ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

อาญา มาตร ๓๔๙ - ๓๕๑

           หมวด 4             ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

     มาตรา 349          ผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่ง ทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          สัญญาจำนำ
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 490/2502 กู้เงินกันและในสัญญากู้มีข้อความด้วยว่า จำเลยได้นำโคมาจำนำไว้ แต่ปรากฏว่า เมื่อทำสัญญากู้กันแล้ว ผู้ให้กู้ (โจทก์) ได้ยินยอมมอบโคกลับคืนไปสู่การครอบครองของจำเลย เช่นนี้ ถือว่าจำเลยหาได้มอบโคไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในลักษณะจำนำไม่  จึงขาดองค์ความผิดข้อสำคัญ ตาม มาตรา 349
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1050/2507 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์โดยเอาที่ดินเป็นประกันเงินกู้ ต่อมาจำเลยเอาที่ดินแปลงนี้ไปจำนองเสีย การกระทำของจำเลยดังนี้ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 349 และ 350
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1363/2550 (ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โจทก์ร่วม) โจทก์ร่วมกับจำเลยทำสัญญาจำนำข้าวระหว่างกันโดยโจทก์ร่วมยอมให้ข้าวอยู่ในความครอบครอบของจำเลย ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมอบข้าวไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะจำนำ เมื่อไม่มีการจำนำจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดข้อหาโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 / โจทก์ร่วมเช่าโกดังเก็บข้าวซึ่งเป็นโกดังที่จำเลยใช้ประกอบกิจการโรงสีของจำเลย เมื่อทำสัญญาเช่าแล้วจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจโกดังเพียงฝ่ายเดียว จำเลยเป็นผู้ครอบครองโกดังอยู่เช่นเดิม สัญญาเช่าที่ทำไว้มีค่าเช่าเพียงปีละ 100 บาท นับว่าน้อยมาก จึงเป็นการทำสัญญาเช่าเป็นแบบพิธีเท่านั้น คู่สัญญาไม่ได้มีเจตนาให้เป็นการเช่าตามกฎหมายอย่างแท้จริง กรณีถือว่าจำเลยยังเป็นผู้ครอบครองโกดังที่เช่าอยู่ตลอดเวลาจำเลยจึงไม่อาจรบกวนการครอบครองของตนเองได้ ไม่มีความผิดฐานบุกรุก

-          การทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 650/2510 จำเลยนำสร้อยคอของตนไว้กับผู้เสียหาย เพื่อเอาเงินมาเล่นการพนัน แล้วจำเลยกระชากสร้อยเส้นนั้นไปจากคอผู้เสียหาย ไม่เป็นผิดฐานลักทรัพย์ เพราะสร้อยเส้นนั้นเป็นของจำเลยเองและเมื่อไม่เป็นการลักทรัพย์ก็ไม่อาจเป็นผิดฐานชิงทรัพย์ได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวแล้วนั้น อาจเป็นผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 แต่โจทก์ฟ้องว่าชิงทรัพย์ จะลงโทษฐานโกงเจ้าหนี้ไม่ได้ เพราะถือว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในข้อสารสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค2 คดีต้องยกฟ้องโดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานโกงเจ้าหนี้ด้วยหรือไม่คดีอาญา ส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยไม่ได้ ศาลฎีกาก็พิจารณาพิพากษาต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 201
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3684-3685/2532 จำเลยได้จำนำทรัพย์สินไว้แก่ผู้เสียหาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินที่จำนำ ไปจากสถานที่เก็บรักษา โดยอ้างว่าทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของบุคคลอื่น ย่อมเป็นการทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ เพราะเป็นการทำให้ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการจำนำ ลดจำนวนลง หรือหมดสิ้นไป จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 349

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า
-          (ขส เน 2511/ 6) นายเขียด และเต่า ลักลอบเล่นการพนัน นายเต่าเสียพนันหมด จึงยืมเงินนายเขียดเล่นต่อ นายเขียดให้ยืม และยึดแหวนนายเต่าเป็นประกัน นายเต่าเสียจนหมด จึงรู้ว่าถูกนายเขียดโกงพนัน นายแอบเอาแหวนที่เป็นประกันเงินยืมไปเสีย / นายเต่าผิดฐานลักทรัพย์ ตาม ม 334 เพราะแหวนที่แอบเอาไปนั้น เป็นของตนเอง และ ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ม 349 เพราะแหวนที่ยึดไว้ เป็นประกันเงินยืมไปเล่นการพนัน ซึ่งเป็นโมฆะตาม ป... มาตรา 150 จึงไม่เป็นการจำนำตามกฎหมาย
-          (ขส พ 2522/ 9) แสงกู้เงิน วางโฉนดเป็นประกัน แล้วจ้างผ่องไปลักโฉนด ผ่องเห็นว่าได้ค่าจ้างน้อย เขียนจดหมายขู่แสง ให้เพิ่มค่าจ้าง มิฉะนั้นจะคืนโฉนดและบอกเจ้าหนี้ / การมอบโฉนดไม่เป็นการจำนำ ไม่ผิด ม ๓๔๙,๘๔ และไม่ผิด ม ๓๓๔,๘๔ เพราะเป็นทรัพย์ตน แต่ผ่องผิด ม ๓๓๘
-          (ขส อ 2541/ 2) จำนำแหวน แล้วตามไปใช้มีดขู่เอาคืน จะแทงให้ตาย / ผิด ม 337 ได้ประโยชน์ฯ (337 2 (1) ขู่ฆ่า + (2) มีอาวุธ) + 349 เอาไปเสียทรัพย์ซึ่งจำนำ / ไม่ผิดชิงทรัพย์ ม 339 เพราะทรัพย์เป็นของผู้จำนำ จึงไม่เข้า ม 334 ไม่ ม 339 / ปรับ 90 (+ 309 2 มีอาวุธ)



มาตรา 350     ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่น ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-          หนี้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1625/2531 จำเลยที่ 1 นำยึดบ้านและทรัพย์สินโดยอ้างว่าเป็นของมารดาโจทก์ ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ โจทก์ยื่นคำร้องขัดทรัพย์อ้างว่าทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 นำยึดเป็นของโจทก์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด โดยศาลยังมิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2และที่ 3 ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิด ฐานโกงเจ้าหนี้ตาม มาตรา 350
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1698/2535 สภาพการเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ ระหว่างผู้ถูกละเมิดคือโจทก์ และผู้ต้องรับผิดจากมูลละเมิดคือจำเลย เกิดขึ้นทันทีที่มีการละเมิดขึ้น คำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กัน มิได้เป็นการก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์ จำเลย แต่เป็นการบังคับตามความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยได้มีต่อกัน และความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ก็มิได้ถือเอาคำพิพากษาของศาลให้รับผิดทางแพ่ง มาเป็นองค์ประกอบความผิดในทางอาญา โดยเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้วกระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2162/2537 แม้การที่คนต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยมิชอบด้วย ป. ที่ดินฯ มาตรา 86 จะทำให้คนต่างด้าวนั้น ถือสิทธิหรือใช้สิทธิในที่ดินที่ได้มาอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ได้ และต้องจำหน่ายที่ดินนั้นไปตามมาตรา 94 แต่ก็มิใช่ว่าการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าวจะไม่มีผลเสียเลย เนื่องจากคนต่างด้าวยังคงมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา 94 ทั้งยังมีสิทธิได้รับชำระราคาที่ดิน ซึ่งได้จากการจำหน่ายตามมาตรา 54 ดังนั้น แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าว โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์สินที่ดินและบ้านซึ่งโจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันซื้อมาได้ กรณีถือว่าคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์จากจำเลยที่ 1 โจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่โอนขายที่ดินและบ้านดังกล่าวไปเสีย จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350

-          วัตถุแห่งหนี้เป็นการเฉพาะเจาะจง
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2220/2533 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดิน 1 แปลงจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 “โอนที่ดินแปลงอื่น” ของตนจำนวน 3 แปลง ให้จำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินแปลงอื่นให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดิน เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนตาม มาตรา 350 เพราะหนี้ที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์นั้นเป็นเรื่องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลง ซึ่งระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายแก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับที่ดินจำนวน 3 แปลงที่จำเลยที่ 1โอนให้จำเลยที่ 2

-          กรณีไม่มีหนี้ต่อกัน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 93/2507 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น เมื่อมีคำพิพากษาว่าโจทก์และจำเลยมิได้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกันแล้ว ย่อมไม่อาจมีการกระทำความผิดฐานนี้ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2533/2523 จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ โดยการครอบครองปรปักษ์ใช้ยันโจทก์ซึ่งได้ที่ดินมาโดยเจ้าของเดิมยกให้ แต่จำเลยจะฟ้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดการโอนใส่ชื่อจำเลย และจัดการแบ่งแยกให้จำเลยไม่ได้  และศาลจะพิพากษาให้โจทก์จัดการแบ่งแยกให้แก่จำเลยไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่อย่างใดในทางนิติกรรมที่จะต้องโอนให้จำเลย เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องดำเนินการให้มีชื่อของตนในโฉนดต่อไป (หากโจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ขายให้แก่ผู้อื่น ผู้รับซื้อไว้โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิ มีสิทธิดีกว่าจำเลย และโจทก์ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2745/2523 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ โอนที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้แก่จำเลยที่ 3 ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งแม้จำเลยที่1 และที่ 2 จะเป็นผู้ครอบครอง จำเลยทั้งสอง ก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง อันจะนำไปโอนให้จำเลยที่ 3 หรือบุคคลอื่นได้ตามกฎหมาย
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1522/2526 ไม่ปรากฏว่าจำเลยภริยา พ. เจ้ามรดกได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ ท.บิดาเจ้ามรดกอันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ พ.ที่ตกได้แก่บุตรผู้เยาว์ของจำเลย จึงเป็นนิติกรรมที่ต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ.ม.1574 (8) และไม่มีผลบังคับถึงมรดกของ พ.ทั้งหมดที่ตกได้แก่ทายาท ท.จึงไม่ได้รับ หรือไม่อาจแสวงสิทธิจากทรัพย์สินอันจะตกได้แก่ตนตามสัญญาดังกล่าว เมื่อไม่มีสิทธิของ ท.อันเกิดจากสัญญาดังกล่าวอันจะพึงตกได้แก่โจทก์ตามพินัยกรรมของ ท. โจทก์ไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลย และไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลยตาม ป.อ.ม.350 ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3527/2526 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินของตนให้จำเลยที่ 2 ขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดนั้นให้ โดยการครอบครองปรปักษ์ การครอบครองปรปักษ์นั้น มิได้ก่อให้เกิดหนี้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงกฎหมายรับรอง หรือให้สิทธิโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้จะต้องชำระแก่โจทก์ จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. ม.350

-          การใช้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 392/2506 (สบฎ เน 38) ฟ้องไม่ปรากฏว่า จำเลยโอนทรัพย์ โดยรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิทางศาลไม่ครบองค์ประกอบความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1054/2507 ความผิดตาม มาตรา 350 นั้น เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิทางศาลให้ชำระหนี้แล้วอย่างหนึ่ง หรือว่าจะใช้สิทธิทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกอย่างหนึ่ง เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ฉะนั้น เมื่อเจ้าหนี้ยังไม่ได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง หรือการที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีอาญา ก็เพียงเพื่อให้ลูกหนี้หาประกันมาให้เจ้าหนี้เป็นที่พอใจแล้ว จะไม่เอาเรื่องแก่ลูกหนี้ อันเป็นการแสดงว่าเจ้าหนี้ยังจะไม่ใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว การที่ลูกหนี้โอนที่ดินให้ผู้อื่นไป จึงยังไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1406/2512 (สบฎ เน 2117) จำเลยกู้ยืมเงิน 10,000 บาท โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ต้องห้ามฟ้องบังคับคดีตาม ปพพ มาตรา 653 ผู้เสียหายไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลกับจำเลยได้ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 (จำเลยไม่ผิด มาตรา 350)
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 123/2523 ป.อ. ม. 350 หมายความว่า เจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว ลูกหนี้ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนทรัพย์ให้แก่ผู้อื่น แกล้งให้เป็นหนี้โดยไม่เป็นความจริง เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือผู้อื่น ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การที่จำเลยที่ 1 ออกเช็ค 18 ฉบับ สั่งจ่ายเงินโดยไม่ลงวันที่สั่งจ่ายเงินทุกฉบับ โดยตกลงกันว่าถ้าโจทก์ต้องการใช้เงินให้บอกจำเลยที่ 1 ทราบ เพื่อโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แสดงว่าโจทก์ยังจะไม่ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ จำเลยโอนที่ดินและบ้านไป ก่อนโจทก์ลงวันในเช็คนำเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน การกระทำของจำเลยไม่มีมูลความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 350
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 563/2523 ลูกหนี้โอนที่ดินของตนให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งเจ้าหนี้ได้ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว ลูกหนี้มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350 ส่วนผู้อื่นที่รับโอนทรัพย์นั้นจะมีความผิดตาม มาตรา 350 ก็ต่อเมื่อรู้ว่าลูกหนี้มีหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิทางศาลแล้ว ถ้าไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็ไม่มีความผิดตาม ม. 350
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2220/2533 ทนายโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 เท้าความถึงกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายได้เพราะมีเหตุขัดข้องเนื่องมาจากฝ่ายจำเลยที่ 1 และตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า "หากไม่ได้รับการติดต่อนัดหมายโอนที่ดินดังกล่าวภายใน 7 วัน... ข้าพเจ้าก็มีความเสียใจที่ จะดำเนินการกับท่านตามกฎหมายต่อไป..." นั้น หนังสือดังกล่าว ก็ไม่มีข้อความ หรือไม่อาจแปลได้ว่าโจทก์จะฟ้องให้ จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำพร้อมกับเรียกค่าเสียหาย จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาล ให้จำเลยคืนเงินมัดจำพร้อมกับชดใช้ค่าเสียหาย

-          การย้าย ซ่อนเร้น หรือโอนทรัพย์
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 158/2506 (สบฎ เน น 38) การสละสิทธิไถ่ถอนการขายฝาก ไม่ใช่เป็นการย้ายไปเสียซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นหรือแกล้งให้ตนเป็นหนี้ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 350
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 256/2517 ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินนั้นเป็นสินสมรสของโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนที่ดินและเป็นจำเลยร่วมในคดีนั้น  ได้เอาที่ดินซึ่งพิพาทกันนั้นไปทำสัญญาขายฝากไว้กับจำเลยที่ 2 มีกำหนดไถ่คืนภายใน 3 เดือนแล้วไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ดังนี้ จำเลยที่ 1 มีเจตนาโอนที่พิพาท เพื่อมิให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1017,1018/2517 การที่จำเลยสละสิทธิไถ่ถอนการขายฝาก ไม่ใช่เป็นการย้ายหรือซ่อนเร้น หรือโอนให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดจึงไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 350
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 92/2522 กรรมการบริษัทลูกหนี้ตามคำพิพากษา เปลี่ยนป้ายชื่อเป็นบริษัทอื่น ยังไม่เป็นการปกปิดซ่อนเร้นทรัพย์ ตาม ป.อ.ม.350 และไม่เป็นพยายามกระทำผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 3085/2526 ทรัพย์ที่ได้มีการย้าย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่น อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น หาได้มีข้อจำกัดเฉพาะทรัพย์ที่เจ้าหนี้พึงจะยึดถือหรืออายัดไว้ไม่ แต่หมายถึงทรัพย์สินใด ๆ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ได้มีการย้าย ซ่อนเร้นหรือโอนไป เพียงเพื่อเจตนามิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน และแม้ลูกหนี้จะยังมีทรัพย์อย่างอื่นเหลืออยู่  แต่ไม่พอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะอ้างเพื่อให้พ้นจากการกระทำอันมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4557/2531 การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินซึ่งศาลพิพากษาให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนให้โจทก์ ไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 นั้น การจำนองมิใช่เป็นการย้ายไปเสีย หรือเป็นการซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด ตามความหมายของ มาตรา 350 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามบทมาตราดังกล่าว
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 2828/2531 จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิทำการปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินราชพัสดุจากเทศบาล  เมื่อสร้างเสร็จแล้วจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะเช่าอาคารดังกล่าวอยู่เอง หรือให้บุคคลอื่นเช่าก็ได้โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้เลือกกำหนดตัวผู้เช่า และกำหนดจำนวนเงินกินเปล่าในการเช่า เป็นผู้ตกลงให้เช่าและเข้าทำสัญญากับผู้เช่าเอง มิได้ทำในฐานะตัวแทนของเทศบาล เพียงแต่ต้องนำผู้เช่าไปทำสัญญาเช่ากับเทศบาลอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น ถือได้ว่าสิทธิการเช่าตึกพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 หาใช่เป็นของเทศบาลไม่ การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2  โอนสิทธิการเช่าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 อาจเป็นการทำให้โจทก์เจ้าหนี้มิได้รับชำระหนี้ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350

-          การโอนทรัพย์เพื่อให้พ้นจากการบังคับชำระหนี้ หรือการแกล้งเป็นหนี้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 870/2518 เจ้าของที่ดินตามโฉนดเอาที่ดินจดทะเบียนให้เช่า ผู้เช่าครอบครองที่ดินแทน ไม่เป็นการย้ายหรือโอนทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 350
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 452/2541 โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกให้ชำระหนี้ค่าที่ดิน ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาจำเลยได้โอนขายที่ดินซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินที่โจทก์ขายให้จำเลยพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลภายนอกแต่โจทก์เองก็ทราบมาโดยตลอดว่า จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์เพื่อสร้างอาคารพาณิชย์แล้วแบ่งขายให้แก่บุคคลภายนอก อันเป็นอาชีพของจำเลย ดังนั้นการที่จำเลยโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 6 แปลง ให้แก่บุคคลภายนอกไปดังกล่าว จึงเป็นการประกอบธุรกิจการค้าของจำเลยตามปกติ หาใช่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ ทั้งยังได้ความว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอย่างอื่นที่โจทก์นำยึดไว้เพื่อบังคับชำระหนี้อยู่อีก ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ได้ความชัดเจนว่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

-          เจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือผู้อื่นได้รับชำระหนี้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1675/2532 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม มาตรา 350 จะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือผู้อื่นได้รับชำระหนี้ / จำเลยขายทรัพย์จำนองเพื่อชำระหนี้จำนอง ภายหลังได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ จำเลยมิได้ยอมรับว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ เมื่อถูกฟ้อง จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์ คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้หรือไม่ ยังโต้เถียงกันอยู่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม มาตรา 350
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5073/2533 เดิมห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ.มีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หลังจากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามกับ จ.ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเข้าหุ้นส่วนเดิม โดยให้จำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และหุ้นส่วนผู้จัดการ และถอนเงินลงหุ้นออกไป โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทน ให้จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ.มีหนี้สินและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จำเลยที่ 1 ต้องการเลิกห้างหุ้นส่วน แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องการดำเนินกิจการต่อ จำเลยที่ 1 กับ จ.จึงถอนหุ้นออกจากการ เป็นหุ้นส่วน โดยไม่มีการถอนเงินลงหุ้นไปจริง เพราะห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ.ไม่มีเงินเหลืออยู่เลย ดังนั้น  การที่จำเลยที่ 1 ถอนหุ้น จึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1134/2537 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้  ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือผู้อื่นได้รับชำระหนี้ จำเลยเป็นหนี้ธนาคารเป็นเงิน หกแสนบาทเศษ โดยจำเลยเอาที่ดินจำนองเป็นประกัน  ธนาคารเจ้าหนี้ได้เร่งรัดให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยจึงได้ขายที่ดินที่จำนองให้แก่ ก. ไปในราคา เจ็ดแสนบาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าความเป็นจริง แล้วนำเงินนั้นชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ อันเป็นการชำระหนี้ที่จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องปฏิบัติ แม้จะเป็นการขายภายหลังจากจำเลยทราบว่าเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาแล้ว ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยขายที่ดินโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1892/2541 ในวันที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองจาก อ. ด้วย หากจำเลยที่ 1 ไม่ขายที่ดินดังกล่าวก็ต้องชำระดอกเบี้ยจำนองปีละหลายสิบล้านบาท การที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำนองและได้ขายที่ดินที่จำนองได้เงินรวมทั้งสิ้น 721,600,000 บาท จึงเป็นการขายเพื่อชำระหนี้จำนองตามปกติ  แม้จะเป็นการขายภายหลังศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก็ตาม ก็ยังเป็นการขายเพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้จำนอง และในคดีดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายืน แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 หรือไม่ยังโต้เถียงกันอยู่ นอกจากนี้ หากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเพียงประมาณ 80,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 มีสินทรัพย์ 107,701,733.41 บาท หากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีแพ่งดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ยังมีสินทรัพย์พอชำระหนี้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 4 มิใช่มีเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำของจำเลยทั้งหกไม่มีมูลความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 4183/2542 หลังจากจำเลยตกเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยไปทำสัญญาขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยให้แก่ พ. ในภายหลังอีก เนื่องจากจำเลยและสามีจำเลย ถูกธนาคารฟ้องให้ร่วมกันรับผิดชำระหนี้เงินกู้และธนาคาร ได้ขอบังคับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่จำเลยนำไปจำนองไว้เป็นประกันการกู้ยืมด้วย แม้ธนาคารจะฟ้องคดีหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วก็ตาม แต่หนี้ที่จำเลยมีอยู่ต่อธนาคาร เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อน และเป็นหนี้ที่มิได้เกิดจากการสมยอมระหว่างจำเลยกับธนาคารดังนั้น การที่จำเลยตกลงยินยอมให้ พ. เป็นผู้ชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินต่อธนาคารแทนจำเลย และรับโอนที่ดินไป โดยมีข้อตกลงให้จำเลยซื้อที่ดินคืนกลับไปได้นั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยต้องกระทำ เพื่อมิให้ธนาคารผู้รับจำนองบังคับจำนองแก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลย ต้องกระทำเพื่อมิให้ธนาคารผู้รับจำนองแก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยโอนขายทรัพย์สินของตนไป โดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้  การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

-          กรณียังมีทรัพย์พอชำระหนี้ได้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 1181/2505 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม มาตรา 350 นั้น การโอนทรัพย์ต้องประกอบด้วยเจตนา เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมด หรือแต่บางส่วนเป็นการประการสำคัญด้วย การที่ลูกหนี้เลิกห้างเดิม และขยายกิจการตั้งเป็นบริษัทขึ้นใหม่มีทุนมากขึ้นนั้น ยังถือไม่ได้ว่าลูกหนี้มีเจตนาย้ายหรือโอนทรัพย์ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 5072/2533 เมื่อโคที่โจทก์นำยึดมีราคามากกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษา แม้น้องของจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลฟังว่าโคที่ถูกยึดเป็นของน้องของจำเลยที่ 1 โคจึงเป็นของจำเลยที่ 1 อยู่ และมีราคาพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นราคาเท่าไรก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน จำเลยที่ 1 ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้

-          ผู้ร่วมกระทำความผิด
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 463/2511 ตาม มาตรา 350 บุคคลภายนอกก็อาจเป็นตัวการกระทำผิดได้  ถ้าร่วมกระทำกับลูกหนี้ตามที่บัญญัติไว้นั้น ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องให้มีการบังคับคดีเสียก่อน
-          คำพิพากษาฎีกาที่ 143/2517  คำว่า "ผู้อื่น" ตามมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้ / จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ร่วม โอนที่ดินของตนให้แก่จำเลยที่ 3 ผู้ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ร่วม ย่อมถือได้ว่าเป็นการโอนไปให้แก่ผู้อื่น ตามความหมายแห่งมาตรา 350 แล้ว

-          ตัวอย่างประเด็นข้อสอบเก่า
-          (ขส เน 2517/ 4) ผู้กู้ ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด กลับขายเรือนและที่ดินให้ผู้อื่น โดยเจ้าหนี้เป็นผู้ติดต่อขายให้ / ผู้กู้ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ม 350 เพราะได้โอนทรัพย์สินไป โดยเจ้าหนี้รู้เห็นติดต่อให้เอง (การโอนทรัพย์ โดยเจ้าหนี้รู้เห็นยินยอม ถือได้ว่าลูกหนี้ขาดเจตนาพิเศษ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้”) 411/2508
-          (ขส เน 2527/ 8) แดงให้ดำยืมเงิน หนึ่งหมื่นบาท โดยไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ ต่อมาแดงยื่นหนังสือทวงถาม ดำไม่ยอมชำระและยักย้ายถ่ายเททรัพย์ เพื่อไม่ให้แดงบังคับคดีได้ / ดำไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้ เพราะการกู้ยืมเงินกว่า 50 บาท โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดี ตาม ปพพ ม 653 แดงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลได้ตาม ม 350 ฎ 1406/2512

มาตรา 351     ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

ไม่มีความคิดเห็น: