149 (+157) 410/2524

- (ขส อ 2541/ 5) น้องอธิบดี เรียกเงินให้ภรรยาอธิบดี เพื่อขออธิบดีให้ข้าราชการเลื่อนขั้น น้องไม่ผิด ม 143 เพราะภรรยาอธิบดี ไม่ใช่เจ้าพนักงาน / ภรรยาไม่ยอมรับเงิน ไม่ผิด ม 143 / อธิบดีเก็บเงินไว้ เป็นการรับตาม ม 149


มาตรา 150 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งตนได้เรียก รับหรือยอมจะรับไว้ ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

มาตรา 151 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

- คำพิพากษาฎีกาที่ 496/2506 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยตำแหน่งพนักงานห้ามล้อ ได้นำตั๋วค่าธรรมเนียมรถเร็วที่จำเลยขายแล้วซึ่งถูกขูดลบถอนแก้เครื่องหมาย แสดงว่าใช้ไม่ได้แล้ว เพื่อให้ใช้ได้อีกมาขายให้แก่ผู้โดยสารรถไฟ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยสุจริต การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต และเบียดบังเงินค่าธรรมเนียมที่จำเลยจำหน่ายตามหน้าที่เป็นของจำเลย จึงเป็นความผิดตามมาตรา 147 และ 151

- คำพิพากษาฎีกาที่ 407/2509 แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการนี้ เมื่อได้ร่วมกับเจ้าพนักงานในการกระทำความผิด ก็ย่อมมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิดด้วย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 เป็นบทบัญญัติลงโทษเจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตเกี่ยวกับการมีหน้าที่เป็นผู้ซื้อทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ โดยเฉพาะ การที่แบบพิมพ์ใบสุทธิอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นครูใหญ่ก็เพียงเพื่อออกเป็นใบสุทธิให้แก่นักเรียนที่ออกไปจากโรงเรียน ซึ่งจำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการออกใบสุทธิตามระเบียบ ถ้าจำเลยนำไปใช้ในทางที่ไม่ตรงต่อความจริงและผิดระเบียบ ก็เป็นเรื่องผิดหน้าที่ในการใช้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่ในการรักษาตามความมุ่งหมายของมาตรานี้

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1682/2516 ความผิดตาม มาตรา 151 นั้น ผู้กระทำผิดจะต้องมีหน้าที่ซื้อ ทำจัดการ หรือรักษาทรัพย์ มิใช่เพียงแต่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ และผู้กระทำผิดได้ใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากตัวทรัพย์นั้นด้วย โดยมิได้เอาตัวทรัพย์ไป จำเลยได้รับแต่งตั้ง ให้ดำเนินงานควบคุมจัดการกิจการประปาของเทศบาลได้ติดตั้งการใช้น้ำประปา ให้ผู้ร้องขอใช้น้ำประปาแล้วไม่ลงทะเบียนผู้ใช้น้ำประปา เรียกเก็บค่าใช้น้ำประปาทุกเดือน และออกหลักฐานจำนวนก๊อกน้ำประปาของผู้ใช้น้ำประปาน้อยกว่าความจริงแล้วเก็บเงินมากกว่าจำนวนค่าธรรมเนียมที่เทศบาลกำหนด ทั้งโจทก์ก็บรรยายฟ้องเจาะจงว่า จำเลยเบียดบังยักยอกเอารายได้จากกิจการประปาของเทศบาล ที่จำเลยรับไว้จากผู้ใช้น้ำประปา จำนวน 3,955 บาท ไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต เป็นความผิดตาม มาตรา 147 เท่านั้น หาเป็นความผิดตาม มาตรา 151 ด้วยไม่

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1870/2522 ผู้ใช้ให้ทำผิดตาม ม.84 โจทก์ไม่ฟ้องขอให้ลงโทษฐานเป็นตัวการ แต่ขอให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุน ก็ลงโทษตาม ม.86 เบากว่าตัวการได้ ไม่ถือว่าต่างกับฟ้อง / ข้าราชการกรมชลประทานที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับมอบงานจ้างตัดไม้ในบริเวณที่ทำเขื่อน ไม่มีหน้าที่รักษาเขื่อน ลงชื่อในหนังสือรับมอบงานโดยไม่ได้ไปตรวจสอบงาน แต่ไม่ปรากฏว่าทุจริต ตอไม้และต้นไม้ที่ถูกตัดคงเหลืออยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำไม่ทำให้น้ำเน่า เขื่อนและอ่างเก็บน้ำไม่เสียหาย ไม่เป็นความผิดตาม ม.151, 157 แต่เป็นความผิดตาม ม.162 / เฉพาะตัวผู้รับเงินจากผู้รับจ้างเป็นทุจริต เป็นความผิดตาม ม.157 สัญญาจ้างทำ 3 คราว 52 ฉบับเป็นเพียงวิธีการ แต่ผู้รับจ้างมีรายเดียวเป็นเจตนาเดียวเป็นความผิดกรรมเดียว

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1478/2525 จำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินงาน โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นโดยตำแหน่ง ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่า การกระทรวงมหาดไทย ไม่เป็นเจ้าพนักงาน แม้อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินกำไรสะสมของโรงพิมพ์ เพื่อจ่ายเป็นเงินภาษีเงินได้ และค่าปรับให้แก่กรมสรรพากรแทนผู้มีเงินได้ซึ่งรับเงินไปจากโรงพิมพ์ ก็ไม่มีความผิดตาม ป.อ. ม.151, 157

- คำพิพากษาฎีกาที่ 18/2536 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอ ในการจัดซื้อครุภัณฑ์ของสำนักงานศึกษาธิการกิ่งอำเภอ จำเลยเป็นผู้ที่ต้องให้ความเห็นชอบ ตามข้อเสนอของผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอ ก่อนเสนอเรื่องต่อไปตามลำดับชั้น เพื่อขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด และเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นผู้ซื้อแทนสำนักงานศึกษาธิการกิ่งอำเภอ ในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อทุกฉบับ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติให้จัดซื้อแล้ว โจทก์ร่วมได้ส่งมอบครุภัณฑ์ให้แก่สำนักงานศึกษาธิการกิ่งอำเภอ ซึ่งกรรมการได้ตรวจรับครุภัณฑ์ไว้โดยดี หลังจากนั้นสำนักงานศึกษาธิการกิ่งอำเภอได้ทำเรื่องขอเบิกเงินไปยังสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งได้ทำการตรวจสอบหลักฐานและอนุมัติให้จ่ายเงินค่าครุภัณฑ์ได้ จำเลยและกรรมการรับเงินจึงได้ไปรับเงินค่าครุภัณฑ์ แล้วนำเข้าบัญชีของสำนักงานศึกษาธิการกิ่งอำเภอ แสดงว่าในช่วงเวลาก่อนที่ขั้นตอนและหน้าที่ของจำเลยที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อครุภัณฑ์เสร็จสิ้นลง จำเลยมิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่จำเลยไม่มอบเงินค่าครุภัณฑ์ที่เบิกมาจากทางราชการให้แก่โจทก์ร่วมนั้น ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังขั้นตอนการจัดซื้อเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงมิใช่การใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อครุภัณฑ์โดยทุจริต ไม่มีความผิดตาม มาตรา 151

มาตรา 152 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

- เจตนา

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1076/2522 จำเลยเป็นข้าราชการบำนาญได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดี รับเงินสมนาคุณจากงบประมาณแผ่นดินประเภทค่าทดแทน จำเลยซื้อที่ดินในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก ป.ภรรยาจำเลยร่วมกัน แล้วจำเลยดำเนินการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ส่วนของ ป.อยู่ติดชายทะเลไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ จำเลยจึงดำเนินการจดทะเบียนการจำยอมในที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ที่ดินของ ป.ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ เช่นนี้ จำเลยอาจเข้าใจผิดคิดว่าน่าจะทำได้ เพื่อจะได้ไม่ยุ่งยากภายหลัง ในพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยน่าจะเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยทำได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดอาญา ไม่เป็นความผิดตาม ม.152 R ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้ทำหมายเหตุไว้ท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1076/2522 ดังต่อไปนี้ "ข้อเท็จจริงที่ทำให้เป็นความผิดมีอยู่ครบถ้วน แต่ผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงเหล่านั้น ผู้กระทำไม่มีเจตนากระทำผิดตามมาตรา 59 วรรคสาม ถ้าข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบความผิดมีอยู่ครบถ้วน และผู้กระทำก็รู้แล้ว ครบองค์ความผิดแล้ว แต่ผู้กระทำเข้าใจผิดว่ามีข้อเท็จจริงอื่นนั้นอีกที่ทำให้การกระทำไม่เป็นความผิดเป็นกรณีตามมาตรา 62 วรรคแรกที่ผู้กระทำไม่มีความผิด"

- เจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสีย...

- คำพิพากษาฎีกาที่ 799/2535 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้ออกตรวจสถานประกอบการค้า มีอำนาจหน้าที่เสนอต่อผู้บังคับบัญชาให้ออก หรือไม่ให้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบกิจการค้า ถือได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง ในการพิจารณาออกใบอนุญาต จำเลยเรียกร้องเงิน เป็นการตอบแทนการออกใบอนุญาต จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 152

- คำพิพากษาฎีกาที่ 7776/2540 จำเลยที่ 1 เป็นปลัดสุขาภิบาลได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากสุขาภิบาลให้เป็นผู้ตรวจงานจ้างในการจ้างเหมาขุดลอกและล้างทางระบายน้ำในเขตสุขาภิบาล จำเลยที่ 1 ได้เข้าดำเนินการขุดลอกและล้างทางระบายน้ำ โดยใช้คนงานของสุขาภิบาล ทำงานให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหน้าที่จัดการและดูแลกิจการของสุขาภิบาล เมื่อจำเลยที่ 1 เข้ามีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการดังกล่าว โดยจ่ายค่าจ้างคนงานเพียง 1,750 บาท แต่เบิกเงินค่าจ้างตามสัญญาไป 2,900 บาท เป็นเหตุให้สุขาภิบาลได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษ ตามมาตรา 152 ซึ่งเป็นบทหนัก / จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง ทำหลักฐานใบตรวจรับงานจ้างเสนอประธานกรรมการสุขาภิบาล ว่าผู้รับจ้างได้ก่อสร้างถนนลาดยางแบบ 2 ชั้น เสร็จเรียบร้อย และถูกต้องตามสัญญาแล้ว เห็นควรเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ตรวจสอบการทำงานของผู้รับจ้าง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอันเป็นการผิดระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย การพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.. 2528 แม้ว่าการตรวจการก่อสร้างถนนลาดยาง จะต้องอาศัยผู้มีความรู้เป็นพิเศษ เนื่องจากมองดูด้วยตา จะไม่สามารถรู้ได้ว่ามีการลาดยาง 1 ชั้น หรือ 2 ชั้น แต่ถ้าจำเลยทั้งสี่ออกไปควบคุมดูแลและเอาใจใส่ในการตรวจสอบตามขั้นตอน ก็ย่อมสามารถให้ผู้รับจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาและแบบแปลนได้ การที่ปล่อยให้ผู้รับจ้างก่อสร้างถนนโดยลาดยางเพียงชั้นเดียว เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้สุขาภิบาลอนุมัติให้จ่ายค่าจ้างแก่ผู้รับจ้างไปมากกว่าปริมาณของงานที่ได้รับ จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

- เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1706/2535 (สบฎ เน 38) จำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรี ทำสัญญาซื้อขายกับ หจก ซ ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด โดยดำเนินการถูกต้องตามระเบียบ และราคาต่ำกว่าที่เทศบาลตั้งงบประมาณไว้ แสดงว่าทำไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่ได้มุ่งหวังประโยชน์อย่างอื่นไม่ผิด มาตรา 152 / พิเคราะห์แล้ว ผู้ที่จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 จะต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่าการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นนายกเทศมนตรีมีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการของเทศบาลโดยตรง และเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.การช่างเจริญชัย ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายดินถมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.การช่างเจริญชัย เป็นการเข้ามามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการดังกล่าวนั้นแล้ว เห็นว่า ข้อนี้ข้อเท็จจริงได้ความ จากนายวัชระ ตรงสกุล พยานโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายช่างเทศบาลเมืองมุกดาหารว่า ในการจัดซื้อดินถมพร้อมบดอัดแน่นจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.การช่างเจริญชัย นั้น เทศบาลเมืองมุกดาหารได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ และราคาที่ตกลงซื้อก็ต่ำกว่าราคาที่เทศบาลเมืองมุกดาหารตั้งงบประมาณไว้ แสดงว่าการจัดซื้อ ดินดังกล่าวจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองมุกดาหาร ได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของตน ไม่ได้มุ่งหวังประโยชน์อย่างอื่น นอกจากประโยชน์ของเทศบาลเมืองมุกดาหารเป็นสำคัญ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นเนื่องด้วยการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิด..."

มาตรา 153 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จ่ายทรัพย์ จ่ายทรัพย์นั้นเกินกว่าที่ควรจ่าย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2719/2536 จำเลยเป็นพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายโดยเป็นเสมียนตรวจปล่อยสินค้าประจำโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นผู้ตรวจสอบสินค้าในรถยนต์บรรทุกและเขียนใบกำกับสินค้าตามที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรสั่งปล่อย ย่อมเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จ่ายทรัพย์หรือสินค้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 153

มาตรา 154 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ หรือแสดงว่าตนมีหน้าที่เรียกเก็บ หรือตรวจสอบภาษีอากร ค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นใด โดยทุจริต เรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมหรือเงินนั้น หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสีย หรือเสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

- คำพิพากษาฎีกาที่ 288/2507 พนักงานเทศบาลตรวจสอบภาษีโรงเรือนตรวจพบว่า บ้านใดควรต้องเสียภาษี แล้วละเว้นเสียไม่รายงานต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการเรียกเก็บภาษี โดยมีเจตนาทุจริตเรียกเอาเงินค่าตอบแทนจากผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี เป็นความผิดตาม ม 154

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1263/2532 กรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้เจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ระดับ 3 ขึ้นไปและเจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ระดับ 4 ขึ้นไป เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ จำเลยเป็นข้าราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ 3 จึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดำเนินการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน จำเลยจะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครหรือไม่มิใช่สาระสำคัญ การที่จำเลยเรียกเงินจากผู้เสียหายเพื่อจะทำให้ผู้เสียหายเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินน้อยกว่าที่ควรจะต้องเสีย จึงเป็นการกระทำเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งอันเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 149


มาตรา 155 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่กำหนดราคาทรัพย์สินหรือสินค้าใด ๆ เพื่อเรียกเก็บภาษีอากร หรือค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย โดยทุจริตกำหนดราคาทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร หรือค่าธรรมเนียมนั้น มิต้องเสียหรือเสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

มาตรา 156 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีตามกฎหมาย โดยทุจริต แนะนำ หรือกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใด เพื่อให้มีการละเว้นการลงรายการในบัญชี ลงรายการเท็จในบัญชี แก้ไขบัญชี หรือซ่อนเร้น หรือทำหลักฐานในการลงบัญชี อันจะเป็นผลให้การเสียภาษีอากร หรือค่าธรรมเนียมนั้น มิต้องเสีย หรือเสียน้อยกว่าที่จะต้องเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

ไม่มีความคิดเห็น: