ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ความผิดฐานขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรกับความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด จำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 2 ปี 1 เดือน และปรับ 18,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า** เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยทโดยประกันภัยกับบริษัท และ **เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท แสดงว่า การกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าของรถซึ่งใช้รถ หรือมีรถไว้เพื่อใช้ ไม่จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย จะต้องได้ความว่า ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าของรถ เมื่อไม่ได้เป็นเจ้าของรถก็ลงโทษไม่ได้



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2549

ความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคแรก และมาตรา 37 ผู้กระทำความผิดจะต้องเป็นเจ้าของรถ แต่ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยเป็นเจ้าของรถคันที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ มาตรา 158 (5)



โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือจำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ-8638 นครปฐม ซึ่งยังมิได้เสียภาษีประจำปีให้ครบถ้วนถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดและไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย ทั้งไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย ไปตามถนนเพชรเกษมจากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าไปจังหวัดนครปฐม เมื่อไปถึงบริเวณทางร่วมทางแยกตัดกับถนนไปอำเภอสามพราน ทางเดินรถของจำเลยปรากฏสัญญาณจราจรไปสีแดง ในภาวะเช่นนั้นจำเลยควรใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์โดยต้องหยุดรถก่อนถึงทางร่วมทางแยกหลังเส้นให้รถหยุด แต่จำเลยกลับขับรถด้วยความเร็วและไม่หยุดรถก่อนถึงทางร่วมทางแยกหลังเส้นให้รถหยุด เป็นเวลาเดียวกับที่นางสาวนฤมล หงษ์ทอง ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน บขธ กรุงเทพมหานคร 265 โดยมีนางสาวนิภาพรรณ สายยืนยงค์ นั่งซ้อนท้ายมาตามถนนเพชรเกษมจากจังหวัดนครปฐมมุ่งหน้ากรุงเทพมหานคร และเลี้ยวขวาเข้าถนนไปอำเภอสามพรานเพราะได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียว รถที่จำเลยขับจึงเฉี่ยวชนจักรยานยนต์คันดังกล่าว เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย นางสาวนฤมลและนางสาวนิภาพรรณถึงแก่ความตาย ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย หลังจากนั้นจำเลยไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6, 60 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 21, 22, 43 (4), 78, 152, 157, 160 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 7, 11, 37, 39 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 60 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 11, 37, 39 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) วรรคหนึ่ง, 43 (4), 152, 157 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานใช้รถที่ยังมิได้เสียภาษีประจำปี ปรับ 2,000 บาท ฐานใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย ปรับ 10,000 บาท ฐานขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ปรับ 1,000 บาท ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงปรับกระทงแรก 1,000 บาท กระทงที่สอง 5,000 บาท กระทงที่สาม 500 บาท กระทงที่สี่จำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท รวมปรับ 16,500 บาท โทษจำคุกให้รอลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง, 160 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 2,000 บาทความผิดฐานขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรกับความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 2 ปี 1 เดือน และปรับ 18,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องข้อหาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 7, 37 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เพียงประการเดียวว่า จะลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 7, 37 ได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามคำฟ้องทุกข้อหาโดยโจทก์และจำเลยไม่สืบพยาน คดีจึงต้องฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำฟ้องทุกข้อหานั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 7 วรรคแรก บัญญัติว่าภายใต้บังคับมาตรา 8 เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยทโดยประกันภัยกับบริษัท และมาตรา 37 บัญญัติว่า เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 7 หรือมาตรา 9 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ดังนี้ แสดงว่า การกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าของรถซึ่งใช้รถ หรือมีรถไว้เพื่อใช้ ไม่จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยตามมาตรา 37 ประกอบมาตรา 7 นั้น จะต้องได้ความว่า ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าของรถ แต่ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าของรถคันที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายแต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษในคามผิดฐานดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน



พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535

มาตรา ๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๘ เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยโดยประกันภัยกับบริษัท



มาตรา ๓๗ เจ้าของรถผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗ หรือมาตรา ๙ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ไม่มีความคิดเห็น: