จำเลยถูกจับข้อหาให้ที่พักแก่คนสต่างด้าว ทนายความพาไปพบอัยการ อ้างว่าสามารถช่วยจำเลยได้ จำเลยชำระเงินสดให้ส่วนหนึ่งและที่เหลือมอบเป็นเช็คให้ทนายความ โดยมีข้อตกลงว่าอัยการจะไม่อุทธรณ์คดีนั้น ต่อมาคดีดังกล่าวทางอัยการอุทธรณ์ จำเลยจึงมาทวงเช็คคืน ทางทนายความรับปากจะคืนให้ แต่กลับนำเช็คไปให้โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้ ถือว่าโจทก์รับเช็คมาโดยไม่สุจริต เช็คดังกล่าวจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน
คำพิพากษาฎีกาที่ 6696/2540
โจทก์รับโอนเช็คพิพาทจาก ส. โดยรู้ว่าเป็นเช็คที่จำเลยออกให้แก่ ส. ทนายความเพื่อให้ ส. ช่วยเหลือคดีที่จำเลยถูกฟ้องในความผิดฐานให้ที่พักแก่คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่ไม่มีมูลหนี้ในอันที่จำเลยจะต้องรับผิด โจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาโดยไม่สุจริต จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 201,931.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า มูลเหตุตามเช็คพิพาทสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2536จำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช2522 จำเลยจึงไปปรึกษากับนายตายิน ซิงห์ นายตายินแนะนำให้จำเลยรู้จักกับนายสุภัทธรณ์ บุตรจันทร์ และนางสาวรัติญา บุคคลทั้งสามได้แนะนำจำเลยให้รู้จักกับนายสิทธิพร สุทธสิริกุล เพื่อให้ช่วยเหลือคดีที่จำเลยถูกจับ บุคคลทั้งสี่ได้ร่วมกันออกอุบายเพื่อจะเอาเงินจากจำเลยโดยอ้างว่าจะไปจ่ายให้แก่ผู้มีอำนาจให้เพียงลงโทษปรับจำเลยและจะไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา จำเลยหลงเชื่อจึงมอบเงินสดและเช็คอีกหลายฉบับให้บุคคลทั้งสี่ไปรวมทั้งเช็คฉบับดังกล่าวด้วยเพื่อให้คดียุติโดยไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา ต่อมาเมื่อวันที่13 พฤษภาคม 2536 คดีดังกล่าวได้มีการอุทธรณ์ จำเลยจึงขอเงินสดและเช็คทั้งหมดคืนจากบุคคลทั้งสี่ แต่บุคคลทั้งสี่บ่ายเบี่ยงและคบคิดกันฉ้อฉลกับโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท ซึ่งโจทก์ทราบดีว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกินจำนวน 1,931.50 บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความประกอบเอกสารหมาย ล.2 และคำพิพากษาศาลอาญาคดีหมายเลขแดงที่ 2823/2536 ว่า เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ โดยจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับในข้อหาให้ที่พักอาศัยแก่คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองนายสุภัทรธรณ์ บุตรจันทร์ ทนายความได้พาไปหานายสิทธิพร สุทธสิริกุล ซึ่งเป็นพนักงานอัยการ นายสุภัทธรณ์เรียกเงินจากจำเลย 350,000 บาท โดยจะนำไปให้แก่ผู้มีอำนาจหน้าที่เพื่อจำเลยจะไม่ต้องรับโทษจำคุก จำเลยจ่ายเงินสดให้นายสุภัทธรณ์ไป 150,000บาท ส่วนที่เหลือ 200,000 บาท จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้นายสิทธิพร หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษปรับจำเลย ส่วนโทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี จำเลยพอใจ แต่พนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงไปทวงเช็คพิพาทคืน ปรากฏว่านายสิทธิพรถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว จำเลยจึงไปทวงถามจากนายสุภัทธรณ์ ซึ่งรับว่าจะคืนให้ แต่โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้ ส่วนพยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เชื่อว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทโดยรู้ว่าเป็นเช็คที่จำเลยออกให้แก่นายสิทธิพรเพื่อช่วยเหลือคดีที่จำเลยถูกฟ้องในความผิดฐานให้ที่พักแก่คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่ไม่มีมูลหนี้ในอันที่จำเลยจะต้องรับผิดโจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาโดยไม่สุจริต จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์
พิพากษายืน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 900 บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะได้รับ ผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น แกงได หรือ ลายพิมพ์นิ้วมือ อ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินไซร้ แม้ถึงว่าจะมี พยานลงชื่อรับรองก็ตาม ท่านว่าหาให้ผลเป็นลงลายมือชื่อในตั๋วเงิน นั้นไม่
มาตรา 916 บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะ ต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกัน เฉพาะบุคคลระหว่าง ตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะ ได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น