ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

"ล่อซื้อ" กับ "ล่อให้กระทำความผิด"

๑. ฎีกาที่ ๙๖๐๐/๒๕๕๔
ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะอันเป็นการก่อให้จำเลยทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้กระทำความผิดโดยทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ก่อนแล้วและนำแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นออกขายแก่ ร. ผู้ล่อซื้ออันจะถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) เมื่อ ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) เพื่อให้เจ้าพนักงานจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้ แผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ ที่ ร. ว่าจ้างจำเลยให้ทำขึ้นและวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์การบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลยที่ ร. แอบถ่ายไว้เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบและเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง
๒. ฎีกาที่ ๔๐๗๗/๒๕๔๙
จำเลยไม่มีเจตนาแต่แรกที่จะขายแผ่นซีดีภาพยนตร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แต่เป็นกรณีที่ฝ่ายผู้เสียหายได้ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย การแจ้งความร้องทุกข์จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 31, 70, 75 และ 76 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 6 และ 34 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และ 91 ให้แผ่นวิดีโอซีดี จำนวน 100 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 31, 70, 75 และ 76 ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 3 เดือน และปรับ 51,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ทั้งให้ความรู้ต่อศาลเป็นประโยชน์ทางพิจารณาอยู่บ้างสมควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 เดือน และปรับ 34,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยในการประพฤติตนให้ดีงาม โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ให้แผ่นวิดีโอซีดีภาพยนตร์ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 110 แผ่น ตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ค่าปรับเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 และให้จ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ข้อหานอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่บริเวณร้านขายซีดีที่เกิดเหตุพร้อมของกลาง คือแผ่นซีดีภาพยนตร์เรื่อง "โหมโรง" จำนวน 50 แผ่น และ "บอร์ดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม" จำนวน 60 แผ่น ซึ่งบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก สำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ ฯ นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง และไม่มีคู่ความอุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติ คงมีปัญหาเฉพาะความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฯ ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยในเบื้องต้นเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เนื่องจากคดีนี้ผู้เสียหายเลือกที่จะแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อจำเลย จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในการดำเนินคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ซึ่งให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น โจทก์นอกจากจะต้องนำสืบพิสูจน์การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องแล้ว โจทก์ต้องแสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายคดีนี้เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายด้วย การแจ้งความร้องทุกข์จึงจะชอบด้วยกฎหมาย อันมีผลให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ สำหรับคดีนี้ นายไพบูลย์ บัวพันธ์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงของผู้เสียหายเบิกความว่าพยานทราบว่ามีการนำภาพยนตร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์มาจำหน่ายที่ร้านขายซีดีที่เกิดเหตุ นางอชินีหรือน้อย บัวพันธ์ ภริยาของนายไพบูลย์เป็นผู้เข้าไปติดต่อสอบถามจากผู้หญิง แต่ภายหลังนางอชินีติดต่อกับจำเลยซึ่งเป็นสามีของผู้หญิงคนดังกล่าว ต่อมานายไพบูลย์ได้ยินจากเสียงที่ติดต่อกันทางโทรศัพท์ระหว่างนางอชินีกับจำเลยว่า จำเลยจะนำภาพยนตร์ที่ต้องการสั่งมาให้หลายเรื่องซึ่งรวมทั้งภาพยนตร์ของกลางด้วย ในเวลาเกิดเหตุ จำเลยขับรถจักรยานยนต์ถือถุงพลาสติกใส่แผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางมาที่ร้านขายซีดีที่เกิดเหตุ นางอชินีเข้าไปพูดคุยด้วย จำเลยนำแผ่นซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวให้นางอชินีดูแล้วเจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการจับกุมจำเลย เห็นว่า ตามคำของนายไพบูลย์ แสดงว่านางอชินีเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเกี่ยวกับการติดต่อซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางจากจำเลย ส่วนนายไพบูลย์เป็นเพียงพยานบอกเล่าในเรื่องการติดต่อซื้อขายครั้งนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ข้างต้นยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า การติดต่อซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางดังกล่าวเป็นไปในลักษณะใด เพราะดาบตำรวจกษิดิ์เดช นพภาลัย เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยพยานโจทก์เบิกความว่าผู้เสียหายให้สายลับทำการล่อซื้อ แต่นายไพบูลย์เบิกความตอบโจทก์ถามติงว่าพยานไม่ได้ทำการล่อซื้อ ร้านค้าจำเลยมีแผ่นซีดีขายอยู่แล้ว นางอชินีบอกว่าเป็นร้านที่มีกิจการขายแผ่นซีดีรายใหญ่ จึงได้มีการขอซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ในคดีนี้ ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวของนายไพบูลย์ขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดี เนื่องจากแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางเป็นแผ่นซีดีภาพยนตร์ที่จำเลยนำมาจากภายนอกทั้งสิ้น ไม่ใช่แผ่นซีดีภาพยนตร์ที่มีอยู่ในร้านขายซีดีที่เกิดเหตุ และตามทางนำสืบของโจทก์เองก็ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ยืนยันว่าในร้านขายซีดีที่เกิดเหตุมีแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ ฯ เพราะทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้แน่ชัดนั้น ก็ทำให้มีเหตุน่าสงสัยว่าร้านขายซีดีที่เกิดเหตุเป็นร้านที่มีกิจการขายแผ่นซีดีรายใหญ่ตามที่นายไพบูลย์เบิกความจริงหรือไม่ คดีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า นางอชินีซื้อขายแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางจากร้านขายซีดี ที่เกิดเหตุตามวิธีปกติ ซึ่งหากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายโดยนายไพบูลย์ใช้ให้นางอชินีล่อซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลาง เพื่อที่จะได้หลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยตามคำเบิกความของดาบตำรวจกษิดิ์เดชแล้ว การล่อซื้อดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการกระทำที่ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำความผิดขึ้นมา แต่ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์นั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า โดยพร้อมที่จะจัดหาแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาได้ทันที หรือจำเลยมีพฤติการณ์ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วยความสมัครใจของตนเองมาก่อน สำหรับคดีนี้ แม้ว่าจะมีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจและมีการนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยก็ตาม แต่จากคำเบิกความของดาบตำรวจกษิดิ์เดชและพันตำรวจตรีนภดล ทับเกตุ พนักงานสอบสวน ก็แสดงให้เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจไม่ทราบเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในคดีนี้มาก่อน และไม่ทราบเรื่องที่นางอชินีได้ติดต่อซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางจากจำเลยไว้ก่อน พฤติการณ์ของคดีเป็นการที่ผู้เสียหายดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเองทั้งสิ้น แล้วจึงแจ้งความร้องทุกข์เพื่อนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลย นอกจากนี้ นายไพบูลย์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานทราบว่าขณะเกิดเหตุ จำเลยมีอาชีพขายของตามตลาดนัด ปกติไม่ได้อยู่ที่ร้าน และพันตำรวจตรีนภดลเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยมีอาชีพรับจ้างทั่ว ๆ ไป พยานจำใจความที่จำเลยรับสารภาพได้ตอนหนึ่งว่า จำเลยหาซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์มาขายให้ผู้สั่งซื้อต่อซึ่งบันทึกคำให้การของจำเลยตามเอกสารหมาย จ. 8 ก็ปรากฏข้อความในทำนองนี้อยู่ พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีอาชีพขายแผ่นซีดีอยู่ที่ร้านขายซีดีที่เกิดเหตุเป็นประจำ หรือมีพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาก่อนแล้ว คงฟังได้เพียงว่าเหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเพราะมีคนสั่งให้จำเลยซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลาง เมื่อโจทก์ไม่นำนางอชินีมาเบิกความเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงและให้โอกาสจำเลยได้ซักค้าน พยานหลักฐานของโจทก์ย่อมไม่อาจรับฟังได้เป้นมั่นคงว่าจำเลยมีเจตนาแต่แรกที่จะขายแผ่นซีดีภาพยนตร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย และอาจเป็นกรณีที่นางอชินีขอให้จำเลยไปหาซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางจากตลาดนัดมาให้ตามที่จำเลยนำสืบต่อสู้ก็เป็นได้ เพราะจำเลยได้ให้การถึงกรณีที่มีคนสั่งให้ตนซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางมาตั้งแต่ต้น ตามที่ปรากฏในบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ. 8 ซึ่งได้จัดทำขึ้นในวันเกิดเหตุนั่นเอง ทั้งจำเลยได้ถามค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับนางน้อยมาโดยตลอด น่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าเป็นกรณีที่ฝ่ายผู้เสียหายได้ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้อง และไม่อาจถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายการแจ้งความร้องทุกข์ จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งสิ้น.
๓. คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙/๒๕๕๒
การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลย มิเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้ผิดศิลธรรมและทำนองคลองธรรม มิได้เป็นการใส่ร้ายป้ายสีหรือยัดเยียดความผิดให้จำเลย หากจำเลยมิได้มียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อสายลับไปซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลย จำเลยย่อมไม่มียาเสพติดให้โทษจำหน่ายให้กับสายลับ ความผิดย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ การกระทำของเจ้าพนักงานดังกล่าวจึงเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน รับฟังลงโทษจำเลยได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา ๒๒๖
๔. คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๓๐๑/๒๕๔๓
มื่อมีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาซึ่งมีวิธีพิจารณาคดีและการรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน เมื่อโจทก์เลือกดำเนินคดีอาญาจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลมดังนี้ ในการที่ศาลจะลงโทษจำเลยตามคำฟ้องนั้น นอกจากโจทก์จะต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามคำฟ้องแล้ว ยังต้องได้ความว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ด้วย
จำเลยที่ 1 ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องก่อนที่ ส. ซึ่งรับจ้างทำงานให้โจทก์จะไปล่อซื้อ แต่จะมีการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วมีการทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์หลังจากที่ ส. ตกลงซื้อกับจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 3 ต้องการแถมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่ ส. ตามที่ได้ตกลงกันในวันที่ ส. ไปล่อซื้อ พนักงานของจำเลยที่ 1อาจนำแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรเครื่องต้นแบบเข้ามาใช้เป็นต้นแบบบันทึกถ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงไปในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องที่ ส. ล่อซื้อในช่วงเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 1 ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โรงงานเสร็จและส่งไปที่สำนักงานจำเลยที่ 1 เพื่อรอส่งมอบแก่ลูกค้าที่สั่งซื้อตามเวลาที่นัดไว้ การทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ ส. ล่อซื้อนั้นเป็นการทำซ้ำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หลังจากวันที่ ส. ไปล่อซื้อแล้วเพื่อมอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำให้แก่ ส. มิใช่ทำซ้ำโดยผู้กระทำมีเจตนากระทำผิดอยู่แล้วก่อนการล่อซื้อ น่าเชื่อว่าการกระทำผิดดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของ ส. ซึ่งได้รับจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดโจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน2540 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของมลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา อันเป็นประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยได้แก่ โปรแกรมไมโครซอฟท์ วินโดว์ 3.11 (MICROSOFT WINDOWS 3.11),ไมโครซอฟท์ วินโดว์ 95 ไทย อิดิชั่น (MICROSOFT WINDOWS' 95 THAIEDITION), ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ (MICROSOFT OFFICE), ไมโครซอฟท์เวิร์ด (MICROSOFT WORD), ไมโครซอฟท์ สะเกดดวลพลัส (MICROSOFTSCHEDULE +), ไมโครซอฟท์พาวเวอร์ พ้อยท์ (MICROSOFT POWER POINT),ไมโครซอฟท์ เอ็กเซล (MICROSOFT EXCEL), ไมโครซอฟท์ แอคเซส(MICROSOFT ACCESS) และ ไมโครซอฟท์ อินเตอร์เนท เอ็กซ์พลอเรอร์(MICROSOFT INTERNET EXPLORER) โดยร่วมกันทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวลงในแผ่นบันทึกข้อมูลในตัวเครื่องคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ด ดิสก์ (Hard disk) ของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์และจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายและแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าวแก่ลูกค้าของจำเลย อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าโดยจำเลยทั้งสามรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เหตุเกิดที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 69 วรรคสองประกอบมาตรา 30มาตรา 70 วรรคสองประกอบมาตรา 31 และมาตรา 74 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 และมาตรา 83 และขอให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง แต่จำเลยที่ 3 หลบหนีจึงออกหมายจับและสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 30(1), 31(3), 69 วรรคสอง และ 70 วรรคสอง อันเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ความผิดฐานทำซ้ำซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์เพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 69 วรรคสอง ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 400,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 1 ปี และปรับ300,000 บาท ความผิดฐานแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70วรรคสอง ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2เป็นเวลา 6 เดือน และปรับ 150,000 บาท รวมลงโทษปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 600,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน และปรับ450,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไปโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 แต่ให้กักขังได้ไม่เกิน 1 ปี ให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 76
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของมลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรมซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้แก่ โปรแกรมไมโครซอฟท์ วินโดว์ 3.11 โปรแกรมไมโครซอฟท์วินโดว์ 95 ไทย อิดิชั่น โปรแกรมไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ โปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด โปรแกรมไมโครซอฟท์ สะเกลดวล พลัส โปรแกรมไมโครซอฟท์พาวเวอร์พ้อยท์ โปรแกรมไมโครซอฟท์ เอ็กเซล โปรแกรม ไมโครซอฟท์ แอคเซส และโปรแกรมไมโครซอฟท์ อินเตอร์เนท เอ็กซ์พลอเรอร์ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศและได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการค้าผลิตและจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์โดยใช้เครื่องหมายการค้าว่า "ATEC เอเทค คอมพิวเตอร์" มีจำเลยที่ 2เป็นกรรมการผู้จัดการและมีจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานขายประจำสำนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารพญาไทพลาซ่าชั้นที่ 33 แขวงทุ่งพญาไทเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โดยการทำซ้ำและแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า โจทก์ได้มอบหมายให้นายสตีเฟ่น จอห์นไรท์ ไปล่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 จากพนักงานขายของจำเลยที่ 1ที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 มาได้ 1 เครื่อง ต่อมาโจทก์ได้ให้นายสรวุฒิ ปัทมินทร์ซึ่งมีความรู้ทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ตรวจสอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อมาได้ดังกล่าว พบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์โดยทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวร (Hard disk) ของเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวซึ่งแสดงว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537ได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาซึ่งมีวิธีพิจารณาคดีและการรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน แต่โจทก์เลือกดำเนินคดีนี้โดยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26ซึ่งให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลมดังนี้ ในการที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ได้นั้นนอกจากโจทก์จะต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามคำฟ้องของโจทก์จริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 แล้ว ยังต้องได้ความว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) และมาตรา 28(2)ด้วย คดีนี้แม้วัตถุพยานคือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โจทก์ดำเนินการว่าจ้างนายสตีเฟ่นไปล่อซื้อมาได้จะสามารถนำมาตรวจสอบได้ว่ามีการทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ และมีการแจกจ่ายให้แก่นายสตีเฟ่นผู้ไปล่อซื้อโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบโดยมีจำเลยที่ 2 และพนักงานขายของจำเลยที่ 1 หลายคนมาเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ขายเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์แก่ลูกค้าเท่านั้นจำเลยที่ 1 ออกคำสั่งห้ามพนักงานลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายในเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่ลูกค้าที่ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 เครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำเลยที่ 1 ผลิตและลงโปรแกรมที่ถูกต้องเพื่อใช้ทดลองเครื่องเสร็จแล้วจะลบโปรแกรมดังกล่าวออกทั้งหมดก่อนส่งมอบแก่ผู้ซื้อ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นหรือร่วมกระทำการทำซ้ำและแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามฟ้อง และพยานหลักฐานสำคัญของโจทก์ได้แก่คำเบิกความของนายสตีเฟ่นประจักษ์พยานที่เบิกความประกอบเทปบันทึกการสนทนาในการติดต่อซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์และข้อความการสนทนาที่บันทึกไว้เป็นภาษาอังกฤษตามเอกสารหมาย จ.11พร้อมคำแปลซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาจากการที่โจทก์ว่าจ้างให้นายสตีเฟ่นไปล่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม นายสตีเฟ่นย่อมเป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียในการรับจ้างทำงานให้แก่โจทก์ จึงเป็นพยานหลักฐานที่ต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง และเมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าตามคำเบิกความของนายสรวุฒิผู้ตรวจสอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อมาได้ดังกล่าวได้ความว่า การทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรนี้ กระทำโดยการบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรอีกเครื่องหนึ่งที่เป็นเครื่องต้นแบบในลักษณะถ่ายสำเนาเหมือนกันทั้งหมด (Track by track) โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรต้นแบบดังกล่าวก็เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่บันทึกไว้โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เช่นกัน แต่คดีนี้โจทก์ไม่มีแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรเครื่องต้นแบบดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐาน และไม่ปรากฏว่าเป็นแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของใคร เก็บไว้ที่ไหน อย่างไรใครเป็นผู้ทำซ้ำลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในแผ่นบันทึกข้อมูลเครื่องต้นแบบนี้ไว้ ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายว่าเมื่อระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน2540 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 จำเลยทั้งสามร่วมกันทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ของโจทก์ โดยการทำสำเนาของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ดังกล่าวบรรจุลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายและแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าวให้แก่ลูกค้าของจำเลยในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย และแจกจ่ายให้แก่ลูกค้านั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ซึ่งตามคำฟ้องดังกล่าวแสดงว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำเลยทำซ้ำลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำเลยมีไว้เพื่อขาย เสนอขายขายและแจกจ่ายนั้นเป็นโปรแกรมอันเดียวกัน ซึ่งได้แก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ลงไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการล่อซื้อมาได้ตามที่โจทก์นำสืบนั่นเองนอกจากนี้นายสตีเฟ่นเบิกความประกอบบันทึกข้อความการสนทนากับผู้ขายเอกสาร จ.11 ว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2540 พยานไปที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ที่อาคารพญาไทพลาซ่าและติดต่อขอซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานขายของจำเลยที่ 1 พยานได้แจ้งถึงความต้องการใช้งานที่ทำโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนว่าต้องการใช้ทำงานเกี่ยวกับการทำจดหมายหรือเอกสารหรือเวิร์ดโปรเซสซิงโปรแกรมเกี่ยวกับการทำบัญชีการทำฐานข้อมูลและการทำรูปภาพต่าง ๆ จำเลยที่ 3 ก็บอกชื่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับการใช้งานดังกล่าว และจำเลยที่ 3ยังบอกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการใช้งานต่าง ๆ ดังกล่าวติดตั้งอยู่ในเครื่องด้วย แต่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้จากเจ้าของลิขสิทธิ์และราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำเลยที่ 1 ขายนั้นรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตดังกล่าวนี้ด้วยแล้ว จากนั้นจำเลยที่ 3 ได้แสดงการทำงานของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ให้พยานดู เช่น โปรแกรมวินโดว์ 95 และโปรแกรมไมโครซอฟท์ออฟฟิศ แต่ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 3 ยังบอกพยานด้วยว่าถ้าพยานต้องการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้รับอนุญาตก็มีขายให้แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่มในที่สุดพยานก็ตกลงซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์กับจำเลยที่ 3 โดยไม่ได้ตกลงซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้รับอนุญาตที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มตามที่จำเลยที่ 3 บอกให้ทราบแล้วแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่านายสตีเฟ่นตกลงซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์โดยต้องการให้มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตกลงซื้อกับจำเลยที่ 3 ด้วย ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความนายสตีเฟ่นและบันทึกการสนทนาเอกสารหมาย จ.11 พร้อมคำแปลอีกว่า จำเลยที่ 3 บอกพยานว่าจะต้องใช้เวลาในการประกอบเครื่องและลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์จึงนัดให้พยานมารับเครื่องวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 ครั้นถึงวันนัดรับเครื่องพยานก็เดินทางไปที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จำเลยที่ 3 พาพยานไปที่ห้องแสดงสินค้าและได้พบกับช่างชื่อนายนัทหรือคันธสิทธิพบกล่องเปล่าวางที่พื้นและเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมจอภาพวางอยู่บนโต๊ะ จำเลยที่ 3กับนายนัทได้สาธิตการใช้เครื่องให้พยานดูจนเป็นที่พอใจแล้ว พยานจึงชำระเงินค่าซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 33,900 บาทให้แก่จำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 3นำใบเสร็จรับเงินและใบรับประกันของจำเลยที่ 1 ให้พยาน และจำเลยที่ 3กับนายนัทนำเครื่องคอมพิวเตอร์บรรจุลงกล่องปิดผนึก พยานได้ดูใบเสร็จรับเงินที่มีข้อความเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ซึ่งหมายถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงสอบถามจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ตอบว่า ซอฟต์แวร์นี้ไม่ได้รับอนุญาต จึงมีการเขียนในใบเสร็จรับเงินว่า เครื่องคอมพิวเตอร์นี้ไม่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software)แต่ที่จริงเครื่องคอมพิวเตอร์นี้มีซอฟต์แวร์อยู่ เวลาที่บริษัทจำเลยที่ 1ส่งเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ลูกค้า จำเลยที่ 1 จะลบซอฟต์แวร์ทั้งหมด เพราะว่าไม่ได้รับอนุญาต แต่ถ้าคนใช้งานนำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปใช้งานที่บ้านก็ไม่จำเป็นที่จะมีใบอนุญาต พยานถามอีกว่ามีการเขียนว่าไม่มีซอฟต์แวร์แต่จริง ๆ มีซอฟต์แวร์อยู่จำเลยที่ 3 ก็ตอบว่าผมให้ซอฟต์แวร์คุณจากคำเบิกความของนายสตีเฟ่นและบันทึกการสนทนาเอกสารหมาย จ.11พร้อมคำแปลดังกล่าว เห็นได้ว่าแม้ในตอนแรกนายสตีเฟ่นเบิกความถึงคำพูดของจำเลยที่ 3 ที่พูดกับนายสตีเฟ่นในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2540 โดยจำเลยที่ 3 อ้างว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการใช้งานตามที่นายสตีเฟ่นแจ้งแก่จำเลยที่ 3 ติดตั้งอยู่แล้วแต่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตและราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ขายรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวด้วยแล้วและจำเลยที่ 3ยังบอกว่าจะต้องมีการประกอบเครื่องและลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์จึงนัดให้นายสตีเฟ่นมารับเครื่องในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 อันมีลักษณะที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องอยู่ก่อนที่นายสตีเฟ่นจะไปล่อซื้อ แต่จะมีการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วมีการทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์หลังจากที่นายสตีเฟ่นตกลงซื้อกับจำเลยที่ 3 แล้ว และปรากฏว่าในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 เมื่อนายสตีเฟ่นไปรับเครื่องและได้สอบถามเกี่ยวกับข้อความในใบเสร็จรับเงินที่ระบุว่าไม่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) จำเลยที่ 3 กลับบอกว่าจำเลยที่ 1จะลบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งหมดออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ส่งให้แก่ลูกค้าแต่ซอฟต์แวร์นี้จำเลยที่ 3 ให้นายสตีเฟ่น ซึ่งคำพูดของจำเลยที่ 3 ในตอนหลังนี้ส่อแสดงให้เห็นทำนองว่าตามปกติจำเลยที่ 1 ไม่ต้องการลงโปรแกรมให้แก่ผู้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด แต่จำเลยที่ 3 ต้องการแถมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวให้แก่นายสตีเฟ่นตามที่ได้ตกลงกันไว้ในวันที่นายสตีเฟ่นไปล่อซื้อ นอกจากนี้พยานโจทก์ไม่มีผู้ใดเบิกความยืนยันได้ว่าการทำซ้ำลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อนั้น ได้กระทำที่ไหน กระทำเมื่อใดแต่ปรากฏจากคำเบิกความของนายสตีเฟ่นดังกล่าวอีกว่าในวันที่นายสตีเฟ่นไปรับเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นจำเลยที่ 3 พานายสตีเฟ่นไปที่ห้องแสดงสินค้าและพบกับช่างชื่อนายนัทส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ได้อยู่ในกล่องแต่ถูกนำมาตั้งบนโต๊ะแล้ว ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นได้ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ที่โรงงานเสร็จ และได้ส่งไปที่สำนักงานจำเลยที่ 1 อาคารพญาไทพลาซ่าเพื่อรอส่งมอบแก่ลูกค้าที่สั่งซื้อคือนายสตีเฟ่นแล้ว หลังจากนั้นในช่วงระยะเวลาก่อนที่นายสตีเฟ่นจะมารับเครื่องตามเวลาที่นัดไว้มีผู้นำเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นออกจากกล่องมาวางบนโต๊ะ จึงมีความเป็นไปได้ที่พนักงานของจำเลยที่ 1อาจนำแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรเครื่องต้นแบบเข้ามาใช้เป็นต้นแบบบันทึกถ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงไปในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องที่นายสตีเฟ่นล่อซื้อในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าพยานหลักฐานของโจทก์เองแสดงให้เห็นว่า การทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่นายสตีเฟ่นล่อซื้อนั้นเป็นการทำซ้ำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หลังจากวันที่นายสตีเฟ่นไปล่อซื้อแล้ว โดยเป็นการทำซ้ำเพื่อมอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำนั้นให้แก่นายสตีเฟ่นตามที่นายสตีเฟ่นได้ล่อซื้อนั่นเอง มิใช่เป็นการทำซ้ำโดยผู้กระทำมีเจตนากระทำผิดอยู่แล้วก่อนการล่อซื้อ ดังนี้ จึงน่าเชื่อว่าการที่มีผู้กระทำผิดด้วยการทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อและแจกจ่ายตามฟ้องนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของนายสตีเฟ่นซึ่งได้รับจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดดังกล่าวขึ้น โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) และมาตรา 28(2) ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง"
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2
๕. คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๑๒/๒๕๔๕
จำเลยมีพฤติการณ์กระทำละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว โจทก์ส่งสายลับไปล่อซื้อและจับกุมจำเลยมาดำเนินคดี มิใช่เป็นการก่อให้จำเลยกระทำความผิด แต่เป็นการดำเนินการเพื่อปราบจับกุมผู้กระทำความผิด เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจร้องทุกข์มีอำนาจฟ้อง และศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดจากการล่อซื้อโดยชอบได้










ไม่มีความคิดเห็น: