มาตรา 67 ผู้ใดกระทำความผิด “ด้วยความจำเป็น”
(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยง หรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่น พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้น ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
- สรุป (อ เกียรติขจร คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1 ครั้งที่ 8 พ.ศ.2546)
- มาตรา 67 (1)
- อยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจ
- ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยง หรือขัดขืนได้
- หากเลี่ยงได้แต่ไม่เลี่ยง กลับเลือกที่จะกระทำผิด จะอ้างว่าจำเป็น เพื่อยกเว้นโทษไม่ได้
- ผู้กระทำ จะต้องกระทำผิดโดยเจตนา (ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผล) และประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือ เจตนากระทำผิด ด้วยความจำเป็น เนื่องจากมีเหตุถูกบังคับ หรือภายใต้อำนาจฯ
- ผู้กระทำต้องมิได้ก่อเหตุนั้น ขึ้นโดยความผิดของตน
- ผู้กระทำก่อเหตุเอง จะอ้างจำเป็น เพราะอยู่ในที่บังคับ ไม่ได้ เพราะอาจเลี่ยงได้ตั้งแต่แรก โดยไม่ก่อเหตุเสียเอง
- กระทำไปไม่เกินขอบเขต
- การกระทำเกินขอบเขต
- กระทำโดยเกินสมควรแก่เหตุ
- กระทำเกินวิถีทาง น้อยที่สุด หรือเกินสัดส่วน อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง / “สัดส่วน” จะใช้หลักเดียวกับป้องกันไม่ได้ เพราะการอ้างป้องกันเป็นการกระทำต่อ “ผู้ก่อภัย” แต่กระทำโดยจำเป็น เป็นการกระทำต่อ “บุคคลที่สาม” หาก “ภัยแรกที่เป็นเหตุให้ต้องกระทำผิด” เท่ากว่า หรือน้อยกว่า “การกระทำความผิดที่จำเป็นต้องกระทำ” ต้องถือว่าไม่ได้สัดส่วน และเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ
- กระทำเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น
- เหตุที่มาบังคับนั้น ยังอยู่ห่างไกล หรือสามารถหลีกเลี่ยงได้
- มาตรา 67 (2)
- มีภยันตราย
- การอ้างป้องกันเป็นการกระทำต่อ “ผู้ก่อภัย” แต่กระทำโดยจำเป็น เป็นการกระทำต่อ “บุคคลที่สาม”
- ภยันตรายนั้น ใกล้จะถึง
- ภยันตรายนั้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้
- ผู้กระทำเพื่อป้องกัน ไม่จำต้องหนี ทั้งที่สามารถหนีได้ แต่การกระทำโดยจำเป็นนั้น ผู้กระทำจะต้องพยายามหาทางเลี่ยงให้พ้นภยันตรายนั้นทุกวิถีทาง
- ภยันตรายนั้น ผู้กระทำโดยจำเป็น มิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
- ผู้กระทำโดยจำเป็น ได้กระทำเพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่นพ้นภยันตราย
- ผู้กระทำ จะต้องกระทำผิดโดยเจตนา (ประสงค์ต่อผล หรือย่องเล็งเห็นผล) และประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือ เจตนากระทำผิด ด้วยความจำเป็น เพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่น พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
- กระทำไปไม่เกินขอบเขต
- เปรียบเทียบ มาตรา 67 (1) กับ (2)
- (1) Duress มีการข่มขู่ บังคับผู้กระทำให้ “กระทำการอันเป็นความผิด” จากบุคคล ผู้กระทำผิดไม่ได้คิดริเริ่มในการกระทำผิด
- (2) Necessity ไม่มีการบังคับ แต่มีภัยที่ผู้กระทำจะต้องหลีกเลี่ยง ผู้กระทำเลือกวิธีและตัดสินใจกระทำผิดเพื่อหนีอันตรายนั้น
- ประเด็นเรื่องภยันตรายที่ใกล้จะถึง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 734/2529 การขุดหลุมเป็นทางระบายน้ำจากนาที่จำเลยทำลงคลองสาธารณะ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมต้นข้าว เมื่อฝนจะตกมากเท่านั้น เมื่อฝนยังไม่ตกน้ำยังไม่ท่วมต้นข้าว จึงไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันจำเลยจำเป็นต้องกระทำ ทั้งเมื่อฝนตกมากและน้ำท่วมต้นข้าว จำเลยก็สามารถใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำออกจากนาได้ การกระทำของจำเลย หาใช่ความจำเป็นตามกฎหมายไม่
- อยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยง หรือขัดขืนได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1750/2514 จำเลยถูกคนร้ายซึ่งมีสมัครพรรคพวกมากและมีอาวุธปืนครบมือ ขู่บังคับให้เอาเรือรับส่งคนร้ายข้ามฟากไปทำการปล้นทรัพย์ ถือว่าจำเลยกระทำด้วยความจำเป็น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ จึงไม่ต้องรับโทษ แม้จำเลยจะมิได้เป็นฝ่ายฎีกา แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ไม่ต้องรับโทษ ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้เป็นคุณแก่จำเลยได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2348/2525 (ฎ เน ตอน 8 น 1652) ศาลฎีกาเห็นว่า คนร้ายมีปืน และฆ่าผู้ตายให้เห็นเป็นที่ประจักษ์เช่นนั้น จำเลยย่อมมีความกลัว และไม่กล้าขัดขืน คดีน่าเชื่อว่าจำเลยขับเรือรับผู้โดยสารไปยังที่เกิดเหตุ โดยไม่ทราบว่าเป็นคนร้ายจะไปฆ่าผู้ตาย หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยจำต้องขับเรือไปส่งคนร้ายด้วยความจำเป็น เพราะอยู่ภายใต้อำนาจของคนร้าย ซึ่งจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ตาม ป.อ.ม.67 (1) เมื่อส่งคนร้ายแล้วก็ไปแจ้งความแก่ผู้ใหญ่บ้านทันที ดังนี้ จำเลยไม่ต้องรับโทษ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 8046/2542 จำเลยและ บ. สามีอยู่ด้วยกันเพียงสองคนในบ้านพัก จำเลยเป็นหญิงซึ่งเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าจึงถูก บ.ข่มเหงเอาได้ตลอดเวลา ทั้งจำเลยเป็นชู้กับผู้ตายซึ่งถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่ บ. อาจฆ่าจำเลยเสียได้จริง และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตาย เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจพาจำเลยมาถึงที่เกิดเหตุจำเลยร้องไห้ และเล่าถึงเหตุที่ บ. บังคับให้นัดผู้ตายมาพบเพื่อฆ่า หากไม่นัดจะฆ่าจำเลย และผู้ตายทั้งสองคนให้ฟัง ทั้งผู้ตายยอมทำตามที่จำเลยชักชวนโดยไม่ระแวงสงสัย ชี้ให้เห็นว่าจำเลยร่วมฆ่าผู้ตาย เพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจของ บ. ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ แต่การที่จำเลยถึงกับยอมร่วมมือกับ บ. ฆ่าผู้ตาย ถือได้ว่าได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตาม ป.อ. มาตรา 67 (1), 69 (อ เกียรติขจร ครั้งที่ 8/402 ถือว่าอาจขัดขืนได้ และอาจถือว่าเกินสมควรแก่เหตุ ในแง่ที่ว่าสัดส่วนของอันตราย ที่จำเลยจะถูกสามีฆ่า เท่ากับที่ผู้ตายจะต้องได้รับ คือความตายเหมือนกัน ศาลวินิจฉัยว่า เกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นเพราะภัยที่จำเลยจะได้รับ ยังห่างไกล)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8649/2549 แม้การที่จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปี และจำเลยที่ 1 ไปยังพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณบ้านโนนเมืองเพื่อให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเรา แล้วขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปส่งบ้าน จะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยมีอาวุธ ก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด และจำเลยที่ 2 กระทำโดยมีเจตนาครบถ้วนตามหลักเกณฑ์องค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 แล้วก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดดังกล่าวด้วยความจำเป็น เพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดลักษณะคล้ายมีดสปาตาร์ ยาวประมาณ 1 ฟุต จี้ที่คอของผู้เสียหายเลยมาถึงคอของจำเลยที่ 2 จนผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะถูกทำร้ายจึงร้องบอกจำเลยที่ 2 ให้ขับรถจักรยานยนต์ต่อไปจนถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและจำเลยที่ 2 ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ อีกทั้งไม่ใช่ภยันตรายที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อขึ้นเพราะความผิดของตน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยความจำเป็นพอสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 67 (2) จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับโทษ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดด้วยความจำเป็นนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ควรต้องรับโทษ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
- เพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่น พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยง
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1660/2511 มีผู้นำช้างไปล่ามไว้ใกล้กับสวนของจำเลยโดยจำเลยไม่รู้ กลางคืนช้างหลุดพังรั้วเข้าไปในสวนของจำเลย จำเลยพบช้างอยู่กลางไร่ข้าวโพดห่างประมาณ 4 วา และช้างเดินเข้าหาจำเลย จำเลยเข้าใจว่าเป็นช้างป่า จึงยิงไป 2 นัด ดังนี้ เป็นการกระทำโดยจำเป็น จำเลยไม่ต้องรับโทษฐานทำให้เสียทรัพย์
- หมายเหตุ จำเลยไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เพราะการเข้าใจว่าเป็นช้างป่า เท่ากับไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ของผู้อื่น ถือว่าไม่มีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย ตาม ม 59 ว 3 ประกอบ ม 358 ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 59 วรรคแรก เมื่อไม่ต้องรับผิด จึงไม่ต้องพิจารณาเหตุงดโทษ ลดโทษ ไม่ต้องอ้างเหตุจำเป็นตามมาตรา 67
- เกิดอันตรายแล้ว ทำร้ายช้างมีเจ้าของ เข้าใจว่าเป็นช้างป่า อ้างได้แค่ จำเป็น มีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ เพราะไม่มีเจตนาพิเศษ “เพื่อป้องกัน” จึงอ้างป้องกันไม่ได้
- ไม่มีการกระทำอันเป็นความผิด ไม่ต้องอ้างเหตุยกเว้นโทษ
- คำพิพากษาฎีกาที่ 140/2494 ขับรถยนต์รับคนโดยสารมาตามถนน เผอิญเกิดยิงกันเกี่ยวกับการจราจล จึงขับรถหนี แม้จะเร็วจนถึงขนาดผิดกฎจราจร ก็ได้รับยกเว้นโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 49 (ป. อาญา มาตรา 67) เพราะถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อหลบหนีภยันตรายอันร้ายแรง เมื่อเอาผิดในตอนนี้ไม่ได้ การวิ่งตัดหน้ารถยนต์ภายในระยะ 1 วา คนขับห้ามล้อรถหยุดไม่ทัน ทั้ง ๆ ที่ห้ามล้อดี วินิจฉัยว่าวิ่งตัดหน้ารถยนต์ในระยะกระชั้นชิด ใช่วิสัยที่จะป้องกันมิให้รถยนต์ทับได้ การที่รถยนต์ทับคนที่วิ่งตัดหน้ารถนั้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่เรื่องผู้ขับรถประมาท
- ความผิดตาม พระราชบัญญัติ จราจรฯ ได้รับยกเว้นโทษ ตาม ป. อาญา มาตรา 67 / ส่วนความผิดตาม ป. อาญา มาตรา 291 , 300 เมื่อไม่ได้กระทำโดยประมาท ก็ไม่มีความผิด ไม่ต้องอ้าง ป. อาญา มาตรา 67
2 ความคิดเห็น:
แล้วถ้ายิงช้างป่า แล้วเข้าใจว่าเป็นช้างมีเจ้าของอ้างอะไรค่ะ
Jingdi กล่าวว่า...
แล้วถ้ายิงช้างป่า แล้วเข้าใจว่าเป็นช้างมีเจ้าของอ้างอะไรค่ะ
ไม่ต้องอ้างไงครับ ไม่ครบองค์ประกอบ ไม่ผิดทำให้เสียทรัพย์
แต่อาจผิดพรบ.อื่นได้ อันนี้ไม่รู้ละครับ
แสดงความคิดเห็น