ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559

ฟ้องเช็คค่าเล่นแชร์ สั่งจ่ายเช็คชำระค่าแชร์

ฟ้องเช็คค่าแชร์ (สั่งจ่ายเช็คชำระค่าแชร์)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 803/2545 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้แล้วมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องส่ง เงินคืนโดยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ หรือสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่ ป. หัวหน้าวงแชร์เพื่อมอบแก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ ซึ่งถือว่าเช็คพิพาทนั้นมีมูลหนี้ต่อกันแล้วเมื่อโจทก์ได้เช็คพิพาทซึ่งเป็น เช็คผู้ถือไว้ในครอบครองไม่ว่าจะเป็นโดย ป. ส่งมอบให้เพื่อชำระค่าแชร์ หรือโจทก์รับมาจากจำเลยโดยตรงก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท

กฏหมายมีข้อห้ามในการจัดตั้งวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ อย่างไรบ้าง???

ข้อห้ามตามกฎหมายมีดังนี้ครับ

1. ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ รวมไปถึงห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนด้วยครับ

2. แล้วบุคคลธรรมดามีข้อห้ามอย่างไร???

ก. จำนวนสมาชิกวงแชร์ทุกวงที่ตั้งขึ้นนั้นรวมกันไม่เกิน 30 คน

ข. คนหนึ่งห้ามตั้งวงแชร์หรือเป็นนายวงแชร์รวมกันเกิน 3 วง

ค. เงินทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงต้องมีมูลค่าไม่เกิน 300,000 บาท

ง. ผลประโยชน์ของนายวงแชร์คือ ได้รับเงินทุนกองกลางหนึ่งงวดในการเล่นแชร์โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเท่านั้น (นอกจากนี้ไม่มีสิทธิ)

กฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเล่นแชร์อย่างไรบ้าง??

1. การที่บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนมากกว่า 3 วง หรือมีสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน หรือมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า 300,000 บาท หรือนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1 เท่า ถึง 3 เท่า ของทุนกองกลางแต่ละงวดของทุกวงแชร์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท และให้ศาลสั่งให้นิติบุคคลนั้นหยุดดำเนินการเป็นนายวงแชร์หรือการจัดให้มี การเล่นแชร์

3. ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

4. ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์หรือสัญญาว่าจะใช้ เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงหรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์หรือสมาชิกวง แชร์ กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการจัดการหรือบริหารงานของ นิติบุคคลนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลด้วย

5. ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า “แชร์” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน

สำหรับสมาชิกวงแชร์ที่เปียร์แชร์ได้แล้วก็มีหน้าที่ต้องส่งเงินคืนหรือจ่าย ค่างวดแชร์แก่สมาชิกที่ยังประมูลไม่ได้ ในกรณีนี้ หากลูกแชร์ที่เปียร์ไปแล้วได้สั่งจ่ายเช็คล่วงหน้ามอบให้กับเท้าแชร์ (นายวงแชร์) เพื่อนำไปมอบให้สมาชิกที่จะเปียร์ได้ในงวดต่อไปนั้น ก็ถือว่า เช็คที่สมาชิกได้ออกให้นั้นเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ต่อกันแล้ว หากลูกแชร์ที่เปียร์ได้ในภายหลังได้นำเช็คไปขึ้นเงินแล้วธนาคารปฏิเสธการ จ่ายเงิน ไม่ว่าเท้าแชร์จะหนีไปแล้วหรือวงแชร์ล้มก็ตาม ลูกแชร์ที่เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คก็ต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คที่สั่งจ่ายตาม กฎหมายเรื่องตัวเงิน

การเล่นแชร์ เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย การเล่นแชร์เป็นการตกลงกันระหว่างลูกแชร์ที่เล่นแชร์กัน การจ่ายเช็คเพื่อจ่ายหนี้ค่าแชร์ที่เปียร์ไปแล้ว จึงเป็นการสั่งจ่ายเช็คที่มูลหนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายใช้บังคับได้

การเล่นแชร์

ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ กรณีที่เป็นผู้จัดการบริษัทเป็นนายวงแชร์เป็นการส่วนตัวไม่ถือว่าวงแชร์ ดำเนินการโดยบริษัทนั้น เมื่อลูกวงแชร์เปียร์แชร์ได้แล้วได้สั่งจ่ายเช็คให้นายวงแชร์เพื่อชำระค่า งวดแชร์สำหรับผู้จะเปียร์ได้ในโอกาศต่อไปนั้นผู้สั่งจ่ายเช็คต้องรับผิดชอบ ชำระหนี้ตามเช็คที่ตนสั่งจ่ายนั้นแม้ว่าวงแชร์ที่จ่ายเช็คนั้นล้มไปเพราะ นายวงแชร์หนีไปก็ต้องรับผิดตามเช็คที่ตนได้สั่งจ่ายไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 803/2545

คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยนั้น แม้โจทก์จะมิได้บรรยายว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาด้วยมูลหนี้ใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะพึงนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป ไม่เป็นเหตุให้คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง

จำเลยซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้แล้วมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องส่ง เงินคืนโดยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ หรือสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่ ป. หัวหน้าวงแชร์เพื่อมอบแก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ ซึ่งถือว่าเช็คพิพาทนั้นมีมูลหนี้ต่อกันแล้วเมื่อโจทก์ได้เช็คพิพาทซึ่งเป็น เช็คผู้ถือไว้ในครอบครองไม่ว่าจะเป็นโดย ป. ส่งมอบให้เพื่อชำระค่าแชร์ หรือโจทก์รับมาจากจำเลยโดยตรงก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 การที่ต่อมานายวงแชร์หนีและแชร์วงนี้ล้ม โจทก์ย่อมหมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้แก่โจทก์ได้ ทันทีเมื่อวงแชร์ล้ม ดังนั้น ตั้งแต่วันที่แชร์วงนี้ล้ม โจทก์ชอบที่จะลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทและนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ เพราะโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายและวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คพิพาทถือว่า เป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดชำระเงิน ตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 914 ประกอบมาตรา 989

การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงกันระหว่างสมาชิกผู้ เล่นซึ่งมีผลผูกพันและบังคับได้ตามกฎหมาย การชำระหนี้ค่าแชร์จึงหาใช่มีมูลหนี้ที่ขัดต่อกฎหมายไม่ ส่วนการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้นมีการรับเงินและผู้กู้ยืมเงิน ตกลงว่าจะจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีการประมูลจ่ายผลตอบแทนดัง เช่นการเล่นแชร์ ทั้งการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนก็เป็นกรณีที่กำหนดดอกเบี้ยหรือผล ประโยชน์ตอบแทนไว้แน่นอน ซึ่งอาจมีอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วย ดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ เมื่อการเล่นแชร์วงนี้เป็นการประมูลผลประโยชน์ที่จะให้แก่สมาชิกลูกวงแชร์ ด้วยกันที่มีจำนวนมากหรือน้อยตามความต้องการของผู้ประมูลจึงไม่อยู่ในข่าย เป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ทั้งในทางนำสืบของจำเลยก็รับว่าเมื่อจำเลยประมูลแชร์ได้ก็จะสั่งจ่ายเช็คมอบ ให้แก่ ป. นายวงแชร์ซึ่งมิใช่นิติบุคคลการเล่นแชร์วงนี้จึงหาขัดต่อพระราชบัญญัติการ เล่นแชร์ฯ ไม่

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเพชรบุรีตัดใหม่ลงวันที่ 2 กันยายน 2540 สั่งจ่ายเงินจำนวน 60,000 บาทรวม 4 ฉบับ มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ทั้ง 4 ฉบับ โดยให้เหตุผลว่า "โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย" ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 256,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 240,000บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่า ได้รับเช็คพิพาทมาอย่างไร เพื่อชำระหนี้อะไร จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม จำเลยออกเช็คพิพาทโดยไม่ลงวันที่มอบให้นายปรีชา องค์ศุลี ซึ่งเป็นนายวงแชร์ที่โจทก์ร่วมเล่นด้วย เนื่องจากจำเลยประมูลแชร์ได้ ต่อมามีการเลิกวงแชร์ก่อนที่โจทก์จะประมูลได้ โจทก์และนายปรีชาจึงร่วมกันฉ้อฉลโดยโจทก์รับเช็คพิพาทจากนายปรีชาลงวันที่ และเรียกเก็บเงิน โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงโดยชอบโจทก์ยังค้างชำระเงินจำนวน 240,000 บาท ซึ่งต้องชำระแก่จำเลยเนื่องจากจำเลยเคยประมูลแชร์ได้ เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้ นายปรีชารับเช็คพิพาทจากจำเลยเนื่องจากการเล่นแชร์ที่ขัดต่อกฎหมายเพราะมี ผู้เล่นเกิน 10 คน และมีมูลค่าแชร์เกิน 5,000,000บาท โจทก์รับเช็คจากนายปรีชา โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงโดยชอบ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 16,650 บาท ตามที่โจทก์ขอ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยและบุคคลอื่นตกลงเล่นแชร์กันโดยนายปรีชา องค์ศุลี เป็นนายวงแชร์ส่วนโจทก์กับจำเลยเป็นลูกวงแชร์ เมื่อจำเลยประมูลแชร์ไปแล้วทั้ง 2 มือ จำเลยจึงสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ ต่อมาโจทก์นำเช็คพิพาทลงวันที่และนำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คพิพาท ปฏิเสธการจ่ายเงิน ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับเช็คพิพาททั้ง4 ฉบับมาจากผู้ใดและเพื่อชำระหนี้ค่าอะไรจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ในส่วนที่ เป็นสาระสำคัญ ขาดความชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีที่ธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คพิพาทปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงขอให้บังคับจำเลยใช้เงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว โดยบรรยายไว้แล้วว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แม้โจทก์จะมิได้บรรยายในคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาด้วยมูลหนี้ใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะพึงนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไปไม่เป็นเหตุให้คำฟ้อง ของโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองมีว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้แล้วจึงมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องส่ง เงินคืนคือสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยประมูลแชร์ได้ แล้วสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ก็ดี หรือสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่นายปรีชาหัวหน้าวงแชร์เพื่อมอบให้แก่ผู้ที่ยัง ประมูลไม่ได้ก็ดี ก็ถือว่าเช็คพิพาทนั้นมีมูลหนี้ต่อกันแล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้เช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือไว้ในครอบครอง โดยแม้จะฟังว่านายปรีชานายวงแชร์ส่งมอบให้เพื่อชำระค่าแชร์ หรือโจทก์รับเช็คพิพาทเพื่อชำระค่าแชร์จากจำเลยโดยตรง โจทก์ก็เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 ต่อมาเมื่อนายวงแชร์หนีและแชร์วงนี้ล้ม โจทก์ย่อมหมดโอกาสที่จะประมูลแชร์ได้ต่อไป โจทก์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้เงินค่าแชร์ที่ต้องส่งคืนให้แก่โจทก์ ได้ทันทีเมื่อวงแชร์ล้ม ดังนั้น ตั้งแต่วันที่แชร์วงนี้ล้มโจทก์ชอบที่จะลงวันสั่งจ่ายในเช็คพิพาทและนำไป เรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คพิพาทได้ เพราะกรณีนี้ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย และวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คพิพาทถือว่าเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อโจทก์ลงวันสั่งจ่ายในเช็คพิพาทและนำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่เช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 การที่จำเลยฎีกาอ้างว่า นายปรีชานายวงแชร์ไม่ได้นำเช็คของโจทก์มาให้จำเลยนั้น ไม่เป็นเหตุที่จำเลยจะปฏิเสธไม่ชำระเงินตามเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายไว้ให้ แก่โจทก์เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องว่ากล่าวเอากับนายปรีชานายวงแชร์โดย ตรง ส่วนที่จำเลยให้การว่าโจทก์กับนายปรีชานายวงแชร์ร่วมกันคบคิดฉ้อฉลจำเลย ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยนำสืบถึงเรื่องการโอนเช็คพิพาทระหว่างนายปรีชากับโจทก์ ได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลแต่ประการใด คงนำสืบเพียงว่าเมื่อจำเลยประมูลแชร์ได้และสั่งจ่ายเช็คพิพาทและเช็คฉบับ อื่นให้นายปรีชาไปแล้ว นายปรีชาไม่ได้รวบรวมเงินจากลูกวงแชร์มาให้ตามข้อตกลงและหลบหนีไป เช็คพิพาทจึงมีมูลหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีการโอนเช็คพิพาทด้วยคบคิดกันฉ้อฉลดังที่จำเลยต่อสู้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า การที่โจทก์กับจำเลยร่วมกันเล่นแชร์วงนี้เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชกำหนด กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามโดยชัด แจ้งต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 เช็คพิพาทจึงมีมูลหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งอันเกิดจากการตกลงกันระหว่างสมาชิกผู้เล่น ซึ่งมีผลผูกพันและบังคับได้ตามกฎหมาย การชำระหนี้ค่าแชร์จึงหาใช่มีมูลหนี้ที่ขัดต่อกฎหมายไม่ ส่วนการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้น มีการรับเงินและผู้กู้ยืมเงินตกลงว่าจะจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงินโดย ไม่มีการประมูลจ่ายผลตอบแทนดังเช่นการเล่นแชร์ ทั้งการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนก็เป็นกรณีกำหนดดอกเบี้ยหรือผล ประโยชน์ตอบแทนไว้แน่นอน ซึ่งอาจมีอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วย ดอกเบี้ยในการกู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ เมื่อการเล่นแชร์วงนี้เป็นการประมูลผลประโยชน์ที่จะให้แก่สมาชิกลูกวงแชร์ ด้วยกันที่มีจำนวนมากหรือน้อยตามความต้องการของผู้ประมูลจึงไม่อยู่ในข่าย เป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และแชร์วงนี้ตามคำให้การและทางนำสืบของจำเลยก็รับว่านายปรีชาซึ่งเป็นผู้ จัดการบริษัทปรีชาวรรณ จำกัด และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเจริญผลเป็นนายวงแชร์ เมื่อจำเลยประมูลแชร์ได้ จำเลยสั่งจ่ายเช็คส่งมอบให้แก่นายปรีชา เช่นนี้ จึงรับฟังได้ว่านายปรีชาเป็นนายวงแชร์หาใช่นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ไม่ การเล่นแชร์วงนี้จึงหาขัดต่อพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"

พิพากษายืน



พระราชบัญญัติการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

มาตรา 4 ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วย ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืม เงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้น ได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไปผู้นั้นกระทำความผิด ฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลัก หลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา 914 บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอัน สัญญาว่าเมื่อตั๋วนั้นได้นำยื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรอง และใช้เงินตาม เนื้อความแห่งตั๋วถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรอง ก็ดีหรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้า หากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534

มาตรา 5 ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์

มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการ

เล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง

(2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน

(3) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่

กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

(4) นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทน

อย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลาง ในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่ง

งวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าผู้ที่สัญญาว่าจะใช้เงินหรือ

ทรัพย์สินอื่นใดแทนนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ เป็นนายวงแชร์หรือ

ผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: