ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

ขอลดโทษคดียาเสพติดตามมาตรา 100/2

ขอลดหย่อนโทษคดียาเสพติดตามมาตรา 100/2
แม้ใน มาตรา 100/2 จะให้ศาลมีอำนาจลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้ก็ ตาม แต่ไม่ใช่บทบังคับศาล ดังนั้นจึงเป็นดุลพินิจของศาลตามที่ศาลจะเห็นสมควร และในทางนำสืบก็ต้องปรากฏว่าให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งใน การปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวน คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 5,000,000 บาท ศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุก 37 ปี 6 เดือน และปรับ 3,750,000 บาท จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2553

พนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย โจทก์

แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จะให้ศาลมีอำนาจลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นได้ก็ตาม แต่ก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาตามที่เห็นสมควร มิใช่บทบังคับ ซึ่งข้อเท็จจริงที่จำเลยแจ้งตำหนิรูปพรรณ ก. และ ป. ให้พนักงานสอบสวนทราบ จนมีการออกหมายจับบุคคลทั้งสอง แต่ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนสามารถจับกุม ก. และ ป. มาดำเนินคดีได้หรือไม่ อย่างไร คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยจึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยให้ ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยว กับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวน จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะกำหนดโทษจำเลยให้น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมาย กำหนดไว้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (3), 66 วรรคสาม, 102 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 5,000,000 บาท ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (3), 66 วรรคสาม, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้ว คงจำคุก 37 ปี 6 เดือน และปรับ 3,750,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ให้กักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายขอให้ลงโทษสถานเบาตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 นั้น เห็นว่า แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะให้ศาลมีอำนาจลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าอัตราโทษ ขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ก็ตาม แต่ก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาตามที่เห็นสมควรมิใช่บทบังคับ ซึ่งข้อเท็จจริงที่จำเลยแจ้งตำหนิรูปพรรณนางกิตติมาและนายประกาศให้พนักงาน สอบสวนทราบ จนมีการออกหมายจับบุคคลทั้งสอง แต่ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนสามารถจับกุมนายกิตติ มาและนายประกาศมาดำเนินคดีได้หรือไม่ อย่างไร คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยจึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยให้ ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยว กับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวน ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสี่ นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้วจึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะกำหนดโทษจำเลย ให้น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

****
ข้อมูลเป็นประโยชน์ตามมาตรา 100/2 ที่ผู้กระทำความผิดให้ต่อเจ้าพนักงาน จะต้องมีลักษณะเป็นการนอกเหนือจากวิสัยที่เจ้าพนักงานจะสามารถค้นพบได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และในการปราบปรามยาเสพติดให้โทษของเจ้าพนักงานต่อจากนั้นเป็นผลโดยตรงจากการให้ข้อมูลหรือเบาะแสที่สำคัญของผู้กระทำความผิด แต่การที่ผู้ถูกจับกุมให้ถ้อยคำเพียงว่ารับจ้างจากผู้อื่นเป็นผู้ขับรถยนต์ไปขนยาบ้า จากพม่าเข้าไทยซึ่งข้อมูลดังกล่าวตำรวจยืนยันว่ามีการสืบสวนหาข่าวและทราบมาก่อนแล้วอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ว่าผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้สมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6287/2553

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด
โจทก์

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ม.100/2 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่า ผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้” ซึ่งข้อมูลที่ผู้กระทำความผิดให้ต่อเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้นั้น จะต้องมีลักษณะเป็นการนอกเหนือจากวิสัยที่เจ้าพนักงานจะสามารถค้นพบได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และในการปราบปรามยาเสพติดให้โทษของเจ้าพนักงานต่อจากนั้นเป็นผลโดยตรงจากการให้ข้อมูลหรือเบาะแสที่สำคัญของผู้กระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความเพียงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจับกุม จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะไปลำเลียงเมทแอมเฟตามีน จากสหภาพพม่าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้คุ้มกัน ส่วนบันทึกคำรับสารภาพที่เขียนด้วยลายมือของตนเองก็กล่าวแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 เดินเข้าไปในสหภาพพม่าเพื่อลำเลียงเมทแอมเฟตามีน ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้เจ้าพนักงานตำรวจที่มาเบิกความต่างก็ยืนยันว่ามีการสืบสวนหาข่าวและทราบมาก่อนทั้งสิ้น อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จากนั้นได้มีการวางแผนจับกุมและแกะรอยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จนกระทั่งจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ คำให้การของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้สมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวได้
________________________________

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 5, 6, 7 และริบยาเสพติดให้โทษของกลาง

จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ความผิดฐานร่วมกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้างเห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต ริบยาเสพติดให้โทษของกลาง

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา

ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 100/2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และควรลดโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ลงอีกหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่า ผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้” ซึ่งข้อมูลที่ผู้กระทำความผิดให้ต่อเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้นั้น จะต้องมีลักษณะเป็นการนอกเหนือจากวิสัยที่เจ้าพนักงานจะสามารถค้นพบได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และในการปราบปรามยาเสพติดให้โทษของเจ้าพนักงานต่อจากนั้น เป็นผลโดยตรงจากการให้ข้อมูลหรือเบาะแสที่สำคัญของผู้กระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความแต่เพียงว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจับกุมตัว จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะไปลำเลียงเมทแอมเฟตามีนจากสหภาพพม่าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้คุ้มกันและนำทาง ส่วนบันทึกคำรับสารภาพที่เขียนด้วยลายมือของตนเองก็กล่าวแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 เดินเข้าไปในสหภาพพม่าเพื่อลำเลียงเมทแอมเฟตามีน ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้เจ้าพนักงานตำรวจที่มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลต่างก็ยืนยันว่าได้มีการสืบสวนหาข่าวและทราบมาก่อนทั้งสิ้นอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จากนั้นได้มีการวางแผนจับกุมและแกะรอยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2547 จนกระทั่งจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2547 คำให้การของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้สมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 นั้น เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

ไม่มีความคิดเห็น: