พนักงานสอบสวนมีอำนาจค้นและยึดสิ่งของซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ การยึดทรัพย์ของกลาง เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย และมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วต้องคืนแก่ผู้ต้องหาหรือผู้อื่นซึ่งมีสิทธิการที่ศาลฎีกาพิพากษายืนให้คืนของกลางแก่จำเลยเป็นเพียงการวินิจฉัยเรื่องของกลางที่พนักงานสอบสวนยึดไว้นั้นให้ดำเนินการคืนแก่ผู้เป็นเจ้าของ แต่จำเลยไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขอให้ศาลบังคับคดีแก่โจทก์ร่วมผู้เก็บรักษาของกลางไว้ พนักงานสอบสวนผู้ยึดทรัพย์ของกลางนี้ไว้เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาและคืนของกลาง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3666/2553
พนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา โจทก์
เจ้าพนักงานตำรวจยึดทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องรวม 7 รายการ เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน ต่อมาพนักงานสอบสวนให้โจทก์ร่วมรับมอบทรัพย์ดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ในระหว่างดำเนินคดี เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้คืนทรัพย์ของกลางแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยในเรื่องของกลางตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) อันเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนผู้ยึดทรัพย์ของกลางไว้มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวนั่นเอง ทั้งมิใช่คดีที่มีข้อหาหรือข้อพิพาทกันว่า โจทก์ร่วมยึดถือหรือครอบครองทรัพย์ของกลางของจำเลยที่ 1 ไว้โดยมิชอบที่จะบังคับให้โจทก์ร่วมคืนให้แก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ตกอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขอให้ศาลบังคับคดีเพื่อให้โจทก์ร่วมคืนทรัพย์ของกลางแก่จำเลยที่ 1 ได้
________________________________
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันลักทรัพย์รวม 14 รายการ ของบริษัทเสรีภัณฑ์การโยธาและก่อสร้าง จำกัด ผู้เสียหาย ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2528 และวันที่ 18 มกราคม 2529 เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้รถเกรด 2 คัน รถแทรกเตอร์ รถบดสั่นสะเทือน 2 คัน รถบดล้อยาง และรถน้ำ 2 คัน รวม 7 รายการ ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับที่ 7 ถึง 14 เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 , 83 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 1 ถึง 6 แก่ผู้เสียหาย ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสาม และให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 1 ถึงที่ 6 แก่โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง และให้คืนทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับที่ 7 ถึง 14 แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของ โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน
ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์และโจทก์ร่วมคืนทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับที่ 7 ถึง 14 ให้จำเลยที่ 1 แต่โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ยอมคืนทรัพย์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับ ศาลชั้นต้นได้ออกคำบังคับแล้ว แต่โจทก์และโจทก์ร่วมก็ยังไม่ยอมส่งคืนทรัพย์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ซึ่งศาลชั้นต้นก็ออกหมายบังคับคดีให้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าโจทก์ร่วมจงใจไม่คืนทรัพย์ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมมาเพื่อบังคับคดีให้คืนทรัพย์แก่โจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายจับนายจำนงค์ กรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมมากักขังเพื่อบังคับคดี
โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิขอให้ศาลบังคับคดีแก่โจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 วรรคหนึ่ง และ 132 (4) พนักงานสอบสวนมีอำนาจค้นและยึดสิ่งของซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนยึดทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องของโจทก์อันดับที่ 7 ถึง 14 ไว้เป็นของกลาง จึงเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 85 วรรคหนึ่ง และ 132 (4) ดังกล่าว และพนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ต้องคืนแก่ผู้ต้องหาหรือผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 วรรคสาม จึงเห็นได้ว่า เมื่อทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ของกลางที่พนักงานสอบสวนยึดไว้เพื่อการสอบสวนและดำเนินคดีจนคดีถึงที่สุด การที่ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้คืนทรัพย์เหล่านี้แก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นเพียงการวินิจฉัยและพิพากษาในเรื่องของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) ซึ่งในคดีนี้ย่อมหมายถึงการพิพากษาถึงทรัพย์ของกลางที่พนักงานสอบสวนยึดไว้นั้นให้ดำเนินการโดยให้คืนแก่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของ อันเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนผู้ยึดทรัพย์ของกลางนี้ไว้เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวนั่นเอง โดยที่คดีนี้มิใช่คดีที่มีข้อหาหรือข้อกล่าวอ้างที่พิพาทกันว่า โจทก์ร่วมยึดถือหรือครอบครองทรัพย์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะพิจารณาและพิพากษาบังคับให้โจทก์ร่วมคืนทรัพย์นี้แก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด คำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้คืนทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องของโจทก์อันดับที่ 7 ถึง 14 จึงไม่ใช่คำพิพากษาบังคับในลักษณะให้โจทก์ร่วมเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาด้วยการคืนทรัพย์ของกลางนี้แก่จำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขอให้ศาลบังคับคดีแก่โจทก์ร่วมเพื่อให้ โจทก์ร่วมคืนทรัพย์ของกลางนี้แก่จำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 249 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำร้องของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น