โครงสร้างความรับผิดและรับโทษในทางอาญา
1. การกระทำครบ “องค์ประกอบ” ที่กฎหมายบัญญัติ
1.1 มีการกระทำ เคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย โดยรู้สำนึก คิด – ตกลงใจ – กระทำ
1.2 การกระทำครบองค์ประกอบ “ภายนอก” ผู้กระทำ ทำเอง รวมถึง ใช้สัตว์ ใช้บุคคลที่ไม่มีเจตนากระทำผิด
ทำโดยทางอ้อม ผู้ทำมีเจตนา ไม่ประมาท
หลอกผู้อื่น โดยผู้ลงมือทำผิด ไม่มีเจตนา
ร่วมกระทำโดยไม่มีคุณสมบัติที่จะต้องรับผิด สำหรับความผิดบางข้อหา เช่นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ร่วมกระทำ หรือช่วยเหลือผู้อื่น (ม 83-88)
การกระทำ ตระเตรียม – พยายาม – สำเร็จ (ม 80-82)
วัตถุแห่งการกระทำ (ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน เสรีภาพ ชื่อเสียง)
1.3 การกระทำครบองค์ประกอบ “ภายใน” เจตนา ตามเจตนาจริง (ม.59) ประสงค์ต่อผล – เล็งเห็นผล
เจตนา โดยผลของกฎหมาย (ม.60)
ประมาท
ไม่เจตนา – ไม่ประมาท (สำหรับลหุโทษ เว้นแต่ความผิดลหุโทษนั้นต้องรับผิดเมื่อเจตนา)
1.4 “ผล” สัมพันธ์กับ “การกระทำ” ทฤษฎีเงื่อนไข , ทฤษฎีมูลเหตุเหมาะสม (ม. 63 และเหตุแทรกแซง)
2. มีกฎหมายยกเว้นความผิด ดังต่อไปนี้
2.1 ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป้องกัน (ม.68) , การทำแท้งกรณีพิเศษ (ม.305) , การแสดงความคิดเห็น (ม.329 ม.331))
2.2 ตามกฎหมายอื่น
- รัฐธรรมนูญ การอธิปรายในสภา - ความผิดฐานหมิ่นประมาท
- ป.แพ่ง. ม. 395 , 397 , 450 , 452 , 1347
- มีอำนาจตามสัญญา เข้าครอบครองสถานที่เช่าตามข้อตกลง ยกเว้นความผิดฐานบุกรุก
- ป.วิ.อาญา ม. 83 อำนาจจับกุม ตำรวจยิงยางรถยนต์เพื่อจับกุม ยกเว้นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
- ประเพณี บิดามารดา ทำโทษบุตร – ครู ทำโทษลูกศิษย์ ยกเว้นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย
2.3 ความยินยอมที่ไม่ผิดต่อกฎหมายและศีลธรรม
- ฎ 1403/2508 โจทก์ให้จำเลยออกเช็ค หรือกรณีหมอผ่าตัดคนไข้
3. มีกฎหมายยกเว้นโทษ หรือลดหย่อนโทษ ดังต่อไปนี้
3.1 กรณีกฎหมายยกเว้นโทษ
- การกระทำผิดโดยคนวิกลจริต (ม.65)
- การกระทำผิดโดยผู้มึนเมา (ม.66)
- การกระทำผิดโดยจำเป็น (ม.67)
- การกระทำผิดโดยเด็ก (ม.73-75)
- การกระทำผิดตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยเจ้าพนักงาน (ม.70)
- การกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ระหว่างสามีภริยา (ม.71)
3.2 กรณีกฎหมายลดหย่อนโทษ
- ความไม่รู้กฎหมาย (ม.64)
- คนวิกลจริต ซึ่งรู้ผิดชอบอยู่บ้าง (ม.65)
- คนมึนเมา ซึ่งรู้ผิดชอบอยู่บ้าง (ม.66)
- การป้องกัน และการทำผิดด้วยความจำเป็น เกินสมควรแก่เหตุฯ (ม.69)
- ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ระหว่างญาติ (ม.71)
- บันดาลโทสะ (ม.72)
- ผู้กระทำผิดอายุไม่เกิน 20 ปี (ม.75-76)
- เหตุบรรเทาโทษ (ม.78)
โครงสร้างกฎหมายอาญา 1
1. โทษ และวิธีการเพื่อความปลอดภัย
หลักทั่วไป โทษ มาตรา 2 – 11 , วิธีการเพื่อความปลอดภัย มาตรา 12 – 16 , เบ็ดเตล็ด มาตรา 17
โทษแยกประเภท มาตรา 18 - 38
วิธีการเพื่อความปลอดภัย แยกประเภท มาตรา 39 – 50
วิธีเพิ่มโทษ ลดโทษ และรอการลงโทษ มาตรา 51 - 58
2. ความรับผิด มาตรา 59 – 63 , ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล
3. เหตุยกเว้นความรับผิด , เหตุยกเว้นโทษ , เหตุบรรเทาความรับผิด และเหตุบรรเทาโทษ มาตรา 64 - 79
4. การพยายามกระทำความผิด มาตรา 80 – 82
5. ผู้เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด มาตรา 83 – 89
6. กลุ่มย่อย การกระทำความผิดหลายบท หรือหลายกระทง มาตรา 90 – 91
การกระทำความผิดอีก มาตรา 92 - 94
อายุความ มาตรา 95 - 101
7. บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดลหุโทษ มาตรา 102 – 106
- กรณีที่ไม่มีความผิด
- ถ้ามีอำนาจทำได้ เช่น ตาม ปพพ. หรือ ป.วิ.อาญา ไม่มีความผิด (อก/60)
- ความยินยอมอันบริสุทธิ์ ไม่เกิดจากการหลอกลวงและไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของผู้เสียหาย ยกเว้นความรับผิดได้ เช่น แพทย์ตัดขาคนไข้ (อ เกียรติฯ 8/392) หรือ ชกมวก แต่อย่าตอบว่าไม่มีเจตนา หรือ ฎ 1403/2508 / ((ขส พ 2510/ 9) นายหยุดเป็นแพทย์ทำการตัดขาเพื่อรักษาคนไข้ / นายหยุดไม่มีเจตนาทำผิดอาญา ไม่ผิด ม 295 )
- ความยินยอมทำให้การกระทำ ไม่เป็นความผิด เพราะ “ขาดองค์ประกอบภายนอก” เช่น ความยินยอมของหญิง ทำให้การกระทำของชาย ไม่เป็นการ “ข่มขืนกระทำชำเรา” ม 276 หรือไม่เป็นการ “ข่มขืนใจให้กระทำการ” ม 309 , 337
- ความยินยอม ในความผิดที่ครบองค์ประกอบภายนอก แต่ยกเว้นความรับผิด เช่น คนไข้ ยินยอมให้แพทย์ตัดขา เพื่อรักษาโรคร้าย
- กรณี มาตรา 59 วรรค 3 เป็นการ “ไม่รู้” ข้อเท็จจริง ขนาดขาดองค์ประกอบภายนอก ไม่ผิด (อก/125)
การวินิจฉัยความผิดอาญา (ตามแนวคำอธิบายของ อ คณิต ณ นคร)
1. การวินิจฉัยความผิดอาญา ที่กระทำโดยเจตนา อันเป็นความผิดสำเร็จ
2. การวินิจฉัยความผิดอาญา ที่กระทำโดยเจตนา อันเป็นการพยายามกระทำความผิด
3. การวินิจฉัยความผิดอาญา ที่กระทำโดยประมาท
4. การวินิจฉัยความผิดอาญา กรณีผู้กระทำผิดมีหลายคน
- การวินิจฉัยความผิดอาญา ที่กระทำโดยเจตนา อันเป็นความผิดสำเร็จ
1. การครบองค์ประกอบ
- องค์ประกอบภายนอก
- การกระทำตามข้อเท็จจริง กับการกระทำตามกฎหมาย
- กรรมของการกระทำ
- ผลที่เกิดขึ้นกับกรรมของการกระทำ
- ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำ และผล
- คุณสมบัติพิเศษของผู้กระทำ เช่น เจ้าพนักงาน
- องค์ประกอบภายใน
- เจตนา การรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบ
ความต้องการให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
- องค์ประกอบภายในอื่น ๆ เช่น มูลเหตุจูงใจ
2. ความผิด เหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจทำได้ เช่น ม 68
3. ความชั่ว ความรู้ผิดชอบ
เหตุที่กฎหมายให้อภัย เช่น ม 67 , 69
4. เหตุยกเว้นโทษเฉพาะตัว เช่น ม 71
5. เงื่อนไขการลงโทษทางภาวะวิสัย
- การวินิจฉัยความผิดอาญา ที่กระทำโดยเจตนา อันเป็นการพยายามกระทำความผิด
1. การครบองค์ประกอบ
- องค์ประกอบภายใน ได้แก่ เจตนา และองค์ประกอบภายในอื่น ๆ
- องค์ประกอบภายนอก
- การกระทำที่เป็นการลงมือ
- การขาดความสมบูรณ์ขององค์ประกอบภายนอก
- ยืนยันว่าเป็นการพยายามกระทำความผิดที่เป็นไปไม่ได้โดยบังเอิญ หรือการพยายามกระทำความผิดที่เป็นไปไม่ได้โดยแน่แท้
2. ความผิด
3. ความชั่ว
4. เหตุยกเว้นโทษเฉพาะตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถอนตัวจากการพยายามกระทำความผิด ตาม ม 82
- พยายามที่กระทำไปไม่ตลอด ได้แก่การยับบั้งเสียเอง
- พยายามที่กระทำไปตลอดแล้ว ได้แก่การกลับใจแก้ไขไม่ให้บรรลุผล
5. เงื่อนไขการลงโทษทางภาวะวิสัย
- การวินิจฉัยความผิดอาญา ที่กระทำโดยประมาท
1. การครบองค์ประกอบ
- การกระทำที่เป็นเหตุให้เกิดผล
- ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำ และผล
- การฝ่าฝืนความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์
2. ความผิด
3. ความชั่ว
- ความรู้ผิดชอบ
- การอาจใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ได้ แต่ไม่ได้ใช้ให้เพียงพอ
- เหตุที่กฎหมายให้อภัย
4. เหตุยกเว้นโทษเฉพาะตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถอนตัวจากการพยายามกระทำความผิด ตาม ม 82
5. เงื่อนไขการลงโทษทางภาวะวิสัย
- การวินิจฉัยความผิดอาญา กรณีผู้กระทำผิดมีหลายคน
1. กรณีตัวการ
- แยกวินิจฉัยทีละคน
- เริ่มต้นที่ผู้กระทำได้กระทำมากที่สุด เรียงลงไปเป็นลำดับ
2. กรณีผู้ใช้ / ผู้สนับสนุน
- วินิจฉัยความผิดของผู้กระทำเสียก่อน
- ต่อด้วยการวินิจฉัยการกระทำของผู้ใช้ / ผู้สนับสนุน
- การขาดองค์ประกอบภายนอก กับการพยายามกระทำความผิดที่ไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ- ฎ 668,669/2521 ม.ถูกยิงแล้วตายทันที จำเลยฟัน ม.เมื่อ ม.ตายแล้ว ไม่มีความผิดตาม ป.อ. ม.295
- ฎ 7144/2545 เมื่อผู้ตายได้ตายไปแล้ว แต่จำเลยคิดว่าผู้ตายสลบไปจึงข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย เพราะผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ไม่มีสภาพบุคคลตาม ปพพ.มาตรา 15
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7144/2545 แจ้งแก้ไขข้อมูล ( ข่มขืนศพ คิดว่า ศพ นั้นยังมีชีวิตอยู่แค่สลบไป ไม่ผิด ฐานข่มขืน )โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 277,288, 289, 91, 92 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษจริงตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, 289(6) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 13 ปี จำคุกตลอดชีวิต ฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น ให้ประหารชีวิต รวมสองกระทงคงประหารชีวิตสถานเดียวและเมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้วย่อมไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายได้อีก จำเลยให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาและไม่ปรากฏเหตุบรรเทาโทษอื่นที่สมควรจะลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จึงไม่ลดโทษให้ คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6) ฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นกระทงเดียวให้ประหารชีวิต ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ขณะที่เด็กหญิง อ. ผู้ตาย อายุ 12 ปี อยู่เฝ้าบ้านเกิดเหตุคนเดียว ได้มีคนร้ายเข้าไปในบ้าน ต่อมาเวลาประมาณ 2.30 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นนางดารา เทศกาล มารดาของผู้ตายกลับจากทำงานมาถึงบ้านก็พบผู้ตายซึ่งแต่งกายนุ่งกางเกงขาสั้นสวมเสื้อยืดแขนสั้นถึงแก่ความตายแล้ว โดยศพผู้ตายนอนอยู่บนที่นอนมีร่องรอยถูกข่มขืนกระทำชำเรา คราบเลือดของผู้ตายติดอยู่ที่กางเกงชั้นในผู้ตาย พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งความแล้วมาตรวจที่เกิดเหตุและจับกุมจำเลยกล่าวหาฆ่าผู้ตาย และข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายที่อายุไม่เกิน 13 ปี เป็นคดีนี้ จำเลยให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความว่าได้เห็นจำเลยเข้าไปในบ้านผู้ตายในคืนเกิดเหตุเลยดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสมนึก นวลคำที่ไปตรวจที่เกิดเหตุสอบถามนางดารามารดาของผู้ตายได้ความว่าจำเลยได้มาชอบพอนางดารา นางดาราพาจำเลยมาที่บ้าน เมื่อจำเลยพบผู้ตาย จำเลยเคยชมผู้ตายว่าโตเป็นสาวและหน้าตาดี ร้อยตำรวจเอกสมนึกเกิดสงสัยจำเลยว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง จึงไปพบจำเลยที่บ้านจำเลยซึ่งอยู่ห่างบ้านผู้ตายประมาณ 500 เมตร เพื่อสอบถามและเมื่อนำไปสถานีตำรวจสอบสวนแล้วจำเลยรับสารภาพว่าเป็นผู้ฆ่าและข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายตามคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.16 คำให้การของจำเลยดังกล่าวก็ถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ใช้ยันจำเลยเพื่อพิสูจน์การกระทำผิดของจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ซึ่งจำเลยให้การถึงรายละเอียดในการกระทำผิดของจำเลยเป็นการยากที่พนักงานสอบสวนจะจัดทำขึ้นเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการที่จำเลยให้การถึงการแต่งตัวและจัดท่านอนให้แก่ผู้ตายก่อนที่จำเลยจะหลบหนีออกจากบ้านผู้ตายว่าจำเลยได้จัดการนำกางเกงชั้นในและกางเกงชั้นนอกของผู้ตายมาสวมไว้ตามเดิม พร้อมกับนำร่างผู้ตายนอนในสภาพปกติและใช้ผ้าห่มปิดร่างกายผู้ตายในช่วงหน้าอกไปถึงปลายเท้า ซึ่งสภาพศพของผู้ตายที่จำเลยจัดไว้ดังกล่าวนี้ก็ปรากฏว่าตรงกับคำให้การของนางดาราที่กลับมาบ้านเห็นศพของผู้ตายตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ที่จำเลยยอมรับว่านางดาราได้ให้การไว้เช่นนั้นจริงว่า ได้พบผู้ตายนอนอยู่บนเตียงในมุ้งมีผ้าคลุมลำตัวไว้ทั้งศพของผู้ตายก็นุ่งกางเกงชั้นในและกางเกงชั้นนอกอยู่ด้วยเช่นนี้จึงทำให้เห็นว่าหากจำเลยมิได้เกี่ยวข้องกับการตายของผู้ตายแล้วก็ไม่น่าที่จะให้การได้ถูกต้อง ยิ่งกว่านั้นเมื่อพนักงานสอบสวนส่งคราบเลือดที่ติดอยู่ที่กางเกงชั้นในของจำเลยซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจยึดมาจากจำเลยที่จำเลยนุ่งอยู่ในวันถูกจับกุมส่งไปตรวจพิสูจน์หารหัสพันธุ์กรรม (ดีเอ็นเอ) ก็ได้ความว่าได้รหัสพันธุ์กรรมตรงกับคราบเลือดของผู้ตาย โดยพันตำรวจตรีหญิงดรุณี ถิรวิทยาคม แห่งสถาบันนิติเวชวิทยาสำนักงานแพทย์ใหญ่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้การยืนยันการตรวจพิสูจน์ว่าน่าเชื่อว่าคราบเลือดที่ติดอยู่กับกางเกงชั้นในของจำเลยเป็นของผู้ตาย ซึ่งรหัสพันธุ์กรรมหรือดีเอ็นเอนี้เป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะเรื่องนี้เป็นรหัสพันธุ์กรรมของผู้ตาย แต่กลับมาปรากฏอยู่ที่กางเกงชั้นในของจำเลย การที่จำเลยฎีกาอ้างเหตุที่มีคราบเลือดของผู้ตายติดอยู่ที่กางเกงชั้นในของจำเลยว่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจยึดกางเกงชั้นในของจำเลยไปนั้น ไม่มีคราบเลือดใด ๆ เลย แต่เจ้าพนักงานตำรวจสร้างหลักฐานขึ้นมาโดยนำกางเกงชั้นในของจำเลยไปเช็ดเลือดของผู้ตายภายหลังแล้วส่งไปตรวจพิสูจน์นั้น ร้อยตำรวจเอกสมนึกผู้จับกุมจำเลยเบิกความว่าได้ยึดกางเกงชั้นในของจำเลยที่เปื้อนเลือดไว้ ซึ่งบันทึกการจับกุมที่จำเลยลงชื่อไว้ก็ระบุว่าได้ยึดกางเกงชั้นในของจำเลยที่เปื้อนเลือดไว้เช่นกัน นอกจากนี้ในคำให้การของจำเลย จำเลยก็ได้ให้การยอมรับว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดกางเกงชั้นในของจำเลยที่เปื้อนเลือดด้วย ซึ่งบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การของจำเลยเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นในวันรุ่งขึ้นหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยนั้นเอง อันเป็นเวลาหลังเกิดเหตุไม่นานนัก ประกอบกับนายศรีเมฆ สุดไทย ผู้ใหญ่บ้านพยานโจทก์ซึ่งเป็นญาติกับจำเลยที่ไปบ้านผู้ตายหลังจากได้รับแจ้งเหตุของผู้ตายในคืนนั้นก็เบิกความว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยเวลาประมาณ 9 นาฬิกา ต่อมาทราบว่าจำเลยรับสารภาพว่าเป็นผู้ข่มขืนฆ่าผู้ตาย โดยเจ้าพนักงานตำรวจพบคราบเลือดติดอยู่ที่กางเกงด้วยเช่นนี้จึงเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดกางเกงชั้นในของจำเลยส่งไปตรวจพิสูจน์ก็เนื่องจากเห็นมีคราบเลือดติดอยู่ตั้งแต่ตรวจพบครั้งแรกเมื่อจับกุมจำเลยแล้ว มิใช่เป็นการสร้างหลักฐานโดยการเอากางเกงชั้นในของจำเลยไปเช็ดเลือดของผู้ตายเพื่อปรักปรำจำเลยดังเช่นที่จำเลยอ้างในฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด นอกจากนี้เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้ว จำเลยยังนำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูปไว้อีกด้วย โดยจำเลยก็มิได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น พฤติการณ์ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยดังกล่าวมามีน้ำหนักพอที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่า จำเลยเป็นคนร้ายฆ่าผู้ตายนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยใช้หมอนขนาดใหญ่ปิดหน้าผู้ตายก็เป็นเพียงทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจ ขาดสติแน่นิ่งไปเท่านั้น โดยผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตายทันทีเมื่อจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายแล้ว จำเลยจึงบีบคอซ้ำอีกจนผู้ตายถึงแก่ความตายจำเลยจึงมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง นั้น เห็นว่า แม้ผลจากการตรวจสภาพศพของพันตำรวจเอกณรงค์ศักดิ์ เสาวคนธ์ แห่งสถาบันนิติเวชวิทยาสำนักงานนายแพทย์ใหญ่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะระบุเหตุการตายของผู้ตาย ว่าขาดอากาศหายใจจากถูกกดรัดทางเดินหายใจตามเอกสารหมาย จ.24 ก็ตามแต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานถึงการตายของผู้ตายเท่านั้น โดยมิได้แสดงให้เห็นว่าผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนหรือขณะหรือภายหลังที่จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายแล้วซึ่งโจทก์มิได้มีพยานอื่นใดมาสืบให้เห็นแน่ชัดว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายแล้วจึงบีบคอผู้ตายซ้ำอีกจนผู้ตายถึงแก่ความตายดังเช่นที่โจทก์ฎีกา แต่หากพิจารณาผลการตรวจสภาพศพผู้ตายดังกล่าวในส่วนคอที่ระบุว่ากล่องเสียงปกติ หลอดลมปกติ เนื้อเยื่อบริเวณคอช้ำข้างกล่องเสียงด้านขวาขนาด 0.5 x 0.7 เซนติเมตร แล้วเห็นได้ว่าเนื้อเยื่อบริเวณคอช้ำนั้นมีขนาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้นทั้งสภาพกล่องเสียงและหลอดลมต่างก็ปกติเช่นนี้ เหตุการตายของผู้ตายน่าจะไม่ใช่เกิดจากที่จำเลยบีบคอผู้ตายดังเช่นที่โจทก์อ้างในฎีกา ดังนั้น การที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนตอนหนึ่งฟังได้ว่า จำเลยใช้หมอนปิดส่วนใบหน้าผู้ตายแล้วใช้มือทั้งสองกดทับบริเวณจมูกและปากผู้ตายเพื่อไม่ให้ส่งเสียงร้อง แต่ผู้ตายยังดิ้นรนขัดขืน จำเลยจึงใช้มือกดหมอนไม่ให้ผู้ตายหายใจออกด้วยต้องการให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อใช้เวลากดนานประมาณ 3 นาที ผู้ตายก็แน่นิ่งไป ซึ่งตามลักษณะรูปร่างของผู้ตายที่ยังเป็นเด็กจำเลยที่มีรูปร่างใหญ่กว่าผู้ตายมาก การที่จำเลยใช้กำลังกดหมอนที่จมูกและปากของผู้ตายเป็นเวลานานถึง 3 นาที เช่นนี้ จึงน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว การที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนตอนหนึ่งตามที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าผู้ตายได้สลบไปเท่านั้นและได้ข่มขืนต่อไป ต่อเมื่อข่มขืนเสร็จแล้ว จึงทราบว่าผู้ตายได้ถึงแก่ความตายแล้วเนื่องจากไม่ได้ยินเสียงร้องและแน่นิ่งไปนั้น เป็นการที่จำเลยตอบคำถามของพนักงานสอบสวนที่ถามว่าหลังจากที่จำเลยใช้หมอนกดปิดปากและจมูกของผู้ตายแล้ว จำเลยทราบหรือไม่ว่า ผู้ตายได้ถึงแก่ความตายทันทีหรือไม่ โดยจำเลยตอบว่า ไม่ทราบ แต่จำเลยคิดว่าผู้ตายได้สลบไปเท่านั้น การที่จำเลยตอบคำถามของพนักงานสอบสวนดังกล่าวจึงทำให้เห็นได้ว่า ผู้ตายได้ตายไปแล้ว การที่จำเลยคิดว่าผู้ตายเพียงสลบไปจึงข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย แม้ขณะที่ข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายนั้น จำเลยไม่ทราบว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว เป็นแต่มาทราบภายหลังจากการข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายเสร็จว่าผู้ตายตายแล้ว ก็หาทำให้จำเลยมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายไม่ เพราะผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปก่อน ไม่มีสภาพเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาของศาล ซึ่งคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมายจ.16 เป็นประโยชน์ในการพิจารณาของศาลอย่างมากในการรับฟังข้อเท็จจริงเพื่อวินิจฉัยถึงการกระทำผิดของจำเลย ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ สมควรที่จะลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78" พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6
การขาดองค์ประกอบภายนอก กับการพยายามกระทำความผิดที่ไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อข้อสอบเก่า
ข้อสอบความรู้ชั้น เนติบัณฑิต สมัยที่ 24 ประจำปี พ.ศ.2514
คำถามข้อ 4 นายเลียบนักเล่นพระเครื่องได้นำพระสมเด็จ ฯ ที่ตนเข้าใจว่าเป็นของเทียม ไปหลอกขายแก่นายหลง ๆ หลงเชื่อจึงซื้อไว้ แต่แล้วภายหลังปรากฏว่าเป็นพระสมเด็จ ฯ แท้
ดังนี้ นายเลียบมีความผิดฐานใดหรือไม่
ธงคำตอบ ข้อความที่นายเลียบนำไปหลอกนายหลง ไม่เป็นความเท็จดังที่นายเลียบเข้าใจ จึงไม่มีการหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การกระทำของนายเลียบจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง ความผิดฐานฉ้อโกงจึงเกิดขึ้นไม่ได้
ข้อสอบความรู้ชั้น เนติบัณฑิต สมัยที่ 57 ประจำปี พ.ศ.2547
คำถามข้อ 5. นายแสบไม่พอใจนายรวยเจ้าหนี้เงินกู้ของตน จึงแอบเข้าไปลักทรัพย์ของนายรวยบริเวณแพริมน้ำซึ่งนายรวยใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้แหวนเพชรมาหนึ่งวง ในขณะที่นายแสบจะลงจากแพได้เหลือบไปเห็นเงาคนกำลังแอบดูตนอยู่ นายแสบเชื่อว่าเป็นนายรวยและจำตนได้ เพราะตรงบริเวณนั้นมีแสงสว่างจากดวงไฟ แม้จะเป็นคืนข้างแรมก็ตาม เมื่อนายแสบกลับถึงบ้านแล้ว จึงทราบว่าเป็นแหวนของตนเอง ที่จำนำไว้แก่นายรวย นายแสบรู้สึกโกรธและเกรงว่าจะถูกนายรวยแจ้งความ นำเจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมตน จึงได้นำอาวุธปืนไปดักซุ่มยิงนายรวยจนถึงแก่ความตาย
ให้วินิจฉัยว่า นายแสบมีความผิดฐานใดหรือไม่
ธงคำตอบ
การกระทำของนายแสบไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 เพราะแหวนเพชรเป็นของนายแสบเอง มิได้เป็นของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่นายแสบเอาแหวนนั้นไป นายแสบไม่ทราบว่าทรัพย์ที่เอาไปนั้นเป็นทรัพย์อันตนได้จำนำไว้กับนายรวยเจ้าหนี้ ทั้งมิได้เอาแหวนไปโดยเจตนาเพื่อให้เจ้าหนี้ของตนได้รับความเสียหาย การกระทำของนายแสบจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 แต่การที่นายแสบเข้าไปเคหสถานของนายรวยในเวลากลางคืน โดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ประกอบกับมาตรา 365 (3) นายแสบใช้อาวุธปืนดักซุ่มยิงนายรวยในเวลาต่อมา โดยคิดทบทวนมาก่อนและเพื่อปกปิดการกระทำความผิด และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ นายแสบมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 289 (4) และ 289 (7) อีกด้วย
ข้อสอบคัดเลือก พร้อมธงคำตอบ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ ในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย พ.ศ.2530
คำถามข้อ 5 ก. พบ ข. กำลังลักทรัพย์ ก. จึงเข้าไปจับ ข.ไว้ แล้ว ก. ก็ควบคุมตัว ข. เพื่อนำส่งสถานีตำรวจระหว่างทาง ค. พี่ชายของ ข. เข้าใจผิด ว่า ก. เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงเข้าช่วย ข. ให้หลบหนีจากกรคุมตัวของ ก.ไปได้
ดังนี้ ก. และ ค. ได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดบ้างหรือไม่
ธงคำตอบ ก. จับ ข. ได้เนื่องจาก ข. ได้กระทำความผิดซึ่งหน้า ฐานลักทรัพย์ อันเป็นความผิดที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก. จึงมีอำนาจจับ ข. ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 การกระทำของ ก. จึงไม่เป็นความผิด
โดยที่ ค. เข้าใจผิดว่า ก. เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ค. จึงมีเจตนาทำให้ผู้ถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานหลุดพ้นจากการคุมขังไป และ ค. ได้เข้ามาช่วย ข. ให้หลบหนีจากการคุมตัวของ ก.ไปได้ การกระทำของ ค. จึงเป็นการกระทำโดยมุ่งต่อผลอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่การกระทำของ ค. ดังกล่าว ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ กล่าวคือ ข. มิใช่ผู้ถูกคุมขังของเจ้าพนักงาน ค. จึงมีความผิดฐานพยายามทำให้ผู้ถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หลุดพ้นจากการคุมขังไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 191 , 81
(ไม่ถือว่าขาดองค์ประกอบภายนอก แต่ถือว่าไม่บรรลุผลได้อย่างแน่แท้) (อ เกียรติขจร ถือว่าขาดองค์ประกอบภายนอก แล้วไม่ผิดพยายาม / หากวินิจฉัยตาม แนวธงคำตอบของ “ผู้พิพากษา” จะถือว่าขาดองค์ประกอบภายนอกแล้ว ไม่ต้องวินิจฉัยเรื่องเจตนาภายในต่อไป และไม่มีความผิด / แต่เห็นว่า ตัวบทมาตรา 80 ใช้คำว่า “ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด” แต่ มาตรา 81 ใช้คำว่า ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด กรณีมาตรา 81 จึงต้องถือว่าเป็นเรื่องกฎหมายปิดปาก ให้ต้องรับผิดเมื่อมีเจตนาร้าย)
ข้อสอบคัดเลือก พร้อมธงคำตอบ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ ในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย พ.ศ.2532
คำถามข้อ 2 นางสาวจิ๋วลูกจ้างของนางแจ๋ว บอกกับนางแจ๋วว่า ตนได้ไปเที่ยวงานวัดแล้วถูกข่มขืนกระทำชำเรา จนบัดนี้ตั้งครรภ์ได้สามเดือนแล้ว ขอให้พาไปทำแท้งให้ด้วย นางแจ๋วจึงพานางสาวจิ๋วไปให้นายโจทำแท้ง นายโจพยายามทำแท้งให้นางสาวจิ๋วเท่าใดก็ไม่สำเร็จ เพราะนางสาวจิ๋วไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่การกระทำของนายโจ เป็นเหตุให้นางสาวจิ๋วไม่สามารถมีบุตรได้ต่อไปตลอดชีวิต ดังนี้ นางสาวจิ๋ว นางแจ๋ว และนายโจ จะมีความผิด และต้องรับโทษเพียงใด หรือไม่
ธงคำตอบ การกระทำของนางสาวจิ๋ว และนายโจ เป็นการกระทำโดยมุ่งต่อผล ซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่การกระทำนั้นไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อคือทารกในครรภ์นั้นไม่มี ต้องถือว่านางสาวจิ๋วและนายโจ พยายามกระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 ดังนั้น นางสาวจิ๋วจึงมีความผิดฐานพยายามทำให้แท้งลูก ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 , 81 แต่ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 304 นายโจ มีความผิดฐานพยายามทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ตามมาตรา 302 วรรคสอง , 81 และต้องรับโทษโดยไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 304 นางแจ๋วมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการพยายามกระทำความผิด ตามมาตรา 301 , 86 , 81 แต่ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 304 เพราะตัวการไม่ต้องรับโทษ
ข้อสอบคัดเลือก พร้อมธงคำตอบ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ ในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย พ.ศ.2548
คำถามข้อ 2 นายสิงห์พกอาวุธมีดปลายแหลมไปดักรอคนข้ามสะพานลอย นายสิงห์เห็นนางนงค์กำลังเดินข้ามสะพานเพียงผู้เดียว จึงเข้าไปใช้แขนรัดคอนางนงค์ ใช้มีดจี้ที่บริเวณคอและพูดขอร่วมประเวณี นางนงค์พูดขอนายสิงห์ไม่ให้ข่มขืนตน โดยขอให้เอาแต่เงินไป พร้อมกับล้วงเงินจำนวน 120 บาท ส่งให้นายสิงห์ นายสิงห์รับเงินไว้ จากนั้นใช้มีดจี้บังคับฉุดลากนางนงค์ลงไปที่เชิงสะพานลอย แล้วกอดปล้ำให้นางนงค์นอนลง นางนงค์ดิ้นรนไม่ยอมให้นายสิงห์ข่มขืน นายสิงห์จึงได้ลากนางนงค์ไปกดลงที่คูน้ำในบริเวณนั้นประมาณ 10 นาที จนนางนงค์ถึงแก่ความตาย นายสิงห์ได้ลากนางนงค์ขึ้นมาแล้วกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่ โดยไม่ทราบว่านางนงค์ถึงแก่ความตายแล้ว
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายสิงห์เป็นความผิดฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
นายสิงห์มีความผิดดังต่อไปนี้
1. นายสิงห์มีความผิดฐานพกพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย โดยไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 (1 คะแนน)
2. การที่นายสิงห์ใช้มีดจี้และพูดขอร่วมประเวณีกับนางนงค์ และนางนงค์ได้พูดขอให้นายสิงห์อย่าข่มขืนแต่ขอให้เอาเงินไปแทน พร้อมกับส่งเงินจำนวน 120 บาทให้นายสิงห์ การที่นายสิงห์รับเงินไว้ ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนเจตนาจากเจตนาข่มขืน เป็นเจตนาประสงค์ต่อทรัพย์ ในเวลาที่นายสิงห์รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้ การกระทำของนายสิงห์จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าในทันใดนั้น จะใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง (3 คะแนน)
3. การที่นายสิงห์กดนางนงค์ลงในคูน้ำนาน 10 นาทีจนนางนงค์ถึงแก่ความตาย นายสิงห์ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการกดนางนงค์ในคูน้ำนาน 10 นาที น่าจะเป็นผลให้นางนงค์ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของนายสิงห์จึงเป็นการกระทำโดยเล็งเห็นผล เป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเพื่อความสะดวก และเพื่อเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (6) (7) (3 คะแนน)
4. การกระทำของนายสิงห์ไม่เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 277 ทวิ เนื่องจากนางนงค์ได้ถึงแก่ความตายก่อนแล้ว การกระทำจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา แต่การที่นายสิงห์ใช้มีดจี้บังคับฉุดลากนางนงค์ลงไปที่เชิงสะพาน แล้วกอดปล้ำนางนงค์ เป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้ายและโดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278 (3 คะแนน)
- กรณีไม่ผ่านองค์ประกอบความผิด เพราะการกระทำไม่เป็นความผิด ไม่ต้องอ้างกฎหมายยกเว้นความผิด
- ฎ 8743/2544 ปัญหาว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่องหรือไม่ ศาลต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาซึ่งได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดในทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 59 หรือไม่ด้วย / จำเลยเป็นบุคคลปัญญาอ่อนที่ถึงขนาดไม่อาจรู้ได้ว่าการตัดต้นไม้เป็นผิดกฎหมาย กรณีจึงมิใช่จำเลยกระทำผิดในขณะที่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องตาม ป.อ. มาตรา 65 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ถึงขั้นที่ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำ ทั้งมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนาตาม ป.อ.มาตรา 59
- ประเด็นเปรียบเทียบ การกระทำไม่เป็นความผิด ไม่ต้องอ้างกฎหมายยกเว้นความผิด (กรณีระงับเหตุวิวาท)
- ฎ 1961/2528 การวิวาทหมายถึงการสมัครใจเข้าต่อสู้ทำร้ายกัน คำพูดของจำเลยที่ว่าการย้ายตำรวจต้องมีขั้นตอน ต้องมีคณะกรรมการ อย่าไปเชื่อให้มากนัก เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นในการสนทนาเท่านั้น มิได้มีข้อความใดที่เป็นการท้าทายให้ผู้ตายหรือผู้เสียหายออกมาต่อสู้ทำร้ายกับจำเลยจะถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุวิวาทมิได้ / หลานผู้ตายใช้ขวดตีจำเลยที่ทัดดอกไม้ จนเข่าทรุดร่วงตกจากเก้าอี้ ผู้ตายเข้าไปล็อคคอและดึงคอเสื้อจำเลยไว้ พร้อมกับพูดว่าเอาให้ตาย และมีคนอีกกลุ่มหนึ่งกรูกันเข้ามาจะรุมทำร้ายจำเลย จำเลยสะบัดหลุด แล้วชักปืนออกมาขู่ โดยหันปากกระบอกปืนขึ้นฟ้าพร้อมกับตะโกนว่า อย่าเข้ามา ทันใดนั้นมีคนเข้ามาตะปบปืนในมือจำเลยเพื่อจะแย่งปืน ปืนลั่นขึ้น 1 นัด กระสุนถูกผู้ตายล้มลงถึงแก่ความตาย จำเลยวิ่งหนี แต่คนกลุ่มนั้นวิ่งไล่ตามจะทำร้ายจำเลย จำเลยยิงปืนขู่ขึ้นฟ้าอีก 1 นัด แล้ววิ่งไปได้หน่อยหนึ่ง ก็หมดสติล้มลง กระสุนปืนนัดที่สองพลาดไปถูกผู้เสียหายบาดเจ็บสาหัส เมื่อจำเลยเจตนายิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่แล้ว ก็ถือไม่ได้ว่ามีเจตนาฆ่า จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้ตายหรือพยายามฆ่าผู้เสียหาย และจะถือว่าจำเลยกระทำให้ผู้อื่นตายโดยประมาท หรือรับอันตรายสาหัสโดยประมาทมิได้ จำเลยมีใบอนุญาตพกอาวุธปืนของกรมตำรวจ ซึ่งจำเลยมีสิทธิพกอาวุธปืนได้ทั่วราชอาณาจักร เพื่อปฏิบัติราชการสืบสวนไม่อยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ม.8ทวิ จำเลยย่อมไม่มีความผิดตาม ม.72 ทวิ เมื่อปรากฏแก่ศาลฎีกาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องได้ตาม ป.ว.อ. ม.185, 215, 225 / สังเกต จำเลยชักปืนหันขึ้นฟ้า แต่ถูกปัดกระสุนลั่น ถูกผู้ตาย และนัดที่สองยิงขู่ขึ้นฟ้าอีก 1 นัด แต่กระสุนพลาดไปถูกผู้เสียหาย / จำเลยไม่มีเจตนาฆ่า หรือทำร้าย และพฤติการณ์ไม่ถือว่าจำเลยกระทำโดยประมาท การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ไม่จำต้องอ้างป้องกัน
- ฎ 4180/2539 ขณะผู้เสียหายทั้งแปด ยืนรอขึ้นรถโดยสารประจำทาง อ. กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาพบผู้เสียหายที่ 1 อ. ซึ่งรู้จักกับผู้เสียหายที่ 1 ได้เข้าถามหาเพื่อนคนหนึ่ง แล้วไม่พอใจคำตอบของผู้เสียหายที่ 1 จึงเกิดการโต้เถียง และเข้าต่อยใบหน้าของผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่ถูก ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ก็ยืนอยู่ พวกของผู้เสียหายคนหนึ่ง ถือมีดดาบยาวประมาณครึ่งเมตร ชูขึ้นเหนือศีรษะวิ่งตรงเข้าช่วยผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงชักอาวุธปืนลูกซองสั้น และยิงลงไปที่พื้นดินคนละนัด ก็เพื่อยับยั้งไม่ให้เพื่อนของผู้เสียหายที่ 1 ใช้มีดฟัน อ.หรือจำเลยทั้งสอง เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้กระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 ยิงไปจะกระทบพื้นดินและแผ่กระจายถูกผู้เสียหายทั้งแปด จนได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่า หรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น
- ฎ 8534/2544 (สส 12/143) จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า เพื่อขู่มิได้กลุ่มวัยรุ่นกลุ้มรุมทำร้าย ถ. เมื่อจำเลยยิงปืนขึ้นฟ้านัดที่ 3 แล้ว ได้มีกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลังของจำเลย จนเป็นเหตุให้จำเลยล้มลง และกระสุนจากอาวุธปืนที่จำเลยถืออยู่ ได้ลั่นขึ้น 1 นัด ถูกผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา ได้รับอันตรายแก่กาย และถูกผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ดังกล่าว ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จึงย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนและของผู้อื่น ให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย อันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุ แม้การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้เสียหาย และผู้ตายโดยพลาด ตาม ป.อ. มาตรา 60 จำเลยก็ไม่มีความผิด เพราะการกระทำของจำเลย เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 68 (ฎีกานี้ อ เกียรติขจรฯ เห็นว่า ไม่ผ่านโครงสร้างที่จะต้องรับผิด เพราะผู้กระทำยิงปืนขึ้นฟ้า ไม่มีเจตนาทำร้ายหรือฆ่าผู้อื่น และพฤติการณ์ก็ไม่เป็นประมาท จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานใด ไม่จำต้องปรับบทป้องกัน หรือบทยกเว้นความผิด)
กรณีไม่ผ่านองค์ประกอบความผิด ไม่ต้องอ้างเหตุยกเว้นโทษ ข้อสอบเก่า
ข้อสอบคัดเลือก พร้อมธงคำตอบ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ ในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย พ.ศ.2520
คำถามข้อ 6 นายกลมจ้างนายเบี้ยว ให้ไปฆ่านายเหลี่ยมซึ่งเป็นบิดาของนายกลม นายเบี้ยวไปถามนายเหลี่ยมซึ่งรู้ตัวอยู่แล้วว่านายเบี้ยวจะมาฆ่าตน ว่าคนไหนเป็นนายเหลี่ยม นายเหลี่ยมก็ชี้ไปที่นายแบน นายเบี้ยวจึงยิงนายแบนตาย ดังนี้ นายกลม นายเบี้ยว และนายเหลี่ยม จะมีความผิดฐานใดหรือไม่
ธงคำตอบ นายกลมมีความผิดฐานใช้ผู้อื่นฆ่าคนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) , 84
นายเบี้ยวมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น โดยไตร่ตรองไว้ก่อน และโดยสำคัญผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) , 61
หมายเหตุ เหลี่ยม ไม่ผิดสนับสนุน เพราะไม่มีเจตนาให้ความสะดวกหรือช่วยเหลือ / ไม่ผิดผู้ใช้ เพราะไม่ได้ก่อให้เบี้ยวตัดสินใจ / จึงไม่ต้องอ้างจำเป็น หรือป้องกัน
- การกระทำของผู้ต้องหาเกี่ยวกับความผิดอาญา
- ฐานความผิดที่ผู้ต้องหา อาจไม่มีความผิด ม 133 / ม 168 / ม 173 (เว้นแต่ให้การในเรื่องอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ต้องหา) / ม 184 (ระวังข้อหาอื่น ม 142 ม 1188 ม 334) / ม 267
- ฐานความผิดที่ผู้ต้องหา อาจมีความผิดได้ ม 142 / ม 175 / ม 177 / ม 180 / ม 188 / ม 267 / ม 326 / ม 367
- ความยินยอมที่ยกเว้นความรับผิด
- ฎ 1403/2508 ข้อตกลงว่าจะไม่ฟ้องคดีอาญานั้น อาจถือเป็นความยินยอมให้กระทำการที่ตามปกติ ต้องด้วยบทบัญญัติว่าเป็นความผิดได้ มีหลักทั่วไปเป็นเหตุยกเว้นความผิดอาญาว่า ความยินยอมอันบริสุทธิ์ของผู้เสียหายให้ผู้ใดกระทำการที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดนั้น ถ้าความยินยอมนั้นไม่ขัดต่อความสำนึกในศีลธรรมอันดี และมีอยู่จนถึงขณะกระทำการ อันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดขึ้นได้ / ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลย แม้ไม่ผูกพันโจทก์ให้ยินยอมอยู่เช่นนั้นตลอดไป แต่โจทก์ก็ได้ยินยอมให้จำเลยออกเช็ค โดยจะไม่ฟ้องเป็นความผิดอาญา เป็นความยินยอมที่มีอยู่จนถึงขณะที่จำเลยออกเช็ค โดยรู้ว่าไม่มีเงินในธนาคาร อันเป็นการกระทำโดยเจตนาที่เป็นองค์ความผิดประการหนึ่ง ซึ่งจำเลยได้กระทำลงตามความยินยอมของโจทก์ ความผิดกรณีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ถือได้ว่าความยินยอมของผู้เสียหายในการกระทำฐานนี้ ไม่ขัดต่อความสำนึกในศีลธรรมอันดี การกระทำที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดในทางอาญา / การยอมความในความผิดอันยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 วรรค 2 และ 39 (2) นั้น เป็นการกระทำภายหลังที่ความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว มิใช่การที่จะกระทำกันไว้ล่วงหน้าก่อนการกระทำความผิด ข้อตกลงล่วงหน้าก่อนมีการกระทำความผิด จะถือเป็นการยอมความตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ / บุคคลจะตกลงกันไว้ก่อนว่าจะไม่ฟ้องคดีอาญา ถ้าหากจะมีการกระทำผิดเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้านั้น ข้อตกลงนั้น หามีผลก่อให้เกิดหนี้ที่จะผูกพันคู่กรณีให้จำต้องงดเว้น ไม่ฟ้องคดีอาญาเช่นว่านั้นแต่ประการใดไม่ เพราะอำนาจฟ้องคดีอาญาจะมีอยู่หรือไม่นั้น มิได้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายลักษณะหนี้ในทางแพ่ง หากอยู่ภายในบังคับของกฎหมาย ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาอีกส่วนหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2508 ( ความยินยอมของผู้เสียหาย ) โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สั่งจ่ายเงิน 15,000 บาทแก่นายยูซุปผู้เสียหาย ครั้นเช็คถึงกำหนดผู้เสียหายได้นำเข้าธนาคารไทยทนุ เพื่อเรียกเก็บเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะจำเลยฝากเงินไว้ไม่พอจ่ายจำเลยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การออกเช็คนี้คู่กรณีตกลงไม่เอาความอาญาต่อกัน เป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และผู้เสียหายน่าจะรู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะเป็นเช็คที่ไม่มีเงินจะไม่ดำเนินคดีอาญากันพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายกับจำเลยตกลงในขณะออกเช็คว่าจะฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับเรื่องเช็คโดยไม่ดำเนินคดีอาญาในกรณีไม่มีเงินจ่ายตามเช็ค คดีเรื่องนี้เป็นความผิดอันยอมความได้การตกลงเช่นนั้นไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยไม่มีความผิด พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นรับเฉพาะข้อกฎหมาย ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาโจทก์ข้อที่ว่าศาลอุทธรณ์ตีความในสัญญาที่คู่กรณีตกลงกันไม่ถูกต้องนั้นแล้ว เห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่านายยูซุปได้ตกลงกับจำเลยว่าจะไม่ฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับเรื่องเช็คไม่มีเงิน และประชุมปรึกษาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การยอมความในความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 วรรคสอง และ 39(2) นั้น เป็นการกระทำภายหลังที่ความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว มิใช่การที่จะกระทำกันไว้ล่วงหน้าก่อนการกระทำผิดข้อตกลงล่วงหน้าก่อนมีการกระทำผิดจะถือเป็นการยอมความตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้วไม่ได้ และบุคคลจะตกลงกันไว้ก่อนว่าจะไม่ฟ้องคดีอาญา ถ้าหากจะมีการกระทำผิดเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้านั้น ข้อตกลงนั้นก็หามีผลก่อให้เกิดหนี้ที่จะผูกพันคู่กรณีให้จำต้องงดเว้นไม่ฟ้องคดีอาญาเช่นว่านั้นแต่ประการใดไม่ เพราะอำนาจฟ้องคดีอาญาจะมีอยู่หรือไม่ นั้น มิได้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายลักษณะหนี้ในทางแพ่ง หากอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาอีกส่วนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ข้อตกลงว่าจะไม่ฟ้องคดีอาญานั้น อาจถือเป็นความยินยอมให้กระทำการที่ตามปกติต้องด้วยบทบัญญัติว่าเป็นความผิดได้มีหลักกฎหมายทั่วไปเป็นเหตุยกเว้นความผิดอาญาอยู่ตามฎีกาที่ 616/2482 และ 787/2483 ว่า ความยินยอมอันบริสุทธิ์ของผู้เสียหายให้ผู้ใดกระทำการที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดนั้นถ้าความยินยอมนั้นไม่ขัดต่อความสำนึกในศีลธรรมอันดีและมีอยู่จนถึงขณะกระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดนั้นแล้วความยินยอมนั้นย่อมเป็นข้อยกเว้นมิให้การกระทำนั้นเป็นความผิดขึ้นได้ คดีนี้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังได้ความว่า ถึงแม้จะไม่ผูกพันโจทก์ให้ยินยอมอยู่เช่นนั้นตลอดไป แต่โจทก์ได้ยินยอมให้จำเลยออกเช็คโดยจะไม่ฟ้องเป็นความผิดอาญา เป็นความยินยอมที่มีอยู่จนถึงขณะที่จำเลยออกเช็คโดยรู้ว่าไม่มีเงินในธนาคารอันเป็นการกระทำโดยเจตนาที่เป็นองค์ความผิดประการหนึ่งซึ่งจำเลยได้กระทำลงตามความยินยอมของโจทก์ ความผิดในกรณีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ถือได้ว่าความยินยอมของผู้เสียหายในการกระทำฐานนี้ ไม่ขัดต่อความสำนึกในศีลธรรมอันดีแต่ประการใดการกระทำที่โจทก์ฟ้องนั้นจึงไม่เป็นความผิดในทางอาญา พิพากษายืน
- ฎ 1083/2510 ผู้ตายกับจำเลยสมัครใจชกมวยเอาเงินกัน โดยมิได้รับอนุญาต จะถือว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียหาย ตามกฎหมายไม่ได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย เพราะการชกมวยนั้น ผู้ตายก็ไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย บิดาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้ตายได้ (อ เกียรติขจรฯ เห็นว่าความยินยอมในการเล่นกีฬาตามกติกา ยกเว้นความผิดได้ และทำให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในเรื่องผู้เสียหายโดยนิตินัย / สังเกตคดีนี้ ชกมวยเอาเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต)
- ฎ 788/2519 ข้อสัญญาเช่าสำนักงานมีว่า ถ้าผู้เช่าผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนดผู้ให้เช่ากลับเข้าครอบครองสถานที่ ย้ายบุคคลออก ฯลฯ ได้ ข้อสัญญานี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้เช่าค้างชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าใช้ลวดไขกุญแจห้องเช่าออก เอากุญแจใหม่ใส่แทน ผู้เช่าเข้าห้องเช่าไม่ได้ ดังนี้ เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาเช่า ไม่เป็นความผิดอาญา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
มาตรา 157 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็น หรืออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้
เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง ไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุม ที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุม ไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญา หรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น
ในกรณีตามวรรคสอง ถ้าสมาชิกกล่าวถ้อยคำใดที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรี หรือสมาชิกแห่งสภานั้น ได้รับความเสียหาย ให้ประธานแห่งสภานั้นจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจงตามที่บุคคลนั้นร้องขอตามวิธีการ และภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมของสภานั้น ทั้งนี้ โดยไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลในการฟ้องคดีต่อศาล
มาตรา 158 เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 157 ย่อมคุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมตามข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาหรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี และคุ้มครองไปถึงบุคคลซึ่งประธานในที่ประชุมอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมตลอดจนผู้ดำเนินการถ่ายทอดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาตจากประธานแห่งสภานั้น ด้วย โดยอนุโลม
มาตรา 189 สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิก ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา แล้วรายงานต่อสภา มติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวต้องระบุกิจการหรือเรื่องให้ชัดเจนและไม่ซ้ำหรือซ้อนกัน
คณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่งย่อมมีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใด มาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่นั้นได้
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคสองเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้ประธานคณะกรรมาธิการแจ้งให้รัฐมนตรีซึ่งบังคับบัญชา หรือกำกับดูแลหน่วยงานที่บุคคลนั้นสังกัดทราบ และมีคำสั่งให้บุคคลนั้นดำเนินการตามวรรคสอง เว้นแต่เป็นกรณีที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน ให้ถือว่าเป็นเหตุยกเว้นการปฏิบัติตามวรรคสอง
เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 157 และมาตรา 158 นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย
กรรมาธิการสามัญ ซึ่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ต้องมีจำนวนตาม หรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองหรือกลุ่มพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร
ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 191 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนดอัตราส่วนตามวรรคห้า
1 ความคิดเห็น:
ขอบพระคุณครับ
แสดงความคิดเห็น