ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2559

“มีพาริบอาวุธปืน”

๑.พาปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เป็นความผิดตามพรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๘ ทวิ ปอ มาตรา ๓๗๑ กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงตามพรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๗๒ ทวิ มาตรานี้ไม่ได้บัญญัติให้ริบปืน จึงริบไม่ได้ จะนำปอ มาตรา ๓๗๑ มาใช้บังคับไม่ได้ คำพิพากษาฏีกา ๑๒๐๐/๒๕๒๑
๒.ฟ้องว่ามีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวไป จำเลยให้การปฏิเสธ แม้ฟังได้ว่าจำเลยกับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วยก็ตาม โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ว่า จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครอบครอง และไม่ได้รับอนุญาตให้พาอาวุธปืนติดตัวจึงจะลงโทษจำเลย มิเช่นนั้นคงลงโทษจำเลยได้ตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ เท่านั้น คำพิพากษาศาลฏีกา ๒๔๔๔/๒๕๓๑
๓.ในความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวไปตาม พรบ.อาวุธปืน โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ได้ความว่า อาวุธปืนกระบอกที่จำเลยใช้ยิงผู้เสียหายเป็นอาวุธปืนที่จำเลยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งไม่ได้อาวุธปืนดังกล่าวมาเป็นพยาน แม้จำเลยไม่ได้นำสืบปฏิเสธ ว่า อาวุธปืนนั้นจำเลยได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนแล้วและจำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว คดีไม่อาจลงโทษทั้งสองฐานนี้ได้ แต่ฟังได้ว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในหมู่บ้าน จึงลงโทษจำเลยตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ ได้ คำพิพากษาฏีกา ๔๕๓๔/-๒๕๓๑
๔.เมื่อศาลลงโทษจำเลยตามพรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๘ทวิ,๗๒ทวิ วรรคสองซึ่งเป็นบทหนักและเป็นกรรมเดียวกับ ปอ มาตรา ๓๗๑ แล้ว จะอาศัย ปอ มาตรา ๓๗๑ มาริบอาวุธปืนไม่ได้ เมื่อความผิดตามพรบ.อาวุธปืนที่ลงโทษจำเลยไม่ได้บัญญัติเรื่องริบทรัพย์ไว้ ศาลริบอาวุธปืนของกลางไม่ได้ เป็นปัญหาเกี่ยวความสงบศาลยกขึ้นเองได้ คำพิพากษาฏีกา ๒๑๔๕/๒๕๓๘
๕.อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธที่มีใบอนุญาตให้มีและใช้เป็นของผู้ร้องโดยถูกต้อง ความผิดของจำเลยอยู่ที่มีอาวุธปืนผู้อื่นไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดเฉพาะตัว ปืนของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้น แม้ถือว่าเป็นอาวุธปืน เมื่อจำเลยพาไปในเมืองหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรแล้ว ศาลมีอำนาจให้ริบได้ตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ เมื่อฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๘ทวิ ซึ่งมีโทษตาม มาตรา ๗๒ ทวิ ศาลชั้นต้นพิพากษาเป็นกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท ลงโทษจำเลยตามพรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๗๒ ทวิ ซึ่งเป็นบทหนักอยู่แล้ว ศาลไม่อาจริบอาวุธปืนได้ คำพืพากษาฏีกา ๘๒/๒๕๔๒
ข้อสังเกต ๑.ความผิดฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยไม่มีเหตุอันควรตามพรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๘ทวิ,๗๒ทวิ กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้ริบอาวุธปืน แต่ใน ปอ มาตรา ๓๗๑ เป็นเรื่อง พา “ อาวุธ “ ซึ่งอาจเป็นอาวุธปืนหรือเป็นอาวุธอย่างอื่นที่ไม่ใช่อาวุธปืนก็ได้ ไปตามเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุอันควร หรือพาไปในที่ชุมนุมที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการนมัสการ การรื่นเริง หรือการอื่นใด กฏหมายระวางโทษปรับและยังให้อำนาจศาลริบอาวุธดังกล่าวได้
๒.ทรัพย์สินใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำ หรือ มีไว้เป็นความผิด ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำผิด หรือมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม ปอ มาตรา ๓๒ ในการริบทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด นอกจากศาลมีอำนาจริบได้ตามกฏหมายที่บัญญัติไว้เป็นความผิดเฉพาะแล้ว ศาลมีอำนาจริบทรัพย์ดังกล่าวได้หากปรากฏว่า เป็นทรัพย์ที่บุคคล “ ได้ใช้” หรือ “ มีไว้” เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด เว้นแต่เป็นทรัพย์ที่เจ้าของไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ปอ มาตรา ๓๓
๓.ศาลฏีกาคงมองว่าเมื่อเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษตามพรบ.อาวุธปืนซึ่งเป็นบทหนัก กว่าความผิดฐานพาอาวุธตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ เมื่อลงบทเฉพาะตามพรบ. อาวุธปืนฯซึ่งเป็นบทหนัก แต่บทเฉพาะซึ่งเป็นบทหนักไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลริบอาวุธปืนได้ ศาลจึงไม่ริบอาวุธปืน และไม่นำบทบัญญัติในการริบอาวธปืนในบทเบาตามปอ มาตรา ๓๗๑ซึ่งไม่ใช่บทที่ศาลลงโทษมาบังคับ.ใช้ริบอาวุธปืน
๔.ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าแม้ศาลไม่ริบอาวุธปืนโดยไม่นำ ปอ มาตรา ๓๗๑ มาบังคับใช้คือไม่ริบอาวุธปืนตามปอ มาตรา ๓๗๑ แต่หากอาวุธปืนดังกล่าว
๔.๑เป็นปืนเถื่อนคือเป็นปืนไม่มีทะเบียน ไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ ก็สามารถที่จะริบอาวุธปืนได้ตาม ปอ มาตรา ๓๒ เพราะปืนเถื่อนหรือปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้เป็นทรัพย์ที่ผู้ใดมีไว้เป็นความผิด
๔.๒หรือหากนำปืนเถื่อนดังกล่าวไปยิงผู้ใด ก็ถือว่าเป็นการนำปืนเถือ่นซึ่งเป็นปืนไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ซึ่งผู้ใดมีไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดศาลสามารถริบได้ตามปอ มาตรา ๓๒ และยังนำไปใช้ในการกระทำความผิดตาม ปอ มาตรา ๓๓(๑) ซึ่งศาลมีอำนาจริบปืนได้ ตาม ปอ มาตรา ๓๒,๓๓(๑)
๔.๒หรือแม้เป็นปืนที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนไปยิงคนอื่น ก็เป็นทรัพย์ที่ใช้หรือได้ใช้ในการกระทำความผิดที่ศาลสามารถริบอาวุธปืนตาม ปอ มาตรา ๓๓(๑)แล้ว เว้นแต่เจ้าของไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ปอ มาตรา ๓๓(๒)ตอนท้าย
๔.๓ในกรณีพาปืนเถื่อนไปตามเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะ ศาลริบปืนได้ เพราะปืนเถื่อนเป็นปืนที่มีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลริบได้ตาม ปอ มาตรา ๓๒ โดยศาลไม่ต้องคำนึงว่าจะมีการนำปืนเถื่อนพกพาไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะที่จะริบตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ หรือไม่เพราะศาลสามารถริบปืนเถื่อนได้ตามปอ มาตรา ๓๒ ได้อยู่แล้วเพราะเป็นทรัพย์ที่มีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นทรัพย์ที่ครอบครองแล้วเป็นความผิดตามกฏหมาย
๔.๔ กรณีพาอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนไปตามเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทางปฏิบัติศาลมักไม่ริบอาวุธปืนดังกล่าว โดยศาลมักมองว่า ความผิดอยู่ที่การพาปืนไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดไม่ได้อยู่ที่ตัวอาวุธปืน เมื่ออาวุธปืนเป็นอาวุธปืนที่ถูกต้องตามกฎหมายได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนได้ ความผิดจึงอยู่ที่การ พา อาวุธปืน ความผิดไม่ได้อยู่ที่ ตัวอาวุธปืน ศาลมักไม่ริบอาวุธปืน
๕.การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวไป จำเลยให้การปฏิเสธ เท่ากับจำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อหา ทั้งข้อหามีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและในข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวไป หากโจทก์ไม่นำสืบศาลลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะตาม พรบ. อาวุธปืนไม่ได้ คงลงได้เฉพาะข้อหาพาอาวุธปืนตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ เท่านั้น เพราะโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ความผิดจำเลยว่า ได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตาม ปวอ มาตรา ๒๒๗วรรคแรก ต้องนำสืบให้ศาลปราศจากข้อสงสัยว่ามีความผิดเกิดขึ้นจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำผิด หากมีข้อสงสัยเกิดขึ้นศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ปวอ มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง ดังนั้น แม้ฟังได้ว่าจำเลยกับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย โดยจำเลยมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วยก็ตาม โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ว่า ปืนที่ใช้ในการปล้น จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครอบครอง และไม่ได้รับอนุญาตให้พาอาวุธปืนติดตัวจึงจะลงโทษจำเลย มิเช่นนั้นคงลงโทษจำเลยได้ตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ เท่านั้น
๕.เมื่อฟ้องในความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวไปตาม พรบ.อาวุธปืน โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความว่า อาวุธปืนกระบอกที่จำเลยใช้ยิงผู้เสียหายเป็นอาวุธปืนที่จำเลยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้หรือไม่ได้นำสืบในเรื่องดังกล่าว ทั้งไม่ได้อาวุธปืนดังกล่าวมาเป็นพยานจึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าปืนดังกล่าวเป็นปืนที่ได้รับอนุนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าวหรือไม่ แม้จำเลยไม่ได้นำสืบปฏิเสธ ว่า อาวุธปืนนั้นจำเลยได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนแล้วและจำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว จะถือว่าจำเลยยอมรับว่าเป็นอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนไม่ได้ เพราะภาระในการพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดทางอาญาหรือไม่เป็นภาระการนำสืบของโจทก์ จะอาศัยข้อบกพร่องของจำเลยในการที่ไม่ปฏิเสธแก้ หรือจะอาศัยพยานหลักฐานจำเลยมารับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ ตาม ปวอ มาตรา ๒๓๒,๒๓๕วรรคสองเมื่อไม่นำสืบหรือนำสืบไม่ได้ คดีไม่อาจลงโทษในความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวไปตาม พรบ.อาวุธปืนน มาตรา ๗.๘ทวิ.๗๒,๗๒ทวิได้ แต่เมื่อฟังได้ว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในหมู่บ้าน จึงลงโทษจำเลยฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ ได้
๖.เมื่อศาลลงโทษจำเลยในความผิดฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๘ทวิ,๗๒ทวิ วรรคสองซึ่งเป็นบทหนักและเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานพาอาวุธตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ แล้ว จะอาศัย ปอ มาตรา ๓๗๑ มาริบอาวุธปืนไม่ได้ เมื่อความผิดตามพรบ.อาวุธปืนที่ลงโทษจำเลยไม่ได้บัญญัติเรื่องริบทรัพย์ไว้ ศาลริบอาวุธปืนของกลางไม่ได้ เป็นปัญหาเกี่ยวความสงบศาลยกขึ้นเองได้ตาม ปวอ มาตรา ๑๙๕,๒๒๕
๗.อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธที่มีใบอนุญาตให้มีและใช้เป็นของผู้ร้องโดยถูกต้อง ความผิดของจำเลยอยู่ที่มีอาวุธปืนผู้อื่นไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดเฉพาะตัวเป็นกรณี “ปืนผิดมือ “ คือเป็นปืนที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ของ “บุคคลหนึ่ง” แต่ “อีกบุคคลหนึ่ง” นำไปครอบครองและพาปืนไปในที่ชุมชน อาวุธปืนจึงไม่ใช่ปืนเถื่อน จึงไม่ใช่การมีไว้ในครอบครองซึ่งปืนเถื่อนซึ่งการมีไว้เป็นความผิด ไม่อาจริบได้ตาม ปอ มาตรา ๓๒ นั้นก็คือ ปืนของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้น แม้ถือว่าเป็นอาวุธปืน เมื่อจำเลยพาไปในเมืองหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรแล้ว ศาลมีอำนาจให้ริบได้ตาม ปอ มาตรา ๓๗๑ แต่เมื่อฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๘ทวิ ซึ่งมีโทษตาม มาตรา ๗๒ ทวิ ศาลชั้นต้นพิพากษาเป็นกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท ลงโทษจำเลยตามพรบ.อาวุธปืนฯ มาตรา ๗๒ ทวิ ซึ่งเป็นบทหนักอยู่แล้ว ซึ่งในบทมาตราดังกล่าวไม่ได้บัญญัติให้ศาลมีอำนาจริบอาวุธปืนได้ อีกทั้งเจ้าของที่แท้จริงไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยนำอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในที่สาธารณะแต่อย่างใด เจ้าของที่แท้จริงสามารถร้องขอคืนอาวุธปืนได้ตาม ปอ มาตรา ๓๖ ศาลจึงไม่อาจริบอาวุธปืนได้
๗.เคยเจอบันทึกจับกุมบอกเป็นปืนเถื่อนแต่ในบันทึกคำให้การผู้จับกุมให้การเป็นปืนมีทะเบียน พยานให้การแตกต่างกันในสาระสำคัญ เมื่อพยานคนเดียวให้การแตกต่างกันในสาระสำคัญย่อมมีอันหนึ่งจริงอันหนึ่งเท็จ บันทึกการจับกุมได้กระทำในที่เกิดเหตุหรือกระทำในเวลาใกล้เคียงเหตุเกิด “น่าเชื่อ” ว่าเป็นการบันทึกตามความเป็นจริง อีกทั้งผู้จับกุมไม่เคยรู้จักไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน “น่าเชื่อ” ว่าให้การในบันทึกการจับกุมตามความเป็นจริง แต่ในบันทึกคำให้การพยานบอกเป็นปืนมีทะเบียน เอาปืนกระบอกอื่นที่มีทะเบียนมาสวมว่าเป็นปืนมีทะเบียนด้วยเจตนาช่วยเหลือผู้กระทำผิด เพราะการมีไว้ในครอบครองอาวุธปืนผิดมือคืออาวุธปืนของบุคคลอื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ศาลลงโทษจำคุกแล้วรอการลงโทษ ส่วนการมีอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้(ปืนเถื่อน)ศาลลงโทษจำคุกแล้วมักไม่รอการลงโทษ น่าเชื่อตามบันทึกการจับกุมว่าเป็นปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้(ปืนเถื่อน) เมื่อสั่งสอบเพิ่มโดยให้นำอาวุธปืนของกลางมาให้ดู กลับเอาอาวุธปืนที่มีทะเบียนมาให้ดู สอบปากคำผู้จับแล้วหากยืนยันตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนก็ต้องดำเนินคดีกับผู้จับกุมฐานทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นตาม ปอ มาตรา ๑๗๙ รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสาร(บันทึกการจับกุม)มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ตาม ปอ มาตรา ๑๖๒(๔) หากยืนยันตามบันทึกการจับกุมก็ต้องดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ(ให้การอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน) โดยเป็นการแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่(คือพนักงานสอบสวน)จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ(บันทึกการสอบสวน)ซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐาน(ในการดำเนินคดี) โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน ตาม ปอ มาตรา ๒๖๗

ไม่มีความคิดเห็น: